Writings

ใช้โปรแกรมเถื่อน…แลกกับอะไร?

เรื่อง : ฐิดาพร พิมพ์สีโคตร 

ภาพประกอบ : ไหมไทย จรดล และ สโรชา คล้ำครื้น

ในยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญของการศึกษา ซอฟต์แวร์และโปรแกรมคอมพิวเตอร์กลายเป็นเครื่องมือพื้นฐานที่ขาดไม่ได้สำหรับนักศึกษา ไม่ว่าจะเป็นการใช้เพื่อการเรียนรู้ การทำรายงาน การวิจัย หรือการสร้างสรรค์ผลงาน อย่างไรก็ตาม แม้สถานศึกษาบางแห่งจะมีโปรแกรมลิขสิทธิ์พื้นฐานให้บริการ แต่โปรแกรมเฉพาะทางที่มีค่าใช้จ่ายสูง ยังคงเป็นอุปสรรคสำหรับนักศึกษาจำนวนไม่น้อย ด้วยข้อจำกัดด้านค่าใช้จ่าย ทำให้ปัญหาการใช้งานซอฟต์แวร์ที่ไม่ถูกลิขสิทธิ์ หรือที่เรียกกันว่า ‘โปรแกรมเถื่อน’ ยังคงมีอยู่แพร่หลาย บทความนี้ผู้เขียนจะนำเสนอประเด็นนี้ผ่านมุมมองแบบ Data Storytelling ที่เก็บข้อมูลพื้นฐานผ่าน Google Form เพื่อบอกเล่าความจริงที่ซ่อนอยู่

ความเสี่ยงด้านกฎหมาย เมื่อการใช้โปรแกรมเถื่อนคือการละเมิดลิขสิทธิ์

สิ่งที่ผู้ใช้โปรแกรมเถื่อนต้องตระหนักถึง คือความเสี่ยงทางกฎหมาย กฎหมายลิขสิทธิ์ของประเทศไทยให้ความคุ้มครองโปรแกรมคอมพิวเตอร์อย่างชัดเจนในฐานะ งานวรรณกรรม ซึ่งมีพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ที่ได้รับการแก้ไขเพิ่มเติมโดยฉบับที่ 5 พ.ศ. 2565 โดยระบุถึงความหมายของโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และการกระทำที่ถือเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรง เช่น การทำคักลอก การดัดแปลง การเผยแพร่ หรือการให้เช่า โดยไม่ได้รับอนุญาต

การกระทำเหล่านี้มีบทลงโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมาย ทั้งในทางแพ่ง (การเรียกค่าเสียหาย) และทางอาญา หากเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์เพื่อการค้า มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 4 ปี หรือปรับสูงสุดถึง 800,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนการละเมิดลิขสิทธิ์ที่ไม่ใช่เพื่อการค้า มีโทษปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 200,000 บาท 

แม้ในทางปฏิบัติ การดำเนินคดีกับผู้ใช้งานรายย่อยอาจไม่บ่อยเท่าการดำเนินคดีกับองค์กรหรือธุรกิจ แต่ความเสี่ยงทางกฎหมายและบทลงโทษดังกล่าวยังคงมีอยู่จริง และถือเป็นความเสี่ยงพื้นฐานประการแรกที่ผู้ใช้งานควรตระหนักถึง

สถานการณ์และสาเหตุ ภาพสะท้อนปัญหาโปรแกรมเถื่อนในกลุ่มนักศึกษา

จากความเสี่ยงทางกฎหมายที่มีอยู่ คำถามคือเหตุใดการใช้โปรแกรมเถื่อนยังคงแพร่หลายในกลุ่มนักศึกษา? จากการสำรวจข้อมูลแบบสอบถาม  Google Form ชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์ที่น่าสนใจ โดยกลุ่มตัวอย่างนักศึกษาจำนวน 52 คน พบว่า มากถึง 48.1% ยอมรับว่าเคยหรือกำลังใช้โปรแกรมเถื่อน ตัวเลขนี้สะท้อนว่าเกือบครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างกำลังเผชิญกับความเสี่ยงทางกฎหมายและด้านอื่นๆ อยู่

