SocialWritings

ทำไมโอเมก้าเวิร์สจึงยังไม่พร้อมจะออกสู่ตลาดกว้าง?

เรื่อง : ธนัชชา สิริคุณานันทน์กุล

ภาพ: แฟนเพจเฟซบุ๊ก อย่าบอกป๊านะม๊า Midnight Fortune The Series

7 ตุลาคม 2565: ประกาศยกเลิกผลิต ‘อย่าบอกป๊านะม๊า Midnight Fortune The Series’ ผ่านทางเฟซบุ๊ก โดยบริษัท UNCOMMON ENTERTAINMENT จำกัด บริษัทผู้ซื้อลิขสิทธิ์นิยายเรื่อง อย่าบอกป๊านะม๊า เพื่อนำไปผลิตเป็นซีรีส์

อย่าบอกป๊านะม๊า เป็นนิยายแนว ‘โอเมก้าเวิร์ส’ โดยนักเขียนสัญชาติไทย นามปากกา wickedwish ที่มียอดอ่านมากกว่า 6 ล้านครั้ง บน readAwrite แอปพลิเคชันอ่านนิยายออนไลน์ชื่อดัง หลังจากถูกซื้อลิขสิทธิ์เพื่อนำไปผลิตเป็นซีรีส์ และกำลังอยู่ในขั้นตอนรับสมัครนักแสดง ต่อมาได้ประกาศยกเลิกดำเนินการสร้างกลางคัน เนื่องจากกระแสตอบรับเป็นไปในทางลบ ทั้งจากแฟนคลับและกลุ่มผู้อ่านนิยายโอเมก้าเวิร์สบนโซเชียลมีเดีย อีกทั้งยังมีความกังวลถึงประเด็นทางสังคม เช่น เป็นการส่งเสริมความไม่เท่าเทียม เนื่องจากโครงสร้างนิยายแนวนี้มีการแบ่งชนชั้นของตัวละคร และอื่นๆ ทีมผู้จัด บริษัท UNCOMMON ENTERTAINMENT จึงออกแถลงการณ์ขอโทษ ที่ไม่ได้พิจารณาถึงประเด็นดังกล่าวให้ดีก่อน และจะรับข้อเสนอแนะไว้เป็นบทเรียนสำหรับโครงการอื่นที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

โดยปกติแล้ว โอเมก้าเวิร์สไม่ได้เป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง และมีเนื้อหาที่ค่อนข้างเฉพาะในเรื่องเพศ กล่าวคือ เป็นจักรวาลที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อตอบสนองรสนิยมทางเพศรูปแบบหนึ่ง จึงมักถูกถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือ และผลิตออกมาในรูปแบบนิยายเล่ม แต่หลังจากที่สื่อออนไลน์ได้เข้ามามีอิทธิพลในชีวิตประจำวันมากขึ้น รูปแบบการอ่านนิยายเองก็ปรับตัวไปอยู่บนแพลตฟอร์มออนไลน์ได้สำเร็จ และเป็นที่นิยมอย่างมากในฐานะ ‘นิยายแชต’ นิยายออนไลน์ที่นำเสนอตัวละคร และดำเนินเรื่องผ่านการแชต คล้ายกับการสนทนาในแอปพลิเคชันไลน์ ทำให้การอ่านนิยายสะดวก และสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น กลุ่มผู้อ่านก็มีขนาดใหญ่ขึ้น และหนึ่งในประเภทนิยายออนไลน์ที่ได้รับความนิยม ก็คือโอเมก้าเวิร์สนั่นเอง

โอเมก้าเวิร์ส (Omegaverse) คือจักรวาลสมมติรูปแบบหนึ่ง ที่มีการแบ่งลำดับชั้นมนุษย์ออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ อัลฟ่า (Alpha) ชนชั้นเหนือสุดของห่วงโซ่อาหาร มีจำนวนน้อย ลักษณะพิเศษคือ ทั้งชายและหญิงสามารถทำให้เบต้าและโอเมก้าท้องได้ เปรียบเสมือนกลุ่มผู้มีอำนาจในจักรวาลนี้ เบต้า (Beta) ชนชั้นกลาง เป็นเหมือนมนุษย์ธรรมดาทั่วไป ที่ไม่ได้มีบทบาทอะไรเป็นพิเศษ และโอเมก้า (Omega) ชนชั้นล่างสุดของห่วงโซ่อาหาร หรือเบี้ยล่างของอัลฟ่า ที่มีลักษณะพิเศษคือ ทั้งชายและหญิงสามารถตั้งท้องได้

