เรื่อง : ฌัชฌา สรนันท์
ภาพ : ปาณิสรา ช้างพลาย
โรงอาหารที่มีคนต่อแถวเรียงราย หอสมุดที่เต็มไปด้วยนักศึกษามานั่งติวหนังสือ และบรรยากาศในห้องเรียนที่กลับมาคึกคักอีกครั้ง ล้วนเป็นสัญญาณบ่งบอกว่าทุกอย่างกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติแล้ว หลังจากเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จนมหาวิทยาลัยต้องประกาศให้นักศึกษาและอาจารย์ทำการเรียนการสอนแบบออนไลน์อยู่ที่บ้านนานถึง 2 ปี
เชื่อว่าทั้งอาจารย์และนักศึกษาเองต่างก็ได้รับผลกระทบจากการเพ่งมองหน้าจอคอมพิวเตอร์ ไอแพด หรือสมาร์ทโฟนเป็นระยะเวลานาน ไม่ว่าจะเพื่อการเรียน การสอน หรือเพื่อความบันเทิงก็ดี ซึ่งผลเสียที่อาจเกิดขึ้นจากพฤติกรรมดังกล่าวก็คือ ‘ออฟฟิศซินโดรม’ (Office Syndrome) หรือกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด (Myofascial Pain Syndrome) เนื่องมาจากรูปแบบการทำงานที่ใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำๆ เป็นระยะเวลานานต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดอาการกล้ามเนื้ออักเสบและปวดเมื่อยตามอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะบริเวณ คอ หลัง ไหล่ บ่า แขน และข้อมือ นอกจากนี้อาการดังกล่าวยังสามารถลุกลามจนกลายเป็นอาการปวดเรื้อรังได้ด้วย ทางทีมบรรณาธิการ (บก.) varasarnpress จึงอยากมาแบ่งปันประสบการณ์และมุมมองเกี่ยวกับการบรรเทาอาการปวดเมื่อยด้วยวิธีต่างๆ เหล่านี้ ผ่านมุมมองของนักศึกษาทุ่งรังสิตให้ทุกคนได้อ่านกัน
วิธีที่ 1: ยืดๆ บิดๆ กล้ามเนื้อ

การยืดเส้นเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ช่วยให้กล้ามเนื้อรู้สึกผ่อนคลายจากการทำสิ่งต่างๆ เป็นระยะเวลานาน ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายที่สุด สามารถทำได้ไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ที่หอ ศกร. หรือหอสมุดป๋วยก็ยังทำได้ เหมาะกับผู้ที่อาการไม่รุนแรง ยังใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติ และไม่มีเวลาเข้าร้านนวดนั่นเอง
“เรามีอาการปวดคอ ปวดไหล่ เป็นมานานตั้งแต่เรียนออนไลน์แล้ว ขนาดกลับมาเรียน on-siteก็ยังปวดอยู่ ถึวไม่ได้มากเท่าเดิม แต่ก็ไม่ได้หายไป วิธีบรรเทาก็ยืดๆ ตัวปกติ ดูตามใน youtube เอาค่ะ” นางสาว ก. คณะแพทยศาสตร์ เธอบอกว่าชอบทำท่าบิดเอวโดยเอามือจับเก้าอี้ทางด้านหลัง และเอี้ยวตัวไปให้ได้มากที่สุดจนได้ยินเสียงกรอบแกรบ และมักทำหลังนั่งอ่านหนังสือนานๆ
“ผมรู้สึกว่าผมเป็นตอนเรียนออนไซต์มากกว่า เพราะเหมือนเราถูกบังคับให้นั่งตลอดเวลา อีกอย่างตอนเรียนออนไลน์ผมก็สลับไปเรื่อยๆ ระหว่างนอนกับนั่ง ตอนเมื่อยคอก็แค่ยืดแล้วก็บิดตัวเอา ส่วนตัวยังไม่เคยเข้าร้านนวดเลย” นาย ข. จากคณะศิลปะศาสตร์ ท่าประจำของเขก็คือท่ายืดคอ โดยเอียงศีรษะไปมา หลายๆ คนน่าจะเคยได้ยินมาบ้าง
วิธีที่ 2: ใช้เพื่อนนวด