สาเหตุหลักที่นักศึกษาเลือกใช้โปรแกรมเถื่อนนั้นมีหลายปัจจัย 3 อันดับแรก พบว่าโดยส่วนใหญ่มาจากข้อจำกัดด้านค่าใช้จ่าย (ไม่สามารถจ่ายได้) ต่อมาคือการขาดทางเลือกซอฟต์แวร์ฟรีที่ตอบโจทย์ และสุดท้ายคืออิทธิพลจากคนรอบข้างที่ใช้กันอยู่ 

สาเหตุเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความท้าทายในการเข้าถึงโปรแกรมลิขสิทธิ์ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ต้องหาทางแก้ไข แต่การเลือกใช้โปรแกรมเถื่อนเพื่อแก้ปัญหานี้ นำมาซึ่งผลกระทบที่รุนแรงกว่าที่คิด

ผลกระทบจริงที่ผู้ใช้งาน ประสบการณ์ตรงจากแบบสำรวจ

ปัญหาจากการใช้โปรแกรมเถื่อนไม่ใช่แค่เรื่องทฤษฎีทางกฎหมายเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่ผู้ใช้งานจำนวนมากเคยประสบพบเจอจริง จากการสำรวจข้อมูลแบบสอบถาม Google Form  ซึ่งมาจากการสำรวจนักศึกษา 28 คน ที่เคยใช้โปรแกรมเถื่อน ยืนยันว่า มากกว่า 75% เคยได้รับผลกระทบจากการใช้งานจริง

ประเภทของผลกระทบ และจำนวนผู้ที่เคยประสบปัญหานั้นๆ พบว่าครอบคลุมตั้งแต่ปัญหาทางเทคนิคพื้นฐานต่างๆ เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานช้าลง หรือโปรแกรมหยุดทำงาน ไปจนถึงปัญหาด้านความปลอดภัยที่รุนแรงกว่า เช่น เครื่องติดไวรัสหรือมัลแวร์ การโดนแฮกหรือขโมยข้อมูล และความเสียหายหรือการสูญหายของข้อมูลในเครื่อง ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีผู้ที่เคยพบปัญหาด้านกฎหมาย เช่น ได้รับจดหมายเตือน หรือปัญหาฮาร์ดแวร์ถึงขั้นเครื่องคอมพิวเตอร์พัง และกรณีร้ายแรงอย่างการโดนดักจับรหัสบัตรเครดิตและถูกดึงเงิน

ตัวอย่าง ผู้ให้สัมภาษณ์ระบุว่าหลังจากใช้โปรแกรมเถื่อนอยู่ระยะหนึ่ง ได้รับแจ้งเตือนว่าเงินในบัญชีถูกโอนออกจากธนาคารโดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้ต้องรีบติดต่อธนาคารและอายัดบัตรทันที ต้องเสียเวลาในการแก้ไขปัญหาเป็นอย่างมาก”

นั่นย้ำให้เห็นว่า การใช้โปรแกรมเถื่อนนำมาซึ่งความเสี่ยงที่จับต้องได้ และสามารถสร้างความเสียหายทั้งต่ออุปกรณ์ ข้อมูลส่วนตัว ทรัพย์สิน และนำไปสู่ปัญหาทางกฎหมายได้จริง

ภัยร้ายที่ซ่อนอยู่ ความเสี่ยงด้านความปลอดภัยที่มักถูกมองข้าม

ผลกระทบด้านความปลอดภัยที่กล่าวมาในข้างต้น ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่เป็นภัยที่มักถูกซ่อนมาพร้อมกับโปรแกรมเถื่อน ปัญหาที่น่ากังวลอีกอย่างจากการใช้โปรแกรมเถื่อนคือความเสี่ยงที่ข้อมูลส่วนตัวจะรั่วไหลโดยไม่รู้ตัว เมื่อผู้ใช้ดาวน์โหลดและติดตั้งโปรแกรมจากแหล่งที่ไม่น่าเชื่อถือ ผู้ใช้จะไม่มีทางทราบได้เลยว่านอกจากตัวโปรแกรมที่ต้องการแล้ว มีอะไร ‘ติดมาด้วย’ บ้าง

โปรแกรมเถื่อนจำนวนมากถูกออกแบบมาให้มีการติดตั้งมัลแวร์ สปายแวร์ หรือแรนซัมแวร์แฝงมาด้วย มัลแวร์เหล่านี้มีความสามารถในการทำงานอยู่เบื้องหลังอย่างเงียบๆ เพื่อดักจับข้อมูลสำคัญ เข้าถึงและคัดลอกไฟล์ข้อมูลส่วนตัว ควบคุมเครื่องจากระยะไกล หรือแม้กระทั่งใช้เครื่องของผู้ใช้เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายอาชญากรรม เพื่อใช้ในการโจมตีทางไซเบอร์อื่นๆ 