สกู๊ปไทยรัฐ ‘บุกโลก “นิยายแชต” เปิดเคล็ดลับ ปั้นรายได้สูงสุดเหยียบแสน’ บอกว่า กลุ่มผู้อ่านนิยายออนไลน์ส่วนใหญ่คือวัยรุ่น อายุ 13-24 ปี ซึ่งยังเป็นผู้เยาว์อยู่ ร่วมกับที่ช่วงเวลาหนึ่ง บนแอปพลิเคชัน TikTok เคยมีประเด็นถกเถียงกันเรื่อง ‘ผู้ชายสามารถตั้งท้องได้จริงหรือไม่’ จึงเกิดเป็นกระแสตอบรับในทางลบต่อการสร้างโอเมก้าเวิร์สเป็นซีรีส์ว่า ‘ในเมื่อคนยังไม่มีความรู้ความเข้าใจ และยังแยกแยะไม่ได้ว่าโอเมก้าเวิร์สเป็นเพียงจักรวาลสมมติ ไม่ใช่เรื่องจริง การขยายโอเมก้าเวิร์สจากตลาดนิยายไปสู่ซีรีส์ ที่มีฐานคนดูกว้างกว่า จะยิ่งเป็นการเพิ่มความเข้าใจผิดไปเสียเปล่า’ ดังเช่นความคิดเห็นบางส่วนจาก #อย่าบอกป๊านะม๊า บนทวิตเตอร์

“สำหรับดราม่า #อย่าบอกป๊านะม๊า เรื่องนี้มองว่ามันไม่ควรมาทำเป็นซีรีส์จริงๆ เพราะมันเหนือธรรมชาติไปหน่อย เเต่ถ้าอ่านเล่นคือดีมาก เเนะนำสุดๆ .. ซึ่งคนที่อ่านเองก็ต้องมีวิจารณญาณในการอ่านเช่นกัน ว่ามันเป็นเรื่องของจินตนาการของผู้เเต่ง.. ซึ่งคนที่อ่านประเภทนี้อยู่แล้วไม่น่ามีปัญหา”

“เห็นข่าวที่โปรเจกต์ซีรีส์เรื่อง #อย่าบอกป๊านะม๊า ยกเลิก คือมันไม่สมควรเอามาเป็นซีรีส์ตั้งแต่แรกแล้วอะ ของที่อยู่ใต้ดินก็ควรอยู่ใต้ดินต่อไป ยูนิเวิร์สของพวกนี้ต้องทำความเข้าใจแบบละเอียดยิบอะ แล้วโครงสร้างมันแบ่งชนชั้นด้วย ดีแล้วที่ยกเลิกโปรเจกต์ไป ไม่งั้นเกิดปัญหาตามมาแน่”

ความคิดเห็นทั้งหมดนี้ ที่กล่าวถึงความเหนือธรรมชาติ ต้องใช้วิจารณญาณในการอ่าน หรือใต้ดิน ไม่ได้หมายถึง ‘เนื้อหา’ ของนิยายเรื่องอย่าบอกป๊านะม๊า แต่หมายถึงนิยาย ‘ประเภท’ โอเมก้าเวิร์สทั้งหมด ซึ่งถ้าตัดเรื่องความเป็นนิยายประเภทโอเมก้าเวิร์สออกไป รีวิวเรื่องอย่าบอกป๋านะม๊าส่วนใหญ่จะไปในแนว ‘น่ารักปุ๊กปิ๊ก’ ‘สายฟีลกู๊ดต้องอ่าน’ หรือ ‘มันแบบเออตลกชอบ’ เป็นต้น โอเมก้าเวิร์ส เป็นเพียงนิยายประเภทแฟนตาซีรูปแบบหนึ่งที่ได้รับความนิยมมาก จึงถูกเรียกแยกออกมาว่าโอเมก้าเวิร์สเลยเท่านั้น

ตฤณญาดา แสงอ่อน (เอแน็ง) นักอ่านนิยายแนวโอเมก้าเวิร์ส ที่เริ่มอ่านตั้งแต่นิยายย้ายแพลตฟอร์มมาอยู่บนออนไลน์ แสดงความคิดเห็นว่า โอเมก้าเวิร์สยังไม่ควรถูกนำเสนอในรูปแบบซีรีส์ และสมควรแล้วที่ยกเลิกไป “ถึงจะเป็นหนึ่งในเซ็ตติ้งนิยาย แต่การไปนำเสนอมันในฐานะซีรีส์ จะทำให้คนเข้าถึงง่ายเกินไป ซึ่งในที่นี้อาจมีเด็กที่อายุไม่ถึง หรือยังไม่บรรลุนิติภาวะรวมอยู่ด้วย” แต่ใน readAwrite จะมีนโยบายยืนยันอายุผู้อ่านจากบัตรประชาชน เพื่อใช้ตรวจสอบสิทธิ์การเข้าถึงผลงานบางประเภทที่จำกัดอายุไว้ โดยต้องส่งคำขอยืนยันประมาณ 1-3 วันทำการ หากยืนยันไม่สำเร็จก็จะไม่สามารถอ่านได้

