Art & CultureArticlesWritings

เรื่องราวของผีที่มีมากกว่าความน่ากลัวโดย ‘Mike Flanagan’

เรื่องและภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์

กิจกรรมของชาวตะวันตกส่วนใหญ่ในช่วงเทศกาลฮาโลวีนก็คงหนีไม่พ้นการแต่งหน้าแต่งตัวเป็นผี ไปยืนเคาะประตูหน้าบ้านคนอื่น พร้อมตะโกนคำว่า Trick or Treat! เพื่อขอขนมหวานแสนอร่อย

แต่นี่คือประเทศไทย ดินแดนแห่งเวทมนตร์ หากเดินไปเคาะประตูบ้านคนอื่นยามค่ำคืนก็คงจะได้ไปเล่นกับตำรวจ ไม่ก็เจ้าที่แทน ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ก็มีเพียงแค่การดูหนังมาราธอนจนถึงเช้าวันรุ่งขึ้น

ถ้าให้เลือกหนังที่จะดูในคืนฮาโลวีน บางคนคงเลือกที่จะดูหนังสยองขวัญคลาสสิกอย่างตระกูล The Conjouring บางคนคงเลือกที่จะดูหนังแนวเลือดสาด (slasher) ที่มีฆาตกรตามไล่ล่าตัวละครทีละคน ทว่ายังมีหนังสยองขวัญอีกแนวหนึ่งที่ไม่ค่อยมีใครนึกถึงก็คือ ‘หนังสยองขวัญดราม่า’ 

ถึงแม้หลายคนอาจไม่คุ้นเคยกับสื่อบันเทิงแนวนี้เท่าไหร่ แต่ถ้าหากพูดถึงผู้กำกับอย่าง ‘ไมค์ ฟลานาแกน (Mike Flanagan)’ กับผลงานซีรีส์อย่าง ‘The Haunting of Hill House (2018)’ แล้ว เชื่อว่าอาจจะร้องอ๋ออยู่ในใจก็เป็นได้ เพราะซีรีส์เรื่องดังกล่าวเป็นผลงานที่ได้รับคำวิจารณ์ในเชิงบวก อีกทั้งยังคงตราตรึงอยู่ในใจคนดูจำนวนมาก

จุดเด่นของฟลานาแกนคือการสร้างสรรค์ความสยองขวัญให้เข้ากับประเด็นที่เป็นเรื่องทั่วไปของมนุษย์ อย่างความรัก ความโลภ ครอบครัว และความเชื่อ กล่าวคือผลงานของฟลานาแกนไม่ได้ใช้แค่ความสยองขวัญเป็นจุดเด่นหลักในการนำเสนอ แต่เขายังแฝงประเด็นรอง(secondary subject) เพื่อให้คนดูเกิดอารมณ์ร่วมจนจมปลักอยู่กับความรู้สึกเหล่านั้นเป็นเดือนๆ แม้จะดูซีรีส์จบแล้วก็ตาม 

กล่าวได้ว่าเรื่องผีและความตายของฟลานาแกนนั้นมีที่มาที่ไป มีเหตุผล มีเจตนาและซับซ้อนไม่ต่างอะไรจากมนุษย์

.

The Haunting of Hill House (2018)
ครอบครัวไม่มีวันแยกจาก

I learned a secret. There’s no without. I am not gone. I’m scattered into so many pieces, sprinkled on your life… like new snow. There’s so much I want to say to you all” 

“ฉันรู้ความลับบางอย่างมา มันไม่มีคำว่าจากไปหรอกนะ ฉันไม่ได้จากไป ฉันแค่สลายเป็นส่วนเล็กๆ โปรยปรายเข้ากับชีวิตพวกพี่เหมือนกับหิมะแรก ฉันมีเรื่องอยากเล่าให้ทุกคนฟังเยอะเลย” 

