เรื่อง: ตติยา ตราชู
ภาพ: จุฑารัตน์ พรมมา, ตติยา ตราชู
การบริหารงานที่ผิดพลาดของรัฐต่อการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 กลายเป็นชนวนใหม่ของสถานการณ์การเมืองไทยนอกสภา ที่ปะทุขึ้นหลังประชาชนต้องอยู่ในภาวะบอบช้ำมาเป็นเวลานาน ข้อมูลจากม็อบดาต้าไทยแลนด์ ระบุว่า มีการชุมนุมเกิดขึ้นทั่วประเทศภายในครึ่งปีแรกของปี 2564 มากกว่าปี 2563 ทั้งปีเสียอีก นอกจากความถี่จะมากขึ้นแล้ว แนวทางและรูปแบบการชุมนุมก็ทวีความเข้มข้นขึ้นตามความรุนแรงที่เจ้าหน้าที่รัฐใช้เพื่อปราบปรามการชุมนุมเช่นกัน
ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สังคมเริ่มหันซ้ายหันขวา เคลือบแคลงต่อประสิทธิภาพของสันติวิธีว่าจะนำพาการเปลี่ยนแปลงมาสู่ประเทศได้จริงหรือไม่นั้น โอกาสนี้วารสารเพรสจึงชวนคุณชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ผู้สนใจและศึกษาสันติวิธี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาร่วมแลกเปลี่ยนในประเด็นนี้
ก่อนจะพาคุณผู้อ่านไปร่วมแบ่งปันแง่มุมที่คุณปิยนุช โคตรสารผู้อำนวยการแอมเนสตี้ ประเทศไทย มีต่อชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องคุ้มครองสิทธิเด็กและเยาวชน ผ่านประสบการณ์ทำงานภายใต้เครือข่าย ‘ในม็อบมีเด็ก (Child in Mob)’ ที่ริเริ่มขึ้นจากการเล็งเห็นปัญหาการละเมิดสิทธิทางการเมืองของเยาวชน ตลอดการชุมนุมที่ผ่านมา
สันติวิธี อาวุธทางเลือก
นิยามของสันติวิธีคืออะไร? เป็นคำถามเปิดบทสนทนาเพื่อสร้างความเข้าใจให้ตรงกัน คุณชญานิษฐ์เล่าว่า นักสันติวิธีส่วนมาก ไม่ได้มองเห็นสันติวิธีด้วยนิยามอย่างเดียวกันทั้งหมด แต่เส้นแบ่งที่หลายคนเห็นตรงกันว่าจะก้าวข้ามไปไม่ได้ คือ การมุ่งทำร้ายหรือเอาชีวิตผู้อื่น
ถ้าเช่นนั้นคนที่ไม่เอาสันติวิธี หันมาใช้ความรุนแรงเป็นเรื่องที่ผิดหรือ? นักสันติวิธีท่านนี้ ได้เสนอประเด็นที่นักปฏิบัติการสันติวิธีจำนวนมาก ต้องการชี้ให้สังคมพิจารณามากกว่าการเป็นมาตรวัดของความถูกผิด นั่นคือ การพิจารณาสันติวิธีในฐานะเป็น ‘อาวุธทางเลือก’ เป็นเครื่องมือที่ใช้เพื่อต่อสู้ทางการเมืองหรือกับความขัดแย้งใด ๆ
“เวลาบอกว่าอะไรเป็นเครื่องมือทางยุทธศาสตร์ หรือยุทธวิธี มันหมายถึงสิ่งที่คุณเลือกมาใช้เพื่อพาคุณจากจุดนี้ ไปสู่จุดที่คุณบอกว่าคือชัยชนะทางการเมือง แน่นอนมันมีรายละเอียดเยอะแยะว่าจะทำอย่างไร สันติวิธีใช้แบบฉลาดก็ได้ ไม่ฉลาดก็ได้”
