เรื่อง : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ
ภาพประกอบ : ทยาภา เจียรวาปี
ท่ามกลางหมู่คนชนผู้ดีฝรั่งเศสที่เดินกันขวักไขว่ในซาลอง (Salon) ‘Marianne’ จิตรกรหญิงในชุดเสื้อคลุมสีน้ำเงินเดินเข้าไปหากรอบรูปสีทองนับสิบตรงหน้า หนึ่งในนั้นคือภาพวาดของเธอ มาเรียนน์หยุดยืนแล้วหันหลังให้ภาพวาด ตอนนี้เธอเป็นเหมือนผู้รักษาความปลอดภัยที่คอยสังเกตการณ์สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นเบื้องหน้าภาพวาดเหล่านั้น
ชายคนหนึ่งเดินมาบอกเธอว่าภาพวาดนี้ช่างยอดเยี่ยม “พ่อของเธอนี่เก่งจริงๆ”
“ฉันวาดค่ะ แค่ใส่ชื่อพ่อลงไป” มาเรียนน์ตอบกลับชายตรงหน้า เพราะเธอใช้ชื่อพ่อส่งงานนี้เข้าแสดงในซาลอง และเท่าที่เห็นเธอก็แทบจะเป็นเพียงผู้หญิงคนเดียวในที่แห่งนี้
เรื่องที่เล่าไปนั้นเป็นซีนท้ายๆ จากภาพยนตร์เรื่อง ‘Portrait of a Lady on Fire’ (2020) ของ Céline Sciamma ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวฝรั่งเศส และวินาทีนั้นเอง คำตอบของคำถามที่ยังหาข้อสรุปไม่ได้ซึ่งค้างคาใจมานานก็ปรากฏขึ้น
หรือนี่จะเป็นสาเหตุที่เราได้ยินชื่อผู้หญิงในโลกของประวัติศาสตร์ศิลป์น้อยเหลือเกิน…ไม่ใช่เพราะผู้หญิงไร้พรสวรรค์เรื่องศิลปะมาแต่ก่อนกาล แต่อาจเป็นเพราะพรสวรรค์เหล่านั้นซ่อนอยู่ภายใต้ชื่อของผู้ชายสักคนในโลกศิลปะ
.
ผู้หญิงในโลกศิลปะ
ไม่ใช่แค่ในภาพยนตร์ที่ผู้หญิงในโลกศิลปะมีจำนวนน้อย แต่ในโลกแห่งความจริงก็เช่นกัน ข้อมูลในปี 2019 ของ The National Gallery พิพิธภัณฑ์ศิลปะในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ที่ก่อตั้งมากว่า 200 ปี ระบุว่าในจำนวนภาพวาด 2,300 ภาพ ตั้งแต่ศตวรรษที่ 13-20 ที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ มีเพียง 21 ภาพเท่านั้นที่วาดโดยผู้หญิง และตัวเลขนี้เองก็แสดงให้เห็นช่องว่างระหว่างเพศ (Gender Gap) ในโลกศิลปะ
Caroline Campbell ภัณฑารักษ์ของ The National Gallery และผู้อำนวยการของ The National Gallery of Ireland (เธอเป็นผู้หญิงคนแรกที่นั่งตำแหน่งนี้ตั้งแต่ก่อตั้งมา 158 ปี) กล่าวว่าเหตุที่ผลงานของผู้หญิงในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีน้อยเหลือเกิน เพราะว่าผู้หญิงที่ถูกพูดถึงในโลกศิลปะนั้นมีน้อยอยู่แล้ว และยังถูกกีดกันออกจากหน้าประวัติศาสตร์ จนไม่สามารถแสดงความคิดสร้างสรรค์ของตัวเองออกมาได้
นอกจากนี้ในงานเขียนเรื่อง ‘Why Have There Been No Great Women Artists?’ (1971) ของ Linda Nochlin นักประวัติศาสตร์ศิลป์ชาวอเมริกา ซึ่งเป็นงานเขียนเพียงไม่กี่ชิ้นที่อธิบายเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมา เธอกำลังจะบอกผู้อ่านอย่างเราๆ ว่า การที่มี ‘ตัวแม่’ ในวงการศิลปะน้อยนั้น ไม่ได้เป็นเพราะว่าศิลปินหญิงนั้นไร้ความสามารถหรือพรสวรรค์ด้านศิลปะ แต่เป็นเพราะกำแพงทางสังคมที่ขัดขวางพวกเธอจากโอกาสที่เทียบเท่ากับผู้ชายต่างหาก
.