เนลลี่ผู้เป็นน้องเล็กกล่าวกับเหล่าพี่ๆ ยามที่พวกเขามาตามหาเธอ ณ ฮิลเฮาส์

The Haunting of Hill House คือเรื่องราวของครอบครัวเครน (Crain) มีผู้เป็นพ่อคือฮิวจ์ (Hugh) แม่คือโอลิเวีย (Olivia) และลูกๆ 5 คน ได้แก่ สตีเว่น (Steven), เชอร์ลีย์ (Shirley), ธีโอ (Theo), และฝาแฝดอย่าง ลูค (Luke) กับเนลลี่ (Nellie)

ต้นฉบับของซีรีส์เรื่องนี้มาจากนวนิยายสยองขวัญของเชอร์ลีย์ แจ็คสัน (Shirley Jackson) ที่ตีพิมพ์ในปี 1959 ถึงแม้ผู้กำกับได้ดัดแปลงและเขียนบทใหม่ แต่สิ่งที่ยังคงอยู่คือบรรยากาศสุดแสนน่ากลัวจากความเก่าแก่ของตัวบ้าน ซึ่งทำให้คนดูรับรู้ได้ทันทีว่า ผู้ที่อาศัยอยู่บ้านหลังนี้นั้นไม่ได้มีแค่ครอบครัวเครนแน่ๆ 

มันเป็นอย่างที่คนดูคิด เพราะเหล่าลูกๆ ทุกคนของครอบครัวนี้มักจะเห็นอะไรแปลกๆ อย่างลูคที่เห็นเด็กผู้หญิงชื่ออบิเกล หรือเนลลี่ที่เห็นภาพผู้หญิงผูกคอตาย โดยจุดเปลี่ยนสำคัญของเรื่องคือในช่วงกลางดึกของวันหนึ่ง ฮิวจ์ได้ปลุกลูกๆ และรีบพาหนีออกจากบ้าน แต่โอลิเวียผู้เป็นแม่กลับไม่สามารถออกมาด้วยได้

*เนื้อหาต่อไปนี้มีการสปอยล์*

เหตุการณ์ในวันนั้นเป็นชนวนความสงสัยให้คนดูได้ติดตามว่าเกิดอะไรขึ้นกันแน่ โดยผู้กำกับใช้การเล่าเรื่องตัดสลับระหว่างปี 1992 ที่เหล่าลูกๆ ยังเป็นเด็ก กับปี 2018 ที่ทุกคนเติบโตและแยกย้ายกันไปใช้ชีวิต 

เนลลี่ผู้เป็นน้องเล็กที่จิตใจดีและอ่อนต่อโลกดูเหมือนจะเป็นคนที่มีอะไรเชื่อมโยงกับฮิลเฮาส์มากที่สุด เพราะเนลลี่มักจะเห็นภาพหลอน เห็นสิ่งที่ไม่อยากเห็น และเห็นภาพหญิงสาวผูกคอตายอยู่เป็นประจำแม้ว่าเธอจะหนีออกมาจากฮิลเฮาส์แล้วก็ตาม

เนลลี่ได้กลับไปที่ฮิลเฮาส์ แต่ก็ไม่ได้กลับออกมาอีก บวกกับเมื่อสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆ เริ่มเจอเหตุการณ์แปลกๆ ทั้งฮิวจ์และลูกๆ ที่เหลือจึงกลับไปที่ฮิลเฮาส์อีกครั้งเพื่อตามหาเนลลี่ แต่ก็ต้องพบกับความน่าสลด คือเนลลี่ได้ฆ่าตัวตายไปแล้ว โดยผีหญิงสาวผูกคอตายที่เนลลี่เห็นก็คือตัวเธอนั่นเอง

ในส่วนท้ายซีรีส์ได้ทำให้เราเห็นว่าฮิลเฮาส์นั้นเต็มไปด้วยประวัติมากมายอย่าง ‘ห้องแดง’ ในบ้านที่หลอกล่อให้ทุกคนเข้าไปอยู่ในนั้น ก่อนจะค่อยๆ กลืนกินสติสัมปชัญญะของพวกเขา จนกระทั่งลมหายใจเฮือกสุดท้ายโดนพรากไป 

ครอบครัวเครนทุกคนที่เหลือรอดอยู่ต้องหาทางออกจากบ้านหลังนี้ ในขณะเดียวกันคนที่จากไปแล้วอย่างโอลิเวีย ผู้เป็นแม่ที่หนีออกมาจากบ้านไม่ได้ตั้งแต่แรก และเนลลี่ก็พยายามหาทางช่วยเหลือคนอื่นๆ ด้วย 

สุดท้ายแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดและคอยพยุงให้ทุกคนผ่านเรื่องเลวร้ายทั้งหมด ก็คือความผูกพันธ์ของคนในครอบครัวที่อยู่เหนือเส้นระหว่างความเป็นและความตาย

.

