เรื่อง : ณัชชา กลิ่นประทุม
ภาพ : ญาณิศา อาทิตย์เที่ยง, จุฑารัตน์ พรมมา
จากกรณี เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ที่ผ่านมา น.ท.สุมิตร สุวรรณ รองศาสตราจารย์และรองคณบดีคณะศึกษาศาสตร์และพัฒนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เสนอแนวคิดว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ที่จะหยุดการเรียนการสอนไป 1 ปี เนื่องจากถ้าเรียนในรูปแบบออนไลน์ต่อไปอาจจะส่งผลต่อประสิทธิภาพทางการเรียน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กระดับปฐมวัยและประถมศึกษาที่การเรียนยังต้องเน้นทางด้านพัฒนาการเป็นหลักและยังไม่สามารถใช้เทคโนโลยีได้คล่อง นอกจากนี้นายสมพงษ์ จิตระดับ ศาสตราจารย์และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับ Thai PBS เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ว่าการเรียนออนไลน์จะทำให้คุณภาพของการเรียนลดลงและจะทำให้เด็กมีปัญหาทางสุขภาพจิต
วารสารเพรสรวบรวมมุมมองจากผู้ที่เกี่ยวข้องในประเด็นการเรียนการสอนในรูปแบบออนไลน์ ปัญหา ข้อเสนอแนะ และวิธีการแก้ปัญหาในประเด็นดังกล่าวมานำเสนอเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาและทางออกจากกรณีปัญหานี้
เสียงของอาจารย์
นายสิทธิชัย วิชัยดิษฐ ผู้ช่วยศาสตราจารย์และรองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า ค่อนข้างไม่เห็นด้วยในประเด็นการหยุดเรียน 1 ปี ถ้าหากว่าการหยุดเรียนนี้อยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่าหลังจากการหยุดเรียน 1 ปีนั้นจะกลับมาทำทุกอย่างเหมือนเดิม เนื่องจากโลกมีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ทำให้ระบบการศึกษาจำเป็นต้องปรับตัวตาม จะเห็นด้วยถ้าการหยุดเรียน 1 ปี เป็นไปเพื่อปรับวิธีคิดเรื่องการศึกษา สร้างระบบสนับสนุนการศึกษาขึ้นใหม่ และอนุญาตให้เกิดรูปแบบการเรียนรู้และการประเมินผลแบบใหม่ขึ้นมาทดแทนรูปแบบเดิม
“สมมติว่าในภาวะปกติเราให้คุณค่ากับการเรียนรู้ในเรื่องคะแนนสอบ คะแนนสอบสูงแปลว่าได้เรียนรู้แล้ว แต่ถ้าเรามีระบบอื่นที่สามารถเทียบเคียงกันได้ เช่น ไม่ต้องทำข้อสอบ แต่สามารถแสดงหลักฐานอื่นที่บอกว่าตัวเองได้เรียนรู้เรื่องนี้แล้ว ถ้ามีระบบอนุญาตแบบนี้ ผมคิดว่าการเรียนรู้ในรูปแบบใหม่มีโอกาสเป็นไปได้” นายสิทธิชัยกล่าว
นายสิทธิชัยกล่าวต่อว่า การเรียนในรูปแบบออนไลน์ที่เป็นปัญหา ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากวิธีคิดที่เกี่ยวข้องกับการสร้างการเรียนรู้ “ถ้าเราเชื่อว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นจากการที่ผู้เรียนมาอยู่รวมกัน และคุณครูเป็นผู้ถ่ายทอดให้ความรู้เป็นหลัก การเรียนออนไลน์ก็จะเป็นปัญหาเพราะว่าช่องทางการสื่อสารมันเปลี่ยนไป แต่ถ้าเรามองวิธีการเรียนรู้ที่ไม่ใช่แค่การบอกต่อความรู้อย่างเดียว มันก็จะมีวิธีการอื่นอีกมากในการเรียนทางไกล ผมเห็นคุณครูกลุ่มหนึ่งทางภาคอีสาน ทำของส่งเสริมการเรียนรู้แล้วก็ให้เด็กนำไปเรียนรู้ที่บ้าน แล้วก็ไปแนะนำให้ผู้ปกครองช่วยเหลือผู้เรียนที่บ้านด้วย มันเหมือนเป็นการเริ่มต้นการทำงานร่วมกันระหว่างครูกับผู้ปกครองในการสร้างการเรียนรู้ให้เด็ก”