คุณชญานิษฐ์เปรียบให้เห็นภาพมากขึ้นว่า สันติวิธีเป็นเฉกเช่นดินสอที่คนใช้วาดรูป ซึ่งสุดท้ายผลลัพธ์รูปวาดที่ได้จะออกมาดีหรือไม่นั้น ก็แล้วแต่ฝีมือ ความคิดสร้างสรรค์ และความชำนาญ
สันติวิธีกับการหาพวก
การขยับตัวเองขึ้นมาเป็นอาวุธทางเลือกในการต่อสู้ทางการเมืองมาจากคุณสมบัติของ ‘การหาพวก’ ที่สันติวิธีมีมากกว่ายุทธวิธีอื่น คุณชญานิษฐ์ได้ยกทัศนะของอาจารย์เกษียร เตชะพีระ ที่ว่า “การเมืองคือการหาพวก” ประกอบการอธิบาย
“มันเชื้อเชิญคนเข้าร่วมได้มากกว่า เพราะเรียกร้องคุณลักษณะทางกายภาพที่น้อยกว่า”
คุณไม่จำเป็นต้องมีร่างกายที่แข็งแรง วิ่งเร็ว คล่องแคล่ว ยิงหนังสติ๊กแม่น เพื่อเป็นผู้เข้าร่วมในอุดมคติแบบแนวทางการใช้ความรุนแรง
เช่นนั้นแนวทางต่อสู้ทางการเมืองแบบไหนที่เหมาะจะเป็นแนวทางอุดมคติของเยาวชนบ้าง? คุณชญานิษฐ์ กล่าวว่า อาจจะเปรียบเทียบยาก เพราะเยาวชนมีร่างกายที่ได้เปรียบกว่าคนวัยอื่น อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าเยาวชนจะเป็นแกนนำหรือแนวร่วม สันติวิธีจะช่วยขยายฐานผู้คนออกไปจากเยาวชนได้ คุณป้าคุณลุงสามารถไปร่วมด้วยได้ ไม่ต้องปาประทัด ไม่ต้องวิ่งเร็ว
มายาคติของสันติวิธี
“ทำไมพอคนใช้สันติวิธีแล้วรัฐยังปราบปรามด้วยความรุนแรงอีก เราก็จะชอบอธิบายว่า อันนั้นไม่ใช่สรรพคุณทางยาของสันติวิธี”
เหตุการณ์การสลายการชุมนุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 ต.ค. ปี 2563 ณ สี่แยกปทุมวัน ฉายภาพการกดปราบจากรัฐ เพราะต้องการให้คนเงียบ กลัว หงอ อยู่บ้าน สิ่งที่รัฐวาดหวังว่าควรจะเกิดหลังจากวันนั้น คือ ไม่มีใครกล้าออกมา แต่เหตุการณ์กลับตาลปัตร คนออกมาชุมนุมที่แยกราชประสงค์มากกว่าเดิม ในวันที่ 17 ต.ค.‘paradox of repression’ เป็นชื่อเรียกของปรากฏการณ์นี้ ผลจากการปราบปรามโดยรัฐต่อผู้ชุมนุมที่ใช้สันติวิธีเกิดย้อนแย้ง คุณชญานิษฐ์อธิบายเพิ่มเติมว่า เวลารัฐปราบด้วยความรุนแรง คนยิ่งโกรธว่าทำไมปราบคนที่ไม่ใช้อาวุธและความรุนแรง กลายเป็นว่ากลุ่มคนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งโดยตรงหันมาสนับสนุน เป็นอีกหนึ่งคุณสมบัติการหาพวกของสันติวิธี (ที่ไม่มีใครอยากให้เกิด)
ต่อสู้กับตัวเอง
