เรื่องและภาพ: ปาณิสรา ช้างพลาย
คำเตือน: เนื้อหาพูดถึงความรุนแรงทางร่างกาย และความรุนแรงทางใจ
‘อำนาจนิยม’ เป็นฐานของปัญหาในระบบการศึกษาที่ฝังรากลึกมาอย่างยาวนาน ทั้งยังมีกระบวนการขัดเกลาทางสังคมที่แฝงอุดมการณ์บางอย่าง จนทำให้คนที่ถูกใช้อำนาจไม่รู้ตัวหรือยอมจำนนต่ออำนาจนั้น ซึ่งกระทำผ่านการสร้าง ‘ผู้ใช้อำนาจ’ ให้มีสถานะเหนือกว่าเพื่อความชอบธรรมในการออกคำสั่ง และสร้าง ‘ผู้อยู่ใต้อำนาจ’ ให้ยอมรับและทำตามผู้ออกคำสั่งนั้นอย่างไม่ตั้งคำถาม เราจะพบเห็นการใช้อำนาจในลักษณะนี้แฝงอยู่ในเกือบทุกกิจกรรมของระบบการศึกษา ตั้งแต่ก้าวเข้ารั้วโรงเรียน ผ่านการกำหนดกฎระเบียบตั้งแต่หัวจรดเท้า ไปจนถึงกิจกรรมต่างๆ นอกห้องเรียน ที่สอดแทรก‘การกล่อมเกลา’ ให้ยอมรับคำสั่ง พร้อมจำนนให้กับอำนาจโดยไม่โต้แย้ง ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมที่ตอบรับระบอบอำนาจนิยมมาใช้ และตอกย้ำการใช้กลไกของอุดมการณ์เพื่อให้ยอมสยบกับอำนาจที่ไม่ชอบธรรมจนเป็นเรื่องปกติ เป็นกิจกรรมที่เราต่างคุ้นเคยกันดี นั่นคือ ‘เชียร์ลีดเดอร์’
‘เชียร์ลีดเดอร์’ หรือเรียกอย่างสั้น ว่า ‘ลีด’ กิจกรรมเชียร์ที่สร้างความเป็นผู้นำและแสดงความแข็งแกร่งของกล้ามเนื้อ จากท่วงท่าที่สง่างาม พร้อมเพรียง โดดเด่นจนไม่อาจละสายตาได้เมื่อได้รับชมการแสดงนั้น ทำให้การเป็นเชียร์ลีดเดอร์ อาจเป็นความใฝ่ฝันเมื่อก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยของใครหลายคนที่รักในการแสดงออก และอยากเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงที่ดึงดูดทุกสายตาของผู้ชมนี้ แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่ายังมีอีกหลายคนที่ต่อต้านการมีอยู่ของเชียร์ลีดเดอร์เพราะมองว่าเป็นกิจกรรมที่เกี่ยวโยงกับระบอบอำนาจนิยมอย่างแยกกันไม่ขาด
บทความนี้จะพาผู้อ่านไปสำรวจว่า ‘เชียร์ลีดเดอร์’ ที่เปิดโอกาสให้เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมเชียร์อย่างสร้างสรรค์นั้น กลายเป็นแหล่งฟูมฟักระบอบอำนาจนิยม จนสร้างบาดแผลให้กับคนในองค์กร และสร้างความเจ็บปวดให้คนนอกองค์กรได้อย่างไร
เส้นทางสู่การเป็นเชียร์ลีดเดอร์ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะต้องผ่านด่านอำนาจนิยมไปให้ได้