ในประเด็นปัญหาความเครียดในนักศึกษา นายสิทธิชัยให้สัมภาษณ์ว่า ในมุมมองของผู้สอน ความสัมพันธ์ระหว่างอาจารย์กับนักศึกษาต้องมาก่อนความรู้ การเชื่อมความสัมพันธ์ การรู้จักผู้เรียน การเห็นผู้เรียนเป็นคนหนึ่งที่กำลังต่อสู้กับปัญหาที่เป็นอยู่ตอนนี้เป็นสิ่งสำคัญ “ผมเห็นเพื่อนอาจารย์หลายคนใช้เวลาค่อนข้างมากในช่วงต้นของการเรียนสำหรับการใส่ใจในเรื่องจิตใจของผู้เรียน การสำรวจความต้องการของเขา การตั้งเป้าหมายในการเรียนร่วมกัน ผมว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเกิดว่าเราไม่สามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้เรียนได้ ไม่ฟังเสียงของเขาเลยตั้งแต่ตอนต้น สิ่งต่าง ๆ หลังจากนี้มันจะแย่หมดเลย”
ในประเด็นปัญหานักเรียนนักศึกษาหลุดออกจากระบบการศึกษา นายสิทธิชัยกล่าวว่า ปัญหานี้สำคัญมากสำหรับระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยเฉพาะในเด็กเล็กที่จำเป็นต้องมีผู้ดูแลผู้ช่วยเหลือในการเรียน ส่วนในประเด็นการเข้าไม่ถึงระบบการศึกษาเนื่องจากข้อจำกัดด้านอุปกรณ์และเทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการพยายามให้ความช่วยเหลือในประเด็นนี้อยู่
“แต่ในอีกมุมมองหนึ่งคือในเวลานี้เด็กหลายคนที่แม้ว่าจะไม่ได้เรียนตามหลักสูตร แต่พวกเขากำลังเรียนวิชาชีวิตกับพ่อแม่ บางคนต้องไปช่วยพ่อแม่ทำงาน ไปเรียนรู้ในอีกสังคมหนึ่งที่แตกต่างจากสังคมที่โรงเรียน บทบาทของโรงเรียนและคุณครู ณ เวลานี้ อาจไม่ได้เป็นผู้สอน แต่เป็นผู้ช่วยให้เด็กรู้วิธีการเรียน ถอดบทเรียนประสบการณ์ชีวิต” นายสิทธิชัยกล่าว
ส่วนในประเด็นแนวโน้มการกลับมาเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตามปกติในภาคการศึกษาหน้า เนื่องจากทีมข่าววารสารเพรสติดต่อไปยังอธิการบดีของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้วแต่ไม่ได้รับการตอบกลับ เราจึงสัมภาษณ์อาจารย์ในมหาวิทยาลัยแทน
นางวิไลวรรณ จงวิไลเกษม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำสาขาวิทยุและโทรทัศน์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มธ. ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 29 ส.ค. ที่ผ่านมาว่า ถ้าหากจำนวนยอดผู้ติดเชื้อในประเทศและจำนวนผู้ได้รับวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 อยู่ในแนวโน้มที่ดีขึ้น ก็อาจจะมีความเป็นไปได้ที่ มธ. จะกลับมาเรียนได้ตามปกติ แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในอนาคตด้วย “ถ้าเกิดว่าตัวเลขมันเป็นแบบนี้ ทั้งผู้ติดที่น้อยลงและวัคซีนที่เริ่มเข้ามา มันก็มีแนวโน้มที่การแพร่ระบาดแบบรุนแรงจะทุเลาลง เดือนพฤศจิกายน ในวิชาปฏิบัติก็อาจจะได้เข้ามา แต่ทั้งหมดมันเป็นการคาดการณ์วันต่อวัน เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าพรุ่งนี้เช้าจะมีสายพันธุ์ใหม่เข้ามาไหม”
นางวิไลวรรณกล่าวต่อว่า ทางมหาวิทยาลัยยังไม่มีแผนรองรับสำหรับวิชาภาคปฏิบัติ “มหาวิทยาลัยต้องคำนึงในจุดนี้ด้วยว่าคณะที่เป็นภาคปฏิบัติที่ต้องเน้นการใช้สกิล (skill) มหาวิทยาลัยจะมีแผนอย่างไรลงมารองรับ ถามว่าตอนนี้มีไหม ไม่มี ท้ายที่สุด พวกทีมอาจารย์ที่สอนวิชาปฏิบัติก็มาคุยกันแล้วก็ใช้วิธีการแก้ปัญหาเบื้องต้น เราทำเรื่องถึงคณบดีว่าขอให้นักศึกษาได้เข้ามายืมอุปกรณ์ที่เป็นของคณะออกไปใช้ข้างนอก ก็ได้รับการอนุมัติ มหาวิทยาลัยก็อนุญาตให้นักศึกษาเข้ามาในมหาวิทยาลัยเพื่อที่จะขอยืมอุปกรณ์ออกไปใช้หลังจากวันที่ 5 กันยายน แต่ทางคณะก็ต้องวางมาตรการป้องกันการติดเชื้อโควิดไว้ด้วย”