อีกหนึ่งมายาคติของสันติวิธีในสังคมไทยที่ดูจะน่าหงุดหงิดไม่น้อย เมื่อฟังจากน้ำเสียงระหว่างการสนทนา
“เห้ย สันติวิธีมันกวนตีนก็ได้นะ กวนประสาทก็ได้ คุณไม่ต้องนั่งเฉย ๆ สวดมนต์ ภาวนา ห้ามกวนตีน กวนประสาท ห้ามมีป้ายด่านายก แซวคนนั้น ล้อคนนี้ ห้ามแบนสินค้า”
คุณชญานิษฐ์ขยายความเพิ่มต่อไปว่า แง่หนึ่งนั้นสันติวิธีก็ต้องต่อสู้เพื่อดันเพดานให้ตัวเอง จากการถูกกดทับโดยมายาคติเหล่านี้ เสนอว่ากิจกรรมที่ทำได้นั้นมีมากมาย และสร้างสรรค์
หากแต่เมื่อสันติวิธีอวดอ้างสรรพคุณการหาพวกแล้ว เธอก็ได้ชวนคิดต่อ “เมื่อจะบอกว่าควรทำกิจกรรมนี้หรือไม่ จึงไม่ควรหยุดอยู่แค่การพิจารณาว่ามันตรงตามความหมายที่นักสันติวิธีบอกไว้ไหม แต่อาจต้องถามคำถามควบคู่ไปด้วยว่าถ้าเลือกทำกิจกรรมนี้ มันช่วยให้คุณได้พวกมากขึ้นหรือเปล่า“คุณสมบัติ บุญงามอนงค์ เคยยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่มีผู้ชายคนหนึ่งปีนขึ้นไปบนตู้คอนเทนเนอร์ แล้วทำท่าทางเหมือนปัสสาวะลงมาใส่กลุ่ม คฝ. (ตำรวจควบคุมฝูงชน) ถ้าถามกรณีนี้นิยามโดยตัวมันเอง แน่นอนว่าเป็นสันติวิธีเพราะมันไม่ได้ทำร้ายร่างกายใครเลย แต่เมื่อทำแบบนี้แล้ว ทำให้เราได้พวกเยอะขึ้นหรือไม่ คำถามนี้ต่างหากที่มันยุ่งกว่า”
เส้นทางที่เลือกสู่เป้าหมาย
ทางที่เลือกเพื่อนำไปสู่เป้าหมายหรือข้อเรียกร้องจะมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน? เป็นคำถามที่ยังฟันธงได้ยาก ประเด็นหนึ่งเรื่องประสิทธิภาพของสันติวิธีที่คุณชญานิษฐ์เสนอ คือ ข้อเรียกร้องสามารถปรากฏตัวได้ชัดเจน ขณะที่ขบวนของการใช้ความรุนแรงมักจะฝุ่นตลบจนบดบังข้อเรียกร้อง ทำให้เป็นที่รับรู้รับฟังในสังคมได้น้อยกว่า
เมื่อโยนคำถามกลับไปว่า เพราะการนำเสนอของสื่อที่จับจ้องอยู่เฉพาะความรุนแรงด้วยหรือไม่? เธอให้ความเห็นที่น่าสนใจว่า ขบวนชุมนุมไม่ได้กำลังจะสื่อสารกับผู้ร่วมชุมนุมเพียงลำพัง สื่อมวลชนถึงมีความสำคัญมาก
“ความรุนแรงมุมหนึ่งมันเป็นข่าว เป็นที่สนใจของผู้คน แต่มันวึ้บมาแล้วก็ไป มาไวไปเร็ว ไม่แปลกถ้าเวลามันเกิดคู่กัน สื่อจะจับจ้องไปที่ความรุนแรงเพราะแอ็กชันมันมาก สันติวิธีมันน่าตื่นเต้นเร้าใจน้อยกว่า”
เป้าหมายสำคัญพอ ๆ กับวิธีการ
สันติวิธีเชื่อว่าเป้าหมายไม่ได้เป็นอะไรอื่น นอกจากวิธีการที่กำลังคลี่คลายตัวเอง
