Art & CultureWritings

Graffiti ศิลปะแห่งการต่อสู้ไม่รู้จบ

เรื่องและภาพ : สุชานันท์ สหวงศ์เจริญ

เพราะไม่ว่าจะต้องสู้กับใคร ศิลปะจะคงอยู่ข้างผู้คนเสมอ…

ภาพวาดที่มีมากกว่าความสวยงาม และแฝงไว้ด้วยความคิดอย่างเต็มเปี่ยมจึงสามารถพาผู้ชมย้อนกลับไปมองไปปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมต่างๆ ได้ทุกขณะ 

ดังนั้น เมื่อกำแพงกลายเป็นแคนวาส สีสันฉูดฉาดที่พ่นลงไปเป็นตัวแทนการแสดงออกทางความคิด

กราฟิตี้ (Graffiti) ศิลปะที่คนส่วนใหญ่มองว่าขบถ จึงกลายมาเป็นหลักฐานชิ้นสำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ว่ามนุษย์ต้องการเป็นอิสระจากอำนาจและความเลวร้าย

จากถ้อยคำสั้นๆ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงสังคม จึงนำมาสู่สัญลักษณ์ของการต่อสู้ที่ไม่รู้จบ

จุดเริ่มต้นของการแสดงออกผ่าน Graffiti

ย้อนกลับไปเมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศเยอรมันถูกปกครองด้วยทรราชนามว่า ‘ฮิตเลอร์’ (Adolf Hitler) นอกจากเหตุการณ์สำคัญอย่างการสังหารหมู่ชาวยิวแล้ว ฮิตเลอร์ยังปกครองประเทศเยอรมันด้วยอำนาจที่ไม่ชอบธรรม ใช้ความรุนแรงในการกดขี่ประชาชน และลงโทษอย่างป่าเถื่อนกับผู้ที่มีความเห็นต่าง

ฮิตเลอร์ควบคุมความคิดของประชาชนด้วยการสั่งเผาหนังสือ ต่อต้านงานศิลปะสมัยใหม่ที่เขาอ้างว่าบ่อนทำลายวัฒนธรรมเยอรมันดั้งเดิม ทั้งยังจำกัดเสรีภาพของเยาวชน จำกัดทรงผม จำกัดเวลาสังสรรค์ กระทั่งกำหนดให้ความรักระหว่างเพศเดียวกันกลายเป็นเรื่องผิดกฎหมาย

การกดขี่เสรีภาพประชาชนทั้งทางความคิดและการแสดงออก ทำให้กลุ่มปัญญาชนเยอรมันในสมัยนั้นทนไม่ได้อีกต่อไป ในปีค.ศ. 1942 นักศึกษากลุ่มเล็ก ๆ จากมหาวิทยาลัยลูทวิช-มัคซีมีลีอานแห่งมิวนิก (Universitas Ludovico-Maximilianea Monacensis) ได้รวมตัวกันภายใต้ชื่อ ‘The White Rose’ หรือที่คนไทยรู้จักในชื่อกลุ่มกุหลาบขาว เพื่อต่อต้านนาซี และประณามการกระทำของฮิตเลอร์

หนึ่งในเครื่องมือที่พวกเขาใช้ คือ ‘Graffiti Campaign’ การขีดเขียนข้อความสั้น ๆ ลงบนกำแพงรอบเมืองมิวนิค เครื่องมือที่ใช้มีเพียงแม่พิมพ์ขนาด 25 x 15 เซนติเมตร และน้ำมันดิน มีจุดประสงค์เพื่อให้มวลชนเห็นได้ทั่วไปในพื้นที่สาธารณะที่เข้าถึงง่าย ความอัดอั้นทางความรู้สึกของพวกเขาถูกถ่ายทอดออกมาผ่านข้อความเพียง 2 ข้อความ

‘Freiheit’ (Freedom อิสรภาพ) และ ‘mit Hitler runter’ (Down with Hitler โค่นล้มฮิตเลอร์)

ขอบคุณภาพจาก Weiße Rose Stiftung e.V.