The Haunting of Bly Manor (2020)
การถูกลืมเลือนน่ากลัวยิ่งกว่าความตาย

“All things fade. All things. Flesh, stone, even the stars themselves.
Time takes all things. It is the way of the world.”

“ทุกสิ่งย่อมเลือนหาย ทุกสิ่ง เลือดเนื้อ ก้อนหิน แม้แต่ดวงดาว เวลาจะพรากทุกอย่างไป มันเป็นวิถีของโลก”

เรื่องราวของ The Haunting of Bly Manor เริ่มต้นจาก เดนี่ (Dani) พี่เลี้ยงเด็กซึ่งรับหน้าที่ดูแลสองพี่น้องไมลส์ (Miles) และ ฟลอร่า (Flora) ที่คฤหาสน์บลายอันเก่าแก่ นอกจากเด็กๆ ทั้งสองแล้ว ผู้อาศัยในคฤหาสน์ยังมี แฮนนาห์ (Hannah) ผู้เป็นแม่บ้าน โอเว่น (Owen) พ่อครัวประจำบ้าน และ เจมี่ (Jamie) ผู้ดูแลสวน

การเริ่มต้นชีวิตใหม่ของเดนี่ในฐานะพี่เลี้ยง ณ คฤหาสน์อันใหญ่โตแห่งนี้ดูเหมือนจะไปได้ดี ทว่าจู่ๆ เด็กทั้งสองก็ทำตัวแปลกไป ไมลส์เริ่มพูดจาดูเป็นผู้ใหญ่เกินวัย ฟลอร่ามักจะละเมอเดินออกจากห้องตอนกลางคืน ไหนจะรอยโคลนปริศนาที่มักจะเปื้อนตามพื้นยามค่ำคืน อีกทั้งยังมีเหตุการณ์ที่พี่เลี้ยงคนก่อนหน้าฆ่าตัวตายในทะเลสาบใกล้คฤหาสน์แห่งนี้

ด้วยความที่ตัวหนังเน้นขายสภาพแวดล้อมคฤหาสน์อันโบราณ มีการใช้ประโยชน์จากความเก่าแก่ของสถานที่มาเป็นส่วนประกอบหลักของการเล่าเรื่อง คนดูจึงได้เห็นบรรยากาศโดยรวมที่มักมีอารมณ์โศกเศร้าอึมครึมปนอยู่ด้วยเสมอ และตามสไตล์ของไมค์ ฟลานาแกน หนังจะใช้บรรยากาศความหลอนนี้หลอกล่อให้เรากดเข้าไปดูด้วยการบอกว่าเป็นหนังผี แต่เมื่อดูจบเรากลับพบว่านี่คือหนังดราม่าชวนเสียน้ำตา

*เนื้อหาต่อไปนี้มีการสปอยล์*

คฤหาสน์บลายอันเก่าแก่แห่งนี้เคยมีผู้อยู่อาศัยมามากมาย หนึ่งในนั้นคือสองพี่น้องตระกูลลอยด์ โดยมีไวโอลา (Viola) ผู้เป็นพี่ และเพอร์ดิตา (Perdita) ผู้เป็นน้องสาว ด้วยความที่ทั้งสองเป็นหญิงในยุคที่สตรียังไม่มีสิทธิ์มีเสียงนัก ไวโอลาจึงต้องแต่งงานกับญาติห่างๆ และมีลูกด้วยกันเพื่อรักษาคฤหาสน์แห่งนี้ไว้ เคราะห์ร้ายที่เธอป่วยเป็นวัณโรคจึงไม่สามารถใช้ชีวิตกับสามี ลูกสาว และเพอร์ดิตาได้ ทุกวันคืนไวโอลาต้องนอนรักษาตัวอย่างโดดเดี่ยวและรอคอยการรักษาที่ดูไม่มีทีท่าว่าจะช่วยได้ 

