เรื่อง : สาธิต สูติปัญญา, วรลดา ถาวร
ภาพประกอบ : ปวันรัตน์ แสงไสว
- กลุ่มที่หนึ่ง
- 1. คิดอย่างไรกับการขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก และคณะผู้ก่อการรัฐประหาร ที่ตอนแรกกล่าวว่าจะไม่รับตำแหน่งใดๆ ทางการเมือง
- 2. นักวิชาการบางส่วนเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปีพุทธศักราช 2534 ที่เขียนขึ้นหลังจากการก่อการรัฐประหารของ รสช. เพื่อใช้ในการเลือกตั้งในปี 2535 เป็นรัฐธรรมนูญที่สืบทอดอำนาจของกลุ่มผู้ก่อการรัฐประหาร เช่น มีการบัญญัติไว้ว่า ส.ว. ต้องมาจากการแต่งตั้ง หรือบัญญัติไว้ว่าให้ประกาศหรือคำสั่งใดๆ ของ รสช. มีผลบังคับใช้ต่อไป ทั้งสองคนเห็นว่าอย่างไร
- 3. มีภาพจำหรือรับรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 53
- 4. ในเหตุการณ์การปราบปรามคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 มีการใช้กระสุนจริงเกิดขึ้น จำเหตุการณ์นี้ได้หรือไม่และคิดเห็นอย่างไร
- 5. เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้คนเสื้อแดงส่วนหนึ่งมีภาพจำเชิงลบกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น แล้วทั้งสองคนคิดเห็นอย่างไร
- 6. ในปฏิทินการเมืองช่วง พ.ศ. 2549 – พ.ศ. 2553 มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อเหลืองและเสื้อแดง ทว่าหากพิจารณาจากวิธีการสลายการชุมนุมของรัฐต่อคนทั้งสองกลุ่ม จะพบว่ามีความแตกต่างกันอยู่บ้าง ทั้งสองมีความเห็นต่อประเด็นนี้อย่างไร
- 7. ระบบการศึกษาในปัจจุบันทำให้เรารับรู้และเข้าใจประวัติศาสตร์ของทั้งสองเหตุการณ์นี้ รวมถึงเหตุการณ์ทางการเมืองอื่นๆ อย่างไรบ้าง
- 8. ทั้งการออกมาของคนเสื้อเหลือง – เสื้อแดง และการชุมนุมของมวลชนช่วงพฤษภามหาโหด ต่างก็คือการออกมาใช้สิทธิ์ในการเรียกร้องตามระบอบประชาธิปไตย แต่บางครั้งรัฐก็มองเหตุการณ์เหล่านี้ว่าเป็น สถานการณ์ที่สร้างความไม่สงบให้บ้านเมือง หลายครั้งจึงนำมาสู่ความพยายามที่จะยุติสถานการณ์ ทั้งสองมีความเห็นอย่างไรกับประเด็นนี้
- 9. มีอะไรอยากฝากไหม ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในสังคมที่มีความคิดเห็นทางการเมืองหลากหลาย
- กลุ่มที่สอง
- 1. คิดเห็นอย่างไรกับการขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก และคณะผู้ก่อการรัฐประหาร ที่ตอนแรกกล่าวว่าจะไม่รับตำแหน่งใดๆ ทางการเมือง
- 2. นักวิชาการบางส่วนเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปีพุทธศักราช 2534 ที่เขียนขึ้นหลังจากการก่อการรัฐประหารของ รสช. เพื่อใช้ในการเลือกตั้งในปี 2535 เป็นรัฐธรรมนูญที่สืบทอดอำนาจของกลุ่มผู้ก่อการรัฐประหการ เช่น มีการบัญญัติไว้ว่า ส.ว. ต้องมาจากการแต่งตั้ง หรือบัญญัติไว้ว่าให้ประกาศหรือคำสั่งใดๆ ของ รสช. มีผลบังคับใช้ต่อไป ทั้งสองคนเห็นว่าอย่างไร
- 3. มีภาพจำหรือรับรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 53
- 4. ในเหตุการณ์การปราบปรามคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 มีการใช้กระสุนจริงเกิดขึ้น จำเหตุการณ์นี้ได้หรือไม่และคิดเห็นอย่างไร
- 5. เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้คนเสื้อแดงส่วนหนึ่งมีภาพจำเชิงลบกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น แล้วทั้งสองคนคิดเห็นอย่างไร
- 6. ในปฏิทินการเมืองช่วง พ.ศ. 2549 – พ.ศ. 2553 มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อเหลืองและเสื้อแดง ทว่าหากพิจารณาจากวิธีการสลายการชุมนุมของรัฐต่อคนทั้งสองกลุ่ม จะพบว่ามีความแตกต่างกันอยู่บ้าง ทั้งสองมีความเห็นต่อประเด็นนี้อย่างไร
- 7. ระบบการศึกษาในปัจจุบันทำให้เรารับรู้และเข้าใจประวัติศาสตร์ของทั้งสองเหตุการณ์นี้ รวมถึงเหตุการณ์ทางการเมืองอื่นๆ อย่างไรบ้าง
- 8. ทั้งการออกมาของคนเสื้อเหลือง – เสื้อแดง และการชุมนุมของมวลชนช่วงพฤษภามหาโหด ต่างก็คือการออกมาใช้สิทธิ์ในการเรียกร้องตามระบอบประชาธิปไตย แต่บางครั้งรัฐก็มองเหตุการณ์เหล่านี้ว่าเป็น สถานการณ์ที่สร้างความไม่สงบให้บ้านเมือง หลายครั้งจึงนำมาสู่ความพยายามที่จะยุติสถานการณ์ ทั้งสองมีความเห็นอย่างไรกับประเด็นนี้
- 9. มีอะไรอยากฝากไหม ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในสังคมที่มีความคิดเห็นทางการเมืองหลากหลาย
หลังจากพูดคุยกับ รศ. ดร. พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในบทสัมภาษณ์เรื่อง ‘จากพฤษภา 35 ถึง พฤษภา 53’ ทำให้เห็นว่านักเรียน-นักศึกษาเป็นหนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญของหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยมาเสมอ เราจึงชวนนักเรียน – นักศึกษาสี่คนที่มีความคิดเห็นทางการเมืองหลากหลายมาพูดคุยและแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับประเด็นที่น่าสนใจของทั้งสองเหตุการณ์ต่อ ไม่ว่าจะเป็นเป็นประเด็นภาพจำของทั้งสี่คน ที่เมื่อย้อนไปถึงเหตุการณ์พฤษภามหาโหด เมื่อ 29 ปีที่แล้ว เป็นช่วงเวลาซึ่งพวกเขายังไม่ลืมตาดูโลก หรือย้อนกลับไปหรือเมื่อ 11 ปีที่แล้วในเหตุการณ์สลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง พวกเขายังมีอายุเพียงสิบกว่าปี
เราหวังว่าการชวนกันกลับไปมองอดีตผ่านสายตาของคนรุ่นใหม่ ทั้งจากมุมของคนที่มีมุมมองแบบเสรีนิยม (liberal) ในหลายระดับ และแนวคิดแบบประนีประนอม (compromise) จะทำให้เราเข้าใจวิธีการมองสิ่งต่างๆ ของคนรุ่นเดียวกันมากขึ้น และอาจสะท้อนให้เห็นว่าสถาบันที่มีบทบาทเกี่ยวข้องกับเยาวชนโดยตรง ทั้งครอบครัวและสถานศึกษา ส่งผลต่อวิธีการมองสังคมของพวกเขาอย่างไร
กลุ่มที่หนึ่ง
แซก – ศุภวุฒิ แพร่แสงเอี่ยม (แซกกำลังจะเข้าเป็นนักศึกษาปี 1 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นเยาวชนที่สนใจเรื่อง จิตวิทยา การเมือง การศึกษา และต้องการการขับเคลื่อนสังคมให้พัฒนามากขึ้นผ่านการวางแผนอย่างเป็นระบบ เขาต้องการเห็นสังคมที่อนุญาตให้มนุษย์ทุกคนได้มีพื้นที่ในความเป็นตัวเอง ได้ทำตามความฝันภายใต้การเคารพสิทธิเสรีภาพ และความเท่าเทียมกัน)
โอ๊ต – จิตรากร ตันโห (นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โอ๊ตมีแนวคิดแบบประนีประนอมและเชื่อในระบอบการปกครองแบบผสม (mixed constitution) ซึ่งเป็นระบอบการเมืองที่ว่ากันว่าสามารถทำให้เกิดความสมดุลทางการเมือง และจะไม่มีผู้เล่นทางการเมืองคนใดสามารถใช้ระบบดังกล่าวเพื่อทำลายอีกฝ่ายได้)
1. คิดอย่างไรกับการขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก และคณะผู้ก่อการรัฐประหาร ที่ตอนแรกกล่าวว่าจะไม่รับตำแหน่งใดๆ ทางการเมือง
