เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์
บทนำ
“ขอถามได้ไหมคะว่าคุณน้าเป็นคนที่ไหน”
“เป็นคนใต้ จังหวัดยะลา แต่ขึ้นมาอยู่กรุงเทพฯ นานจนกระทั่งคนอื่นเขาเข้าใจผิดกันหมดแล้วว่าเป็นคนกรุงเทพฯ”
“พอได้ยินเสียงสำเนียงของคุณน้า ก็เลยคิดว่าอาจจะไม่ใช่คนกรุงเทพฯ ร้อยเปอร์เซ็นต์”
“ยังติดสำเนียงใต้ใช่ไหม แล้วทองแดงออกเยอะไหมล่ะ นี่พยายามพูดให้มันหล่อๆ แล้วนะ”
เมื่อสิ้นสุดประโยคดังกล่าว เสียงหัวเราะของชายผู้คร่ำหวอดในบรรณพิภพวัย 70 ปี ก็ดังก้องไปทั่วห้องขนาดเล็กซึ่งละลานไปด้วยกองหนังสือมากหน้าหลายตาบนชั้นวางโครงเหล็กแข็งแกร่งสองฝั่งซ้ายขวา
ไม่ว่าใครก็ตามที่เคยแวะเวียนเข้าไปในหมู่บ้านพระปิ่น 2 เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ คงไม่อยากจะเชื่อว่าบ้านสองชั้นขนาดไม่ใหญ่โต ไม่มีจุดโดดเด่น แตกต่าง หรือแปลกตาจากบ้านหลังอื่นๆ ที่ตั้งอยู่ข้างเคียงกันแห่งนี้ จะมีห้องซึ่งเปรียบเสมือนโกดังเก็บหนังสือสำหรับซื้อขาย
โดยมีเจ้าของคือ ‘เรืองเดช จันทรคีรี’ หรือ ‘น้าเดช’ อดีตบรรณาธิการนิตยสารถนนหนังสือ บรรณาธิการผู้ช่วยนิตยสารช่อการะเกด และผู้บริหารสำนักพิมพ์เคล็ดไทย อีกทั้งยังเป็นนักเขียนและนักแปลทรงคุณค่าของวงการหนังสือไทย ตลอดจนเป็นผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์คนวรรณกรรมและสำนักพิมพ์รหัสคดี และในปี 2564 ที่ผ่านมา ก็ได้รับรางวัลบรรณาธร ในฐานะผู้ธำรงคุณูปการแห่งวงวรรณกรรมจากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
อย่างไรก็ตาม การบอกเล่าถึงเรื่องราวที่รุ่งโรจน์ซึ่งผ่านพ้นไปแล้ว อาจไม่สลักสำคัญเทียบเท่าการพูดคุยถึง ‘มาตรฐานวรรณกรรมพิมพ์จำกัด’ หรือ ‘มวจ.’ มวจ. ธุรกิจการซื้อขายหนังสือที่มีระบบแตกต่างไม่เหมือนร้านอื่นใด ซึ่งเปรียบเสมือนหน้าที่การงานหลักในปัจจุบันของน้าเดช
ในอดีตมวจ. เป็นระบบที่ผสานให้ร้านหนังสืออิสระและสำนักพิมพ์ขนาดเล็กรวมกันเป็นหนึ่ง เปรียบเสมือนกับแสงนำทางให้กับเหล่าคนตัวเล็กในบรรณพิภพ ถึงแม้จะมันมอดจนเกือบดับสิ้นไป แต่น้าเดชยังคงพยายามหล่อเลี้ยงแสงสว่างดวงเล็กๆ นี้ต่อโดยไม่คาดหวังถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น เราจึงยังมีโอกาสได้มองเห็นส่วนเสี้ยวเล็กน้อยที่หลงเหลืออยู่ในมือของชายผู้นี้
แม้ว่าความตั้งมั่น ความหวัง และจุดหมายปลายทางบนถนนสายขรุขระนี้จะค่อยๆ เลือนลางไปตามกาลเวลาแล้วก็ตาม…
.