ในนามของคนมีหนวด
นอกจากตัวละครมาเรียนน์จากภาพยนตร์เรื่อง Portrait of a Lady on Fire แล้ว ผู้เขียนยังนึกถึงตัวละคร ‘Mary’ นักบรรพชีวินวิทยาหญิงที่สะสมและศึกษาซากดึกดำบรรพ์ จากภาพยนตร์เรื่อง ‘Ammonite’ (2020) ที่ในซีนเปิดเรื่องปรากฏภาพซากดึกดำบรรพ์ในหินที่ถูกยกมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ ฟอสซิลส่วนหัวของสัตว์ดึกดำบรรพ์ปากยาวสีดำด้าน มาพร้อมกับเชือกผูกระบุชื่อผู้ค้นพบ ‘Mary Anning’ ก่อนจะถูกแกะออก แล้วแปะป้ายว่า นำเสนอโดย ‘H. Hoste Henley’ แทน
แม้ว่านี่จะไม่ใช่ตัวอย่างของผู้หญิงในโลกศิลปะ แต่ก็นำทางผู้เขียนไปสู่สมมติฐานบางอย่างที่เชื่อมโยงกับความเป็นไปได้เรื่องการขโมยเครดิตในโลกศิลปะ
หากคุณผู้อ่านติดตามแวดวงศิลปะอยู่บ้าง คงคุ้นเคยกับงานศิลป์แหกขนบอย่างโถสุขภัณฑ์ชายที่วางตั้งไว้บนแท่น พร้อมลายเซ็น ‘R. Mutt’ ผลงานชิ้นนี้มีชื่อว่า ‘Fountain’ (1917) เป็นงานศิลปะแนว Readymades ที่เอาสิ่งของธรรมดามาทำเป็นศิลปะ และเป็นตัวแทนของการตั้งคำถามต่อวงการศิลปะที่สูงส่งในเวลานั้นว่าแท้จริงแล้วศิลปะต้องสวยงามจริงไหม หรือมันควรจะเป็นเพียงเรื่องธรรมดาที่ใครๆ ก็ทำได้ และอะไรๆ ก็เป็นศิลปะได้หรือเปล่า
ศิลปินผู้ส่งงานชิ้นนี้เข้าจัดแสดงชื่อว่า ‘Marcel Duchamp’ หลายๆ คนในแวดวงต่างก็เรียกเขาว่าเป็น ‘ตัวพ่อ’ ของศิลปะคอนเซ็ปชวล (Conceptual Art) ที่อาศัยการตีความและวิธีคิดของศิลปินมากกว่าความงามที่มองเห็นได้ด้วยตา
เมื่อคิดๆ ดูแล้วตาดูชองป์ก็เป็นศิลปินตัวพ่อเลยทีเดียว แต่ใครเลยจะรู้ว่ามีสมมติฐานพร้อมหลักฐานที่อ้างว่า ตัวพ่อคนนี้อาจขโมยงานของตัวแม่มาจัดแสดง
Glyn Thompson อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ศิลป์ของ Leeds University พบหลักฐาน 2 ชิ้นที่สนับสนุนสมมติฐานที่ว่าดูชองป์อาจขโมยงานของ ‘Elsa von Freytag-Loringhoven’ ศิลปินหญิงชาวเยอรมันมาจัดแสดง หลักฐานทั้ง 2 ชิ้นคือลายมือและสถานที่ที่ผลิตโถปัสสาวะ ซึ่งไม่ตรงกับลายมือของดูชองป์ และไม่ตรงกับบริษัทที่ดูชองป์อ้างว่าซื้อโถนั้นมา
ว่ากันว่าในปี 1917 ดูชองป์เขียนจดหมายฉบับหนึ่งถึงน้องสาวของเขา ความว่า “เพื่อนผู้หญิงคนหนึ่งของฉัน ที่ใช้นามปากกาผู้ชายว่า Richard Mutt ส่งโถฉี่มาให้…” จดหมายฉบับนี้จึงเชื่อมโยงดูชองป์กับเอลซ่าผู้เป็นเพื่อนเข้าด้วยกัน และเกิดเป็นสมมติฐานนี้ขึ้นมา
อันที่จริงในปีเดียวกันนั้น เอลซ่าสร้างผลงานชิ้นหนึ่งร่วมกับศิลปินอีกคน ผลงานนั้นชื่อว่า ‘God’ (1917) ซึ่งมีลักษณะเป็นส่วนหนึ่งของท่อประปาเหล็ก ที่มองไปมองมาก็คล้ายจะเป็นพี่น้องกับงาน Fountain อยู่เหมือนกัน
แม้จะไม่สามารถหาข้อสรุปได้ชัดเจนว่าใครคือเจ้าของผลงานตัวจริง และไม่มีใครที่มีชีวิตอยู่พอจะตอบคำถามนี้ได้ แต่ดูเหมือนว่าคนแทบทั้งโลกจะจดจำภาพโถฉี่คู่กับตัวพ่อดูชองป์ไปเสียแล้ว
.
