เรื่อง : ปิยะวรรณ นาคะสิงห์
ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา
หากถามถึงฤดูร้อนของประเทศไทยว่าเริ่มต้นเมื่อไหร่ อิงตามข้อมูลคงเป็นช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์จนถึงกลางเดือนพฤษภาคม แต่ความเป็นจริงประเทศไทยก็ร้อนทั้งปีตามประสาของประเทศใกล้เส้นศูนย์สูตร ขณะเดียวกันในสหรัฐอเมริกาจะเข้าสู่ฤดูร้อนตั้งแต่เดือนมิถุนายน – กันยายน โดยจะร้อนมากที่สุดในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้เอง เมื่อนึกถึงฤดูร้อน ทุกคนมักจะนึกถึงการพักผ่อน เสียงคลื่นทะเล น้ำแตงโมปั่น หรือการอาบแดด แล้วหากเปรียบชีวิตเป็นฤดูบ้าง คิดว่าชีวิตแบบฤดูร้อน จะเป็นชีวิตแบบใด
หลายฤดูวนเวียนไปทุกปี ๆ ไม่ต่างจากชีวิตที่มีหลายช่วง เศร้าบ้าง สุขบ้าง วนเวียนไป ไม่มีความสุขไหนที่อยู่กับเราได้ยาวนาน ความเศร้าเองก็ไม่ได้อยู่ตลอดไปเช่นกัน ลองปล่อยให้ชีวิตได้วางความเศร้าและเข้ามาเจอกับความสุขง่าย ๆ ที่พบได้รอบตัวบ้าง การที่ชีวิตเหนื่อย ๆ เศร้า ๆ ได้เจอกับเรื่องเล็กที่ทำให้ยิ้มได้ ก็ไม่ต่างกับการที่ได้ไอศกรีมสักแท่งหลังจากหลบแดดในฤดูร้อน และวันนี้คุณพบค้นพบความสุขเล็ก ๆ ที่เหมือนกับการให้ชีวิตร้อน ๆ ได้พักกินไอศกรีมบ้างแล้วหรือยัง
นอกจากจะเป็นขนมหวานที่ทำให้สดชื่นได้ทุกครั้งเมื่อนึกถึง ไอศกรีมยังเป็นสัญลักษณ์ของหน้าร้อน เพราะเป็นดั่งฮีโร่ที่ช่วยคลายร้อนให้กับคนทุกเพศ ทุกวัย ดังประโยคข้างต้นจากภาพยนตร์เรื่อง The Little Rascals ภาพยนตร์เกี่ยวกับเรื่องราวความรักของวัยรุ่นฟันน้ำนม และเป็นประเด็นให้ผู้เขียนสงสัยถึงที่มาของวันที่ 4 กรกฎาคม จนพบข้อมูลว่าเป็นวันชาติของสหรัฐอเมริกา ซึ่งโดยปกติจะมีการจัดกิจกรรมกลางแจ้งมากมาย อาทิ ขบวนพาเหรด หรือการเฉลิมฉลอง ซึ่งเป็นวันที่อากาศร้อนมากในทุกปี เพราะอยู่ในช่วงที่อากาศร้อนที่สุดของฤดูร้อนบ้านเขา โดยฉากนี้ ดาร์ลาพูดถึงสาเหตุที่ตกหลุมรักอัลฟาฟา จากการที่เขาร้องเพลงให้ฟังจนหัวใจของเธอละลายไม่ต่างจากไอศกรีมในวันที่ 4 กรกฎาคม โดยประโยค “Like a popsicle on the 4th of July” มักถูกใช้เปรียบเทียบเรื่องราวเล็ก ๆ ที่เข้ามาทำให้สถานการณ์ดีขึ้นหรือสร้างความสุขได้อย่างไม่คาดคิด ถ้าเป็นประเทศไทย ดาร์ลาอาจจะเปรียบอัลฟาฟาเป็นเหมือนน้ำแข็งไสในวันที่ 10 เมษายน หรือข้าวแช่ในช่วงวันสงกรานต์ก็เป็นได้ แต่ก็เข้าใจที่มาของประโยคได้จากสถานการณ์จริง เมื่อนึกถึงวันที่อากาศร้อนจัด การได้ไอศกรีมเย็น ๆ สักแท่ง คือการสร้างความสุขเล็ก ๆ ระหว่างการตากแดดในช่วงเทศกาลได้
