Writings

งานที่มั่นคงของเด็กจบใหม่ (ในแบบของใคร?)

เรื่อง : นิรัชพร ธนูวงษ์

ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา

‘จบมาแล้วจะทำอะไรลูก’

‘อย่าทำบริษัทเล็กเลย จะมั่นคงแค่ไหนกันเชียว’

‘ทำงานราชการดีนะ การงานมั่นคง สวัสดิการเยอะทั้งตัวหนูมาจนถึงพ่อกับแม่ หนูจะได้สบายในตอนแก่’

คำพูดเหล่านี้สกัดมาจากความเป็นห่วงและความรักที่พ่อแม่มีต่อฉัน

การทำงานในที่ที่ ‘มั่นคง’ ในความคิดของพวกเขา ก็คงจะเป็นหมายถึงงานซึ่งสามารถแบ่งเบาภาระที่ฉันจะต้องแบกรับในวัยทำงานได้ดี ด้วยเจตจำนงที่อยากให้ลูกสามารถเลี้ยงตนเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาใคร พวกเขาแค่ไม่อยากให้ฉันลำบาก ฉันก็แค่เด็กจบใหม่คนหนึ่งที่พึ่งเริ่มเรียนรู้การใช้ชีวิตที่แท้จริง ไหนจะต้องดูแลตัวเอง ดูแลพ่อกับแม่

การตอบแทนบุญคุณแม้เป็นสิ่งที่พวกเขาไม่ได้เรียกร้อง แต่การที่เขาเลี้ยงดูฉันให้เติบโตมาอย่างดี ก็คงจะเป็นเหตุผลที่หนักแน่นพอในการตอบแทนเขาในยามแก่เช่นเดียวกัน

และหลาย ๆ คนคงกำลังตกอยู่ในสถานการณ์เช่นเดียวกับฉัน ใช่ไหมนะ?

‘หนูอยากเป็นฟรีแลนซ์ค่ะแม่ เพราะหนูยังไม่ได้ชอบงานด้านไหนเป็นพิเศษเลย’

‘หนูอยากใช้เวลาค้นหาตัวเองก่อน ยุคนี้ใครๆเขาก็ทำกัน’

โต๊ะทานข้าวที่เคยเต็มไปด้วยเสียงพูดคุย กลับเงียบสงัด…

ไม่มีใครพูดอะไรต่อ หลังจากได้ยินสิ่งที่ฉันตอบกลับไป

ฉันเองในเวลานั้น ไม่กล้าแม้แต่จะเงยหน้าขึ้นไปสบตาพ่อและแม่ เพราะความเงียบนี้ก็คงเป็นคำตอบได้ดี ว่าพวกเขากำลังรู้สึก ‘ไม่พอใจ’

เรียบเรียงเหตุการณ์ได้สักพัก ฉันจึงเริ่มมีคำถามมากมายผุดขึ้นมาในหัว

ทำไมยิ่งโตขึ้นการสนทนากับพ่อแม่เริ่มเป็นเรื่องที่น่ากดดันขึ้นทุกที เมื่อก่อนหัวข้อการคุยกันระหว่างทานข้าวของเราคงเป็นเรื่องสัพเพเหระ แต่ทุกวันนี้เมื่อฉันใกล้ถึงวัยที่จะสำเร็จการศึกษา การพูดคุยของเราก็เริ่มจะกดดันขึ้นเรื่อย ๆ

โดยเฉพาะหัวข้อที่เรียกว่า ‘ความมั่นคง’

‘ความมั่นคง’ สำหรับฉัน คงเป็นเพียงการหางานที่ชอบเพื่อต่อยอดความสำเร็จในอนาคต และต้องมีเงินใช้จ่ายอย่างไม่ขัดสน

‘ความมั่นคง’ สำหรับฉัน คงเป็นเพียงการมีเงินเก็บที่เพียงพอในแต่ละเดือน เพื่อซื้อบ้านสักหลังให้กับตนเองและพ่อแม่

‘ความมั่นคง’ สำหรับฉัน คงเป็นเพียงการมีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน อาทิ การได้เงินจากการทำธุรกิจที่ตนเองชื่นชอบ ควบคู่ไปกับการได้ใช้ชีวิตในแบบที่ฉันต้องการ

แต่… ความมั่นคงที่พ่อแม่ฉันพูดถึง มันคืออะไรกันแน่

ฉันในวัย 21 ปี กำลังจะเรียนจบการศึกษาระดับชั้นปริญญาตรี และกำลังจะก้าวเข้าสู่ชีวิตในการทำงานจริง

