Writings

5 วิธีปรุงรสข่าวอาชญากรรมคดีน้องชมพู่ เพื่อดึงดูดใจผู้อ่าน บนเว็บไซต์อมรินทร์ทีวี

เรื่อง เจตณัฐ พิริยะประดิษฐ์กุล และ พันวรรษา กัสยากร

ภาพ เก็จมณี ทุมมา

หากเปรียบข่าวเป็นดั่งอาหาร ข่าวอาชญากรรมอาจเรียกได้ว่าเป็นอาหารจานเดียวที่มีหลากหลายรสชาติและบริโภคง่าย สื่อหลายสำนักจึงมักใช้ข่าวอาชญากรรมมาเป็นตัวดึงดูดความสนใจของผู้อ่าน

นั่นเป็นเพราะว่าข่าวอาชญากรรมมีคุณค่าข่าว (News Values) สูงมากในเรื่องการเร้าอารณ์ (Sensational) การดึงดูดใจของผู้อ่าน (Human Interest) ทั้งความมีเงื่อนงำ (Suspense) ความขัดแย้ง (Conflict) ผลกระทบ (Consequence) เพศ (Sex and Scandal) และความแปลก (Oddity)

วันนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักข่าวคดีน้องชมพู่ ข่าวอาชญากรรมที่เด็กหญิงวัย 3 ขวบแห่งหมู่บ้านกกกอก ตำบลกกตูม อำเภอดงหวง จังหวัดมุกดาหาร หายตัวไปอย่างปริศนาก่อนถูกพบเป็นศพอยู่ที่ป่าภูเหล็กไฟ และข่าวนี้ได้ครองพื้นที่สื่อข้ามปีมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2563 จนถึงเดือนมิถุนายน 2564 ซึ่งเป็นช่วงบทสรุปที่มีการจับกุมผู้ต้องหา อีกทั้งยังได้รับความสนใจจากประชาชนส่วนหนึ่งมาโดยตลอด อันเนื่องมาจากความมีเงื่อนงำสูง และผู้เสียชีวิตเป็นเด็ก สื่อหลายสำนักจึงลงพื้นที่ทำข่าวอย่างใกล้ชิด เรียกได้ว่า มีข่าวน้องชมพู่ส่งตรงจากบ้านกกกอกเสิร์ฟมาให้อ่านถึงบ้านทุกวัน

จากเหตุการณ์ดังกล่าว มีผู้ต้องสงสัยหลายคน หนึ่งในนั้นคือ นายไชย์พล วิภา หรือ “ลุงพล” ที่มีความใกล้ชิดกับน้องชมพู่ และชอบพูดในทำนองว่า “หากพ่อแม่ไม่เลี้ยง จะขอเลี้ยงไว้เอง” อยู่บ่อยครั้ง แม่ของน้องชมพู่จึงสงสัยในตัวลุงพลมากกว่าคนอื่น ทำให้สังคมกดดัน และสงสัยในตัวลุงพลเป็นพิเศษ

ในขณะเดียวกัน นอกจากการนำเสนอข่าวที่เกี่ยวกับรูปคดีการเสียชีวิตของน้องชมพู่ สื่อมวลชนก็นำเสนอเรื่องราวชีวิตส่วนตัวและความเป็นอยู่ของลุงพลอย่างละเอียด คนในสังคมส่วนหนึ่งจึงเกิดความสงสารและเห็นใจลุงพล หลังจากนั้นในวันที่ 13 กรกฎาคม 2563 เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสืบสวนคดีได้แถลงความคืบหน้าจากผลชันสูตรศพระบุว่า สาเหตุการเสียชีวิตของน้องชมพู่ที่เกิดจากการขาดอาหารและน้ำ ไม่มีการทำร้ายร่างกายใดๆ ร่างกายไม่มีร่องรอยบาดแผล รวมทั้งไม่สามารถหาหลักฐานที่เชื่อมโยงผู้ต้องสงสัยกับคดีได้ แม้ว่าจะมีการสอบปากคำชาวบ้านมากกว่า 1,000 ปาก ตรวจดีเอ็นเอของผู้ที่เกี่ยวข้องราว 100 รายแล้วก็ตาม แต่ยังมีการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมต่อไป ขณะเดียวกันโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดได้ออกมาชี้แจงเพิ่มเติมว่า เมื่อพนักงานสอบสวนระบุว่า การตายไม่เกิดจากการกระทำผิดทางอาญา เช่น ขาดน้ำ ขาดอากาศ ร่างกายไม่มีร่องรอยบาดแผล อัยการจะตรวจสำนวนแล้วส่งให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหาร พิจารณาเห็นชอบในการยุติคดี โดยคดีนี้มีอายุความ 20 ปี ดังนั้นจึงส่งผลให้คดีนี้ต้องยุติชั่วคราวก่อนจนกว่าจะมีการค้นพบพยานหลักฐานใหม่จึงจะนำมาพิจารณาต่อ

