เขียน : พรวิภา หิรัญพฤกษ์
ภาพประกอบ : ศิรประภา จารุจิตร

ผศ.ธรณ์ ชี้ พะยูนตายเพิ่มขึ้น 3 เท่า ใน 2 ปี เหตุขาดอาหารเพราะหญ้าทะเลเสื่อมโทรมจากภาวะโลกร้อน ทางผู้เชี่ยวชาญเร่งดำเนินการช่วยเหลือ 4 ด้าน
เมื่อวันที่ 5 พ.ย. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์และรองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ว่า ในช่วงปี พ.ศ.2566-2567 พะยูนตายเฉลี่ยปีละ 36 ตัว ซึ่งมากกว่าในช่วงก่อนหน้านั้นที่ตายเฉลี่ยปีละ 12 ตัว โดยมีสาเหตุมาจากขาดแหล่งหญ้าทะเลที่เป็นอาหารหลักของพะยูน เพราะเสื่อมโทรมอย่างมากจากภาวะโลกร้อน “หญ้าทะเลที่ จ.กระบี่ ตายเป็นวงกว้าง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีพะยูนอาศัยอยู่กว่า 80% เมื่อหญ้าทะเลเหลือน้อย พะยูนส่วนหนึ่งก็อดตาย อีกส่วนหนึ่งก็อพยพไปที่อื่น ซึ่งมีหญ้าทะเลไม่เพียงพอ รวมถึงมีเรือชนพะยูน จึงทำให้พะยูนตายเพิ่มขึ้น 3 เท่าจากอดีต”
ก้องเกียรติ กิตติวัฒนาวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ปัจจุบันพะยูนประเทศไทยอาจจะมีจำนวนไม่ถึง 100 ตัว ซึ่งเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์และอาจทำให้ประเทศไทยสูญเสียสิ่งมีชีวิตที่เป็นสายพันธุ์ท้องถิ่นไปอีกชนิดหนึ่ง และต้องใช้เวลานานเพื่อเพิ่มจำนวนพะยูนให้เท่ากับช่วงก่อนปี พ.ศ.2566 ทั้งนี้พะยูนมีอัตราการเกิดร้อยละ 5 ตัวต่อปี
“เราเหลือพะยูนแค่ 1 ใน 3 (จากช่วง พ.ศ.2565) และจะลดลงเรื่อยๆ ถ้าหากเราไม่สามารถรักษาพะยูนที่เหลืออยู่ และเพิ่มจำนวนประชากร รวมถึงไม่สามารถหาแหล่งหญ้าทะเลที่เป็นแหล่งอาหารของพวกมัน เพื่อรักษาจำนวนประชากรได้” ก้องเกียรติกล่าว
ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านวิจัยทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ในขณะนี้กำลังใช้มาตรการ 4 ด้าน ในการช่วยเหลือพะยูน ดังนี้ ด้านที่ 1 ประกาศ 13 พื้นที่คุ้มครองในอ่าวพังงาและบังคับใช้มาตรการไม่ให้ทำกิจกรรมที่เป็นภัยคุกคาม 4 ข้อ ได้แก่ จำกัดเครื่องมือประมง จำกัดการสัญจรหรือความเร็วเรือ จำกัดกิจกรรมสันทนาการ และการควบคุมมลพิษ ด้านที่ 2 สำรวจพะยูนและประเมินหญ้าทะเลให้เป็นปัจจุบัน ด้วยการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีสำรวจประชากรพะยูนและหญ้าทะเลใน 7 พื้นที่ ตั้งแต่ จ.สตูล ถึง จ.ระนอง ด้านที่ 3 ค้นหาและช่วยเหลือพะยูนที่ยังมีชีวิต โดยการสร้างแหล่งอาหารทดแทนและสร้างคอกอนุบาลสัตว์ในทะเล จ.ภูเก็ต และ จ.ตรัง รวมถึงเตรียมความพร้อมของกลุ่มอาสาสมัครใน 6 จังหวัดแถบอันดามัน และด้านที่ 4 ฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล ด้วยการสร้างบ่อเพาะพันธุ์หญ้าทะลที่จะสามารถผลิตหญ้าทะเลได้ตั้งแต่ 100 ไร่ขึ้นไป และนำไปปลูกในแหล่งธรรมชาติ โดยมีเป้าหมายว่าจะสร้างหญ้าทะเลในแหล่งธรรมชาติให้ได้ 1,000 ไร่ต่อปี