Graffiti ยุคใหม่ เติบโตในยุคสังคมเสื่อมโทรม

ข้ามเวลากลับมาที่ประเทศอเมริกาก่อนทศวรรษ 1960 กราฟิตี้เป็นเครื่องมือของกลุ่มต่าง ๆ ในการระบุอาณาเขตที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกลุ่มตนเอง ทำให้คนส่วนใหญ่มองว่าการขีดเขียนลงบนกำแพงเป็นเรื่องของการแสดงออกทางอำนาจ และเป็นการแสดงออกที่รุนแรงของ ‘แก๊ง’

จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงเกิดเมื่อ Cornbread นักเขียน (ในช่วงแรกศิลปินกราฟิตีเรียกตัวเองว่านักเขียน มาจากรากศัพท์ภาษากรีกโบราณ Grafito ที่แปลว่าการขีดเขียน หรือการวาด) คนแรกๆ ที่ได้รับการยกย่องอย่างกว้างขวางว่าเป็นศิลปินกราฟิตี้เริ่มขีดเขียนชื่อของเขาไปทั่วเมืองฟิลาเดลเฟียเพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับตนเองในปี ค.ศ. 1965 เขาเปลี่ยนให้กราฟิตี้เป็นเครื่องมือแสดงออกถึงความเป็นตัวตนมากกว่าการแสดงออกทางอำนาจ ต่อมาแนวคิดนี้ได้ถูกแพร่ขยายมาถึงมหานครนิวยอร์ก

ขอบคุณภาพจาก Drips

กระแสกราฟิตี้ในนิวยอร์กเริ่มจาก Julio204 และ Taki 183 ศิลปินทั้งสองได้เริ่มฝากร่องรอยชื่อของตนเองไว้ตามกำแพง สถานีรถไฟใต้ดิน รวมไปถึงสถานที่ก่อสร้างต่าง ๆ เกิดเป็นแรงบันดาลใจให้คนทำตาม อีกทั้งในช่วงปลายทศวรรษที่ 1960 จนถึงต้น 1970  นิวยอร์กต้องเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ เมืองเสื่อมโทรม สังคมไร้ความสงบ กราฟิตีจึงกลายเป็นหนทางที่เด็กวัยรุ่นในแมนฮัตตันที่ด้อยโอกาสสมัยนั้นใช้ปลดปล่อยความเป็นตัวเอง

เมื่อมีคนทำตามมาก การแข่งขันจึงสูงขึ้นเพื่อแย่งชิงพื้นที่ในวงการกราฟิตี้ถูกพัฒนาให้มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้น มีการใส่แสงเงาให้ตัวอักษร ศิลปินสร้างลักษณะเฉพาะอันเป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง จนช่วงกลางทศวรรษ 1970 เริ่มมีการวาดภาพประกอบที่มีสีสันสดใสอย่างที่เราคุ้นเคยกันในปัจจุบัน

ขอบคุณภาพจาก TAKI 183

เมื่อศิลปะการแสดงตัวตนถูกนำมาเป็นเครื่องมือของการแบ่งแยก

เมื่อกราฟิตี้ถูกยึดโยงกับภาพลักษณ์ทางลบของคนผิวดำ เนื่องด้วยคำว่า ‘แก๊ง’ มีภาพเชื่อมโยงกับคนดำ อีกทั้งกลุ่มคนยากจนในอเมริกาสมัยนั้นยังเป็นคนดำเป็นหลัก ทำให้คนบางกลุ่มมองว่าศิลปะแขนงนี้เป็นศิลปะป่าเถื่อน ไร้อารยธรรม ก่อกวน และสร้างความเสื่อมทรามให้สังคม การเรียกร้องของคนผิวดำและกลุ่มคนยากจนผ่านตัวอักษรบนกำแพงจึงถูกคนขาวส่วนใหญ่ลดทอนคุณค่าเหลือเพียงคำว่า ‘คนมือบอน’ ที่จ้องจะทำลายทรัพย์สินของรัฐ เพียงเพราะถ้อยคำที่ ‘นักเขียน’ ใช้แสดงออกมีความดิบ ตรงไปตรงมา และบางครั้งเป็นคำด่าทอ

แม้ว่าในปี 1969 จะมีกฎหมายที่ต้องการผลักดันให้คนดำมีสิทธิมากขึ้น อย่างการให้สิทธิในการเลือกตั้งกับพลเมืองชายทุกคนอย่างเท่าเทียม โดยไม่เกี่ยวข้องกับเชื้อชาติ สีผิว หรือประวัติการรับใช้ในกองทัพแล้ว แต่การเหยียดผิวยังคงฝังรากลึกอยู่ในสังคมอเมริกา ในเวลานั้น หลายรัฐยังห้ามไม่ให้คนเชื้อชาติอื่น ๆ ใช้บริการบางอย่างร่วมกับคนขาว เช่น ห้องน้ำ รถบัส ร้านอาหาร หรือโรงเรียน รวมไปถึงการเลือกปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐต่อคนดำอีกด้วย