กระแสสังคมจึงเปลี่ยนไป จากที่เคยกดดันและสงสัยลุงพล กลับกลายเป็นสงสารและเห็นใจ โดยมองว่าลุงพลเป็นผู้บริสุทธิ์ที่ถูกเข้าใจผิดมาตั้งแต่แรก ทำให้ผู้คนจากทั่วประเทศให้ความช่วยเหลือครอบครัวลุงพล ทั้งเดินทางข้ามจังหวัดมาให้กำลังใจ ช่วยสร้างบ้านให้ใหม่ มอบเงินหรือสิ่งของให้มากมาย

แม้คดีน้องชมพู่จะยุติลงในขณะนั้น แต่สื่อมวลชนก็ยังคง ‘ปรุง’ ข่าวคดีน้องชมพู่ในประเด็นอื่น ที่ไม่เกี่ยวข้องกับรูปคดีของน้องชมพู่ หรือมีความเกี่ยวข้อง แต่ก็อาจไม่ได้เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ซึ่งในที่นี้ขอเรียกว่า “การนำเสนอข่าวออกนอกประเด็น” เพื่อใช้คุณค่าของข่าวอาชญากรรม มาดึงดูดผู้อ่าน เพื่อรักษายอดเรตติ้ง ท่ามกลางสถานการณ์ที่สื่อมีการแข่งขันสูง

การนำเสนอข่าวที่ไม่เป็นประโยชน์สาธารณะดังกล่าว ยังเป็นส่วนหนึ่งของข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๖๔ ข้อ ๙ ความว่า “สื่อมวลชนพึงเสนอข่าว เนื้อหาข่าว การแสดงความคิดเห็น และเนื้อหาทั่วไป โดยตระหนักถึงความสำคัญและอรรถประโยชน์ของข่าวต่อสาธารณะ และไม่เสนอข่าวในทำนองชวนเชื่อหรือเร้าอารมณ์ให้คนสนใจในเรื่องที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ”

ในรายวิชา ว.ส. 211 การสื่อข่าว ของคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะผู้เขียนได้ทำงานวิจัยในหัวข้อ “รูปแบบของการออกนอกประเด็นในข่าวคดีน้องชมพู่ในเว็บไซต์ข่าวอมรินทร์ทวี” ได้เห็นถึงรูปแบบของการออกนอกประเด็นที่ทำให้ประเด็นหลักสำคัญของข่าวถูกลดคุณค่าลง และโดยส่วนใหญ่นั้นข่าวที่ออกนอกประเด็นก็มักจะเป็นข่าวที่อาจดูไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ จึงสนใจศึกษาว่าการนำเสนอข่าวของสื่อผู้ที่มีอิทธิพลในการกำหนดวาระข่าวสาร ซึ่งในบางครั้งอาจมีการนำเสนอข่าวในประเด็นที่ไม่สำคัญและไม่เป็นประโยชน์ใด ๆ ต่อสาธารณะ สื่อนั้นมีการทำหน้าที่นี้อย่างไรบ้าง

วิธีการศึกษาคือ การหาข่าวทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับคดีน้องชมพู่ที่ปรากฏในหน้าเว็บไซต์ของสำนักข่าวอมรินทร์ทีวี ตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม 2563 ถึง 1 มิถุนายน 2564 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เริ่มมีการเผยแพร่ข่าวการหายตัวไปของน้องชมพู่จนถึงช่วงที่มีการออกหมายจับลุงพลอย่างเป็นทางการ พบว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปี 18 วัน อมรินทร์ทีวีมีข่าวที่เกี่ยวข้องกับคดีน้องชมพู่มานำเสนอได้แทบจะทุกวัน โดยมีทั้งหมด 629 ข่าว โดย 299 ข่าว เป็นข่าวที่พบว่า นำเสนอออกนอกประเด็น โดยสามารถสรุปรูปแบบกลวิธีการปรุงข่าวคดีน้องชมพู่ที่ออกนอกประเด็นได้ 5 รูปแบบดังนี้

