เขียน : ปานชีวา ถนอมวงศ์
ภาพประกอบ : ศิรประภา จารุจิตร
องค์กรทำไรท์ เครือข่ายประชาชนเพื่อสิทธิทางการเมืองชี้ ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมมัดรวมมาตรา 112 อาจไม่ผ่านสภา เพราะขัดกับจุดยืนของพรรคร่วมรัฐบาล แนะหากต้องการแก้ไขปัญหามาตรา 112 ควรแก้ตัวบทกฎหมายของมาตรา 112 ให้มีความสมเหตุสมผลและชัดเจนขึ้น
จากการที่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณารายงานของ “คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางการตราพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม” ซึ่งมีชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยเป็นประธานกมธ. โดยข้อสังเกตของ กมธ. ในท้ายรายงานมีเนื้อหาเกี่ยวกับการนิรโทษกรรมคดีอ่อนไหวที่ยังคลุมเครือ ได้แก่คดีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 110 (ความผิดฐานประทุษร้ายต่อพระราชินีหรือรัชทายาท) และมาตรา 112 (ความผิดฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์) ซึ่งที่ประชุมมีมติเสียงข้างมาก ‘ไม่เห็นชอบ’ ต่อข้อสังเกตดังกล่าวด้วยคะแนนเสียง 270 ต่อ 152 เสียงนั้น
นัสรี พุ่มเกื้อ สมาชิกองค์กรทำไรท์ (Thumb Rights) เครือข่ายประชาชนเพื่อสิทธิทางการเมือง ซึ่งรณรงค์เกี่ยวกับการนิรโทษกรรมประชาชนในคดีทางการเมือง ให้สัมภาษณ์ว่า สาเหตุที่ที่ประชุมมีเสียงข้างมากไม่เห็นชอบต่อข้อสังเกตคือการที่รายงานไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนต่อกระบวนการในการนิรโทษกรรมคดีอ่อนไหว รวมถึงเมื่อพิจารณาผู้ที่ได้รับผลประโยชน์แล้วมีประชาชนจำนวนมากที่เป็นผู้ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ซึ่งขัดต่อจุดยืนของ สส. ส่วนมากจากพรรคภูมิใจไทย พรรครวมไทยสร้างชาติ และพรรคประชาธิปัตย์ ที่ประกาศว่าจะไม่นิรโทษกรรมให้แก่ผู้กระทำความผิดตามมาตรา 112 ดังนั้น ในการตั้ง กมธ. ศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ นิรโทษกรรมในครั้งนี้ จึงเป็นเหมือนการประวิงเวลาเพื่อหาฉันทามติของสภาจนกว่าพรรคเพื่อไทยจะเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเพื่อพิจารณาในสภาร่วมกันต่อไป แต่การที่เสียงข้างมากในการประชุมวาระนี้ออกมาว่าไม่เห็นชอบ ก็มีนัยสำคัญว่าท้ายที่สุดแล้วประเด็นมาตรา 112 จะถูกปัดตกในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมในการประชุมสภาครั้งถัดไป ขณะที่พรรคเพื่อไทยก็ยังคงไม่มีท่าทีที่ชัดเจนในการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม
นัสรีกล่าวว่า การยกเว้นไม่ให้นิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 ซึ่งเป็นการดำเนินคดีเนื่องจากเหตุจูงใจทางการเมืองเป็นการตอกย้ำว่ารัฐเลือกที่จะไม่ให้โอกาสประชาชนได้พูดหรือแสดงความคิดเห็นเพื่อหาทางออกในการพัฒนาประเทศ ดังนั้นเพื่อลดความขัดแย้ง จึงควรมีการนิรโทษกรรมให้กับคดีที่มาจากการใช้สิทธิและเสรีภาพของตัวเองในการวิพากษ์วิจารณ์อย่างสุจริตเพื่อประชาธิปไตย โดยที่ไม่ได้ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้อื่น “การละเว้นไม่ให้นิรโทษกรรมมาตรา 112 ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่ารัฐปิดกั้นไม่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการหาทางออกเพื่อก้าวข้ามความขัดแย้ง นอกจากนี้ การที่ประชาชนมีความผิดจากการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ยิ่งทำให้ความใกล้ชิดระหว่างพระมหากษัตริย์กับประชาชนมีน้อยลง” นัสรีกล่าว
