เขียน : ณัฐกานต์ บุตรคาม
ภาพประกอบ : สิทธิเดช สายพัทลุง

อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. คาดรัฐบาลเพื่อไทยแก้ไขรัฐธรรมนูญ (รธน.) 2560 ทั้งฉบับไม่สำเร็จ หลังพรบ.ประชามติฯ เสร็จไม่ทันทำประชามติควบการเลือกตั้งท้องถิ่นต้นปี 2568 ชี้มีแนวโน้มแก้ไขรายมาตรา เพื่อทำให้บ้านใหญ่สามารถคุมเสียงในเขตเลือกตั้งได้มากขึ้น ด้านอดีตสมาชิกสสร. 2540 กล่าว รธน.ฉบับนี้ให้อำนาจองค์กรอิสระ แนะสมัยหน้าต้องเลือกพรรคที่มีแนวทางชัดเจนในการแก้ รธน.
จากกรณีที่พรรคเพื่อไทยชูนโยบายแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2566 แต่การทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ต้องมีการจัดทำประชามติก่อนด้วยเกณฑ์เสียงข้างมากสองชั้น (Double Majority) กล่าวคือ ต้องการเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ทั้งหมด จึงอาจทำให้ไม่สามารถแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ เนื่องจากครม. เศรษฐา ได้เห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติม พรบ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 เพื่อให้เปลี่ยนเกณฑ์จากเสียงข้างมากสองชั้นเป็นชั้นเดียว (Single Majority) คือ ต้องการแค่เสียงส่วนใหญ่ของผู้ออกไปใช้สิทธิ์ แต่สว.ไม่ให้ความเห็นชอบกับร่างแก้ไข ทำให้ต้องพิจารณาร่วมกันในสองสภานั้น
ปุรวิชญ์ วัฒนสุข อาจารย์สาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ปัญหาหลักของพรบ.ประชามติฯ คือ กลไกเสียงข้างมากสองชั้น โดยการออกเสียงประชามติจะได้ข้อยุติก็ต่อเมื่อมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์ และต้องมีผู้เห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ์ออกเสียง หากอ้างอิงจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง พ.ศ. 2566 ซึ่งมีจำนวนประมาณ 52 ล้านคน ฉะนั้นในการทำประชามติจึงต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิเกิน 26 ล้านคน และต้องมีจำนวนผู้เห็นชอบเกิน 13 ล้านคนจึงจะแก้ไขรัฐธรรมนูญได้
ปุรวิชญ์ กล่าวว่า ร่างพรบ.ประชามติฯ มีสาระสำคัญคือการแก้ไขกลไกเสียงข้างมากสองชั้น และเปลี่ยนมาใช้เกณฑ์เสียงข้างมากชั้นเดียว เพื่อให้การทำประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ทำได้ง่ายขึ้น แต่เมื่อการพิจารณาร่างพรบ.ประชามติฯ ยังไม่มีข้อสรุปจากคณะกรรมธิการ (กมธ.) ร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา จึงทำให้ไม่สามารถทำประชามติครั้งแรกเพื่อลงความเห็นชอบในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควบคู่ไปกับการใช้สิทธิ์เลือกตั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดวันเลือกตั้งเป็นวันเสาร์ที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2568 ได้ทัน
“การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งฉบับของรัฐบาลเพื่อไทยจึงมีแนวโน้มสำเร็จได้ยาก ด้วยระยะเวลาเร็วที่สุดสำหรับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ โดยไม่มีปัจจัยแทรกแซงใดๆ ต้องใช้เวลาประมาณสองปี ซึ่งตั้งแต่พรรคเพื่อไทยเป็นรัฐบาลจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลาหนึ่งปีกว่า ยังไม่มีกระบวนการเริ่มต้นทำประชามติ จึงมีแนวโน้มที่รัฐบาลเพื่อไทยจะแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรามากกว่า” ปุรวิชญ์กล่าวและว่า การแก้รัฐธรรมนูญรายมาตรายังคงมีความท้าทายไม่ต่างจากการแก้ไขทั้งฉบับ เนื่องจากมีปัจจัยที่สำคัญคือ สว. ชุดปัจจุบัน ซึ่งไม่แตกต่างจาก สว. จำนวน 250 คน ที่แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แม้สว. ชุดปัจจุบันไม่ได้มาจากการแต่งตั้งของทหาร แต่ยังคงรักษาระเบียบอำนาจที่ คสช. เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 อย่างกรณีที่ สว. มีมติตีกลับ ร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ ที่เกิดขึ้น
ปุรวิชญ์ กล่าวว่า รัฐบาลเพื่อไทยมีแนวโน้มแก้ระบบเลือกตั้ง เพราะเป็นปัจจัยกำหนดความได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2570 และมีแนวโน้มที่จะทำให้สมรภูมิการเลือกตั้งไปแข่งกันที่ระบบแบ่งเขตมากที่สุด เพราะระบบเขตสามารถควบคุมได้ผ่านระบบเครือข่ายบ้านใหญ่
พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มธ. และอดีตสมาชิกสสร. 2540 กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่ห่อหุ้มระบบเผด็จการไว้ข้างใน โดยให้อำนาจองค์กรอิสระ คือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และกกต. รวมถึงให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจชี้ขาดและตัดสินทุกเรื่อง ตั้งแต่การถอดถอนผู้ที่ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมไปถึงการยุบพรรคการเมือง
พนัส กล่าวว่า การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับมีความเป็นไปได้ยากในสมัยรัฐบาลเพื่อไทย ดังนั้นพรรคการเมืองที่มีแนวทางชัดเจนในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ต้องชนะเลือกตั้งเด็ดขาดในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2570 เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ประเด็นหลักที่ควรแก้ไข คือ ควรยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญให้มีเพียงแค่ศาลยุติธรรมกับศาลปกครองในการวินิจฉัยกรณีที่เกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ สำหรับองค์ประกอบของศาลและองค์กรอิสระควรจะเปลี่ยนแปลงให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน และกำหนดคุณสมบัติให้หลากหลายยิ่งขึ้น ไม่จำกัดเพียงแค่ผู้พิพากษา อัยการ ตำรวจ และผู้ที่มีคุณวุฒิเกี่ยวกับกฎหมายและรัฐศาสตร์
“ส่วนระบบรัฐสภาควรมีเพียงแค่สภาเดียว คือสภาผู้แทนราษฎร เพราะหากมีสองสภาจะทำให้การพิจารณาเรื่องต่าง ๆ เกิดความล่าช้ายุ่งยากเหมือนในปัจจุบัน และสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนต้องมีอำนาจสูงสุดเหมือนระบบรัฐสภาของอังกฤษ เรียกว่าหลักอำนาจอธิปไตยของรัฐสภา” พนัสกล่าว