SocietyWritings

สื่อ | ดารา | ประชาชน เสียงใครดัง ขอฟังหน่อย

เรื่อง: อาสา งามกาละ

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา การเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เกิดขึ้นทำให้เกิดเทรนด์บนโลกออนไลน์มากมาย หนึ่งในนั้นคือ #วันนี้ดาราcalloutหรือยัง กระแสที่เกิดขึ้นนี้ คือการตั้งคำถามกับการที่ดารา หรือคนดังจำนวนหนึ่งไม่ออกมาแสดงจุดยืนทางการเมือง ตามที่แฟนคลับ หรือประชาชนเรียกร้อง

จากกระแสที่เกิดขึ้นก็ทำให้เกิดเป็นประเด็นถกเถียงกันระหว่างผู้ที่ต้องการเรียกร้องให้ศิลปินดารา ออกมาแสดงจุดยืนทางการเมือง เพราะ ดาราคือผู้มีสิทธิพิเศษของการเป็นกลุ่มผู้ทรงอิทธิพลทางสังคม มีเสียงดังมากพอจะสะท้อนสภาพปัญหาที่เกิดในสังคมไปสู่วงกว้าง เหตุใดจึงเลือกที่จะเพิกเฉย

ขณะที่คนอีกส่วนหนึ่งได้ออกมาแสดงความคิดเห็นว่าในบางกรณีการเรียกร้องนั้นรุนแรงเกินไปจนเข้าขั้นการกดดัน หรือคุกคาม เช่น การดูหมิ่นศิลปินดารา แสดงความคิดเห็นกดดันโดยใช้ถ้อยคำที่หยาบคาย และหยิบยกประเด็นส่วนตัวนอกเหนือจากข้อเรียกร้องขึ้นมากดดัน หรือการแสดงความคิดเห็นล่วงเกินบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่น พ่อแม่ หรือครอบครัวของศิลปินดารา เป็นต้น เพราะในขณะที่สังคมกำลังเรียกร้องเพื่อความเป็นประชาธิปไตย การที่คนๆ หนึ่งจะแสดงออก หรือไม่แสดงออกในเรื่องใดนั้น ก็เป็นสิทธิตามหลักประชาธิปไตยไม่ใช่หรือ

แต่ทั้งนี้ก็ยังมีอีกหนึ่งตัวละครสำคัญที่อาจถูกมองข้ามอย่างสื่อมวลชนกระแสหลัก เพราะหากลองมองในอีกมุมหนึ่ง สื่อมวลชนที่มีเสียงที่ดัง สามารถสร้างการรับรู้และผลกระทบในวงกว้าง ไม่ได้ทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพเพียงพอ และเพื่อให้ประเด็นการเรียกร้องทางสังคมครั้งนี้สร้างผลกระทบในวงกว้างได้อย่างที่สื่อมวลชนกระแสหลักสามารถทำได้ คนในสังคมจึงต้องมองหาเสียงที่ดังเช่นเดียวกัน ซึ่งก็คือ ศิลปิน ดารา และผู้ทรงอิทธิพลทางสังคมมาช่วยส่งเสียงด้วยหรือเปล่า

เสียงของใครดังกว่ากัน?

เมื่อการเรียกร้องที่เกิดขึ้นต้องการเสียงที่มีพลังมากพอจะทำให้สิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมถูกถ่ายทอดออกไปอย่างกว้างขวาง แล้วเสียงของใครล่ะ ที่จะมีพลังแบบนั้น สื่อมวลชน เหล่าคนดัง หรือประชาชน

เริ่มตั้งแต่พื้นที่ในการแสดงออก ทั้งสื่อมวลชนกระแสหลัก ศิลปินดารา และประชาชน ต่างมีพื้นที่แสดงออก หรือถ่ายทอดสารต่างๆ เป็นของตนเอง ซึ่งในบางครั้งพื้นที่ของสื่อมวลชนอาจจะมีจำกัด เช่น เวลาการออกอากาศ หรือพื้นที่บนหน้ากระดาษที่มีจำกัด เป็นต้น แต่ในปัจจุบันสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ เข้ามามีบทบาทในชีวิตของเรา ซึ่งไม่ใช่เพียงแต่ประชาชน และเหล่าคนดังเท่านั้นที่มีสิทธิ์เข้าถึงพื้นที่ตรงนี้ สื่อมวลชนหลายๆ แหล่งก็มีการใช้พื้นที่บนสื่อสังคมออนไลน์ในการสื่อสารเช่นกัน ดังนั้น สื่อมวลชนกระแสหลักสามารถสื่อสารกับประชาชนได้หลากหลายกว่า ทั้งกับคนที่ติดตามข่าวสารบนโลกออนไลน์ และผู้ติดตามสื่อแบบดั้งเดิมอย่าง โทรทัศน์ หรือหนังสือพิมพ์ 