แซก: ผมมองว่าไม่ถูกต้องเหมือนกันครับ ชัดเจนมากๆ นะว่าประชาชนตอนนั้นไม่พอใจ เพราะสุดท้ายแล้ว หัวใจของการเป็นชาติมันหมายถึงประชาชนนะครับ ผู้ปกครองควรจะใส่ใจในประชาชนมากที่สุด เขาควรที่จะรักษาสัตย์ ไม่หักหน้าประชาชน แค่นี้ก็ไม่ต้องไปมองถึงเหตุผลจำพวก ‘ผมต้องทำ’ อะไรแบบนั้นแล้ว เพราะสุดท้ายการกระทำของกลุ่มผู้ก่อการรัฐประหารตอนนั้นคือการไม่เห็นหัวประชาชน
โอ๊ต: แน่นอน ประชาชนต้องไม่พอใจอยู่แล้ว มันผิดสัญญาตั้งแต่แรก และจริงๆ ผิดตั้งแต่ที่เขายึดอำนาจแล้ว เพราะคุณยึดอำนาจแล้วคุณมาสานต่ออำนาจที่ยึดมาอีก คือมันผิดแน่นอนอยู่แล้ว ประชาชนเขาไม่ยอม
2. นักวิชาการบางส่วนเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปีพุทธศักราช 2534 ที่เขียนขึ้นหลังจากการก่อการรัฐประหารของ รสช. เพื่อใช้ในการเลือกตั้งในปี 2535 เป็นรัฐธรรมนูญที่สืบทอดอำนาจของกลุ่มผู้ก่อการรัฐประหาร เช่น มีการบัญญัติไว้ว่า ส.ว. ต้องมาจากการแต่งตั้ง หรือบัญญัติไว้ว่าให้ประกาศหรือคำสั่งใดๆ ของ รสช. มีผลบังคับใช้ต่อไป ทั้งสองคนเห็นว่าอย่างไร
แซก: การรัฐประหารไม่ใช่การแก้ปัญหา ถึงแม้ว่าคนทำรัฐประหารจะคิดว่าการกระทำนั้นเป็นการแก้ไขปัญหาให้ประเทศชาติ แต่สุดท้ายมันคือการแก้ปัญหาก้อนหนึ่งเพื่อให้เกิดปัญหาอีกก้อนหนึ่งที่ใหญ่กว่าตามมา แล้วเป็นปัญหาที่คนกลุ่มเดียวสร้างขึ้นมา ถ้ามองในมุมของ รสช. ว่าเขาแก้ปัญหาการคอร์รัปชันของรัฐบาลก่อนได้ แต่การที่เขาสร้างปัญหาก้อนใหม่อย่างการทำลายประชาธิปไตยโดยการฉีกรัฐธรรมนูญ พยายามสืบทอดอำนาจเผด็จการผ่านการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับตนเอง และยึดอำนาจไปจากประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของ มันคือปัญหาก้อนใหม่และเป็นการไม่เห็นหัวประชาชนด้วยซ้ำ
มนุษย์เราควรจะรับฟังทุกคนมากกว่าที่จะเอาอำนาจไปรวมอยู่ที่คนเดียวแล้วบอกว่า ‘ผมแก้ปัญหาได้นะ’ เพราะจริงๆ การแก้ปัญหาของเขาอาจจะไม่ได้เป็นวิธีที่ดีที่สุดสำหรับคนอื่นก็ได้ เรายังไม่ได้คุยกันเลย เขาก็ยึดอำนาจไปแล้ว มันก็ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาอย่างที่เราเห็นปัจจุบัน
ผมเชื่อว่าทุกคนเห็นปัญหาเรื่องที่เกิดจากการทำรัฐประหาร และอยากแก้ปัญหาทั้งนั้น สมมติว่าอยากให้ระบบอำนาจนิยมหายไป การยึดอำนาจหายไป บางคนอาจจะลุกออกมาเคลื่อนไหวด้วยการทำม็อบ แต่ก็ยังมีหลายคนที่ยังพยายามทำงานบนโต๊ะอยู่ พยายามทำนโยบาย พยายามผลักดันเรื่องเข้าไปยังรัฐสภา อย่างโครงการของ iLaw (โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน) ผมคิดว่าเราไม่สามารถทำทุกอย่างรอบด้านได้ด้วยแกนนำม็อบตัวคนเดียวได้ครับ เรามีเครือข่าย เรามีคนอื่น แซกมองว่าตรงนี้สำคัญในมุมมองของประชาชน แต่ตอนนี้เท่าที่เห็น คนที่ทำงานนโยบายบนโต๊ะ กับคนที่ลงถนนอยู่ตอนนี้ เราไม่เห็นพวกเขาคุยกันด้วยซ้ำ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า iLaw ก็พยายามทำนโยบายบนโต๊ะควบคู่ไปกับการปราศรัย การทำม็อบ เหมือนกัน อย่างไรก็ตามตอนนี้ เราต้องการคนที่ทำแบบนี้จำนวนมากขึ้น สุดท้ายถ้ามันยังเกิดการแบ่งแยกการทำงานอย่างนี้ ระบบมันก็วนไปวนมา เพราะแต่ละคนก็ทำหน้าที่ที่รู้สึกว่าทำได้ แต่มันเป็นการทำไปคนละด้าน คนละทาง ไม่เคยมารวมกันแล้วทำไปพร้อมกันเลยซักที ม็อบก็สร้างแรงกระเพื่อมได้ประมาณหนึ่ง ฝ่ายนโยบายก็จะทำได้ประมาณหนึ่ง แต่สุดท้ายถ้าไม่ได้คุยกัน ปัญหาตรงนี้ก็ไม่หายไป
โอ๊ต: รัฐธรรมนูญ 34 เปิดช่องไว้เยอะจริงๆ อย่างที่บอกครับ มันสร้างความไม่พอใจให้กับประชาชนอยู่แล้ว และด้วยตอนนั้นกระแสของประชาธิปไตยในสำนึกของประชาชนสูงมาก ในม๊อบฯ 35 ก็มีรุ่นพี่คนเดือนตุลามาร่วมด้วย ประชาชนอยากได้ประชาธิปไตยกันแล้ว อีกอย่างเรื่องปัญหาคอร์รัปชันที่บอกว่าเขามาแก้ปัญหา เอาจริงๆ ปัญหานี้มีมาทุกรัฐบาล ตั้งแต่การรัฐประหารครั้งแรกๆ เลย และการเข้ามาแก้ปัญหาคอร์รัปชันของคณะรัฐประหาร ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะไม่คอร์รัปชันอีกทีด้วย การรัฐประหารและการเปิดช่องเหล่านั้นไม่ได้แก้ปัญหาโดยสิ้นเชิงครับ ที่เห็นได้ชัดก็คือระบบของการรัฐประหารมันก็ตรวจสอบได้ยาก เราจะมั่นใจกับระบบที่ประชาชนไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างเผด็จการรัฐประหาร มากกว่าระบบที่ประชาชนตรวจสอบได้อย่างรัฐสภาหรือครับ ที่สำคัญรัฐธรรมนูญ 34 มันกลับมาเป็น รัฐธรรมนูญ 60 อีกแล้ว เหล่านี้แสดงให้เห็นว่ามีอะไรบางอย่างที่ไม่ลงตัวกับวิธีการแก้ไขปัญหาด้วยการรัฐประหาร เราต้องหาทางแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่นครับ
ถ้ามองในมุมเด็กรัฐศาสตร์ ผมอยากเสนอว่าต้องถ่วงดุลอำนาจครับ ปัญหาการปกครองเป็นปัญหาที่ใหญ่และเป็นปัญหาสากลมาก เราจะทำอย่างไรให้การปกครองไม่มีดุลอำนาจฝั่งไหนมากเกินไป อย่างในฝรั่งเศสซึ่งก็เคยมีการรัฐประหารนะ เช่น ในสาธารณรัฐที่ 4 (Fourth French Republic) หรือระบอบการปกครองที่ปกครองประเทศฝรั่งเศสระหว่าง พ.ศ. 2489 – พ.ศ. 2501 หลังจากการรัฐประหาร นายพลชาร์ลส์ เดอ โกล (Charles de Gaulle) ก็เข้ามาวางรัฐธรรมนูญใหม่ สุดท้ายประเทศเขาก็มั่นคงมาจนถึงทุกวันนี้ คำถามคือเขาทำยังไงให้คนยอมรับ หรือแม้กระทั่ง รัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกาที่ได้ชื่อว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่มีเสถียรภาพมากที่สุดในโลก มีการดุลอำนาจที่ดีที่สุดในโลก เขาทำกันยังไง
ตอบง่ายๆ คือทั้งสองตัวอย่างเขาได้อิทธิพลมาจากนักคิดหลายๆ คนในอดีต ผ่านแนวคิดเรื่องการถ่วงดุลอำนาจที่ว่าไป โดยใช้การปกครองแบบ ‘ระบอบผสม’ ซึ่งประกอบด้วย 3 ส่วนผสมกัน ส่วนแรกก็คือ the one (เอกบุคคล หรือประมุข) ส่วนสองเรียกว่า the few (คณะบุคคล) ส่วนสามก็คือ the many (มหาชน หรือประชาชน) การที่เราจะปกครองประเทศหรือรัฐ เราต้องทำให้ทั้ง 3 ส่วนเสมอกัน ไม่ให้ประมุขของประเทศมีอำนาจมากเกินไป ไม่ให้คณะบุคคลมีอำนาจมากเกินไป รวมถึงไม่ให้ประชาชนมีอำนาจมากเกินไปด้วย ซึ่งแนวคิดการไม่ยอมให้ใครมีอำนาจมากเกินไปสะท้อนออกมาอย่างชัดเจนมากในสหรัฐฯ ในตอนแรกผู้นำสหรัฐฯ บอกว่าเขาไม่ได้สร้างประชาธิปไตย เขาบอกว่าจะสร้างสาธารณรัฐ ซึ่งในการบอกว่าเขาจะสร้างสาธารณรัฐ แนวคิดพื้นฐานคือวางอยู่บนความไม่ไว้วางใจใครเลย ดังนั้นเลยออกมาในรูปแบบของกลไกในการถ่วงดุลอำนาจไม่ให้ใครมีอำนาจมากเกินไป คำถามคือในประเทศไทยเราใช้กรอบการปกครองแบบนี้ได้สมดุลหรือยัง ?
