UncategorizedWritings

เมนูคนบาป (จานโปรดสำหรับคนใจร้าย) : มนุษย์ในยามอ่อนไหว ข่าวลือใดก็กลายเป็นความจริง

เรื่อง : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ

ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา

หนังสือ “เมนูคนบาป (จานโปรดสำหรับคนใจร้าย)” ถูกตีพิมพ์ในปี 2009 เป็นหนึ่งในผลงานของ “ฌอง เติลเล่” นักเขียนนวนิยายชื่อดังชาวฝรั่งเศส เจ้าของผลงานตลกร้ายขายดี “ร้านชำสำหรับคนอยากตาย” และนวนิยายอีกหลายเล่ม ผลงานของเขาต่างได้รับความนิยมจากนักอ่านหลากสัญชาติและคว้ารางวัลอีกมากมาย (The Grand Prix และ The Press House Prize) จนในปี 2011 “เมนูคนบาป (จานโปรดสำหรับคนใจร้าย)” ถูกนำมาแปลเป็นภาษาไทยโดย “ฟรีฟอร์มสำนักพิมพ์” ด้วยฝีมือการแปลของเธอและเขาผู้มีใจรักและมุ่งมั่นในการแปลภาษาฝรั่งเศส “ปิยสุดา ม้าไว” และ “ฐนวิชณ์ ไกรเพิ่ม”

นวนิยายของ ฌอง เติลเล่ ได้รับคำชื่นชมจากนักวิจารณ์อย่างล้นหลาม โดยเฉพาะในด้านการเขียนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อย่างการเสียดสีประชดประชันและสะท้อนความจริงในสังคมผ่านความตลกร้ายเล็กๆ ทว่ากลับทำให้ผู้อ่านคิดต่อได้มหาศาล รวมไปถึงพรสวรรค์ในการเขียนบรรยายและพรรณนาสิ่งที่เกิดขึ้นในเรื่องออกมาเป็นฉากๆ ราวกับผู้อ่านกำลังอยู่ในเหตุการณ์นั้นจริงๆ และโดยเฉพาะนวนิยายเล่มนี้ ขอเตือนเลยว่าปลายปากกาของ ฌอง เติลเล่ ได้แต่งแต้มเรื่องราวออกมาชัดเจนมาก… มากเสียจนน่ากลัว

คำเตือน: บทความชิ้นนี้มีการสปอยล์ โปรดอ่านอย่างระมัดระวัง

เรื่องราวช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ของ “อแลง เดอ โมเนส” ชายหนุ่มฝรั่งเศส ชนชั้นเจ้านาย ทว่าซื่อตรงและกล้าหาญ อาสาเป็นผู้กล้าของฝรั่งเศสไปออกรบกับปรัสเซียในขณะนั้น เขาเป็นคนเก่งและช่วยเหลือชาวบ้านอยู่เสมอ สิ่งเหล่านี้ทำให้เขาเป็นที่รักของชาวบ้านในระแวกนั้น

เมื่องานรื่นเริงที่เมืองโอตฟายเริ่มขึ้น อแลงจึงตัดสินใจไปเที่ยวงานก่อนไปออกรบ เขาพูดคุยกับชาวบ้านไปเรื่อยๆ และอ่านหนังสือพิมพ์ให้ชาวบ้านฟัง สิ่งที่อยู่ในหนังสือพิมพ์ทำให้ชาวบ้านไม่อยากเชื่อหูตัวเอง — กองทัพฝรั่งเศสอันยิ่งใหญ่กำลังพ่ายแพ้ให้ปรัสเซียไปทีละกอง

