Art & CultureArticlesWritings

Concord เจ๊งเพราะ woke หรือแค่ไม่ตอบโจทย์ผู้เล่น

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง

แมลงวันเพศเมียมีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 29 วันหรือประมาณหนึ่งเดือน 

แม้จะรู้สึกว่าช่วงชีวิตของมันนั้นช่างแสนสั้น คงยังไม่สั้นเท่ากับช่วงชีวิตของเกม Concord ที่มีอายุขัยตั้งแต่เปิดขายเพียงแค่ 14 วันหรือเพียง 2 สัปดาห์เท่านั้น

“เกมมันเจ๊งก็เพราะ Woke เกินไปนั่นแหละ”

“เพราะพวก Woke ที่สร้างตัวละครหน้าตาน่าเกลียดแบบนี้ขึ้นมาไง เกมมันถึงล่ม”

“เพราะพวก Woke นั่นแหละ อุตสาหกรรมเกมถึงถดถอยลงแบบนี้”

คำว่า “เป็นเพราะพวก Woke” หรือ “เพราะ Woke มากเกินไป” กลายเป็นคำที่ถูกใช้ในการอธิบายปัญหาที่เกิดกับ Concord ไปโดยปริยาย แต่มันเป็นเพราะแบบนั้นจริงๆ? หรือเรากำลังมองผิดจุดกันแน่…

.

Concord (2024) เป็นเกมยิงมุมมองบุคคลที่หนึ่ง ซึ่งตัวละครสามารถใช้พลังพิเศษได้ หรือที่เรียกกันว่าเป็นเกมแนว ‘Hero shooter’ คล้ายๆ กับเกมอย่าง Overwatch (2016), Overwatch 2 (2023) หรือ Valorant (2020) ซึ่ง Concord ถูกสร้างโดยบริษัท Firewalk Studios รวมถึงให้ทุนการผลิตและจัดจำหน่ายโดยบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Sony Interactive Entertainment

Concord เปิดตัวครั้งแรกในงาน PlayStation Showcase เมื่อพฤษภาคม 2023 โดยมีจุดขายคือระยะเวลาในการสร้างที่มากถึง 8 ปี ด้วยเงินทุนมากกว่า 2 ร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯ ก่อนที่จะเริ่มเปิดเนื้อหาต่างๆ ทั้งตัวละคร ระบบการเล่น และราคาตามต่อกันมาในช่วงเดือนพฤษภาคมปี 2024 จนถึงก่อนวางจำหน่าย

ล่าสุด Concord ได้วางจำหน่ายบนเครื่องเล่นเกม PlayStation 5 และ PC เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยราคาอยู่ที่ 40 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 1,369.90 บาทไทย (ค่าเงินวันที่ 4 กันยายน 2567) ก่อนที่จะประกาศปิดตัวพร้อมกับคืนเงินให้กับผู้เล่นในวันที่ 6 กันยายน หรือเพียง 14 วันเท่านั้น

จุดเริ่มต้นของความขัดแย้งเริ่มมาตั้งแต่การเปิดภาพตัวละคร

เนื่องจากมันไม่สามารถที่จะดึงดูดแฟนเกมได้เลย โดยพวกเขาได้ให้เหตุผลว่าตัวละครพวกนี้นั้น ‘น่ารังเกียจ’ เกินกว่าที่จะทำให้อยากเล่น ทั้งการจับคู่สีที่แปลก การออกแบบชุดที่ไม่น่าสนใจ และสิ่งที่ทำให้ปะทุมากที่สุด คือการใส่ ‘ความหลากหลาย’ เข้ามาภายในเกม ทั้งเรื่องของสีผิว รวมไปถึงเผ่าพันธุ์ต่างๆ ที่ปรากฏภายในเกม

สิ่งที่ทำให้แฟนเกมตงิดใจมากที่สุดคือเรื่องความหลากหลายทางเพศในรูปแบบของ ‘นิยามตัวตนของตัวละครภายในเกม’ ซึ่งไม่เคยมีเกมไหนเคยทำมาก่อน โดยพวกเขาก็มองว่ามันเป็นการกระทำที่ ‘ไร้สาระ’ มาก เพราะสำหรับพวกเขาแล้ว สิ่งนี้ไม่ได้สำคัญอะไรกับการเล่นเกมนี้เลยแม้แต่น้อย

ด้วยการเปิดตัวเช่นนั้น ส่งผลให้เกม Concord ได้รับเสียงตอบรับในแง่ลบเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่เรื่องตัวละครไม่น่าสนใจ การยัดเยียดความหลากหลายที่ไม่จำเป็น หรือแม้กระทั่งความปากแจ๋วของหนึ่งในผู้สร้างที่เรียกกลุ่มชาวเกมที่ออกมาแสดงความเห็นว่า “พวกแปลกที่ไร้ความสามารถ” (Talentless freaks)  ก็ยิ่งทำให้ไฟความเกลียดชังนั้นลุกโชนมากขึ้นเรื่อยๆ

