LifestyleWritings

โลกไอที – Come Back ครั้งแรกในรอบ 24 ปี ! โลกไอทีเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง และอนาคตจะเป็นอย่างไร ?

เรื่อง : กิตติธัช วนิชผล
ภาพประกอบ : trutarseyes

ปัจจุบันโลกของเรา ขึ้นชื่อว่าเข้าสู่ยุคข้อมูลข่าวสาร (information age) ทำให้การพัฒนาสิ่งต่าง ๆ ในโลกนี้ เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว ในโลกของเทคโนโลยีก็เช่นกัน ในหนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัย ปี 2540 ได้มีคอลัมน์ประจำหนังสือพิมพ์อยู่คอลัมน์หนึ่ง นั่นก็คือ ‘โลกไอที’ ซึ่งจะเป็นคอลัมน์ที่จะนำเอาเรื่องราวในโลกเทคโนโลยี มาบอกเล่าให้ทุกคนได้ ‘ตามเทรนด์’ โลกไอที

ผ่านมาแล้วกว่า 24 ปี นับตั้งแต่คอลัมน์โลกไอทีได้เปิดตัวบทความแนะนำโลกไอที (ซึ่งนับว่าล้ำมากในยุคนั้น)  ให้ทุกคนได้อ่านกัน วันนี้ วารสารเพรส จะพาทุกคนมองย้อนกลับไปยังห้วงเวลาเก่า ๆ ว่าหลังจากผ่านมาแล้วกว่า 24 ปี โลกไอทีเปลี่ยนไปอย่างไร โดยจะมีเพียงบทความจากปี 2540 เนื่องจากคอลัมน์นี้มีอยู่ในหนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัย ปี 2540 เท่านั้น พร้อมกับเปิดตัวคอลัมน์ ‘โลกไอที’ กันอีกครั้ง พร้อมการปรับตัวครั้งใหญ่ของคอลัมน์นี้ และมองดูโลกเทคโนโลยี ที่กำลังจะเป็นอนาคตของโลกสีน้ำเงินที่เรากำลังอาศัยอยู่นี้ ไปพร้อม ๆ กัน

24 ปีผ่านไป โลกอินเทอร์เน็ตยังคงน่ากลัว ?

ในคอลัมน์โลกไอที ในหนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัย ปีที่ 40 ฉบับที่ 4 นั้นมีบทความ ‘อินเทอร์เน็ตน่าเชื่อถือ..แค่ไหน ?’ ที่พูดถึงการเชื่อเรื่องราวที่มีผู้คนเผยแพร่ลงบนอินเทอร์เน็ต ในบทความมีคำกล่าวที่ว่า “…คุณไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าใครคือผู้ที่ให้ข้อมูลนี้ หรือแม้ว่าคุณจะทราบว่าเขาคือใครหรือแหล่งข่าวมาจากไหน แต่คุณจะทราบได้อย่างไรว่าเขาจะไม่โกหก” ซึ่งในปัจจุบันนี้ เรื่องการโกหกบนโลกอินเทอร์เน็ตนั้น นับได้ว่ายังคงมีอยู่ และทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่าเทคโนโลยีจะพัฒนาขึ้นมาก แต่ก็มีเทคโนโลยีที่ทำให้สามารถสร้างข่าวบิดเบือนได้ง่ายดายมากยิ่งขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น การทำ deepfake หรือการปลอมแปลงหน้าตา และการปลอมแปลงเสียงของบุคคลอย่างแนบเนียน โดยการปลอมแปลงนี้สามารถปรับแต่งให้แนบเนียนได้เหมือนกับบุคคลจริง วิธีการคือคอมพิวเตอร์จะเกิดการเรียนรู้ท่าทาง ลักษณะการพูด มุมปาก มือ จะเข้ารหัสแพตเทิร์นของบุคคลหนึ่ง แล้วเก็บไว้ จากนั้นเวลาถอดรหัสคอมพิวเตอร์จะนำแพตเทิร์น ของอีกบุคคลหนึ่งเข้ามาผสม ตัวตนของทั้งสองก็จะถูกสลับกัน กลายเป็น deep fake ที่มีความละเอียดสูง และตรวจจับด้วยตาเปล่าได้ยากมาก ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาการสร้างข่าวปลอมที่ง่ายยิ่งขึ้นในอนาคต หรืออาจมีบทบาททางการเมืองค่อนข้างสูง ด้วยการพยายามดิสเครดิตฝ่ายตรงข้าม อย่างคลิปวีดีโอของอดีตประธานาธิบดีของสหรัฐฯ อย่างบารัค โอบามา ที่ถูกตัดต่อด้วยเทคโนโลยี deepfake จนทำให้พูดอะไรออกมาก็ได้ ดังในคลิปข้างล่าง ไม่เพียงแค่นั้น ปัจจุบันเรายังสามารถให้ตัวละครจากเกม หรือการ์ตูนที่เราชื่นชอบ พูดข้อความตามที่เราพิมพ์ข้อความได้แล้ว ด้วยเทคโนโลยี speech synthesis หรือในชื่อที่ทุกคนน่ารู้จักกันดีอย่าง ‘text-to-speech’

