เรื่อง : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ
ภาพประกอบ : ณัฐธิดา นิติเกษตรสุนทร
กก.ผจก.บริษัทปลาออร์แกนิกฯ ซึ่งทำเครือข่ายธุรกิจอาหารทะเลยั่งยืน ชี้ประมงอวนลากกระทบระบบนิเวศทางทะเล เหตุธุรกิจอาหารสัตว์รับซื้อปลาเป็ดจากประมงอวนลาก แนะผู้บริโภคเลือกซื้อหมูไก่ที่เลี้ยงระบบปล่อยอิสระ
สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ปลาออร์แกนิกวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ซึ่งดำเนินธุรกิจจำหน่ายอาหารทะเลจากการทำประมงพื้นบ้านแบบยั่งยืน ให้สัมภาษณ์ว่า การทำประมงโดยใช้เครื่องมืออวนลากเป็นการทำประมงทำลายล้าง เพราะอวนลากมีตาถี่จึงกวาดต้อนสัตว์น้ำหลายชนิดและขนาด รวมถึงลากหน้าดิน ปะการัง และหญ้าทะเลไปรวมกันที่ก้นถุง ซึ่งทำลายระบบนิเวศและทรัพยากรทางทะเล
สุภาภรณ์ กล่าวว่า เมื่อ พ.ศ.2558 สหภาพยุโรปให้ใบเหลืองประเทศไทย เพราะมีการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing หรือ IUU Fishing) สาเหตุหนึ่งคือพบเรืออวนลากผิดกฎหมายจำนวนมาก จึงมีการออกพระราชกำหนดการประมง พ.ศ.2558 และเรียกเรืออวนลากที่ผิดกฎหมายมาจดทะเบียนให้ถูกกฎหมาย แม้จะทำลายทรัพยากรทางทะเล ในปัจจุบันประเทศไทยยังคงมีเรืออวนลากที่ผิดกฎหมายอยู่
สุภาภรณ์ซึ่งจบการศึกษาด้านการจัดการทรัพยากรชายฝั่ง กล่าวว่า สัตว์น้ำที่ถูกอวนลากลากมามีสัดส่วนโดยประมาณ ดังนี้ ร้อยละ 30 เป็นสัตว์น้ำสำหรับบริโภค และร้อยละ 70 เป็นปลาเป็ดหรือสัตว์น้ำสำหรับทำอาหารสัตว์ โดยร้อยละ 30-50 ของปลาเป็ดเป็นสัตว์น้ำวัยอ่อนและลูกปลาเศรษฐกิจ ส่งผลให้อัตราการขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำลดลง แต่ยังคงมีการทำประมงอวนลากอยู่
“ในอดีตปลาเป็ดถือว่าไม่มีประโยชน์ แต่ปัจจุบันปลาเป็ดเป็นปลาที่มีคุณค่ามากในการทำอาหารสัตว์ และเอาอย่างอื่นมาทดแทนไม่ได้ ฉะนั้นธุรกิจอาหารสัตว์จึงเป็นอันตรายมากต่อทรัพยากรทางทะเล แต่เราทำอะไรไม่ได้เลย เพราะมีบริษัทผลิตอาหารสัตว์รายใหญ่รองรับอยู่” สุภาภรณ์กล่าวและว่า การเติบโตของธุรกิจอาหารสัตว์ทำให้ปลาเป็ดเป็นปลาที่มีโรงงานมารับซื้อมากขึ้น เพื่อนำไปทำเป็นปลาป่นและแปรรูปเป็นอาหารสัตว์
สุภาภรณ์ กล่าวว่า ธุรกิจอาหารสัตว์เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ตอบสนองความต้องการของธุรกิจเลี้ยงสัตว์ เช่น หมูและไก่ แต่ผู้บริโภคสามารถหลีกเลี่ยงการสนับสนุนธุรกิจอาหารสัตว์และเปลี่ยนแปลงการบริโภคได้โดยการเลือกบริโภคหมูและไก่ที่เลี้ยงด้วยระบบปล่อยอิสระ (Free Range) ซึ่งปล่อยให้สัตว์ออกนอกโรงเรือนเพื่อหากินตามธรรมชาติได้อย่างอิสระ แทนการซื้อหมูและไก่จากธุรกิจอาหารแบบครบวงจรรายใหญ่
กก.ผจก.บริษัทปลาออร์แกนิกฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2558 มาตรา 57 ห้ามมิให้ผู้ใดจับสัตว์น้ำหรือนำสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่าที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดขึ้นเรือประมง อาจแก้ปัญหาการทำลายระบบนิเวศและทรัพยากรทางทะเลได้ แต่ในขณะนี้ยังไม่บังคับใช้ เนื่องจากไม่มีการออกประกาศกำหนดที่แสดงรายละเอียดของสัตว์น้ำขนาดเล็กมารองรับ
