เรื่อง : กัญญาภัค วุฒิรักขจร
ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา
“ถ้าไม่มีแฟน ไม่ตายหรอก ไม่กินข้าวอ่ะตาย”
วลีเด็ดข้างต้นมาจากเอิ๊ก ชาลิสา เจ้าของเพลงฮิต “เลือดกรุ๊ปบี” ที่ผู้คนให้ความสนใจกันเป็นจำนวนมาก
เอิ๊กได้เล่าถึงแนวคิดในการแต่งเพลงดังกล่าว ผ่านช่องยูทูบ Echo ว่า เพลงนี้กล่าวถึงการกล่าวโทษทุกสิ่งที่ทำให้ไม่มีคนรัก ไม่ว่าจะเป็นเดือนเกิดที่น่าจะเป็นเดือนประจำคนโสด กรุ๊ปเลือดบีหรือเปล่าที่ทำให้ไม่มีหวานใจ หรือเบอร์โทรศัพท์ที่ไม่ส่งเสริมเรื่องความรัก แต่เธอกลับให้สัมภาษณ์ว่า “ถ้าไม่มีแฟน ไม่ตายหรอก ไม่กินข้าวอ่ะตาย” ซึ่งประโยคนี้ทำให้คำพูดของเธอกลายเป็นไวรัลบนโลกอินเทอร์เน็ต พร้อมทั้งมีคนแสดงความคิดเห็นในเชิงเห็นด้วยกันล้นหลาม
สังคมไทยคนโสดเยอะขึ้น สอดคล้องสถานการณ์โลก
แม้ในปัจจุบันการมีแฟนแล้วจะถือว่าไม่โสด แต่หากใช้การแต่งงานเป็นเกณฑ์วัดความโสด จะเห็นได้ว่าสังคมไทยมีจำนวนคนโสดมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล แห่ง The 101. World อ้างการศึกษาของ ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์ ซึ่งชี้ให้เห็นว่าตัวเลขของครอบครัวคนเดียวมีจำนวนสูงขึ้น จากร้อยละ 8.8 ในปี 2539 เป็นร้อยละ 20.5 ในปี 2560 โดยลักษณะของกลุ่มวัยในครัวเรือนคนเดียวจะอยู่ในช่วงวัยทำงานเป็นส่วนใหญ่ ขณะที่ครัวเรือน 3 คนมีจำนวนลดลงอย่างเห็นชัด จากร้อยละ 75.3 ในปี 2539 กลายเป็นร้อยละ 52.3 ในปี 2560
ขณะที่งานวิจัย “การครองโสดของผู้หญิงในยุคโลกาภิวัตน์กับเศรษฐกิจในเมืองไทย” โดยทิพวรรณ ศิริสัมพันธ์และคณะ เมื่อปี 2562 ได้สรุปเหตุผลของการครองตัวเป็นโสดในผู้หญิงที่มีการศึกษาสูงและมีตำแหน่งงานในระดับสูงว่า พวกเธอเลื่อนอายุการแต่งงานออกไปจนกว่าจะทำตามเป้าหมายและความปรารถนาได้สำเร็จ ขณะที่ผู้หญิงที่มีฐานะปานกลางจะรอให้มีความพร้อมทางการเงิน และมีฐานะทางเศรษฐกิจที่มั่นคงเสียก่อนจึงค่อยแต่งงาน
ส่วนงานวิจัย “Gold Miss” or “Earthy Mom”? Evidence from Thailand ของ Lusi Liao ในปี 2019 พบว่ากลุ่มผู้หญิงที่มีการศึกษาสูง มีสถานภาพทางสังคมสูง ไม่เพียงชะลอการแต่งงาน แต่กลับเลือกที่จะไม่แต่งงานและคงสถานภาพการอยู่เป็นโสด หรือที่เรียกว่า “Gold Miss” ซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้น อีกทั้งสัดส่วนในการดำรงตัวเป็นโสดของผู้หญิงไทยยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
ขณะที่ต่างประเทศเองก็พบปรากฏการณ์ Gold miss ด้วยเช่นกัน ในงานวิจัย “Housewife, “gold miss,” and equal: the evolution of educated women’s role in Asia and the U.S.” ของ Jisoo Hwang ในปี 2016 ได้อธิบายปรากฏการณ์นี้ไว้ว่า Gold Miss เกิดขึ้นจากทัศนคติทางเพศที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งจะพบมากในกลุ่มประเทศเอเชียที่มีความหวังต่อผู้หญิงสูง เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฯลฯ โดยสังคมจะคาดหวังให้ผู้หญิงมีบทบาทการเป็น “เมีย” และ “แม่” ที่ดีภายหลังจากแต่งงาน นอกจากนั้นยังคาดหวังให้พวกเธอมีบทบาทเป็นกำลังสำคัญในการหาเลี้ยงครอบครัว ความคาดหวังนี้จึงส่งผลให้ผู้หญิง โดยเฉพาะกลุ่มที่มีการศึกษาสูงเลือกที่จะให้ความสำคัญกับหน้าที่การงานมากกว่าการแต่งงานมีครอบครัว และมีแนวโน้มที่จะอยู่เป็นโสดมากยิ่งขึ้น