เมื่อสันติวิธีเสนอแนวคิดนี้ จึงให้ความสำคัญทั้งเป้าหมายและวิธีการไปพร้อมกัน ไม่น่าแปลกใจ ถ้าจะเห็นการถกเถียงอย่างเป็นจริงเป็นจังว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ การเปิดกว้างให้คนเข้ามาคุยกันจึงจำเป็นและเป็นการปูพื้นสำหรับสังคมประชาธิปไตยที่หลายคนใฝ่ฝันตามความเห็นของคุณชญานิษฐ์
“ถ้าบอกว่าอยากได้สังคมที่ทุกคนเท่าเทียมกัน ให้เกียรติกัน คุณก็ต้องเริ่มสร้างสังคมนั้นตั้งแต่ตอนนี้ วิธีการเพื่อไปสู่เป้าหมายนั้น ต้องเป็นแบบนั้นด้วย”
นักสันติวิธีท่านนี้ ทวนคีย์เวิร์ดสำคัญที่สันติวิธีกำลังพยายามจะสื่อสารกับสังคมอีกครั้งว่าคือ คำว่า ‘ทางเลือก’
“มันมีทางเลือกแบบนี้ด้วยนะ เราสามารถทำได้นอกเหนือไปจากถ้าไม่อยู่เฉย ๆ ก็ต้องจับอาวุธขึ้นสู้ เช่น กิจกรรมคาร์ม็อบครั้งแรกที่ราชประสงค์ หงุดหงิดเหรอ โกรธใช่ไหม ตอน 6 โมงเย็น ทุกคนมาบีบแตรพร้อมกันยาวเท่ากับเพลงชาติ การกดแตรอย่างยาวนานมันปลดปล่อยได้ดีเหลือเกิน มันคือการดีไซน์กิจกรรมที่มีพื้นที่ให้กับความโกรธของผู้คน”
จุดร่วมมากกว่าที่คิด
แม้หลักการจะแตกต่างกัน แต่ในเชิงปฏิบัติการ คุณชญานิษฐ์กลับชี้ให้เห็นว่า จริง ๆ แล้ว คนที่ใช้สันติวิธีและคนที่ใช้ความรุนแรงมีจุดร่วมกันมากกว่าที่คิด เพราะไม่ว่าจะสายไหน ผู้เข้าร่วมก็ต้องมีคุณสมบัติอย่างน้อย 2 ข้อ คือ ความกล้าและความเสียสละ “เขาต้องมีความกล้าถึงจะไปบวกกับคนได้ ขบวนการสันติวิธี คุณก็ต้องมีความกล้าที่จะเดินไปเผชิญหน้ากับตำรวจโดยไม่มีอาวุธ หรือด้วยความตั้งมั่นว่าจะไม่ทำร้ายเขา เพราะฉะนั้นมันใกล้กันกว่าที่คิด ต่างกันแค่ความเชื่อในวิธีการเท่านั้นเอง สายปะทะสามารถเอาคุณสมบัติที่มีอยู่แล้ว ย้ายจากความรุนแรงมาใช้ในสันติวิธีได้เลย”
ขั้วตรงข้ามหรือเพื่อนสนิท?
ความเชื่อว่าคู่ตรงข้ามของสันติวิธีคือความรุนแรง ถูกหักล้างโดยคำบอกเล่าของนักสันติวิธีคนนี้ ด้วยความจริงที่ว่าทั้งคู่เป็นเพื่อนสนิทกันมากกว่าที่คนเข้าใจ คู่ตรงข้ามของทั้งสอง คือ การไม่ทำอะไรเลยต่างหาก
“อ๋อ มีความไม่ยุติธรรมอยู่ในสังคมนี้เหรอ ปล่อยมันไปเหอะ เพิกเฉย ไม่สนใจใยดี เป็นอะไรก็เป็นไป แต่ทั้งความรุนแรงและสันติวิธี คือ ความพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงความอยุติธรรมนั้นทั้งคู่ เป็น action (การเคลื่อนไหว) ทั้งคู่ ฝั่งหนึ่งเป็น violence action (การเคลื่อนไหวด้วยความรุนแรง) อีกฝั่งเป็น non-violence action (การเคลื่อนไหวโดยไม่ใช้ความรุนแรง) คู่ตรงข้ามคือ inaction (การเฉยชา) นั่งสวดมนต์ภาวนาขอให้โลกนี้ดีขึ้น”