ความเกลียดชังนี้ทำให้คนอเมริกาแปะป้ายให้กราฟิตี้เป็นอีกวัฒนธรรมรุนแรงหนึ่งของคนดำ เช่นเดียวกับดนตรีฮิปฮอปและการแร็ป เอ็ด คอช (Ed Koch) นายกเทศมนตรีประจำนิวยอร์กในช่วงทศวรรษ 1980 กล่าวว่า “Graffiti destroyed our lifestyle” (กราฟิตี้ทำลายชีวิตของพวกเรา) และออกนโยบายกำจัดกราฟิตี้ทั้งหมดออกจากเมือง

นโยบายดังกล่าวทำให้มีการปรักปรำ จับกุมคนผิวดำแม้ยังไม่มีหลักฐานว่ากระทำผิดจริง และบ่อยครั้งมีการกระทำเกินกว่าเหตุ ลงโทษร้ายแรงกว่าความผิดที่ก่อ ร่องรอยการแสดงจุดยืนของคนผิวดำถูกลบเลือนให้หายไปจากกำแพงในนิวยอร์ก สวนทางกับปัญหาเหยียดผิวที่ปรากฏชัดมากขึ้น

ในเดือนกันยายน ปีค.ศ. 1985 ไมเคิล สจ๊วร์ต (Michael Stewart) ศิลปินกราฟิตีวัย 25 ปี ถูกเจ้าหน้าที่จากกรมตำรวจนิวยอร์ก 6 นายรุมทำร้ายจนโคม่าระหว่างกำลังพ่นกราฟิตีบนผนังสถานีรถไฟ จนเสียชีวิตในเวลาต่อมา เหตุการณ์ในครั้งนั้นไม่มีเจ้าหน้าที่คนใดได้รับบทลงโทษ ถึงแม้จะถูกตั้งข้อกล่าวหา 2 คดีด้วยกัน โดยคดีหนึ่งถูกยกฟ้อง และอีกคดีหนึ่งคณะลูกขุนซึ่งเป็นคนผิวขาวทั้งหมดตัดสินให้เจ้าหน้าที่ทุกคนไม่มีความผิด

สถานการณ์ข้างต้นทำให้เกิดความไม่พอใจในวงการศิลปะกราฟิตี อีกทั้งกลุ่มชายผิวดำในนิวยอร์กจำนวนมากยังออกมาประท้วง กราฟิตีได้กลับมาเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้อีกครั้ง (เช่นเดียวกับกรณีกลุ่มกุหลาบขาว) ศิลปินออกมาใช้การขีดเขียนบนพื้นที่สาธารณะต่อต้านการกระทำที่ไม่เป็นธรรม เรื่องนี้ประกอบกับปัญหาอื่นๆ ที่เกิดขึ้นในนิวยอร์ก คอชจึงแพ้เลือกตั้งนายกเทศมนตรีในสมัยถัดมา และการต่อสู้ครั้งนั้นก็ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของกราฟิตีที่หลายคนนึกถึง

นอกจากกราฟิตีจะถูกนำมาแบ่งแยกเชื้อชาติและสีผิวแล้ว ศิลปะที่ใช้กำแพงเป็นผ้าใบยังถูกมองว่าไม่ใช่ศิลปะที่แท้จริง คนบางส่วนมองว่าการสร้างงานศิลปะบนพื้นที่ที่ไม่เป็นไปตามขนบนั้นเป็นเรื่องผิดแปลก อีกทั้งคนทั่วไปอาจเหมารวมได้ว่ากราฟิตีเป็นงานง่าย การพ่นสีสเปรย์เพียงชั่วครู่จะเรียกว่าเป็นศิลปะได้อย่างไร และยังมองว่าเป็นการทำลายทรัพย์สินสาธารณะมากกว่าการแสดงออกจุดยืนทางความคิด