แต่ก็ใช่ว่าการกระจายข้อมูลข่าวสารที่เป็นเท็จ ข้อมูลบิดเบือน หรือ ‘Disinformation’ ตามที่ยูเนสโก้ให้นิยามใหม่ไว้จะเป็นเรื่องที่แย่ไปเสียทั้งหมด  เพราะว่าเมื่อข่าวบิดเบือนเกิดขึ้นจำนวนมาก ความตื่นตัวด้านการต่อต้านข่าวนี้ก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย จะเห็นได้ว่าปัจจุบัน คำว่าบิดเบือนถูกพูดถึงมากขึ้นอย่างมากในปัจจุบัน เมื่อความตื่นตัวมากขึ้น วิธีการตรวจสอบข่าวดังกล่าวจากในอดีตที่อาจทำได้ยาก อย่างการต้องไปค้นหาข้อเท็จจริงในหนังสือ ปัจจุบันก็ทำได้ง่ายขึ้น อย่างในประเทศไทยเองก็มีเว็บไซต์ เช่น cofact  #เช็กให้รู้  หรือ เพจชัวร์ก่อนแชร์ ที่จะคอยตรวจสอบข้อมูลข่าวสาร และจัดการกรองข่าวปลอม และข้อมูลบิดเบือน ออกให้เราด้วย (แม้ว่าจะไม่ทั้งหมดก็ตาม)

ในขณะที่คอลัมน์โลกไอที ในหนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัย ปีที่ 40 ฉบับที่ 7 มีบทความ ‘แฮ็กเกอร์ จอมโจรอิเล็กทรอนิกส์’ ซึ่งพูดถึงแฮ็กเกอร์ (hacker) พวกเขาเหล่านี้มีจุดประสงค์ที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มีหน้าที่ทดสอบระบบความปลอดภัยของระบบเซิร์ฟเวอร์ หรือเว็บไซต์ต่าง ๆ แม้แต่โจรกรรมข้อมูลที่อยู่บนอินเทอร์เน็ตอีกด้วย โดยในช่วงท้ายของบทความผู้เขียนได้กล่าวถึงความตื่นตัวด้านแฮ็กเกอร์ในประเทศไทย ที่ยังไม่มีความตื่นตัวมากเท่าที่ควร ด้วยย่อหน้าท้ายบทความที่ว่า “ขณะที่ต่างประเทศตื่นตัวเรื่องนี้กันมากแล้ว แต่ไทยยังไม่ตื่นตัวเท่าที่ควร อาจเป็นเพราะอินเทอร์เน็ตยังไม่บูมถึงขีดสุดก็ได้ แต่เมื่อระบบอินเทอร์เน็ตทวีความสำคัญมากขึ้นในอนาคต การขโมยข้อมูลต้องเกิดขึ้นแน่นอน เพราะการละเมิดลิขสิทธิ์เกิดขึ้นได้ฉันใด การล้วงความลับข้อมูลก็เกิดขึ้นได้ฉันนั้น”