“และถึงจะไม่พูดเรื่องเด็กหรืออายุ แต่คอนเซ็ปต์โดยรวมของโอเมก้าเวิร์สก็คือการมีเพศสัมพันธ์อยู่ดี จึงยังไม่ใช่สิ่งที่ควรจะออกไปสู่ภายนอก มันควรจะอยู่ในที่ที่มีคนเข้าใจมันอยู่แล้ว”

นอกจากเรื่องการแบ่งแยกชนชั้นที่อัลฟ่าเป็นผู้มีอำนาจต่อโอเมก้า หรือเงื่อนไขพิเศษเกี่ยวกับเรื่องเพศที่โอเมก้าชายสามารถตั้งท้องได้แล้ว ยังมีอีกหลายสาเหตุที่ทำให้โอเมก้าเวิร์สไม่พร้อมที่จะออกสู่ตลาดกว้างโดยสมบูรณ์ ดังที่ได้กล่าวถึงไปข้างต้น ทั้ง ‘ความเหนือธรรมชาติ’ ‘ต้องใช้วิจารณญาณในการอ่าน’ หรือ ‘ใต้ดิน’ สิ่งเหล่านี้คืออะไร

ยกตัวอย่าง 3 องค์ประกอบเบื้องต้นที่นิยายประเภทโอเมก้าเวิร์สทุกเรื่องจะต้องมี คือ 1.) การฮีต (Heat) ช่วงเวลาหนึ่งที่ร่างกายโอเมก้ามีอัตราการเจริญพันธุ์สูง พร้อมสืบพันธุ์ ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ และจะปล่อยฟีโรโมน (กลิ่นเฉพาะตัวของอัลฟ่าและโอเมก้าแต่ละคน) ออกมาอย่างรุนแรง เพื่อดึงดูดให้อัลฟ่าอยากมีเพศสัมพันธ์ด้วย 2.) การรัต (Rut) อาการอยากผสมพันธุ์ของอัลฟ่า คล้ายอาการติดสัดของสุนัข อาจเกิดขึ้นได้จากการได้กลิ่นฟีโรโมนของโอเมก้าในช่วงฮีต หรือถึงช่วงฤดูผสมพันธุ์ของตนเอง 3.) การสร้างพันธะ (Bond) คือการที่อัลฟ่าทำเครื่องหมายว่าโอเมก้าคนนี้เป็นของตน โดยส่วนใหญ่เป็นการกัดที่ต้นคอ จากนั้น อัลฟ่าที่กัดจะมีอำนาจเหนือโอเมก้าที่ถูกกัดโดยสมบูรณ์ หรือในบางเรื่อง อาจมีสิ่งที่เรียกว่า ปลอกคอ เพิ่มเข้ามา เป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของชนชั้นล่างอย่างโอเมก้า หากอัลฟ่าเป็นผู้สวมให้ นั่นคือการแสดงถึงความเป็นเจ้าของ แต่หากโอเมก้าเลือกสวมเอง นั่นคือการทำเพื่อป้องกันการถูกสร้างพันธะ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม นี่ถือว่าเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่นำนิยายโอเมก้าเวิร์สมาสร้างเป็นซีรีส์ จึงอาจเป็นการลองผิดลองถูกที่นำมาซึ่งกระแสตอบรับด้านลบเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าถามว่าในอนาคต โอเมก้าเวิร์สจะสามารถนำเสนอในรูปแบบของซีรีส์ได้สำเร็จไหม แน่นอนว่าต้องมีผู้จัดที่คิดอยากจะทำอีก เพราะไม่ใช่ว่ากระแสตอบรับจะเป็นไปในทางลบทั้งหมดซะทีเดียว แต่ยังมีผู้คนอีกส่วนหนึ่งที่สนใจและตั้งตารอว่าถ้าหากโอเมก้าเวิร์สถูกนำเสนอออกมาในรูปแบบซีรีส์ได้สำเร็จจริงๆ จะเป็นอย่างไร