บทที่ 1 น้าเดช คนวรรณกรรม
“สามารถเรียกว่าคุณน้าเดชได้เลยไหมคะ”
“ใช่ อยากให้คนเรียกว่าน้าเดช แล้วก็เรียกเร็วๆ ด้วย ให้กลายเป็น นะเดช นะเดช”
“เหมือน ณเดชน์ คูกิมิยะ เหรอคะ”
น้าเดชหัวเราะด้วยความชอบใจกับความคิดนี้ ก่อนจะเริ่มต้นอธิบายว่า ต้องการคำเรียกที่ทุกคนสามารถใช้ร่วมกันได้ คล้ายกับกระเป๋ารถเมล์ที่จะเรียกผู้โดยสารว่า ‘พี่’ เสมอ รวมถึงหลายๆ คนในวงการหนังสือก็จะนิยมใช้คำว่า ‘น้า’ ต่อด้วยชื่อเล่น โดยไม่จำเป็นต้องให้ความสำคัญว่าใครจะอายุมากกว่าหรือน้อยกว่าเพื่อความสะดวกในการพูดคุย “เหมือนเป็นฉายา เราอย่าไปนึกถึงเคารพไม่เคารพเนอะ ยิ่งน้าเดชยิ่งต้องการให้เรียกด้วย ยิ่งควรจะเรียก น้าเดชเฉยๆ เลยก็ได้ไม่ต้องมีคุณ”
นอกจากนี้น้าเดชยังเลือกหยิบคำนิยามตัวเองว่าเป็น ‘คนในวงการหนังสือ’ หรือ ‘คนวรรณกรรม’ แทนการเป็นบรรณาธิการหรือคนทำหนังสือ ด้วยเหตุผลที่ว่า ในช่วงเวลานี้ไม่ค่อยได้ลงมือทำหนังสือด้วยตนเองมากเท่าเดิม ทั้งการเขียน การแปล หรือการบรรณาธิการ
.
บทที่ 2 ออกตัวท่องบรรณพิภพ
“จุดเริ่มต้นในการอ่านหนังสือมาจากไหนเหรอคะ”
“มาจากแม่เลย” น้าเดชตอบคำถามด้วยความรวดเร็ว ก่อนจะแสดงความเห็นว่าโดยส่วนใหญ่แล้ว คนที่อ่านหนังสือมักจะได้รับอิทธิพลมาจากครอบครัว เพราะการที่ผู้ใหญ่ในบ้านรักการอ่านหนังสือหรือนั่งอ่านให้เด็กฟังเป็นสิ่งแวดล้อมเชิงรูปธรรมที่เด็กสามารถจับต้องได้
ทว่าหากจะหาจุดเริ่มต้นที่แท้จริงของการเดินทางในโลกวรรณกรรม ก็จำเป็นต้องย้อนกลับไปเกือบ 50 ปีก่อนหน้า ในปี 2517 เมื่อน้าเดชได้เข้าเรียนที่คณะสถาปัตยกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเข้าร่วมกลุ่มกิจกรรมของนักศึกษาที่จำเป็นต้องมีการหาทุนมาดำเนินงาน ซึ่งรวมไปถึงการทำหนังสือขาย โดยน้าเดชได้นิยามการทำหนังสือในช่วงเวลานั้นอย่างติดตลกว่า “เอาหนังสือคนอื่นมาพิมพ์ เหมือนขโมยเขามาพิมพ์” เพราะเป็นการนำหนังสือที่เคยได้รับการตีพิมพ์และขายจนหมดแล้ว โดยเฉพาะงานของกลุ่มนักเขียนแนวก้าวหน้า เช่น เสนีย์ เสาวพงศ์ มาตีพิมพ์ซ้ำใหม่ก่อนนำไปขายโดยไม่ได้ขอลิขสิทธิ์ อาจมีบางเล่มที่พยายามไปขออนุญาตทางสำนักพิมพ์หรือนักเขียนก่อน ทว่าการติดต่อสื่อสารในสมัยนั้นก็ทำได้ยาก
“แต่คนเหล่านี้ที่เป็นนักเขียนเขาก็ไม่ว่าอะไรจริงๆ นะ เพราะเขาตั้งใจเขียนหนังสือเพื่อจะให้มันเข้าถึงประชาชนอยู่แล้ว” น้าเดชอธิบายก่อนแจงว่า เมื่อได้มีโอกาสไปพบนักเขียนเหล่านั้นก็ได้ขอโทษขอโพยเป็นที่เรียบร้อย
อย่างไรก็ตาม ด้วยกระแสการเมืองไทยที่ดุเดือดและเข้มข้นในช่วงสมัยนั้น น้าเดชจึงตัดสินใจย้ายมาเรียนที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยความหวังที่จะได้เป็นทนายของประชาชนเหมือนกับพระเอกนักกฎหมายในหนังสือเรื่อง ปีศาจ ของเสนีย์ เสาวพงศ์ แต่เมื่อได้เข้ามาเรียนแล้ว น้าเดชก็เริ่มมองเห็นว่าอาชีพในสาขาวิชานี้เป็นอาชีพที่ ‘นิ่ง’ เกินไปสำหรับเขา
“เดี๋ยวก็ต้องไปขึ้นศาล เดี๋ยวก็ต้องไปทำคดี คดีมันก็ซ้ำๆ แล้วตอนนั้นเราสนใจเรื่องเกี่ยวกับหนังสืออยู่แล้วด้วย ก็ไม่เคยคิดที่จะไปเป็นทนาย ตั้งแต่เรียนก็คิดไว้เลยว่าจบออกไปจะทำอย่างอื่น”
และ ‘การทำอย่างอื่น’ ของน้าเดชก็คือการโลดแล่นอยู่ในวงการหนังสือนับแต่นั้นเป็นต้นมา
.