ถ้าเราพิจารณาการเมืองไทยในอดีตที่ผ่านมา เราจะพบว่าไม่เคยสมดุลเลย อย่างช่วง พ.ศ. 2490 – พ.ศ. 2500 เป็นช่วงที่ทหารเข้ามาปกครองล้วนๆ ประชาชนหรือ the many ถูกฆาตกรรมออกมาจากระบอบการปกครอง รวมทั้งในตอนนั้นเอง บุคคลหรือพระมหากษัตริย์ก็เป็นเพียงผู้สำเร็จราชการแทน จะเห็นว่ามันไม่ครบองค์ประกอบในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ถ้าเราใช้กรอบเรื่องการถ่วงดุลอำนาจมามองการเมืองไทยตั้งแต่ทศวรรษ พ.ศ. 2520 เป็นต้นมา จะเห็นว่ามันเพิ่งจะครบองค์ประกอบออกตอนช่วง พ.ศ. 2520 เอง อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณามาถึงปัจจุบันประมาณ 44 ปีมาแล้ว เราว่าเรามาไกลแล้ว ประชาชนเริ่มมีอำนาจมากขึ้นกว่าสมัยก่อน แต่ยังไม่ลงตัว อำนาจของประชาชนอาจยังไม่สมดุลกับอีกสองส่วนที่เหลือคือ คณะบุคคล และเอกบุคคล ยังคงต้องปรับกันต่อไป แต่สุดท้ายผมก็ยังมองว่าการถ่วงดุลอำนาจคือคำตอบครับ ทั้งสามอำนาจต้องมีเท่าๆ กัน
3. มีภาพจำหรือรับรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 53
แซก: ต้องเล่าก่อนว่าในบ้านแซกมีอยู่สองฝั่งเลย หลายครั้งพวกเขามีปากเสียงกันหนักมาก บางครั้งถึงขนาดไม่มองหน้ากันเลย ความรู้สึกตอนนั้นคือผมกลัว ปกติเราโตมาในครอบครัวที่คนในบ้านไม่เคยมีปากเสียงกันรุนแรงเลย ยกเว้นเหตุการณ์นี้ ซึ่งเอาจริงๆ เราไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น แค่รู้ว่าเขาทะเลาะกันเพราะการเมือง และเราก็ไม่ได้โทษที่ประเทศ ไม่ได้โทษที่ระบบ ไม่ได้โทษเศรษฐกิจเลย ตอนนั้นรู้สึกแค่ว่า เศร้าจัง กลัวจัง ไม่ได้มองภาพอื่นเลย
ที่สำคัญคือแซกเคยถูกสอนมาว่าคนในบ้านฝ่ายเสื้อเหลืองไม่ผิด แต่ก็ถูกสอนจากแม่มาอีกทีหนึ่งว่าไม่ต้องไปยุ่งกับเรื่องเหล่านั้นเหมือนกัน ทั้งหมดค่อนข้างสับสน เมื่อตอนป.6 ยังไม่รู้ ยังไม่มีสิทธิ์ตัดสินใจเองด้วยซ้ำว่าจะเลือกเชื่ออันไหน อันไหนที่มีองค์ประกอบมากพอที่จะมาประกอบเป็นความคิดและทำให้เชื่อได้ และยิ่งสำหรับเด็กบางคนที่เขาโตมาในสภาพสังคมที่ไม่พร้อม ที่ไม่ได้อนุญาตให้เขาได้คิด ไม่ได้อนุญาตให้เขาได้เป็นตัวเองมากพอ สุดท้ายแล้วการที่ผู้ปกครองสอนเด็กให้รับรู้ชุดความคิดแบบเดียวอย่างนี้ จะทำให้เด็กเกิดความไม่เข้าใจ เป็นการที่ผู้ใหญ่ปิดตาเด็ก อย่างเราก็จำได้ว่าที่บ้านบอกมาว่า ‘อย่าไปยุ่ง มันมีแต่ความรุนแรง มันมีแต่ความเจ็บปวด’
อีกอย่างคือที่โรงเรียนก็มีคนเล่นมุกกับดักเสื้อแดงเยอะมาก ตะโกนว่า ‘กับดักเสื้อแดง !’ แล้วก็ผลักเพื่อนให้ตกน้ำ หรือว่าผลักลงข้างทางที่เป็นต้นไม้…อะไรแบบนี้ เราเลยรู้สึกว่าคนเสื้อแดงเป็นคนอันตราย แต่ก็ดีที่แม่คอยบอกอยู่ตลอดว่าเขาอาจจะเป็นคนดีหรือคนไม่ดีมันแล้วแต่คนอีกทีหนึ่ง แต่ว่าแซกในตอนนั้นก็มองว่าพวกเขาเป็นคนอันตราย เป็นคนที่ใช้ความรุนแรง ถ้าหลีกเลี่ยงได้ก็ควรหลีกเลี่ยง ที่บ้านถึงกับห้ามไม่ให้ใส่เสื้อแดงหรือเสื้อเหลืองเลย
แต่ถ้าพูดจริงๆ มันก็เป็นภาพจำที่แซกไม่ได้รับผลกระทบ ก็ไปโรงเรียนได้ กินข้าวได้ตามปกติ แค่ไม่เข้าไปพื้นที่ชุมนุมในเวลานั้น เพราะมีการยิงกัน หรือมีคนเผาเซ็นทรัลเวิลด์ แซกก็แค่รับรู้ แล้วก็ใช้ชีวิตต่อไปตามปกติ ทั้งหมดคือภาพจำในตอนนั้นที่สังคมและที่บ้านทำให้เรามอง
โอ๊ต: ผมจำได้ว่า ครูสมัยประถมชอบด่าให้เด็กฟัง พูดให้ฟังในคาบ เราก็ฟังๆ ไป ในภาพความทรงจำที่ไม่ใช่แค่ของผม แต่กับคนหลายคนด้วย คนเสื้อแดงเป็นคนจน จะไปรู้เรื่องอะไร ถูกจ้างให้มาม็อบ ส่วนตัวผมรู้สึกว่ามันวุ่นวาย คือในตอนนั้นผมเห็นใครโพสต์ไม่รู้ บอกว่าคนเสื้อแดงจะทำให้การเมืองประเทศไทยเป็นประธานาธิบดี ผมก็คิดว่า โห งั้นเลยเหรอ แต่ด้วยความที่คุณพ่อผมเป็นเสื้อแดง ผมก็โอเคกับคนเสื้อแดง จำได้ว่าตอนนั้นหลังเหตุการณ์โศกนาฏกรรม คุณพ่อผมด่าอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) ด้วยซ้ำ
แต่หลังจากที่เรียนมากขึ้นแล้วมองย้อนกลับไป กลายเป็นว่าเราไปกดทับความต้องการของคนเสื้อแดงจริงๆ ผมได้อ่านงานวิจัยชิ้นหนึ่งชื่อว่า ‘ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย’ ของอาจารย์อภิชาต สถิตนิรามัย, ยุกติ มุกดาวิจิตร และนิติ ภวัครพันธุ์ พวกเขาเข้าไปศึกษาปัญหาของกลุ่มเสื้อเหลือง – เสื้อแดงในสมัยที่มีปัญหา งานวิจัยก็พบว่าคนเสื้อแดงจริงๆ เป็นกลุ่มชนชั้นกลางใหม่ พวกเขาไม่ได้จนแต่เขาก็ไม่ได้รวย ยังไม่มีสวัสดิภาพ หรือสวัสดิการในชีวิตมั่นคงที่มากพอที่จะทำให้เขายึดเกาะกับความเป็นชนชั้นกลางใหม่ได้ พูดง่ายๆ คือเขาสามารถลงไปเป็นคนจนได้ตลอดเวลา ทีนี้พอรัฐบาลทักษิณเข้ามา ทักษิณเขาก็ให้นโยบายอะไรหลายๆ อย่างที่เป็นประชานิยม เช่นนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค มันทำให้ชีวิตพวกเขามั่นคงมากยิ่งขึ้น พอมีคนออกมาประท้วงให้ทักษิณออกไป เหล่าคนเสื้อแดงก็กังวลว่าสิ่งที่เขาได้มาตลอดจะเสียไป มันคือสวัสดิภาพที่จะทำให้เขาไม่กลับไปจนลงอีกครั้ง ประกอบกับการที่มีคนบางกลุ่มซ้ำเติมพวกเขาด้วยคำว่า ‘พวกคุณมันจน พวกคุณมันโง่’ ก็ยิ่งกลายเป็นความเคียดแค้นมากยิ่งขึ้น ทำให้ความไม่พอใจปะทุขึ้นมา
4. ในเหตุการณ์การปราบปรามคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 มีการใช้กระสุนจริงเกิดขึ้น จำเหตุการณ์นี้ได้หรือไม่และคิดเห็นอย่างไร
แซก: ก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าไม่ควรมีชีวิตไหนในประเทศที่สูญเสียไปกับการที่เขายังไม่ได้ทำอะไรผิดเลย มันผิดบาป ไม่ควรจะเกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้เลย แต่ถ้าย้อนกลับไปพูดถึงภาพจำในตอนนั้น แซกมองว่ารัฐบาลถูกนะ รัฐบาลมีสิทธิ์ที่จะจัดการ เพราะว่าเขาเป็นรัฐบาล อันนั้นคือภาพจำของเราตอนนั้นนะ แล้วก็รู้สึกว่า ก็เออ ก็จำได้จริงๆ นะว่าเสื้อแดงเป็นคนเผา เซ็นทรัลเวิลด์ ทั้งๆ ที่ปัจจุบันมีคำวินิจฉัยของศาลออกมาแล้วว่าคนเสื้อแดงไม่ใช่คนทำ แล้วก็จำได้อีกว่า แซกไป TK park ไม่ได้ แค่นั้นเลย