จากกำแพงสู่แกลอรี

ในช่วงทศวรรษ 1980 กระแสสังคมในอเมริกาที่คุกกรุ่นด้วยการถกเถียงกันถึงคุณค่าของศิลปะกราฟิตี้ ได้กำเนิดไอค่อนที่สำคัญขึ้นสองคนด้วยกัน คือ ฌอง-มิเชล บาสเกีย (Jean-Michel Basquiat) และคีธ แฮริ่ง (Keith Haring)

ฌอง-มิเชล บาสเกีย หรือที่รู้จักกันในอีกชื่ออย่าง SAMO© (same old shit) เป็นกวีผู้ถ่ายทอดบทกลอนลงบนกำแพง และรังสรรค์ภาพวาดเพื่อถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกผ่านสีสันสดใส

ขอบคุณภาพจาก The Estate of Jean-Michel Basquiat

บาสเกียเริ่มมีชื่อเสียงมาจากการทำงานกราฟิตีเสียดสีสังคมด้วยภาพวาด บทกวี และวลีสั้นๆ ตามกำแพงในเมืองนิวยอร์ก เขาสะสมชื่อเสียงมาเรื่อยๆ ผ่านการทำงานกราฟิตี จนกระทั่งได้แสดงผลงานครั้งแรกในนิทรรศการกลุ่ม New York/New Wave ที่หอศิลป์ P.S.1 ของสถาบัน The Institute for Art and Urban Resources, Inc., ในรัฐลอง ไอแลนด์ ลายเส้นกึ่งนามธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ สีสันที่ฉูดฉาด ทำให้ผลงานที่เต็มไปด้วยอารมณ์ความรู้สึกของเขาโดดเด่นขึ้นมา และเริ่มเป็นที่รู้จักในวงการศิลปะ

ในปีค.ศ. 1982 บาสเกียได้มีโอกาสรู้จักกับไอดอลคนสำคัญของเขาอย่างแอนดี้ วอร์ฮอล (Andy Warhol) บิดาแห่งวงการป๊อปอาร์ต (Pop Art) การมีโอกาสทำงานร่วมกับวอร์ฮอล ส่งผลให้ชื่อเสียงของเขารุ่งโรจน์มากขึ้นไปอีก ด้วยลายเส้นที่โดดเด่น การเปรียบเทียบสิ่งที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว ไม่ว่าจะเป็น ความรวยกับความจน ความเป็นหนึ่งเดียวกับการแบ่งแยก (เชื้อชาติ สีผิว) แสดงให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำที่กลุ่มคนชายขอบในอเมริกาต้องพบเจอ

คีธ แฮริ่ง ศิลปินที่สร้างชีวิตจากลายเส้นดูเดิล (Doodle) ผู้หลงใหลงานศิลปะบนพื้นที่สาธารณะ

ขอบคุณภาพจาก Keith Haring Foundation

แท้จริงแล้วคนบางส่วนนับงานของแฮริ่งอยู่ในกลุ่มป๊อปอาร์ต ด้วยลายเส้นที่คมชัด คาแรคเตอร์หลักเป็นตัวการ์ตูนที่เข้าใจง่าย ถ่ายทอดจิตวิญญาณและความรักด้วยสีสันที่สดใส แต่เนื่องด้วยพื้นที่การแสดงผลงานของเขาเริ่มมาจากการวาดคาแรคเตอร์ลงบนกระดาษสีดำที่ถูกนำมาปิดทับกรอบโฆษณาที่ไม่ได้ใช้ในสถานทีรถไฟใต้ดิน ทำให้งานของเขาเข้าข่ายว่ามีความเป็นกราฟิตี้อยู่ไม่มากก็น้อย

ด้วยเอกลักษณ์ที่เป็นลายเส้นเข้าใจง่าย ทำให้ในปีค.ศ. 1982 เขาได้จัดแสดงผลงานเดี่ยว One Man Show ที่ Tony Shafrazi Gallery นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขามีชื่อเสียงในวงกว้าง แฮริ่งได้อุทิศเวลาส่วนใหญ่ไปกับการทำงานสาธารณะเพื่อสังคม เขาใช้ศิลปะเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดความรู้เรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ‘Crack is Wack Playground’ รณรงค์การต่อต้านโคเคน หรือการถ่ายทอดความรู้เรื่อง HIV หลังจากได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อ ทำให้เขาได้ยกระดับศิลปะกราฟิตี้ให้ได้รับการยอมรับในสังคมวงกว้างมากขึ้น เนื่องด้วยมันไม่ได้มีแต่ความรุนแรงแต่ยังเป็นสื่อการสอนได้