อนาคตของสันติวิธี
สู้มาตั้งนานแล้ว ไม่เห็นมีอะไรเปลี่ยนแปลงเลย จนหลายคนเริ่มหันหลังและตั้งคำถามต่ออาวุธทางเลือกนี้ ในช่วงหนึ่งของการพูดคุย คุณชญานิษฐ์ได้แลกเปลี่ยนความกังวลใจในฐานะผู้สนใจและศึกษาสันติวิธี ว่า ขบวนการประชาชนอาจต้องชวนกันกลับมาประเมินความสำเร็จของขบวนการด้วย โดยไม่ด้อยค่าตัวเองและดูแคลนความสำเร็จของตัวเองเกินไป
แม้ระหว่างทาง ยังไม่มีข้อเรียกร้องไหนประสบความสำเร็จสักข้อหนึ่ง แต่มีหลายเรื่องที่ไม่เคยนึกฝันว่าจะคุยกันได้ในสังคมไทย หรือต้องแอบคุยกันด้วยเสียงกระซิบมาตลอด ตอนนี้มันขยับขยายตัวเองมาสู่ที่แจ้ง ที่สาธารณะได้สำเร็จ ได้เข้าไปคุยกันในสภา คุยกันเรื่องงบประมาณของสถาบัน
“ผู้คนจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นชาวบ้าน นักเรียน นักศึกษา กำลังมองเห็นตัวเองในมุมมองใหม่ เขามองเห็นแล้วว่าตัวเองไม่ใช่ฝุ่น ไม่ใช่คนที่รอความเมตตาจากรัฐ ครูไม่เคยคิดว่าอยู่ดี ๆ นักเรียนใส่คอซองจะลุกขึ้นมาตั้งคำถามยาก ๆ ในเรื่องของอำนาจ ปัญหาเชิงโครงสร้าง เหล่านี้เราควรให้เครดิตกับประชาชนด้วยว่า มันคือความสำเร็จทั้งสิ้น”
อีกหนึ่งข้อเสนอที่เธอได้ หลังมีโอกาสแลกเปลี่ยนกับหลายขบวนการ คือ การมีโรดแมป (แผนที่ยุทธศาสตร์) ของประชาชน อาจถึงเวลาต้องคิดและทำอย่างจริงจังว่าอีก 1 ปี หรือ 5 ปีจากนี้ไป ควรจะทำอะไร คาดหวังว่าจะได้เห็นอะไรบ้าง
“หากปัจจุบันเราสิ้นหวัง ถ้ามองย้อนกลับไป เราเริ่มสังเกตเห็นความสำเร็จก็อาจทำให้เราอยู่กับความเป็นจริงได้มากขึ้น ไม่สิ้นหวังจนเกินไป ขณะเดียวกันมองไปในอนาคตด้วย ได้มีแผน มีหมุดหมายให้เดินไปข้างหน้าด้วยกันนะ ไม่ใช่แค่มาประท้วงวันนี้แล้วก็กลับบ้าน คราวหน้าประท้วงฉันก็มาอีก” คุณชญานิษฐ์ทิ้งท้าย
คุณค่าของแต่ละเครื่องมือทางการเมืองในสายตาประชาชนที่ผกผันจนนำมาสู่การตั้งคำถามนี้ แสดงถึงพลวัตของขบวนการประชาชนที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ขณะที่ในการชุมนุมตั้งแต่ปีที่แล้ว เด็กและเยาวชนกลับเป็นตัวละครหนึ่งที่ยังปรากฏให้เห็นอยู่ตลอดไม่ผันแปร ช่วงท้ายนี้ วารสารเพรสจึงอยากชวนผู้อ่านคุยกับคุณปิยนุชกันต่อ ถึงสถานการณ์สิทธิทางการเมืองของเด็กและเยาวชนในประเทศไทย
ในม็อบมีเด็ก?