เครื่องปรุงที่ 1 “กิจวัตรของบุคคลในข่าว” วัตถุดิบหาง่ายในพื้นที่และมีแทบทุกวัน รูปแบบการออกนอกประเด็นนี้คือการให้ความสำคัญกับการใช้ชีวิตประจำวันหรือกิจกรรมที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีน้องชมพู่ของบุคคลในข่าว พบทั้งสิ้น 187 ข่าว ตัวอย่างข่าววันที่ 20 สิงหาคม 2563  อมรินทร์ทีวี เสนอข่าวลุงพลร้องเพลง “สัญญาน้ำตาแม่” เพื่อมอบให้กับแฟนอมรินทร์ทีวี ด้วยเป็นเพลงที่ชอบและสามารถถ่ายทอดชีวิตของเขาที่ต้องไปทำงานห่างจากแม่กว่า 23 ปี

ภาพ : ลุงพลขณะร้องเพลงสัญญาน้ำตาแม่ จากเว็บไซต์อมรินทร์ทีวี เผยแพร่วันที่ 30 กรกฎาคม 2563 เข้าถึงได้จาก https://www.amarintv.com/news/detail/40499 (สืบค้นเมื่อ 31 ธันวาคม 2564)

เครื่องปรุงที่ 2 “บุคคลภายนอก” วัตถุดิบนำเข้า ที่ช่วยทำให้ข่าวออกนอกประเด็นไปไกลมากยิ่งขึ้น รูปแบบการออกนอกประเด็นนี้เป็นการนำเสนอข่าวที่มีบุคคลภายนอกที่ไม่มีความเกี่ยวข้อง มาเกาะกระแสของคดี โดยพบทั้งสิ้น 237 ข่าว ยกตัวอย่าง พาดหัวข่าวในวันที่ 3 กันยายน 2563 “จินตหราชวนลุงพลเยือนอมรินทร์ถ่าย MV “ไอซ์” แจงไม่ใช่ผู้จัดการแค่แนะนำลุง” จากพาดหัวข่าวนี้จะเห็นได้ว่า มีชื่อของบุคคล 2 บุคคล คนแรกคือจินตหรา พูลลาภ นักร้องลูกทุ่งหมอลำชื่อดัง และ ไอซ์ สารวัตร กิจพาณิชย์ นักข่าวจากช่องอมรินทร์ทีวี ซึ่งทั้งสองคนเป็นบุคคลภายนอกที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคดี แต่เป็นข่าวได้เนื่องจากก่อนหน้านี้ทั้งสองคนที่เป็นบุคคลสาธารณะและมีชื่อเสียง ได้ร่วมร้องเพลงและถ่ายทำมิวสิควิดีโอร่วมกับลุงพล จนเป็นที่สนใจของประชาชน

ภาพ : จินตหรา กับลุงพล ขณะถ่ายทำ MV เพลงเต่างอย จากเว็บไซต์อมรินทร์ทีวี เผยแพร่วันที่ 3กันยายน 2563 เข้าถึงได้จาก https://www.amarintv.com/news/detail/44725 (สืบค้นเมื่อ 31 ธันวาคม 2564)

เครื่องปรุงที่ 3 “ความเชื่อ ไสยศาสตร์ เรื่องเหนือธรรมชาติ และความฝัน” วัตถุดิบที่คนไทย บางส่วนคุ้นเคย จับคู่กับอะไรก็อร่อย รูปแบบของการออกนอกประเด็นนี้จะเชื่อมโยงคดีของน้องชมพู่กับความเชื่อ หรือไสยศาสตร์ ซึ่งมีทั้งการดำเนินงานโดยผู้มีอิทธิฤทธิ์ในแขนงต่างๆ หรือการปรากฏขึ้นของเหตุการณ์เหนือธรรมชาติ พบทั้งสิ้น 171 ข่าว ไสยศาสตร์ได้เข้ามาพัวพันกับคดีน้องชมพู่ตั้งแต่ขั้นตอนการตามหาน้องชมพู่หลังจากหายตัวไป ไปจนถึงการตามหาตัวผู้ต้องสงสัย ยกตัวอย่างข่าว วันที่ 24 มิถุนายน 2563 “ครูบาเสี่ยงทาง ชี้ทิศคนฆ่าชมพู่ซ่อนตัว หวังช่วยตำรวจคลายคดี” เนื้อหาข่าวนำเสนอการทำพิธีเสี่ยงทิศของครูบารูปหนึ่งเพื่อตามหาเบาะแสในคดี

ภาพ : ครูบาขณะทำพิธีเสี่ยงทิศ จากเว็บไซต์อมรินทร์ทีวี เผยแพร่วันที่ 24 มิถุนายน 2563 เข้าถึงได้จาก https://www.amarintv.com/news/detail/35938 (สืบค้นเมื่อ 31 ธันวาคม 2564)