โอ๊ต: ถ้ามาจากฝั่งรัฐบาลเอง ผมว่ามันคงไม่ใช่ เพราะในกรณีนี้รัฐบาลจะเป็นฝ่ายที่ทำให้ประชาชนเสียชีวิตเลยนะ ต้องมาคิดว่าก่อนจะเกิดเหตุการณ์สลายการชุมนุมเกิดเหตุการณ์อะไรมาก่อน จึงให้ความชอบธรรมกับฝ่ายรัฐในการสลายการชุมนุมได้
ผลสอบสวนของเหตุการณ์ตอนนั้นยังไม่เคยออกมาครบถ้วนจริงๆ ในประเด็นเรื่องการใช้กระสุนจริงกับประชาชน เราก็ไม่รู้อีกนะว่ากระสุนนั้นจริงๆ แล้วมาจากฝั่งไหนกันแน่ เพราะฉะนั้น ตอบยากเหมือนกัน ผมคิดว่าแต่ละคนเขาก็มีภาพจำที่แตกต่างกัน มีความเจ็บปวดในแบบของเขา คนเสื้อแดงก็มีความเจ็บปวดในแบบของเขา คนที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมของคนเสื้อแดงก็มีความเจ็บปวดของเขา เราต้องมาแลกเปลี่ยนความทรงจำกัน แลกกันจริงๆ ว่ามันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบเดิมในอนาคต
5. เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้คนเสื้อแดงส่วนหนึ่งมีภาพจำเชิงลบกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น แล้วทั้งสองคนคิดเห็นอย่างไร
แซก: ไม่เห็นจำได้เลยว่าเขาเป็นคนไม่ดี ถ้าในตอนนั้นจำไม่ได้เลย เพราะว่าเหมือนฟังข่าว ถ้าได้ยินคำว่านายกก็ต้องเป็นคนดีสิ ตอนนั้นนะครับ
โอ๊ต: ในฐานะที่คุณอภิสิทธิ์เป็นหัวหน้ารัฐบาลตอนนั้น เขาก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ก็ต้องถามต่อไปว่า ผู้รับผิดชอบจริงๆ ที่ทำให้เกิดความเสียหายทั้งหมดคือใครกันแน่ โครงสร้างในการบังคับบัญชาตอนนั้นเป็นอย่างไร ต้องถามไปถึงว่าอำนาจในการสั่งการตอนนั้นจริงๆ อยู่ที่ใคร แล้วคุณอภิสิทธิ์เกี่ยวข้องแค่ไหน
คือคุณอภิสิทธิ์เนี่ย หลังจากนั้น ในตอนสมัยรัฐบาลของคุณยิ่งลักษณ์ ที่จะมี พรบ.นิรโทษกรรม คุณอภิสิทธิ์ก็ไม่เอาด้วยกับพรบ.นั้น คิดง่ายๆ สมมตินะ ถ้าคุณอภิสิทธิ์คิดว่าตัวเองผิดจริงในเหตุการณ์การปราบปราม ก็น่าจะเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรม ดังนั้นถ้าถามว่าเป็นคนร้ายไหม ตอบยากนะ คือเขาก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบในฐานะที่มันเกิดในสมัยของเขาแหละครับ แต่ถามว่าเป็นคนร้ายไปเลยไหม ผมมองว่าอาจจะต้องคิดดีๆ อีกที ตราบใดที่ความจริงยังไม่ชัดเจนทั้งหมด เราอย่าเพิ่งไปตัดสินว่าใครผิดหรือถูก อย่างไรก็ตามคุณอภิสิทธิ์ต้องรับผิดชอบแน่ๆ ครับ
6. ในปฏิทินการเมืองช่วง พ.ศ. 2549 – พ.ศ. 2553 มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อเหลืองและเสื้อแดง ทว่าหากพิจารณาจากวิธีการสลายการชุมนุมของรัฐต่อคนทั้งสองกลุ่ม จะพบว่ามีความแตกต่างกันอยู่บ้าง ทั้งสองมีความเห็นต่อประเด็นนี้อย่างไร
แซก: อย่างที่บอกไปตอนแรกคือ มันไม่ควรจะเกิดความรุนแรงขึ้นทั้งสองฝั่ง ในกรณีนี้มันคือการที่ผู้มีอำนาจไม่ได้มองเห็นประชาชนเท่ากัน แน่นอนว่ามนุษย์เรา ถ้ามีคนที่เห็นด้วยกับตัวเองก็จะรู้สึกว่า กลุ่มคนที่เห็นด้วยเป็นพวกเดียวกัน เลยนำมาสู่การปฏิบัติที่อาจจะดีมากกว่าคนที่ไม่ได้เห็นด้วยกับเขา เหล่านี้เป็นปกติอยู่แล้วครับ อย่างไรก็ตาม ในฐานะของรัฐบาล มันตอบยากอยู่นะ ผมก็ไม่ได้บอกให้เขาละทิ้งความเป็นมนุษย์แล้วมองทุกอย่างเท่ากันในโลก เพราะว่ามันก็ยากมากๆ ที่จะมองทุกคนเท่ากันจริงๆ ในฐานะที่เขามีอำนาจอยู่ในมือด้วย แต่นั่นควรเป็นสิ่งที่เขาทำได้ คำสั่งอะไรสักอย่างที่ออกมา ควรจะอยู่ในกรอบของแนวคิดที่ประชาชนทุกคนเป็นคนเท่ากันจริงๆ
โอ๊ต: ผมไม่อยากปักไปเลยว่าผู้ใช้อำนาจในตอนนั้นปฏิบัติต่อทั้งสองฝ่ายไม่เท่ากัน เพราะถ้าเราปักไปตั้งแต่แรกมันอาจจะทำให้เรามองอะไรพลาดไป ถ้าดูคนเสียชีวิต มันก็มีคนเสียชีวิตเหมือนกันนะครับ ไม่ว่าจะกี่คนก็ตาม ผมมองว่ามิติของคนเสื้อเหลืองกับคนเสื้อแดงนี่ถ้าพูดให้ชัดเจนคือมันต่างกันนะ ทั้งสองกลุ่มถูกขับเคลื่อนด้วยความรู้สึกและความรู้ที่ต่างกัน อย่างคนเสื้อเหลืองออกมาประท้วงรัฐบาลทักษิณ ซึ่งคนเสื้อเหลืองส่วนใหญ่ เข้าใจว่าเป็นคนกรุงเทพฯ เป็นคนชั้นกลาง ดังนั้นพอมันมีสถานะเป็นคนกรุงเทพฯ เป็นคนชั้นกลาง แง่หนึ่งคือความเหนือกว่าอะไรบางอย่างด้วย ในมุมของคนเสื้อแดง นอกจากว่าเขาเป็นคนชนบทแล้ว เขายังรู้สึกเคียดแค้นมาตลอดอย่างที่กล่าวไปตอนแรก แล้วมาโดนดูถูกอีก รวมทั้งสวัสดิการที่เขาได้รับก็อาจจะเสียไปถ้าทักษิณไม่อยู่ สุดท้ายเลยเป็นแรงผลักดันที่ต่างกันครับ สำหรับคำถามนี้ ผมไม่ได้ศึกษาลงไปในเหตุการณ์จริงๆ แล้วก็ความทรงจำจริงๆ ผมเลยตอบไม่ได้ชัดเจน
7. ระบบการศึกษาในปัจจุบันทำให้เรารับรู้และเข้าใจประวัติศาสตร์ของทั้งสองเหตุการณ์นี้ รวมถึงเหตุการณ์ทางการเมืองอื่นๆ อย่างไรบ้าง
แซก: ไม่มีเลย ในหนังสือสังคมศึกษา ม.6 เล่าถึงเหตุการณ์เหล่านี้แค่ครึ่งหน้ากระดาษเอสี่แล้วก็จบเลย แซกมองว่าทุกอย่างที่คนในสังคมรู้ ทุกอย่างที่คนในสังคมเห็น หรือแค่เด็กที่ยังอยู่ในระบบการศึกษา เขาเห็นเขาเรียนรู้จากนอกห้องเรียนทั้งนั้น มีบ้างสำหรับครูบางคนที่สนใจในเรื่องพฤษภาทมิฬหรือการปราบปรามคนเสื้อแดงมากๆ แต่ทั้งหมดก็ไม่เคยอยู่ในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาฯ เขาไม่เคยเอามาตีแผ่ให้ทุกคนรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นจริงๆ ถ้าถามว่าระบบการศึกษาทำให้เรารู้เรื่องนี้จริงไหม แซกตอบเลยว่า ไม่ครับ ไม่เลย
น่าสนใจว่าทำไมในโรงเรียนเอกชนเขาสามารถสอนเหตุการณ์พวกนี้ได้ ผมมองว่าเขาไม่ได้มีกลไกที่ซับซ้อนแบบโรงเรียนรัฐ แซกขอไม่เอ่ยชื่อโรงเรียนแล้วกัน แต่ว่าเขามีการสอนประวัติศาสตร์แบบนี้เป็นวิชาเลือกในโรงเรียนเอกชน อย่างไรก็ตามมันก็ยังอยู่ในหมวดวิชาเลือกของโรงเรียนเอกชนเท่านั้น ผมว่าน่าจะดีถ้าอนุญาตให้เรื่องพวกนี้เข้าไปในระบบการศึกษา แล้วให้เด็กๆ ทุกคนได้เรียนรู้อย่างเท่าเทียมกัน
โอ๊ต: ถ้าเป็นในระดับมหาวิทยาลัยผมว่าไม่มีปัญหาอะไรหรอก เพราะเขาก็สอนกัน แต่ในระดับประถม มัธยมอะไรแบบนี้ มันก็มีปัญหานะ ถ้าผมจำไม่ผิดคือตอนผมเรียน เหมือนจะไม่เคยพูด ไม่ก็พูดนิดเดียว ซึ่งตามจริงก็ควรเอามาตีแผ่ให้เห็นว่ามันเกิดอะไรขึ้น แล้วชนวนของปัญหาคืออะไร ให้เด็กเรียนรู้ไปเถอะ มันไม่เป็นปัญหาอะไรหรอก ปัญหาพวกเนี้ย