หากจะให้เข้าร้านนวดตลอดเวลา ก็คงหมดตัวก่อนพอดี ดังนั้นอีกวิธีหนึ่งที่พบเห็นได้บ่อยๆ ก็คือการถามเพื่อนว่า มีใครนวดเป็นบ้างไหม เพื่อนถึงจะยอมมานวดให้ “เราให้เพื่อนนวดให้ตลอดเลย เพราะไม่มีเวลาเข้าร้านนวด อีกอย่างเพื่อนนวดให้ฟรีค่ะ” นางสาว ค. คณะศิลปกรรมศาสตร์กล่าว เป็นอีกหนึ่งคำตอบที่ผู้เขียนไม่นึกว่าจะมีคนคิดเหมือนกันด้วย โดยท่าประจำที่เธอให้เพื่อนนวดมักจะเป็นการนอนคว่ำไปบนพื้น จากนั้นให้เพื่อนกดหลังให้ และยังมีการนวดบ่า เพราะเธอมักนั่งทำในงานในท่าทางผิดๆ ประจำ
วิธีที่ 3: ออกกำลังกาย

กีฬานับว่าเป็นยาวิเศษอย่างหนึ่ง กลุ่มตัวอย่างของเราส่วนมากจะเป็นผู้ที่ออกกำลังกายอยู่บ่อยครั้ง จึงมักไม่ค่อยมีอาการ office syndrome ทั้งๆ ที่เรียนออนไลน์เป็นระยะเวลานานเหมือนกัน หรือในกลุ่มคนที่มีอาการพอได้ไปออกกำลังกาย อาการปวดต่างๆ ก็จะดีขึ้น
“เรามีอาการปวดหนักมาก บางทีนั่งเรียนอยู่ก็ปวดขึ้นไมเกรนเลย แต่ก็พยายามยืดก่อนนอน ส่วนตอนที่ออกกำลังกายบ่อยๆ อาการก็ดีขึ้นบ้าง” นางสาว ง. คณะสหเวชศาสตร์
“ของเราปวดร้าวตั้งแต่ต้นคอยาวจนถึงก้นกบ ที่ทำบ่อยๆ คือโหนบาร์ให้กระดูกมันยืดน่ะค่ะ ช่วยได้เยอะเลย” นางสาว จ. คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา
วิธีที่ 4: เข้าร้านนวด

โดยทั่วไปการนวดมีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นนวดแผนไทย นวดน้ำมันอโรมา นวดรีดเส้น นวดคอ บ่า ไหล่ ฯลฯ หากใครเดินตามถนนเชียงรากบ่อยๆ ก็น่าจะเคยเห็นร้านนวดที่ตั้งอยู่ติดๆ กันแถวร้านอาหารปิ้งย่างที่ขึ้นต้นด้วยคำว่าย่าง ลงท้ายด้วยคำว่า เนย พบว่ามีนักศึกษาจำนวนไม่น้อยที่ไปใช้บริการนวดอยู่บ่อยครั้ง โดยการนวดที่ขึ้นชื่อที่สุดสำหรับคนที่มีอาการออฟฟิศซินโดรมก็คือ การนวด ‘คอ บ่า ไหล่’ ซึ่งผู้ใช้บริการแต่ละคนสามารถแจ้งกับพนักงานได้ด้วยว่ารับความแรงได้มากน้อยแค่ไหน “ถ้าตรงไหนเจ็บมาก ตรงนั้นจะเป็นส่วนที่ใช้งานบ่อย” พนักงานร้านนวดกล่าว นอกจากบริเวณถนนเชียงรากที่มีร้านนวดแล้ว ยังมีบริเวณภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่อีกด้วย ซึ่งร้านนวดภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีอยู่ที่เดียว คือบริเวณฟิตเนสใกล้ๆ กับสระว่ายน้ำ
วิธีที่ 5: ไปพบแพทย์เฉพาะทาง