เมื่อเวลาผ่านมาจนถึงปัจจุบัน อาชีพแฮ็กเกอร์นั้นก็ยังไม่หมดไป และยังคงทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น เมื่อมีการเข้ามาของ ‘Cryptocurrency’ หรือสกุลเงินดิจิทัล และเนื่องจากระบบของสกุลเงินนี้มีความรัดกุมด้านความปลอดภัยถึงขั้นที่ไม่อาจจะรู้ชื่อเจ้าของบัญชีได้ อีกทั้งยังเป็นบัญชีที่ไม่ผูกอยู่กับธนาคารใดเป็นพิเศษ ดังนั้นเหล่าแฮ็กเกอร์ที่มีเป้าหมายโจรกรรมข้อมูล ก็อาจจะใช้จุดเด่นด้านความปลอดภัยนี้ ข่มขู่เหยื่อโดยใช้ ‘Ransomware’ หรือไวรัสเรียกค่าไถ่ ให้เหยื่อโอนเงินเข้าสู่บัญชีสกุลเงินดิจิทัลนี้ ซึ่งจะทำให้ตามจับโจรอิเล็กทรอนิกส์ได้ยากขึ้นอีก เพราะจะไม่ปรากฎชื่อเจ้าของบัญชีที่โอนเงินนี้ไป ทำให้ไม่เหลือร่องรอยในการตามจับแฮ็กเกอร์นั่นเอง ในประเทศไทยเองก็มีให้เห็นบ่อย ๆ ถึงกรณีที่มีบริษัทถูกเจ้าไวรัสเรียกค่าไถ่นี้เล่นงาน อย่างเช่นกรณีล่าสุด ที่ AXA เอเชียถูกแฮ็กเรียกค่าไถ่ จนทำให้ข้อมูลส่วนตัวลูกค้าบริษัทประกัน ‘กรุงไทย-แอกซ่า’ ในไทยถูกขโมยเพื่อเรียกค่าไถ่จากบริษัทนั่นเอง

ถ้ามองในแง่ดี ในประเทศไทยที่เทคโนโลยีมีความทั่วถึงมากยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน ทำให้เรื่องแฮ็กเกอร์นี้เป็นที่พูดถึงมากยิ่งขึ้น มีความตื่นตัวมากขึ้น โดยปัจจุบันในประเทศไทย หลาย ๆ คนอาจจะรู้จักแฮ็กเกอร์ว่ามีอยู่ 2 สายด้วยกัน นั่นก็คือ แฮ็กเกอร์หมวกขาว (white hat hacker) ซึ่งมีหน้าที่คอยทดสอบระบบการป้องกันด้านเทคโนโลยีในบริษัทต่าง ๆ เพื่อหาจุดอ่อนและวางระบบป้องกัน ซึ่งมีทั้งแบบที่ทำงานอิสระ ทำเพื่อส่งเรื่องให้บริษัทแก้ไข หรือแม้แต่ได้รับตำแหน่งงานในบริษัทนั้น ๆ อีกด้วย และอีกสายคือ แฮ็กเกอร์ หมวกดำ (black hat hacker) แฮ็กเกอร์เหล่านี้จะคอยโจมตีระบบเพื่อสร้างความเสียหาย ไม่ว่าจะเพื่อขโมยข้อมูล ทำลายระบบให้ทำงานไม่ได้ เรียกค่าไถ่ หรือทำเพื่อความสนุกก็ได้ ซึ่งที่จริงแล้วยังมี แฮ็กเกอร์หมวกเทา (gray hat hacker) แฮ็กเกอร์ที่ยอมทำทุกอย่างเพื่อเงิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือร้าย และอื่น ๆ อีก แต่จะเป็นประเภทแยกย่อยจนเกินไป จึงขอละไว้ ณ ที่นี้

ทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็ทำให้ได้เห็นถึงภาพรวมคร่าว ๆ แล้วว่าโลกอินเทอร์เน็ตในปัจจุบัน แม้จะมีความอันตรายที่มากยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ แต่อีกแง่หนึ่ง ก็ทำให้เห็นการพัฒนาในด้านดี ๆ ด้วยเช่นกัน ด้วยความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนในชีวิตประจำวันของคนมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้การตื่นตัวถึงการใช้งานโลกอินเทอร์เน็ตมีมากขึ้น

