FeaturesMediaShot By Shot

ป้าดา นางฟ้าของแมวจร

เรื่องและภาพ : ณัฐธิดา นิติเกษตรสุนทร

ภาพประกอบ : ทยาภา เจียรวาปี

ในวันที่อ่อนล้าจากการไปถ่ายงานที่ทรงวาดในช่วงฤดูฝน เป็นเวลาดึกมากแล้ว ฉันหิ้วท้องกิ่วนั่งรถไฟฟ้ากลับไปหาของกินที่สยามเซนเตอร์ หลังจากที่ฉันและเพื่อนอิ่มหมีพีมันก็ได้เวลากลับ แต่ระหว่างทางฉันได้พบกับแมวเหมียวนับสิบตัว มีทั้งขนาดเล็กจิ๋วและโตเต็มวัย กำลังโซ้ยอาหารเม็ดและเนื้อสัตว์ที่มีคนวางไว้บนถาด

นั่นทำให้ฉันได้มีโอกาสเจอกับ ‘ป้าดา’ ผู้ที่เป็นมากกว่าคนให้อาหารแมว

หลังจากวันนั้นฉันก็ได้ไปหาป้าดาอีกครั้งฉันเห็นคุณป้าเดินหิ้วถุงผ้าพะรุงพะรังเต็มสองมือในทุกๆ ครั้งที่ฉันเจอ ในกระเป๋าเต็มไปด้วยอาหารเม็ดสำหรับแมว อาหารเปียก 1 กระป๋อง และอกไก่ที่ถูกต้มมาอย่างดี 

.

ป้าดา นางฟ้าของแมวจร

“เนี่ย ไม่มีใครทำอย่างป้าหรอกที่ต้องมานั่งฉีกไก่ให้แมวแต่ละถาดๆ อาหารที่ให้ก็ไม่ใช่เศษอาหารทั่วไป” ป้าดาพูดขณะกำลังจัดเรียงอาหารในถาดที่ทำมาจากฝากล่องรองเท้าที่ถูกทิ้ง

ป้าดาอายุ 72 ปี เล่าให้ฟังว่าเคยขายเสื้อผ้าอยู่ที่สยาม แต่ปัจจุบันไม่ได้ขายแล้วเนื่องจากพิษเศรษฐกิจ ตอนนี้ทำสบู่และยาสระผมขายทางออนไลน์เพื่อนำไปเป็นค่าอาหารแมว โดยมีบ้านอยู่ที่ย่านบางพลัดซึ่งค่อนข้างไกลจากสยาม 

คุณป้ามาได้เฉพาะตอนดึกๆ หลังจากทำงานเสร็จคือตอนสองทุ่ม ซึ่งกว่าจะได้กลับบ้านก็เกือบห้าทุ่มแล้ว เพราะใช้เวลานานในการจัดเตรียมของและยังต้องนำอาหารไปให้แมวอีกหลายจุด จากนั้นก็ต้องรีบกลับให้ทันรถเมล์รอบสุดท้าย

“บางทีป้าก็ตกรถเมล์เพราะต้องเดินไปเอาของหลายที่ในสยาม เลยต้องนั่งแท็กซี่กลับ เสียดายมาก ซื้ออาหารให้แมวได้อีกตั้งหลายมื้อ”

ป้าดาให้อาหารแมวมาตั้งแต่ปี 2015 นับเป็นระยะเวลาเกือบ 10 ปี “ก็สงสารแมว เราผูกพัน จริงๆ แต่ก่อนเค้าอยู่ทั่วสยามเลย ตอนนี้โดนไล่มาอยู่บนสะพานแทน” สะพานที่ว่าคือสะพานลอยทางเชื่อมไปชั้น 3 ของสยามเซนเตอร์ ซึ่งมีแมวอยู่ทั้งบนสะพานลอยและตรงบันไดระหว่างทางขึ้นสะพาน

คุณป้าต้องยื่นอาหารเข้าไปให้แมวที่ติดอยู่ในตะแกรง “มันมาคลอดลูกในนี้ จะให้ออกมาก็ไม่ได้เดี๋ยวมันตีกันกับพวกข้างนอก” คุณป้าบอกและเดินขึ้นไปให้อาหารแมวที่อยู่บนสะพานลอย

ป้าดาเล่าให้ฉันฟังว่าไม่กี่วันก่อน คุณป้าวางอกไก่ที่ต้มทิ้งไว้และเดินไปเอาตับย่างจากคุณป้าอีกซอย พอกลับมาถุงไก่ก็ถูกขโมยไปเสียแล้ว “ไม่รู้ทำไมต้องมาขโมย คนหากินเองได้ แต่แมวหากินเองไม่ได้ ป้าอยากให้เขา (แมว) ได้กินอาหารดีๆ วันละมื้อก็ยังดี”