ยืดก็แล้ว ใช้เพื่อนนวดก็แล้ว ออกกำลังกายก็แล้ว หรือเข้าร้านนวดจนแทบจะเป็นหุ้นส่วนกับเจ้าของร้าน แต่อาการเหล่านี้ก็ยังไม่หายไปเสียที การพบแพทย์แผนกเวชศาสตร์ฟื้นฟูทั่วไปเพื่อประเมินดูว่าอาการเมื่อยอยู่ในระดับใดแล้วจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น เพื่อให้พิจารณาได้ว่าควรใช้วิธีแบบใดในการบำบัดรักษาในที่สุด
“ตอนแรกปวดหลังมากๆ จนนอนไม่ได้ เราเลยตัดสินใจไปหาหมอที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เดิมทีคุณหมอส่งตัวไปกายภาพบำบัดก่อนครับ แต่ว่าไม่หาย คุณหมอจึงประเมินใหม่ แล้วส่งตัวไปฝังเข็มแทน” นาย อ. คณะรัฐศาสตร์ เล่า ปัจจุบันเขาได้เข้ารับการรักษาทั้งหมด 11ครั้ง อาการปวดหลังจึงหายไป โดยการรักษาในครั้งนี้ครอบคลุมสิทธิของนักศึกษาธรรมศาสตร์ จึงไม่ต้องมีการเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น
“เรามีอาการตั้งแต่เริ่มเรียนออนไลน์เลย แต่พอกลับมาเป็นช่วงเรียนในห้อง อาการก็ดีขึ้นค่ะ เพราะไม่เข้าเรียน นอนอย่างเดียว (หัวเราะ)” นางสาว ส. คณะรัฐศาสตร์ เธอกล่าวเสริมว่า ในช่วงที่เรียนออนไลน์นั้น มีอาการปวดบ่า ปวดไหล่ จึงได้ตัดสินใจไปที่คลินิกแพทย์แผนจีน เพื่อเข้ารับการฝังเข็ม ครอบแก้ว และกระตุ้นไฟฟ้า โดยเป็นการบำบัดแบบมีค่าใช้จ่าย เนื่องจากไม่ได้ขึ้นตรงกับการวินิจฉัยของแพทย์
ทั้งนี้อาการ office syndrome ยังสามารถกลับมาเป็นได้อีกเรื่อยๆ ตราบใดที่ยังทำพฤติกรรมแบบเดิม กล่าวคือ นั่งนานๆ บนเก้าอี้ที่ไม่เอื้อต่อสรีระ ก้มมองโทรศัพท์มือถือบ่อยครั้ง ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งอาการปวดเมื่อยนั้นส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องในชีวิตประจำวัน หากใครรู้สึกไม่สบายตัวตรงไหนลองนำวิธีคลายอาการปวดเมื่อยได้ตามความชอบและความเหมาะสมได้เลย เพราะการไม่ปวดหลังเป็นลาภอันประเสริฐ พวกเราอยากให้ทุกๆ คนมีไหล่ที่ไม่ตึงและไม่ปวดหลัง ขณะที่นั่งเขียนบทความนี้ บ่าของผู้เขียนก็เริ่มตึงๆ แล้วล่ะ อีกอย่างการสอบกลางภาคใกล้เข้ามาแล้ว อย่าลืมปรับเก้าอี้ให้เข้ากับสรีระตัวเองด้วยนะคะ ด้วยความห่วงใยจาก ทีมบก. varasarnpress
อ้างอิง:
- https://www.sikarin.com/health/officesyndrome