จนกระทั่งตัวเกมออกวางจำหน่าย ซึ่งผล…ก็เป็นไปตามคาด เกมทำยอดผู้เล่นในวันเปิดตัวได้เพียง 697 คนทั่วโลก และลดลงเรื่อยๆ ภายในหนึ่งอาทิตย์หลังจากวางจำหน่าย จนเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ( 2 กันยายน) เหลือผู้เล่นเพียง 39 คนเท่านั้น ถือว่าเป็นการเปิดตัวที่ล้มเหลวเป็นอย่างมาก

เมื่อไฟที่สุมไว้รอปะทุเจอกับน้ำมันของความล้มเหลวที่ไหลมาเร็วกว่าอายุขัยของแมลงวัน เมื่อนั้นชาวเกมก็ระเบิดความเกลียดชังทั้งหมดออกมาทันที ทั้งการเหยียบย่ำ ก่นด่า ล้อเลียน ไปจนถึงการแสดงความสะใจกับความล้มเหลวที่เกิดขึ้น โดยอาจจะลืมไปว่า สิ่งที่ควรสนใจที่สุดคือความแปลกใหม่ที่เกมมอบให้ผู้เล่นต่างหาก

หากมององค์ประกอบของเกม จริงๆ แล้ว Concord ไม่ควรจะประสบความสำเร็จเสียด้วยซ้ำ เพราะจากการวิเคราะห์ของ แดเนียล อาร์เหม็ด (Daniel Ahmad) นักวิเคราะห์จากบริษัทที่ทำงานด้านการวิเคราะห์ตลาดเกมโดยเฉพาะอย่าง Niko Partners ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเกมนี้ว่า

“แม้เกมนี้จะถูกสร้างมาในฐานะเกมคุณภาพสูง (AAA-Level) ที่มีรูปแบบการเล่นที่หลากหลาย, กราฟิกคุณภาพดี, และการวางเนื้อเรื่องรวมถึงแผนการพัฒนาระยะยาวที่น่าสนใจ

แต่มันกลับสอบตกเพราะไม่สามารถที่จะมาเบียดพื้นที่ของเกมประเภทเดียวกันในตลาดได้เลย แถมยังโฟกัสการพัฒนาไปกับจุดที่ไม่จำเป็นอีก”

“เอาง่ายๆ คือ Concord ไม่สามารถที่จะทำให้ผู้เล่นเกมแนว Hero Shooter อยากจะเปลี่ยนมาเล่นเกมนี้แทน หรืออยากที่จะหันมาลองมันด้วยซ้ำ ด้วยตัวเกมเองที่ไม่ได้มีการพัฒนาอะไรที่แปลกใหม่ไปจากเกมอื่นๆ รวมถึงตัวละครที่ไม่น่าสนใจมากพอ มันเลยทำให้เกมนี้ไม่ได้โดดเด่นขึ้นมา แถมเหมือนยังติดอยู่ในยุคของ Overwatch ภาคแรกเสียด้วยซ้ำ”

“รวมถึงการตลาดที่ก็ทำออกมาได้ล้มเหลวเช่นกัน เพราะแม้เกมนี้จะเปิดตัวมาตั้งแต่ปี 2023 แต่กลับมีการตลาดจริงๆ จังๆ คือเมื่อ 2-3 เดือนก่อนการวางขายเพียงเท่านั้น เพราะหากมีการขับเคลื่อนด้วยฐานแฟนมากกว่านี้ เกมอาจจะทำได้ดีมากขึ้นในวันเปิดตัว”

“พอรวมทุกอย่างข้างบนเข้ากับราคาที่สูงถึง 40 เหรียญสหรัฐฯ แทบไม่แปลกใจเลยว่าทำไมถึงไม่มีใครซื้อเกมนี้ ทีมสร้างมีความสามารถนะ แต่ก็ไม่แปลกใจที่ทำไม Sony ถึงตัดสินใจปิดตัวเกมนี้ทิ้ง เพราะผมก็ไม่คิดเหมือนกันว่า Concord จะสามารถกลับมาได้อีก”

จะเห็นได้ชัดเลยว่าการวิเคราะห์นี้ไม่มีการพูดถึงความ Woke ที่ถูกใส่เข้ามาเลย เพราะมันมีส่วนเพียงเล็กน้อยมากจริงๆ ที่จะทำให้เกมนี้ไม่ได้ไปต่อ

ในเมื่อเกมไม่มีอะไรใหม่ ต้องเสียเงินเกือบ 1,400 บาทเพื่อเล่นมัน แถมตัวละครยังออกแบบมาไม่น่าสนใจอีก ถ้ามันไม่สามารถดึงคนเล่นออกมาจากเกมที่เล่นอยู่ได้ การที่ Concord จะเจ๊งก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปได้อยู่แล้วหรอกเหรอ?

.

