เรื่อง: น้ำฝน หนุ่นสี
ร้านค้าศูนย์อาหารกรีนแคนทีน และโรงอาหารรอบดึก มธ. ศูนย์รังสิต ยอดขายลดลง เหตุโควิด-19 ระบาด ด้านบริษัทซีพีเอฟฯ ซึ่งเป็นผู้ถือสัมปทานมีมาตรการปรับลดค่าเช่าร้อยละ 70
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต ได้เปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนเป็นแบบออนไลน์ตั้งแต่ปีการศึกษา 2563-2564 ทำให้โรงอาหารกว่า 13 แห่งใน มธ. ปิดให้บริการ ส่งผลกระทบให้รายได้ของผู้ประกอบการร้านค้าขาดทุน แต่ยังคงมีโรงอาหารที่เปิดให้บริการ จำนวน 2 แห่ง คือ ศูนย์อาหารกรีนแคนทีน และโรงอาหารรอบดึก โดยช่วงกลางวันศูนย์อาหารกรีนฯ จะเปิดให้บริการ 08:00-18:00 น. และช่วงเย็นโรงอาหารรอบดึกเปิดให้บริการ 16:00-23:00 น.ซึ่งทาง มธ. ได้ให้บริษัทซีพีเอฟ เรสเทอรองท์ แอนด์ ฟู้ดเชน จำกัด เป็นผู้ถือสัมปทาน อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการร้านค้าบางส่วนต้องการให้เพิ่มการเยียวยามากขึ้น การเปิดให้บริการของทั้ง 2 แห่ง ไม่สามารถช่วยให้ผู้ประกอบการร้านค้ามีรายได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากจำนวนผู้ที่เข้ามาภายในมหาวิทยาลัยลดลงและนักศึกษาที่อยู่หอพักเริ่มทยอยกลับบ้านกันไปกว่าครึ่งหนึ่ง ทำให้ร้านค้าศูนย์อาหารกรีนฯ และโรงอาหารรอบดึกที่มีจำนวนประมาณ 50 ร้าน เปิดขายเพียง 19 ร้าน
นาย ก. (นามสมมติ) ผู้ประกอบการร้านค้าโรงอาหารรอบดึก กล่าวว่า ช่วงที่ยังไม่มีโควิด-19 ขายอาหารตามสั่งรายได้วันละ 6,000-10,000 บาท ปัจจุบันนักศึกษาที่อยู่หอพักลดลงเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะขายให้กับเจ้าหน้าที่และบุคคลทั่วไป ทำให้รายได้ลดลงเหลือวันละ 1,000-2,000 บาท ซึ่งยังไม่ได้หักรายจ่ายต่าง ๆ ช่วงที่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ทางบริษัทที่ถือสัมปทานมีมาตรการลดค่าเช่าให้ร้านที่เปิดขายร้อยละ 70 ส่วนร้านที่ไม่เปิดขายจะงดเก็บค่าเช่าแต่จะเรียกเก็บค่าบำรุงมิเตอร์น้ำ-ไฟร้อยละ 10 อย่างไรก็ตามอยากให้ทางบริษัทลดค่าเช่าเพิ่มอีก เป็นร้อยละ 80 สำหรับร้านที่ไม่เปิดขายแต่ยังเช่าพื้นที่ต่อ ให้งดจ่ายค่าบำรุงต่าง ๆ