แต่แล้วก็มีบางสิ่งเกิดขึ้น บางสิ่งที่เล็กน้อยและงี่เง่ามาก เป็นชนวนให้อแลงถูกเข้าใจผิดว่าเป็นพวก ปรัสเซีย ข่าวลือแพร่ออกไปสู่หูของผู้คนในงานร่วมหกร้อยคนอย่างรวดเร็ว และด้วยความอ่อนไหวไร้ที่ยึดเหนี่ยวทำให้ใครหลายคนต่างก็เชื่อว่าอแลงเป็นพวกปรัสเซียแฝงตัวมา แม้ในความเป็นจริงพวกเขาจะรู้จักอแลงเป็นอย่างดี แต่เมื่อความโกรธแค้นในจิตใจถูกปลุกขึ้นมา ทำให้ “อแลง” กลายเป็นบุคคลที่ไม่มีอยู่จริงในชีวิตพวกเขา

ชาวบ้าน (ที่เพิ่งพูดคุยกันเมื่อไม่ถึงชั่วโมงมานี้) ค่อยๆ รุมทำร้ายอแลง หนักขึ้นและหนักขึ้นเรื่อยๆ จนสุดท้ายอแลงไม่เหลือเค้าโครงของความเป็นตัวเอง ทั้งทางร่างกายและสติสัมปชัญญะ ทว่าเขากลับขุดเรี่ยวแรงเฮือกสุดท้ายออกมา แล้ววิ่งหนีชาวบ้านพวกนั้นในยามเผลอ

จุดจบของอแลงจะเป็นอย่างไร จะหนีจากคนบาปเหล่านั้นได้หรือไม่ หรือจะกลายเป็นอะไรสำหรับคนบาปเหล่านั้น… โปรดอ่านต่อในเล่ม

 

ความน่ากลัวของข่าวลือ

หนังสือพิมพ์เพียงฉบับเดียวกลายเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวสุดแสนรุนแรงและโกลาหลตลอดทั้งเล่ม ข่าวกองทัพฝรั่งเศสที่พ่ายแพ้ต่อปรัสเซียทำให้ชาวบ้านสิ้นหวัง แต่ขณะเดียวกันก็ปลุกความโกรธและความเกลียดชังในจิตใจของพวกเขาให้ตื่นขึ้น ความโกรธชนิดที่พร้อมหลับหูหลับตาเชื่อทุกสิ่ง แม้กระทั่งเชื่อว่าอแลงผู้มีเมตตาต่อพวกเขานับไม่ถ้วนเป็นฝ่ายศัตรู

แม้จะดูเป็นเรื่องไม่น่าเชื่อเท่าไรที่คนร่วมหกร้อยคนจำอแลงไม่ได้ แต่ผู้แต่งอย่าง ฌอง เติลเล่ เลือกใช้จุดนี้เป็นตัวนำเรื่องและแอบสะท้อนสังคมอยู่กลายๆ อย่างสำนวนที่ว่า “เข้าเมืองตาหลิ่ว ต้องหลิ่วตาตาม” ชาวบ้านพากันเชื่อว่าอแลงเป็นพวกปรัสเซียเพียงเพราะคนข้างซ้าย ข้างขวา ข้างหน้า หรือข้างหลังต่างก็บอกเช่นนั้น ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลใดให้ชาวบ้านสักคนไม่เชื่อในแบบที่คนรอบตัวเชื่อ ถึงแม้สำหรับบางคนจะรู้อยู่แก่ใจว่านั่นคืออแลงผู้ที่เคยช่วยเหลือเขามาก่อน

และเช่นเดียวกัน เมื่อคนรอบตัวต่างถืออาวุธรุมทำร้ายอแลง การที่เลือกไม่ทำตามคนส่วนใหญ่อาจทำให้ตนกลายเป็นเป้าหมายใหม่เสียเอง ดังนั้นทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่คือหลับหูหลับตาตามน้ำไป จนท้ายที่สุดความโกรธก็ครอบงำจิตใจและบดบังความจริงตรงหน้าของทุกคนไปเสียแล้ว