ตัวอย่างของมัลแวร์ที่แพร่กระจายผ่านช่องทางนี้ เช่น มัลแวร์ SteelFox ที่นักวิจัยจาก Securelist ตรวจพบว่าแพร่กระจายผ่านโปรแกรม Activator สำหรับซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ ซึ่งมัลแวร์ชนิดนี้สามารถขโมยข้อมูลที่ละเอียดอ่อนจากคอมพิวเตอร์ที่ติดไวรัสได้

หากข้อมูลส่วนตัว เช่น ข้อมูลทางการเงิน ประวัติการสนทนา หรือเอกสารสำคัญ ตกไปอยู่ในมือผู้ไม่ประสงค์ร้าย ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงส่วนบุคคล อาจนำไปสู่การโจรกรรมทางการเงิน การแอบอ้างตัวตน การขู่กรรโชก หรือแม้แต่การสอดแนม และหากปัญหานี้เกิดขึ้นในวงกว้าง ก็อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางไซเบอร์และเศรษฐกิจในระดับประเทศได้

จากข้อมูลและประเด็นที่นำเสนอผ่าน Data Storytelling จะเห็นได้ว่าปัญหาการใช้โปรแกรมเถื่อนไม่ใช่แค่เรื่องเล็กน้อยของผู้ใช้งานแต่ละคน แต่เป็นปัญหาที่มีความซับซ้อนและเชื่อมโยงกัน ตั้งแต่ความเสี่ยงทางกฎหมายโดยตรง ปัญหาความปลอดภัยของข้อมูลและอุปกรณ์ที่เกิดขึ้นจริงในระดับบุคคล ไปจนถึงภัยคุกคามที่อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางไซเบอร์และเศรษฐกิจในวงกว้าง 

การแก้ปัญหาการใช้โปรแกรมเถื่อนจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ภาครัฐควรให้ความสำคัญและสนับสนุนงบประมาณเพื่อให้สถานศึกษาสามารถจัดหาซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์พื้นฐานและเฉพาะทางที่จำเป็นแก่นักศึกษาได้อย่างทั่วถึง ควบคู่ไปกับการดำเนินมาตรการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การสร้างความตระหนักรู้ด้านกฎหมายลิขสิทธิ์และภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ถูกต้อง เพื่อให้นักศึกษาและผู้ใช้งานทั่วไปเข้าใจถึงความเสี่ยงและผลกระทบที่แท้จริงของการใช้โปรแกรมเถื่อน


รายการอ้างอิง

กรมทรัพย์สินทางปัญญา. (2565). พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2565. วันที่สืบค้น 18 เมษายน 2568. https://www.ipthailand.go.th/th/dip-law-2/item/act_cr65.html

กรมที่ดิน. (ม.ป.ป.). กฎหมายลิขสิทธิ์ของไทย. วันที่สืบค้น 19 เมษายน 2568. https://www.dol.go.th/it/Pages/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B9%89%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%A2%E0%B8%A7%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%9A%20Software/%E0%B8%81%E0%B8%8F%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%82%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B8%97%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B9%8C%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2.aspx

Antivirus.in.th. (2563). ภัยอันตราย จากการใช้โปรแกรมเถื่อน ซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์. วันที่สืบค้น 19 เมษายน 2568. https://www.antivirus.in.th/review/1756.html

DTCI. (2561). Malware คืออะไร มีกี่ประเภท?. วันที่สืบค้น 20 เมษายน 2568. https://www.dtci.co.th/

Microsoft. (ม.ป.ป.). Addressing Global Software Piracy. วันที่สืบค้น 22 เมษายน 2568. https://news.microsoft.com/download/archived/presskits/antipiracy/docs/piracy10.pdf 

Malwarebytes. (ม.ป.ป.). Malware – What is Malware?. วันที่สืบค้น 22 เมษายน 2568. https://www.malwarebytes.com/malware 

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
0
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:Writings

Writings

งบประมาณที่ไม่เท่าเทียม สู่การศึกษาที่ไม่เท่ากัน

เรื่อง: สุชานันท์ สหวงศ์เจริญ, เปรมชนก พฤกษ์พัฒนรักษ์, อชิรญา ปินะสา ภาพประกอบ: สโรชา คล้ำครื้น ในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในทุกมิติของชีวิต รวมถึงด้านการศึกษา โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ใช้สำหรับการศึกษาจึงกลายเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญสำหรับการเตรียมความพร้อมให้กับนักศึกษาเพื่อเผชิญกับความท้าทายในการทำงาน การเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ไม่ควรถูกจำกัดด้วยปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ...