คุณปิยนุช เล่าถึงภารกิจให้ฟังว่า เครือข่าย ‘ในม็อบมีเด็ก’ หรือ ‘Child in Mob’ จะลงพื้นที่ชุมนุมเพื่อแจกแท็กใส่ข้อมือให้เด็ก แบ่งเป็นแท็กสีส้มสำหรับผู้อายุต่ำกว่า 15 ปี และแท็กสีชมพูสดสำหรับผู้อายุ 15- 18 ปี เมื่อเกิดการปะทะหรือการใช้กำลังจะได้รู้ว่าคนนั้นเป็นเด็ก รวมถึงแจกชุดคู่มือเกี่ยวกับการเตรียมตัวและรับมือกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ช่องทางติดต่อองค์กรที่เกี่ยวข้อง และหลักการปกป้องคุ้มครองเด็ก
“จะเข้าไปแสดงตน ให้เขารู้ว่าเสื้อแจ็กเกตสีชมพูคือ Child in Mob นะ เราจะไปขอพื้นที่ใกล้ ๆ กับโซนพยาบาล เพื่อตั้งเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้เด็กและเยาวชนเมื่อเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน”
ยาแก้ปวด คือ คำนิยามของภารกิจลงพื้นที่ชุมนุมเพราะเป็นเพียงการแก้ปัญหาเชิงรับมือ ในม็อบมีเด็กจึงเริ่มขยับมาทำเรื่องนโยบาย และกลไกที่จะช่วยเหลือเด็กอย่างเป็นระบบ
คุณปิยนุชยกกรณีของเด็กและเยาวชนที่โดนคดีม. 112 ว่า ในม็อบมีเด็กจะช่วยประสานงานกับทนายความ เข้าไปพูดคุย ดูแลสภาพจิตใจ ความปลอดภัย และจะประสานงานกับองค์กรเด็กที่เกี่ยวข้อง แต่เพราะเป็นคดี 112 จึงมีไม่กี่คนที่เข้ามาช่วย“พวกเราเลยทำกันเอง เข้าไปพูดคุยและเก็บข้อมูลการละเมิดสิทธิเด็ก สิทธิพลเมืองทางการเมือง แล้วส่งไปที่ คณะกรรมการว่าด้วยสิทธิเด็ก (Committee on the Rights of the Child) ตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิเด็ก (United Nations Convention on the Rights of the Child) เพราะประเทศนี้ไม่มีใครทำอะไร ก็ส่งไปข้างนอกเพื่อให้เขามาตรวจดูว่ามันเกิดอะไรขึ้น”
ปัญหาอยู่ตั้งแต่บนโต๊ะกินข้าวที่บ้าน
จากประสบการณ์การทำงานคลุกคลีกับเยาวชนมาตั้งแต่เริ่มมีการชุมนุม คุณปิยนุชสะท้อนการออกมาใช้สิทธิทางการเมืองของเยาวชนว่า เยาวชนไทยจำนวนมากเติบโตขึ้นภายใต้สถานการณ์บ้านเมืองที่ไม่เคยเป็นประชาธิปไตยเต็มที่ เมื่อต้องการจะตั้งคำถามและแสดงความไม่พอใจ กฎเกณฑ์ของสังคมและกฎหมายก็ถูกนำมาใช้ปิดปาก และกันพวกเขาออกไป ไม่ให้ยุ่งกับการเมือง
โซเชียลมีเดียเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เยาวชนมีพื้นที่สื่อสาร เธอเปรียบว่าเหมือนเอาทวิตเตอร์มาลงถนน ข้อความหรือพลวัตจึงต่างจากวิถีการชุมนุมที่เคยเป็นมาในอดีต เป็นม็อบออร์แกนิก แฟลชม็อบเดี๋ยวเดียวแล้วกลับ น้อยมากที่จะค้างคืน
“แต่ก็ใช่ว่าเด็กจะสามารถทำได้อย่างสนุกสนานโดยไม่มีอุปสรรคขวางกั้น ตั้งแต่โต๊ะกินข้าวที่บ้าน ยันที่โรงเรียนก็ดี พื้นที่มันไม่มี คุณควรจะดีใจรึเปล่า ที่เด็กมี critical thinking (การคิดเชิงวิพากษ์) แต่สิ่งที่คุณทำคือกดเขาลงไป แค่ประท้วงเรื่องตัดผมยังไม่ได้เลย และคุณไม่ควรจะเปิดประตูให้รองเท้าบู๊ตเข้ามาจัดการเด็กรึเปล่า”