นอกจากพื้นที่ในการสื่อสาร และการเข้าถึงกลุ่มคนได้มากกว่าแล้วนั้น ในแง่มุมของความน่าเชื่อถือก็ควรเป็นประเด็นที่ต้องพิจารณา ด้วยการทำงานบนหลักจรรยาบรรณของนักสื่อสารมวลชน และรูปแบบการทำงานที่มีความเป็นทีม เช่น การทำงานร่วมกันระหว่างนักข่าว กองบรรณาธิการ และผู้พิสูจน์อักษร ในการตรวจสอบเนื้อหา และความถูกต้องก่อนเผยแพร่ รวมไปถึงทรัพยากรในการเข้าถึงแหล่งข่าว และข้อมูลต่างๆ เป็นต้น ทำให้ผู้ที่ทำหน้าที่สื่อมวลชนย่อมมีความน่าเชื่อถือในการถ่ายทอดข่าวสารมากกว่าประชาชน และมากกว่าศิลปินดาราที่สื่อสารข้อมูล ความคิดเห็นต่างๆ โดยที่ไม่มีทีมที่คอยร่วมกันตรวจสอบสารด้วยหลักจรรยาบรรณของสื่อ

ส่วนผลกระทบที่เกิดจากการสื่อสาร ประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวต้องใช้จำนวนคนที่มากกว่า เพื่อกระพือให้เกิดกระแสในสังคม ในขณะที่ดารา และสื่อมวลชนสามารถส่งสารที่เกิดผลกระทบในวงกว้างได้เหมือนๆ กัน ด้วยกลุ่มคนจำนวนน้อยกว่า แต่ทั้งนี้กระแสจำนวนหนึ่งก็เกิดขึ้นเพียงชั่วครู่ชั่วคราวแล้วก็จบลงไป เช่น การแบนสินค้า หรือบุคคลมีที่ชื่อเสียงบางคน ที่แม้กระแสจะแผ่ออกไปในวงกว้าง แต่ด้วยสภาพสังคมในปัจจุบันท้ายที่สุดกระแสเหล่านั้นก็จะถูกทำให้จมหายไปในกระแสที่เกิดขึ้นมาใหม่ในแต่ละวัน ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชน ดารา หรือประชาชน ต่างก็มีอิทธิพลบนโลกอินเทอร์เน็ตได้เพียงชั่วครู่เหมือนๆ กัน

ด้วยเสียงที่สร้างผลกระทบได้เท่าๆ กันนั้น ดาราบางคนก็อาจมีข้อจำกัดในด้านการทำงาน เช่น การถูกเซ็นเซอร์โดยต้นสังกัด หรือสัญญาที่ทำร่วมกับสปอนเซอร์เพื่อรักษาภาพลักษณ์ของสินค้า และตัวดารา จึงทำให้การแสดงจุดยืน หรือการมีส่วนร่วมกับประเด็นทางการเมืองเป็นสิ่งที่ถูกห้าม เป็นต้น ขณะที่สื่อมวลชนแม้ว่าจะมีลักษณะเป็นองค์กรอิสระ และได้รับการคุ้มครองในการรายงานข่าวตามกฎหมาย เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตราที่ 35 ว่าด้วยบุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ 

แต่สื่อมวลชนก็ยังต้องถูกกำกับด้วยจรรยาบรรณวิชาชีพ และโทษตามกฎหมายที่สูงกว่าประชาชน เช่น ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตราที่ 328 ว่าด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใดๆ โดยการกระจายเสียง หรือกระจายภาพ หรือโดยการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

ดังนั้น แม้จะมีข้อจำกัดด้านการใช้ทรัพยากรมนุษย์ที่มากกว่า แต่ประชาชนอาจมีเสรีภาพในการสื่อสารไม่น้อยไปกว่าสื่อมวลชน หรือในบางมุมอาจจะมากกว่าสื่อมวลชนเสียอีก