เครื่องปรุงที่ 4 “หวย” วัตถุดิบที่ช่วยเพิ่มรสชาติแห่งความหวังให้กับคนไทยส่วนหนึ่ง รูปแบบของการออกนอกประเด็นนี้จะเกี่ยวข้องกับหวย ซึ่งจะปรากฏให้เห็นสองช่วงของทุก ๆ เดือน คือต้นเดือนและกลางเดือน พบทั้งสิ้น 41 ข่าว เช่น วันที่ 1  สิงหาคม 2563 อมรินทร์ทีวี เสนอข่าวพาดหัว ลุงพลดวงเฮง! ถูกหวย 3 ใบ ยกมือไหว้ขอบคุณผู้ใจบุญ ช่วยสร้างบ้านคือรางวัลที่ 1 ของชีวิต

ภาพ : ป้าแต๋นถือสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ถูกรางวัลเลขท้าย 2 ตัว เลข 92 จำนวน 3 ใบ งวด 1 สิงหาคม 2563 จากเว็บไซต์อมรินทร์ทีวี เผยแพร่วันที่ 1 สิงหาคม 2563 เข้าถึงได้จาก https://www.amarintv.com/news/detail/40862 (สืบค้นเมื่อ 31 ธันวาคม 2564)

เครื่องปรุงที่ 5 “ผสมกับข่าวอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง” เรียกได้ว่าเป็นการรังสรรค์เมนูฟิวชั่นที่คาดไม่ถึง รูปแบบของการออกนอกประเด็นนี้จะนำข่าวคดีน้องชมพู่ไปเชื่อมโยงกับข่าวอื่นโดยไม่จำเป็น โดยพบทั้งสิ้น 4 ข่าว เช่น การเชื่อมโยงคดีการหายตัวไปของน้องมะม่วง (นามสมมติ) กับคดีน้องชมพู่ โดยพาดหัวข่าว จับ “พล” อนาจารเด็ก 3 ขวบ พี่มั่นใจไม่ไปอุ้มชมพู่ “ลุงพล” เเจงไม่รู้จัก ทั้งที่ประเด็นสำคัญของข่าวคือ นายสุพล เจ้าของร้านขายของชำ ล่วงละเมิดเด็กอายุ 3 ขวบ โดยเหตุเกิดขึ้นที่หมู่บ้านแก่งนาง ตำบลกกตูม ห่างจากบ้านกกกอก 37 กิโลเมตร ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับคดีน้องชมพู่ แต่สื่อยังคงโยงมาที่คดีของน้องชมพู่โดยการมาสัมภาษณ์ลุงพล เเละชาวบ้านบ้านกกกอก

ภาพ : แผนภาพประกอบการรายงานข่าวแสดงการลงพื้นที่บ้านกกกอกของทีมข่าวอมรินทร์ทีวี เพื่อพิสูจน์ความเกี่ยวข้องระหว่างนายสุพลกับคดีน้องชมพู่ จาก เว็บไซต์อมรินทร์ทีวี เผยแพร่วันที่ 24 กรกฎาคม 2563 เข้าถึงได้จาก https://www.amarintv.com/news/detail/39893 (สืบค้นเมื่อ 31 ธันวาคม 2564)

อมรินทร์ทีวี ก็เปรียบเสมือนเชฟโอมากาเสะ คือจะเสิร์ฟเมนูใดก็ได้ให้กับผู้อ่านเพียงแค่สิ่งนั้นมีคุณค่าข่าว แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าอมรินทร์ทีวีเป็นสื่อมวลชนที่มีอิทธิพลในการกำหนดวาระข่าวสาร (Agenda Setting) สามารถชี้นำสังคมได้

การนำเสนอข่าวที่ออกนอกประเด็นอาจช่วยเพิ่มอรรถรสในการอ่านข่าว แต่การนำเสนอที่มากจนเกินขอบเขตจะทำให้ประเด็นหลักถูกเบี่ยงเบน และลดคุณค่าข่าวลง  เนื่องจากข่าวที่ออกนอกประเด็นมักไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ทำให้ผู้อ่านอาจไม่ได้รับประโยชน์จากการอ่านข่าวอย่างที่ควรจะเป็น เช่นเดียวกันกับอาหารบางชนิดแม้จะมีรสชาติที่ถูกปาก แต่ก็ต้องรับประทานแต่พอเหมาะ มิเช่นนั้นอาจเป็นอันตรายได้

สื่อ ในฐานะที่เป็นผู้ผลิต ก็ควรระมัดระวังในการนำเสนอ ยึดหลักจริยธรรมสื่อ และคำนึงถึงประโยชน์ของสาธารณะเป็นหลัก

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
7
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:Writings

Articles

มองความตายผ่านเลนส์กล้อง ใน ‘ลาก่อน เอริ’

เรื่องและภาพประภาพ: สิทธิเดช สายพัทลุง Spoiler Alert: บทความชิ้นนี้มีการสปอยล์เนื้อหาของ ‘ลาก่อน เอริ’ หรือ ‘Goodbye Eri’ ‘ภาพยนตร์’ สื่อบันเทิงภาพเคลื่อนไหวที่สามารถเล่าเรื่องราวได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งเรื่องราวความสุขจนต้องยิ้มตาม หรือเรื่องราวการจากลาที่ทำให้กลั้นน้ำตาแทบไม่ไหว ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งเรื่องจริงและเรื่องแต่ง ...