8. ทั้งการออกมาของคนเสื้อเหลือง – เสื้อแดง และการชุมนุมของมวลชนช่วงพฤษภามหาโหด ต่างก็คือการออกมาใช้สิทธิ์ในการเรียกร้องตามระบอบประชาธิปไตย แต่บางครั้งรัฐก็มองเหตุการณ์เหล่านี้ว่าเป็น สถานการณ์ที่สร้างความไม่สงบให้บ้านเมือง หลายครั้งจึงนำมาสู่ความพยายามที่จะยุติสถานการณ์ ทั้งสองมีความเห็นอย่างไรกับประเด็นนี้
แซก: แซกว่ารัฐบาลมีสิทธิ์มองแบบนั้นนะ พวกเขามีสิทธิ์ในการประเมินสถานการณ์ของบ้านเมืองได้ และเขาก็มีสิทธิ์ในการปราบปราม แต่เขาไม่มีสิทธิ์ในการใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุมเกินกว่าเหตุ หมายถึงว่าทำให้มีผู้บาดเจ็บ หรือบาดเจ็บสาหัส
โอ๊ต: การจัดการความไม่สงบตามจริงเป็นเรื่องปกตินะ เพราะเราไม่รู้เลยว่าถ้ามีการชุมนุมแล้ว อาจจะเลยเถิดจนเกิดสิ่งที่ไม่คาดคิดก็ได้ แต่ว่ามาตรการการจัดการกับการชุมนุม ผมมองว่าถ้าเป็นไปได้ก็คือควรทำให้มันเบามือที่สุด แล้วก็รับฟังข้อเรียกร้องของผู้เรียกร้องว่าเขาต้องการอะไร อย่าให้เลยเถิดไปจนเกิดการสูญเสียก็พอครับ อย่างไรก็ตาม ต้องมองระดับของม็อบด้วยนะครับ ถ้ามาแบบม็อบขนาดใหญ่ที่อาจจะนำไปสู่ความสูญเสียที่มากขึ้นอย่างที่กล่าวไป จนอาจนำไปถึงขั้นสงครามกลางเมืองแบบเสื้อเหลือง – เสื้อแดง ก็ต้องมีการควบคุมดีๆ ถ้าม็อบระดับเล็กๆ ก็อาจจะไม่ต้องกังวลอะไรมาก
แต่ที่อยากฝากไว้คือ ผู้มีอำนาจควรตระหนักให้ได้ว่าการที่เกิดสภาวะที่คนมารวมตัวกันขนาดนั้น แสดงว่าระบบการเมืองขณะนั้นมีปัญหาใช่หรือไม่ ดังนั้นพวกเขาก็ต้องไปแก้ที่ต้นเหตุ ว่ามันเกิดอะไรขึ้น แล้วไปแก้ไขที่จุดนั้น ง่ายที่สุดคือการเปิดใจรับฟังข้อเรียกร้องอย่างเข้าใจและเห็นใจ แต่ส่วนมากพวกเขาชอบแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ อย่างการทำรัฐประหารไปเลย
9. มีอะไรอยากฝากไหม ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในสังคมที่มีความคิดเห็นทางการเมืองหลากหลาย
แซก: ผมรู้สึกว่าเรามีความหวังนะ เด็กรุ่นใหม่หลายๆ คน มีการคิดวิเคราะห์ที่น่าสนใจมากขึ้น ทุกคนรู้สึกอยากจะแก้ไขประเด็นสังคมกันมากขึ้น แต่ว่าอย่างที่พูดไปเมื่อหลายๆ คำถามที่ผ่านมาว่า ทุกคนพยายามจัดการทุกอย่างอยู่คนเดียว
สมมติเราแก้ปัญหาเรื่องการศึกษา จริงๆ แล้วมันมีก้อนปัญหาเล็กๆ เต็มไปหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นก้อนมัธยม ก้อนครูตีเด็ก ก้อนเคารพสิทธินักเรียน แต่เท่าที่เห็นทุกวันนี้ หลายคนพยายามจะจับทุกอย่างวางในม็อบหนึ่งม็อบ ตอนนี้มันเป็นประมาณว่า เราคนเดียวต้องทำทุกอย่าง ทั้งหลักสูตรด้วย ทำม็อบด้วย ทำเรื่องทรงผมด้วย ผมเห็นว่าทุกคนสามารถทำเรื่องที่ตัวเองอินแล้วทำอย่างอื่นไปพร้อมกันได้ ด้วยการเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย แซกมองว่าเรื่องนี้ยังขาด และมองว่าเด็กรุ่นใหม่พยายามทำกันมากขึ้นเยอะเลย และก็รู้สึกว่ามีความหวัง ฉะนั้น เป็นตัวเอง แล้วก็อย่าลืมที่จะสื่อสารซึ่งกันและกัน แล้วก็ผลักดันสังคมไปด้วยกันครับ
โอ๊ต: การเมืองไทยที่ผ่านมาตลอด มีปัญหาใหญ่ๆ อยู่สองเรื่อง อย่างแรกคือเรื่องที่ว่าระบอบการเมืองการปกครองไม่ลงตัวสักที เราอาจจะใช้กรอบการปกครองระบอบผสมมาใช้แก้ปัญหาการเมืองไทยได้อย่างที่เคยบอกไปครับ เพราะว่าในช่วงที่ผ่านมามักจะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอำนาจที่เกินดุลเสมอ ไม่ว่าจะเป็นนายก ไม่ว่าจะเป็นคณะทหาร แต่อำนาจของประชาชนยังน้อยอยู่ ฉะนั้น เราก็อาจจะเพิ่มอำนาจประชาชนเข้าไปให้ใกล้เคียงกับส่วนอื่นๆ นะครับ
ส่วนที่สองคือ ปัญหาเรื่องของการผูกขาดความหมาย ในช่วงที่ผ่านมา จะมีคนกลุ่มหนึ่งบอกว่า ที่เราออกมาทำแบบนี้คือการมาทำความดีนะ แล้วกลุ่มฉันก็เป็นคนดี ทำแบบนี้คือความดี อะไรที่ไม่ใช่แบบที่พวกเราทำคือสิ่งไม่ดี เราต้องระวังไม่ให้เกิดการผูกขาดนิยามความหมายว่าอะไรคือความดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผูกติดนิยามว่าอะไรคือประชาธิปไตยด้วย เพราะทุกวันนี้ก็มีคนบางกลุ่มที่พยายามชี้นิ้วไปหาอีกฝ่ายว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ดังนั้นเราต้องทำให้เกิด ‘ความโอบอ้อมอารีทางภาษา’ ก่อน ซึ่งความโอบอ้อมอารีทางภาษานี้จะนำไปสู่การแลกเปลี่ยนความทรงจำที่จะทำให้เกิดการยอมรับซึ่งกันและกันได้ มันจะทำให้เกิดความหลากหลายทางเรื่องเล่า เพราะถ้าเราเชื่อว่าประวัติศาสตร์เป็นของทุกคน ไม่ได้มีเรื่องเล่าอะไรที่สามารถนำมาเล่าได้แบบเดียวนี่ เราก็ควรไม่เชื่อเรื่องเล่าอะไรเรื่องเดียว เราต้องทลายกรอบนี้ไปก่อนครับ ประวัติศาสตร์คือการที่ผู้สำรวจซึ่งอาจจะเป็นปัจเจกบุคคล มองเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยแว่นตาที่เขามี แล้วประกอบสร้างเป็นเรื่องราว ดังนั้นต้องไม่ลืมว่าแว่นตาของแต่ละคนมันมีหลายแบบ เรื่องเล่าที่ออกมาจากแว่นตาที่แตกต่างกันก็ประกอบสร้างเรื่องเล่าออกมาคนละแบบครับ
ที่เห็นได้ชัดคือจากงานวิจัย ‘ทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย’ ที่ผมพูดไป เขาก็ได้ศึกษามา ว่าคนเสื้อเหลืองเขาเข้าใจประชาธิปไตยแบบหนึ่ง คนเสื้อแดงความเข้าใจประชาธิปไตยอีกแบบหนึ่ง แต่อย่างไรก็ตาม ทั้งสองกลุ่มนี้ก็มีความเป็นประชาธิปไตยเหมือนกัน แต่มันเป็นประชาธิปไตยความหมายที่แตกต่างกัน คำถามคือ เราจะทำอย่างไรให้ความหมายที่ล่องลอยอยู่ในสังคมซึ่งมีหลากหลายมากมารวมให้ ‘สมานฉันท์’ ได้ โดยที่เราไม่เอาความหมายใดความหมายหนึ่งไปผูกติดกับอัตลักษณ์ หรือสารัตถะที่มันแข็งทื่อ สุดท้ายจะทำให้เกิดการพูดคุยประวัติศาสตร์ในแง่หลายมุมมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของประวัติศาสตร์บาดแผล และที่มีความหวังที่สุดคือ สุดท้ายมันจะทำให้เกิดการให้อภัย ที่ไม่ใช่การลืมได้ครับ
กลุ่มที่สอง
ภูมิ – คณพศ แย้มสงวนศักดิ์ (นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 4 หนึ่งในตัวแทนฝังหมุดคณะราษฎร บริเวณสนามหลวงเมื่อปี 2563 ภูมิเป็นนักกิจกรรมที่มีแนวคิดเชิงสังคมนิยม สนใจการเมืองแบบประชาธิปไตยทางตรง ต้องการขับเคลื่อนปัญหาเชิงโครงสร้างในสังคมไทย และอยากเห็นสังคมที่คนเท่ากันอย่างเเท้จริง)