การที่ศิลปะตามท้องถนนได้เข้าไปมีพื้นที่ในส่วนที่คนส่วนใหญ่มองว่าเป็น ‘ศิลปะที่แท้จริง’ ทำให้เกิดการยอมรับในวงกว้างมากยิ่งขึ้น ศิลปะที่แต่เดิมคนมองว่าเป็นการทำลายทรัพย์สินสาธารณะกลายเป็นตลาดที่มีมูลค่า จนพัฒนาสู่คำว่า ‘สตรีทอาร์ต’ (Street Art)

บทบาท Graffiti และ Street Art ภายในไทย

ด้วยบริบทสังคมที่เปลี่ยนไป ความหมายของกราฟิตี้และสตรีทอาร์ตยังมีความทับซ้อนกันอยู่ไม่มากก็น้อย แต่แก่นหลักสำคัญที่ยังคงอยู่คือการผลิตผลงานลงบนพื้นที่สาธารณะ และยังคงสัญลักษณ์ของการแสดงออกถึงการต่อสู้กับอำนาจ หรืออะไรบางอย่างอยู่เสมอ เพียงแต่ว่า Street Art จะถูกมองว่ามีความรุนแรงไม่เท่ากับกราฟิตี

ในปัจจุบันประเทศไทยมีศิลปินกราฟิตี้และศิลปินสตรีทอาร์ตเกิดขึ้นมามากหน้าหลายตา จนทำให้วงการศิลปะข้างถนนของไทยมีพื้นที่ในเวทีโลกมากยิ่งขึ้น และตัวอย่างศิลปินไทยที่ดังไกลถึงต่างประเทศ มีดังนี้

Headache Stencil ศิลปินผู้แสดงจุดยืนทางการเมืองผ่านศิลปะบนกำแพง

ขอบคุณภาพจาก Facebook Page: Headache Stencil

Headache Stencil มักหยิบยกประเด็นร้อนในขณะนั้นมาถ่ายทอดผ่านผลงานของเขา แสดงจุดยืนผ่านการพ่นสีสเปรย์ลงบนกำแพงเพื่อเหน็บแนมการเมืองไทย ภาพที่ทุกคนอาจจำได้ดีคือภาพเสือดำที่มีสัญลักษณ์ลำโพงที่ถูกขีดฆ่าอยู่ข้างๆ แสดงความเห็นถึงกรณีข่าวเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารและกรรมการ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ล่าเสือดำ เมื่อปี พ.ศ. 2561 ว่าไม่เห็นด้วย และเสือดำไม่สามารถมีเสียงเรียกร้องความยุติธรรมให้ตัวเองได้

ผลงานที่จิกกัดของเขา ทำให้เขาได้รับฉายาว่า Banksy เมืองไทย (Banksy เป็นศิลปินกราฟิตีชื่อดังชาวอังกฤษ เจ้าของภาพ Girl with Balloon ภาพเด็กผู้หญิงที่ปล่อยให้บอลลูนสีแดงหลุดมือไป) อีกทั้งเขายังเคยจัดนิทรรศการในประเทศออสเตรเลีย และประเทศญี่ปุ่น ทั้งยังพึ่งมีการแสดงผลงานที่เมืองนิวยอกร์ก ประเทศอเมริกา เมื่อปีพ.ศ. 2565 ที่ผ่านมาอีกด้วย

สามารถติดตาม Headache Stencil ได้ที่ https://www.instagram.com/headache_stencil/ หรือ https://web.facebook.com/headachestencil/?_rdc=1&_rdr# 

Gongkan ศิลปินเซอร์เรียล ป๊อปอาร์ต เจ้าของวลี Life is Too Short to Hate. (ชีวิตสั้นเกินกว่าจะเกลียดกัน)

ขอบคุณภาพจาก Siam Discovery

เอกลักษณ์ของ Gongkan คือการใช้สีสันที่ไม่มาก เขาเริ่มมีชื่อเสียงในอเมริกา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองนิวยอร์ก จากภาพชุด Teleport ที่เต็มไปด้วยหลุมดำ แสดงออกถึงอิสระที่คนเราสามารถอยู่ที่ไหนก็ได้ โดยหนึ่งภาพที่มีชื่อเสียงเป็นอย่างมากคือ ภาพเสียดสีทรัมป์และคิมจองอึนที่ (เกือบจะ) จูบกันแล้ว

