เรื่อง: ตติยา ตราชู
นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย ชี้ช้างเลี้ยงพึ่งพากลไกธุรกิจการท่องเที่ยว เมื่อปิดประเทศเพราะโควิด ทำให้ควาญขาดรายได้-ปางปิดตัว แนะรัฐไทยปรับระบบดูแลช้างให้ครบวงจร
นายธีรภัทร ตรังปราการ นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย กล่าวว่า จากช้างเลี้ยงจำนวนทั้งหมด 3,800 เชือกในประเทศไทย มีเพียง 300-400 เชือกเท่านั้น ที่ช้างได้รับการดูแลจากรัฐหรือควาญช้างมีรายได้ประจำ เช่น ช้างของสถาบันคชบาลแห่งชาติ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ โรงพยาบาลช้างต่าง ๆ องค์การสวนสัตว์ และช้างสำคัญของพระเจ้าอยู่หัว
“ช้างเลี้ยงเกินกว่าร้อยละ 90 ผูกแขวนอยู่กับภาคการท่องเที่ยวโดยเฉพาะจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในภาวะปกติ ถูกดูแลโดยกลไกของธุรกิจคือปางช้างและควาญช้าง แต่เมื่อเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 จนต้องปิดประเทศ ทำให้ปางช้างและควาญช้างอ่อนแอลงจากการขาดรายได้ คุณภาพการเลี้ยงดูช้างก็ต่ำลง ทั้งอาหารมีความหลากหลายน้อยลง ถูกมัดอยู่กับที่นาน ๆ ไปจนถึงเข้าถึงการรักษาพยาบาลได้ยากขึ้น” นายธีรภัทรกล่าว
นายธีรภัทร กล่าวว่า ปัจจุบันไม่มีหน่วยงานรัฐดูแลรับผิดชอบช้างเลี้ยงทั้งหมดโดยตรง มีเพียงกระทรวงมหาดไทยที่รับผิดชอบการจดทะเบียนช้างเลี้ยงเป็นสัตว์พาหนะ ดังนั้นจึงควรเริ่มติดกระดุมเม็ดแรกด้วยการสร้างหน่วยงานที่มีวัตถุประสงค์รับผิดชอบครบทุกสารบบของช้าง ตั้งแต่การขึ้นทะเบียน ศึกษาวิจัย ให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริม และปกป้อง
“ไม่รู้จะหันไปพึ่งใครเพราะไม่มีเจ้าภาพ สิ่งที่ทำได้คือส่งจดหมายขอความช่วยเหลือในรูปแบบของเงินเยียวยาผ่านทางสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องถูกส่งไปที่นู่นทีที่นี่ที ทุกที่ก็บอกว่าไม่ใช่หน่วยงานดูแลโดยตรง” นายธีรภัทรกล่าวและว่า ภาครัฐจะเน้นโครงการช่วยเหลือที่ทำแล้วได้ทั้งประเทศ แต่โครงการโปรยเงินช่วยเหลือแบบต้องลงทะเบียน ควาญช้างส่วนหนึ่งก็เข้าไม่ถึงเพราะข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี
“คำว่าช้างเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของชาติไม่ได้สื่อนัยยะถึงการอนุรักษ์ช้างเลย ทุกคนและรัฐบาลต้องกลับมาตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไรกับช้างเลี้ยงในประเทศไทย ยังต้องการให้ประเทศคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมการเลี้ยงช้างอยู่หรือไม่ ถ้าได้เป้าหมายคนที่เกี่ยวข้องจะได้ทำงานต่อไปได้ ตอนนี้ช้างเลี้ยงที่เคยเป็นสิ่งมีมูลค่า กำลังกลายเป็นภาระ” นายธีรภัทรกล่าว