เพชร – ธนภัทร ศิริสาการ (นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ และเป็นนักศึกษาที่มีผลการเรียนดีเด่น 2 ปีซ้อน เพชรสนใจการเมือง และนิยามตัวเองว่าเป็นมนุษย์ธรรมดาผู้หลงใหลในศาสตร์แห่งจิตวิเคราะห์กับความพยายามในการทำความเข้าใจและค้นหาตัวตนเบื้องลึกเงามืดของจิตใจตนเอง)
1. คิดเห็นอย่างไรกับการขึ้นรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของพลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้บัญชาการทหารบก และคณะผู้ก่อการรัฐประหาร ที่ตอนแรกกล่าวว่าจะไม่รับตำแหน่งใดๆ ทางการเมือง
ภูมิ: ผมมองว่าเป็นเรื่องปกติของผู้มีอำนาจในสังคมไทยทุกคน ที่มักไม่รักษาคำพูด (หัวเราะ) ทั้งหมดเป็นเกมการเมืองของผู้มีอำนาจที่จะเสียสัตย์อยู่แล้ว ง่ายๆ คืออย่าไปเชื่อผู้มีอำนาจ ประกอบกับที่ประเทศไทยไม่ได้มีประชาธิปไตยเต็มใบตั้งแต่แรก กองทัพเข้ามาฉีกรัฐธรรมนูญอ้างว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้งมีปัญหา แล้วก็เขียนรัฐธรรมนูญฉบับของตัวเองขึ้นมา จากนั้นก็ประกาศใช้ พอมีคนเห็นปัญหาก็เรียกร้องให้แก้ไขจุดที่ประชาชนคิดว่าเป็นการสืบทอดอำนาจของกองทัพ ก็เกิดความวุ่นวายจากการพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจ แล้วก็มีกลุ่มคนใหม่เข้ามารัฐประหารเพราะอ้างว่าเกิดความไม่สงบ มันเป็นอย่างนี้วนเรื่อยๆ เหล่านี้คือความไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบของประเทศไทย
เพชร: แน่นอนว่าไม่เห็นด้วย เนื่องจากคุณไม่ได้มาจากอำนาจที่ชอบธรรม ไม่ได้มาจากประชาชนโดยตรง คุณเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อเป็นเครื่องมือให้ตัวเอง อย่างการให้ ส.ว. ที่แต่งตั้งโดยกลุ่มผู้ก่อการรัฐประหารเองสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ ส่วนตัวมองว่าทั้งหมดเป็นการที่พลเอกสุจินดาพยายามจะรักษาฐานอำนาจของเขาหลังจากการทำรัฐประหาร เป็นการชุบตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตยจากกระบวนการเลือกตั้งที่พวกเขาเป็นคนเขียนกติกาเองเท่านั้น
2. นักวิชาการบางส่วนเห็นเป็นเสียงเดียวกันว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ปีพุทธศักราช 2534 ที่เขียนขึ้นหลังจากการก่อการรัฐประหารของ รสช. เพื่อใช้ในการเลือกตั้งในปี 2535 เป็นรัฐธรรมนูญที่สืบทอดอำนาจของกลุ่มผู้ก่อการรัฐประหการ เช่น มีการบัญญัติไว้ว่า ส.ว. ต้องมาจากการแต่งตั้ง หรือบัญญัติไว้ว่าให้ประกาศหรือคำสั่งใดๆ ของ รสช. มีผลบังคับใช้ต่อไป ทั้งสองคนเห็นว่าอย่างไร
เพชร: มันมีความคล้ายกับสถานการณ์การเมืองปัจจุบันมาก ในตอนนั้น ส.ว. ก็มาจากการแต่งตั้ง แถมยังมีอำนาจเทียบเท่า ส.ส. อีกอย่างคือนายกไม่จำเป็นที่ต้องเป็น ส.ส. ด้วย
ภูมิ: ทั้งหมดมันสะท้อนภาพว่าการเมืองไทยยังวนอยู่เหมือนเดิม พูดตามจริงคนเขียนรัฐธรรมนูญฉบับนู้นกับฉบับปัจจุบันก็เป็นคนเดิมๆ หนึ่งในคณะกรรมการที่มีส่วนในการร่างรัฐธรรมนูญในปี 2535 และรัฐธรรมนูญปัจจุบันคือคนเดียวกัน คือนายมีชัย ฤชุพันธ์ พอคนเขียนรัฐธรรมนูญคนเดิม ปัญหาเดิมๆ ก็วนกลับมาเป็นวงจร วิธีการแก้คือแก้ที่ต้นตอ ซึ่งต้นตอในที่นี้ก็หนีไม่พ้น สถาบันบางสถาบันของสังคมที่มีความยึดโยงกับกลุ่มทุนใหญ่ สถาบันทางสังคมนั้นเขาไม่ต้องแคร์ประชาชนมากมาย เพราะยังไงเขาก็ได้เงินจากกลุ่มทุนเหล่านั้นในการใช้จ่ายอยู่แล้ว
น่าสังเกตว่าการที่นายทุนใหญ่ในประเทศไทยมักจะผูกขาดสินค้าไว้ที่ตัวเองได้ก็เพราะเขามีเส้นสายตรงนี้ ถ้าเปรียบเทียบกับต่างประเทศอย่างสหรัฐฯ เขามีกฎหมายป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาดกลุ่มทุนที่มีเสถียรภาพมาก ผมว่าจริงๆ ประเทศไทยก็ป้องกันการผูกขาดแบบสหรัฐฯได้ ถ้าจะทำ แต่มีอำนาจบางอย่างที่ทำให้การผูกขาดยังคงอยู่ ถ้ามองจริงๆ การจะปฏิรูปใดๆ ก็ตามในประเทศนี้ผมมองว่าต้องเริ่มที่การจัดระเบียบกลุ่มทุน ทำให้ประชาชนมีอำนาจมากพอที่จะต่อรองกับกลุ่มทุนเหล่านั้น เพราะกลุ่มทุนถือเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้บางสถาบันในสังคม ถ้ากลุ่มทุนสะเทือน สถาบันนั้นก็ต้องสะเทือน สิ่งที่ผมเสนอคือการทำให้สหภาพแรงงานแห่งประเทศไทยกลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง ให้แรงงานทุกคนพร้อมใจกันออกมาประท้วงหยุดงาน หรือแม้กระทั่งหยุดเรียน ถ้าทำสิ่งที่บอกมาทั้งหมดได้ เสียงของประชาชนอาจจะถูกรับฟังอีกครั้ง หากนายทุนรับฟังเสียงผู้ใช้แรงงานมากขึ้น ก็น่าจะส่งผลให้เกิดการสั่นสะเทือนถึงสถาบันที่ยึดโยงกับกลุ่มทุนดังกล่าว ที่พูดมาทั้งหมด…ส่วนตัวผมคิดว่ารัฐสภาไทยในปัจจุบันไม่ฟังก์ชัน ฝ่ายค้านทำอะไรไม่ได้ ดังนั้นการร่วมใจกันหยุดเรียน หยุดงานประท้วงน่าจะเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในตอนนี้
เพชร: เห็นด้วย ในช่วงปี พ.ศ. 2500 ยุคของจอมพลสฤษดิ์มีการรื้อฐานความคิดเกี่ยวกับสถาบันที่ภูมิเล่ามาทั้งหมดกลับมา ถ้าจะแก้ที่ต้นตอของปัญหาเราต้องกลับไปดูว่า ด้านบนเขาทำอะไรกัน มีผลประโยชน์ร่วมกันอย่างไร ซึ่งการจะรับรู้เช่นนั้นได้มันคือการทำให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด (democratization) ก็คือทุกอย่างต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ เช่นเปิดในเว็บไซต์ของทางการแล้วได้ข้อมูลทุกอย่าง ซึ่งค่อนข้างเป็นแนวคิดที่เป็นอุดมคติในประเทศไทย และเมื่อก็เห็นด้วยกับภูมิว่าเอกภาพพรรคการเมืองในปัจจุบันมีน้อยมาก การจะแก้ไขปัญหาผ่านกระบวนวิธีทางตามระบบอย่างรัฐสภาดูเป็นเรื่องที่ยังไกลความเป็นจริงอยู่ คงจะต้องอาศัยพลังภายนอก อย่างมวลชนกลุ่มต่างๆ กลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ มาร่วมกดดันอีกทางหนึ่ง น่าจะเป็นวิธีที่ช่วยผลักให้เกิดการขับเคลื่อนได้ไม่มากก็น้อย
3. มีภาพจำหรือรับรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี 53