หากคุณรักในการเต้น มีความมั่นใจ และชอบที่จะยืนอยู่ท่ามกลางแสงสีเสียง การเป็น ‘เชียร์ลีดเดอร์’ คงเป็นหนึ่งในทางเลือกให้คุณแสดงออกถึงความชอบเหล่านี้ได้ แต่การจะได้รับคัดเลือกให้เป็นลีดนั้น แค่ ‘มีใจรัก’ หรือ ‘มีทักษะ’ อาจยังไม่เพียงพอ เพราะเกณฑ์สำคัญที่สุดในการคัดเลือกคือ ‘ความพร้อม’ ซึ่งหมายรวมถึงความพร้อมทางด้านร่างกาย จิตใจ และพร้อมที่จะแบกรับในค่าใช้จ่ายที่จะตามมา เนื่องจากการเป็นลีดนั้นมีระบบการฝึกซ้อมที่หนัก และต้องเผชิญกับความกดดันแทบตลอดเวลา หากสภาพร่างกายและจิตใจไม่พร้อมก็ยากที่จะผ่านไปได้ นอกจากนี้ยังตามมาด้วยค่าใช้จ่ายอีกมาก เช่น ค่าชุด ค่าแต่งหน้า ทำผม ค่าสเตจ (เวทีสำหรับแสดงโชว์) และค่ารับน้องที่เป็นธรรมเนียมปฏิบัติของลีดบางคณะ
“เราออกเงินไปกับค่ารับน้องเยอะมาก เพราะมีเพื่อนลีดบางคนที่ไม่ได้มีเยอะ แต่ก็เข้าใจ เลยให้จ่ายตามความสมัครใจ ถ้าเราช่วยได้ก็ช่วยออกมากกว่า แต่บางทีก็คิดนะว่าทำไมเราต้องออกเงินเยอะขนาดนี้”
(เชียร์ลีดเดอร์ ก)
ทั้งนี้ผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินและคัดเลือกผู้ที่จะได้เป็นลีดคือ รุ่นพี่ชั้นปีที่ 2 แต่ในบางคณะก็ยังมีรุ่นพี่ปีที่สูงกว่าคอยดู และให้คำแนะนำ อาจกล่าวได้ว่าแม้รุ่นพี่ปี 2 จะมีอำนาจในการคัดเลือก แต่ก็ไม่ได้เป็นอำนาจที่เด็ดขาด เพราะยังต้องฟังความเห็นจากรุ่นพี่ปีสูง เพื่อไปเลือกคัดคนที่ชั้นปี 2 และชั้นปีสูงกว่าเห็นตรงกันว่าเหมาะสม แม้ว่าในบางคณะรุ่นพี่ปีสูงจะไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจแล้ว แต่การกิจกรรมเชียร์ก็ยังคงต้องดำเนินตามรอยในระบบที่รุ่นพี่วางเอาไว้ให้ เช่น การจัดระเบียบวินัยแก่รุ่นน้อง การฝึกและการลงโทษ ซึ่งการที่รุ่นพี่ปีสูงยังสามารถเข้ามามีบทบาทในกิจกรรมต่างๆ ได้ หรือการที่ลีดรุ่นถัดๆ ไปไม่มีอำนาจพอในการเปลี่ยนแปลงระบบที่เคยสร้างความเจ็บปวดให้ตนนี้ สะท้อนการยึดถือ ‘ระบบอาวุโส’ ในองค์กรได้อย่างชัดเจน เนื่องจากลีดต้องให้ความสำคัญกับความเป็นพี่เป็นน้อง จนนำไปสู่การสานต่อ ‘ธรรมเนียมปฏิบัติ’ ภายในลีดที่ฝึกซ้อมอย่างกดขี่และมีบทลงโทษที่ไม่เป็นธรรมโดยไม่มีใครตั้งคำถามหรือกล้าเปลี่ยนแปลง
แม้คุณจะมีใจรักในการเป็นลีด มีความสามารถ และความพร้อมต่างๆ แล้ว แต่การเข้าไปเป็นลีดก็ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะยังมีอีกเกณฑ์ที่เป็นกำแพงสำคัญ นั่นคือ ‘ความเป็นพี่เป็นน้อง’ เนื่องจากลีดเป็นกิจกรรมที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น ตั้งแต่การคัดเลือก ฝึกซ้อม แม้จะหมดวาระการเป็นลีดแล้วก็ยังมีภาระผูกพันให้ต้องกลับมาช่วยดูแลรุ่นน้องอยู่ตลอด จึงไม่แปลกที่ลีดจะให้ความสำคัญกับการเป็นรุ่นพี่ รุ่นน้อง จนหล่อเลี้ยงระบบอาวุโสอย่างไม่รู้ตัว
“มีบางคนที่ไปเวิร์กชอป (Workshop) ลีดครบ 3 วันแต่เขาไม่ติดลีดทั้งที่เขาตั้งใจทำกิจกรรม แล้วพอเขารู้ว่าเราไปแค่ 2 วัน แถมเต้นผิดด้วยแต่เราติด เขาก็อคติกับเรา … แต่หลังจากที่เป็นลีดแล้วก็มีการพูดคุยกับรุ่นพี่ว่าเลือกคนนี้มาเพราะอะไร ซึ่งเกณฑ์อันดับหนึ่งคือดูจากความเข้ากันได้ระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้อง ถ้าสมมุติน้องคนนี้หน้าตาดี บุคลิกดี ทำกิจกรรมดี สัมภาษณ์ดี แต่เข้ากับรุ่นพี่ปีสูงๆ ไม่ได้เลย เขาก็ไม่เอาเหมือนกัน”
(เชียร์ลีดเดอร์ ก)
การฝึกซ้อมอันทรหดจากรุ่นสู่รุ่น
หลายคนอาจคุ้นเคยกับภาพกลุ่มคนที่เป็นลีด ยืนขึ้นมือ ตั้งการ์ด ซ้ำอย่างนี้เกือบทุกวันตั้งแต่ช่วงเย็นจนถึงหัวค่ำอยู่ตามจุดต่างๆ ของมหาวิทยาลัย การฝึกซ้อมของลีดนั้น เรียกได้ว่าทั้ง ‘หนักกาย’ และ‘เหนื่อยใจ’ เพราะร่างกายจะถูกท้าทายขีดจำกัดอยู่ตลอดจากการฝึกซ้อมในท่าทางต่างๆ ขณะที่จิตใจก็จะถูกกดดันจากรุ่นพี่และเพื่อนรอบข้างอยู่เสมอ หากใครคนหนึ่งทำให้เกิดความผิดพลาดขณะซ้อม ความรับผิดชอบจะตกไปอยู่กับเพื่อนทุกคนที่ต้องถูกลงโทษร่วมกัน
การฝึกซ้อมเริ่มจากการวอร์มร่างกายด้วยการวิ่ง โดยจำนวนรอบจะแตกต่างไปในแต่ละคณะ ส่วนใหญ่จะฝึกซ้อมตั้งแต่ช่วง 5 โมงเย็นไปจนถึงช่วง 4 ทุ่ม เที่ยงคืน หรือแล้วแต่เป้าหมายที่รุ่นพี่ปี 2 กำหนดไว้
“ปกติจะเริ่มซ้อมประมาณ 5 โมงเย็น จะมีการวอร์มร่างกายด้วยการวิ่ง 6 รอบ แล้วก็ซิทอัพ วิดพื้น ผู้หญิง 20 ครั้ง ผู้ชาย 25 ครั้ง เสร็จแล้วก็มายืนโซนคือ การยืนนิ่ง ตามองระดับ 45 องศาและยิ้ม”
(เชียร์ลีดเดอร์ ค)
“ตอนซ้อมงานเฟรชชี่เกมส์รวมกับคณะอื่น ต้องวิ่งรอบตึก SC เฉลี่ยประมาณ 10-12 รอบ แล้วก็จะมีวันที่มีคนมาสาย ทำให้ถูกลงโทษต้องวิ่งถึง 22 รอบ”
(เชียร์ลีดเดอร์ ข),
“ปกติจะซ้อม 5 โมงเย็นถึง 5 ทุ่ม แต่ถ้าช่วงใกล้เฟรชชี่เกมส์จะซ้อมตั้งแต่ 5 โมงเย็น เลิก 6 โมงเช้า”
(เชียร์ลีดเดอร์ ก)
การฝึกซ้อมที่ยาวนานและหนักหน่วงนี้อาจส่งผลร้ายต่อสภาพร่างกายของลีด ในบางคณะก็จะมีการสอบถามความพร้อมของร่างกายก่อนฝึกซ้อม เพื่อที่จะรับมือกับอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้ทัน
“ก่อนเริ่มก็จะมีถามก่อนว่าแต่ละคนสภาพร่างกายพร้อมไหม เพราะเราซ้อมกันหนักมาก ยืนติดกันมากกว่า 8 ชั่วโมง”
(เชียร์ลีดเดอร์ ค)
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ลีดทุกคนที่กล้าจะพูดคำว่าไม่พร้อมออกมา เพราะอาจถูกกดไว้ด้วยอำนาจของรุ่นพี่ หรือสายตาของเพื่อนๆ
“เคยมีคนที่ลงไปชักอยู่กับพื้นเลย เพราะตอนนั้นต้องยืนกางแขนอยู่ครึ่งชั่วโมงเลยน่าจะทำให้เกร็งมาก แต่เราก็ไม่ได้ดูนะเพราะต้องมองโซน แค่ได้ยินว่ามีคนชัก ก็เรียกรถพยาบาลมา”