เสียงของนักเรียน
น.ส.ภัทรภร สุวรรณวัธนะ หนึ่งในนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่ได้รับผลกระทบจากการเรียนออนไลน์ ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่เห็นด้วยถ้าจะต้องหยุดเรียน 1 ปี เนื่องจากจะเสียเวลาชีวิต “สำหรับคนที่ยังไม่พร้อมก็ควรหยุด แต่มันก็ยังมีอีกหลายคนที่อาจจะเสียเวลาชีวิตไปถ้าหากต้องหยุดเรียน บางทีเขาอาจจะอยากรีบเรียนจบ อยากรีบทำงานหาเงิน ก็เลยคิดว่าไม่น่าหยุด”
ในประเด็นการเรียนออนไลน์ น.ส.ภัทรภรกล่าวว่า เรียนไม่รู้เรื่อง เครียด เหนื่อย และรู้สึกท้อ เนื่องจากต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิมตลอดเวลาและมีเนื้อหาที่ต้องเรียนเป็นจำนวนมาก เธอมีข้อเสนอแนะว่าอยากให้เลื่อนการจัดสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนต่อในระดับอุดมศึกษา หรือ TCAS ออกไป เนื่องจากเธออยากได้เวลาเตรียมตัวสอบมากกว่าเดิม ปัจจุบันทางโรงเรียนอัดวิดีโอเนื้อหาในแต่ละรายวิชามาให้เป็นจำนวนมากจนไม่มีเวลาอ่านหนังสือเตรียมสอบ
“มันไม่ดีเพราะว่ามันไม่ได้ออกไปติวที่ไหนเลย ไม่ได้เจอพี่ติวเตอร์ (tutor) ไม่ได้เจออาจารย์ มันก็ลำบากตัวเอง กดดันด้วย ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน ถ้าเรามีพี่ติวเตอร์เขาก็จะชี้ให้ว่าต้องทำยังไง ข้อสอบต้องทำตรงไหน สมมติว่าเราทำข้อสอบอยู่แล้วมีปัญหา เขาก็จะชี้ให้เราอย่างชัดเจนเลย” น.ส.ภัทรภรกล่าว
ด้าน น.ส.นันทิชา อาทิตย์เที่ยง นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หนึ่งในนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากการเรียนออนไลน์ให้สัมภาษณ์ในประเด็นเดียวกันว่า เรียนออนไลน์ไม่รู้เรื่องเนื่องจากอาจารย์สอนเร็วและมีปัญหาเรื่องไฟดับบ่อยครั้ง ทว่าอาจารย์ก็ยังบันทึกการสอนไว้ให้ดูย้อนหลังได้
เสียงของนักศึกษา
น.ส.จุฬาลักษณ์ อุดมเพ็ชร นักศึกษาคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มธ. กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะหยุดเรียน 1 ปี “รู้สึกว่ามันจะดีมากกับสายผลิต (production) รู้สึกว่าถึงจบไปตอนนี้ความรู้หรือโอกาสอะไรมันไม่ค่อยมี เรารอได้เพื่อที่จะได้ใช้อุปกรณ์ที่เราควรจะได้ใช้ ได้รับโอกาสที่เราควรจะได้รับ”
น.ส.จุฬาลักษณ์กล่าวเพิ่มเติมว่าตั้งแต่เรียนมา 4 ปี นักศึกษาวิทยุและโทรทัศน์ได้เข้าไปใช้งานสตูดิโอปฏิบัติการแค่ 3-4 ครั้ง นักศึกษาได้ใช้อุปกรณ์การเรียนเพียงแค่กล้องเท่านั้น ดังนั้นนักศึกษาเอกวิทยุและโทรทัศน์ส่วนใหญ่จึงคิดว่าถ้าพวกเขาเรียนจบไปอาจจะไม่มีความสามารถเพียงพอในการเข้าสู่ตลาดแรงงาน