บทที่ 3 สร้างถนนสายขรุขระสู่ปลายทางไร้แสง
“ในเมื่อไม่ได้ยึดบทบาทการเป็นบรรณาธิการแล้ว ตอนนี้น้าเดชกำลังทำงานอะไรอยู่หรือคะ”
“จับฉ่าย” คราวนี้เสียงหัวเราะของน้าเดชดังก้องกว่าที่เคย “แต่ตอนนี้หลักๆ ก็มีขายหนังสือกับแนะนำหนังสือ”
“ในฐานะมวจ.”
“ในฐานะมวจ.” เขาเอ่ยย้ำ
ทว่าในความจริงแล้ว มาตรฐานวรรณกรรมพิมพ์จำกัด หรือ มวจ. นั้นไม่ได้ถือกำเนิดขึ้นมาเป็นร้านหนังสือเฉกเช่นเดียวกับในปัจจุบันแต่อย่างใด เพราะความตั้งใจแรกในการการก่อตั้งมวจ. ขึ้นมาคือต้องการช่วยเหลือร้านหนังสืออิสระและสำนักพิมพ์ขนาดเล็กให้อยู่รอดต่อไปได้ด้วยการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
หากย้อนเวลากลับไปเมื่อประมาณปี 2535-2536 นับเป็นช่วงเวลาที่ร้านหนังสืออิสระและสำนักพิมพ์ขนาดเล็กเริ่มตกต่ำลงอยู่และรอดได้ยาก อีกทั้งยังเป็นปัญหาที่คาราคาซังอยู่ในวงการหนังสือมานานนับ 20 ปี จนกระทั่งน้าเดชเล็งเห็นว่า ปัญหาดังกล่าวนี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการสร้างระบบเครือข่ายเพื่อเชื่อมโยงระหว่างร้านหนังสืออิสระและสำนักพิมพ์ขนาดเล็ก ให้ทั้งสองธุรกิจมีโอกาสร่วมทำงานด้วยกันผ่านมวจ.
“ตอนนั้นมันใช้ชื่อกลุ่มคสล. ด้วยซ้ำ เหมือนคอนกรีตเสริมเหล็ก” เขาพูดปนเสียงหัวเราะ “แต่ว่ามันย่อมาจากเครือข่ายสำนักพิมพ์อิสระขนาดเล็ก พอย่อมันจะมาเป็นคสล.”
ส่วนการเปลี่ยนชื่อเป็นมวจ. มีที่มาจากกลุ่มอินดี้ที่ตีพิมพ์หนังสือหาทุน และชื่อของหนังสือในตอนนั้นก็คือ ม.ว.จ.2545 ซึ่งน้าเดชขยายความว่า “มันเป็นการต่อสู้เพื่อหาพื้นที่ของสำนักพิมพ์เล็กๆ ของคนกลุ่มเล็กๆ ที่ทำหนังสือเพื่อจะให้อยู่รอดในระบบใหญ่ได้ ตอนนั้นม.ว.จ. เขาย่อมาจาก มิตรภาพ ความหวัง และกำลังใจ ทีนี้ผมก็เอามาพลิกใหม่ กลายเป็นตัวย่อของมาตรฐานวรรณกรรมพิมพ์จำกัด”
เมื่อถามว่าได้แนวคิดของการทำคสล. หรือมวจ. มาจากใคร น้าเดชนั่งทำคิ้วขมวดครุ่นคิดไปพักหนึ่ง ก่อนจะตอบว่าอาจเกิดมาจากนิสัยส่วนตัวที่ชื่นชอบการทำอะไรร่วมกับผู้อื่น อย่างในครั้งที่เริ่มต้นทำสำนักพิมพ์คนวรรณกรรม ก็เป็นการร่วมกันทำกับนักเขียนคนอื่นๆ หรือในตอนที่ตั้งสโมสรหนังสือสายสัมพันธ์ก็จะนำหนังสือจากหลายสำนักพิมพ์มาขาย
“เหมือนเราเชื่อไปแล้วว่าคนเล็กๆ ต้องทำงานร่วมกันเพื่อให้กลายเป็นสิ่งใหญ่ๆ” เขาทิ้งท้าย
กลไกของมวจ. ถูกขับเคลื่อนด้วยการผลิตหนังสือที่เป็น ‘Exclusive Product’ ให้กับร้านหนังสืออิสระได้นำไปขาย โดยตีพิมพ์วรรณกรรมออกมาในจำนวนจำกัดเพื่อให้กลายเป็นสินค้าชนิดหายากหรือที่เรียกกันว่า Rare Item ซึ่งจะไม่มีการวางขายในร้านค้าอื่นๆ เพื่อดึงให้ลูกค้าที่สนใจหันมาซื้อหนังสือจากร้านค้าเล็กๆ แทน และกระบวนการในการตีพิมพ์นั้นก็จะต้องมีตราสัญลักษณ์มวจ. ร่วมกัน