คุณปิยนุชมองว่าปัญหาเกิดจากความไม่เชื่อในศักยภาพของเด็กและเยาวชน เพราะตัวผู้ใหญ่เองเกิดและเติบโตมาด้วยวัฒนธรรมการโดนกดว่าทำอะไรเองไม่ได้ ต้องเชื่อฟัง ไม่ควรท้าทาย เพราะผู้ใหญ่(ในยุคเขา)ฉลาด เมื่อเด็กยุคนี้คิดเอง ทำเองได้ จึงถูกตีตราว่าโดนหลอก มีผู้อยู่เบื้องหลัง ทั้งที่ผู้ใหญ่ต่างหากที่ต้องเรียนรู้จากเด็ก
รัฐและตำรวจควบคุมฝูงชนกระทำเลยเส้นสิทธิเด็ก
เมื่อพูดถึงวิธีการปราบปรามผู้ชุมนุมของตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น คุณปิยนุชกำชับว่า ตำรวจจะต้องคำนึงถึงเด็กและเยาวชนด้วย เพราะร่างกายจะมีภาวะต้านทานแก๊สน้ำตาที่เปราะบางกว่าผู้ใหญ่
“ทุกคนโดนเจ้าหน้าที่รัฐตะคอก ตะโกนด่าใส่ ซึ่งมันไม่มีในกระบวนการ การดำเนินคดีก็ปฏิบัติกับเด็กเยาวชนเหมือนไปปล้นธนาคารมา เขาไม่ควรเข้าไปอยู่ในคุกแล้วไม่มีสิทธิประกันตัว ไม่ควรจะโดนคดีรุนแรงอย่างยุยงปลุกปั่นด้วยซ้ำ
“เด็กผู้หญิงอายุ 14 ปี โดน 112 ถูกควบคุมตัวพาไปอยู่ที่ไหนไม่รู้ คืนนั้นเขาต้องเจออะไรบ้าง กฎบอกว่าต้องเจอนักจิตวิทยา นักจิตวิทยากลับบอกว่า มันไม่ผิดหรอกนะถ้าจะสารภาพว่าเราทำผิด กลายเป็นว่าปัญหามันไปอยู่ทุกที่ทุกกระบวนการเลย”
คุณปิยนุชกล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันสิ่งที่รัฐไทยกำลังทำนั้นละเมิดทั้งพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก กติกาสากลว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และข้อวินิจฉัย (general comment) ที่ 37 ของสหประชาชาติ ซึ่งประเทศไทยมีพันธกรณีที่จะต้องทำตาม
ผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนท่านนี้ได้แบ่งปันประสบการณ์ที่เคยได้เข้าไปพูดคุยกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เรื่องการคุกคามเด็กในโรงเรียนว่า ตำรวจบอกว่าสิ่งที่เขาทำนั้นเป็นการช่วยเด็ก เป็นการเตือนเด็กก่อน เพื่อที่ว่าเด็กจะได้ไม่โดนคดีทีหลัง โดยไม่ได้มองว่าการกระทำเหล่านี้เป็นการคุกคาม “นี่คือสิ่งที่เขาคิดเพราะฉะนั้นมันน่ากลัวกว่า ตรงที่เขาเชื่อว่าเขาช่วยจริง ๆ เหมือนไม่ได้อยู่ในโลกเดียวกัน พูดกันคนละภาษา”
เมื่อถามกลับไปว่าถ้าได้มีโอกาสเข้าไปพูดคุยอีกครั้ง จะบอกกับสตช.ว่าอย่างไร?
คุณปิยนุชฝากข้อความผ่านวารสารเพรสว่า อยากให้หยุดชุดความเชื่อต่าง ๆ ที่เคยเชื่อมาก่อน แล้วลองมาดูที่เส้นสิทธิเด็กที่มีความเป็นสากล อย่าใช้เครื่องมือที่มีโจมตีเขา แต่จงปกป้องเขาตามศักยภาพที่ทำได้
“สิ่งที่คุณทำตอนนี้มันไม่เวิร์ก เพราะทำเท่าไหร่มันก็ไม่ได้ผล มันพิสูจน์แล้วว่าในช่วงเวลาที่ผ่านมาการใช้กำลังไม่สามารถหยุดเด็กให้เลิกออกมาได้ แล้วคุณจะทำต่อไปทำไม งั้นคุณเปิดพื้นที่ให้เขาได้ไหม แล้วก็เอื้ออำนวยลองดูสิ ถ้ามันไม่เวิร์กก็ค่อยว่ากัน นี่ยังไม่ทันจะลองดูเลย” คุณปิยนุชกล่าว
ไร้ซึ่งการบังคับใช้และการรับผิด
