Writings

เสี้ยววินาทีแห่งการสบตา สร้างความสุขจนทะลักท่วมหัวใจ

เรื่อง : พิมพ์มาดา ฐิติปุญญา

ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา

“เขาบอกไว้ว่า ถ้าเราจ้องตาใครเกิน 8 วิ คนนั้นจะตกหลุมรักเรา”

ประโยคสุดคลาสสิกที่เหมาะกับคนโสดในวันแห่งความรักอย่างยิ่ง ถูกหยิบมาใช้อีกครั้งในตัวอย่างภาพยนตร์เรื่อง เธอกับฉันกับฉัน เป็นประโยคที่บางคนน่าจะเคยได้ยินจากคำแนะนำของเพื่อนสนิทเวลาที่รู้ว่าเราแอบชอบใครสักคน เป็นความเชื่อที่ว่าถ้าเราจ้องแววตาของใครสักคนนาน 8 วินาที เขาจะสามารถตกหลุมรักเราได้

ที่จริงความเชื่อนี้ก็อาจไม่ได้เลื่อนลอยอะไรนัก ผลการวิจัยในวารสารการศึกษาพฤติกรรมทางเพศ (Archive of Sexual Behavior) เมื่อปี ค.ศ. 2009 อธิบายถึงการทดลองที่นำชายหญิงจำนวน 115 คนซึ่งไม่เคยรู้จักกันมาก่อน ให้ลองมาจ้องตากับคู่เพศตรงข้ามของตัวเอง ผลปรากฏว่าหากผู้ชายสนใจผู้หญิงคนไหนจะสบสายตาเฉลี่ยถึง 8.2 วินาที อีกทั้งมีความเป็นไปได้ว่าในช่วงเวลานั้น ฝ่ายชายอาจเกิดอาการประหม่าขึ้นมาเสียดื้อๆ

เมื่ออ่านเพียงเท่านี้ก็ดูเป็นทฤษฎีที่น่าลองหาทำ และคงไม่เสียหายมากนักหากจะนำไปใช้ในชีวิตจริง แต่หลายๆ คนที่เคยมีประสบการณ์ในการแอบชอบใครจะเข้าใจกันดีว่า

การจ้องตาคนที่ชอบให้นาน 8 วิ มันยากที่สุดเลยโว้ย!

แค่เผลอสบตาเพียงเสี้ยววินาทีก็ต้องรีบเบนสายตาออก รู้สึกอึดอัด ทรมาน อย่างบอกไม่ถูก แต่ถึงอย่างนั้นหัวใจของเราก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่าความทรมานที่ว่านั้น กลับทำให้เรารู้สึกมีความสุขจนล้นออกมา นอนตะแคงแทบไม่ได้เพราะกลัวความสุขมันจะไหลออกทางหู

แล้วอาการ “ทรมานที่แสนมีความสุข” จากการสบตาแค่ครู่เดียวมันเกิดขึ้นได้อย่างไรนะ?

อยากให้ทุกคนลองย้อนทบทวนความทรงจำในช่วงเวลา “Puppy Love” หรือความรักในวัยแรกแย้มของตัวเอง แต่หากใครที่ไม่เคยมีประสบการณ์ก็อยากให้ลองนึกถึงความสัมพันธ์ของตัวละคร น้องน้ำ – พี่โชน จากภาพยนตร์โรแมนติกคอมเมดี้ เรื่อง สิ่งเล็กๆ ที่เรียกว่ารัก เมื่อปี พ.ศ. 2553 โดยสองผู้กำกับ พุฒิพงศ์ พรหมสาขา ณ สกลนคร และ วศิน ปกป้อง

หลายครั้งที่เราต่างไม่กล้าที่จะสบตากับใครคนนั้นโดยตรง หากเป็นช่วงเวลาพักกลางวันก็ทำได้แค่แอบมองเขาจากมุมใดมุมหนึ่งของโรงอาหาร แต่มันก็มักจะมีช่วงจังหวะหนึ่งที่เราดันกล้าชั่วขณะ ตัดสินใจที่จะใจแข็งลองสบตาดูบ้าง คล้ายกับการกระทำของน้องน้ำที่จ้องไปที่แผ่นหลังของพี่โชนแล้วสะกดจิตให้เขาหันหลังมามอง และเมื่อพี่โชนหันกลับมามองจริงๆ ใจของน้องน้ำก็เต้นลิงโลดจนเผลอดีใจออกหน้าออกตา