นัสรีกล่าวว่า กรณีที่มีข้อกังวลว่า หากนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 แล้ว ผู้ที่ได้รับโทษก็อาจกลับมากระทำผิดซ้ำอีก ก็สามารถตั้งเงื่อนไขให้ชัดเจนว่า จะให้นิรโทษกรรมหากผู้ถูกดำเนินคดีไม่กลับมากระทำผิดซ้ำ อย่างไรก็ตาม หากต้องการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ ควรพิจารณาที่ตัวบทกฎหมายของมาตรา 112 และความสมเหตุสมผลของการตัดสินความผิดให้ถี่ถ้วน เนื่องจากมีหลายคนถูกดำเนินคดีโดยที่ยังมีความคลุมเครือว่าแท้จริงแล้วมีความผิดหรือไม่ เช่น แชร์โพสต์ที่มีเนื้อหาทำนองหมิ่นประมาทกษัตริย์ ทั้งที่การแชร์โพสต์ควรเป็นพื้นที่ของประชาชนในการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อรับข้อมูลข่าวสารอย่างตรงไปตรงมา นอกจากนี้ยังมีการกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงเกินกว่าเหตุ คือ ระวางโทษจำคุกระหว่าง 3-15 ปี ซึ่งตอกย้ำว่ารัฐบาลต้องการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน
คันธิรา ฉายาวงศ์ อาจารย์ผู้บรรยายวิชากฎหมายและจริยธรรมสื่อสารมวลชน คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ว่า พรรคเพื่อไทยมีผู้สนับสนุนพรรคซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนเสื้อแดงที่เรียกร้องให้มีการนิรโทษกรรมมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ดังนั้นในการตั้งข้อสังเกตในรายงานการศึกษาแนวทางการตรา พ.ร.บ. นิรโทษกรรมนี้จึงเป็นไปได้ว่าพรรคเพื่อไทยต้องการสื่อสารไปยังกลุ่มผู้สนับสนุนว่า การร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรมที่รวมคดีมาตรา 110 และ 112 คงเป็นไปได้ยาก เพราะพรรคร่วมรัฐบาลซึ่งเป็นเสียงส่วนมากในสภาแสดงจุดยืนอย่างชัดเจนว่าไม่เห็นด้วย และแม้แต่ สส. ในพรรคก็ยังมีความเห็นขัดแย้งกันเองจนเสียงแตก
“พรรคเพื่อไทยต้องการสื่อสารว่าพรรคได้ทำการเคลื่อนไหวในประเด็นที่กลุ่มฐานเสียงต้องการแล้ว แต่เนื่องจากต้องพยายามรักษาเสียงจากพรรคร่วมไว้ เพราะผลเลือกตั้งออกมาไม่ได้ชนะแบบแลนด์สไลด์ จึงไม่สามารถทำได้อย่างสุดโต่ง” คันธิรากล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม เมื่อพรรคเพื่อไทยขึ้นมาเป็นรัฐบาลแล้วมีหน้าที่บริหารประเทศ ควรก้าวพ้นจากกลุ่มคนที่เป็นฐานเสียงหลักให้พรรค
คันธิรากล่าวว่า กรณีที่มีการกล่าวถึงการนิรโทษกรรมที่ไม่ควรรวมคดีมาตรา 112 ว่าการกระทำผิดไม่ใช่เพียงเรื่องที่เกิดจากเหตุจูงใจทางการเมือง แต่เป็นเรื่องของความมั่นคง ทำให้ไม่สามารถนิรโทษกรรมได้นั้น เป็นการเหมารวมจากผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมความผิดคดีมาตรา 112 ซึ่งมีทัศนคติด้านลบต่อคนที่มีความผิด ในความเป็นจริงต้องพิจารณาแยกรายคดี เนื่องจากหลายคดีเป็นเพียงการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องที่ส่งผลต่อความมั่นคง นอกจากนี้ยังเป็นวาทกรรมที่ใช้กล่าวอ้างว่าคนที่มีความผิดคดีมาตรา 112 เป็นภัยต่อความมั่นคง
คันธิรากล่าวว่า หากมองว่ามาตรา 112 กระทบกับสิทธิและเสรีภาพ และต้องการแก้ไขอย่างยุติธรรม ต้องแก้ไขที่ต้นเหตุคือ หลักเกณฑ์และกระบวนการพิจารณาคดี แต่เนื่องด้วยเป็นมาตราที่มีความอ่อนไหว รวมถึงสส. และประชาชนส่วนมากยังมีความเห็นไม่ลงรอยกัน ดังนั้นหากต้องการความชัดเจนและเพื่อให้สังคมเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ก็อาจทำประชามติเพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน