Art & CultureArticlesWritings

เดือนพฤษภาคม ปี 2056 แด่เธอผู้ปลดประจำการแล้ว

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง

Spoiler Alert : บทความชิ้นนี้มีการสปอยเนื้อหาของ ‘Voices of a Distant Star เสียงเพรียกแห่งดวงดาว’

กำลังเดินเครื่อง ยินดีต้อนรับพลขับหมายเลข 2

โลกพบโบราณสถานแห่งใหม่บนดาวอังคาร แต่ในขณะที่กำลังสำรวจโบราณสถานอยู่นั้น ก็ได้พบเข้ากับสิ่งมีชีวิตปริศนา ‘ทาร์เชี่ยน’ มันเข้าโจมตีและระเบิดพื้นที่ตรงนั้นทิ้ง จึงทำให้ทั่วโลกมองว่าสิ่งมีชีวิตที่เพิ่งค้นพบนี้เป็นศัตรูกับโลก 

เหตุนี้เองจึงทำให้เกิด ‘กฎหมายพิเศษทาร์เชี่ยน’ ที่กล่าวว่า ‘ประเทศชาติต้องมีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการทุกอย่างที่เกี่ยวกับทาร์เชี่ยนและประชาชนทุกคนมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือเท่าที่จะทำได้’

‘นากามิเนะ มิคาโกะ’ เด็กสาวอายุ 15 ปี ที่กำลังจะจบมัธยมต้นจึงต้องแยกทางกับ ‘เทระโอะ โนโบรุ’ เด็กชายที่อยู่ชมรมเดียวกัน เพราะเธอจะต้องไปช่วยเหลือประเทศชาติในฐานะ ‘พลขับเทรเซอร์’ หุ่นยนต์ที่ใช้สำหรับการสำรวจและต่อสู้บนอวกาศ 

เธอจำเป็นต้องขึ้นไปอยู่บนอวกาศอันแสนไกล โดยสิ่งเดียวที่เชื่อมทั้งคู่เข้าด้วยกันคือโทรศัพท์มือถือเก่าๆ ที่ทำให้ยังติดต่อกันได้แม้ระยะทางและเวลาจะแตกต่างกันมากขนาดไหนก็ตาม

ภาพประกอบจาก : https://pantip.com/topic/32088472

นั่นคือเนื้อเรื่องเบื้องต้นของ ‘เสียงเพรียกแห่งดวงดาว Voice of a Distant Star’ ผลงานอนิเมชันและนิยายที่สร้างขึ้นในปี 2002 ของ ‘มาโคโตะ ชินไค’ ผู้กำกับและนักเขียนมากฝีมือจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งปัจจุบันได้สร้างผลงานออกมาอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นผลงานสุดโด่งดังอย่าง ‘Your name หลับตาฝัน ถึงชื่อเธอ’ ‘The Garden of words ยามสายฝนโปรยปราย’ และผลงานล่าสุด ‘Suzume การผนึกประตูของซุซุเมะ’

หากดูเพียงแค่เนื้อเรื่องย่อของ เสียงเพรียกแห่งดวงดาว เราก็อาจคิดว่าคงเป็นเรื่องราวความรักระหว่างคนสองคนหรือเรื่องราวของหญิงสาวที่ต้องขี่หุ่นรบต่อสู้กับเหล่าสิ่งมีชีวิตปริศนาเพื่อปกป้องโลกเพียงเท่านั้น 

แต่ไม่ใช่สำหรับงานของมาโคโตะ เพราะงานเขามักจะใส่ประเด็นที่น่าสนใจมากกว่าแค่เนื้อหาที่อยู่ตรงหน้า ตั้งแต่เรื่องราวการใช้อำนาจของรัฐบาลและสื่อ สัญญะทางเพศ ไปจนถึงเรื่องราวของความนึกคิดในจิตใจ ที่ทำให้เราอาจจะต้องเสียเวลาตกผลึกกับมันนานพอสมควร

.

เปิดเทปบันทึก ‘คำแนะนำจากผู้บัญชาการ’

สิ่งที่ขับเคลื่อนเนื้อหาทั้งหมดของเรื่องนี้ก็คือรัฐบาลที่ต้องการกำจัดเหล่าทาร์เชี่ยนที่พวกเขาเห็นว่าเป็นตัวอันตรายสำหรับโลก แต่ในช่วงท้ายเรื่องเราจะพบว่าจริงๆ แล้วเหล่าทาร์เชี่ยนนั้นไม่ได้เป็นศัตรูกับมนุษย์โลกอย่างที่คิด พวกเขาเพียงแค่ต้องการจะสื่อสารด้วยเท่านั้น

ภาพประกอบจาก : https://gkids.com/films/voices-of-a-distant-star/

จากการรายงานข่าวเรื่องการระเบิดของโบราณสถาน ทำให้ผู้คนทั่วโลกเชื่อไปในทางเดียวกันว่า “พวกมันคือภัยคุกคาม” โดยที่ไม่มีการย้อนกลับมาถามถึงข้อเท็จจริงในเรื่องราวการระเบิดที่เกิดขึ้นเลย 

หรือเมื่อมีผู้คนสงสัย ก็ต้องถูกสกัดไว้ด้วยกฎหมายพิเศษทาร์เชี่ยน ที่ทำให้พวกเขาทำได้เพียงแค่ ‘สงสัย’ เพราะหากต่อต้านตัวกฎหมายนี้ ก็ไม่ต่างอะไรกับการถูกตราหน้าว่ากบฏต่อมนุษยชาติ

ตัวของมิคาโกะก็เช่นกัน เธอถูกสั่งสอนมาในโรงเรียนว่าทาร์เชี่ยนคือภัยคุกคาม และหากมีส่วนร่วมได้ ก็ควรที่จะร่วมจัดการพวกมัน จนกระทั่งเธอได้เผชิญหน้าและสื่อสารกับพวกเขา ทำให้รู้ว่าสิ่งที่เธอรับรู้ตลอดมานั้นเป็นเพียงเรื่องโกหกจากทางรัฐบาล ที่แค่ต้องการปกปิดความผิดพลาดของตัวเองและใช้อำนาจในทางมิชอบเท่านั้น

ไม่ต่างอะไรกับโลกปัจจุบันที่สื่อและผู้มีอิทธิพลยังคงมีอำนาจในการเปลี่ยนแปลงโลกไปในเส้นทางที่ต้องการ ตั้งแต่การแทรกแซงสิ่งที่อยากให้เห็น ไปจนถึงการสร้างภาพจำภายในสมองของเหล่าอนาคตของประเทศ ทั้งหมดล้วนไม่ต่างกับเนื้อหาภายในเรื่องเลย แม้จะผ่านมานานกว่า 22 ปีแล้วก็ตาม

.

ตรวจพบพลขับหญิง 172 คน และผู้บัญชาการชาย 1 คน

สิ่งที่ใส่เข้ามาในเรื่องอีกอย่างคือ ‘สัญญะทางเพศ’ ที่ทำให้เราชวนตั้งคำถามตั้งแต่ต้นเรื่อง ว่าทำไมคนที่ถูกคัดเลือกไปต้องเป็นมิคาโกะ ที่เป็นเพียงเด็กผู้หญิงอายุ 15 ปี และยิ่งตั้งข้อสงสัยเข้าไปอีกเมื่อพลขับทั้งหมดนั้นเป็น ‘ผู้หญิง’ มีเพียงแค่ช่างเครื่องและผู้บัญชาการเท่านั้นที่เป็นผู้ชาย

อาจเป็นไปได้ว่าเป็นความคิดที่แหกขนบของตัวมาโคโตะเอง ที่ในช่วงเวลานั้นจะพบเห็นแต่เรื่องราวที่ตัวละครชายมักเป็นตัวหลักของเรื่อง และน้อยมากที่จะเป็นตัวละครหญิง หรือหากใช่ก็ต้องเป็นเรื่องราวที่ไม่ได้สลักสำคัญหรือมีอิทธิพลกับอะไรมากขนาดนั้น

แต่ก็เป็นได้เพียงแค่ความสงสัย เพราะจนจบเรื่องก็ไม่มีการอธิบายว่าทำไมถึงต้องเป็นผู้หญิง แม้กระทั่งตัวละครในเรื่องเองก็ยังไม่สามารถหาคำตอบให้กับคำถามนี้ได้ ทำได้เพียงสันนิษฐานว่าเพราะเบื้องบนสั่งมาเพียงเท่านั้น

“งั้นคนในหน่วยก็มีแต่ผู้หญิงสินะคะ?”

“ก็อย่างนั้นแหละ”

“แต่ว่า…ทำไมล่ะคะ?”

“เรื่องพรรค์นั้น ฉันเองก็ไม่รู้เหมือนกัน ไม่เข้าใจเหตุผลอะไรด้วย คงเป็นความคิดของพวกคนใหญ่คนโตแหงๆ คงมีเหตุผลอะไรบางอย่างที่เข้าท่าบ้างแหละ”

“เหมือนถูกหลอกเลยนะคะ รู้สึกสับสนจัง”

บทสนทนาระหว่างมิคาโกะกับ ‘โฮโจ ซาโตมิ’ พลขับอีกคนที่จะมีบทบาทสำคัญในอนาคต

แต่นั่นก็เป็นเพียงข้อสันนิษฐาน และคนที่ตอบคำถามนี้ได้ก็คงมีแค่ตัวคนเขียนอย่างมาโคโตะเพียงคนเดียวเท่านั้น

.

กำลังปรับเปลี่ยนที่นั่งให้เหมาะสมกับพลขับ

เมื่อตัวละครเป็นเด็ก ก็คงหนีไม่พ้นที่จะใส่เรื่องราวของ ‘การเป็นผู้ใหญ่’ ลงไปในเรื่อง ที่จะทำให้ตัวละครต่างๆ นั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงและมีการเติบโตไปตามช่วงเวลา ทั้งตัวของมิคาโกะ และโนโบรุ ไปจนถึงตัวละครสำคัญอย่างมนุษยชาติ

ตัวละครมิคาโกะมีการเติบโตขึ้นจากการต่อสู้ในฐานะพลขับ เธอเปรียบเสมือนเด็กที่ถูกบังคับให้ต้องรีบโต เธอต้องปรับตัวกับสภาพแวดล้อมที่เสี่ยงอันตรายจนไม่ได้ใช้ชีวิตเหมือนเด็กทั่วไป 

ทำให้เธอนั้นแสดงออกถึงการโหยหาอดีตอยู่ตลอดทั้งเรื่อง ทั้งจากการที่เธอจะขึ้นขับหุ่นยนต์ด้วยการใส่ชุดเครื่องแบบนักเรียนของเธอ ไปจนถึงการโหยหาถึงสถานที่ที่เคยไป และโหยหาถึงคนที่เธอรัก

“อยากตากฝนจังเลยน้า”

“อยากไปร้านสะดวกซื้อแล้วกินไอศกรีมจัง”

มิคาโกะหลับตาลงและปลดเปลื้องสิ่งที่ตนอดทนมาโดยตลอด

“อยากเจอจังเลย โนโบรุคุง”

น้ำตาร่วงหล่นลงมาจากแก้มแล้วหยดลงบนกระโปรงเครื่องแบบ

ในขณะที่ตัวของโนโบรุอยู่บนโลกก็ต้องเผชิญหน้ากับความรู้สึกด้อยค่าในตัวเอง เพราะระหว่างที่มิคาโกะต้องไปต่อสู้เสี่ยงตายอยู่บนอวกาศ เขากลับกำลังมีปัญหากับการสอบเข้ามัธยมปลาย ซึ่งเทียบอะไรไม่ได้เลยกับสิ่งที่มิคาโกะต้องเจอ

ไปจนถึงการตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างเขากับมิคาโกะ ว่าเขานั้น “ต้องรอมิคาโกะหรือเปล่า” เพราะเขาไม่สามารถรับรู้ความเป็นไปของเธอได้เลย และเมลที่ส่งมานั้นก็ไม่รู้ว่าจะมาถึงเขาเมื่อไหร่ อาจจะ 1 วัน 1 ปี 10 ปี หรือมันอาจจะไม่มีทางมาถึงเลยด้วยซ้ำ

แต่ตัวเขาก็ยังสามารถหาที่ทางเพื่อที่จะไปหามิคาโกะจนได้ ด้วยการเข้าเรียนเพื่อเป็นหน่วยวิศวะสื่อสารให้กับยาน เพราะอย่างน้อยที่สุด เขาก็จะไม่ต้องรอโดยที่ไม่ได้ทำอะไรเลย

ภาพประกอบจาก : https://cinemaster.ch/2020/06/28/the-voices-of-a-distant-star-2002/

ตัวละครสุดท้ายที่ต้องเผชิญหน้ากับการเติบโตมากที่สุดก็คือมนุษยชาติ จากการที่พบเจอกับเหล่าทาร์เชี่ยนครั้งแรก มันทำให้มีการเติบโตมากขึ้นในด้านการสำรวจอวกาศ และแม้พวกเขาจะตีความการปรากฏตัวของเหล่าทาร์เชี่ยนผิด แต่มันก็ยังไม่ได้เสียเปล่าเสียทีเดียว เพราะมันก็ทำให้พวกเขาสามารถพัฒนาขึ้นไปได้อีกครั้ง

เมื่อถึงเวลาที่พวกเขาสามารถรับรู้เรื่องราวของทาร์เชี่ยนได้ และสามารถสื่อสารกับพวกนั้นได้ เมื่อถึงตอนนั้นโลกก็อาจถูกยอมรับว่าเป็นผู้ใหญ่ในระดับอวกาศ

“การที่จะเป็นผู้ใหญ่ต้องมีความเจ็บปวด แต่ถ้าเป็นพวกเธอล่ะก็ ไม่ว่าจะเป็นปลายทางอันไกลแสนไกลหรือสุดขอบอวกาศก็คงไปได้ทั้งนั้น…เพราะฉะนั้น ตามมาให้ได้นะ เราอยากฝากเอาไว้กับพวกเธอ”

คือสิ่งที่ทาร์เชี่ยนพยายามติดต่อกับมิคาโกะ รวมถึงกับพลขับคนอื่นๆ ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่

.

ยกเลิกภารกิจ เตรียมนำยานกลับสู่โลก

สิ่งสุดท้ายที่ถูกใส่เข้ามาคือเรื่องของความหมายของการใช้ชีวิต ว่าในขณะที่เรากำลังใช้ชีวิตตามความต้องการของกลุ่มคนที่สูงกว่า เพื่อหาอะไรบางอย่างที่ดูจะสำคัญ แต่คำถามที่เกิดขึ้นคือ “ทำไมเราต้องทำ”

เราคงอยู่เพื่อตัวเรามาเสมอ มันไม่ใช่หน้าที่ของเราที่ต้องทำเพื่อใครหรืออะไร เพราะมนุษย์ควรได้ทำสิ่งที่ตัวเองอยากจะทำ และแม้ว่าสิ่งที่อยากทำมันจะเล็กน้อยและดูเห็นแก่ตัวขนาดไหน มันก็ไม่ใช่เรื่องที่ใครจะมาตัดสินเราได้

แม้ว่าจะยังไม่ได้คำตอบว่าเหล่าทาร์เชี่ยนคืออะไร หรือต้องการอะไรจากโลก แต่สำหรับมิคาโกะ สิ่งเหล่านั้นมันไม่จำเป็นอีกแล้ว เธอไม่ต้องการรับรู้ว่ามันคืออะไร ไม่ต้องการรับรู้จุดประสงค์ของมัน เธอเพียงแค่ต้องการกลับมาใช้ชีวิต ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งและถูกห้อมล้อมไปด้วยสิ่งที่เธอรัก และคนที่รักเธอเพียงเท่านั้นเอง

.

ลงจอดสำเร็จ ขอบคุณพลขับที่ทำงานอย่างแข็งขัน

แม้โลกภายในเรื่องราวนั้นจะอยู่ในค.ศ.2053 ก็ตาม แต่สิ่งที่มาโคโตะถ่ายทอดออกมายังคงเป็นการเหน็บแนมทุกระดับชั้นของสังคม ตั้งแต่ระดับรัฐบาลไปจนถึงระดับจิตใจของตัวละคร ที่ยังคงสามารถรับรู้และสัมผัสได้ในโลกปัจจุบัน

กับการตั้งคำถามถึงการหลอกลวงจากรัฐบาลเพื่อจุดประสงค์บางอย่าง การเลือกปฏิบัติที่ไม่สามารถหาเหตุผลรองรับได้ การเติบโตบนสภาพแวดล้อมที่บีบบังคับ หรือแม้กระทั่งการถูกล่อลวงให้ละทิ้งความต้องการส่วนตัวและทำเพื่อส่วนรวม

Voices of a Distant Star เสียงเพรียกแห่งดวงดาว แบบนิยายฉบับแปลไทยอยู่ภายใต้ลิขสิทธิ์ของสำนักพิมพ์ Animag books แต่แบบอนิเมชันไม่สามารถดูแบบถูกลิขสิทธิ์บนแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งได้แล้ว

https://www.facebook.com/photo.php?fbid=4047913405316221&id=134310463343221&set=
a.4007193196054909&source=57&locale2=fo_FO&_rdr

หากผู้ใดสนใจและอยากจะตามเรื่องราวฉบับเต็ม พร้อมกับซึมซับลายเซ็นการเขียนของมาโคโตะ ชินไค ก็อยากจะให้ลองหานิยายมาอ่านดู แม้จะหายากสักหน่อย แต่มันจะมีอยู่ในสักที่แน่นอน

.

“ไปที่ไหนกันไหม?”

“ไปที่ร้านสะดวกซื้อละกัน อยากกินไอศกรีมอะ”

มิคาโกะพูดด้วยคำพูดเหมือนเด็กอย่างจงใจ

“แล้วไม่ทบทวนบทเรียน ม.ต้นเหรอ?”

“วันนี้ทำไปทั้งวันแล้ว ที่สำคัญนะ ฉันอยู่คอร์ส ม.ปลายต่างหากล่ะ…”

เธอยืนขึ้นจัดชายกระโปรง

“อยากได้เวลาจังเลย จะเอาไว้ตามโนโบรุคุงที่อายุยี่สิบสี่ให้ทัน”

มิคาโกะเดินออกจากศาลาไป

ที่ต้องการเวลาน่ะ เป็นผมต่างหากล่ะ

เพื่อเดินให้ทันนากามิเนะที่อายุสิบเก้า ผมจึงก้าวตามหลังเธอไป

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
0
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0
Features

เคยได้ยินเรื่องราวจากสายส่งหนังสือไหม?