สถานะโสด ดีต่อเงินในกระเป๋า
ในบทความ “ความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างชายหญิงและผลของการมีลูกในประเทศไทย” ซึ่งเขียนโดย ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์ ในเว็บไซต์ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ชี้ให้เห็นว่า ในประเทศไทย การมีลูกของแรงงานหญิงและแรงงานชายจะส่งผลกระทบทางลบต่อค่าจ้าง โดยในกรณีของแรงงานหญิง หากมีลูกจะได้ค่าจ้างน้อยกว่าแรงงานหญิงที่ไม่มีลูกมากถึงร้อยละ 22 ขณะที่แรงงานชายที่มีลูก จะได้รับค่าจ้างน้อยกว่าแรงงานชายที่ไม่มีลูกร้อยละ 17
เหตุผลที่ทำให้ได้รับค่าจ้างลดลงนั้น กรณีของผู้หญิงที่มีลูก คือการที่พวกเธอมุ่งเน้นให้กับการเลี้ยงดูลูก ลดชั่วโมงการทำงานลงเนื่องจากต้องแบ่งเวลาไปเลี้ยงลูก อีกทั้งนโยบายของรัฐก็ไม่เอื้อให้พวกเธอได้เลี้ยงดูลูกในระยะเวลาที่เหมาะสม
ในกรณีของผู้ชายที่มีลูก ผลเชิงลบอาจเกิดจากการที่ผู้ชายต้องต้องลางานบ่อยกว่าตอนที่ยังไม่มีลูก อีกทั้งในกฎหมายไทยยังไม่มีการกำหนดสิทธิในการลาเลี้ยงดูบุตรสำหรับผู้ชาย จึงอาจเป็นไปได้ว่าผู้ชายที่มีลูกจะต้องใช้วันลาของตัวเองไปกับการดูแลลูกแทนแม่นั่นเอง
อย่างไรก็ตามเมื่อเดือนมกราคม 2565 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติมาตรการในการสนับสนุนให้ข้าราชการชายสามารถลาหยุดเพื่อช่วยภรรยาเลี้ยงดูบุตรได้ 15 วันทำการ โดยลาเป็นช่วงๆ ไม่ติดต่อกันจนครบวันลา ขณะที่ข้าราชการหญิงสามารถขยายการลาคลอดโดยยังได้รับค่าจ้างได้ จากเดิม 90 วัน เป็น 98 วัน และสามารถลาเพิ่มได้อีกไม่เกิน 90 วัน โดยได้รับเงินเดือนในอัตราร้อยละ 50
แต่ถึงกระนั้น วันลาหยุดดังกล่าวก็ยังไม่เพียงพอกับช่วงเวลาแรกคลอด ที่เด็กทารกต้องการนมแม่เป็นเวลา 6 เดือนตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกอยู่ดี และยังเป็นมาตรการสำหรับข้าราชการเท่านั้น ไม่นับรวมไปถึงพนักงานเอกชนทั้งหลาย
ในตอนท้ายบทความ ศศิวิมลได้ให้ข้อเสนอแนะเพื่อบรรเทาสภาวะความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างแรงงานที่มีลูกและไม่มีลูกทั้งชายและหญิงในประเทศไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นว่า ภาครัฐควรให้การสนับสนุนการเลี้ยงดูบุตรที่เพียงพอกว่าที่มีอยู่ โดยสามารถทำเป็นนโยบายต่างๆ เช่น การช่วยเหลือค่าเลี้ยงดูบุตรได้
ในสังคมที่รัฐสวัสดิการยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน แม้ความโสดจะถูกมองเป็น “ตัวร้าย” ที่สร้างปัญหาให้กับสังคม หรือจะทำให้เศรษฐกิจในอนาคตย่ำแย่ก็ตามที แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าความโสดนั้นให้ความอิสระและความสะดวกสบายกับเราได้มาก และเราคงไม่ยอมแน่หากใครอีกคนที่อาจเข้ามามีบทบาทในชีวิตเรา มาลดอิสระและความสะดวกสบายของเราไป