ตราสัญลักษณ์ของมวจ. นี้คล้ายคลึงกับตราสินค้าแบรนด์ทั่วไปที่อยู่บนปกหนังสือ โดยภาพตราสัญลักษณ์ของมวจ. คือลูกกลิ้งเครื่องพิมพ์ที่สื่อความหมายถึงขั้นตอนการผลิตหนังสือ และมันไม่ใช่เพียงเครื่องหมายที่ช่วยบ่งบอกว่าหนังสือเล่มนี้อยู่ในเครือมวจ. เท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่รับประกันคุณภาพด้านเนื้อหาของวรรณกรรมเรื่องที่ได้รับการตีพิมพ์ด้วย
“ทำไมถึงต้องเป็นวรรณกรรมเหรอคะ”
“เราอยากจำกัดขอบเขตของมันให้เป็นเรื่องแต่ง แล้วก็เป็นงานวรรณกรรมอมตะระดับโลก เพราะมันมีคุณค่าในตัวของมันเอง คือมันถูกพิสูจน์ด้วยระยะเวลาแล้ว อมตะก็คือไม่ขึ้นต่อกาลเวลา ระดับโลกเนี่ย…” น้าเดชยกมือขึ้นกางออกทั้งสองข้าง “…มันหมายถึงพื้นที่รอบโลกไง แสดงว่าวรรณกรรมนี้ถูกแปลกันทั่วไป แค่สองอันนี้มันก็ผ่าน มันก็ไม่ต้องมาคัดเองเลย โลกมันคัดมาให้
“แล้วก็ทำให้เราเข้าใจคนอื่นด้วย เพราะวรรณกรรมบางเล่มมันเป็นเรื่องของคนๆ หนึ่งที่เราจะไปรู้จัก บางทีเราก็ไปเห็นใจชะตากรรมที่เขาเจอ ว่าทำไมไอ้ฌอง วาลฌองต้องขโมยขนมปังก้อนหนึ่งแล้วไปติดคุก (จากเรื่อง เหยื่ออธรรม) อ่านแล้วก็สงสาร ถึงชีวิตเราอาจจะไม่ได้เจออะไรแบบนี้ แต่มันทำให้เปรียบเทียบได้ มันทำให้เราใช้ชีวิตเป็นขึ้น และใช้ชีวิตได้ดีขึ้นเพราะเราได้รู้จักคนอื่น มันดีกว่าการที่เราจะรู้จักแต่ตัวเอง” น้าเดชเอ่ยด้วยโทนน้ำเสียงที่ต่ำลง “แต่ความจริงพอมาถึงวัยนี้แล้ว การรู้จักตัวเองอาจจะดีกว่ารู้จักคนอื่น แต่ยังไงตอนแรกก็ต้องไปรู้จักคนอื่นก่อนเพื่อที่จะได้กลับมารู้จักตัวเองนั่นแหละ”
นอกจากนี้ร้านหนังสืออิสระและสำนักพิมพ์ขนาดเล็กที่เข้าร่วมกับมวจ. จะต้องยึดถือนโยบายด้านราคาตามที่กำหนดไว้ โดยมีระบบคือการเปิด Pre-order หนังสือก่อนวางจำหน่ายในราคาที่ถูกกว่าราคาปก และเมื่อหมดระยะเวลาสำหรับการ Pre-order แล้ว ก็จะไม่สามารถขายหนังสือแบบลดราคาได้อีกเด็ดขาด ซึ่งการ Pre-order นี้จะเป็นการทำงานรูปแบบระดมทุนไปในตัว เพราะร้านหนังสืออิสระและสำนักพิมพ์ขนาดเล็กส่วนมากมีเงินทุนในการดำเนินธุรกิจไม่มากนัก
น้าเดชเล่าเพิ่มเติมว่า การสร้างระบบดังกล่าวได้รับแรงบันดาลใจมาจากนโยบาย ‘Fixed Book Price’ หรือ ‘หนังสือราคาเดียว’ ของประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นมาตรการการตรึงราคาหนังสือเพื่อป้องกันไม่ให้มีการขายหนังสือในราคาต่ำกว่าที่กำหนด ดังนั้นการแข่งขันด้านราคาหนังสือจึงเป็นไปได้ยาก ทำให้สำนักพิมพ์และร้านหนังสือต้องแข่งขันกันในด้านอื่นๆ แทน เช่น การให้บริการผู้อ่าน การวางขายหนังสือหลากหลายประเภท