ชีวิตกลายเป็นเรื่องที่ทั้งน่าตื่นเต้นและน่ากดดันในเวลาเดียวกัน

เพราะฉันรู้ตัวดี ว่าเป็นหนึ่งในคนที่ยังไม่รู้จักตัวเองดีพอ ฉันไม่รู้ว่าฉันมีความฝันอะไรกันแน่

คงเป็นเรื่องปกติของวัยรุ่นยุคนี้ ใช่ไหมนะ…

นั่งคิดทบทวนอยู่ราว ๆ เกือบ 2 เดือน ทำให้ฉันได้ตัดสินใจว่า ‘ฟรีแลนซ์’ หรือ อาชีพอิสระ คงจะเหมาะกับฉันผู้ที่อยากใช้เวลาค้นหาตัวเอง ดังเช่นในเวลานี้ที่สุด

แต่การจะเข้าไปคุยกับผู้ใหญ่ในเรื่องนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายเอาเสียเลย

พวกเขาบอกฉันว่า

‘การที่หนูเรียนจบแล้วจะทำอาชีพอิสระเพื่อหาตัวเองให้เจอ กว่าจะเจอมันต้องใช้เวลามากแค่ไหน ถ้ามันต้องใช้เวลากว่า 10 ปี หนูก็จะยอมเสียเวลางั้นหรือ’

ใช่ค่ะ…หนูยอมหาตัวเองให้เจอแม้จะใช้เวลาทั้งชีวิต แต่หนูขอไม่เรียกมันว่า ‘การเสียเวลา’

พ่อและแม่เคยสอนหนูว่า ความอดทนคือสิ่งที่จะนำพาเราสู่ความสำเร็จ

เพราะฉะนั้น การได้อดทนรอทำในสิ่งที่ตัวเองชอบโดยแท้จริง และต่อยอดมันจนประสบความสำเร็จได้

มันก็คุ้มค่ามิใช่หรือ

‘อะไรก็ไม่แน่นอน ถึงจะได้ทำงานที่ชอบแต่มันอาจไม่ประสบความสำเร็จก็ได้ ความผิดหวังเป็นสิ่งที่เราจะต้องเจอ’

ฉันเห็นด้วยอย่างไร้ซึ่งคำพูดใดๆที่จะตอบกลับไป

‘การทำอาชีพอิสระ มันไร้ซึ่งความมั่นคง เดือนนี้อาจจะมีรายได้ตามเป้าหมาย แต่เดือนหน้าอาจจะไม่มีก็ได้ อาชีพเช่นนี้มันไม่สามารถรับประกันอะไรเราได้เลย’

ฉันไม่เข้าใจ…

‘คิดง่ายๆ หากเราอยากจะผ่อนบ้านสักหนึ่งหลัง เรามีกำลังผ่อนได้ในทุกเดือน แต่หากถึงช่วงเดือนที่เราไม่ได้รับรายได้ตามเป้าหมาย เราจะทำอย่างไรต่อ? ปล่อยให้บ้านหลังนั้นถูกยึด เช่นนั้นหรือ?’

ฉันคล้อยตามความคิดเหล่านั้นได้อย่างง่ายดาย เนื่องด้วยเงินเดือนของฉันหากทำอาชีพอิสระ ฉันไม่สามารถรู้ได้เลยว่าแต่ละเดือนฉันจะได้เงินที่แน่นอนเท่าไหร่บ้าง

และนี่คงเป็นอีกครั้ง…ที่ฉันเห็นด้วยกับพวกเขา

ทันใดนั้น จู่ ๆ ความคิดของเด็กยุคใหม่ในฉบับฉันได้ผุดขึ้นมา เพื่อขัดขวางความคิดเห็นเหล่านั้นอย่างสิ้นเชิง

แล้วหากฉันวางแผนมันไว้อย่างดี หากฉันกำหนดเป้าหมายชีวิตไว้ อาทิ เดือนนี้ฉันจะต้องได้รับเงินเท่าไหร่ และฉันจะต้องทำอะไรบ้าง เพื่อให้ได้มาซึ่งรายได้นั้น รวมไปถึงการหาช่องทางทำ passive income อาทิ การซื้อ-ขายหุ้น ขายงานลิขสิทธิ์จากการสร้างสรรค์ผลงานของตนเอง

ฉันเชื่อว่าการวางแผนที่ดีและพร้อมรับมือในสถานการณ์เปลี่ยนแปลง จะทำให้ฉันไม่ตกในที่นั่งลำบากเช่นนั้นแน่นอน

คิดได้เช่นนั้น มันก็พอหักลบกับสิ่งที่พ่อและแม่ของฉันกำลังพูดถึงได้อยู่ มิใช่หรือ?