“ถ้าบังคับใช้มาตรา 57 เรืออวนลากจะหายไป เพราะไม่ว่าอย่างไรบนเรือก็ต้องมีสัตว์น้ำขนาดเล็กกว่าที่กำหนด ดังนั้นปลาเป็ดจะหายไป และธุรกิจอาหารสัตว์ก็จะอยู่ไม่ได้ เรามองว่าที่ยังไม่บังคับใช้เพราะหากบังคับใช้อาจกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวโยงกับธุรกิจอาหารสัตว์” สุภาภรณ์กล่าวและว่า ควรอนุญาตให้ปลาขนาดเล็กติดขึ้นมาได้บ้าง แต่ต้องกำหนดเป็นร้อยละของปริมาณปลาทั้งหมดร่วมกัน เพื่อป้องกันการกวาดลากเข้ามา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (EJF) เผยแพร่รายงาน ‘อุตสาหกรรมอวนลากในประเทศไทย ผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลของไทยจากการลากอวนและข้อเสนอแนะในการปฏิรูปอุตสาหกรรมฯ’ ระบุว่า จากข้อมูลเมื่อ พ.ศ.2564 ประเทศไทยมีจำนวนเรืออวนลากที่จดทะเบียนถูกกฎหมายทั้งที่อ่าวไทยและทะเลอันดามันทั้งหมด 3,370 ลำ และมีจำนวนเรือประมงพื้นบ้านทั้งหมด 51,237 ลำ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ.2565 นายเฉลิมชัย สุวรรณรักษ์ อธิบดีกรมประมง ได้เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์เพื่อชี้แจงการแก้ปัญหาการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนโดยใช้มาตรา 57 ว่าประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อนจึงมีสัตว์น้ำหลากหลายชนิด และเครื่องมือประมงที่ใช้ไม่สามารถเลือกจับรายชนิดได้อย่างชัดเจน ดังนั้นถ้าบังคับใช้มาตรา 57 หากพบสัตว์น้ำขนาดเล็กบนเรือเพียงตัวเดียวก็มีความผิด จึงต้องใช้บทบัญญัติตามมาตราอื่นด้วย ทั้งนี้กรมประมงเคยจัดประชุมนำเสนอผลการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว 4 ครั้ง ในช่วง พ.ศ.2564-2565 แต่ยังไม่ได้ข้อยุติที่เหมาะสมที่จะนำไปปฏิบัติได้จริง
บริษัท ปลาออร์แกนิกวิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด เป็นองค์กรที่ร่วมมือกับประมงพื้นบ้าน 6 ชุมชนในเครือข่ายรักษ์ปลารักษ์ทะเล และเป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างผู้บริโภคกับชาวประมงพื้นบ้าน เพื่อดำเนินธุรกิจจำหน่ายอาหารทะเลแบบยั่งยืนผ่านร้านปลาออร์แกนิก โดยมีเป้าหมายในการใช้ทรัพยากรประมงอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการค้าอย่างเป็นธรรม รวมถึงให้ผู้บริโภคเข้าถึงอาหารทะเลที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และตรวจสอบแหล่งที่มาได้
อ้างอิง
มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (EJF).(3 กุมภาพันธ์ 2566).อุตสาหกรรมอวนลากในประเทศไทย ผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลของไทยจากการลากอวนและข้อเสนอแนะในการปฏิรูปอุตสาหกรรมฯ.สืบค้น 2 กันยายน 2567.https://ejfoundation.org/reports/%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%99%E0%B8%B0%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%A5
กรมประมง.(11 มิถุนายน 2565).กรมประมง…ชี้แจง ! การดำเนินการตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.ก. การประมง พ.ศ. 2558 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม. สืบค้น 2 กันยายน 2567.https://www4.fisheries.go.th/local/index.php/main/view_activities/1210/146051