Behind Every Successful Man, There Is a Woman
ไม่ใช่แค่วงการภาพวาดหรือประติมากรรมที่ชื่อของศิลปินผู้หญิงถูกกลบ แต่ในงานวรรณกรรมก็เช่นกัน
‘Zelda Fitzgerald’ อาจไม่ใช่ชื่อนักเขียนที่คุ้นหูนัก แต่ผู้อ่านอาจจะเคยได้ยินนามสกุลของเธออยู่บ้าง เซลดาคือภรรยาของ ‘F. Scott Fitzgerald’ นักเขียนชื่อดังชาวอเมริกา ผู้ให้กำเนิดนิยายเรื่อง ‘The Great Gatsby’ (1925) และเซลดาก็มีฉายาว่าเป็น มิวส์ (Muse) หรือเทพธิดาที่คอยกระซิบบอกความคิดให้กับงานเขียนของสกอตต์ แม้ว่าที่จริงการกระทำของสกอตต์จะดูเป็นการขโมยความคิดไปเป็นของตัวเองเสียมากกว่า
ในปี 1921 ลูกสาวของทั้งคู่ลืมตาดูโลก เซลดาพูดประโยคหนึ่งออกมา “I hope she’s beautiful and silly, a beautiful little fool” เพื่อบอกว่านั่นคือสิ่งที่วิเศษที่ผู้หญิงคนหนึ่งจะเป็นได้ และข้อความเดียวกันนี้เองก็ปรากฏอยู่ในนิยายเรื่อง The Great Gatsby ของสกอตต์ แต่ออกมาจากปากของตัวละครในนิยายที่เขาสร้างขึ้นแทน
ครั้งหนึ่งเซลดาต้องแสร้งว่าอ่านนิยายของสกอตต์เป็นครั้งแรก ตอนที่นิยายเรื่อง ‘The Beautiful and Damned’ ตีพิมพ์ในปี 1922 เธอจำได้ว่าความตอนหนึ่งในหนังสือคลับคล้ายคลับคลากับความตอนหนึ่งในสมุดบันทึกของเธอ และเธอก็เผยความในใจออกมาเมื่อมีหนังสือพิมพ์เชิญไปเขียนรีวิวให้หนังสือของสามี
“สำหรับฉัน ดูเหมือนว่าสักหน้าหนึ่งของนิยายชวนให้นึกถึงบางส่วนจากสมุดบันทึกเล่มเก่า ที่หายไปอย่างลึกลับหลังจากแต่งงานได้ไม่นาน และยังมีบางตอนจากจดหมายที่แม้จะถูกปรับไปเยอะ แต่ก็ฟังดูคุ้นๆ อยู่ ในความเป็นจริง นายฟิตซ์เจอรัลด์ (ฉันเชื่อว่าเขาสะกดชื่อตัวเองเช่นนี้) ดูเหมือนจะเชื่อว่าการลอกเลียนผลงาน (Plagiarism) เริ่มขึ้นในบ้านนะคะ”
ครั้งหนึ่งตัวแทนของสกอตต์เคยส่งงานเขียนให้หนังสือพิมพ์ โดยที่หนังสือพิมพ์คิดว่าเป็นงานของสกอตต์ ก่อนจะพบว่างานทั้งชิ้นเขียนโดยเซลดาและยื่นข้อเสนอว่าจะจ่ายเงินให้ 4,000 ดอลลาร์สำหรับงานชิ้นนี้…หากตัดชื่อเซลดาออกไป
แม้ว่าเซลดาจะสร้างแรงบันดาลใจให้ตัวละครของสกอตต์อยู่มาก แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าตัวเธอเองก็มีพรสวรรค์ด้านการเขียนอยู่ไม่น้อย หากแต่ผลงานบางชิ้นกลับถูกตีพิมพ์ด้วยชื่อของทั้งสองคน แม้ว่าเธอจะเขียนมากกว่าครึ่งก็ตาม
.