ดร.จอน คาบัต-ซิน นักวิชาการและบิดาแห่งการเจริญสติสมัยใหม่เคยกล่าวไว้ว่า “The little things? The little moments? They aren’t little.” ก็อย่างที่เขาพูด ไม่เคยมีสิ่งไหน หรือเหตุการณ์ใดที่เป็นเรื่องเล็ก เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องใหญ่ของใครบางคนเสมอ เช่น วันนี้มีคนเลี้ยงขนม อาจฟังเป็นเรื่องเล็ก แต่ใครจะรู้ว่าการที่ใครสักคนถูกเลี้ยงขนม เขาจะมีความสุขมากแค่ไหน คนคนนั้นอาจจะหายเหนื่อยจากการเรียนทั้งวันเลยก็ได้ มากกว่าการได้ขนมฟรี ๆ คือการได้รับความใส่ใจว่าเราชอบกินขนมอะไร การใช้เวลาร่วมกับใครสักคนจากการนั่งทานขนมด้วยกัน มันอาจจะเป็นสิ่งที่เขาคนนั้นรอมาทั้งวัน สุดท้ายแล้วเรื่องที่ถูกมองว่าเรื่องเล็กก็สามารถเป็นความสุขของใครสักคนได้จริง ๆ นั่นหมายถึงถ้าเราตั้งใจมองสิ่งเล็ก ๆ รอบตัวมากขึ้น เราอาจจะรับรู้ว่าความสุข อยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่เราคิด
แมวจรจัดตัวหนึ่งเดินไปมาระหว่างทางกลับบ้านของผู้เขียน แรก ๆ ที่เจอก็อดสงสารไม่ได้ เพราะนึกไปถึงความปลอดภัย และความมั่นคงทางอาหารของน้อง แต่หลายวันที่เจอ บางวันก็เข้ามาทักก่อนที่จะเห็น บางวันก็เดินหนีไปหาแม่บ้าน เพราะจะไปกินน้ำ ใครจะไปนึกว่าแมวที่ไม่มีบ้าน จะมีความสุขได้ง่าย ๆ จากน้ำเย็นในถ้วย ที่แม่บ้านมาเติมให้ทุกเย็น ผู้เขียนลองจินตนาการต่อไปว่า ถ้าวันหนึ่งต้องอยู่แบบไม่มีบ้าน ไม่รู้ว่าจะได้ทานข้าวกี่โมง ไม่มีอาชีพ ไม่มีรายได้ และใช้ชีวิตล่องลอยไปวัน ๆ เหมือนแมวที่ผู้เขียนเรียกเองว่า “จ้ม” จะกังวลมากแค่ไหน นั่นหมายถึงผู้เขียนกำลังมองว่าความสุขของตัวเองต้องมาจากการที่ชีวิตถูกเติมเต็มด้วยความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ ฟังดูเป็นความสุขที่ต้องมีปัจจัยหลายอย่างประกอบกันจนเกิดขึ้น ไม่ใช่ความสุขที่หาได้ง่าย ๆ เหมือนจ้มดีใจที่ได้กินน้ำเย็นแน่นอน
ความสุขที่เกิดขึ้นจากการที่ชีวิตได้รับการพัฒนาจนถึงจุดหมายที่ตั้งไว้ หรือความรู้สึกว่าการมีอยู่ของเรานั้นยังมีประโยชน์อยู่ ในเชิงจิตวิทยาได้จัดความสุขประเภทนี้เป็น ความสุขแบบยูไดโมนิก (Eudaimonic Happiness) โดยความสุขประเภทนี้ คือนิยามของความสุขที่มาจากเรื่องใหญ่ อย่างการเรียนจบ การได้ทำงานบริษัทที่มีชื่อเสียง การมีบ้านหลังในฝัน หรือสถานการณ์ทางการเงินที่มั่นคง พูดง่าย ๆ คือการได้ใช้ชีวิตตามเป้าหมายที่ตั้งไว้นั่นเอง แน่นอนว่าใคร ๆ ก็ต้องมีความสุขที่ชีวิตประสบความสำเร็จอยู่แล้ว แต่ใครจะไปรู้กันว่าระหว่างที่เราหาความสุขจากการวิ่งไล่ตามเป้าหมายที่ยังอยู่ไกลอาจจะทำให้เราเหนื่อยเกินไปที่จะมองเห็นความสวยงามของสิ่งรอบตัวที่สร้างความสุขให้เราได้เช่นกัน ไม่ผิดเลยที่คนหนึ่งจะมุ่งมั่นเพื่อความสำเร็จ ทุกคนต่างต้องใช้ชีวิตตามเส้นทางที่เราวาดฝันไว้ แต่การที่เราเผลอหลงลืมความพิเศษของเรื่องรอบตัว ที่มันดูเป็นเรื่องเล็กไปหมดเมื่อคุณเผลอเอามันไปเทียบกับเป้าหมายชีวิตต่างหากที่ผิด เพราะมันอาจกำลังทำให้คุณพลาดความสุขที่คุณค้นพบมันโดยไม่รู้ตัว