“หลังจากได้ลองแลกเปลี่ยนมุมมองกับทางผู้จัดที่ติดต่อมาขอซื้อลิขสิทธิ์ไปทำเป็นซีรีส์ เขาบอกว่ามันต้องมีการปรับบทกันอยู่แล้ว ประเด็นละเอียดอ่อนที่คน concern กัน จะต้องมีการวางแผนป้องกันระหว่างนักเขียนและทีมเขียนบท ทุกอย่างจะต้องถูก screen ก่อนออกจอ”

คุณ wickedwish นักเขียนนิยายออนไลน์ ที่มียอดผู้ติดตามกว่า 1 หมื่นคน บนแอปพลิเคชัน readAwrite เจ้าของผลงานนิยายเรื่อง อย่าบอกป๊านะม๊า ได้ขอโทษ และชี้แจงว่าไม่ได้มีเจตนาจะส่งต่อแนวคิดผิดๆ เรื่องชายท้องได้ หรือทำให้ LGBTQ+ เสื่อมเสียแต่อย่างใด เพียงแต่หลังจากได้พูดคุย และลองหาข้อมูลของทีมผู้จัด ก็พบว่าพวกเขามีศักยภาพ และมีความสามารถที่จะมองลึกไปถึงประเด็นที่แม้แต่นักเขียนเองยังมองข้ามไปได้ จึงตัดสินใจขายลิขสิทธิ์ไป

สุดท้าย การพิจารณานำโอเมก้าเวิร์สมาสร้างเป็นซีรีส์อีกครั้ง อาจเป็นไปได้ในสักวันหนึ่ง วันที่สังคมเปิดกว้างมากกว่านี้ วันที่ลักษณะและกระแสสังคมในตอนนั้นๆ อาจเปลี่ยนไปแล้ว และทำให้ประเด็นพวกนี้ไม่ใช่เรื่องอ่อนไหวอีกต่อไป วันที่ทุกคนสามารถแยกแยะได้ว่าจักรวาลสมมติ ไม่ใช่เรื่องจริง หรืออย่างน้อยที่สุด วันที่ทุกคนสามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งที่นำเสนอผ่านหน้าจอโทรทัศน์เอง ก็ไม่ใช่เรื่องจริงทั้งหมดเช่นกัน ดังเช่น แผนโปรโมตละคร ‘เกมรักทรยศ’ ละครแนวดราม่า พล็อตเรื่องสามีนอกใจภรรยา ที่ให้นักแสดงสวมบทบาทไปออกรายการโหนกระแส

“แผนโปรโมตละครเกมรักทรยศนี่ได้ผลจริงๆ นะ เถียงกับป้า ยาย และลุง มาทั้งวันแล้วว่ามันคือละคร ไม่ใช่เรื่องจริง แต่เขาเถียงจนหืดขึ้นคอว่าถ้าไม่จริงจะออกโหนกระแสทำไม จะร้องไห้ เถียงจนแพ้ เถียงจนหมดทางจะสู้ เถียงจนอยากจะตีลังกาลงบันได”

โพสต์จากทวิตเตอร์ ที่มียอดคนโควทแชร์ประสบการณ์คล้ายกันกว่า 70 โควททวิต

จากเหตุการณ์ดังกล่าว ‘วันนั้น’ ที่พูดถึงคงจะไม่ใช่เร็วๆ นี้อย่างแน่นอน


อ้างอิง

การยืนยันอายุ. สืบค้นจาก https://www.readawrite.com/?action=manage_profile&tab=manage_idcard

ชี้แจงประเด็นเรื่อง #อย่าบอกป๊านะม๊า จากฝั่งนักเขียนคับ. สืบค้นจาก https://twitter.com/wickedwish_/status/1578666063709208577?s=46&t=xz3jM7k_IgsS5oOSY-TLcQ

ช่อง 3 พร้อมลั่น! จัดเต็ม จัดใหญ่ จัดให้ไม่ยั้ง! ใน #เปิดวิกBIG3ต้นปีมีลั่น. สืบค้นจาก https://www.youtube.com/watch?v=y2CYvdpfDF4&feature=youtu.be

ทำความรู้จักOmegaverse. สืบค้นจาก https://fictionlog.co/c/604e1b88e4e849001bb7b3a6

บุกโลก “นิยายแชต” เปิดเคล็ดลับ ปั้นรายได้สูงสุดเหยียบแสน. สืบค้นจาก https://www.thairath.co.th/scoop/1766936

ประกาศยกเลิก “ซีรีย์ อย่าบอกป๊านะม๊า” ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2565. สืบค้นจาก https://m.facebook.com/midnightfortunetheseries/posts/pfbid0waGKEASCg7f4vJhj4UD8yZRtQ2bEm1Pz4M813KFVKbo3jUf53vqMmTcpTnVRgDjVl

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
1
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

Comments are closed.