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย สายส่ง น. ผู้ดำเนินกิจการเป็นตัวแทนในการส่งหนังสือหรือสินค้าอื่นให้แก่ผู้รับ. เคยได้ยินชื่ออาชีพสายส่งไหม? ฉันรู้ว่านักเขียนเป็นผู้สร้างสรรค์เรื่องราวในหนังสือ ฉันรู้ว่าสำนักพิมพ์เป็นผู้นำเรื่องราวจากนักเขียนมาผลิตหนังสือ และรู้ว่าร้านหนังสือเป็นผู้ส่งหนังสือมาให้ถึงมือเหล่าคนอ่าน แต่ฉันกลับไม่รู้เลยว่าสายส่งคืออะไร… จนกระทั่งเมื่อฉันมีโอกาสทำความรู้จักกับคุณน้าคนหนึ่ง ผู้เป็นนักเขียนและบรรณาธิการอยู่ในวงการหนังสือมาอย่างยาวนาน ...

Articles

มองความตายผ่านเลนส์กล้อง ใน ‘ลาก่อน เอริ’

เรื่องและภาพประภาพ: สิทธิเดช สายพัทลุง Spoiler Alert: บทความชิ้นนี้มีการสปอยล์เนื้อหาของ ‘ลาก่อน เอริ’ หรือ ‘Goodbye Eri’ ‘ภาพยนตร์’ สื่อบันเทิงภาพเคลื่อนไหวที่สามารถเล่าเรื่องราวได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งเรื่องราวความสุขจนต้องยิ้มตาม หรือเรื่องราวการจากลาที่ทำให้กลั้นน้ำตาแทบไม่ไหว ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งเรื่องจริงและเรื่องแต่ง ...

Articles

Rick and Morty: ชีวิตไร้ความหมายในจักรวาลไร้จุดหมายของริกและมอร์ตี้

เขียน : ศิรประภา จารุจิตร ภาพประกอบ : ศิรประภา จารุจิตร ขอบคุณภาพจาก https://wall.alphacoders.com/big.php?i=1335145 คำเตือน: บทความชิ้นนี้มีการสปอยล์เนื้อหาบางส่วน โปรดอ่านอย่างระมัดระวัง “Nobody exists ...

Articles

Indie but not independent: การเติบโตของเพลงอินดี้ในไทย จากอัลเทอร์เนทีฟร็อกจุดประกายสู่ทางเลือกที่หลากหลาย

เขียน: ณัฐธิดา นิติเกษตรสุนทร ภาพประกอบ: ศิรประภา จารุจิตร “รออยู่ตรงนี้แล้วเธออยู่ไหน เธอจะยังคิดถึงฉันบ้างไหม หรือไม่ใช่ กลับมากอดฉันสักทีได้ไหม ขอแค่ครั้งเดียว แม้แค่ครั้งเดียว ก่อนเธอลบฉันไป” เสียงที่เย็นแต่นุ่มของนักร้องพร้อมเมโลดี้ดรีมป๊อป ดนตรีฟังง่าย ให้ความเพลิดเพลิน ผสมกับเสียงกีตาร์และเสียงซินธิไซเซอร์ ...

Features

สารบัญปัญหาสำนักพิมพ์

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ภาพประกอบ : จุฑาภัทร ทิวทอง และ สิทธิเดช สายพัทลุง สำนักพิมพ์ น. สถานที่ดำเนินธุรกิจจัดพิมพ์และจำหน่ายตำราหรือหนังสือ สารคดี ...

Articles

เรื่องราวของผีที่มีมากกว่าความน่ากลัวโดย ‘Mike Flanagan’

เรื่องและภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ กิจกรรมของชาวตะวันตกส่วนใหญ่ในช่วงเทศกาลฮาโลวีนก็คงหนีไม่พ้นการแต่งหน้าแต่งตัวเป็นผี ไปยืนเคาะประตูหน้าบ้านคนอื่น พร้อมตะโกนคำว่า Trick or Treat! เพื่อขอขนมหวานแสนอร่อย แต่นี่คือประเทศไทย ดินแดนแห่งเวทมนตร์ หากเดินไปเคาะประตูบ้านคนอื่นยามค่ำคืนก็คงจะได้ไปเล่นกับตำรวจ ไม่ก็เจ้าที่แทน ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ก็มีเพียงแค่การดูหนังมาราธอนจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้น ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save