เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ และ สิทธิเดช สายพัทลุง
ภาพประกอบจาก : Thailand Tourism Directory
ผู้คัดค้านเผยเขื่อนแก่งเสือเต้นแก้น้ำท่วมสุโขทัยไม่ได้ และอาจทำลายวิถีชีวิตชาวบ้าน ต.สะเอียบไปจนหมด
.
จากกรณีเมื่อวันที่ 4 ก.ย. ที่ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อเกี่ยวกับการแก้ไขสถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดตามลุ่มแม่น้ำยมในปัจจุบันว่า เนื่องด้วยแม่น้ำยมเป็นแม่น้ำที่ไม่มีเขื่อนหรือแม่น้ำสายอื่นช่วยรองรับน้ำ จึงทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมโดยเฉพาะในจ.แพร่ จ.พะเยา และ จ.สุโขทัย ดังนั้นจะต้องมีการพูดคุยถึงโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นที่ ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ อีกครั้งเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวนั้น เมื่อวันที่ 8 ก.ย. อาทิตย์ ขวัญยืน หนึ่งในกลุ่มผู้คัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ให้สัมภาษณ์ว่า จะไม่มีการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นขึ้นอย่างแน่นอน เพราะโครงการดังกล่าวถูกชะลอและคัดค้านมานานกว่า 30 ปี หากจะมีการสร้างเขื่อนจริง คงดำเนินการได้ตั้งแต่แรก อีกทั้งโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อย่างครอบคลุม
อาทิตย์กล่าวว่า แม่น้ำยมมีลำน้ำอยู่ร่วม 100 สาขา แต่การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นนั้นจะรองรับลำน้ำได้เพียง 10 กว่าสาขา ยังเหลือลำน้ำบริเวณใต้เขื่อนอีกกว่า 60-70 สาขาที่ไม่มีที่รองรับ นอกจากนี้ เขื่อนแก่งเสือเต้นยังจุน้ำได้เพียง 1,175 ลบ.ม. แต่ในช่วงที่น้ำท่วม มวลน้ำที่ไหลลงไปจะมีมากถึง 5,000 กว่าลบ.ม. ดังนั้นพื้นที่บริเวณใต้เขื่อนแก่งเสือเต้นจะยังคงเจอปัญหาน้ำท่วมอยู่เช่นเดิม
อาทิตย์กล่าวเพิ่มเติมว่า ในกรณีของ จ.สุโขทัย ที่ประสบปัญหาน้ำท่วมในทุกๆ ปี เกิดจากปัญหาด้านภูมิประเทศ ทำให้ไม่สามารถรองรับน้ำจาก จ.แพร่ ได้
“ความกว้างโดยเฉลี่ยของแม่น้ำยมที่ จ.แพร่ อยู่ที่ 85 เมตร แต่บริเวณ อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ความกว้างโดยเฉลี่ยของแม่น้ำยมจะลดลงเหลือเพียง 43 เมตร เมื่อน้ำท่วมที่ผ่านมา มวลน้ำที่ท่วม จ.แพร่ ไหลอยู่ที่ 1,400 กว่าลบ.ม. ต่อวินาที และน้ำจะยังคงไหลแรงเท่าเดิมเมื่อไปถึง จ.สุโขทัย ไม่ว่าอย่างไรน้ำก็ล้นอยู่ดี” อาทิตย์กล่าวและว่า นอกจากจะไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้อย่างครอบคลุมแล้ว การสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นยังส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ด้วย เนื่องจากชาวบ้านต้องย้ายที่อยู่ แต่ที่่อยู่ใหม่จากการจัดสรรของภาครัฐ เป็นถิ่นทุรกันดาร ไม่เหมาะแก่การประกอบอาชีพตามวิถีเดิม เช่น การทำสุราพื้นบ้าน ซึ่งเป็นอาชีพที่สร้างรายได้หลักล้านให้คนในชุมชน รวมถึงการทำเกษตรกรรมตามฤดูกาลและการหาของป่า
“สิ่งที่เขื่อนจะทำลายไม่ใช่แค่ระบบนิเวศน์ป่าสักทองที่เราหวงแหน แต่รวมถึงวิถีชีวิตชุมชนที่จะต้องเข้าไปหาของป่าอย่างพวกผักหวานหรือเห็ดเผาะที่สร้างมูลค่ากิโลหนึ่งได้ตั้งหลายร้อย แล้วไม่ใช่แค่คนในชุมชนที่เข้าไปหา แต่ชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงก็ขึ้นไปหาด้วย ถ้ามีเขื่อนแล้วมันทดแทนกันไม่ได้ ผืนดินตรงนั้นจะหายไปมากกว่าหลายหมื่นไร่” อาทิตย์กล่าว
อาทิตย์เพิ่มเติมว่า ผลกระทบที่กล่าวมาข้างต้นทำให้ชาวบ้านไม่พอใจและกังวลใจต่อโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น ทางชุมชนสะเอียบจึงพยายามจัดทำ ‘สะเอียบโมเดล’ เพื่อนำเสนอวิธีแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการน้ำให้แก่ทางภาครัฐ
“การบริหารจัดการน้ำที่นำเสนอให้กับทางภาครัฐคือแนะนำให้ไปทำฝาย ทำอ่างตามลำน้ำสาขาของ จ.แพร่ ที่จะไหลลงรวมแม่น้ำยม เราจะทอนน้ำให้ลงแม่น้ำยมให้น้อยที่สุด เพราะถ้าไม่มีตัวช่วยดักหรือเก็บน้ำไว้ ก็เท่ากับว่าน้ำไหลจาก จ.แพร่ มาเท่าไรก็จะลงแม่น้ำยมเท่านั้น ซึ่งตอนนี้ภาครัฐรับเอาสะเอียบโมเดลไปบ้างแล้ว แต่ว่ายังไม่สมบูรณ์ แล้วก็ดันเกิดวิกฤตน้ำท่วม จ.แพร่ ขึ้นมาเลยมีการพูดถึงเขื่อนแก่งเสือเต้นอีกรอบหนึ่ง” อาทิตย์กล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สะเอียบโมเดล คือแผนโครงการที่ประชาชนในพื้นที่ ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ได้ร่วมกันเสนอเพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งในบริเวณลุ่มแม่น้ำยมตอนบน ซึ่งมีโครงการย่อยอยู่จำนวน 26 โครงการ หนึ่งในนั้นคือโครงการอ่างเก็บน้ำแม่สะกึ๋นและอ่างเก็บน้ำห้วยเป้า ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำเพื่อการเกษตร อุปโภค-บริโภค บรรเทาอุทกภัย และกิจกรรมการใช้น้ำอื่นๆ ในพื้นที่
บรรณานุกรม
กรมชมประธาน. งานจ้างสำรวจ ออกแบบโครงการอ่างเก็บน้ำในพื้นที่สะเอียบโมเดล.
เรียกใช้เมื่อ กันยายน 2567 จาก https://www.xn—-uwfqe6d0akaa4ejg9as7bh1cae3d3ac5f2nfp0bzy.com/
รัฐบาลไทย. (4 กันยายน 2567). ภูมิธรรม ระบุแนวคิดสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นต้องหารือทุกฝ่าย ย้ำเพื่อลดผลกระทบทั้งคนและป่า แก้น้ำท่วมซ้ำซาก. เรียกใช้เมื่อกันยายน 2567 จาก https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/87765