นั่นเป็นคงอาการเดียวกันกับคนส่วนใหญ่ที่เผลอสบตากับคนที่ชอบเข้าให้

อาการของหัวใจที่ถูกบีบรัดและคลายออกอย่างรวดเร็ว ให้ความรู้สึกทรมานจนหายใจไม่ทั่วท้องเหมือนมีผีเสื้อนับพันกำลังบินวนไปมา สิ่งนี้จะเกิดขึ้นเมื่อสมองถูกกระตุ้นด้วยความเครียดหรือความตื่นเต้น และการสบตากับคนที่ชอบเพียงระยะสั้นเองก็ถือเป็น “ตัวกระตุ้น” ชั้นเยี่ยม

ความตื่นเต้นจากการแอบชอบ ทำให้ความเห่อร้อนพวยพุ่งไปทั่วร่างกาย โดยเฉพาะพวงแก้มที่แดงก่ำคล้ายมะเขือเทศ นั่นเป็นเพราะฮอร์โมน อะดรีนาลิน (Adrenaline) จากสมองเร่งการสูบฉีดของหัวใจ จนเราสัมผัสได้ถึงก้อนเนื้อเท่ากำปั้นใต้ซี่โครงที่กำลังตีกลองเป็นจังหวะระรัวจนแทบทะลุอก จึงส่งผลให้คนส่วนใหญ่มักจะหลบสายตาและเดินหนีจากเขาทันที เพราะกลัวว่าอาการเหล่านี้มันจะฟ้องว่าเรานั้นคิดอะไรกับเขาอยู่

หลังจากที่ความทรมานในร่างกายเริ่มคลายตัวลง ความกระวนกระวายและความว้าวุ่นจะเข้ามาแทนที่ ทำให้เราโหยหา คิดถึงเขาอีกครั้งหนึ่ง อันเป็นผลมาจากฮอร์โมน เซโรโทนิน (Serotonin) แต่ในขณะเดียวกันนั้น ระดับความสุขจากการที่สบตาเสี้ยววิก็จะเพิ่มขึ้นเพราะฮอร์โมน โดพามีน (Dopamine) ที่หลั่งออกมาไล่เลี่ยกัน จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเรายังคงยิ้มกว้างให้กับความทรมานนี้อย่างไม่รู้เบื่อ และอยากให้มันเกิดขึ้นแบบนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนคล้ายการเสพติด

ร่างกายของมนุษย์ช่างทำอะไรให้มันซับซ้อนจริงๆ จะสร้างความสุขทั้งทีแล้วไยต้องสร้างความทรมานควบคู่กันด้วย

นอกจากความสุขที่เกิดจากการตอบสนองของระบบกลไกพิศวงในร่างกายแล้ว การสบตายังสร้างความสุขได้ผ่านการจินตนาการและการนึกคิด หรือในบางครั้งอาจเรียกได้ว่า การมโน อีกด้วย

เมื่อสองสายตามาประสานกันด้วยความตั้งใจหรือด้วยความบังเอิญก็ตาม นั่นแสดงว่า ณ เวลาขณะนั้น เราทั้งคู่ต่างอยู่ในสายตาของกันและกัน มันอาจดูไม่พิเศษอะไรสำหรับคนที่ไม่รู้ตัวว่าถูกแอบชอบ แต่ถ้ามองในมุมของอีกฝ่าย นี่คงเป็นอีกหนึ่งโมเมนต์ที่สำคัญของชีวิตเพราะว่า เขารับรู้ถึงการมีอยู่ของเราแล้ว

แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาเพียงเสี้ยววินาทีที่เขารับรู้และบางทีเขาก็อาจจะลืมเราในวินาทีต่อมา แต่ระยะเวลาอันน้อยนิดนั้น เรากลับเอามันไปคิดเพ้อฝันต่อเป็นตุเป็นตะว่า การสบตาครั้งนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ก็เป็นได้ จึงเป็นสาเหตุว่าทำไมบางคนเวลาที่แอบชอบใครนั้น มักจะพาตัวเองเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ที่เขาจะสามารถมองเห็นและเผลอสบตาได้อยู่บ่อยครั้ง ไม่จำเป็นต้องจ้องตากันนาน แต่ขอแค่ให้ได้สบตากันบ่อยๆ เท่านี้ก็มีโอกาสที่เขาจะจดจำเราได้แล้ว