‘แต่การทำงานที่อยู่ในระบบข้าราชการ หรือรัฐวิสาหกิจ มันมั่นคง เพราะโอกาสน้อยที่เขาจะไม่ไล่เราออก เราเองก็ได้รับเงินเดือนมั่งคงทุกเดือน และยังได้รับ ‘สวัสดิการ’ ด้านสุขภาพ พ่อแม่เองก็ได้สวัสดิการเหล่านั้นด้วย มันลดภาระลูกได้หากพ่อแม่เป็นอะไรไปในยามแก่เฒ่า’

ได้ยินดังนั้น ฉันถึงกับร้อง ‘อ๋อ…’ ในหัว

สุดท้ายฉันก็ได้พบคำตอบของคำว่า ‘ความมั่นคง’ ของพ่อและแม่

มันไม่ใช่เรื่องซับซ้อนเหมือนที่ฉันคิดเอาเสียเลย

‘ความมั่นคงของผู้ใหญ่’ เพียงแต่หมายถึง การที่ลูกจะได้รับรายได้ในทุกๆเดือน โดยที่เขาไม่ต้องมานั่งเป็นห่วง ว่าในแต่ละเดือนเราจะมีเงินเพียงพอในการใช้จ่ายหรือไม่

‘ความมั่นคงของผู้ใหญ่’ เพียงแต่หมายถึง การได้รับสวัสดิการของบริษัท ที่จะสามารถช่วยลดทอนค่าใช้จ่ายของลูกได้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต

‘ความมั่นคงของผู้ใหญ่’ เพียงแต่หมายถึง งานที่จะช่วยให้คำว่า ‘พ่อ’ และ ‘แม่’ ไม่เปลี่ยนเป็นคำว่า ‘ภาระ’ ของลูกในอนาคต…

แต่สำหรับฉัน ในฐานะของเด็กรุ่นใหม่ มองเพียงว่า การทำงานควรจะควบคู่ไปกับสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี

หากฉันจะต้องไปทำงานที่ไม่ได้รัก เพียงเพื่อคำว่า ‘ความมั่นคง’ แบบที่พ่อและแม่พูดกับฉัน

มันคงจะเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายเอาเสียเลย

ฉันขอยอมสูญเสีย ‘ความมั่นคงในฉบับของพ่อและแม่’ แลกกับ ‘ความมั่นคงในฉบับของฉัน’

ขอเพียงแค่ ได้ค้นหาตัวเองเจอ และได้ทำงานในสิ่งที่รัก ควบคู่ไปกับการใช้ชีวิตในแบบที่หวัง

ขอเพียงแค่ งานที่ทำทำให้ฉันมีเงินไปเลี้ยงดูตนเองได้อย่างไม่ขัดสน ด้วยสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี

ขอเพียงแค่ ความขยันในการทำงานที่ชอบ เพื่อเลี้ยงดูพ่อและแม่ได้อย่างดีในยามแก่เฒ่า โดยไม่ต้องพึ่งสวัสดิการจากที่ไหน ให้ได้เหมือนกับที่เขาเลี้ยงดูฉันมาอย่างดีในตอนนี้

เพียงเท่านี้…ฉันก็ประสบความสำเร็จ กับคำว่า ‘ความมั่นคง’ แล้ว

สุดท้าย เรื่องราวทั้งหมดนี้ถูกกลั่นกรองโดย ‘ฉัน’

ในฐานะบุคคลที่ได้รับการเลี้ยงดูจากพ่อและแม่มาโดยไม่ขาดตกบกพร่องในเรื่องใด

เมื่อได้อ่านจนถึงตอนนี้ผู้อ่านคงจะได้เห็นแล้วว่า คำว่า ‘ความมั่นคง’ มิได้มีส่วนประกอบเพียงแค่ ‘ตัวฉัน’ แต่ยังมีส่วนประกอบของ ‘ความรักและขอบคุณ’ ต่อพ่อแม่

แม้ว่าคำว่า ‘ความมั่นคง’ ของเราจะต่างกัน แต่สุดท้ายเป้าหมายของเราก็เป็นไปในทิศทางที่ดีเช่นเดียวกัน

กว่านักธุรกิจจะประสบความสำเร็จ พวกเขายังต้องทดลองตลาดหลายต่อหลายครั้ง ทั้งอดทนรอหลายต่อหลายปี

การใช้ชีวิตก็เช่นเดียวกัน…

หากเราลองเปิดใจกับแนวคิดเด็กสมัยใหม่ ให้ได้เลือกแนวทางของตัวเอง และได้ลองผิดลองถูกในการใช้ชีวิต

แม้จะมีสำเร็จบ้าง มีพลาดบ้าง

สุดท้ายการเรียนรู้เหล่านั้น ก็สามารถส่งผลให้พวกเขามีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในเส้นทางเดินของตนเองในอนาคต

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
19
Love รักเลย
27
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
1
Angry โกรธ
0

Comments are closed.