(เชียร์ลีดเดอร์ ค)
ไม่ใช่เพียงการฝึกซ้อมเท่านั้นที่สร้างความทรมานให้กับลีด แต่ยังมีระบบการให้อำนาจรุ่นพี่ในการลงโทษภายในได้อย่างอิสระเมื่อลีดมาซ้อมสาย หรือ ‘หลุดระเบียบ’ เช่น หยุกหยิก ตาไม่มอง 45 องศา เกาตามตัวระหว่างซ้อม
“รุ่นพี่จะนับถ้าหลุดระเบียบ เสร็จแล้วจะทำโทษโดยการเอาจำนวนที่นับได้มาคูณ 100 บ้าง คูณ 200 บ้าง ให้ตีแปด (ตั้งการ์ด วางมือลงมาเป็นตัว T ขนานกับพื้น ลากมือขึ้นไขว้กันกลางหัว คว้านมือลงมาปัดไปข้างหน้าด้วยมือตึง และปัดไปข้างหลัง) 800-1,000 ครั้งหลังจากซ้อมทุกวันเป็นการลงโทษ”
(เชียร์ลีดเดอร์ ก)
“การทำโทษมีตั้งแต่วิ่ง ตีแปด เราเคยโดนให้ทำมากสุดเป็นพันครั้ง ทำไปด้วยร้องไห้ไปด้วย…รุ่นพี่ฝึกมาอย่างไร เราก็จะต้องโดนฝึกแบบนั้น แต่อยู่ที่ว่าเขาจะลดหย่อนในสิ่งที่ตัวเองเคยโดนมากแค่ไหน”
(เชียร์ลีดเดอร์ ค)
นอกจากลีดจะไม่สามารถแสดงความไม่พร้อมในการซ้อมออกมาได้ ลีดก็ไม่สามารถปฏิเสธบทลงโทษที่รุ่นพี่มอบให้ได้อีกด้วย เมื่อการลงโทษคือการมอบอำนาจเด็ดขาดให้รุ่นพี่มีสิทธิ์ในการตัดสินใจว่าควรจะลงโทษอย่างไรเพื่อให้เป็นไปตามระเบียบที่กำหนดไว้ ทำให้ในบางครั้งการลงโทษก็เกินกว่าสมควร และกลายเป็นความรุนแรงที่ยอมรับได้ในกลุ่มลีดเพื่อปกป้อง ‘ระเบียบ’ ที่ไม่มีใครมีตั้งคำถามว่ามีไปเพื่อสิ่งใด ทั้งที่สามารถใช้วิธีอื่น เช่น การชื่นชม ให้รางวัล ให้กำลังใจ หากต้องการรักษาความพร้อมเพรียงให้บรรลุเป้าหมายในการฝึกซ้อมโดยไม่จำเป็นต้องจบลงด้วยการทำโทษเสมอไป
“ความชอบในลีดเราหายไปแล้ว กลายเป็นว่าที่ต้องมาซ้อมทุกวันคือหน้าที่ ถ้าไม่มาก็โดนทำโทษ ถ้าเพื่อนคนไหนไม่มาที่เหลือก็จะโดนทำโทษ…เคยมีเพื่อนจะออกจากลีด แต่รุ่นพี่ไม่ให้ออก ช่วงที่พักจากฝึกซ้อมเพื่อนได้ยินคำว่าลีดไม่ได้เลย ได้ยินแล้วจะร้องไห้ ร้องจนซึมไปเลย เราคิดว่ามันหนักมากจริงๆ มันเกินคำว่าลีดไปเยอะมาก”
(เชียร์ลีดเดอร์ ค)
สิทธิที่เหนือกว่าเมื่อได้เป็นเชียร์ลีดเดอร์
การเข้ามาเป็นเชียร์ลีดเดอร์ไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อเข้ามาก็ต้องฝึกซ้อมอย่างหนัก เผชิญกับบทลงโทษที่ไม่เป็นธรรม แต่สิ่งที่ยังทำให้ลีดสามารถดำเนินกิจกรรมต่อ และเป็นตำแหน่งที่หลายคนใฝ่ฝัน นั่นคือสิทธิเหนือกว่าเมื่อได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบนี้ แม้ว่าหลายครั้ง ลีดจะถูกรุ่นพี่ต่อว่าด้วยคำพูดที่กดดัน หรือทำโทษอย่างไม่มีเหตุผล จนหากใครมองก็คงคิดว่าความเป็นรุ่นพี่รุ่นน้องภายในลีดไม่น่าจะคงอยู่ได้นาน แต่ในความเป็นจริงระบบอุปถัมภ์ภายในลีดกลับเหนียวแน่นขึ้น สิ่งที่ทำให้ความสัมพันธ์ในองค์กรนี้ยังดำเนินต่อไปได้คือ คอนเนกชั่น ที่รุ่นพี่พร้อมมอบความช่วยเหลือให้