เพชร: ภาพจำเกี่ยวกับคนเสื้อแดงในตอนนั้นดูเป็นภาพของความรุนแรง เผาบ้านเผาเมือง เพราะความคิดเราถูกหล่อหลอมมาอย่างนั้น ทั้งจากสื่อและครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อมวลชนที่น่าจะเป็นตัวการหลัก เป็นสะพานเชื่อมระหว่างรัฐกับประชาชน เราไม่รู้ว่าสื่อมีเสรีภาพแค่ไหน แต่เราคิดว่าในตอนนั้นสื่อน่าจะเป็นกระบอกเสียงให้ผู้มีอำนาจ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีหลายคนต้องการให้สื่อรายงานทุกอย่างผ่านการถ่ายทอดสดโดยไม่ปิดกั้นใดๆ แต่เรามองว่าการรายงานสถานการณ์ความขัดแย้งก็ควรมีข้อจำกัด เพราะถ้าเปิดเสรีภาพมากเกินไป ก็ต้องมีราคาที่ต้องจ่ายเช่นเดียวกัน และเสรีภาพนั้นต้องไม่ไปสร้างความขัดแย้งอื่นๆ ให้สังคม เช่น ประเด็นที่มีความละเอียดอ่อนซึ่งอาจก่อให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เป็นต้น ส่วนตัวมองว่าต้องมีกลไกอะไรบางอย่างมาตรวจสอบและคัดกรองอีกทีหนึ่ง แต่กลไกนั้นต้องเป็นกลไกที่ยุติธรรมมากพอที่ทำให้สื่อไม่ขาดเสรีภาพในการนำเสนอความจริง แต่ยังไงก็ต้องไม่ลืมว่า ต้องให้พื้นที่ของทั้งสองฝั่งเท่าๆ กัน
ภูมิ : ตอนนั้นอายุประมาณ 7-8 ขวบ ความรู้สึกจริงๆ คือ งง เพราะว่าครูที่โรงเรียนเอาแต่พูดเรื่องไม่ดีเกี่ยวกับคนเสื้อแดง ผมได้แต่คิดว่าทำไมครูต้องเอาแต่พูดว่าคนเสื้อแดงเป็นคนไม่ดี แต่ยังดีที่ผมไม่ได้คล้อยตาม แค่เพียง งง ว่าทำไมทำไมครูต้องมาสอนเรื่องราวแบบนี้
4. ในเหตุการณ์การปราบปรามคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 มีการใช้กระสุนจริงเกิดขึ้น จำเหตุการณ์นี้ได้หรือไม่และคิดเห็นอย่างไร
ภูมิ: มันผิดอยู่แล้ว ไม่มีความชอบธรรมที่จะใช้กระสุนจริงสังหารประชาชนด้วยเหตุผลทางการเมือง ไม่ว่าจะประเทศไหน เพราะคนเสื้อแดงไม่มีอาวุธ* พวกเขาไม่ได้เป็นผู้ก่อการร้าย เหตุการณ์เหล่านั้นไม่ควรเกิดขึ้น ในกรณีที่มีคนบอกว่ามีชายชุดดำเข้ามาใช้อาวุธกับเจ้าหน้าที่รัฐก่อน ผมมองว่าเราไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามวลชนชุดดำคือคนของฝ่ายไหน ไม่ใช่เหมารวมว่ากลุ่มคนชุดดำเพียงไม่กี่คนคือตัวแทนของมวลชนทั้งหมด ผมอยากให้มองจุดประสงค์ของม็อบมากกว่า ถ้าม็อบก่อการร้าย อันนี้รัฐมีความชอบธรรมที่จะใช้ความรุนแรง แต่ถ้าม็อบเป็นลุงๆ ป้าๆ มาเรียกร้อง รัฐไม่ควรกระทำการแบบนั้น
เพชร : แน่นอนว่าไม่ควรอยู่แล้วในฐานะที่รัฐเป็นผู้ผูกขาดความรุนแรงแต่เพียงผู้เดียว รัฐมีกำลังและมีอาวุธ รัฐไม่ควรใช้อาวุธที่ตัวเองมีกับประชาชนของตัวเอง อย่างน้อยผู้มีอำนาจก็ต้องเน้นความปลอดภัยให้ได้มากที่สุด และใช้ความรุนแรงให้น้อยที่สุด และแม้ว่าจะมีการอ้างเรื่องการใช้ความรุนแรงเนื่องจากมีชายชุดดำใช้อาวุธกับเจ้าหน้าที่รัฐก่อน ส่วนตัวมองว่าความรุนแรงไม่ควรเป็นความชอบธรรมของรัฐในการปฏิบัติต่อประชาชนของตัวเอง มีวิธีอื่นร้อยแปดประการที่เขาจะเลือกทำได้ นอกจากหยิบปืนไปยิง แต่ทำไมเขาถึงเลือกที่จะใช้ความรุนแรง ง่ายที่สุดที่จะป้องกันไม่ให้เกิดความสูญเสียคือ การรับฟังข้อเรียกร้องของม็อบอย่างเข้าใจ
5. เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้คนเสื้อแดงส่วนหนึ่งมีภาพจำเชิงลบกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น แล้วทั้งสองคนคิดเห็นอย่างไร
ภูมิ: ผมคิดว่าเป็นเพราะภาพลักษณ์ของเขาที่ถูกนำเสนอโดยสื่อมีส่วนพอสมควร พอสื่อให้พื้นที่ บางคนที่ไม่สนใจการเมืองก็จะเข้าใจแบบที่สื่อนำเสนอ ซึ่งโดยส่วนตัวเรามองว่าอภิสิทธิ์ไม่ควรมีพื้นที่ในพรรคไหนๆ หรือการเมืองไทยด้วยซ้ำ
เพชร : เรามองว่าเขาไม่ได้ดี เขาควรจะแสดงสปิริตในฐานะที่เป็นคนออกคำสั่ง เป็นนายกรัฐมนตรีขณะนั้น รวมถึงเป็นนักการเมืองด้วย ควรแสดงสปิริตของตัวเองในสิ่งที่กระทำลงไป ควรออกมารับผิดชอบ แต่หนึ่งเหตุผลที่ทำให้เขายังมีภาพลักษณ์ในเชิงบวกในสังคมก็ด้วยเพราะเขาเรียนจบออกฟอร์ด มีความสามารถ พูดจาน่าฟัง หน้าตาดี รวมถึงสื่อก็ให้พื้นที่เขาด้วย
6. ในปฏิทินการเมืองช่วง พ.ศ. 2549 – พ.ศ. 2553 มีการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเสื้อเหลืองและเสื้อแดง ทว่าหากพิจารณาจากวิธีการสลายการชุมนุมของรัฐต่อคนทั้งสองกลุ่ม จะพบว่ามีความแตกต่างกันอยู่บ้าง ทั้งสองมีความเห็นต่อประเด็นนี้อย่างไร
เพชร : ผลประโยชน์และฐานอำนาจของรัฐบาลนั้นๆ พูดง่ายๆ ก็คือผลประโยชน์ของมวลชนบางกลุ่มไปสอดคล้องกับผลประโยชน์ที่รัฐเขาต้องการรักษาเอาไว้ เลยนำมาซึ่งการปฏิบัติที่แตกต่างกัน อย่างในกรณีของปี 2553 มีบุคคลที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับอำนาจปีกของคุณอภิสิทธิ์ไปงานศพของผู้ชุมนุมฝ่ายพันธมิตร เราจะเห็นภาพสัญญะต่างๆ ที่เกิดขึ้นทางการเมืองเหล่านี้ ซึ่งสะท้อนภาพความสัมพันธ์บางอย่างที่อยู่เบื้องหลัง ขึ้นอยู่กับว่าผลประโยชน์หรือข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมไปด้วยกันกับความต้องการของผู้มีอำนาจไหม ถ้าไปได้เขาก็มักจะปฏิบัติด้วยอย่างเป็นมิตร
ภูมิ: การกระทำของรัฐในจุดนี้ค่อนข้างไม่สมเหตุสมผล ถ้าย้อนมาดูปัจจุบันรัฐก็ยังทำเหมือนเดิม เปรียบเทียบการชุมนุมของกลุ่มไทยภักดี กับการชุมนุมของคณะราษฎร 2563 รัฐปฏิบัติแตกต่างกันชัดเจน
7. ระบบการศึกษาในปัจจุบันทำให้เรารับรู้และเข้าใจประวัติศาสตร์ของทั้งสองเหตุการณ์นี้ รวมถึงเหตุการณ์ทางการเมืองอื่นๆ อย่างไรบ้าง
ภูมิ: ในกรณีของโรงเรียนเอกชน เขาสามารถทำหนังสือ ทำบทเรียนขึ้นมาเองได้โดยไม่ต้องใช้หนังสือของกระทรวงศึกษาฯ แต่ถ้าเป็นหนังสือโรงเรียนรัฐบาล เนื้อหาจะน้อยมากๆ อย่างประวัติศาสตร์ที่มีเนื้อหา 10 ปี ในหนังสือมีแค่ 1 บรรทัด อีกอย่าง วิชาสังคมหน่วยกิตน้อยมากๆ จนบางทีครูเลยไม่ได้สอนบางบทเรียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผมคิดว่ากระทรวงศึกษาธิการเขียนประวัติศาสตร์เอียงมาทางผู้มีอำนาจเยอะอยู่แล้ว เขาบรรจุเนื้อหาอาณาจักรอยุธยา เขียนไล่มาทั้งหมดละเอียดมาก ทั้งๆ ที่รัฐไทยเกิดในสมัยรัชกาลที่ 1 แต่เหตุการณ์ทางการเมือง เหตุการณ์ความขัดแย้งของสองปีกอำนาจกลับไม่มีเลย สุดท้ายหลักสูตรก็เอียง คนสอนก็เอียง ทำให้การเรียนการสอนประวัติศาสตร์และสังคมไทยกลายเป็นอะไรไปแล้วไม่รู้ เลยส่งผลให้เด็กยุคนี้แทบจะไม่รู้ประวัติศาสตร์ตามจริงเลย