สามารถติดตาม Gongkan ได้ที่ https://www.instagram.com/gongkan_/ หรือ https://gongkanthings.com/ หรือ https://web.facebook.com/gongkanstudio/?locale=th_TH&_rdc=1&_rdr# 

Alex face จากนักเรียนศิลปะสู่เจ้าของคาแรคเตอร์สามตาก้องโลก

ขอบคุณภาพจาก Street Art Cities

อย่างที่หลายคนรู้กันดีว่า Alex face อยู่ในวงการ Street Art และ Graffiti มากว่าหลายสิบปีแล้ว แต่จุดที่ทำให้เริ่มมีชื่อเสียงจนเป็นที่รู้จักในวงกว้างคือคาแรคเตอร์เด็กสามตา เขาเคยให้สัมภาษณ์กับเว็บไซต์ The Cloud เมื่อปี 2022 ว่า เขาเลือกใช้คาแรคเตอร์เด็กเพราะต้องการสื่อถึงอนาคต เพราะเด็กมีอนาคตที่ยาวไกลมากกว่าวัยผู้ใหญ่ ทั้งยังต้องการเสนอประเด็นสังคมเกี่ยวกับการให้ความสำคัญของเด็กในสังคมไทย เขามองว่าประเทศไทยไม่ได้ถูกออกแบบมาสำหรับเด็ก ในขณะที่ประเทศที่เจริญแล้วจะให้ความสำคัญกับการออกแบบเมืองให้เอื้อต่อเยาวชน

อีกหนึ่งองค์ประกอบที่เขาใช้บ่อยคือชุดกระต่ายที่ให้เจ้าเด็กสามตาสวมเอาไว้ เขากล่าวในบทสัมภาษณ์เดียวกันว่าต้องการใช้สัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ของเหยื่อที่ถูกฆ่า เป็นตัวแทนของเด็กที่เป็นเหยื่อความรุนแรง และใช้หูกระต่ายแสดงออกทางอารมณ์ และความสมบูรณ์ของเสื้อผ้าแทนประสบการณ์ที่ผ่านมา

สามารถติดตาม Alex face ได้ที่ https://alexface.world/archive/street-stuff หรือ https://www.instagram.com/alexfacebkk/ หรือ https://web.facebook.com/Alexfacebkk/?locale=th_TH&_rdc=1&_rdr# 

ศิลปะเป็นเครื่องมือแสดงออกทางความคิดเห็นของผู้คนมาเสมอ ภาพเขียนฝาผนังแสดงถึงการบันทึกเรื่องราว และความต้องการมีตัวตนของมนุษย์ ศิลปะยุคเรอเนสซองส์ (Renaisssance) ที่คนมองว่าเป็นศิลปะขั้นสูงก็เป็นสัญลักษณ์ของการปลดแอกจากคริสตจักรในยุคกลาง ภาพเขียนสีตามโบสถ์ในสมัยก่อน หรือภาพจิตรกรรมฝาผนังตามวัดก็เป็นการแสดงออกจุดยืนทางความเชื่อในลักษณะหนึ่ง 

แล้วทำไมศิลปะข้างถนนที่ต้องการแสดงความเป็นตัวตนและจุดยืนทางการเมืองถึงถูกมองว่าป่าเถื่อน? เพียงเพราะว่าไม่ได้อยู่บนผืนผ้าใบ?

เพียงเพราะว่าไม่ได้รังสรรค์ด้วยปลายพู่กัน?

เพียงเพราะว่าไม่ได้จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์หรือแกลลอรีเท่านั้นหรือ?