More in:Social

Writings

สำรวจความสำคัญ พร้อมตั้งคำถามถึงค่านิยมแบบไท๊ย ไทย ที่ทำให้วัตถุสนองความอยากทางเพศ ถูกปฏิเสธการมีอยู่

เรื่อง: ทยาภา เจียรวาปี ภาพประกอบ: นภัสสร ยอดแก้ว จากการสังเกตความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยมาสักระยะ ผู้เขียนพบสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นขึ้นมา นั่นคือ ‘การเปิดเผยเรื่องทางเพศอย่างตรงไปตรงมา’ จากเดิมที่แค่พูดแตะๆ เรื่องใต้สะดือก็มีสิทธิ์โดนแบนได้ง่ายๆ ตอนนี้กลับสามารถพูดได้อย่างเปิดเผย ไม่ว่าจะเป็นการแชร์ประสบการณ์เซ็กซ์ การบอกเทคนิคลีลาเด็ดมัดใจคู่นอนในโลกโซเชียล ...

Writings

เพราะธรรมศาสตร์ (แฟร์) สอนให้ฉันรักสัตว์?

เรื่อง : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย, วรพร รุ่งวัฒนโสภณ และ สิทธิเดช สายพัทลุง หลายคนคงทราบกันว่าช่วงวันที่ 18 ...

Writings

“ไม่มีใครเก่งเท่าเธอแล้ว” ว่าด้วยนิยามผู้หญิงเก่งในสายตาของแต่ละคน Part 1

เรื่องและภาพ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ, ปิยะพร สาวิสิทธิ์, สิทธิเดช สายพัทลุง และ อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์  วลี ‘ไม่มีใครเก่งเท่าแม่มึงแล้ว’ ชวนให้กองบรรณาธิการของเราตั้งคำถามว่า เราสามารถนิยาม ...

Writings

“รถ Feeder” เส้นเลือดฝอยที่สำคัญต่อคนเมืองไม่แพ้เส้นเลือดใหญ่

เรื่องและภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย ถ้าหากคุณเคยมากรุงเทพฯ โดยเฉพาะในย่านชุมชนที่พักอาศัย เชื่อว่าคุณอาจเคยเห็นรถสองแถวหรือรถเมล์คันเล็ก วิ่งอยู่ในเมืองหลวงแห่งนี้บ้าง แม้จะดูไม่โดดเด่นเท่ารถเมล์คันใหญ่ที่วิ่งไปมา แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมถึงพบรถเหล่านี้ได้ตามย่านชุมชนเกือบทุกที่เลย มันมีความสำคัญอย่างไรกัน บทความนี้จะพาทุกคนไปรู้จักกับ ‘รถ Feeder’ ระบบขนส่งมวลชนที่อยู่ลึกที่สุด ...

Writings

เมื่อความรักไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องของคนสองคน แต่เป็นหลายคนก็ได้

เรื่อง : สายฝัน สวาดดี ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา ในสังคมไทย เราเคยชินกับวัฒนธรรมผัวเดียวเมียเดียว หมายความว่าการมีหลายผัวมากเมียถือเป็นการทำผิดศีลธรรม จนไปถึงผิดกฎหมายเลยทีเดียว แต่ในโลกปัจจุบันที่ความหลากหลายได้รับการยอมรับมากขึ้น จึงอยากแนะนำให้ได้รู้จักกับ Polyamory ...

Writings

“สัตว์ในสงคราม” ว่าด้วยบทบาทผู้ช่วยเหลือของ “สัตว์สงคราม”

เรื่องและภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ แทบทุกหน้าประวัติศาสตร์อันว่าด้วยสงคราม มักปรากฏภาพมนุษย์ฆ่าฟันกันเอง จึงอาจไม่ผิดนักหากจะนิยามมนุษย์ว่าเป็น “สัตว์สงคราม”  หากแต่เราก็มิใช่สัตว์เพียงเผ่าพันธุ์เดียวในสนามรบ เพราะเราดึงเพื่อนร่วมโลกต่างเผ่าพันธุ์เข้ามาเกี่ยวในสมรภูมินี้ด้วย เมื่อการต่อสู้จบลง มนุษย์ก็สร้าง “วีรชนสงคราม” ขึ้นมา เราเชิดชูและบันทึกพวกเขาไว้บนหน้าบทเรียนประวัติศาสตร์ ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save