นาง ข. (นามสมมติ) ผู้ประกอบการร้านค้าโรงอาหารรอบดึก กล่าวว่า ช่วงแรกที่ตัดสินใจมาขายที่โรงอาหาร เพราะได้รับการชักชวนจากร้านก๋วยเตี๋ยวร้านหนึ่งในโรงอาหาร ส่วนใหญ่ร้านค้าที่มาเปิดขายอาหารที่โรงอาหาร ต้องทดสอบทำอาหารให้ทาง มธ. ชิม ก่อนที่จะได้รับอนุญาตเปิดร้าน ช่วงที่มาขายครั้งแรกเมื่อปี 2553 ค่าเช่าเดือนละ 8,000-10,000 บาท แต่ปี 2557 มธ. ให้บริษัทซีพีเอฟฯ เป็นผู้ดูแล ทำให้ทางบริษัททำสัญญาเช่ากับผู้ประกอบการร้านค้าในโรงอาหาร เป็นเวลา 1 ปี โดยทางบริษัทจะมีการปรับราคาเช่าขึ้น-ลงร้อยละ 5-10
นาง ค. (นามสมมติ) ลูกจ้างร้านอาหารศูนย์อาหารกรีนแคนทีน กล่าวว่า ทางบริษัทมีการเรียกเก็บค่าเช่าไม่เท่ากัน ร้านค้าที่ขายได้กำไรทางบริษัทจะเรียกเก็บร้อยละ 30 ของค่าเช่า ส่วนร้านค้าที่ขายไม่ได้หรือขายขาดทุนทางบริษัทจะเรียกเก็บร้อยละ 10 ของค่าเช่า ซึ่งส่วนใหญ่ร้านจะขายอาหารไม่ค่อยดี หรือถ้าหากขายดีก็พอจ่ายแค่ค่าจ้างลูกน้องและค่าอาหารวันต่อวัน
นาง ค. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการเช่าพื้นที่จะต้องทำสัญญาเช่ากับทางบริษัทเป็นเวลา 1 ปี มีการวางเงินประกันจำนวน 60,000 บาท แต่หากทำผิดสัญญาเช่าหรือย้ายออกก่อนกำหนด ทางบริษัทจะยึดเงินประกันทั้งหมด ในเรื่องของสัญญาเช่า ด้านผู้จัดการศูนย์อาหารกรีนแคนทีนไม่สามารถให้ข้อมูลได้ เนื่องจากเป็นเอกสารสำคัญของทางบริษัท
นายนฐพล เมฆเมฆานันท์ ผู้จัดการโรงอาหารปิยชาติ ให้สัมภาษณ์ว่า ในแต่ละเดือนได้มีการแจ้งมาตรการให้ความช่วยเหลือเกี่ยวกับร้านค้าศูนย์อาหารกรีนแคนทีน และโรงอาหารรอบดึกให้ทาง มธ. ทราบ โดยมาตรการให้ความช่วยเหลือร้านค้าต่าง ๆ จะเป็นการลดค่าเช่าให้กับผู้ประกอบการร้านค้าที่ยังเปิดขายร้อยละ 70 ซึ่งโดยปกติค่าเช่าแต่ละพื้นที่จะราคาไม่เท่ากัน ร้านค้าประเภทฟู้ดคอร์ทและร้านค้าประเภทแบรนด์ เช่น วัวล้วน ๆ ค่าเช่าประมาณ 18,000-20,000 บาทต่อเดือน ร้านค้าประเภทอาหารทานเล่น เช่น ผลไม้ ขนมหวาน ค่าเช่าประมาณ 5,000-6,000 บาทต่อเดือน ในส่วนของร้านค้าที่ไม่เปิดขายแต่ยังเช่าพื้นที่ต่อ ทางบริษัทซีพีเอฟฯ มีมาตรการไม่เก็บค่าเช่า แต่จะเรียกเก็บค่าบำรุงรักษามิเตอร์น้ำ-ไฟ และค่าทำความสะอาดร้านร้อยละ 10 เนื่องจากโรงอาหารเปิดให้บริการปกติ การที่จะปล่อยให้ร้านค้าสกปรกหรือมีฝุ่นอาจส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของศูนย์อาหารกรีนแคนทีน และโรงอาหารรอบดึก
“มาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการให้ความช่วยเหลือตั้งแต่ปี 2563-2564 ซึ่งทางร้านค้าสมัครใจที่จะเปิดขายต่อ และช่วงนี้เริ่มใช้ภาชนะได้แล้ว ทางบริษัทก็ยังคงลดค่าเช่าเหมือนเดิม เพื่อให้ร้านค้าพยุงธุรกิจของเขาต่อไปได้” นายนฐพลกล่าว