“ความจริงไม่ได้ต้องร่วมอะไรเลย เพราะเขาก็พิมพ์หนังสือตามปกติอยู่แล้ว มาร่วมก็คือแค่นี้” น้าเดชว่าพลางชี้ไปที่ตราสัญลักษณ์มวจ. บนปกหนังสือ “แล้วก็มีกติกาอยู่บ้าง เช่นเรื่องระบบ Pre-order หรือเรื่อง Fixed Book Price แต่ตรงนี้มันก็เป็นอุปสรรค เพราะสำนักพิมพ์อื่นไม่เห็นด้วย”
อย่างไรก็ตาม การขายหนังสือโดยไม่ลดราคาลงจากปกอาจเป็นนโยบายที่โหดร้ายเกินไป เพราะในปัจจุบันการขายหนังสือลดราคาเป็นรูปแบบการขายปกติทั่วไป อีกทั้งก็ยังเป็นสิ่งมหัศจรรย์ที่สามารถกวักมือเรียกลูกค้าให้เข้าร้านได้ง่ายขึ้นอีกด้วย
เมื่อน้าเดชได้ฟังก็ออกความเห็นว่า “ใช่ แต่จริงๆ มันผิดหลักของการให้ค่ากับหนังสือเลย” น้ำเสียงของเขาเริ่มจริงจังมากขึ้น “เพราะว่าถ้าเป็นสินค้าทั่วไปคุณจะลดแลกแจกแถมในแบบนี้ก็ได้ แต่ถ้าเป็นหนังสือมันจะเป็นสินค้าทางปัญญา สินค้าทางวัฒนธรรม สินค้าทางสังคม มันเอามาทำแบบนี้ไม่ได้ มันต้องให้เห็นความต่าง ความต่างที่เห็นได้ชัดก็คือต้องมีมาตรฐานทางราคา ต้องมีกฎเกณฑ์ทางการค้าขาย เรามาเลเพลาดพาดแบบนี้ มันไม่ใช่สินค้าทางปัญญา มันเป็นสินค้าสำหรับอุปโภคบริโภคธรรมดาเท่านั้น แต่ถ้าเราทำสินค้าทางปัญญา…” เขาหยิบหนังสือเล่มหนึ่งขึ้นมาถือ “…ให้กลายเป็นสินค้าธรรมดา มันก็จบตั้งแต่ต้น สำหรับผมนะ”
หลังจากนั้นน้าเดชก็เริ่มอธิบายต่อเกี่ยวกับกลไกทางราคาที่มวจ. ได้กำหนดเพิ่มเติมไว้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาราคาหนังสือแพง นั่นก็คือการรับซื้อหนังสือคืนจากผู้อ่าน
“สมมติราคาปก 300 บาท ก็จะขาย Pre-order ก่อนในราคา 240 บาท” เขาค่อยๆ เล่าให้ฟังอย่างตั้งใจ “พอพ้นจังหวะ Pre-order ไปก็จะขายตามราคาปก แล้วก็ยกระดับราคาไปเรื่อยๆ ตามสต็อกที่มันน้อยลง ซึ่งราคามันจะผกผันนะ มันจะมีกำหนดกฎเกณฑ์อยู่ของมวจ. ว่าถ้าเหลือเท่านี้ราคาจะขึ้นเท่านี้ ยิ่งเหลือน้อยราคาก็จะยิ่งสูง โดยจะบอกล่วงหน้าว่าราคาในขณะนั้นอยู่ที่เท่าไหร่ แล้วพอขายหมดสต็อก เราก็จะรับซื้อคืน โดยเริ่มต้นจากราคาปก นั่นหมายความว่าคนที่ Pre-order ไปแล้วเขาไม่ชอบหรืออ่านไม่จบ เขาก็สามารถมาขอขายคืนได้ แถมยังจะได้กำไรด้วย”
อีกทั้งยังมีข้อแม้ว่าลูกค้าจะสามารถขายคืนหนังสือได้เฉพาะที่ร้านหนังสือที่เข้าร่วมเครือข่ายของมวจ. เท่านั้น และเมื่อรับซื้อสินค้าคืนมาแล้ว ร้านหนังสืออิสระหรือสำนักพิมพ์ขนาดเล็กก็จะสามารถนำหนังสือเล่มที่ซื้อคืนมาไปขายต่อในราคาที่สูงกว่าปกประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากหนังสือเล่มดังกล่าวจะกลายเป็นวรรณกรรมที่หายากอย่างแท้จริง ซึ่งจะเหลือในร้านเพียงไม่กี่เล่ม ผู้ที่ต้องการย่อมต้องยอมซื้อในราคาสูงเพื่อได้มาอยู่แล้ว