“อาจารย์บางคนก็ทำเหมือนว่าเด็กมีทุกอย่างพร้อมทั้งคอมฯ และไอแพด แต่พื้นฐานของเด็กไม่เท่ากัน อย่างวิชาผลิตรายการโทรทัศน์นอกสถานที่ที่อาจารย์สั่งให้ถ่ายวิดีโอ แล้วในการถ่ายทำวิดีโอก็ต้องมีอุปกรณ์ถ่ายทำ อุปกรณ์ตัดต่อ อุปกรณ์เก็บเสียง อุปกรณ์ลงเสียง ขาตั้งกล้อง แต่นักศึกษาบางคนก็ไม่ได้มีอุปกรณ์ตรงนี้พร้อมเหมือนกันทั้งหมด ก็เลยต้องไปเสียเงินซื้ออุปกรณ์เพิ่ม” น.ส.จุฬาลักษณ์กล่าวและให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า อยากให้อาจารย์ผู้สอนคำถึงถึงสุขภาพจิตของนักศึกษาให้มาก และเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งจัดหาวัคซีนมาฉีดให้กับนักเรียนและนักศึกษาเพื่อให้พวกเขาสามารถกลับไปเรียนที่สถานศึกษาได้ตามปกติ การเรียนจะได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ด้านของนายเมธาสิทธิ์ จักรักษา นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ให้สัมภาษณ์ว่า หากสถานการณ์โรคระบาดยังไม่มีแนวโน้มที่จะดีขึ้น การหยุดเรียน 1 ปี จะไม่มีประโยชน์ เนื่องจากจะต้องเสียเวลาชีวิตไป 1 ปี โดยที่ผลลัพธ์ที่ได้ยังเหมือนเดิม
“ถ้า ณ วันนี้สถานการณ์มีวี่แววว่าจะดีขึ้น เราเห็นด้วยมาก ๆ กับการที่จะหยุดเรียน ด้วยศักยภาพของนักศึกษา เรารู้สึกว่าการไปเรียนที่มหาวิทยาลัยมันดีที่สุดอยู่แล้ว การหยุด 1 ปี เขาอาจจะมีเวลาไปทบทวน ไปค้นหาตัวเองเพิ่มขึ้น แต่ถ้าตอนนี้เลยนะ ไม่เห็นด้วย คนยังได้รับวัคซีนไม่ครบ ยอดติดเชื้อก็ยังแตะหลักหมื่นอยู่ทุกวัน เลยรู้สึกว่าถ้าเป็นแบบนี้มันไม่มีทางดีขึ้นได้เลยใน 1 ปี” นายเมธาสิทธิ์กล่าว
นายเมธาสิทธิ์กล่าวต่อว่า การเรียนออนไลน์ทำให้รู้สึกหดหู่ เนื่องจากต้องเรียนคนเดียว ไม่เจอเพื่อน และต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิมเป็นเวลานาน “การที่เราอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมแคบ ๆ ตื่นมาเรียนในห้องนี้ เรียนเสร็จ นอนในห้องนี้ กินข้าวในห้องนี้ อาบน้ำในห้องนี้ อาบเสร็จนอนต่อ ตื่นเช้ามาเรียนใหม่ แล้วเราต้องเจอแบบนี้ทุกวันมาจะสองปี มันหดหู่นะ”
ในประเด็นปัญหาที่พบในการเรียนออนไลน์ นายเมธาสิทธิ์ให้สัมภาษณ์ว่า มีปัญหาในการเรียนทั้งหมด 2 ประการ ประการแรกคือเรื่องค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียเพิ่มขึ้นเนื่องจากการใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าที่มากขึ้น นอกจากนี้ ยังตั้งคำถามเพิ่มเติมว่าทำไมนักศึกษาต้องจ่ายค่าทำนุบำรุงของทางมหาวิทยาลัย (สวนดุสิต) เป็นจำนวนเงิน 4,600 บาท ในเมื่อนักศึกษายังไม่ได้ใช้สิ่งอำนวยความสะดวกที่ทางมหาวิทยาลัยจัดไว้ให้ และประการที่สอง คือ ปัญหาการมอบหมายงาน อาจารย์บางคนไม่มีความยืดหยุ่นในการทำงาน สั่งงานมาก และกำหนดระยะเวลาในการทำงานน้อยเกินไป “อาจารย์คนแรกต่อรองไม่ได้ ขนาดขอจับคู่ทำงานเองเพราะว่าความสะดวก อยู่หอเดียวกันกับเพื่อน อาจารย์ก็บอกว่าไม่ ครูจะจับคู่ให้เอง คือมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับแค่อาจารย์ มันขึ้นอยู่กับนักศึกษาด้วย สถานการณ์ตอนนี้มันต้องเอาความสะดวกเป็นหลักแล้ว และบางวิชาให้โจทย์กว้างมาก ให้ถ่ายงานอะไรก็ได้ อาจารย์อีกคนก็พิมพ์มาเองเลยว่า มันยากนะคะนักศึกษา เพราะคำว่าอะไรก็ได้มันกว้างมากที่จะถูกใจครู เราร้องไห้เลย คิดไม่ออก พูดตรง ๆ ว่าเขาให้คะแนนโอเค แต่กว่าเราจะผ่านมาได้ มันไม่ง่าย มันเครียดจริง ๆ นะ” นายเมธาสิทธิ์กล่าวและพูดเพิ่มเติมว่า อยากให้อาจารย์เข้าใจนักศึกษามากกว่าเดิม และควรจะสั่งงานที่นักศึกษาทุกคนทำได้โดยที่ไม่ลำบากมากจนเกินไป