หลังจากนั้นคุณป้าก็กลับมาจัดถาดอาหารแมวอีกครั้ง และพาฉันไปที่ซอยหนึ่งของสยามสแควร์ ในนั้นมีตึกแถวร้างติดกันหลายตึก คุณป้าดันประตูรั้วเหล็กฝืดๆ ขึ้นโดยที่ไม่ต้องให้ฉันช่วย ขณะที่อีกมือก็ยังถือถาดอาหารแมวที่ทับซ้อนกัน

ภายในตึกที่มืดสนิทมีเพียงแสงจากไฟฉายของคุณป้า คุณป้าเดินขึ้นบันไดเพื่อไปให้อาหารแมวที่ชั้นสองของตึกร้าง “ปกติป้ามาคนเดียว กลัวอยู่ว่าถ้าเป็นลมล้มพับไปจะทำยังไง”

“มันก็ไม่ใช่หน้าที่หรอก แต่ความสงสารน่ะสิ ถ้าไม่ให้เขา (แมว) เราก็รู้สึกเป็นทุกข์”

คุณป้าเล่าว่าคุณป้าเดินตามหาแมวจนเจอว่ามันอยู่ในตึกร้าง จึงตามมาให้อาหาร โดยไปขอกุญแจตึกมาจากผู้ดูแลคนเก่า

.

มีใครเคยว่าคุณป้าบ้างไหมคะ?

แม้ว่าบริเวณที่คุณป้าให้อาหารแมวจะเป็นพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่คนส่วนใหญ่เดินผ่าน แต่ก็ไม่ได้สร้างความรบกวนแต่อย่างใด

“ทางจุฬาฯ เขาก็ไม่ได้ว่าเรา เพราะเราทำเรียบร้อย ทำเสร็จป้าก็ทำความสะอาดให้เค้า ไม่ได้ทิ้งเศษขยะไว้”

จากนั้นคุณป้าก็พาฉันเดินไปยังที่หมายสุดท้ายคุณป้าเสียบตับย่างทีละชิ้นไว้ที่ปลายไม้ยาวแหลมยื่นขึ้นไปให้แมวที่อยู่ข้างบนตรงตะแกรงอยู่ 4-5 ครั้งจนตับหมด จากนั้นจึงวางถาดอาหารให้แมวตรงพื้น

.

มีใครเคยช่วยเหลือคุณป้าบ้างไหมคะ?

“มีคนช่วยเหลือให้ตับย่างทุกวัน แต่อกไก่ป้าซื้อมาเองจากโลตัสเอามาต้มที่บ้านแล้วก็แบกมา”

คุณป้าบอกว่ามีคนช่วยค่าอาหารนิดๆ หน่อยๆ บางคนก็เอาแมวไปเลี้ยง “มีคนนึงช่วยค่าอาหารกระป๋องเดือนละ 1 ลัง และให้ค่าไก่ต้มเดือนละ 500 บาท อีกคนเป็นน้องเภสัช คนนี้ดีมากเลยนะ ช่วยมาจะ 10 ปีแล้ว ให้อาหารเดือนละกระสอบหนัก 20 กิโลฯ แต่นอกนั้นเราก็ต้องหาเอง” นอกจากนี้มีคนช่วยรับทำหมันแมวราคาถูก แต่คุณป้ายังไม่มีเงินเพียงพอ เพราะลำพังแค่ค่าใช้จ่ายที่เสียไปกับค่าอาหารก็หมดแล้ว

ทางด้านจุฬาฯ เคยมาช่วยทำหมันแมว “จุฬาฯ เคยมาช่วยครั้งนึง แต่ก็แค่ครั้งเดียวและนานมากแล้ว” คุณป้าบอกว่าเคยคุยกับจุฬาฯ เรื่องทำหมันอีกรอบ ทางจุฬาฯ บอกว่าทำให้ได้แต่ต้องนำแมวไปเอง “เราแก่แล้วจะไปจับไหวได้ยังไงมีตั้งหลายตัว เอาไปไม่หมดหรอก”

.

ที่จุฬาฯ เคยช่วยครั้งนึงแล้วทำไมแมวยังไม่หมดไปอีก?