นายสุรพล ดวงแข รองประธานมูลนิธิเพื่อนช้าง กล่าวว่า บทบาทของช้างน้อยลงตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ช้างเลี้ยงเคยมีบทบาทอย่างมากในการขนส่งเมื่อ 100 ปีที่แล้ว หรือธุรกิจค้าไม้ในช่วงเวลาต่อมา แต่ พ.ศ. 2532 ก็มีการยกเลิกสัมปทานป่าไม้ และป่าที่ควาญเคยนำช้างมาผูกไว้ได้ ก็ถูกรุกรานและใช้ประโยชน์จากพืชเศรษฐกิจ จนเริ่มเกิดปัญหาช้างเร่ร่อน เมื่อออกกฎหมายจัดการช้างเร่ร่อน สุดท้ายช้างจึงถูกนำมาผูกอยู่กับการท่องเที่ยวหรือปางช้างเพื่อหารายได้
“ปัญหาช้างเลี้ยงสะท้อนปัญหาใหญ่ของสังคมไทย ระบบบริหารและระบบราชการขาดมิติที่จะรับรู้ว่าสังคมขาดอะไร และจะเข้ามาบริการอย่างไร หน่วยงานราชการไม่บูรณาการการทำงาน แต่ละหน่วยทำเฉพาะภาระหน้าที่ของตัวเอง กลายเป็นว่าไม่มีสถานที่รองรับปัญหาช้างอย่างเป็นทางการ จนปัญหามาถึงทางตัน” นายสุรพลกล่าว
นายสุรพล กล่าวว่า ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งคือไม่รู้ว่าจะเอาช้างไปไว้ที่ไหน และภาระของช้างตกอยู่ที่เจ้าของช้างเพียงผู้เดียว รัฐบาลต้องเข้ามาสนับสนุน อาจเปิดมิติการให้การศึกษาแก่สังคมของช้างเลี้ยง ปางช้างควรหันมาทำกิจกรรมเกี่ยวกับการศึกษาวิถีชีวิตช้างแทนการใช้ช้างเพื่อให้ความรื่นรมย์แก่นักท่องเที่ยว และรัฐอาจส่งเสริมสถานที่พักพิงช้างอย่างเป็นทางการตามพื้นที่ตาบอด หรือที่ดินที่ไม่มีทางออกสู่สาธารณะในกรุงเทพมหานคร โดยมีสัตวแพทย์คอยดูแล มีการให้ความรู้ในแต่ละจุด เป็นพื้นที่ให้บริการแก่สังคม หรือสร้างระบบช้างเร่ร่อนที่มีการกำหนดเส้นทางเดินและมีข้อปฏิบัติเพื่อความปลอดภัย
น.ส.วิมลวรรณ แสนดี ควาญช้างที่ปางช้างหมู่บ้านชาวเขาพัทยา จ.ชลบุรี กล่าวว่า ช้างแต่ละตัวต้องกินอาหารวันละไม่ต่ำกว่า 400 กก. เป็นเงินไม่ต่ำกว่า 400-500 บาท โดยมีช้างเลี้ยงที่ดูแลอยู่ 2 เชือก และยังไม่รวมค่าครองชีพของควาญ การไลฟ์ขายอาหารช้างในสื่อออนไลน์ พอจะช่วยบรรเทาภาระได้บ้างแต่ก็ไม่เพียงพอ ต้องกู้หนี้ยืมสินเพิ่ม และออกไปหาหญ้าเนเปียร์ธรรมชาติที่ยังพอมีขึ้นในช่วงฤดูฝน เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่าย
“ระยะเวลาเกือบ 2 ปีตั้งแต่ปิดประเทศ ไม่มีโอกาสได้เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งเป็นรายได้หลัก เราเป็นส่วนหนึ่งของภาคการท่องเที่ยว เคยหารายได้ในจุดนี้ให้กับประเทศพอสมควร อยากได้รับการเยียวยาดูแล มาวางโครงการระยะยาวกับพวกเราบ้าง อยากให้เห็นว่ากำลังลำบากจริง ๆ” น.ส.วิมลวรรณกล่าว
