เรื่อง : พรวิภา หิรัญพฤกษ์ และ วรพร รุ่งวัฒนโสภณ
ภาพประกอบ : ณัฐธิดา นิติเกษตรสุนทร
อาจารย์วารสารศาสตร์ฯ มธ. คาดคนดังจะระวังการรับงานพรีเซนเตอร์มากขึ้น หลังกรณี ‘ดิไอคอน’ พร้อมแนะ ตรวจสอบคุณภาพสินค้า พฤติกรรมองค์กร-การจำหน่าย ธรรมาภิบาลบริษัท และใช้สินค้าจริงก่อนเป็นพรีเซนเตอร์
.
จากกรณี ดิไอคอนกรุ๊ป (The Icon group) บริษัทจำหน่ายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและความงาม ที่มีดาราและผู้มีชื่อเสียงเป็นพรีเซนเตอร์โฆษณาให้กับสินค้าและบริษัท มีพฤติการณ์เข้าข่ายแชร์ลูกโซ่และฉ้อโกงประชาชน ทำให้มีผู้เสียหายกว่า 9,000 คน และมีมูลค่าความเสียหายกว่า 3,000 ล้านบาทนั้น
เมื่อวันที่ 17 ต.ค. คันธิรา ฉายาวงศ์ อาจารย์ผู้สอนวิชากฎหมายและจริยธรรมสื่อสารมวลชน คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากนี้ดาราหรือบุคคลสาธารณะจะตัดสินใจรับงานพรีเซนเตอร์ยากขึ้น และมาตรฐานการรับงานของพรีเซนเตอร์จะสูงขึ้น เพราะมีกรณีดิไอคอนเป็นกรณีศึกษาในการรับโฆษณาโดยที่ไม่รู้เบื้องหลังของบริษัท
คันธิรา กล่าวว่า ตามกฎหมายเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค ความรับผิดชอบในส่วนของการโฆษณาสินค้าจะขึ้นอยู่กับผู้ผลิตหรือเจ้าของสินค้า และผู้ผลิตโฆษณา ส่วนความรับผิดชอบของพรีเซนเตอร์จะตั้งอยู่บนกรอบจริยธรรมในการเป็นบุคคลสาธารณะ เพราะไม่มีกฎหมายกำหนดไว้ ผู้ที่รับเป็นพรีเซนเตอร์ต้องมีจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคมในฐานะบุคคลสาธารณะ และควรตรวจสอบองค์กรและสินค้า 4 ข้อ ก่อนรับงานพรีเซนเตอร์ ดังนี้ ตรวจสอบคุณภาพและมาตรฐานสินค้าว่าถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ตรวจสอบพฤติกรรมองค์กรและพฤติกรรมการจำหน่าย ตรวจสอบธรรมาภิบาลบริษัท และใช้สินค้าจริงก่อนโฆษณาให้ผู้บริโภค
“พรีเซนเตอร์ต้องคิดมากกว่าเรื่องมูลค่าเงินที่ได้รับ เพราะควรมีจริยธรรม มีการตรวจสอบธรรมาภิบาลบริษัท กระบวนการได้มาซึ่งสินค้า กระบวนการในการจัดจำหน่าย และกระบวนการในการทำงานของบริษัท หรือแม้กระทั่งตัวผู้บริหารของบริษัทด้วย” อาจารย์ประจำคณะวารสารศาสตร์ฯ มธ. กล่าว
คันธิรา กล่าวว่า หากเป็นในกรณีของดิไอคอนที่จ้างดาราและผู้มีชื่อเสียงให้ดำรงตำแหน่งภายในบริษัท แล้วออกมาแถลงต่อสื่อในภายหลังว่าเป็นการจ้างให้เป็นพรีเซนเตอร์เท่านั้น จะต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริงว่า พวกเขามีบทบาทมากกว่าการเป็นพรีเซนเตอร์หรือไม่ “ถ้าข้อเท็จจริงเป็นแค่พรีเซนเตอร์ที่รับหน้าที่ในการโฆษณาก็ไม่มีอะไร แต่ถ้าตามข้อเท็จจริงไม่ใช่แค่นั้น ก็ต้องดูว่าพรีเซนเตอร์มีส่วนร่วมในการฉ้อโกงประชาชนแค่ไหน เป็นหุ้นส่วน เป็นผู้ประกอบการ เป็นพนักงาน ทำแค่ไหนก็รับผิดตามการกระทำ การพูดของพรีเซนเตอร์ไม่มีผลต่อสำนวนคดีเลย”
กัลยกร วรกุลลัฎฐานีย์ รองศาสตราจารย์ประจำกลุ่มวิชาโฆษณา คณะวารสารศาสตร์ฯ มธ. กล่าวว่า ประเทศไทยมีสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย ซึ่งมีบริษัทเอเจนซี่โฆษณาต่างๆ เป็นสมาชิก และมีนักโฆษณามืออาชีพที่ทำธุรกิจ ทำการสื่อสาร และผลิตโฆษณาให้กับสินค้าต่างๆ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย เพราะมีองค์ความรู้ในการผลิตโฆษณา ซึ่งในส่วนของดิไอคอนยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่าใครเป็นผู้วางแผนการโฆษณา
“ในปัจจุบันมันมีโฆษณาจำนวนเยอะมากที่ไม่ได้ผ่านมืออาชีพของวงการโฆษณา ซึ่งเขาอาจจะมีความไม่รู้และคิดว่าสามารถโฆษณาอะไรก็ได้ ยังไงก็ได้ เพราะฉะนั้นมันเป็นความสุ่มเสี่ยงของการโฆษณาโดยไม่ผ่านมือผู้เชี่ยวชาญ” กัลยกร กล่าวและว่า กฎหมายควบคุมการโฆษณาในประเทศไทยดีอยู่แล้ว แต่ขึ้นอยู่กับว่าถูกบังคับใช้อย่างถูกต้องและตรงไปตรงมาหรือไม่
กัลยกร กล่าวว่า หลังจากเหตุการณ์นี้ผู้บริโภคอาจจะมีความตระหนักรู้และระมัดระวังในการเลือกซื้อสินค้ามากขึ้น และแนะนำว่าหากมีคนชักชวนให้ทำธุรกิจ ผู้บริโภคควรจะตรวจสอบที่มาของเงินจากการธุรกิจนั้นๆ และหาข้อมูลให้รอบด้านก่อนตัดสินใจลงทุน