ด้วยกลไกทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ระบบของมวจ. จึงฟังดูราวกับวิมานในอากาศที่ทุกคนสามารถเอื้อมมือไปคว้ามาได้ แต่ในความเป็นจริงนั้น ทุกสิ่งทุกอย่างกลับไม่ออกมาดังใจหวัง เนื่องจากในปี 2555 น้าเดชผลักดันแนวคิดระบบของมวจ. เข้าสู่สมาคมผู้จัดพิมพ์เพื่อสร้างระบบภายใต้โครงสร้างสมาคม โดยมีความคิดว่าถ้าหากมีเจ้าภาพหรือองค์กรรองรับที่แข็งแรงและสามารถให้เงินทุนสนับสนุนในการริเริ่มทำระบบได้ ร้านขายหนังสืออิสระและสำนักพิมพ์ขนาดเล็กอาจรู้สึกเชื่อมั่นในระบบมวจ. มากขึ้น
แต่กลับได้รับคำปฏิเสธจากทางสมาคม เพราะพวกเขามองไม่เห็นถึงประโยชน์ของระบบดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าน้าเดชจะพยายามก่อร่างสร้างมวจ. ขึ้นมาสักเท่าไร สุดท้ายแล้ว มวจ. ที่กระท่อนกระแท่นไปไม่ถึงฝั่งฝันก็พังทลายลงไปพร้อมกับการจากไปอย่างกะทันหันของ ‘ทวีศักดิ์ แก้วเข้ม’ หรือ ‘น้อย’ ในปี 2558 ผู้ทำหน้าที่ประสานงานให้กับมวจ. อีกทั้งยังเป็นผู้ที่รอรับไม้ต่อจากน้าเดชในฐานะผู้ดูแลจัดการระบบมวจ. หลังปี 2560 เป็นต้นไปด้วย
หลังจากเสียคนสำคัญอย่างไป ก็กลายเป็นเรื่องยากสำหรับน้าเดชที่ต้องประคับประคองมวจ. ด้วยตนเอง เนื่องจากเขาต้องการขยายระบบของมวจ. ให้ไปสู่ร้านหนังสืออิสระและสำนักพิมพ์ขนาดเล็กรุ่นใหม่ จึงต้องมีคนคอยช่วยประสานงานและอธิบายระบบของมวจ. ให้กับกลุ่มคนเหล่านั้นฟัง ซึ่งน้าเดชไม่สามารถทำเองคนเดียวได้ทั้งหมด
“ตอนจบของมวจ. มาชัดเจนตอนที่คุณทวีศักดิ์เขาเสียชีวิตไป เพราะปกติมันก็มีปัญหาอยู่แล้ว แต่พอคุณทวีศักดิ์เสียชีวิตไป มันก็เลยจบไปเลย” น้าเดชกล่าวด้วยน้ำเสียงแผ่วเบา
.
บทที่ 4 บนถนนสายเดิมเพียงลำพัง
“ในเมื่อมวจ.ไปไม่ถึงปลายทางที่ตั้งไว้ แล้วตอนนี้มวจ.มีหน้าที่ทำอะไรบ้างเหรอคะ”
“ถามซะตอบยากเลย” น้าเดชพูดด้วยความขำขัน “เราก็ยังโชคดีที่มันเหลืออยู่ไง เอาเข้าจริงเราทิ้งเลยไปก็ได้ เพราะจริงๆ แล้วมันเป็นของส่วนรวมนะ ตามที่ตั้งใจไว้ แต่ตอนนี้เราเหมือนเอามาใช้ส่วนตัว กึ่งๆ ผิดความตั้งใจ แต่ถ้าเราไม่ใช้เลยมันก็หายไปไง”
แม้ว่ามาตรฐานวรรณกรรมพิมพ์จำกัดจะแปรเปลี่ยนสภาพจากเครือข่ายของส่วนรวมกลายมาเป็นสำนักพิมพ์ส่วนตัวนั้น แต่ก็ยังคงทำหน้าที่ตามความตั้งมั่นในการทำวรรณกรรมรูปแบบหนังสือที่เป็น Exclusive Product อยู่เช่นเดิม
“ตอนนี้ตรามวจ. ก็เหมือนลักษณะร่วมมือกันกับสำนักพิมพ์อื่นๆ อย่างเล่มนี้…” ในระหว่างที่เล่าอยู่ก็เดินไปหยิบหนังสือเรื่อง Jack The Ripper ฉบับปกแข็งมาวางไว้บนโต๊ะ ซึ่งความจริงแล้วเป็นหนังสือภายใต้เครือสำนักพิมพ์แสงดาว ทว่าทางสำนักพิมพ์จะไม่ตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ในฉบับปกแข็ง น้าเดชจึงได้ไปขอร่วมลงทุนให้ช่วยตีพิมพ์เป็นฉบับปกแข็งให้ทางมวจ. 200 เล่ม เพื่อทำให้หนังสือ Jack The Ripper ฉบับปกแข็งนี้กลายเป็นสินค้า Rare Item พร้อมใส่ตราสัญลักษณ์ของมวจ. ลงบนหนังสือให้ หลังจากนั้นก็จะดำเนินการการซื้อขายตามที่มวจ. เคยทำมาตามที่เคยเป็นในอดีต ซึ่งก็คือการ Pre-order และการรับซื้อคืนเมื่อขายหมด
