เรื่องและภาพ: ฌัชฌา สรนันท์
เมื่อเติบโตขึ้น ความเครียด ความกดดัน และภาระที่ต้องแบกรับก็มากขึ้นตามวัย ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับใครหลายคนที่ต้องเผชิญกับความรู้สึกหม่นเศร้า และความอึดอัดที่อยู่ส่วนลึกของจิตใจ หนำซ้ำการพูดคุยกับใครสักคนก็อาจเป็นเรื่องยาก เพราะคนรับฟังอาจไม่เข้าใจความรู้สึกของเราได้ทั้งหมด หรือจะเป็นการถูกตัดสินจากคนภายนอก และทำให้โดนปฏิบัติในทางที่ไม่เหมือนเดิม ศิลปะบำบัด หรือ Art Therapy จึงอาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเยียวยาบาดแผลที่เกิดขึ้นภายในจิตใจได้
ศิลปะบำบัด (Art Therapy) คือการบำบัดที่นำศิลปะในหลายๆ แขนง มาสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะต่างๆ เพื่อสะท้อนความรู้สึก และจิตใต้สำนึกของตัวเอง มักมาควบคู่กับการทำศิลปะบำบัดแนวจิตวิเคราะห์ (Art Psychotherapy) ที่ช่วยพัฒนาความเข้าใจในตนเอง ศิลปะบำบัดจึงเป็นการทำงานควบคู่ระหว่างผู้รับการบำบัด งานศิลปะ และนักจิตบำบัด โดยนักจิตบำบัดจะเป็นผู้วิเคราะห์พฤติกรรม และจัดรูปแบบการทำกิจกรรมให้เหมาะสมกับแต่ละบุคคล เพื่อให้ผู้รับการบำบัดเข้าใจ ยอมรับ และตระหนักในคุณค่าของตัวเอง สามารถกลับมาดำเนินชีวิตประจำวันได้ดังเดิม
การทำศิลปะบำบัดมีจุดเด่นคือ สามารถแสดงสภาวะภายในจิตใจที่ผู้รับการบำบัดไม่สามารถอธิบายออกมาเป็นคำพูดได้ผ่านการทำงานศิลปะ เพื่อให้ผู้รับการบำบัดก้าวข้ามผ่านอุปสรรคและสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้ด้วยสภาพจิตใจที่ได้รับการเยียวยา และมีความสมดุลมากขึ้น การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะนั้นไม่ได้อยู่เพียงแค่การลงลายเส้นบนแผ่นกระดาษ หรือการสาดสีลงบนแผ่นผ้าเพียงเท่านั้น แต่สามารถทำได้หลายวิธีตามความเหมาะสมของแต่ละคน เช่น ดนตรีบำบัด การปั้นดิน การเย็บผ้า หรือการทำโยคะบำบัด เป็นต้น
ศิลปะบำบัดอาจเป็นการบำบัดที่เหมาะกับผู้ที่ต้องการเข้าใจตัวเองมากขึ้นโดยมีศิลปะเป็นตัวกลาง แต่ไม่จำเป็นต้องมีความรู้ในทางศิลปะก็ได้ เพราะการบำบัดเฉพาะทางนี้ คือการทำให้เรายอมรับความรู้สึกของเราที่ไม่จำเป็นต้องสวยงามเสมอไป อีกทั้งศิลปะบำบัดที่ดี จะสะท้อนให้เราเห็นคุณค่าในตัวเองมากขึ้น
การบำบัดโดยใช้ศิลปะเริ่มมีมากขึ้นในสังคมไทย แม้อาจจะยังไม่ได้แพร่หลายเป็นวงกว้างมากนัก แต่ผู้ที่ต้องการทำศิลปะบำบัดก็สามารถค้นหาข้อมูลได้ง่ายขึ้นในปัจจุบัน และยังมีสตูดิโอสำหรับการบำบัดที่เปิดโดยผู้เชี่ยวชาญสำหรับผู้ที่สนใจ และการทำศิลปะบำบัดภายในโรงพยาบาลจิตเวช แต่เนื่องจากศิลปะบำบัดนั้นจะต้องเข้ารับการบำบัดอย่างต่อเนื่องจึงจะเห็นผลลัพธ์ ทำให้มีข้อจำกัดด้านค่าใช้จ่ายได้ เพราะค่าใช้จ่ายต่อการบำบัดหนึ่งครั้งมีราคาค่อนข้างสูง และค่าใช้จ่ายสำหรับการทำศิลปะบำบัดในสตูดิโอจะเริ่มต้นตั้งแต่ 800-2,500 บาท ตามโปรแกรมที่เลือกเข้ารับ ซึ่งราคาไม่ต่างจากโรงพยาบาลจิตเวชมากนัก แต่การทำศิลปะบำบัดภายในโรงพยาบาลจะมีแพทย์คอยประเมินว่าผู้ป่วยเหมาะสมที่จะเข้ารับการบำบัดหรือไม่ จากนั้นจึงส่งตัวไปแผนกศิลปะบำบัด ซึ่งสามารถทำควบคู่ไปกับการทำจิตบำบัดแบบทั่วไปอีกด้วย (อ้างอิงข้อมูลจากโรงพยาบาลมนารมย์)
