เรื่องและภาพ : กัญญพัชร กาญจนเจตนี
ฐปณีย์ย้ำ การสร้างความน่าเชื่อถือและทำงานอย่างมีมาตรฐานคือสิ่งที่คนทำสื่อต้องหนักแน่น เหตุผู้สื่อข่าวช่องดังจำลองเหตุการณ์เสี่ยแป้งกินไก่ดิบออกอากาศ
จากกรณีคดีเสี่ยแป้ง นาโหนด หรือ เชาวลิต ทองด้วง นักโทษชายซึ่งเป็นผู้ต้องโทษในคดีความผิดฐานเข้าปล้นผู้ต้องหาจากตำรวจสืบสวนขณะเข้าจับกุมคดียาเสพติด และยังมีประวัติอาชญากรรมเกี่ยวข้องกับคดีอาวุธปืน คดียาเสพติด คดีฆ่าและพยายามฆ่าเจ้าหน้าที่ตำรวจอีกหลายคดี ได้หลบหนีจากการควบคุมตัวขณะเข้ารับการรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในจังหวัดนครศรีธรรมราชและมีเส้นทางการหนีเข้าไปยังป่าในเทือกเขาบรรทัดที่คาบเกี่ยวหลายจังหวัดในภาคใต้ หลังจากนั้นได้มีผู้สื่อข่าวสำนักข่าวหนึ่งลงพื้นที่ รายงานข่าวเกี่ยวกับคดีและทดลองกินไก่ดิบเพื่อจำลองเหตุการณ์เสี่ยแป้งได้กินเพื่อประทังชีวิตในป่าโดยมีการออกอากาศทางโทรทัศน์นั้น เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 กลุ่มวิชาวิทยุและโทรทัศน์ คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้จัดงานเสวนา มีผู้เข้าร่วมเสวนาหลายท่านซึ่งมี ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ผู้ก่อตั้งสำนักข่าว The Reporters และธนกร วงษ์ปัญญา บรรณาธิการข่าวไทย สำนักข่าว The Standard เป็นผู้เข้าร่วมเสวนาซึ่งบางช่วงทั้งสองได้มีการกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
ฐปณีย์ เอียดศรีไชย กล่าวว่าในยุคที่ใคร ๆ ก็เป็นสื่อได้ สิ่งที่สำนักข่าวหรือคนทำข่าวต้องหนักแน่นและยืนหยัดให้ได้คือการสร้างความน่าเชื่อถือ เพราะหากสำนักข่าวทำงานอย่างมีมาตรฐานก็จะเป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อวิชาชีพและสังคม หากผู้สื่อข่าวทำอะไรนอกเหนือไปจากการรายงานอย่างควรจะเป็น เช่นนั้นจะทำให้ประชาชนหมดความน่าเชื่อถือในตัวผู้สื่อข่าวไป “อย่างกรณีนักข่าวที่ไปกินไก่ดิบระหว่างการรายงานข่าว ต้องกลับมามองว่าเป็นการทำเกินหน้าที่นักข่าวไปหรือไม่ การทำข่าวสืบสวนสอบสวนเราสามารถเอาตัวเองเข้าไปทดสอบหาข้อเท็จจริงต่าง ๆ ได้ก็จริงแต่ว่าการทดสอบแบบที่น้องนักข่าวทำออกมามันอาจจะเกินเลยจากประเด็นที่ต้องทำไป ดังนั้นก็ต้องพิจารณากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยเพราะสุดท้ายยังไงคำถามจากสังคมก็จะถูกวนกลับมาเรื่องความน่าเชื่อถือของตัวคนทำข่าวเอง”
ฐปณีย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ประชาชนผู้รับสารเห็นวิธีการรายงานข่าวที่เกิดขึ้นอาจคิดว่าประเด็นที่ผู้สื่อข่าวรายงานเป็นเรื่องเล่น ๆ หรือใช้วิธีนี้เพื่อเรียกเรตติ้งความนิยมหรือเปล่า เพราะฉะนั้นผู้สื่อข่าวควรกลับมารายงานข่าวให้อยู่หลักคิดที่ว่าเพื่อให้ประชาชนได้รับความรู้หรือข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริงก็เพียงพอ หากมีการทำงานอย่างมีมาตรฐานโดยยืนอยู่บนหลักคุณธรรมและจริยธรรมของการเป็นสื่อใส่ลงไปบนผลงานที่ทำออกไปแล้วเสียงตอบรับจากประชาชนจะบอกเอง ว่าพวกเขาจะได้รับความน่าเชื่อถือและความไว้ใจตอบกลับมา
นอกจากนี้ ธนกร วงษ์ปัญญา ได้กล่าวเพิ่มเติมว่าหนึ่งในเหตุผลที่อาจทำให้ผู้สื่อข่าวในปัจจุบันพยายามหาช่องทางหรือวิธีการให้ข่าวที่พวกเขาทำได้รับความนิยมจนมองข้ามมาตรฐานในการทำงานไปคือค่าตอบแทนและสวัสดิการของผู้สื่อข่าวที่อาจไม่เพียงพอหรือไม่คุ้มค่ากับการต้องทำงานภายใต้กรอบจริยธรรม เพราะการมุ่งทำข่าวเร้าอารมณ์จะทำให้ปุถุชนสนใจมากกว่านำมาซึ่งรายได้จากการโฆษณา จึงต้องกลับมาตั้งคำถามว่าทำไมค่าตอบแทนจากการทำงานผู้สื่อข่าวถึงไม่สามารถตอบโจทย์การดำรงชีวิตได้เพียงพอ ควรมีการพูดคุยว่ารายได้ของผู้สื่อข่าวหรือผู้ที่อยู่ในองค์กรสื่อควรจะเริ่มต้นที่เท่าไหร่เพื่อให้เหมาะสมกับคุณค่าของวิชาชีพ ทำงานวันหยุดควรได้ค่าตอบแทนแบบไหน มีโอกาสพัฒนาก้าวหน้าในหน้าที่การงานหรือไม่อย่างไร เพราะเมื่อเทียบกับผู้สื่อข่าวต่างประเทศจะเห็นความแตกต่างกันเรื่องรายได้ การเติบโตและความมั่นคงในหน้าที่การงานอย่างชัดเจน ฉะนั้นหากองค์กรสื่อสามารถให้ค่าตอบแทนและสวัสดิการที่คุ้มค่ากับการทำงานได้จะเป็นเรื่องดีเพราะสามารถช่วยให้คนที่ตั้งใจและอยากเข้ามาทำวิชาชีพนี้ทำงานต่อไปได้โดยไม่หมดกำลังใจและพะวงเรื่องค่าใช้จ่ายในชีวิตจนต้องไปเน้นใช้วิธีทำข่าวเพื่อแข่งขันเอากระแสตอบรับจนละเลยมาตรฐานวิชาชีพที่ควรจะเป็น