‘กราฟิตี้’ ศิลปะที่ถูกมองว่าป่าเถื่อนชนิดนี้ แท้จริงแล้วกำลังต่อสู้อยู่กับความเถื่อนของสังคม ทั้งการต่อสู้กับผู้ปกครองทรราช ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ชนชั้นหัวสูง เหล่าคนที่ไม่อาจเข้าใจได้ถึงความลำบากของชนชั้นที่ไม่มีปากเสียง และความเป็นคนชายขอบในสังคม การแสดงออกที่ประวัติศาสตร์และคนส่วนใหญ่มองว่ารุนแรง อาจเป็นทางเลือกสุดท้ายที่เหล่าศิลปินกราฟิตี้พอจะทำได้ เพื่อให้ความเถื่อนกลายเป็นเสียงที่เรียกร้องให้สังคมเถื่อนได้มองเห็นเขาบ้าง


รายการอ้างอิง

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์. (2019). กราฟฟิตี้และสตรีทอาร์ต (1) Jean-Michel Basquiat ศิลปินกราฟ

       ฟิตี้อัจฉริยะแห่งยุค 80s. สืบค้นจาก

https://themomentum.co/art-and-politic-jean-michel-basquiat/

ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์. (2020). จากแอฟริกาถึงอเมริกา การค้าทาส และจุดเริ่มต้นของการเหยียดผิว

       ในสหรัฐฯ. สืบค้นจาก https://thestandard.co/origin-of-racism-in-united-states/

ฆฤณ ถนอมกิตติ. (2021). Political Graffiti : เหตุผลและผลลัพธ์ของกราฟฟิตี้การเมืองที่ไม่ใช่แค่

       ภาพวาดบนผนัง. สืบค้นจาก https://adaymagazine.com/report-political-graffiti

พชร สูงเด่น. (2021). โซฟี โชล กุหลาบขาวและนาซี: ขบวนการนักศึกษาในเยอรมนีที่เป็นตัวอย่าง

       อารยะขัดขืนจนวันนี้. สืบค้นจาก https://themomentum.co/lostinthought-sophiescholl/

กฤษฏิญา ไชยศรี. (2022). Street Art ศาสตร์และศิลป์แห่งความขบถ และศิลปินพ่อ (ทุกสถาบัน) 

       ที่ควรรู้จัก. สืบค้นจาก https://groundcontrolth.com/blogs/336

ณัฐกฤตา เจริญสุข, และพู่กัน เรืองเวส. (2022). คุยกับ Alex Face ถึงการเดินทางสู่ศิลปิน

       สตรีทอาร์ต ในวันที่หวนย้อนอดีตอีกครั้งจัดนิทรรศการ 20TH YEAR ALEX FACE. 

       สืบค้นจาก https://readthecloud.co/alex-face/

Manning, C. (2022). A Brief History of Street Art. สืบค้นจาก  

https://www.shutterstock.com/blog/history-of-street-art

วลัญช์. (2023). Gongkan กันตภณ เมธีกุล เปลี่ยนความเหงาในนิวยอร์กเป็นผลงานศิลปะราคา 7 

       หลัก. สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/judprakai/1055098

Horowicz, L. (2024). The Evolution of Street Art: From Vandalism to Contemporary Art 

       Phenomenon. สืบค้นจาก https://carouselartgroup.com/blog/36-the-evolution-of-street-art-fromvandalism-to-art-trends-of-2024/

พัชรวรรณ วรพล. (2025). ข้างๆ ถนน Street Culture : Live on the road. สืบค้นจาก 

https://tatreviewmagazine.com/article/street-culture-live-on-the-road

Seek Thailand. (2025). The More You Know: Who is Headache Stencil?. สืบค้นจาก 

https://seekthailand.com/blog/THE%20MORE%20YOU%20KNOW:%20WHO%20IS%20HEADACHE%20STENCIL

Siam Discovery. (2025). อาร์ติสท์ไทยแนวป๊อบ อาร์ทมาแรงที่สุด งานเขาไปดังไกลในนิวยอร์ค!. 

       สืบค้นจาก https://www.siamdiscovery.co.th/explore/Gongkan-Art-Teleport-ODS/332

Jackson, A. (2025). We’re Still Living in the City That Killed Michael Stewart. สืบค้นจาก

https://hellgatenyc.com/michael-stewart-elon-green-the-man-nobody-killed

Kerwin Blog. (2025). Is Graffiti Art Pop Art? Pop Art Influence & Differences. สืบค้นจาก

https://bykerwin.com/is-graffiti-art-pop-art-pop-art-influence-differences/

Sotheby’s Institute of Art. (2025). The Evolution of Street Art: How Graffiti Shaped 

       Urban Culture. สืบค้นจาก https://www.sothebysinstitute.com/info-series/graffiti-art