ในยามค่ำคืนที่คนอื่นหลับใหลเธอมักจะตื่นขึ้น เดินไปทั่วคฤหาสน์เพียงเพื่อให้ไม่อับเฉาในห้องเพียงคนเดียว และสุดท้ายก็กลับไปที่เตียงอันว่างเปล่า วนเวียนอยู่อย่างนี้เรื่อยไป 

“She would wake, she would walk, she would sleep”

ไม่มีใครคิดว่าไวโอลาจะอยู่ได้นาน แต่ผิดคาดที่เธอยังคงมีชีวิตอยู่ในสภาพไม่สู้ดีนัก วันหนึ่งเมื่อสามีเธอออกไปค้าขายต่างเมือง อาจจะด้วยความแค้นที่ไวโอลาเคยทำร้ายจิตใจ หรือความอิจฉาที่มีต่อพี่สาว เพอร์ดิตาผู้รับหน้าที่ดูแลไวโอลาจึงได้ฆ่าพี่สาวตนเอง และแต่งงานกับสามีไวโอลา

สิ่งที่แข็งแกร่งยิ่งกว่าร่างกายของไวโอลาคือความทรงจำต่อสามีกับลูกและความแค้นต่อน้องสาวของตน เธอมักจะตื่น เธอมักจะเดินไปยังเตียงที่เคยเคียงคู่กับสามีและลูก จากนั้นเธอก็มักจะกลับไปยังเตียงอันว่างเปล่าที่เคยนอนรักษาตัว วนเวียนอยู่อย่างนี้ในทุกๆ วัน แม้ว่าเธอได้ตายไปแล้วก็ตาม

“She would wake, she would walk, she would sleep”

ไวโอลาฆ่าน้องสาวของตน ทำให้สามีและลูกของเธอที่เชื่อในเรื่องลี้ลับนำหีบบรรจุสิ่งของซึ่งเป็นพื้นที่เก็บความทรงจำของไวโอลา ไปทิ้งที่ทะเลสาบใกล้คฤหาสน์ ก่อนจะย้ายไปอยู่ที่อื่นเพื่อตัดขาดจากเรื่องทั้งหมด 

แม้กาลเวลาที่ผ่านพ้นไปจะลบเลือนตัวตนของไวโอลาจนเธอแทบจะไม่หลงเหลือสิ่งใด กระทั่งเศษเสี้ยวความทรงจำของเธอยังถูกตัดขาดทิ้งอยู่ใต้ทะเลสาบ แต่สิ่งที่ยังคงอยู่ก็คือความโกรธและความทรงจำที่มีต่อลูกสาว ซึ่งเปรียบเสมือนแรงขับเคลื่อนเจตนารมณ์อันแรงกล้าของเธอ 

ในทุกค่ำคืนไวโอลาจะตื่น เธอจะเดินขึ้นจากทะเลสาบเพื่อไปยังคฤหาสน์ซึ่งเป็นพื้นที่แห่งความทรงจำของเธอกับครอบครัว และเธอก็จะกลับมาหลับใหลยังก้นบึ้งทะเลสาบวนเวียนอยู่อย่างนี้เรื่อยไป ผู้ที่ขวางทางเธอมักจะถูกเธอฆ่า ทำให้คฤหาสน์นี้ตกอยู่ภายใต้คำสาป และเป็นศูนย์กลางแรงโน้มถ่วงแห่งความตายที่ไม่ว่าใครเข้ามาก็มักจะมีจุดจบเช่นเดียวกัน

“She would wake, she would walk, she would sleep”