ในขณะที่ผู้มีอำนาจอย่างนายอำเภอปฏิเสธที่จะช่วยเหลืออแลงและขับไล่ไสส่งความวุ่นวายออกไปจากหน้าประตูบ้านอย่างไม่ไยดี ก่อนจะกลับเข้าบ้านไปกินข้าวต่ออย่างง่ายดาย คงจะมีแต่บาทหลวงที่ช่วยเหลืออแลง ทว่าทุกอย่างก็ไม่เป็นไปตามคาด ท้ายที่สุดแล้วศาสนาก็ไม่อาจฉุดรั้งความโกรธของคนบาปเหล่านั้นได้

ชาวบ้านเริ่มทำร้ายและทารุณอแลงมากขึ้นและมากขึ้นเรื่อยๆ จากตบ เป็นต่อย เป็นทุบ เป็นแทง จนตอนนี้ชาวบ้านตรึงแขนขาของอแลงให้ชี้ไปคนละทิศคนละทาง ไม่ต่างอะไรจากดาวทะเล และพยายามชักรอก อแลงขึ้นไปจนเกือบถึงหลังคาของโรงเก็บข้าวเปลือกประจำเมือง

“เอ้า อึ๊บ นี่มันไส้กรอกเลือดนี่หว่า…”

คนใจบาปพากันระเบิดเสียงหัวเราะ พวกเขาลื่นไถลบนรอยเลือดของอแลงครั้งแล้วครั้งเล่า โอ้พระเจ้าช่วย อแลงเองก็คงจะชอบเกมที่พวกเขาเล่นหากว่ามันไม่ทรมานขนาดนี้ คนอื่นๆ พากันมาสมทบ ตอนนี้แต่ละด้านของมุมเชือกทั้งสี่มีไม่น้อยกว่าสิบคน พวกเขาพยายามกระชากให้แขนขาหลุดออกจากตัว ไหล่ของอแลงหลุด ข้อต่อกระดูกต้นขาหลุดจากสะโพก เขาจะเจ็บไหมน่ะรึ คงไม่ต้องสาธยาย…

ความโกรธทั้งหมดที่มีต่อพวกปรัสเซียถาโถมมาลงที่อแลงแต่เพียงผู้เดียว หลายร้อยมือที่ถืออาวุธและหลายร้อยปากที่พ่นคำด่าทอออกมาไม่หยุดยั้ง จนกลายเป็นเวทีโอ้อวดความรุนแรงของบรรดาชาวบ้าน

“ข้าต่อยมัน”

“ข้าทำฟันมันร่วง”

“ข้าเกือบได้แขวนคอมันแล้ว”

รวมไปถึงสำหรับเด็กชายบางคน มันก็กลายเป็นเวทีอวดความเป็นหนุ่มในตัวและแม้กระทั่งเด็กชายวัยห้าขวบก็มีเลือดอแลงเต็มฝ่ามือน้อยๆ ไปเสียแล้ว

หนังสือเล่มนี้อาจสะท้อนให้เห็นว่าในโลกความจริง อะไรที่ดูเป็นไปไม่ได้ก็อาจเป็นไปได้ และบางทีอาจจะเป็นไปแล้ว

อแลงและชาวบ้านที่มีอยู่จริงบนโลกออนไลน์

ในโลกแห่งความเป็นจริง “ชาวบ้าน” พบเห็นได้ทั่วไปในโลกออนไลน์ ชาวบ้านที่สร้างข่าวลือและสร้างกระแสให้คนอื่นเชื่อ จนกลายเป็นชาวบ้านกว่าหลายร้อยหลายพันคนที่ต่างก็รุมประชาทัณฑ์ “อแลง” โดยที่ยังไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงใดๆ

Brendan Nyhan นักรัฐศาสตร์ชาวอเมริกันและอาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ที่ Dartmouth College ได้รายงานไว้ในเว็บไซต์วิชาการของ Proceedings of the National Academy of Sciences (PNAS) เกี่ยวกับการหลงเชื่อและแชร์ข่าวปลอมโดยไม่ตรวจสอบว่า อาจเกิดจาก “ความต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม” ส่งผลให้มีวิธีคิดแบบแบ่งขั้วคือ ‘เราถูก เขาผิด’ และต่างโหยหาข้อมูลที่สนับสนุนความคิดของฝ่ายตน โดยไม่สนถูกผิด จนไม่สามารถแยกแยะระหว่างข่าวปลอมกับความจริงได้