ความคาดหวังของสังคม คืออีกหนึ่งสิ่งที่อาจช่วยทำให้เสียงที่ถูกส่งออกมาดังมากน้อยต่างกันไป เช่น ความคาดหวังที่มีต่อการแสดงจุดยืนของศิลปินดารา เมื่อมีการเคลื่อนไหวเกิดขึ้นย่อมต่อยอดกระแสออกไปในวงกว้างได้ เนื่องจากความคาดหวังทำให้มีคนจำนวนมากรอคอยการเคลื่อนไหวนั้น เป็นต้น ซึ่งก็อาจจะไม่ต่างกันกับความคาดหวังที่มีต่อการทำงานอย่างเป็นธรรมของสื่อมวลชน ที่ทำให้เสียงของสื่อมวลชนนั้นดังมากขึ้น แต่กับประชาชนแล้ว เพียงแค่ความคาดหวังจากประชาชนด้วยกันอาจไม่ทำให้เสียงของพวกเขาดังขึ้นเท่ากับการร่วมกันส่งเสียงออกมา

จากการพิจารณาข้างต้น คำถามที่ว่า ใครมีเสียงที่ดังกว่ากัน  คำตอบคงจะหนีไม่พ้นสื่อมวลชนกระแสหลัก เนื่องจากพื้นที่ในการสื่อสารที่กว้าง และเข้าถึงคนได้หลากหลาย ความน่าเชื่อถือของการทำหน้าที่อยู่บนหลักจรรยาบรรณของนักสื่อสารมวลชน ทั้งยังสามารถนำเสนอข่าวสารด้วยทักษะทางวิชาชีพที่มากกว่าประชาชน เช่น การวิเคราะห์ รวบรวม และตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหา ทั้งยังสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลที่หลากหลาย ด้วยการทำหน้าที่ของทรัพยากรที่มี ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้สื่อมวลชนกระแสหลักมีเสียงที่ดังที่สุด หากแต่ว่าเสียงนั้นจะสามารถถูกใช้เพื่อประชาชนได้อย่างแท้จริงหรือไม่

หรือต้องรับฟังกันมากขึ้น?

หากว่าเสียงที่ดังที่สุดอย่างสื่อมวลชน เป็นเสียงที่ประชาชนไม่สามารถนำมาใช้ถ่ายทอดสารที่มีได้ มีสิ่งใดไหมที่จะทำให้สารเหล่านั้นสื่อออกไปอย่างมีพลังมากขึ้น?

สิ่งหนึ่งที่น่าคิดก็คือ เสียงที่กำลังถูกมองว่ามันดัง เป็นเสียงที่ดังจริงหรือเปล่า?

หากเสียงของดารามีผลกระทบ หรือเข้าถึงได้เพียงแค่กับคนบางกลุ่ม แล้วคนกลุ่มนั้นอาจไม่ใช่เป้าหมายของการเรียกร้อง เสียงของเขาจะนับว่าเป็นเสียงที่ดังจริงหรือ?

เสียงที่ดังนั้นดีจริงไหม หรือเสียงที่ดังจะไม่สู้เสียงที่มีคนฟัง?

จากข้างบนหากเสียงที่ดังสามารถสร้างผลกระทบในวงกว้างได้จริง แต่ผลกระทบนั้นมีผลอยู่เพียงชั่วครู่หนึ่ง นั่นคือผลกระทบที่มีพลังจริงๆ หรือไม่ ในอีกมุมมองหนึ่งเสียงที่ไม่ได้ดังมากแต่มีผลกระทบกับคนที่ได้ยิน แล้วนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง อาจเป็นเสียงที่ทรงพลังมากกว่าก็ได้

ความขัดแย้งในสังคมที่เกิดขึ้นในหลายๆ ครั้ง ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่มีผู้พูด แต่ขาดผู้ฟังที่พร้อมรับฟังจริงๆ เมื่อแต่ละคนมีความเชื่อ และมุมมองที่ต่างกัน แล้วมีแต่ผู้ที่ต้องการถ่ายทอดมุมมองของตนเอง โดยที่ไม่มีใครต้องการฟัง ผลสุดท้ายก็มีเพียงการโต้เถียงกันไปมาของมุมมองที่ต่างกัน เหตุผลบางประการที่ถูกซ่อนไว้ในสาร อาจถูกมองข้ามไป

ลองปรับมุมมองมารับฟังกันให้มากขึ้นดูจะดีไหม?