ชีวิตที่กำลังฟันฝ่าไปสู่จุดหมายที่มั่นคง ระหว่างทางที่อาจเจอหลายอย่างเป็นอุปสรรค เหมือนกับชีวิตที่กำลังเดินท่ามกลางแดดเปรี้ยงในฤดูร้อน อาจจะไม่แย่เท่าฝ่าฝนเพราะการที่ปลายทางคือความฝันที่เราต่างก็ต้องเดินต่อไป หรืออย่างน้อย แดดร้อนก็หมายถึงสัญญาณว่าอากาศยังดี ไม่มีพายุฝน อยู่ที่ว่าเราจะทนอีกหน่อยเพื่อให้ถึงที่หมายที่ร่มเย็นได้หรือไม่ แต่แน่นอนว่าระหว่างทาง พักซื้อไอศกรีมสร้างความสุขเล็ก ๆ เติมพลังได้บ้างก็ยังดี
ความสุขจากรสชาติของไอศกรีมในวันที่ต้องเจอกับแดดร้อนจัดอันเป็นความสุขที่ไม่ต้องตามหาจากที่ไหนไกล หรือความสุขที่ไม่ต้องทำอะไรมากมายเพื่อให้ได้มา ในทางจิตวิทยาเรียกความสุขนี้ว่า ความสุขแบบเฮโดนิค (Hedonic Happiness) อันเป็นความสุขที่มาจากการลดความเจ็บปวดหรือความเศร้าได้ในขณะนั้น ความสุขเหล่านี้มาจากการที่เราวางเรื่องราวหนักอึ้งเอาไว้และเพลิดเพลินกับ สิ่งรอบตัวมากขึ้นจนค้นพบว่า ไม่ต้องพยายามมากก็มีความสุขได้ เช่น ความสุขจากการได้ทานขนมที่ชอบ ความสุขที่ได้จากการได้ฟังเพลงโปรด พูดให้เข้าใจง่าย ก็คือความสุขที่มาจากการได้ตอบสนองความต้องการบางอย่างในช่วงเวลานั้น ๆ
หลายคนอาจมองว่าความสุขแบบยูไดโมนิก (Eudaimonic Happiness) หรือความสุขที่มาจากการบรรลุเป้าหมายในชีวิต ฟังดูยั่งยืนกว่าความสุขแบบเฮโดนิค (Hedonic Happiness) หรือความสุขที่เราเพลิดเพลินได้เลยในขณะนั้น อันที่จริงแล้วไม่ว่าจะมีความสุขมากแค่ไหน เมื่อช่วงเวลาผ่านไป ความรู้สึกเหล่านั้นก็จะบางเบาลงจนเลือนหายไป และเราก็จะกลับไปอยู่ในความรู้สึกเป็นกลางหรือความรู้สึกก่อนที่จะสุขหรือเศร้าอยู่ดี การยึดติดว่าความสุขแบบไหนดีกว่ากัน การเปรียบเทียบ หรือการด้อยค่าความสุขใดความสุขหนึ่ง จึงไม่มีประโยชน์มากเท่ากับการที่เราโอบรับทุกโอกาสที่สามารถสร้างความสุขให้เราได้
ชีวิตก็เปรียบเหมือนฤดูกาล ช่วงที่รู้สึกล้มลุกคลุกคลานกว่าจะผ่านไปได้แต่ละวัน จนมองไปทางไหนก็มืดครึ้มดั่งฤดูฝน หรือช่วงที่กราฟชีวิตนิ่งสงบเหมือนถูกแช่แข็ง ไม่มีเรื่องอะไรกวนใจ ในขณะเดียวกันก็ยากที่จะมีการพัฒนา เหมือนกับฤดูหนาว ที่หากหนาวเย็นเกินไปก็ไม่มีต้นไม้เติบโตได้ในสภาพอากาศนั้น การปล่อยให้ชีวิตได้เจอเรื่องราวใหม่ ๆ ได้ฝ่าฟันอุปสรรคเหมือนฤดูร้อนที่เราอาจจะต้องยอมโดนแดดบ้าง สุดท้ายปลายทางของการยอมทนร้อน ก็คือการไปสู่เป้าหมายที่คุ้มกับความพยายาม แต่ไม่ว่าจะในสถานการณ์ใดที่เกิดขึ้นระหว่างทางที่เดินตามความฝัน หากรู้สึกว่าชีวิตร้อนจนเกินไป ก็อย่าลืมมองหาความสุขเล็ก ๆ ที่เหมือนการทานไอศกรีมเย็น ๆ เพื่อคลายความร้อนในชีวิต ที่ยังต้องหมุนเวียนเปลี่ยนผ่านไปไม่รู้จบ