ความคิดแบบแบ่งขั้วนี้เห็นได้ชัดบนโลกออนไลน์ เมื่อข่าวลืออันก่อให้เกิดความโกรธและเกลียดชังถูกส่งต่อไปสู่คนในแต่ละฝ่าย ในไม่ช้าสังคมเสมือนจริงก็เต็มไปด้วยการตอบโต้และก่นด่าด้วยอารมณ์ มิใช่เหตุผล อย่างที่ Zeynep Tufekci นักสังคมศาสตร์ชาวตุรกี-อเมริกัน กล่าวไว้ในบทความ How social media took us from Tahrir Square to Donald Trump ที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ MIT Technology Review ว่า “บนโลกออนไลน์ เราเชื่อมต่อกับกลุ่มสังคมของเรา โดยมองหาการยอมรับจากคนที่มีความคิดคล้ายกันอยู่ตลอด และเรากลายเป็นส่วนหนึ่งของทีมที่พร้อมเปล่งเสียงตะโกนด่าฝั่งตรงข้ามอย่างไม่ลังเล”

อย่างในกรณีของ ศ. นพ.ยง ภู่วรวรรณ หรือ “หมอยง” หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเป็นที่ปรึกษาสถานการณ์โรคระบาด COVID–19 ให้กับ ‘รัฐบาล’ ในช่วงสถานการณ์ดังกล่าว เมื่อปี 2021 สำนักข่าวอิศรารายงานว่า หมอยงได้ออกมาโพสต์เชิญชวนให้ประชาชนออกมาฉีดวัคซีน “ซิโนแวค” และ “แอสตร้าเซเนก้า” ซึ่งให้บริการฉีดฟรีในขณะนั้น พร้อมให้ข้อมูลเปรียบเทียบ แต่กลับถูกประชาชนบางกลุ่มวิจารณ์อย่างหนักบนโลกออนไลน์ด้วยข้อความที่หยาบคายและไปเกินกว่าประเด็นเรื่องวัคซีน รวมไปถึงถูกแก้ไขข้อมูลบนเว็บไซต์วิกิพีเดียว่าเป็น “เซลล์ขาย sinovac ให้กับรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา” อีกด้วย

กระแสดังกล่าวอาจเริ่มขึ้นเพียงเพราะข้อมูลของหมอยงไม่ตรงกับความเชื่อของประชาชนบางกลุ่ม แต่ในขณะเดียวกันพวกเขาเหล่านั้นก็ตอบกลับด้วยอารมณ์ มิใช่ข้อมูลวิชาการที่น่าเชื่อถือ

ทว่าเมื่อข่าวลือและกระแสต่างๆ ไม่ใช่ข้อเท็จจริง “ชาวบ้าน” เหล่านั้นกลับตอบเพียงว่า “ทำไปเพราะรู้เท่าไม่ถึงการ” ในขณะที่ “อแลง” อาจถูกลดทอนคุณค่าทั้งทางร่างกายและจิตใจ

สุดท้ายแล้วเมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบ คุณอาจจะรู้สึกเกลียดบรรดาชาวบ้านคนบาปเหล่านั้นอย่างเข้าไส้และอาจรู้สึกสงสารอแลงอย่างจับใจ

แต่ในขณะเดียวกันหนังสือเล่มนี้ก็อาจกำลังถามและเตือนสติว่า ใครบางคนกำลังเป็น “ชาวบ้าน”อยู่หรือเปล่า?