เสียงของคนที่กำลังเรียกร้องเพื่อการแสดงจุดยืนทางการเมือง ในปัจจุบันนี้มีอยู่ไม่น้อย และเป็นเสียงที่ค่อนข้างดัง อะไรคือเหตุผลที่คนรวมตัวกันจนเกิดเป็นเสียงที่ดังเช่นนี้ การกระทำต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการแบนสินค้า บริการ หรือตัวบุคคล เหตุผลที่แท้จริงคืออะไร เหตุผลเหล่านี้หรือเปล่าที่เป็นสิ่งที่ควรจะรับฟัง นอกเหนือจากเพียงแค่พวกเขาเหล่านั้นกำลังเรียกร้องสิ่งใด เพราะบทบาทของสื่อสังคมออนไลน์ที่มีต่อวิถีชีวิตของคนในปัจจุบัน ทำให้คนรับข่าวสารที่รวดเร็วมากขึ้น และความรวดเร็วนั้นเองที่อาจทำให้มิติของเหตุผลที่แท้จริงอาจถูกละเลยไป เช่น การอ่านความคิดเห็นเกี่ยวกับการแบนสินค้าชนิดหนึ่งบนโลกออนไลน์ ซึ่งมีความเห็นจำนวนไม่น้อยที่สื่อสารออกมาเพียงว่า เขาต้องการเรียกร้องอะไร และด้วยการไหลของข้อมูลที่รวดเร็ว เราอาจละเลยการหาเหตุผลของการเรียกร้องนั้นๆ ไป เป็นต้น

เสียงของคนที่ออกมาปกป้องศิลปินและดาราที่ไม่ออกมาเคลื่อนไหวต่อการเรียกร้องให้แสดงจุดยืนทางการเมือง ก็เช่นกัน พวกเขามีเหตุผลอะไรอยู่นอกเหนือความรักในตัวศิลปินเหล่านั้นหรือไม่ บางทีหากเรารับฟังเสียงของพวกเขาเหล่านั้น ก่อนที่เราจะตัดสินใจเชื่อ หรือปฏิเสธการปกป้องนั้น เราอาจจะได้เห็นว่านอกเหนือจากความรัก อาจมีมุมมองที่ช่วยให้เราเข้าใจว่าทำไมเราถึงควรออกมาปกป้องสิ่งที่เรารักได้มากขึ้นก็ได้ เช่น การปกป้องดาราที่กำลังถูกกดดันในฐานะของสมาชิกคนหนึ่งของสังคมที่มีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องๆ หนึ่งหรือไม่ก็ได้ เป็นต้น

อีกหนึ่งตัวละครที่ควรจะเข้ามามีบทบาทในเรื่องนี้อย่างสื่อมวลชน ก็เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ควรจะรับฟังเสียงของประชาชนให้มากขึ้น เพราะหนึ่งในบทบาทของสื่อมวลชน คือ การทำหน้าที่ Watchdog (สุนัขเฝ้าบ้าน) ซึ่งมีนัยยะ คือ การตรวจสอบอำนาจรัฐว่าถูกนำมาใช้อย่างโปร่งใสหรือไม่ และอำนาจก่อประโยชน์แก่ประชาชนในประเทศ ไม่ว่าจะกลุ่มเล็ก หรือใหญ่ อย่างไร เกิดการขัดกันซึ่งผลประโยชน์หรือไม่ คนทุกกลุ่มควรได้รับความเป็นธรรมจากรัฐ

อีกบทบาทหนึ่งของสื่อมวลชน คือการเป็น Gatekeeper (ผู้เฝ้าประตู) หรือการทำหน้าที่คัดกรองข่าวสารต่างๆ ที่จะถูกนำมาเสนอต่อประชาชน ว่าเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เหมาะสม เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องรู้ ควรรู้ หรืออยากรู้