“จริงๆ สำนักพิมพ์เขาก็ยังอยากทำหนังสือปกแข็ง แต่มันทำไม่ได้ ระบบมันทำไม่ได้ ต้นทุนการผลิตมันสูง เราก็จะเข้าไปเสริมแทนไง ให้เขาได้ทำอันนี้ด้วย” สายตาของเขามองไปที่หนังสือเล่มเดิม “เพราะเราไม่ได้คิดเรื่องกำไรขาดทุนอยู่แล้ว เพียงแต่ให้มันมีอยู่ไง”
“ทำไมต้องเป็นปกแข็งด้วยล่ะคะ”
“เพราะมันต้องมีการเปลี่ยนมือเจ้าของถ้าหากมีการขายคืน” น้าเดชตอบอย่างรวดเร็วราวกับเตรียมคำตอบไว้ในใจอยู่แล้ว “ปกแข็งเนี่ย ตามมาตรฐานของต่างประเทศ คือมันเป็นหนังสือที่ใช้ได้นาน ราคาก็ย่อมสูงเพราะมันใช้วัสดุต่างกัน เป็นธรรมดาที่ปกแข็งจะต้องแพงกว่าปกอ่อน”
ส่วนตราสัญลักษณ์ของมวจ. ในปัจจุบัน ช่วงแรกๆ ก็ยังคงเน้นการการันตีคุณภาพให้กับผู้อ่าน ทว่าในช่วงหลังก็เริ่มเป็นเรื่องถกเถียงกันว่าหนังสือคุณภาพดีหรือหนังสือที่มีคุณค่าของคนแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน ตอนนี้น้าเดชจึงต้องปรับลดองศาบรรทัดฐานเดิมลงมา “อย่างเล่มนี้…” เขาใช้นิ้วเคาะลงบนปกของหนังสือเรื่อง Jack The Ripper “อันที่จริงจะไม่ได้ใส่ตรามวจ.นะ เพราะมันไม่ใช่วรรณกรรม มันเป็นหนังสือสารคดี เล่มนี้ก็เป็นเล่มแรกที่เราประนีประนอมให้สามารถใส่ตรามวจ. ได้ ข้อจำกัดในการคัดเลือกหนังสือก็จะน้อยลง ไม่ได้จำกัดในกรอบแค่วรรณกรรมอมตะระดับโลกอีกต่อไป”
แต่อย่างไร น้าเดชยังคงยืนยันว่าเป็นตราสัญลักษณ์ที่การันตีเรื่องคุณภาพของเนื้อหาในหนังสือ ถึงแม้ว่าเขาจะไม่ได้ลงมาอ่านหรือคัดเลือกหนังสือทุกเล่มด้วยตัวเองหรือใช้มาตรฐานสูงลิบตาเหมือนสมัยก่อนแล้ว แต่ก็ยังคงเลือกซื้อหนังสือจากสำนักพิมพ์ที่ไว้ใจ หรือดูจากบรรณาธิการของหนังสือเล่มนั้นๆ ก่อนเจรจาเพื่อขอตีพิมพ์อยู่เช่นเดิม
เมื่อถามในเรื่องของรายได้ น้าเดชตอบว่า ถ้าหากเป็นเขาในสมัยที่ยังหนุ่มยังสาวคงจะรู้สึกไม่ค่อยพอใจ แต่พอเป็นเข้าสู่อีกวัยหนึ่ง การมองโลกก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไป ความทะเยอะทะยานในแง่ของความมั่งคั่งก็ลดน้อยลง การได้ทำในสิ่งที่รักและให้ประโยชน์กับคนอื่น ในขณะที่พอมีรายได้เลี้ยงตัวเอง เท่านี้ก็เพียงพอแล้ว
“อยู่ที่ว่าคนอ่านเขาจะเมตตาเราหรือเปล่าด้วย” น้าเดชพูดพร้อมหัวเราะ “แหม พูดอย่างนี้น่าสงสารจริง… แต่ยังไงการซื้อการอ่านมันเป็นเรื่องที่ต้องสมัครใจ เราจะไปบังคับเขาว่าต้องช่วยเราเพราะน่าสงสาร มันก็ยิ่งไม่ได้ จริงๆ ต้องการให้เขาสนับสนุนสิ่งที่เราคิดด้วย ไม่ใช่ซื้อหนังสือแค่อย่างเดียว”
.