More in:Writings

Writings

SOMEWHERE ONLY WE KNOW จุดพักใจของเหล่า ‘คนหัวเมฆ’

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง หมายเหตุ : คำอธิบายทั้งหมดเป็นสิ่งที่ผู้เขียนตีความด้วยตัวเอง ผู้อ่านรับรู้เรื่องราวจากมุมมองของผู้เขียนได้ แต่อยากชวนไปดูที่งานด้วยนะ 🙂 “คิดงานไม่ออก” ผมบ่นขึ้นมาขณะที่นั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ ตอนนั้นเป็นเวลา 10 โมงของวันอาทิตย์ที่อุณหภูมิเกือบ ...

Writings

สงกรานต์ที่บ้าน (ไม่) เกิด : ชวนฟังความหมายวันสงกรานต์ผ่านสายตาคนไทยในต่างแดน

เรื่อง: ทยาภา เจียรวาปี และ พนิดา ช่างทอง ภาพประกอบ: พนิดา ช่างทอง ‘สงกรานต์’ เป็นหนึ่งในเทศกาลสำคัญของคนไทย เป็นช่วงเวลาที่หลายครอบครัวได้กลับมารวมตัวกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา เป็นห้วงเวลาที่สร้างความสุข เสียงหัวเราะ และรอยยิ้มให้กับใครหลายๆ ...

Lifestyle

เมื่อเราไม่อยู่บ้าน หมาจะคิดถึงเราไหมนะ?

เรื่องและภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ เทศกาลสงกรานต์เป็นวันหยุดยาว เมื่อได้เว้นว่างจากการทำงานและการเรียนอันแสนเหน็ดเหนื่อย หลายคนจึงเลือกจะกลับบ้าน ดังนั้น  หากจะเรียกว่าเป็น ‘วันแห่งการกลับบ้าน’ ก็อาจไม่ผิดนัก  หลายครอบครัวอาจมีสมาชิกอย่างพ่อ แม่ ญาติ หรือใครสักคนที่ทำให้อยากกลับบ้านไปหา ...

Writings

สงกรานต์ทั้งที ไม่มีความสงสัยบ้างไม่ได้หรอ?: เมื่อคำถามจากญาติในช่วงเทศกาลแห่งความสุขสร้างความทุกข์ให้ลูกหลาน

เรื่องและภาพประกอบ: ทยาภา เจียรวาปี หมายเหตุ: ประโยคคำถามในบทความชิ้นนี้ เป็นการรวบรวมจากประสบการณ์โดยตรงของผู้เขียน และคนรอบตัวของผู้เขียนเท่านั้น โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน ในสายตาผู้อ่าน ภาพวันสงกรานต์หน้าตาเป็นอย่างไร? เชื่อว่าสำหรับหลายๆ คน คงเห็นภาพการสาดน้ำดับร้อน ภาพความสุข รอยยิ้ม ...

Writings

‘Dark souls III’ จุดสูงสุดของไตรภาคอันยิ่งใหญ่ ผู้จะสถิตอยู่ในดวงใจของผู้เล่นตลอดไป

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง TW : ในบทความชิ้นนี้มีภาพตัวละครศัตรูที่ทำให้รู้สึกขยะแขยงได้ หากผู้อ่านท่านใดรู้สึกไม่สบายใจ สามารถข้ามหัวข้อ “เหล่าศัตรูที่เห็นแล้วต้องร้องอ๋อ (ไม่ก็ อี๋)” เพื่ออ่านหัวข้อถัดไปได้เลย ตัวละครของผมตื่นขึ้นมาในสถานที่ที่คล้ายคุก ไม่มีอะไรติดตัวนอกจากดาบหักๆ หนึ่งเล่ม ...

Writings

‘RICE สาระ’ เรื่องข้าวๆ ของคนวิจัยข้าว

เรื่องและภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ นี่สินะที่เรียกว่า ‘ความเงียบที่ดังที่สุด’ ความเงียบก่อตัวขึ้นในกองบรรณาธิการเล็กๆ ของเรา หลังสิ้นคำถามของฉันว่า “มีใครรู้จักศูนย์วิจัยข้าวไหม” แม้จะคาดหวังคำตอบว่า ‘รู้จัก’ อยู่เล็กน้อย แต่ความเงียบก็ได้ตอบคำถามแล้วว่า ‘ไม่มีใครรู้จักเลย’ ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save