Writings

กสทช.จะเคาะควบรวมทรู-ดีแทคแล้วยังไง ทำไมคนไทยต้องสนใจด้วย?

เรื่อง: พรรณรมณ ศรีแก้ว

ภาพ: วรินธร อมรากุล

วันที่สัมภาษณ์: 16 ตุลาคม 2565

ดีล ‘ควบรวมทรู-ดีแทค’ เป็นประเด็นร้อนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เลื่อนพิจารณาการควบรวมจากวันที่ 12 ต.ค. ไปเป็น 20 ต.ค. ที่จะกำลังถึง ทำให้หลายองค์กรซึ่งเกี่ยวข้องกับผู้บริโภคแสดงจุดยืนคัดค้านการควบรวมธุรกิจสื่อโทรคมนาคมครั้งนี้ เพราะมองว่าดีลควบรวมดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง

หากถามว่าการควบรวมทรู-ดีแทคมีความสำคัญอย่างไร ทำไมจึงควรจับตามองการควบรวมค่ายมือถือ 2 ค่ายนี้ด้วยก็ต้องเกริ่นก่อนว่า ประเทศไทยมีผู้ให้บริการเครือข่ายมือถืออยู่ 4 ราย คือ บริษัทแอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด  (AWN) หรือเอไอเอส บริษัททรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น (TUC) หรือทรู บริษัทดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) หรือดีแทค และบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ซึ่งหากมีการควบรวมกิจการระหว่างทรูกับดีแทค จะทำให้เหลือผู้ให้บริการ 3 ราย คือ เอไอเอส ทรู-ดีแทค และ NT

การควบรวมนี้ดูเหมือนจะไม่มีอะไรนอกเสียจากผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือน้อยลงไปรายหนึ่ง แต่หากพิจารณาตัวเลขส่วนแบ่งการตลาดแล้ว เราคงต้องหันกลับมาคิดใหม่ เพราะตัวเลขส่วนแบ่งการตลาดโทรคมนาคมของประเทศไทยอยู่ที่เอไอเอส 47.72% ทรู 31.99% ดีแทค 17.41% และ NT 2.83% นั่นหมายความว่า หากมีการควบรวมกันระหว่างทรู-ดีแทค ส่วนแบ่งการตลาดจะกลายเป็น เอไอเอส 47.72% ทรู-ดีแทค 49.40% NT 2.83% ซึ่งส่วนแบ่งการตลาดของ NT นั้นอาจต่ำเกินไปที่จะแข่งขันในวงการเครือข่ายมือถือได้ จึงกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า หากเกิดการควบรวมระหว่างทรู-ดีแทค เราจะเหลือผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือรายใหญ่เพียง 2 รายซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาดพอๆ กัน

ส่วนแบ่งการตลาดที่สูสีกันนี้ย่อมส่งผลกระทบอื่นๆ ตามมาเป็นลูกโซ่ ซึ่งล้วนเป็นประเด็นที่เราจำเป็นต้องจับตามองหากเกิดการควบรวมนี้ขึ้น Varasarn Press จึงขอชวนทุกคนมาดูผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อผู้บริโภคกับคุณสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ผู้คัดค้านการควบรวมทรู-ดีแทคตั้งแต่แรกเริ่ม


การควบรวมทรูกับดีแทคจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างไร

สารีอธิบายว่า จากการศึกษาภายในประเทศ และนักวิชาการหลายรายมีความเห็นตรงกันว่า หากมีการควบรวมกิจการระหว่างทรู-ดีแทคจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคอย่างแน่นอน โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น โดยหากการแข่งขันภายในตลาดโทรคมนาคมยังเป็นเหมือนในปัจจุบัน ค่าใช้จ่ายก็จะเพิ่มขึ้นประมาณ 7-12% บางการศึกษาชี้ว่า 2-19% และตัวเลขเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 13% แต่หากผู้ให้บริการเลือกที่จะไม่แข่งขันกัน แต่ทำการแบ่งตลาดกันแทน ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นได้สูงสุดถึง 244.5%

กล่าวคือ หากค่าบริการเครือข่ายมือถือในปัจจุบันโดยเฉลี่ยของคนไทยหนึ่งหมายเลขอยู่ที่ 220 บาทต่อเดือน เมื่อเกิดการควบรวมทรู-ดีแทค และไม่มีการแข่งขันกันเอง คนไทยก็อาจต้องจ่ายค่ามือถือเพิ่มขึ้นเป็น 537.9 บาทต่อเดือน

การควบรวมยังทำให้การลงทุนกิจการโทรคมนาคมในพื้นที่ห่างไกลลดลง เพราะสร้างกำไรได้น้อยกว่าพื้นที่ในเมือง ส่งผลให้คนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงบริการเครือข่ายโทรคมนาคมได้ยากขึ้น ส่วนคนในเมืองที่สามารถเข้าถึงบริการได้ก็จะต้องจ่ายค่าบริการที่สูงขึ้น