Articles

สารภาพบาปนักชอปกระเป๋าแฟบ กับคู่มือไม่ให้ตัวเองต้องกินมาม่าในสิ้นเดือนนี้

เรื่องและภาพประกอบ: จุฑาภัทร ทิวทอง นักช็อปสายบิวตี้อาจเคยสังเกตหลายแบรนด์ที่ออกเครื่องสำอางคอลเลกชันใหม่กันแทบทุกเดือน พร้อมเหล่าอินฟลูมากมายที่โฆษณากันเกรียวกราวว่า ‘ของมันต้องมี’ พ่วงกับโปรโมชันลดราคาที่ดูเหมือนจะจำกัด แบบที่นานๆ ครั้งจะมาที ทั้งที่ในความเป็นจริงก็วนมาอยู่ทุกเดือน หลายคนก็อาจเป็นเหมือนฉัน ที่ตื่นเต้นทุกคราเมื่อได้เห็น ได้ดู และได้ยินปรากฏการณ์ข้างต้น สุดท้ายก็เผลอใจกดสินค้าลงตระกร้าในแอปสั่งของออนไลน์แทบทุกครั้งไป ...

Articles

คุณเข้าร้านโชห่วยครั้งล่าสุดเมื่อไหร่ ?

เขียน : พรวิภา หิรัญพฤกษ์ ภาพประกอบ : ศิรประภา จารุจิตร คุณเข้าร้านโชห่วยครั้งล่าสุดเมื่อไหร่ ? ร้านค้าท้องถิ่นที่หายไปพร้อมกับ ‘ความมั่นคงทางอาหาร’ คุณซื้อของจากร้านโชห่วยล่าสุดเมื่อไหร่ ? ฉันหมายถึง ...

Articles

Rick and Morty: ชีวิตไร้ความหมายในจักรวาลไร้จุดหมายของริกและมอร์ตี้

เขียน : ศิรประภา จารุจิตร ภาพประกอบ : ศิรประภา จารุจิตร ขอบคุณภาพจาก https://wall.alphacoders.com/big.php?i=1335145 คำเตือน: บทความชิ้นนี้มีการสปอยล์เนื้อหาบางส่วน โปรดอ่านอย่างระมัดระวัง “Nobody exists ...

Articles

Indie but not independent: การเติบโตของเพลงอินดี้ในไทย จากอัลเทอร์เนทีฟร็อกจุดประกายสู่ทางเลือกที่หลากหลาย

เขียน: ณัฐธิดา นิติเกษตรสุนทร ภาพประกอบ: ศิรประภา จารุจิตร “รออยู่ตรงนี้แล้วเธออยู่ไหน เธอจะยังคิดถึงฉันบ้างไหม หรือไม่ใช่ กลับมากอดฉันสักทีได้ไหม ขอแค่ครั้งเดียว แม้แค่ครั้งเดียว ก่อนเธอลบฉันไป” เสียงที่เย็นแต่นุ่มของนักร้องพร้อมเมโลดี้ดรีมป๊อป ดนตรีฟังง่าย ให้ความเพลิดเพลิน ผสมกับเสียงกีตาร์และเสียงซินธิไซเซอร์ ...

Features

คุยกับ ‘พนารัตน์ อานามวัฒน์’ ว่าด้วยอัตลักษณ์ นโยบาย และความเป็นไปได้อื่นๆ ผ่านผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ 2024

เขียน: วรพร รุ่งวัฒนโสภณ ภาพประกอบ: ศิรประภา จารุจิตร 8 โมงเช้าวันอังคาร ร่างไร้สติของฉันพาตัวเองมายังห้องเรียนจนได้ อาจารย์เริ่มพูดที่หน้าชั้นเรียนไปได้สักพักแล้ว คลาสเรียนวิชาประวัติศาสตร์เฟมินิสต์ในหัวข้อทฤษฎี intersectionality หรือทฤษฎีอัตลักษณ์ทับซ้อน ของ Kimberlé ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save