คุณป้าบอกว่าแมวลดลงไปเยอะ มีทั้งล้มหายตายจากบ้าง คนรับไปเลี้ยงบ้าง แต่ก็มีมาใหม่อีกเรื่อยๆ เพราะไม่ได้มีการติดตามทำหมันแมวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีแมวที่ตอนนั้นไม่ได้ทำหมันเพราะเป็นลูกแมวอีกด้วย

แม้จะมี ‘ชมรมจรจัด’ หรือชมรมสวัสดิภาพสัตว์ของนิสิตสัตวแพทย์จุฬาฯ ที่คุณป้าเคยขอให้ทางชมรมช่วยเอาแมวที่ติดตะแกรงอยู่ชั้นบนออก ทางชมรมก็ให้ความช่วยเหลืออย่างดี “ป้าไม่ได้รบกวนเพราะเขามีงานยุ่ง ถ้าไม่ได้ขอความช่วยเหลือก็จะไม่ได้มาเกี่ยวพัน” ซึ่งในการขอความช่วยเหลือก็มีค่าใช้จ่ายตามมา “จริงๆ เขาบอกว่าไม่คิดเงิน แต่เราก็เกรงใจ มันเป็นน้ำใจที่เขามาช่วยเหลือเราก็ต้องตอบแทน”

สุดท้ายนี้คุณป้าต้องการความช่วยเหลืออย่างไรบ้าง? 

“ป้าทำคนเดียวไม่ไหว”

ป้าดาบอกว่าอาจจะทำปีหน้าเป็นปีสุดท้าย เพราะปัญหาสุขภาพและอายุที่มากขึ้น

“อยากให้ช่วยค่าทำหมันก่อน แล้วก็ช่วยหาบ้านให้เขา” คุณป้าบอกว่าอยากให้แมวทั้งหลายมีชีวิตที่ดีมีบ้านพร้อมเลี้ยงดู

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
1
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:Features

Features

4 เพลงรัก ที่ควรฟังให้ ‘ตัวเอง’

เขียน : พรวิภา หิรัญพฤกษ์ ภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ ปกติเวลาฟังเพลงรักคุณนึกถึงใครกันบ้าง ?  ขอเดาว่าว่าผู้อ่านบทความนี้ คงเคยมีโมเมนต์ซ่อนใครบางคนไว้ในบทเพลง ยิ่งแล้วกับหมู่มวลเพลงรักที่มักจะเอาใบหน้าสุดที่รักไปใส่ไว้ตอนที่เราอินเลิฟ แล้วเมื่อถึงเวลาที่รักร้างลาไป เพลงรักที่เคยหวานซึ้งกลับกลายเป็นบทเพลงสุดเศร้าที่ต้องลบออกจากเพลย์ลิสต์ ...

Features

วิธีทำลายคำสาปร้านหนังสือ

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ร้านหนังสือ ในที่นี้หมายถึง ร้านหนังสืออิสระที่มีอยู่ประปรายในประเทศไทย ไม่ว่าจะในรูปแบบของออฟไลน์หรือออนไลน์ โดยไม่รวมร้านหนังสือในเครือขนาดใหญ่ที่มักเปิดอยู่ในห้างสรรพสินค้า (Chain store) ร้านหนังสือคือสถานที่อันเต็มเปี่ยมด้วยมนตร์ขลังและจินตนาการ  ยามใดที่ก้าวเท้าเข้าไปในเขตแดนของร้านหนังสือแล้ว ...

Features

หนังสือดี อยาก ‘หลอก’ ต่อ โดย ยมทูตในห้องนอน

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ยมทูต น. ผู้นำคนตายไปยังบัลลังก์พระยมเพื่อรอคำตัดสิน. ยมทูต น. ผู้ดำเนินเรื่องจากวรรณกรรมเยาวชน ‘จอมโจรขโมยหนังสือ’ โดยได้รับหน้าที่เป็นยมทูตของ ลีเซล ...

Features

จากมือชาวเล ถึงจานชาวกรุง ผ่านตัวเชื่อมสัมพันธ์อย่าง ‘บริษัทปลาออร์แกนิก’

เรื่อง : พรวิภา หิรัญพฤกษ์ ภาพประกอบ : ณัฐธิดา นิติเกษตรสุนทร ในซอยวิภาวดีรังสิต 22 แขวงจอมพล เขตจตุจักร มีอาคารหลังหนึ่งซ่อนตัวอยู่ในหลืบ หลังคาสีน้ำตาลออกไม้ๆ ลักษณะคล้ายหัวเรือใหญ่ ...

Writings

จดหมาย 3 ฉบับถึงงานหนังสือ

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ภาพประกอบ : สิทธิเดช สายพัทลุง, ชวิน ชองกูเลีย และ ศิรประภา จารุจิตร จดหมาย 3 ฉบับถึงงานหนังสือ คำนำ งานหนังสือ ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save