สำหรับกฎหมายคุ้มครองเด็กในประเทศไทย คุณปิยนุชมีความเห็นว่า ค่อนข้างก้าวหน้าเมื่อเทียบกับที่อื่น สาเหตุที่ยังคงเห็นการละเมิดสิทธิเด็กและเยาวชนอยู่ เพราะประเทศไทยมีกลไก (mechanism) แต่ไม่มีการบังคับใช้ (enforce) และไม่มีกระบวนการติดตามคนที่กระทำผิดมารับผิดรับชอบ “ไม่มีสักครั้งตั้งแต่มีการชุมนุมมา ที่มีการสืบสวนว่าใครทำอะไรเด็กบ้าง”
และขยายความต่อถึง การคงไว้ซึ่งความรับผิดชอบ (accountability) และความโปร่งใส่ (transparency) ว่า คือโจทย์ที่ต้องแก้ของการทำงานเรื่องนี้ ในขณะที่โจทย์ของสังคมคือ สร้างการตระหนัก (awareness) เรื่องสิทธิเด็กให้มากพอ “แม้แต่เจ้าหน้าที่ในองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่อ่านพ.ร.บ.คุ้มครองเด็กแล้ว อยากรู้ว่าเขารู้และเข้าใจเรื่องนี้แค่ไหน”
องค์กรเด็กกับความกลัว
คุณปิยนุชให้ข้อมูลกับวารสารเพรสว่า ตั้งแต่ 18 ก.ค.ปี 2563 – 24 ส.ค. ปี 2564 มีเด็กและเยาวชนถูกดำเนินคดี จากการใช้สิทธิในการชุมนุมแล้ว 995 คน และเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทยที่มีเยาวชนต่ำกว่า 18 ปี ถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 เป็นจำนวนมาก
“ประเทศไทยมีองค์กรเด็กเยอะมาก และทำงานในประเด็นอื่นอย่างความรุนแรงต่อเด็กค่อนข้างก้าวหน้ามาก แต่พอมันเป็นมิติสิทธิเด็กที่เกี่ยวข้องกับสิทธิการแสดงออกทางการเมือง กลับไม่มีใครกล้าแตะ”
ตัวแทนจากเครือข่ายที่พยายามทำงานเรื่องสิทธิทางการเมืองของเด็กคนนี้ ได้ออกตัวว่า Child in Mob ไม่ได้มีองค์กรที่เชี่ยวชาญเรื่องเด็กทั้งหมด เธอจึงคาดหวังให้ผู้ที่เป็นสหวิชาชีพ ทนายที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องเด็ก องค์กรเด็ก คณะกรรมาธิการเด็กในสภาที่ดูแลเรื่องนี้ ออกมาทำความเข้าใจกับ คฝ. หรืออบรม คฝ. เกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติต่อเด็กและเยาวชนที่ถูกต้อง
แต่เพราะมีคำว่า ‘การเมือง’ พ่วงท้าย จึงแทบไม่มีใครกล้ามาออกมาทำอะไรสักอย่าง ซึ่งการเมินเฉยนี้ ก็นับเป็นการละเมิดสิทธิอย่างหนึ่ง
‘ความกลัว’ นี้มีสาเหตุจากอะไร คุณปิยนุชชี้ว่า อาจเป็นเพราะหลายองค์กรเด็กได้รับทุนสนับสนุนจากรัฐ และต้องทำงานโดยประสานงานกับภาครัฐอยู่ จึงหลีกเลี่ยงการท้าทายรัฐ หรือหากเป็นองค์กรระหว่างประเทศจะต้องจดทะเบียนกับกระทรวงแรงงาน มีการต่อใบอนุญาต กลายเป็นไพ่ใบหนึ่งที่รัฐใช้กดดันให้ห้ามยุ่งเรื่องการเมือง
รวมถึงร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการดำเนินงานขององค์กรที่ไม่แสวงหารายได้หรือกำไรมาแบ่งปันกัน ที่หากผ่านและบังคับใช้ จะยิ่งสร้างความลำบากให้กับองค์กรอย่าง แอมเนสตี้ หรือ ไอลอว์ เพราะกฎหมายนี้เปิดช่องให้รัฐเข้ามาแทรกแซงจัดการได้
“เราก็เข้าใจได้ลึก ๆ ว่าเขาทำไปเพื่อประโยชน์สูงสุดขององค์กร แต่ประเด็นคือ ทุกคนได้คิดถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กหรือเปล่า สิ่งนี้เป็นเป้าสูงสุดที่อยู่บนหิ้งเลยว่า ถ้าคุณทำงานเพื่อเด็ก ประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด คนที่ทำงานองค์กรเด็กจะต้องตระหนัก”
อ้างอิง