ในที่นี้การที่สื่อมวลชนในปัจจุบัน ดำเนินงานในฐานะองค์กรธุรกิจ อาจจะถูกกำหนดเนื้อหาในการนำเสนอโดยเจ้าขององค์กร หรือนายทุนผู้ร่วมทุน เพื่อให้เนื้อหาเหล่านั้นสามารถสร้างผลตอบแทนให้กับองค์กรได้ จนอาจทำให้เสียงของประชาชนถูกมองข้ามได้ ซึ่งการไม่รับฟังประชาชน อาจทำให้บทบาททั้งสองอย่างนี้บกพร่องลงไป เพราะหากการเฝ้าระวังให้ประชาชนได้รับความเป็นธรรมจากภาครัฐคือบทบาทของสื่อ แต่สื่อมวลชนกลับไม่ฟังเสียงของประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม หรือการปิดหูปิดตา ไม่รับฟังประชาชน และนำเสนอแต่สิ่งที่ ‘คิดว่า’ ประชาชนต้องรู้ แล้วละเลยว่าสิ่งที่ประชาชนต้องการรู้ หรือควรจะรู้จริงๆ คืออะไรกันแน่ อาจทำให้สื่อไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อเรารับฟังกันให้ครบทุกมุม

ในมุมของประชาชนเราควรรับฟังกัน เมื่อมีผู้ออกมาเรียกร้องจงรับฟัง และเมื่อมีเหตุผลในอีกแง่มุมหนึ่ง ก็จงรับฟัง จากนั้นจึงใช้เหตุผลที่มีในมือประกอบการตัดสินใจที่เชื่อในสิ่งที่เราคิด

เมื่อพูดถึงการเรียกร้องประชาธิปไตย ในประเทศที่ ‘เรียกตัวเองว่าเป็น’ สังคมประชาธิปไตย สื่อมวลชน ซึ่งควรจะมีอิสระในการขุดคุ้ยการทำงานของรัฐ และนำเสนอความจริงทางสังคม ด้วยความชอบธรรมของการเป็นสื่อ แต่กลับถูกกฎหมายจำนวนหนึ่งลิดรอนสิทธิ์ในการนำเสนอข่าวสารไป

การลิดรอนนี้อาจทำให้สื่อมวลชนไม่สามารถตอบสนองต่อเสียงของประชาชน และทำหน้าที่ของตนเองด้วยความชอบธรรมอย่างเต็มภาคภูมิหรือไม่?

เมื่อประชาชนพร้อมที่จะรับฟังกันแล้ว สื่อมวลชนก็ควรเป็นตัวกลางที่จะถ่ายทอดเสียงของประชาชนให้ดังมากขึ้น เพราะนั่นคือสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน และเป็นหน้าที่ที่สื่อพึงกระทำ ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการรักษาผลประโยชน์ทางธุรกิจระหว่างองค์กรสื่อ และนายทุน มิเช่นนั้นแล้วก็อาจจะไม่ต่างอะไรกับการที่สื่อกำลังเพิกเฉยต่อปัญหาของประชาชนจริงหรือไม่? ขณะเดียวกันเราอาจต้องตั้งคำถามกับการลิดรอนสิทธิ์ของสื่อ ว่าเป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้นใน ‘สังคมประชาธิปไตย’ จริงหรือ?

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
0
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:Society

Articles

ออกเดินทางมาแล้วแต่ยังไกลจุดหมาย : ตอนนี้ Universal Design พาคนพิการเดินทางไปได้เท่าไหนในไทย

เรื่องและภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย เป็นเวลาหลาย 10 ปีมาแล้วที่คนพิการต้องเรียกร้องสิทธิต่างๆ ทั้งในประเด็นสิทธิในการเข้าทำงาน มุมมองด้านลบที่คนพิการเคยถูกมองว่าไม่มีความสามารถ หรือเคยทำกรรมไว้จึงพิการ และปัญหาความไม่สะดวกที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของพวกเขาหลังจากที่ต้องสูญเสียทักษะบางอย่างไป การเดินทางเองก็เป็นอุปสรรคอันดับต้นๆ ที่คนพิการต้องพบเจอและมีการเรียกร้องมาเป็นเวลานาน จนมีกฎหมายเกี่ยวกับ Universal Design ...

Features

เคยได้ยินเรื่องราวจากสายส่งหนังสือไหม?