เพชร: มีความเห็นในทางเดียวกัน ถ้ามองจากประสบการณ์ส่วนตัว บทเรียนในประวัติศาสตร์ เหตุการณ์ทางการเมืองมักไม่ถูกบรรจุในชั้นเรียน ถ้ามีก็นิดเดียว และมักเป็นเชิงเล่าข้อเท็จจริงแบบเติมคำมากกว่า ในเนื้อหามักไม่ชวนคิดถึงสาเหตุและชนวนของปัญหา ซึ่งเป็นข้อเสียของการศึกษาไทยที่ไม่ทำให้เกิดทักษะการคิดแบบวิพากษ์ในนักเรียน หรือที่แย่ไปกว่านั้นบางเนื้อหาก็ถูกปรับให้เข้ากับอุดมการณ์ความเชื่อของรัฐเอง เช่น ปฏิวัติสยาม 2475 ที่ว่ารัชกาลที่ 7 เป็นคนพระราชทานรัฐธรรมนูญให้ ซึ่งถ้ามองอีกแง่หนึ่งมันคือการที่คณะราษฎรกับผู้นำของฝ่ายอนุรักษ์ณนิยมเป็นคนเขียนรัฐธรรมนูญฉบับนั้นแล้ว ‘ยกขึ้นถวาย’ แต่ในหนังสือเรียนกลับเลือกใช้คำว่า ‘พระราชทาน’ เพื่อสื่อว่า รัชกาลที่ 7 กำลังจะให้ ไม่ใช่คณะราษฎรเป็นคนยกขึ้นถวาย เหล่านี้ถูกมองได้ว่าการศึกษาทำให้เราซึมซับอุดมการณ์ของรัฐ ถ้าในมุมมองของอาจารย์ธงไชย วินิจจะกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาจมองได้ว่าเป็นการเขียนประวัติศาสตร์แบบ ‘ราชาชาตินิยม’ ที่เน้นบทบาทของกษัตริย์มากกว่าประชาชน
8. ทั้งการออกมาของคนเสื้อเหลือง – เสื้อแดง และการชุมนุมของมวลชนช่วงพฤษภามหาโหด ต่างก็คือการออกมาใช้สิทธิ์ในการเรียกร้องตามระบอบประชาธิปไตย แต่บางครั้งรัฐก็มองเหตุการณ์เหล่านี้ว่าเป็น สถานการณ์ที่สร้างความไม่สงบให้บ้านเมือง หลายครั้งจึงนำมาสู่ความพยายามที่จะยุติสถานการณ์ ทั้งสองมีความเห็นอย่างไรกับประเด็นนี้
ภูมิ : มันสะท้อนว่ารัฐไทยพยายามปิดกั้นการถกเถียงในสังคมมาตลอด ยิ่งด้วยแนวคิดประชาธิปไตยในไทยย่ำแย่พอสมควร ทำให้รัฐไทยพยายามปิดกั้นเรื่องเหล่านี้ อย่างที่อังกฤษมีการไฮปาร์คให้สองฝ่ายเกิดการถกเถียง ส่วนรัฐไทยมองว่าการชุมนุมไม่ควรเกิดขึ้น จึงมักออกกฎหมายเพื่อควบคุมการชุมนุม
เพชร : เรามองว่าเป็นปฏิบัติการทางภาษาแบบหนึ่ง ถ้ามองผ่านมุมโครงสร้างนิยม (structuralism) หรือแนวคิดที่เชื่อว่าสังคมประกอบด้วยระบบ โครงสร้าง กฎระเบียบที่แน่นอนตายตัว เราก็จะตั้งคำถามว่าการชุมนุมที่รัฐมองว่าเป็นภาวะฉุกเฉิน ใครมองว่าฉุกเฉิน มันเป็นความพยายามที่รัฐจะทำให้ ‘คนอื่น’ กลายเป็น ‘ผู้ร้าย’ ส่วน ‘ตัวเอง’ เป็น ‘พระเอก’ ใช่หรือไม่ ทั้งหมดเรามองว่าเป็นปฏิบัติการทางภาษาที่จะทำให้เกิดการรักษาอำนาจอันชอบธรรม เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่ารัฐไทยไม่ชอบการชุมนุม เพราะทำให้การบริหารถูกตั้งคำถาม เกิดความสั่นคลอนไม่มั่นคงขึ้น
ถ้าพูดถึงประเด็นไฮปาร์ค ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยเคยมีในช่วงจอมพลป. พิบูลสงครามสมัยที่สองที่มีการเปิดไฮปาร์คให้ประชาชนมาแสดงความคิดเห็นต่างๆ แต่พอมีคนออกมามากๆ กลายเป็นว่าประชาชนมาด่าทอคนเปิดไฮปาร์คแทน จอมพลป. ในตอนนั้นจึงไม่ชอบ เลยสั่งปิดและประกาศเป็นสภาวะฉุกเฉิน จอมพลป. อาจจะมองว่ามันเป็นเหมือนเป็นดาบสองคมที่ทิ่มตัวเอง
9. มีอะไรอยากฝากไหม ในฐานะคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในสังคมที่มีความคิดเห็นทางการเมืองหลากหลาย
ภูมิ: ที่ผ่านมาพวกเราพยายามคอมโพรไมซ์ (ประนีประนอม) มาก ทั้งยื่นรายชื่อ ส่งเอกสาร ทำทุกอย่างแล้ว ตอนนี้เหตุการณ์ทางการเมืองไทยถึงจุดแตกหัก และจริงๆ ผมเชื่อว่ามันแตกหักมาตั้งแต่กรณียุบพรรคอนาคตใหม่แล้ว ในปัจจุบันการชุมนุมก็ถึงจุดแตกหักเพราะมีคนถูกฝากขังรัวๆ ใช้กระสุนยางใช้บ่อยขึ้น ผู้ชุมนุมเริ่มถอดใจ และยังมีปัญหาทางการขับเคลื่อนด้วย เพราะการชุมนุมไม่ทำให้เกิดความสามัคคีทำให้ แรงของการชุมนุมเริ่มแผ่วลง อยากจะฝากว่าการที่เราจะชนะได้เราต้องนัดหยุดงาน มีสหภาพแรงงานที่มีความเข้มแข็ง เราต้องหยุดการต่อสู้แบบตัวใครตัวมัน ทั้งหมดมันไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียว เราต้องสามัคคีเป็นหนึ่งอันเดียว หยุดทำงาน หยุดเรียน ไปประท้วงสักหนึ่งแสนคน หมอหยุดรักษา เราสไตรค์สัก 2-3 อาทิตย์ ถ้าเราทำจริงๆ เราชนะแน่นอน ทั้งหมดผมคิดว่าเป็นการสร้างอำนาจต่อรองที่ดีที่สุด
อีกอย่างที่อยากฝากคือ เราต้องมองว่าทุกคนเป็นคนเท่ากัน ต่อให้เขาเป็นฝั่งตรงข้ามก็ตาม เราต้องเข้าใจว่าทั้งสองฝั่งก็เปิดรับข้อมูลที่ตัวเองอยากฟังเป็นส่วนมาก ทั้งสองฝ่ายมีวิธีคิดเป็นของตัวเอง ผมคิดว่าทั้งสองฝ่ายต้องพยายามรู้เท่าทันมายาคติของตัวเอง แล้วพยายามเข้าใจว่าทำไมฝั่งนั้นคิดแบบนั้น เข้าใจมุมมองของกันและกัน อย่าไปติดป้ายว่าอีกฝ่ายเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ผู้มีอำนาจแค่ 1% แต่เราประชาชน ถ้ามีความสามัคคีกัน เราจะเป็น 99% ที่เหลือ
เพชร: ‘Thailand is the Land of Compromise’ เราอยู่ร่วมกันได้ เริ่มจากการเปิดใจ อยากให้มองว่าสังคมจะอยู่ร่วมกันได้ต้องเปิดใจและรับรู้ร่วมกันอย่างมีเหตุมีผล อย่าไปปิดกั้นคนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับเรา ยอมฟังเขาแม้เราจะไม่เห็นด้วยก็ตาม เคารพในความเห็นเขา เปิดใจรับในสิ่งที่เขาเป็น ไม่อยากให้แบ่งเขาแบ่งเรา ถ้ามองผ่านมุมมองของจิตวิเคราะห์ของคาร์ล กุสตาฟ จุง (Carl Gustav Jung) เขาแนะนำว่าให้เรายอมเรียนรู้ด้านมืดของตัวเองเพื่อที่จะสามารถยอมรับตัวเองได้ เราต้องยอมรับทั้งจิตสำนึก และจิตไร้สำนึกของตัวเองเพื่อที่จะก้าวข้ามจุดแบ่งทั้งสองลงไปยังก้นบึ้งของตัวเรา ยอมฟังในสิ่งที่เราไม่ยอมรับ แล้วจุดร่วมมันจะเกิดขึ้น
*เมื่อ 12 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมาเนชั่นสุดสัปดาห์รายงานว่า เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2555 คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) โดยมี นายคณิต ณ นคร เป็นประธาน แถลงรายงานการตรวจสอบความจริงจากเหตุการณ์ความรุนแรงในวันช่วงเมษายนถึงพฤษภาคม 2553 ว่า พบการใช้อาวุธและความรุนแรงทั้งจากฝ่ายผู้ใกล้ชิดกับแกนนำของผู้ชุมนุม และเจ้าหน้าที่ของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินหรือ ศอฉ.