‘User Generated Content’ สามารถทำได้ง่ายยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนมาก

โลกไอทีในปัจจุบันนี้ ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนามากยิ่งขึ้น ทำให้การนำเสนอข้อมูลข่าวสารเป็นไปได้ง่าย และรวดเร็วมากขึ้นกว่าแต่ก่อน และเทคโนโลยีก็ดูจะเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวหลาย ๆ คนมากขึ้น จนกระทั่ง ถ้าทุกคนลองไปถามเด็ก ๆ ในยุคปัจจุบันว่าพวกเขาอยากทำอาชีพอะไร หลาย ๆ คนก็อาจตอบว่า ‘ยูทูบเบอร์’ หรือ ‘บิวตีบล็อกเกอร์’

นับจากอดีตที่ผ่านมา การมีตัวตนบนโลกออนไลน์นั้นยังเป็นเรื่องที่ใหม่ และจับต้องยากมาก ในหนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัย ปีที่ 40 ฉบับที่ 3 มีบทความสอน และชักชวนให้ผู้อ่านได้ลองสร้างโฮมเพจ หรือหน้าเว็บไซต์ของตัวเองบนโลกออนไลน์ ผ่านบทความ ‘มาสร้างโฮมเพจกันเถอะ’ ซึ่งในขณะนั้น ผู้เขียนได้แนะนำให้ผู้อ่านได้ลองฝากหน้าเว็บไซต์ของตัวเองบนเว็บไซต์ GeoCities เนื่องจากในขณะนั้น เว็บไซต์ GeoCities เป็นพื้นที่ฟรีให้อัปโหลดไฟล์ลงหน้าเว็บไซต์

ถ้าทุกคนอยากลองใช้วิธีเดียวกันนี้ก็ต้องขออภัยด้วย เนื่องจากปัจจุบันเว็บไซต์ GeoCities และหน้าเว็บไซต์ทั้งหมดถูกปิดไปตั้งแต่ 27 ตุลาคม 2552 แล้ว แต่ไม่ต้องเสียใจไป เพราะว่าปัจจุบันได้มีวิธีการที่จะสามารถอัปโหลดหน้าเว็บไซต์ของตัวเอง และสร้างหน้าเว็บไซต์ของตัวเองในที่เดียวได้หลายเจ้า ซึ่งไม่ลำบากมากเท่าสมัยก่อน อย่างเช่น Wix, WordPress หรือ Squarespace

ในบทความนั้นจะให้เราศึกษาวิธีการเขียนโค้ดเว็บไซต์ด้วยตัวเอง แต่ปัจจุบันเราสามารถเรียนรู้จากเว็บไซต์ที่กล่าวมาข้างต้น และสร้างเว็บไซต์ที่สวยงามของตัวเอง โดยไม่ต้องเขียนโค้ดซักบรรทัดเลยก็ได้ เนื่องจากเว็บไซต์ที่กล่าวมา สามารถออกแบบเว็บไซต์ให้สวยงามได้ มีรูปแบบสำเร็จรูปของเว็บ (template) หรือตัวเลือกในการสร้างเว็บไซต์ที่ง่ายดายมากขึ้นแล้ว แต่ถ้าอยากได้เว็บไซต์ที่ไม่เหมือนใครก็ยังสามารถเขียนโค้ดเพื่อออกแบบเว็บไซต์ในฝันได้เช่นกัน

แล้วในอนาคต ‘โลกไอที’ จะเป็นอย่างไรกัน ?

หลังจากที่ได้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในโลกไอทีปัจจุบัน ทั้งในด้านดีและไม่ดี ก็อดคิดต่อไปไม่ได้ว่า แล้วอนาคตข้างหน้าจะเป็นอย่างไรต่อไป โลกอินเทอร์เน็ตจะปลอดภัยขึ้นไหม แล้วการสร้างตัวตนบนโลกออนไลน์นั้นกำลังจะเป็นสิ่งจำเป็นหรือไม่ ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนมองว่า อนาคต โลกเทคโนโลยีของเราก็กำลังก้าวไปในทางที่ดี โดยมีความตื่นตัวมาก และจะมากยิ่งขึ้นไปอีกได้ในอนาคตข้างหน้านี้ ในขณะเดียวกันผู้ที่มีความรู้ ความสนใจด้านเทคโนโลยีก็มีเพิ่มขึ้นทุก ๆ วันอีกด้วย ดังนั้น สำคัญอย่างยิ่งว่าความปลอดภัยในโลกอินเทอร์เน็ตก็จะยิ่งเป็นสิ่งจำเป็นขึ้นอย่างมาก