เราจึงเลือกที่จะอยู่คนเดียว แม้มันจะเหงาก็ตามในบางที
หิวก็กินข้าว เหงาก็ดูเน็ตฟลิกซ์
เราเรียนรู้ที่จะพึ่งพาตัวเอง รักตัวเองเพื่อเติมเต็มคุณค่าแห่งตัวตน
และนี่คือความรักที่ยิ่งใหญ่ที่สุดที่เราจะสร้างให้กับตัวเองได้
Happy Valentine’s Day.
บรรณานุกรม
ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล. (16 เมษายน 2563). เปิดบ้านครอบครัวไทยยุคใหม่: ความหลากหลายที่ไร้กรอบจำกัด. สืบค้นจาก https://www.the101.world/thai-families-diversity-statistic/
นภัทร พิศาลบุตร. (13 กุมภาพันธ์ 2562). นมแม่แน่แค่หกเดือน จริงหรือ?. สืบค้นจาก https://www.unicef.org/thailand/th/stories/%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B9%81%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B9%88%E0%B9%81%E0%B8%84%E0%B9%88%E0%B8%AB%E0%B8%81%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%99-%E0%B8%88%E0%B8%A3%E0%B8%B4%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD
ปัทมา ว่าพัฒนวงศ์. (2562). “การอยู่อาศัยร่วมกันของสมาชิกในครัวเรือนไทย พ.ศ. 2539 – 2560 : การจำแนกรูปแบบด้วยกลุ่มวัย” ใน จงจิตต์ ฤทธิรงค์ ศุทธิดา ชวนวัน สิรินทร์ยา พูลเกิด และ สพญ. สรัญญา สุจริตพงศ์ (บรรณาธิการ). ประชากรและสังคม 2562: ครอบครัวไทย… สะท้อนอะไรในสังคม (หน้า 37-49). https://ipsr.mahidol.ac.th/post_research/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%8A%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1-2562/
สำนักงานสถิติแห่งชาติ. (ม.ป.ป.). 4 ทศวรรษ….การสมรสของคนไทย. สืบค้นจาก http://www.nso.go.th/sites/2014/Pages/pop/4%E0%B8%97%E0%B8%A8%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AA%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%AA.aspx
ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์. (2562). ความแตกต่างของค่าจ้างระหว่างชายหญิงและผลของการมีลูกในประเทศไทย. สืบค้นจาก https://www.pier.or.th/abridged/2019/15/
ศศิวิมล วรุณศิริ ปวีณวัฒน์. (2563). ทำไมน้องไม่แต่งงาน? ผลกระทบของการศึกษาต่อการตัดสินใจแต่งงานและมีลูกของผู้หญิงไทย. สืบค้นจาก https://www.pier.or.th/abridged/2020/04/
Echo. (28 มกราคม 2565). ถ้าไม่มีแฟนไม่ตายหรอก : คำสาปเลือดกรุ๊ปบี. [วีดีโอ]. สืบค้นจาก https://www.youtube.com/watch?v=joqEfijUIK4&t=282s
PPTV Online. (25 กรกฎาคม 2562). ผลวิจัยพบ “คนไม่มีลูก” ได้ค่าจ้างสูงกว่า “คนมีลูก”. สืบค้นจาก https://www.pptvhd36.com/news/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%94%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%99/107373