ทุกคนเคยสงสัยหรือไม่ว่า ความสุขอยู่ที่ไหน? แล้วอะไรคือตัวกำหนดสิ่งที่เรียกว่าความสุข? หรือจริง ๆ แล้วความสุขไม่มีอยู่จริง หรืออาจจะมีอยู่จริงแต่ยังไม่เกิดขึ้นกับเรา ในวันนี้วารสารเพรสจึงเชิญพระอาจารย์สมบูรณ์ สุจิตฺโต พระธรรมวิทยากรวัดบางขันมาให้คำตอบว่าแท้จริงแล้ว ‘ความสุขอยู่หนใด’
ความสุขคืออะไร?
ความสุขแบ่งได้ 2 ประการ 1. ความสุขทางกาย คือความสุขที่ไม่ต้องดิ้นรน ไม่ต้องรู้สึกเจ็บป่วย ไม่ต้องเหนื่อยล้ากับการทำงานหรือสิ่งต่าง ๆ รอบตัว 2. ความสุขทางใจ คือความสุขที่ไม่ได้คิดอิจฉาตาร้อนใคร ไม่ได้คิดที่จะลักขโมยของใครเพื่อนำมาเป็นของเรา สิ่งนี้เรียกว่าความสุข
‘ความสุขทางกาย’ กับ ‘ความสุขทางใจ’ ความสุขแบบไหนคือความสุขที่แท้จริง?
ความสุขทางกายกับความสุขทางใจคือความสุขเหมือนกัน แต่ถ้าเป็นความสุขที่แท้จริงคงเป็นความสุขทางใจมากกว่า เพราะความสุขเริ่มต้นที่หัวใจสั่งให้ร่างกายลงมือทำ เปรียบเหมือนกับเราถามพ่อกับแม่ว่ากินข้าวหรือยัง กินข้าวอร่อยไหม ดูละครเรื่องอะไร คำถามเหล่านี้เป็นคำถามธรรมดาแต่ทำให้พ่อกับแม่รู้สึกสุขใจ สิ่งนี้เรียกว่าความสุขทางใจ แต่ถ้าพ่อกับแม่กินข้าวอิ่มทุกมื้อแล้วลูกไม่คุยด้วย ไม่ดูแลให้ความรัก ไม่ให้ความใส่ใจพ่อแม่ สิ่งเหล่านั้นอาจทำให้พ่อแม่รู้สึกสุขกายแต่ไม่สุขใจเท่ากับคำถามธรรมดาที่ลูกถามพ่อกับแม่ว่ากินข้าวหรือยัง
ความสุขมีจุดเริ่มต้นมาจากอะไร?
ความสุขเริ่มต้นจากตัวเรา เช่น การไม่มีโรค การไม่เจ็บไข้ได้ป่วย สิ่งนั้นคือจุดเริ่มต้นของความสุขที่มาจากตัวเรา ส่วนคนรอบตัวเราอาจเป็นได้ทั้งความสุขและความทุกข์ เช่น พ่อแม่ขาเจ็บ พ่อแม่เกิดความทุกข์ทางกาย ส่งผลให้เราเกิดความทุกข์ทางใจ เพราะเราเห็นพ่อแม่เจ็บเราก็เจ็บตามไปด้วย ซึ่งความสุขเกิดจากตัวเราทั้งหมด ส่วนคนรอบตัวเป็นตัวเสริมเพื่อให้เราเกิดความสุขมากขึ้น
ทั้งนี้ทั้งนั้นสังคมปัจจุบันจะมีความสุขหรือมีความทุกข์เริ่มต้นจากตัวเรา ครอบครัว และคนรอบข้าง ตามลำดับ ดังคำสอนที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ความทุกข์เกิดง่ายกว่าความสุข ความทุกข์ประกอบไปด้วยอริยสัจ 4 อริยะ แปลว่า ประเสริฐ สัจจะ แปลว่า ความจริง รวมกันเป็นความจริงอันประเสริฐ 4 ประการ ได้แก่ ทุกข์ คือความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ สมุทัย คือเหตุของการเกิดทุกข์ นิโรธ คือหนทางแห่งการดับทุกข์ และสุดท้าย มรรค คือสิ่งที่นำไปปฏิบัติ สิ่งเหล่านี้คือจุดเริ่มต้นของการเกิดความทุกข์ แต่เมื่อเรามีความทุกข์ เราก็ต้องรู้ว่าความทุกข์เกิดขึ้นเพราะอะไร ใครกำหนดทุกข์ ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแล้วมาจากตัวเราเป็นผู้กำหนดว่าเราจะสุขหรือเราจะทุกข์
หัวใจเป็นตัวนำพาให้พบกับความสุขจริงหรือเปล่า?
หัวใจไม่ใช่ตัวนำพาความสุข องค์ประกอบทั้ง 5 ประการเป็นตัวนำพาหัวใจให้มีความสุข ซึ่งประกอบไปด้วย หู ตา จมูก ลิ้น และกายสัมผัส เป็นตัวนำพาความรู้สึกต่าง ๆ ผ่านหัวใจลงสู่การกระทำ โดยการกระทำทุกอย่าง มันมีเหตุและมีผลของมัน
เพราะเหตุใดความสุขจึงไม่ใช่ความสงบ ?
ถ้าพูดถึงความสงบ มันไม่สงบเสมอไป ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่ที่ตัวเรา เช่น เราไปเที่ยวต่างจังหวัดเพื่อหวังที่จะพักผ่อนแต่ก็ไม่ได้พักผ่อน เพราะว่าจังหวัดที่เราไปนั้นอาจจะมีคนทะเลาะกันบ้าง เปิดเพลงเสียงดังบ้าง ความสงบไม่มีจริงเสมอไป แต่เมื่อใดที่เราพ้นจากโลกนี้ไปแล้ว เราอาจจะพบเจอกับความสงบที่แท้จริง เนื่องจากเราได้สงบจิต สงบใจ สงบกายลงแล้ว
แนวทางการใช้ชีวิตให้มีความสุขเป็นอย่างไร?
คือการใช้ชีวิตให้มีความพอดี ตามหลักพระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า นิติธรรมสุขประโยชน์หรือประโยชน์ในภพนี้ เป็นหลักธรรมะของฆราวาส ได้แก่ อุฏฐานสัมปทา คือ มีความขยันหมั่นเพียรในการทำงาน เพื่อให้รากฐานการทำงานเป็นที่มั่นคง อารักขสัมปทา คือการหมั่นรักษาทรัพย์ที่พ่อแม่ให้มา เช่น ที่ดิน บ้าน รถ หรือเงินทองให้ดูแลรักษาไว้ไม่ให้หมดไป กัลยาณมิตตตา คือเพื่อนที่ดี มิตรที่ดี อย่างเช่นเพื่อนที่พาไปเกเร ดื่มสุรา อบายมุขต่าง ๆ คบได้แต่ให้คบอย่างพอประมาณ ไม่ควรใส่ใจมากเกินไป ข้อสุดท้าย สมชีวิตา คือเลี้ยงชีพโดยพอประมาณ อย่างเช่นการใช้เงินฟุ่มเฟือยมากจนเกินไป ควรใช้อย่างพอประมาณมีมากใช้น้อย มีน้อยก็ใช้น้อย ให้รู้จักประหยัดอดออม เพื่อที่ทุกอย่างจะออกมาพอดีและเราเองก็จะได้พบกับความสุขที่แท้จริง