ตามข้อมูลจากบทความ ‘Digital 2021: Global Overview Report’ ของเว็บไซต์ DataReportal ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งโลกในเดือนมกราคม 2564 มีถึงกว่า 4.66 พันล้านคน หรือประมาณ 59.5% ของประชากรโลก ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วกว่า 7.3% และยังคงมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ผู้เขียนมองว่า เทคโนโลยีได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตมนุษย์เรียบร้อยแล้ว จากการเข้ามาของระบบ smart home ที่ทำให้เครื่องใช้ไฟฟ้าหลาย ๆ อย่างสามารถสั่งการด้วยเสียงได้ เช่นหลอดไฟ แอร์ ไปจนถึงลำโพงก็ได้ อุปกรณ์ศูนย์กลางในการสั่งการอย่างเช่น Google Nest หรือ Amazon Alexa ก็สามารถใช้เพื่อค้นหาหรือตอบคำถามสิ่งที่เราสงสัยได้แล้วด้วย จนทำให้ในอนาคตอีกไม่ไกลนัก เทคโนโลยีอาจกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ของมนุษย์ และมนุษย์อาจต้องพึ่งพาเทคโนโลยีอย่างเลี่ยงไม่ได้ ก็เป็นได้

ภาพแสดงการเติบโตของโลกดิจิทัล ประจำปี 2021 โดยเว็บไซต์ DataReportal

น่าสังเกตว่า ปัจจุบันผู้รับสารต่างรับสารในแบบที่ตัวเองสนใจ บางส่วนไม่ได้รับสารตามที่สื่อกระแสหลักวางผังไว้ให้แล้ว ดังนั้นจึงมีการขยายช่องทางมากมายเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้บริการเช่นนี้ ดังนั้นอินเทอร์เน็ตจึงเริ่มเข้ามามีบทบาทในโลกปัจจุบันมากขึ้นจากพฤติกรรมการรับสารที่กล่าวไป

น่าสนใจว่า การที่เราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยี (หรือเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของเรา) อย่างที่กล่าวไป ก็มีทั้งข้อดีและข้อที่ต้องระมัดระวัง ดังนั้นถ้าเราสามารถมองหาหนทางที่จะพัฒนาตัวเองไปพร้อมกับการพัฒนาของโลกไอที เรียนรู้ที่จะอยู่กับเทคโนโลยีอย่างเท่าทัน เราก็จะสามารถเป็นพลเมืองของโลกในยุคที่ข้อมูลข่าวสารไหลเวียนไปมาอย่างไม่สิ้นสุดนี้ได้อย่างยั่งยืน และสุดท้ายการเข้ามาของเทคโนโลยี อาจจะกลายเป็นเรื่องที่ดีเสียด้วยซ้ำ  

ดังนั้นในคอลัมน์ ‘โลกไอที’ ที่กำลังจะกลับมาอีกครั้งในรอบ 24 ปี ผู้เขียนคาดหวังว่าจะนำพาผู้อ่านทุกท่าน ที่มีความสนใจ และพร้อมที่จะเปิดรับการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ ๆ และผู้เขียนก็หวังที่จะให้ทุกคนรู้เท่าทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป และนำพาตัวเองเข้าสู่อนาคตแห่งโลกไอทีไปพร้อมกัน

สุดท้ายนี้ ขอฝากคอลัมน์ ‘โลกไอที’ ที่กลับมาพร้อมข้อมูลข่าวสาร ที่จะพาทุกคนตามเทรนด์ของโลกเทคโนโลยีนี้อีกครั้งไปด้วยกัน 😊

ที่มาของข้อมูล

tech.mthai.com
datareportal.com

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
1
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:Lifestyle