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย สายส่ง น. ผู้ดำเนินกิจการเป็นตัวแทนในการส่งหนังสือหรือสินค้าอื่นให้แก่ผู้รับ. เคยได้ยินชื่ออาชีพสายส่งไหม? ฉันรู้ว่านักเขียนเป็นผู้สร้างสรรค์เรื่องราวในหนังสือ ฉันรู้ว่าสำนักพิมพ์เป็นผู้นำเรื่องราวจากนักเขียนมาผลิตหนังสือ และรู้ว่าร้านหนังสือเป็นผู้ส่งหนังสือมาให้ถึงมือเหล่าคนอ่าน แต่ฉันกลับไม่รู้เลยว่าสายส่งคืออะไร… จนกระทั่งเมื่อฉันมีโอกาสทำความรู้จักกับคุณน้าคนหนึ่ง ผู้เป็นนักเขียนและบรรณาธิการอยู่ในวงการหนังสือมาอย่างยาวนาน ...

Articles

โลกกำลังจะแตก เรายังควรแย่งวัฒนธรรมกันอยู่ไหม?

เรื่อง : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย ชัยชนะของพรรคฝ่ายขวาในหลายประเทศทำให้เห็นการกลับมาของแนวคิดแบบอนุรักษ์นิยมที่เริ่มมีมากขึ้นในปัจจุบัน ด้านประเทศไทยเองถึงแม้กลุ่มที่นิยามตนเองว่า ‘หัวก้าวหน้า (Progressive)’ ซึ่งเป็นแนวคิดการเมืองแบบฝั่งซ้ายจะเริ่มมีพื้นที่และได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ทว่าหากพิจารณาตามจุดประสงค์ของการเกิดกลุ่มแนวคิดนี้ ก็อาจยังไม่พ้นเรื่องเศรษฐกิจและความต้องการต่อต้านรัฐบาลชุดปัจจุบัน เพราะหากประเทศไทยเต็มไปด้วยกลุ่มคนหัวก้าวหน้าจริงเราคงไม่ได้เห็นคนในสื่อสังคมออนไลน์ตบตีแย่งชิงวัฒนธรรมกับประเทศเพื่อนบ้าน “รักกันไว้เถิด ...

Articles

Car-Centric City: เมืองที่รถยนต์ใหญ่กว่าคน

เรื่องและภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย หากคุณเป็นคนที่ไม่ได้ขับรถ คุณอาจเคยหงุดหงิดเวลาที่ต้องมาเดินหลบรถยนต์เวลาเดินอยู่ในซอยแคบๆ จนไม่เข้าใจว่าทำไมต้องมาทนเสี่ยงตายอยู่บนสภาพถนนแบบนี้ หรือหากคุณเป็นคนที่ขับอยู่ตลอด คุณอาจเคยหงุดหงิดที่ต้องมาทนรอคนเดินข้ามทางม้าลาย และไม่เข้าใจว่าทำไมบางคนจึงออกมาเรียกร้องหาทางเท้า ทางจักรยานที่ดี เพราะจะทำให้คุณใช้เวลาบนรถนานขึ้นเนื่องจากต้องสูญเสียเลนถนนไปเพื่อสร้างทางเท้าเพิ่มเติม ทั้ง 2 เหตุการณ์อาจเป็นมุมมองที่ไม่มีทางเกิดขึ้นในคนคนเดียวกันแต่ก็มีที่มาไม่ต่างกัน นั่นเป็นเพราะเรากำลังใช้ชีวิตอยู่ในเมืองแห่ง ...

News

อาจารย์รัสเซียศึกษา มธ. คาดสงครามรัสเซีย-ยูเครนไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์พลังทำลายล้างสูง หวังเจรจายุติต้นปีหน้า

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย อาจารย์รัสเซียศึกษา มธ. ชี้ สงครามรัสเซีย-ยูเครนไม่รุนแรงเพิ่มขึ้นจากการใช้อาวุธนิวเคลียร์พลังทำลายล้างสูง เพราะไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อฝ่ายใด และคาดว่าสงครามจะจบลงด้วยการเจรจาไม่ให้ยูเครนเข้าร่วม NATO ตามที่รัสเซียต้องการ เมื่อวันที่ ...

Articles

คุณเข้าร้านโชห่วยครั้งล่าสุดเมื่อไหร่ ?

เขียน : พรวิภา หิรัญพฤกษ์ ภาพประกอบ : ศิรประภา จารุจิตร คุณเข้าร้านโชห่วยครั้งล่าสุดเมื่อไหร่ ? ร้านค้าท้องถิ่นที่หายไปพร้อมกับ ‘ความมั่นคงทางอาหาร’ คุณซื้อของจากร้านโชห่วยล่าสุดเมื่อไหร่ ? ฉันหมายถึง ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save