น้อยนิด แต่อาจมหาศาล
คำถามที่ว่า ศิลปินหญิงหายไปไหนจากหน้าประวัติศาสตร์ อาจไม่มีคำตอบที่ชัดเจนตายตัว เพียงแต่มันมีความเป็นไปได้อยู่มากที่จะเกิดจากการขัดขวางของสังคม และค่านิยมในสมัยนั้นที่กีดกันผู้หญิงออกจากความคิดสร้างสรรค์ทั้งหลาย จนเกิดเป็นช่องว่างระหว่างเพศในโลกศิลปะ
มันเป็นไปได้ที่ศิลปินหญิงบางคนอาจจะถูกขโมยผลงานทั้งในรูปแบบของวัตถุและความคิด อย่างเรื่องราวของเอลซ่าที่โดนขโมยโถฉี่ และเซลดาที่โดนขโมยสมุดโน๊ต ซึ่งนำเราไปสู่ความเป็นไปได้ที่ว่า แท้จริงศิลปินหญิงบนโลกศิลปะนี้อาจมีอยู่มหาศาล เพียงแต่ปรากฏชื่ออยู่เพียงน้อยนิดเท่านั้น
และมันก็ชวนให้คิดว่า โถฉี่ Fountain ของดูชองป์ยังจะกลายเป็นไอคอนของศิลปะคอนเซ็ปชวลและดาดา (Dada) อยู่ไหม หากผลงานชิ้นนี้ถูกนำเสนอภายใต้ชื่อของผู้หญิงที่ชื่อเอลซ่า
หรือ The Great Gatsby รวมทั้งงานเขียนเรื่องอื่นๆ ของสกอตต์จะยังเป็นนิยายขายดีตลอดกาลอยู่หรือไม่ หากมีชื่อของเซลดาปรากฏอยู่บนหน้าปกด้วย
สำหรับผู้เขียนแล้ว ศิลปินหญิงไม่ได้หายไปไหนจากหน้าประวัติศาสตร์ศิลป์หรอก เพียงแต่พวกเธอถูกซ่อนไว้เบื้องหลังภาพ ประติมากรรม หรือตัวหนังสือของเหล่าคนมีหนวดต่างหาก
อ้างอิง
Tori Campbell. Stealing Art: When Men Took Credit For Women’s Work. สืบค้นได้จาก https://magazine.artland.com/stealing-art-when-men-took-credit-for-womens-work/
Siri Hustvedt. (29 มีนาคม 2019). A woman in the men’s room: when will the art world recognise the real artist behind Duchamp’s Fountain?. สืบค้นได้จาก https://www.theguardian.com/books/2019/mar/29/marcel-duchamp-fountain-women-art-history
Richard Whiddington. (24 ตุลาคม 2023). Did Duchamp Steal Credit for ‘The Fountain’ from a Woman Artist?. สืบค้นได้จาก https://news.artnet.com/art-world/duchamp-fountain-dispute-2379304
Then & Now. (27 มิถุนายน 2017). Fountain – Marcel Duchamp or Elsa von Freytag-Loringhoven?. สืบค้นได้จาก https://www.youtube.com/watch?v=Jm8nW1BAlds&list=PLSAK84xps48wtZ21XBwfD1DG_2LD55LcC&index=2
The National Gallery. (8 มีนาคม 2019). Why are there so few female artists in the National Gallery?. สืบค้นได้จาก https://www.youtube.com/watch?v=dHwcZZjagxM&list=PLGYsNi-ytr9oP5RwpxGn7nBbK25l_4Z4t&index=3
Linda Nochlin. (1971). Why Have There Been No Great Women Artists?. สืบค้นได้จาก https://www.writing.upenn.edu/library/Nochlin-Linda_Why-Have-There-Been-No-Great-Women-Artists.pdf
ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์. (2017). ART IS ART, ART IS NOT ART อะไร (แม่ง) ก็เป็นศิลปะ. กรุงเทพฯ : แซลมอน.
Cati Gayá. Zelda Fitzgerald: The Writer Plagiarized by Her Husband F. Scott Fitzgerald. สืบค้นได้จาก https://www.domestika.org/en/blog/7192-zelda-fitzgerald-the-writer-plagiarized-by-her-husband-f-scott-fitzgerald
Professor Graeme Yorston. (26 พฤศจิกายน 2023). Zelda Fitzgerald – Talented Writer & Artist. สืบค้นได้จาก https://www.youtube.com/watch?v=RXORYDRvAiw&list=PLGYsNi-ytr9oP5RwpxGn7nBbK25l_4Z4t&index=4