สารีอธิบายต่อว่า นอกจากผู้บริโภคแล้ว ตลาดโทรคมนาคมก็จะได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะการควบรวมจะทำให้เกิด Duopoly (การที่ผู้ให้บริการจาก 3 รายเหลือเพียง 2 ราย) ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันกันเอง ส่งผลให้เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศล้าหลัง ผู้ให้บริการรายใหม่จะเข้ามาแข่งขันในตลาดได้ยากด้วยข้อจำกัดด้านเงินลงทุนที่จะต้องใช้เงินลงทุนอย่างน้อยสองแสนล้านบาทเป็นขั้นต่ำ และอุปสรรคด้านการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทำให้เกิดผู้ให้บริการรายใหม่ได้ยาก เราอาจจะต้องรออีกประมาณ 10 ปี จึงจะมีผู้ให้บริการรายใหม่ที่สามารถเข้ามาในตลาดโทรคมนาคมได้ และทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น

จะเห็นได้ว่า ผลกระทบจากการควบรวมทรู-ดีแทคนั้นไม่ได้มีเพียงค่าบริการโทรคมนาคมของคนไทยที่จะสูงขึ้น แต่ยังส่งผลกระทบไปถึงโอกาสเข้าถึงบริการโทรคมนาคมของคนในสังคม และกระทบถึงเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศที่จะต้องใช้เวลานานในการฟื้นตัวอีกด้วย


การที่กทสช.เลื่อนพิจารณาการควบรวมทรู-ดีแทคจากวันที่ 12 ต.ค. ไปเป็น 20 ต.ค. เนื่องจากต้องรอรายงานผลศึกษาผลกระทบจากต่างประเทศนับเป็นสัญญาณที่ดีหรือไม่

สารีมองว่าการที่กสทช.เลื่อนพิจารณาการควบรวมทรู-ดีแทคนั้นมองได้สองทาง ทางแรกคือกสทช.จะมีเวลาและความรอบคอบในการพิจารณาการควบรวมมากขึ้น ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดี แต่ในอีกทางหนึ่งก็อาจมองได้ว่ากสทช.เลื่อนพิจารณาเพราะต้องการให้กระแสสังคม ‘เบาลง’ เพราะในคืนวันที่ 11 ต.ค. 2565 แฮชแท็ก #หยุดผูกขาดมือถือ ได้ขึ้นเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับหนึ่งของประเทศไทย


ผู้บริโภคทำอะไรได้บ้าง

สารีกล่าวว่าผู้บริโภคสามารถแสดงความคิดเห็นและจุดยืนต่อการควบรวมได้หลายช่องทาง ทั้งลงชื่อคัดค้านผ่านเว็บไซต์ Change.org หรือแสดงความคิดเห็นผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ เพื่อแสดงจุดยืนว่าไม่เห็นด้วยต่อการควบรวมทรู-ดีแทค โดยผู้บริโภคควรคำนึงว่าการควบรวมนั้นเกี่ยวข้องและส่งผลกระทบด้านลบต่อตนเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้ว่าค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นต่อคนอาจจะไม่มากนัก แต่เมื่อรวมทุกหมายเลขที่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มแล้วจะพบว่ามีมูลค่าสูงมาก

นอกจากนี้ สอบ. ยังเชิญชวนให้ประชาชนโหวต NO #หยุดผูกขาดมือถือ โดยการชูสองมือเป็นเครื่องหมายกากบาท หรือตัว X พร้อมติดแฮชแท็ก #ประชาชนไม่อนุญาตควบรวม #ค้านควบรวมทรูดีแทค #หยุดผูกขาดมือถือบนโซเชียลมีเดีย เพื่อ แสดงจุดยืนให้กสทช.เห็นว่าประชาชนไม่เห็นด้วยกับการควบรวมกิจการทรู-ดีแทค


อ้างอิง

ฉัตร คำแสง. 2022. 5 เรื่องเล่า vs 5 เรื่องจริง ดีลควบรวมทรู+ดีแทค และบทบาทของ กสทช.. สืบค้นจาก https://www.the101.world/5-narratives-vs-5-facts-about-dtac-true-merger/#_edn1

ณัฐพร เทพานนท์. 2022. ‘จาก 220 จะต้องเสีย 537 บาท’ ลูกไก่ในกำมือทุนผูกขาดคลื่นความถี่?. สืบค้นจาก https://decode.plus/20220813-monopoly-network/

สำนักข่าวอิศรา. 2022. เปิดผลศึกษา‘ที่ปรึกษาตปท.’ ชี้ควบ TRUE-DTAC ทำแข่งขันลด-ค่าบริการแพงขึ้น-รายใหม่เกิดยาก. สืบค้นจาก https://www.isranews.org/article/isranews-news/112820-nbtc-board-TRUE-DTAC-Amalgamation-A-Study-on-the-Impact-of-a-Proposed-Merger-news.html

