เรื่อง: นฤนดา จันทวงศ์
ภาพประกอบ: จุฑารัตน์ พรมมา
เมืองโคลัมบัส รัฐอินดิแอนา สหรัฐฯ ชายหนุ่มและเด็กสาวต่างวัยพบเจอกันด้วยความบังเอิญ
จิน (รับบทโดย จอห์น โช) ชายหนุ่มผู้มาเยือนจากอีกฟากหนึ่งของโลก เพื่อมาดูแลพ่อที่กำลังป่วยหนักเข้าขั้นโคม่าอย่างไม่เต็มใจนัก ส่วนเคซีย์ (รับบทโดย เฮลีย์ รู ริชาร์ดสัน) เด็กสาวที่อาศัยอยู่ที่นี่ตั้งแต่อายุสิบห้า เรียนจบมัธยมปลายมาได้ปีกว่าๆ แต่เธอเลือกที่จะทำงานเป็นบรรณารักษ์ในห้องสมุด รวมไปถึงการเป็นไกด์ด้านสถาปัตยกรรมให้กับนักท่องเที่ยวแทนการเข้ามหาวิทยาลัยตามเพื่อน
ด้วยเหตุผลที่เธอมองว่ามันสำคัญต่อเธอและแม่
ท่ามกลางสถาปัตยกรรมล้ำสมัย (Modernism) ความเหงาที่เริ่มก่อตัวและแปรเปลี่ยนมาเป็นความเข้าอกเข้าใจกันระหว่างตัวละครหลัก ทำให้เราเริ่มต้นจดจ่อที่หน้าจอและรอคอยเพื่อเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในศิลปะภาพเคลื่อนไหวชิ้นนี้
โคโกนาดะ (Kogonada) ผู้กำกับสัญชาติเกาหลีใต้-อเมริกัน เราอาจจะไม่คุ้นหูชื่อผู้กำกับคนนี้มากเท่าไหร่นัก เพราะส่วนมากโคโกนาดะค่อนข้างถนัดไปทางวิดีโอสั้นๆ เสียมากกว่า ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียงแค่คลิปสั้น แต่งานของเขาก็เรียกได้ว่ามีองค์ประกอบศิลป์โดดเด่นไม่แพ้ผู้กำกับชื่อดังคนอื่นๆ จนสุดท้ายเมื่อความสามารถและไอเดียที่เต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง ทำให้โคโกนาดะได้สร้างสรรค์ภาพยนตร์อินดี้ชิ้นแรกอย่าง Columbus (2017) และเพียงแค่ปล่อยตัวอย่างหนังก็ทำให้นักวิจารณ์เทคำชมมากมาย
สิ่งที่ภาพยนตร์เริ่มกล่าวถึงคือประเด็นครอบครัว เริ่มจาก จิน ต้องเดินทางมาจากโซล เกาหลีใต้ เพราะพ่อของเขากำลังป่วยหนัก ส่วนเคซีย์ ต้องมาทำงานที่เธอมองหรืออาจจะคิดไปเองว่าเธอเหมาะสมกับสิ่งนี้แล้ว แม้ว่าจะมีคนยื่นข้อเสนอให้เคซีย์ไปจากเมืองโคลัมบัสเพื่อไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยที่โด่งดังในสาขาที่เธอสนใจอย่างสถาปัตยกรรม เพราะเห็นแววในตัวของเด็กสาว แต่เธอก็ปฏิเสธข้อเสนอนั้น เพราะเธอต้องการอยู่เคียงข้างแม่ คอยดูแลแม่ที่กำลังเข้ารับการบำบัดยาเสพติดอยู่ที่บ้าน เพราะเคซีย์คิดเสมอว่าสุขภาพของคนเป็นแม่สำคัญที่สุด นอกจากนี้ พ่อของจินยังเป็นอาจารย์ด้านสถาปัตย์ฯ ที่เคซีย์ชื่นชมและนับถืออีกด้วย
องค์ประกอบศิลป์ในภาพยนตร์ อย่างสิ่งก่อสร้างอันสวยงามและมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ในเมืองโคลัมบัส พร้อมกับสกอร์ของหนังค่อยๆ ตะล่อมความคิดที่ฟุ้งเตลิดไปไกลของเราให้กลับมาอยู่กับที่
มวนบุหรี่มวนแรกที่เคซีย์เป็นคนยื่นให้จินเพราะทั้งสองเจอกันที่รั้วบ้านของจินด้วยความบังเอิญ จินบอกว่า ขอโทษที่ต้องขอบุหรี่ (จากคนที่พึ่งเจอกัน) เพราะวันนี้ของเขาค่อนข้างหนักหน่วง หรืออาจจะทั้งปีเลยก็ได้ ทำให้คนดูอย่างเรารู้ว่า จินและพ่อของเขาไม่ค่อยลงรอยกันเท่าไหร่นัก ถึงแม้ว่าคนเป็นพ่ออาการเข้าขั้นวิกฤติ แต่จินก็ไม่เคยไปเยี่ยมพ่อที่โรงพยาบาลเลยแม้แต่ครั้งเดียว เพราะเขามองว่ามันไม่ยุติธรรมที่จะต้องไปดูแลพ่อ ในเมื่อพ่อไม่เคยแยแสเขาเลย
ตัวภาพยนตร์ไม่ได้บอกรายละเอียดมากกว่านั้น แต่ความอึดอัดที่ส่งผ่านโดยตัวละครหลักทำให้เราเดาได้ไม่ยากว่าปัญหาของทั้งคู่อาจหนักหนาเกินเยียวยาแล้วก็ได้
แต่ด้านของเคซีย์นั้นต่างไปอีกทางหนึ่ง เธอเป็นห่วงแม่ของเธอมาก คอยกลัวว่าจะเกิดอะไรไม่ดีกับแม่ของเธอ เด็กสาวได้บอกจินตอนที่ทั้งคู่ไปสูบบุหรี่ว่า เวลาที่ติดต่อแม่ไม่ได้หรือไม่รู้ว่าแม่ไปไหน เธอจะมายืนมองข้างนอกของสถานที่ที่เรียกว่าธนาคารกลางแห่งแรกของสหรัฐ ที่ตัวอาคารถูกล้อมรอบไปด้วยกระจกใส
เคซีย์ไม่ได้บอกเหตุผลที่ทำให้เธอเลือกมาที่นี่เพื่อปลดปล่อยความหนักหน่วงในจิตใจของเธอ รวมไปถึงความทรงจำของเธอและแม่ก็ไม่ได้อยู่ที่นี่
สุดท้ายแล้วเคซีย์ก็บอกกับจินว่า ที่นี่คือสถาปัตยกรรมในเมืองโคลัมบัสที่เธอชอบเป็นอันดับหนึ่ง
ในคราวแรก จินถามว่าทำไมเธอถึงเลือกมัน เด็กสาวตอบกลับไปเหมือนหุ่นยนต์ที่ถูกตั้งโปรแกรมซ้ำๆ ว่าความสมบูรณ์แบบของมันที่ทำให้เธอชอบ จินถึงถามย้ำอีกรอบว่า ‘แล้วเหตุผลจริงๆ ในใจของเธอล่ะ?’