อย่างไรก็ตาม การบำบัดที่ถูกต้องตามการตีความทางการแพทย์นั้น ต้องอยู่ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ หรือนักจิตบำบัด เพราะจะเป็นผู้ที่คอยชี้จุดที่เป็นปัญหา และแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาไปพร้อมๆ กัน อีกทั้งจุดประสงค์ของศิลปะบำบัด คือการสร้างสรรค์ผลงานบางอย่างเพื่อให้เราเข้าใจและยอมรับความรู้สึกที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดความภาคภูมิใจ และสามารถโอบกอดตัวเองคนเดิมได้ ในทางกลับกันกัน หากเราทำศิลปะบำบัดโดยไม่ถูกวิธี เราอาจรู้สึกว่าศิลปะเราที่ถ่ายทอดออกมาไม่ได้สวยงามดั่งที่เราคาดหวังไว้ ทำให้ยิ่งตอกย้ำสภาวะทางอารมณ์และความรู้สึกด้านลบ และเป็นผลเสียต่อตัวเราซึ่งเป็นผู้รับการบำบัดได้
ผู้เขียนเองเป็นคนชอบทำกิจกรรมคนหนึ่งที่ชอบพูดคุยกับเพื่อนๆ ที่ทำงานวนเวียนกันในตึกกิจกรรมนักศึกษา เราค้นพบว่ามีเพื่อนหลายคนเยียวยาจิตใจจากสภาวะความเครียดจากการทำงาน หรือปัญหาส่วนตัวผ่านการแสดงออกโดยงานศิลปะ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นดนตรี การถ่ายภาพ การวาดภาพ การเต้น หรือศิลปะแขนงอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งความชอบจากงานอดิเรกเหล่านี้ช่วยให้ใครหลายๆ คนได้มาฟื้นฟูสภาพจิตใจไปกับการทำสิ่งที่ตัวเองชอบ และกิจกรรมจากงานอดิเรกเหล่านี้สามารถนำไปพัฒนาเป็นการทำศิลปะบำบัดได้
ศิลปะบำบัดจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ที่ต้องการเยียวยาจิตใจตัวเองด้วยศิลปะ ซึ่งอาจจะถูกหรือไม่ถูกจริตกับผู้รับการบำบัดแต่ละคนก็ได้ แต่สิ่งที่ทุกคนทำได้ก่อนเลือกเข้ารับการบำบัดคือการที่เราสามารถดูว่าผู้ที่จะมาเป็นผู้บำบัดให้เรานั้นสามารถเข้ากับเราได้หรือไม่ เพราะนักบำบัดที่เข้าใจ และเข้ากับเราได้ดี จะสามารถทำให้เรารู้สึกสบายใจที่จะรับการบำบัด ประกอบกับทำให้เราสามารถแสดงความรู้สึกของตัวเองโดยไม่ต้องกังวล และยังทำให้มีแนวโน้มที่นักบำบัดคนนั้นจะสามารถเลือกวิธีการรักษาที่เข้ากับเราได้ด้วย จากประสบการณ์ของผู้เขียนเอง ก็ใช้เวลาค่อนข้างนานก่อนจะได้เจอนักบำบัดที่สามารถเข้าใจตัวตนของผู้เขียนได้ ดังนั้นหากเข้ารับการบำบัดแล้วพบว่าวิธีการบำบัดที่เจอไม่ตอบโจทย์ความต้องการหรือไม่เข้ากับตัวเรา ก็สามารถแจ้งจิตแพทย์ หรือนักจิตบำบัดเพื่อปรับเปลี่ยนแนวทางการบำบัดได้เสมอ
การไปพบจิตแพทย์หรือการทำจิตบำบัดไม่ใช่เรื่องแปลก ในทางกลับกัน มันเป็นจุดเริ่มต้นในการเข้าใจและยอมรับว่าเราต้องการผู้ช่วยที่จะทำให้เราเข้าใจจิตใจตัวเองมากขึ้น และวันหนึ่งเราจะสามารถก้าวข้ามความเจ็บปวดไปด้วยจิตใจที่ได้รับการเยียวยาอย่างแน่นอน
อ้างอิง:
https://www.studio-persona.com/blogr/what-is-art-therapy-nbsp