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
0
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:Writings

Writings

ภาษารุนแรงในเพลงร็อก: ศิลปะ การต่อต้าน หรือแค่คำหยาบ

เรื่อง: ณฐนนท์ สายรัศมี ภาพประกอบ: สุชานันท์ สหวงศ์เจริญ หากดนตรีคือกระจกสะท้อนสังคม เพลงร็อกก็คงเป็นกระจกที่แตกเป็นเสี่ยงๆ บาดคม ท้าทาย และไม่เคยเลือกแสดงเพียงด้านที่งดงาม  ภายใต้เสียงกีตาร์อันกระหึ่ม เสียงกลองที่ดุดัน และน้ำเสียงของนักร้องที่มักเต็มไปด้วยอารมณ์โกรธ เกลียด หรือผิดหวัง ...

Writings

‘Human Zoo’ หรือ  ‘สวนสัตว์มนุษย์ ’ เมื่อความบันเทิงของชนชั้นสูงคือการลดทอนความเป็นมนุษย์

เรื่อง : อชิรญา ปินะสา ภาพประกอบ : Rare Historical photos จะเป็นอย่างไรหากมนุษย์เสพสุขโดยการบั่นทอนและลดคุณค่ามนุษย์ด้วยกันเอง ? ในช่วงศตวรรษที่ 19 จนถึงต้นศตวรรษที่ 20 ...

Writings

มากกว่าแค่ลวดลาย รอยสักที่บอกเล่าเรื่องราว อัตลักษณ์ และวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป

เรื่อง : ฐิดาพร พิมพ์สีโคตร ภาพประกอบ : สุชานันท์ สหวงศ์เจริญ จากภาพลักษณ์ที่เคยถูกมองว่าเป็นเพียงสัญลักษณ์ของกลุ่มคนบางกลุ่ม ปัจจุบัน ‘รอยสัก’ ได้กลายปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่พบเห็นได้ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นบนร่างกายของนักแสดงชื่อดัง นักกีฬา ศิลปิน ...

Writings

Graffiti ศิลปะแห่งการต่อสู้ไม่รู้จบ

เรื่องและภาพ : สุชานันท์ สหวงศ์เจริญ เพราะไม่ว่าจะต้องสู้กับใคร ศิลปะจะคงอยู่ข้างผู้คนเสมอ… ภาพวาดที่มีมากกว่าความสวยงาม และแฝงไว้ด้วยความคิดอย่างเต็มเปี่ยมจึงสามารถพาผู้ชมย้อนกลับไปมองไปปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมต่างๆ ได้ทุกขณะ  ดังนั้น เมื่อกำแพงกลายเป็นแคนวาส สีสันฉูดฉาดที่พ่นลงไปเป็นตัวแทนการแสดงออกทางความคิด กราฟิตี้ (Graffiti) ศิลปะที่คนส่วนใหญ่มองว่าขบถ ...

Lifestyle

อนาคตอยู่ในมือใคร

เรื่องและภาพประกอบ: ณฐนนท์ สายรัศมี เพราะกลัวว่าทางเลือกที่เลือกเองจะผิดไปเพราะสงสัยเกี่ยวกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นเพราะอยากรู้ว่าชีวิตข้างหน้าจะเป็นอย่างไรเพราะทนไม่ได้ที่จะไม่รู้ว่าปัญหาที่เผชิญอยู่จะจบลงแบบไหนและที่สำคัญ เพราะวุ่นวายกับคำถามว่าประสบความสำเร็จไหม ในโลกที่ทุกคนดูเหมือนจะทำทุกอย่างสำเร็จได้ง่ายๆเจนเนอเรชัน ‘เรา’ ซึ่งคุ้นเคยกับการประกาศตัวว่า ‘ไม่มีศาสนา’ และตั้งคำถามกับอะไรที่ ‘งมงาย’ เสมอจึงกลับกลายเป็นเจนที่พุ่งหาที่พึ่ง ไม่ว่าจะเป็นการหยิบไพ่ดูดวง ลองเปิดแอปทำนาย หรือสวดมนต์ขอพร ...

Writings

คนสั่งไม่รู้ แต่คนรู้ต้องทำตาม : นโยบายห้ามเผาที่ไม่ตอบโจทย์ปัญหาฝุ่น PM 2.5

เรื่อง : สุชานันท์ สหวงศ์เจริญ ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา “ไฟป่าไม่ได้คร่าเพียงแค่ผืนป่า แต่ยังคร่าชีวิตผู้พิทักษ์ฯ ของเราไปด้วย” คำอุทิศจากบุคลากรของอุทยานแห่งชาติดอยผ้าห่มปกถึงเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าที่พลัดหลงจากกลุ่ม หลังภารกิจดับไฟป่าในพื้นที่ป่าทางทิศตะวันออกของบ้านห้วยมะยม ตำบลเวียง อำเภอฝาง ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save