แม้เราจะไม่อาจรู้ว่าเหตุผลที่แท้จริงนั้นคืออะไร เพราะโคโกนาดะเลือกที่จะเก็บงำความลับนั้นของเคซีย์เอาไว้ หลงเหลือไว้เพียงรอยยิ้มอันอ่อนหวานและสายตาที่ทอประกายและเต็มเปี่ยมไปด้วยความรักของเธอที่มีต่อที่แห่งนี้
อาจกล่าวได้ว่า สถาปัตยกรรมเป็นเครื่องช่วยบำบัดและหลอมรวมจิตวิญญาณตัวละครเข้าไปด้วย แม้แต่ตัวของจินเองที่ดูเหมือนจะไม่ลงรอยกับสถาปัตยกรรมเท่าไหร่นัก จากที่เจ้าตัวปฏิเสธทุกครั้งเวลาที่พ่อของเขาพูดถึงเรื่องเหล่านี้ แต่ชายหนุ่มเองก็สามารถอธิบายความเป็นมาของอาคารที่พ่อเป็นคนออกแบบได้อย่างราบรื่น แม้จะอ่านผ่านๆ จากในหนังสือแค่เพียงครั้งเดียว
แน่นอนว่าโคโกนาดะกำลังเปรียบเทียบให้เราเห็นถึงความคิดที่แตกต่างกันระหว่างชายหนุ่มและเด็กสาว เสมือนน้ำกับน้ำมันที่ผสมเข้ากันไม่ได้
ในความเป็นจริงแล้ว ชายหนุ่มวัยกลางคนอย่างจิน เมื่อรู้ข่าวร้ายแบบนี้ เขาควรจะใช้เวลากับพ่อที่ป่วยให้มากที่สุด แต่เขากลับไม่ได้ให้ความสำคัญกับมันเท่าที่ควรจะเป็น ในทางกลับกันเคซีย์ เด็กสาวที่มีความสามารถ เธอควรอยากโบยบินไปให้ไกลจากแม่ที่ติดยา แต่เคซีย์กลับเลือกอยู่ข้างแม่ แล้วละทิ้งความฝันที่ไม่รู้ว่าจะมีใครหยิบยื่นโอกาสนั้นให้อีกหรือไม่
ความไม่ลงรอยในความคิดของทั้งคู่ ทำให้คนดูอย่างเรามองเห็นการแปลความหมายของคำว่า ‘รัก’ ในตัวละครหลัก อย่างจิน แม้ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับพ่อที่แตกหักจนแทบแก้ไขไม่ได้ แต่เขาก็เลือกที่จะบินมาจากอีกฟากโลกเมื่อรู้ข่าว
อย่างน้อยถ้ามีอะไรเกิดขึ้น คนเป็นลูกอย่างเขาคงจะแก้ไขอะไรได้ทันเวลา
ในด้านของเคซีย์ เรามองเห็นชัดเลยว่า เธอมองว่าคนเป็นลูกต้องตอบแทนแม่ เธอไม่ได้มองว่ามันเป็นหน้าที่ที่ต้องทำ แต่เธอทำเพราะเธอรักแม่
เคซีย์กล่าวกับจินว่า ถ้าไม่ให้เธอดูแลแม่ แล้วจะให้เธอไปทำอะไร
บทสนทนาอันนุ่มลึกและเต็มเปี่ยมไปด้วยความเห็นใจซึ่งกันและกัน จินและเคซีย์เลือกที่จะค่อยๆ ซ่อมความปวดร้าวในใจของอีกฝ่ายทีละนิด บรรยากาศในเรื่องที่บางครั้งก็อึมครึมดูน่าหดหู่ แต่บางครั้งก็มีแสงอาทิตย์สาดเข้ามาให้เห็นถึงความหวังที่จะปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากเชือกที่ถูกผูกเอาไว้
ถึงแม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้อาจไม่ได้เป็นที่รู้จักในประเทศไทย แต่ Columbus กลับได้คำชมอย่างล้นหลามจากนักวิจารณ์หนังมากมาย เช่น ‘งดงามทั้งในสายตาและจิตใจ’ – Indiewire
และเราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้คือการเชื่อมความสัมพันธ์ภายในจิตใจมนุษย์กับสถาปัตยกรรมเข้าด้วยกันโดยแท้จริง