บทที่ 5 เลี้ยวสู่ถนนเส้นใหม่
“แล้วเป้าหมายมวจ. ในตอนนี้คืออะไรเหรอคะ”
“พอมาเจอการขายแบบลดแลกแจกแถม เราก็แทบจะทรงตัวไม่อยู่” น้าเดชถอนหายใจ “ก็เขวไปบ้างเพราะตอนนี้หนังสือมันก็เริ่มขายยากขึ้น ก็คิดว่า…ในบั้นปลายก็อาจจะต้องคลี่คลายตัวเอง ต้องมีอาชีพที่สองด้วย พลิกแพลงมาจากมวจ. นี่แหละ”
“อาชีพที่สองคืออะไรเหรอคะ” ‘ขนม หนังสือ และกาแฟ แม่หวานใจ’ คือบทบาทครั้งใหม่ของมวจ. ที่ถูกจับตะแคงจากซ้ายเป็นขวา เปลี่ยนจากร้านหนังสือสู่การเป็นร้านกาแฟ โดยน้าเดชเลือกใช้ที่ดินของญาติ ณ ตำบลดอนแก้ว อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นสถานที่ตั้งร้านแห่งนี้ และเพิ่งเปิดให้บริการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา
ทางน้าเดชได้หมายมั่นปั้นมือว่าจะเริ่มต้นจากการขายกาแฟและขนมก่อน เพื่อสำรวจดูกลุ่มลูกค้าที่เข้ามาในร้านว่าพวกเขาเป็นใคร มีสไตล์การอ่านหนังสือแบบไหน ก่อนจะนำหนังสือมาขายเสริมในร้าน ถือว่าเป็นการปรับเปลี่ยนรูปแบบการขายหนังสือของมวจ.จากหน้ามือเป็นหลังมือ เพราะแต่เดิมที หนังสือของมวจ. จะต้องยึดตามความชอบหรือมาตรฐานของน้าเดชเป็นหลัก
“ถ้าหากเป็นมวจ. คือ Inside Out แต่ที่ทำร้านกาแฟนั่นคือ Outside In เพราะเราเอาลูกค้าเป็นหลักแทน…เราต้องพูดคุย ต้องฝึกคนที่จะพูดคุยกับลูกค้า ใช้บทสนทนานำสู่การหาหนังสือมาขายตอบสนองเขา ถึงขั้นผลิตคงยังไม่มีนะ คงจะไปเลือกหนังสือมาขายมากกว่า เพราะหนังสือเดี๋ยวนี้มันออกมาหลากหลายตามความชอบของแต่ละคน”
อย่างไรก็ตาม มวจ.ที่เป็นร้านหนังสือก็จะยังคงดำเนินการต่อไปผ่านทางเว็บไซต์อยู่เช่นเดิม
นอกจากนี้ น้าเดชยังเกิดความคิดใหม่ขึ้นมาทันควันระหว่างการพูดคุยนั่นก็คือการเปิดแฟรนไชส์ ร้านแม่หวานใจไปจังหวัดอื่นๆ เพื่อส่งทอดต่อให้กับคนที่ชื่นชอบและรักการทำงานกับหนังสือได้มีโอกาสทำธุรกิจของตัวเองจริงๆ “ผมก็มีหน้าที่ที่จะต้องทำตัวหลักที่เชียงใหม่ให้ดังไง เพื่อคนอื่นจะไม่ต้องออกแรงโปรโมทเอง” น้าเดชพูดอย่างตั้งอกตั้งใจ “แต่ก็ต้องสำรวจและสัมภาษณ์คนที่จะมาทำก่อน คือเราอยากจะให้มีชีวิตอยู่กับสิ่งนี้จริงๆ ไม่ใช่ว่าทำแล้วเลิก”
“แต่คนสมัยนี้อาจจะอ่านหนังสือไม่ค่อยเยอะเท่าเมื่อก่อนแล้วนะคะ”
น้าเดชหยุดคิด “อืม…” เขานั่งนึกอยู่สักครู่หนึ่ง “ไม่รู้ดิผมจะลองทำดู ก็ต้องหาวิธี ในยุคนี้ที่เขาไม่อ่านหนังสือกัน จะทำยังไงที่จะทำให้เขา…ไม่ใช่ว่าอ่านหนังสือเยอะขึ้นนะ แค่ทำให้เขาคิดอะไรมากกว่าที่เป็นอยู่ ตอนนี้เขาคิดตามๆ กันไง อย่างตอนเด็กก็เรียนหนังสือ โตขึ้นก็ไปหางานทำ แต่งงาน ตอนแก่ก็รักษาสุขภาพ แล้วก็ตายไป ตกลงอยู่ไปทำไม เกิดมาทำไม อยากให้เขาคิดอะไรที่มีมุมใหม่ขึ้นมาโดยเฉพาะเกี่ยวกับชีวิต”
บทส่งท้าย
“น้าเดชยังมีความหวังต่อการทำมวจ. ไหมคะ”
“ก็…เมื่อก่อนผมคิดถึงว่ามันต้องมีปลายทางไง แต่สำหรับผมตอนนี้ที่ผมสบายใจก็คือผมไม่มองปลายทางแล้ว ผมว่าผมทำสำเร็จ ไม่รู้ก้าวที่เท่าไหร่ แต่มันสำเร็จไปแล้ว ถ้าเป็นเมื่อก่อนก็อาจจะรู้สึกรับไม่ได้ แต่ปัจจุบันนี้ผมไม่ได้รู้สึกว่าทุกข์ใจหรือว่าเศร้ากับมันเลยไง มาถึงตอนนี้แล้ว มวจ. มันก็ยังมีประโยชน์เอาไปใช้ต่อได้ นี่คือบทสรุปว่าเราก็ยังทำอยู่ มันยังทำได้อยู่… ไม่งั้นคงไม่มีใครมาขอสัมภาษณ์วันนี้หรอก” น้าเดชพูดพร้อมรอยยิ้ม “เอ้า! สรุปจบให้เลยนะเนี่ย”
แล้วเสียงหัวเราะของนักท่องบรรณพิภพก็ดังขึ้นอีกครั้งในโกดังเล็กๆ แห่งนี้อย่างสุขใจ