The Keith Haring Foundation. (2025). Bio. สืบค้นจาก

https://www.haring.com/!/about-haring/bio

Weiße Rose Stiftung e.V. (2025). White Rose Wall Slogans. สืบค้นจาก

https://www.weisse-rose-stiftung.de/white-rose-resistance-group/white-rose-wall-slogans/ 

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
1
Love รักเลย
1
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0
Writings

Le Pupille : คำถามต่อสิ่งที่ ‘เห็น’ และสิ่งที่ ‘เป็น’

เรื่อง : สุชานันท์ สหวงศ์เจริญ  ความคิดแบบเด็กไร้เดียงสากลายเป็นความขบถอันแสบสัน ที่ทำให้โรงเรียนคาทอลิกวุ่นวายตลอดวันคริสมาสต์ เมื่อเทศกาลแห่งการแบ่งปันและภาวนาถึงพระเยซูคริสต์ กลับเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดอย่างการเห็นแก่ตัวในโรงเรียนเคร่งศาสนา ‘Le Pupille’ ภาพยนตร์ขนาดสั้นสัญชาติอิตาลี ถูกฉายครั้งแรกในดิสนีย์พลัส (Disney+) เมื่อปีพ.ศ.2565 และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ ...

Writings

ภาษารุนแรงในเพลงร็อก: ศิลปะ การต่อต้าน หรือแค่คำหยาบ

เรื่อง: ณฐนนท์ สายรัศมี ภาพประกอบ: สุชานันท์ สหวงศ์เจริญ หากดนตรีคือกระจกสะท้อนสังคม เพลงร็อกก็คงเป็นกระจกที่แตกเป็นเสี่ยงๆ บาดคม ท้าทาย และไม่เคยเลือกแสดงเพียงด้านที่งดงาม  ภายใต้เสียงกีตาร์อันกระหึ่ม เสียงกลองที่ดุดัน และน้ำเสียงของนักร้องที่มักเต็มไปด้วยอารมณ์โกรธ เกลียด หรือผิดหวัง ...

Writings

มากกว่าแค่ลวดลาย รอยสักที่บอกเล่าเรื่องราว อัตลักษณ์ และวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป

เรื่อง : ฐิดาพร พิมพ์สีโคตร ภาพประกอบ : สุชานันท์ สหวงศ์เจริญ จากภาพลักษณ์ที่เคยถูกมองว่าเป็นเพียงสัญลักษณ์ของกลุ่มคนบางกลุ่ม ปัจจุบัน ‘รอยสัก’ ได้กลายปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่พบเห็นได้ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นบนร่างกายของนักแสดงชื่อดัง นักกีฬา ศิลปิน ...

Writings

จดหมายถึงบ้านใหม่

เรื่องและภาพประกอบ: สุชานันท์ สหวงศ์เจริญ ที่อยู่จัดส่ง บ้านใหม่ ถึง บรรพบุรุษ 30 มีนาคม 2568        นาฬิกาบอกเวลาตี 3 ได้เวลาตื่นเช้ามาช่วยหม่าม้าเตรียมของเพื่อไปเยี่ยมเหล่ากง (ทวดชาย) ...

Lifestyle

ปาจื่อ: เปิดรหัสลับแห่งโชคชะตาด้วยศาสตร์จีนโบราณ

เรื่อง: ณฐนนท์ สายรัศมี ภาพประกอบ: สุชานันท์ สหวงศ์เจริญ เคยรู้สึกไหมว่าชีวิตของคุณถูกกำหนดไว้แล้ว? ทำไมบางคนเกิดมาพร้อมความโชคดี ทำอะไรก็ประสบความสำเร็จได้อย่างง่ายดาย ในขณะที่บางคนต้องดิ้นรนอย่างหนัก แผ่นดินก็ไหวพร้อมกัน แต่ห้องเราพังห้องเดียว เคยสงสัยไหมว่า ทำไมบุคลิก นิสัย ...

Art & Culture

วิปลาส เมื่อความเชื่อนำไปสู่โศกนาฏกรรม

เรื่อง : ฐิดาพร พิมพ์สีโคตร และ สุชานันท์ สหวงศ์เจริญ ภาพประกอบ : สุชานันท์ สหวงศ์เจริญ “แม่ทำหนูทำไม อย่าทำหนูเลย” เสียงร่ำไห้ของเด็กหญิงดังสะท้านในความมืดมิด…นี่คือเสียงจากละครเวที ‘วิปลาส ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save