Writings

ไขรหัสลับ ‘หน้าตั๋วรถเมล์’ เศษกระดาษบ่งชี้ที่แฝงไปด้วยภูมิปัญญา

เรื่องและภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย เมื่อเรานั่งรถเมล์ในกรุงเทพฯ สิ่งที่น่าจะเป็นภาพจำก็คงเป็นระบบ ‘ตั๋ว’ รถเมล์ ทั้งเสียง ‘แก๊บๆ’ ที่เป็นสัญญาณเตือนว่าให้เตรียมเงินจ่ายค่าโดยสารได้แล้ว พร้อมกับตั๋วม้วนยาวที่มีตัวเลขล้อมอยู่เต็มไปหมดและการฉีกตั๋วอย่างฉับไวที่ดูไปก็ไม่ค่อยเข้าใจเท่าไรว่าทำไปทำไม ดูเผินๆ จะไม่ค่อยเห็นประโยชน์อะไรของตั๋วนอกจากจะเป็น ‘เศษกระดาษที่ทำให้โลกร้อนขึ้น’ ...

Writings

‘นักชิมมืออาชีพ’ ผู้อยู่เบื้องหลังทุกความอร่อย

เรื่องและภาพประกอบ : พนิดา ช่างทอง ผู้เขียนและคนส่วนใหญ่อาจคุ้นเคยกับอาชีพ ‘นักชิมอาหาร’ หรือ ‘นักวิจารณ์อาหาร’ ในภาพของ Food Critic อาชีพในฝันของผู้ที่ชื่นชอบการกิน แต่สำหรับ ‘นักชิมมืออาชีพ’ หรือ ...

Articles

เมื่อเราไม่อยู่บ้าน หมาจะคิดถึงเราไหมนะ?

เรื่องและภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ เทศกาลสงกรานต์เป็นวันหยุดยาว เมื่อได้เว้นว่างจากการทำงานและการเรียนอันแสนเหน็ดเหนื่อย หลายคนจึงเลือกจะกลับบ้าน ดังนั้น  หากจะเรียกว่าเป็น ‘วันแห่งการกลับบ้าน’ ก็อาจไม่ผิดนัก  หลายครอบครัวอาจมีสมาชิกอย่างพ่อ แม่ ญาติ หรือใครสักคนที่ทำให้อยากกลับบ้านไปหา ...

Writings

สงกรานต์ทั้งที ไม่มีความสงสัยบ้างไม่ได้หรอ?: เมื่อคำถามจากญาติในช่วงเทศกาลแห่งความสุขสร้างความทุกข์ให้ลูกหลาน

เรื่องและภาพประกอบ: ทยาภา เจียรวาปี หมายเหตุ: ประโยคคำถามในบทความชิ้นนี้ เป็นการรวบรวมจากประสบการณ์โดยตรงของผู้เขียน และคนรอบตัวของผู้เขียนเท่านั้น โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน ในสายตาผู้อ่าน ภาพวันสงกรานต์หน้าตาเป็นอย่างไร? เชื่อว่าสำหรับหลายๆ คน คงเห็นภาพการสาดน้ำดับร้อน ภาพความสุข รอยยิ้ม ...

Writings

แตก 4 ซีซัน 4 ประเด็นของซีรีส์เพศศึกษา

เขียน จิรัชญา นุชมี ภาพ กัญญาภัค วุฒิรักขจร Sex Education คือซีรีส์ออริจินัลจาก Netflix ที่โด่งดังและจัดจ้านในประเด็นการเล่าถึงเรื่องเพศศึกษา อย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา ทว่าไม่ใช่เพียงประเด็นเรื่อง เพศ เท่านั้น ...

Writings

Dear Dorothea ยังมีที่ว่างให้ฉันอยู่ไหม

เขียน กัญญพัชร กาญจนเจตนี ภาพ กัญญาภัค วุฒิรักขจร บทเปิดจากภาพยนตร์เพื่อน (ไม่) สนิทบอกไว้ว่าทั้งชีวิตคนเราจะมีเพื่อนได้แค่ 150 คน จากการคำนวณด้วยสมการของนักวิทยาศาสตร์ โดยใน 150 คน ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save