น.ส.วิมลวรรณ กล่าวว่า เคยได้เงินช่วยเหลือจากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จำนวน 9,500 บาทต่อเชือก เมื่อปีที่แล้วเพียงครั้งเดียว โดยจะได้เฉพาะช้างเลี้ยงที่อยู่ในระบบปางเท่านั้น ช้างเชือกไหนที่ควาญพากลับบ้านเกิด หรือหากปางไหนไม่ทราบข้อมูล และไม่ได้ทำเรื่องก็จะไม่ได้รับเช่นกัน “เคยรวบรวม 200 รายชื่อช้างตกงานยื่นหนังสือถึงสภา แต่ก็ไม่มีอะไรตอบกลับมา”
นายกิตติศักดิ์ ศาลางาม ควาญช้างที่ปางช้างสวนช้างไทยทัพพระยาซาฟารี จ.ชลบุรี กล่าวว่า พยายามหาอาหารให้ช้าง 2 เชือกที่ดูแลอยู่ ได้กินในปริมาณเท่าเดิมก่อนช่วงโควิด-19 โดยราคาสับปะรดที่เป็นอาหารหลักอยู่ที่ประมาณ 800-900 บาท ต่อเชือกต่อสัปดาห์ มีออกไปเกี่ยวหญ้ามาเสริม จะได้ไม่สิ้นเปลืองค่าสับปะรดมากเกินไป
“เงินช่วยเหลือจาก ททท. จำนวน 9,500 บาท แม้ปางยื่นดำเนินเรื่องไปแล้ว ก็ไม่ได้รับ ไม่ทราบเช่นกันว่าเพราะอะไร เคยได้รับหญ้าแห้งแพงโกล่าจากกรมปศุสัตว์ครั้งเดียว นอกนั้นได้ความเมตตาจากชาวทวิตเตอร์ที่โอนเข้ามาตอนไลฟ์สด มูลนิธิต่าง ๆ หรือประชาชนรวมทุนกันมาบริจาค อยากให้รัฐลงมาช่วยเหลือเยียวยาเป็นการเร่งด่วน เพราะหวังพึ่งประชาชนที่มาชมไลฟ์สด ก็เริ่มร่อยหรอลงไปแล้ว ” นายกิตติศักดิ์กล่าว
น.ส.ศุภิสรา วงศ์สุทธาวาส นายสัตวแพทย์ปฏิบัติการ กองสวัสดิภาพสัตว์และสัตวแพทย์บริการ กรมปศุสัตว์ ผู้รับผิดชอบโครงการปันอาหารช้างฝ่าวิกฤติโควิด-19 กล่าวว่า โครงการช่วยเหลืออาหารช้างมีทั้งหมด 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 เดือน มี.ค.-ก.ย. พ.ศ. 2564 แบ่งหญ้าแห้งและหญ้าสดจากศูนย์วิจัยและพัฒนาอาหารสัตว์ 27 ศูนย์ทั่วประเทศ ช่วยเหลือช้างได้จำนวน 2,545 เชือก ระยะที่ 2 เดือน ก.ค.-ก.ย. พ.ศ. 2564 แจกเมล็ดพันธุ์หญ้าเนเปียร์ให้ควาญช้างที่มีพื้นที่ปลูกเพียงพอ จำนวน 144 ราย คนละไม่เกิน 10 กก. ให้แบ่งปลูก 2 กก. ต่อพื้นที่ 1 ไร่ และระยะที่ 3 จะเริ่ม พ.ศ. 2565 คือการสร้างแปลงหญ้าส่วนกลางในแต่ละพื้นที่
“หญ้าที่แจกในโครงการปันอาหารช้างมีปริมาณจำกัด ไม่ได้เพียงพอจะเลี้ยงตลอดหรือเลี้ยงได้มากกว่านี้ เพราะต้องแบ่งไปช่วยเหลือสัตว์อื่น ช้างกินเยอะ จึงช่วยได้แค่ปริมาณหนึ่ง บรรเทาปัญหาในเบื้องต้น ” น.ส. ศุภิสรากล่าวและว่า หากจะนำเงินไปจัดซื้อหญ้าเพิ่ม จะมีข้อจำกัดที่อาจทำให้เกิดความล่าช้า คือเรื่องการตีความขอเบิกงบประมาณตามระเบียบเกี่ยวกับสภาวะฉุกเฉินที่กระทบต่อสัตว์ เช่น น้ำท่วม โรคระบาด ซึ่งในภาวะโควิด-19 ช้างไม่ได้รับผลกระทบทางตรง จึงจำเป็นต้องดำเนินโครงการโดยใช้ทรัพยากรเท่าที่มี
น.ส. ศุภิสรา กล่าวว่า ในฐานะผู้ปฏิบัติงานมองว่าสิ่งที่ควรทำเพื่อสร้างความยั่งยืนต่อวงการช้างเลี้ยง คือการสร้างระบบที่ไม่ได้มองแค่เรื่องการดูแลช้างเพียงอย่างเดียว แต่ต้องดูแลคน ทั้งควาญช้างและเจ้าของปางช้าง โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเพื่อการดูแลที่ครบวงจร