Writings

Le Pupille : คำถามต่อสิ่งที่ ‘เห็น’ และสิ่งที่ ‘เป็น’

เรื่อง : สุชานันท์ สหวงศ์เจริญ  ความคิดแบบเด็กไร้เดียงสากลายเป็นความขบถอันแสบสัน ที่ทำให้โรงเรียนคาทอลิกวุ่นวายตลอดวันคริสมาสต์ เมื่อเทศกาลแห่งการแบ่งปันและภาวนาถึงพระเยซูคริสต์ กลับเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดอย่างการเห็นแก่ตัวในโรงเรียนเคร่งศาสนา ‘Le Pupille’ ภาพยนตร์ขนาดสั้นสัญชาติอิตาลี ถูกฉายครั้งแรกในดิสนีย์พลัส (Disney+) เมื่อปีพ.ศ.2565 และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ ...

Writings

ภาษารุนแรงในเพลงร็อก: ศิลปะ การต่อต้าน หรือแค่คำหยาบ

เรื่อง: ณฐนนท์ สายรัศมี ภาพประกอบ: สุชานันท์ สหวงศ์เจริญ หากดนตรีคือกระจกสะท้อนสังคม เพลงร็อกก็คงเป็นกระจกที่แตกเป็นเสี่ยงๆ บาดคม ท้าทาย และไม่เคยเลือกแสดงเพียงด้านที่งดงาม  ภายใต้เสียงกีตาร์อันกระหึ่ม เสียงกลองที่ดุดัน และน้ำเสียงของนักร้องที่มักเต็มไปด้วยอารมณ์โกรธ เกลียด หรือผิดหวัง ...

Writings

‘Human Zoo’ หรือ  ‘สวนสัตว์มนุษย์ ’ เมื่อความบันเทิงของชนชั้นสูงคือการลดทอนความเป็นมนุษย์

เรื่อง : อชิรญา ปินะสา ภาพประกอบ : Rare Historical photos จะเป็นอย่างไรหากมนุษย์เสพสุขโดยการบั่นทอนและลดคุณค่ามนุษย์ด้วยกันเอง ? ในช่วงศตวรรษที่ 19 จนถึงต้นศตวรรษที่ 20 ...

Writings

มากกว่าแค่ลวดลาย รอยสักที่บอกเล่าเรื่องราว อัตลักษณ์ และวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป

เรื่อง : ฐิดาพร พิมพ์สีโคตร ภาพประกอบ : สุชานันท์ สหวงศ์เจริญ จากภาพลักษณ์ที่เคยถูกมองว่าเป็นเพียงสัญลักษณ์ของกลุ่มคนบางกลุ่ม ปัจจุบัน ‘รอยสัก’ ได้กลายปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่พบเห็นได้ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นบนร่างกายของนักแสดงชื่อดัง นักกีฬา ศิลปิน ...

Writings

Graffiti ศิลปะแห่งการต่อสู้ไม่รู้จบ

เรื่องและภาพ : สุชานันท์ สหวงศ์เจริญ เพราะไม่ว่าจะต้องสู้กับใคร ศิลปะจะคงอยู่ข้างผู้คนเสมอ… ภาพวาดที่มีมากกว่าความสวยงาม และแฝงไว้ด้วยความคิดอย่างเต็มเปี่ยมจึงสามารถพาผู้ชมย้อนกลับไปมองไปปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมต่างๆ ได้ทุกขณะ  ดังนั้น เมื่อกำแพงกลายเป็นแคนวาส สีสันฉูดฉาดที่พ่นลงไปเป็นตัวแทนการแสดงออกทางความคิด กราฟิตี้ (Graffiti) ศิลปะที่คนส่วนใหญ่มองว่าขบถ ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save