เรื่อง: ปาณัสม์ จันทร์กลาง
ภาพ: ณัฐกมล สิทธิวงศ์
สายด่วนท้องไม่พร้อม 1663 เผย แม้ประเทศไทยจะแก้กฎหมายให้ผู้มีอายุครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์สามารถเข้ารับบริการยุติการตั้งครรภ์ได้โดยไม่ผิดกฎหมาย แต่ยังพบว่าโรงพยาบาลจำนวนมากรวมทั้งโรงเรียนแพทย์ปฏิเสธการให้บริการ แนะสธ.จัดหน่วยบริการยุติการตั้งครรภ์จังหวัดละ 1 แห่งเพื่ออำนวยความสะดวก
จากการที่ประเทศไทยได้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการทำแท้ง จากเดิม ม.305 แพทย์สามารถทำแท้งได้เพื่อสุขภาพของแม่ และเป็นคดีทางเพศ แก้เป็นแพทย์สามารถทำแท้งได้เพื่อสุขภาพกายและใจของแม่ การท้องต่อเสี่ยงต่อความผิดปกติของทารก หญิงยืนยันว่าการท้องเกิดจากคดีทางเพศ อายุครรภ์ไม่ถึง 12 สัปดาห์ หรืออายุครรภ์ระหว่าง 12-24 สัปดาห์แต่อยู่ภายใต้คำปรึกษาของแพทย์ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 นั้น
สมวงศ์ อุไรวัฒนา ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ (แอสเซส) และหัวหน้าโครงการ 1663 สายด่วนปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม ให้สัมภาษณ์ว่า ถึงแม้จะมีการแก้ไขกฎหมายเพื่อรองรับให้สามารถยุติการตั้งครรภ์ได้อย่างเปิดกว้างขึ้นแล้ว แต่ในทางปฏิบัติยังคงมีปัญหาเรื่องการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งเรื่องการปฏิเสธการให้บริการยุติการตั้งครรภ์ และการไม่ส่งต่อไปยังหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง “ทุกวันนี้หน่วยรับการยุติตั้งครรภ์มีร้อยกว่าหน่วยที่ขึ้นทะเบียนไว้ แต่ก็ตั้งเงื่อนไขในการให้บริการ เช่น รับเฉพาะคนที่ถูกข่มขืน รับเฉพาะคนในอำเภอเรา หรือรับเฉพาะคนที่อายุต่ำกว่า 20 ปีเท่านั้น ไม่ได้เปิดกว้างตามกฎหมาย ส่วนของภาครัฐที่เปิดกว้างและสามารถเข้าไปรับบริการได้เลยจริงๆ ทั้งประเทศไทยมีอยู่ไม่เกิน 5 แห่งเท่านั้น”
สมวงศ์กล่าวว่า กรณีตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายของหน่วยบริการ เช่น มีหญิงที่ถูกตรวจพบว่าตัวอ่อนในครรภ์เป็นดาวน์ซินโดรมและมีสมองที่ผิดปกติ แพทย์แนะนำให้ยุติการตั้งครรภ์ แต่โรงพยาบาลที่ฝากครรภ์ไว้ปฏิเสธการให้บริการโดยให้เหตุผลเรื่องผิดศีลธรรมและเครื่องมือไม่พร้อม จึงทำหนังสือยืนยันผลตรวจและให้ผู้รับบริการไปหาหน่วยบริการเอาเอง แล้วถูกโรงเรียนแพทย์ 4 แห่งในกรุงเทพฯ ปฏิเสธ จึงโทรเข้าสายด่วน 1663 ซึ่งได้ช่วยประสานงานให้ได้รับบริการในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งกระทั่งสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้อย่างปลอดภัย
“ในกรณีดังกล่าว ระบบสาธารณสุขเราก็นิ่งดูดาย แม้แต่โรงพยาบาลระดับใหญ่ หรือโรงเรียนแพทย์ก็ยังปฏิเสธ เราต้องใช้ความสามารถส่วนตัวและคอนเนคชันกับหมอจำนวนหนึ่งในการช่วยเหลือนอกระบบ ซึ่งตามระบบปกติมันไม่ควรมีคอนเนคชัน แต่กลายเป็นว่าต้องใช้อำนาจของหมอผู้ใหญ่มาช่วย” สมวงศ์กล่าว
สมวงศ์กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมองเรื่องการยุติการตั้งครรภ์เป็นปัญหาสุขภาพและต้องให้บริการการรักษา โดยขอให้กระทรวงสาธารณะสุข (สธ.) จัดหน่วยบริการยุติการตั้งครรภ์อย่างน้อยจังหวัดละ 1 แห่งและจัดเตรียมระบบการส่งต่อให้ผู้ที่ท้องไม่พร้อมได้รับบริการ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้เข้ารับบริการไม่จำเป็นต้องเดินทางข้ามจังหวัดหรือข้ามพื้นที่ ขอให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ออกนโยบายว่าการยุติการตั้งครรภ์เป็นการรักษาเพื่อให้ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิประกันสังคมในการยุติการตั้งครรภ์ได้ เพราะปัจจุบันหญิงท้องที่เป็นผู้ประกันตนไม่สามารถใช้สิทธิ์ได้เพราะ สปส.อ้างว่าการยุติการตั้งครรภ์ไม่ใช่การรักษา ขอให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะผู้ซื้อบริการช่วยควบคุมการให้บริการของหน่วยบริการต่างๆ โดยเฉพาะการส่งต่อผู้ตั้งครรภ์ไปยังหน่วยบริการอื่น ต้องไม่ปล่อยให้ผู้รับบริการดำเนินการด้วยตัวเอง และขอให้แพทยสภากำชับแพทย์ให้เข้าใจกฎหมายและดำเนินการตามกฎหมายที่แก้ไขแล้วอย่างเคร่งครัด เนื่องจากยังคงพบปัญหาเรื่องการปฏิเสธให้บริการอย่างต่อเนื่อง