แค่นี้เราก็แทบหุบยิ้มไม่ลง ต่อให้เรื่องราวยังคงเป็นเพียงภาพมโนในหัวของเราก็ตาม

ดังนั้น หากการใช้ทฤษฎีจ้องตา 8 วิมันนานเกินไปสำหรับใครบางคน ก็อยากแนะนำให้ลองเริ่มจากการสบตาระยะสั้นที่กินเวลาไม่กี่วินาที หรืออาจจะไม่ถึงวินาทีเสียก่อน แม้ว่าการสบตาครั้งนี้จะไม่ได้ทำให้เขาตกหลุมรักในทันที

แต่อย่างน้อยมันก็สร้างความสุขและความมั่นใจให้เราทีละเล็กก็เพียงพอแล้ว

ไม่แน่ว่า ความรักระยะยาวอาจก่อตัวภายหลังการสบตาระยะสั้นครั้งนี้ก็เป็นได้

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
32
Love รักเลย
21
Haha ตลก
1
Sad เศร้า
1
Angry โกรธ
1

More in:Writings

Features

AD เทคโนโลยีเพื่อคนตาบอดในสื่อไทย มาไกลพอแล้วหรือยัง ?

เขียน : ณัฐธิดา นิติเกษตรสุนทร ภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ หากลองหลับตาดูหนังหรือซีรีส์สักเรื่อง สิ่งที่เห็นตรงหน้าตรงหน้าคงเป็นสีดำ มืดสนิท ได้ยินเพียงเสียงตัวละครพูดคุยกัน แต่ไม่มีทางรู้ได้เลยว่านักแสดงบนจอกำลังแสดงสีหน้า ขยับตัวยังไง หรือกำลังจะเกิดอะไรในช่วงไคลแม็กซ์ ...

Articles

ลอยกระทงถึงไม่ได้อะไร แต่ฉันก็ยังอยากลอยอยู่ดี

เรื่องและภาพประกอบ : จุฑาภัทร ทิวทอง “วันเพ็ญเดือน 12 น้ำก็นองเต็มตลิ่ง เราทั้งหลายชายหญิง สนุกกันจริงวันลอยกระทง ลอย ลอยกระทง…” เพลงคุ้นหูที่เราได้ยินกันมาตั้งแต่จำความได้ จะทีวีหรือวิทยุทำนองก็เล่นซ้ำวนไปไม่อาจหลีกหนี ฉันจำได้เสมอเมื่อวันนี้เวียนมาถึง แม่ของฉันจะมีกิจวัตรที่เธอทำอยู่ทุกปี ...

Articles

GAY CHARACTERS, NOT GAY ACTORS : เมื่อ ‘ตัวละครเกย์’ ไม่จำเป็นต้องรับบทโดย ‘นักแสดงเกย์’

เขียน : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ ภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ สายตา จังหวะการพูด และการเคลื่อนไหวของเธอ บอกเป็นนัยว่าบทบาท ‘Bette Porter’ ใน ...

Features

4 เพลงรัก ที่ควรฟังให้ ‘ตัวเอง’

เขียน : พรวิภา หิรัญพฤกษ์ ภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ ปกติเวลาฟังเพลงรักคุณนึกถึงใครกันบ้าง ?  ขอเดาว่าว่าผู้อ่านบทความนี้ คงเคยมีโมเมนต์ซ่อนใครบางคนไว้ในบทเพลง ยิ่งแล้วกับหมู่มวลเพลงรักที่มักจะเอาใบหน้าสุดที่รักไปใส่ไว้ตอนที่เราอินเลิฟ แล้วเมื่อถึงเวลาที่รักร้างลาไป เพลงรักที่เคยหวานซึ้งกลับกลายเป็นบทเพลงสุดเศร้าที่ต้องลบออกจากเพลย์ลิสต์ ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save