เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์
ภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย
อาจารย์รัสเซียศึกษา มธ. ชี้ สงครามรัสเซีย-ยูเครนไม่รุนแรงเพิ่มขึ้นจากการใช้อาวุธนิวเคลียร์พลังทำลายล้างสูง เพราะไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อฝ่ายใด และคาดว่าสงครามจะจบลงด้วยการเจรจาไม่ให้ยูเครนเข้าร่วม NATO ตามที่รัสเซียต้องการ
เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน กัณฐัศศา พงษ์หิรัญ อาจารย์โครงการรัสเซียศึกษา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 2 เดือนก่อนที่โดนัลด์ ทรัมป์ จะเข้าพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม 2568 นั้น รัสเซียและยูเครนคงจะโจมตีตอบโต้กันไปมาเพื่อชิงความได้เปรียบในสงคราม โดยไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ที่มีการทำลายล้างสูง
กัณฐัศศากล่าวเพิ่มเติมว่า ถึงแม้ว่าวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย จะอนุมัติให้ลดเงื่อนไขการใช้อาวุธนิวเคลียร์ เพื่อให้รัสเซียสามารถใช้อาวุธนิวเคลียร์ตอบโต้รัฐที่ไม่ได้ครอบครองอาวุธนิวเคลียร์ แต่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์อย่างยูเครนได้แล้วนั้น ก็มีความเป็นไปได้สูงว่าอาวุธนิวเคลียร์ที่รัสเซียจะใช้ตอบโต้ยูเครนมีพลังทำลายล้างต่ำ เพราะการใช้อาวุธนิวเคลียร์ที่มีการทำลายล้างสูงจะส่งผลกระทบต่อสงครามในภาพรวม ซึ่งไม่ได้ช่วยสร้างผลดีที่ชัดเจนมาสู่ทั้งฝ่ายรัสเซียและยุโรป
“เนื่องจากตลอดระยะ 2 ปีที่มีสงครามมา รัสเซียได้รับผลกระทบในทางลบค่อนข้างมาก ทั้งด้านงบประมาณและกำลังคน เพราะฉะนั้นการใช้อาวุธที่มีการทำลายล้างสูงอาจนำมาซึ่งความเสียหายระยะยาวแก่รัสเซียเอง” กัณฐัศศา กล่าว
อาจารย์โครงการรัสเซียศึกษากล่าวว่า หากมีการใช้อาวุธนิวเคลียร์ในการโจมตี ผลกระทบเชิงลบจะไม่ได้เกิดขึ้นกับรัสเซียเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อยุโรปด้วยเช่นกัน เนื่องจากการใช้อาวุธนิวเคลียร์จะส่งผลกระทบต่อแหล่งพลังงานอย่างท่อก๊าซ ซึ่งมีการวางท่อตั้งแต่รัสเซียไปยังประเทศในยุโรป ทำให้การเข้าถึงแหล่งพลังงานของยุโรปเป็นไปได้ยากขึ้น รวมถึงยังส่งผลทางด้านเศรษฐกิจของยุโรป เพราะอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ลงทุนและอาจทำให้เกิดการกักตุนสินค้า
กัณฐัศศากล่าวเพิ่มเติมว่า ทางด้านสหรัฐฯ เองอาจไม่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากการใช้อาวุธนิวเคลียร์มากนัก แต่การใช้อาวุธนิวเคลียร์ในสงครามจะให้ผลประโยชน์น้อยกว่าการส่งอาวุธอื่นๆ ให้ยูเครนใช้โจมตีรัสเซีย
“รัสเซียก็ใช้อาวุธที่ประเทศตัวเองทดลองทำอยู่ หรือทางฝั่งของสหรัฐฯ ก็ส่งอาวุธของตัวเองมาให้ยูเครนใช้โจมตี ทั้งคู่ใช้อาวุธอะไรก็เหมือนการโฆษณาให้ลูกค้าว่าอาวุธใครได้เปรียบว่ากัน” กัณฐัศศากล่าว
กัณฐัศศากล่าวว่า มีแนวโน้มว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครนจะจบลงด้วยการเจรจายุติสงครามหลังจากที่ทรัมป์เข้าพิธีสาบานตนรับตำแหน่ง เพราะทรัมป์มีนโยบายที่ให้ความสำคัญกับคนในชาติเป็นอันดับแรก และอาจเลิกสนับสนุนงบประมาณด้านอาวุธให้กับสงครามนอกภูมิภาค
“คาดว่าภายใน 2 เดือนนี้น่าจะเป็นการตอบโต้กันไปมาเรื่อยๆ เพื่อรอเจรจายุติสงคราม เพราะยังไม่เห็นสัญญาณเชิงลบอื่น ยกเว้นแต่จะมีเหตุการณ์หรือคำพูดของใครที่กระตุ้นให้เกิดความขัดแย้งเพิ่มขึ้น” กัณฐัศศากล่าวและว่าหากมีการเจรจาเกิดขึ้น ปัจจัยสำคัญข้อเดียวที่จะทำให้สงครามรัสเซีย-ยูเครนยุติลงคือ ยูเครนต้องไม่เข้าร่วมองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO (North Atlantic Treaty Organisation) ตามข้อตกลงที่ปูตินพูดไว้ในช่วงแรกของสงคราม เนื่องจากยูเครนเป็นกลุ่มประเทศติดพรมแดนรัสเซียที่สำคัญมาก
“ยูเครนเป็นเหมือนประเทศหน้าด่านของรัสเซีย ดังนั้นถ้าเกิด NATO รับยูเครนเป็นสมาชิก ก็หมายความว่าสหรัฐฯ และยุโรปอาจจะมีสิทธิ์มาตั้งฐานขีปนาวุธติดพรมแดนรัสเซียเลย และยังอาจจะใช้ช่องทางฝั่งทะเลดำซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์ของรัสเซียได้อีกด้วย” กัณฐัศศา กล่าว
กัณฐัศศากล่าวเสริมว่านอกเหนือจากความกังวลว่าจะเสียเมืองหน้าด่านไปแล้ว ยังมีเรื่องความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและ NATO ด้วย สืบเนื่องจากกลุ่มประเทศใน NATO ไม่ทำตามข้อตกลงระหว่างจอร์จ เอช ดับเบิลยู บุช ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 41 ที่ให้ไว้กับ มิคาอิล กอร์บาชอฟ ประธานาธิบดีคนสุดท้ายของสหภาพโซเวียต ที่ว่าภายหลังจากการทำลายกำแพงเบอร์ลินเพื่อสิ้นสุดสงครามเย็นแล้ว NATO จะไม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับกลุ่มประเทศที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของสหภาพโซเวียตโดยเด็ดขาด ทว่าในปัจจุบัน NATO ก็ยังคงเปิดรับสมาชิกประเทศที่เคยอยู่ภายใต้อิทธิพลของสหภาพโซเวียตมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งรวมถึงยูเครนด้วย