รายการอ้างอิง

Time.News. (20 ตุลาคม 2022). The five essential novels of the writer Jean Teulé. เข้าถึงได้จาก time.news: https://time.news/the-five-essential-novels-of-the-writer-jean-teule/

โสภณ ศุภมั่งมี. (24 พฤษภาคม 2021). “การมีส่วนร่วมสำคัญกว่าความจริง” อ่านปรากฏการณ์ยุคสมัยแห่งข้อมูลเท็จ. เข้าถึงได้จาก the101: https://www.the101.world/fake-news-2/

ฌอง เติลเล่. (2011). เมนูคนบาป (จานโปรดสำหรับคนใจร้าย). กรุงเทพฯ: ฟรีฟอร์มสำนักพิมพ์.

ศูนย์ข่าวภาคใต้. (15 กรกฎาคม 2021). ทัวร์ลง-คว่ำบาตรออนไลน์… ประชาธิปไตย หรือ “ปิดปาก-ทำลาย” คนเห็นต่าง. เข้าถึงได้จาก isranews: https://www.isranews.org/article/south-news/south-slide/100537-callout.html

 

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
0
Love รักเลย
1
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

Comments are closed.

Interview

When I live at Dome

เรื่อง : จิตริณี แก้วใจ ภาพ : กัญญาภัค วุฒิรักขจร ความฝันอย่างการได้ใช้ชีวิตด้วยตัวเองภายในหอพักนั้นอาจเป็นสิ่งที่เหล่านักศึกษาหลายคนใฝ่ฝัน แม้จะไม่ใช้พื้นที่อบอุ่นและสะดวกสบายเทียบเท่ากับบ้าน  แต่การอยู่หอนอกจากจะสนับสนุนการเรียนแล้ว ยังสนับสนุนเรื่องของการมีสังคม ซึ่งจะจริงหรือไม่ รูปแบบใดบ้าง รวมไปถึงการจัดการค่าใช้จ่ายที่ตามมาด้วยการกู้ยืมเพื่อการศึกษา  ...

Ready-to-read

ศาสนา ป้ายหาเสียง การเลือกตั้ง

เขียนโดย จิรัชญา นุชมี ภาพโดย จิรัชญา นุชมี ใกล้เข้ามามากแล้วสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปี 2566 ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ จึงเป็นเรื่องปกติที่เราจะได้เห็นป้ายหาเสียงติดตามเสาไฟ กำแพง ตามท้องถนน โดยแต่ละพรรคการเมืองก็เลือกใช้สีที่โดดเด่นและเขียนชูนโยบายของพรรคอย่างชัดเจน ...

Art & Culture

ตารางงาน เลือกตั้ง ของเหล่า T-POP

เขียนโดย จิรัชญา นุชมี ภาพโดย จิรัชญา นุชมี ในวันที่ 14 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้ จะถึงวันที่สำคัญที่สุดของประชาชนคนไทย ที่ทุกคนตั้งนหน้าตั้งตาและตั้งใจออกไปเลือกตั้ง แสดงแนวทาง เส้นทาง ที่อยากเห็นประเทศไทยพัฒนามากกว่านี้ ...

Shot By Shot

Food Matters เรื่องกิน…เรื่องใหญ่

“รู้มั้ยว่า...1 ใน 5 ของผู้ที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควรเกิดจากการรับประทานอาหาร” เราจะพาทุกคนไปดูว่าความต้องการเนื้อสัตว์ที่เพิ่มสูงขึ้นทำให้เกิดอะไรบ้าง?

Media

Editor’s Talk Ep.3 : เหนื่อยไหมคนดี

เคยมีความรู้สึกท้อเพราะไม่มีใครเข้าใจไหม หรือเคยช่วยแนะนำคนที่ซึมเศร้า หรือท้อแท้ไปแล้วเขาไม่ดีขึ้นเลยบ้างไหม วันนี้เราจะมาคุยกันถึงการเปิดใจรับฟัง และการยอมรับมุมมองของแต่ละฝ่ายด้วยความเข้าอกเข้าใจไปด้วยกัน #EditorsTalk #Varasarnpress #หนังสือพิมพ์มหาวิทยาลัย Host: สุธิดา วุฒิกรCreative: สุธิดา วุฒิกรSound Editor: สุรัชนา ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save