เอาเข้าจริง ความ Woke หรือความหลากหลายนั้นถูกสอดแทรกไว้ในเกมอยู่เสมอ เช่น สาวแกร่งอย่าง Lara Croft จากซีรีส์ Tomb raider หรือตัวละครผิวดำอย่าง Mad maggie, Loba, Bangalore, Lifeline, Seer หรือ Newcastle จากจักรวาลเกม Apex หรือแม้กระทั่งความหลากหลายทางเพศในเกม League of Legend ที่ก็ยังคงเปิดให้เล่นและมีผู้เล่นเข้าไปเล่นอย่างไม่ขาดสายอยู่จนถึงปัจจุบัน แค่เราอาจไม่ทันได้สังเกตเพราะมันสามารถที่จะผสมเข้ากับความสนุกของเกมได้อย่างลงตัวจนไม่รู้สึกถึงความยัดเยียด

ถ้างั้นการเหยียบย่ำความหลากหลายที่ถูกใส่เข้ามามันถูกต้องแล้วเหรอ? ในเมื่อถ้าเกมถูกสร้างมาดี เราไม่เคยที่จะสนใจความหลากหลายที่ถูกใส่ภายในนั้นด้วยซ้ำ แต่ในทางกลับกัน เรากลับโทษความหลากหลายเป็นอย่างแรกหากเกมออกมาแย่

สรุปแล้ว Concord นั้นเจ๊งเพราะความ Woke หรือแค่เพราะมันไม่น่าสนใจพอที่จะดึงคนเล่นให้หันมาสนใจกันแน่

บรรณานุกรม

James Batchelor. (4 กันยายน 2567). How many players does a game like Concord need to survive? . เรียกใช้เมื่อ กันยายน 2567 จาก https://www.gamesindustry.biz/how-many-players-does-a-game-like-concord-need-to-survive

Daniel Ahmad. (4 กันยายน 2567). เรียกใช้เมื่อกันยายน 2567 จาก https://x.com/ZhugeEX/status/1831039618122174707?fbclid=IwY2xjawFHsGpleHRuA2FlbQIxMAABHRMMfP2Gg-LEhb3iYSzPdSw2S7Ip5S5D3YABHYdDAZ6Xlz1VCEgRq2tIKQ_aem_8wPAO1apwL4ZG2hlD9aATQ

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
0
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0
Features

สารบัญปัญหาสำนักพิมพ์

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ภาพประกอบ : จุฑาภัทร ทิวทอง และ สิทธิเดช สายพัทลุง สำนักพิมพ์ น. สถานที่ดำเนินธุรกิจจัดพิมพ์และจำหน่ายตำราหรือหนังสือ สารคดี ...

Articles

เรื่องราวของผีที่มีมากกว่าความน่ากลัวโดย ‘Mike Flanagan’

เรื่องและภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ กิจกรรมของชาวตะวันตกส่วนใหญ่ในช่วงเทศกาลฮาโลวีนก็คงหนีไม่พ้นการแต่งหน้าแต่งตัวเป็นผี ไปยืนเคาะประตูหน้าบ้านคนอื่น พร้อมตะโกนคำว่า Trick or Treat! เพื่อขอขนมหวานแสนอร่อย แต่นี่คือประเทศไทย ดินแดนแห่งเวทมนตร์ หากเดินไปเคาะประตูบ้านคนอื่นยามค่ำคืนก็คงจะได้ไปเล่นกับตำรวจ ไม่ก็เจ้าที่แทน ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ก็มีเพียงแค่การดูหนังมาราธอนจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้น ...

Articles

Blackstar : คำร่ำลาจาก (เหล่า) มนุษย์ตาสองสีผู้มาจากต่างดาว

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง ภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ‘ความตาย’ เป็นสิ่งที่เราจะต้องพบในสักวัน ทั้งของครอบครัว เพื่อน หรือแม้แต่ความตายของตัวเองที่กำลังคืบคลานเข้ามาหาทุกวินาที โดยเราไม่สามารถรับรู้ได้ว่ามันจะมาถึงตัวของเราเมื่อไหร่ จนอาจกลายเป็นความหวาดกลัวที่ทำให้ไม่อยากจะใช้ชีวิตบนดาวเคราะห์สีน้ำเงินแห่งนี้อีกต่อไป แต่ไม่ใช่กับชายคนหนึ่ง ชายผู้แม้ความตายจะมาเคาะประตูหน้าห้อง ...

Articles

The substance: การฉายซ้ำของภาพยนตร์ที่ว่าด้วยการติดหล่มความงาม มองข้ามความจริง และ Ageism ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์

เรื่อง : ทยาภา เจียรวาปี ภาพประกอบ : ณัฐธิดา นิติเกษตรสุนทร “You were amazing” “เธอ ‘เคย’ ยอดเยี่ยม” คือคำเขียนในการ์ดที่ถูกแนบมาพร้อมดอกไม้ช่อโต ...

Writings

จดหมาย 3 ฉบับถึงงานหนังสือ

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ภาพประกอบ : สิทธิเดช สายพัทลุง, ชวิน ชองกูเลีย และ ศิรประภา จารุจิตร จดหมาย 3 ฉบับถึงงานหนังสือ คำนำ งานหนังสือ ...

Articles

Look Back: มองย้อนไป…กับหัวใจที่ต้องเดินหน้าต่อ

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง ภาพประกอบ : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ Spoiler Alert: บทความชิ้นนี้มีการสปอยล์เนื้อหาของ ‘Look Back’ “ถ้าตอนนั้นทำอีกแบบหนึ่ง มันจะเป็นยังไงนะ?” ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save