“มีรุ่นพี่ลีดปีสูงที่เขาเป็นเจ้าของธุรกิจ ผู้บริหาร ดาราต่างๆ ซึ่งเขาช่วยเราเรื่องคอนเนกชั่นในพื้นที่ตรงนั้นได้ค่อนข้างมาก”
(เชียร์ลีดเดอร์ ก)
การมีอยู่ของเชียร์ลีดเดอร์จึงเป็นภาพสะท้อนของระบอบอำนาจนิยมที่สามารถกำหนดหน้าที่และบทบาทของผู้ออกคำสั่งและผู้ทำตามคำสั่งนั้นอย่างไร้ทางขัดขืน อำนาจนิยมในลีดประสบความสำเร็จได้เนื่องจากคนไม่ได้ตั้งคำถามถึงการใช้อำนาจนั้น ทั้งยังจำนนว่าสมควรที่จะถูกออกคำสั่ง หรือสมยอมต่อบทลงโทษที่เกินกว่าเหตุเหล่านี้ และแม้จะมีลีดส่วนหนึ่งที่ตั้งคำถามถึงความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงทางกายและทางใจผ่านบทลงโทษที่รุ่นพี่มอบให้ แต่ก็ไม่สามารถโต้แย้งอำนาจของรุ่นพี่ในขณะนั้น ทำได้แค่รอให้รุ่นพี่หมดวาระไปและปรับเปลี่ยนการฝึกซ้อมในรุ่นของตนเอง อีกทั้งยังผูกโยงไว้ด้วยสายใยของระบบอุปถัมภ์อย่างเหนียวแน่น ทำให้การแบ่งปันผลประโยชน์แก่คนในองค์กรด้วยกัน และเลือกปฏิบัติต่อคนนอกองค์กรกลายเป็นเรื่องปกติที่ยอมรับได้
“เราเคยคิดนะว่าทำไมการเป็นลีดต้องเจออะไรหนักขนาดนี้ แต่มันเหมือนถูกปลูกฝังมาตั้งแต่แรกว่าคณะเราต้องเป็นแบบนี้ ต้องทำแบบนี้เพื่อที่จะไม่แพ้ แล้วเราก็ได้รับค่านิยมนั้นมา ซึ่งจริงๆ เราไม่ต้องซ้อมหนักขนาดเลิกตี 5 มันก็สำเร็จได้เหมือนกัน”
(เชียร์ลีดเดอร์ ค)
อย่างไรก็ตามจุดประสงค์แท้จริงของกิจกรรมเชียร์ลีดเดอร์นั้นคือ การเป็นพื้นที่ให้คนที่รักในการแสดงออกเหล่านี้ได้มาทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่ต่างจากชมรมอื่นๆ ในมหาวิทยาลัย แต่ระบบภายในที่เต็มไปด้วยระบอบอำนาจนิยมและระบบอุปถัมภ์นั้นสร้างความเจ็บปวดให้ทั้งคนที่อยู่ภายในองค์กรเชียร์ลีดเดอร์เอง ที่ต้องเผชิญกับความกดดัน การบ่อนทำลายความเชื่อมั่นในตัวเอง หรือการจำนนต่อการถูกบังคับที่เกิดขึ้นในกิจกรรมเชียร์ รวมถึงคนภายนอกก็ได้รับผลกระทบจากการที่คนในองค์กรผลิตซ้ำค่านิยมเลือกปฏิบัติด้วยผลประโยชน์ และทำให้อำนาจนิยมกลายเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ในสังคม ซึ่งคงจะดีกว่ามากหากเชียร์ลีดเดอร์จะสามารถรื้อถอนระบอบอำนาจนิยมที่กัดกินคำว่าผู้นำเชียร์ให้ไม่หลงเหลือความภาคภูมิใจ พร้อมเปลี่ยนแปลงระบบภายในอย่างสร้างสรรค์ ให้เชียร์ลีดเดอร์เป็นพื้นที่ปลอดภัยที่แท้จริงสำหรับทุกคนที่รักในกิจกรรมเชียร์นี้