แรงโน้มถ่วงที่ไวโอลาสร้างขึ้นนั้นส่งผลมาจนถึงปัจจุบัน ไมลส์ที่มักจะทำตัวแปลก ฟลอร่าที่มักจะเดินละเมอ รอยโคลนที่เปื้อนตามพื้น หรือแม้กระทั่งการตายของพี่เลี้ยงคนก่อนหน้า ซีรีส์ทำให้เราเห็นว่า แม้กระทั่งสิ่งที่ถูกเรียกว่า ‘ผี’ ก็แทบจะไม่ต่างอะไรจากมนุษย์ อย่างไวโอลาเอง ก็มีความรัก มีความโกรธ และมีความทรงจำที่คอยขับเคลื่อนทุกอย่างต่อไป ถึงสรรพสิ่งในโลกจะถูกฝังกลบด้วยสิ่งที่เรียกว่าเวลา แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงยืนตระหง่านท้าสายลมแห่งกาลเวลาก็คือความทรงจำ

.

Midnight Mass (2021)
ชีวิตคืออะไร?

“What happens when we die?” 

“ตายแล้วไปไหน?”

บทสนทนาอันเรียบง่ายระหว่างไรลีย์ ฟลินน์และเอริน กรีน

Midnight Mass เป็นมินิซีรีส์ 7 ตอน ว่าด้วยเรื่องราวของชาวเมืองบนเกาะสมมติเล็กๆ ไกลปืนเที่ยง ที่มีประชากรไม่ถึง 150 คน ชื่อเกาะคร็อกเก็ตต์ (Crockett Island) สิ่งหนึ่งที่ผู้คนในเมืองมีร่วมกันคือศรัทธาต่อศาสนาคริสต์อันแรงกล้า…มากเสียจนไม่มีพื้นที่ให้ความเชื่ออื่น

สังคมบนเกาะแห่งนี้เป็นสังคมที่มีค่านิยมในทางเดียว (collectivism) ทำให้ไม่ค่อยมีพื้นที่สำหรับคนเห็นต่างเท่าไหร่นัก ถึงแม้จะมีตัวละครอย่างนายอำเภอฮัสซัน (Hassan) และลูกชายที่เป็นมุสลิม หรือตัวละครหลักอย่างไรลีย์ ฟลินน์ (Riley Flynn) ผู้ที่เคยทำตัวเหลวแหลกเสมือนตัวแทนของคนนอกศาสนา (Atheist) แต่ท้ายที่สุดสิ่งที่ยังยึดเหนี่ยวผู้คนก็คือศาสนาคริสต์ จึงทำให้คนของโบสถ์อย่างเบฟ คีน (Bev Keane) นั้นมีอำนาจพอที่จะกีดกันคนที่มีความเห็นต่างจากเธอ

*เนื้อหาต่อไปนี้มีการสปอยล์*

จุดเริ่มต้นสำคัญคือการเข้ามาของบาทหลวงคนใหม่ ซึ่งนำมาสู่เหตุการณ์ที่แปลกประหลาดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นซากศพแมวที่รายเรียงเกลื่อนเต็มชายหาด เด็กหญิงพิการที่กลับมาเดินได้ และหญิงวัยชราที่กลับมาเยาว์วัย 

หากนิยามตามความเข้าใจของคนทั่วไป สิ่งที่บาทหลวงได้นำเข้ามาในเกาะนั้นคงจะเรียกได้ว่าเป็น ‘แวมไพร์’ อย่างไรก็ดี ในเนื้อหาของซีรีส์กลับไม่ได้เรียกสิ่งนั้นว่าแวมไพร์อย่างชัดเจน หากแต่ถูกตีความด้วยกรอบประสบการณ์ของชาวบ้านในเกาะนั้นที่มีความผูกพันธ์กับศาสนาอย่างแยกไม่ได้ สิ่งที่คนทั่วไปคิดว่าเป็นแวมไพร์จึงถูกเรียกว่าเป็น ‘ทูตสวรรค์’ ที่มาโปรดเหล่าคนผู้เปี่ยมด้วยศรัทธา

บาทหลวงได้ใช้เลือดของทูตสวรรค์ผสมร่วมกับไวน์องุ่นเพื่อระลึกถึงโลหิตของพระเยซูและให้คนในเกาะดื่มเมื่อร่วมพิธีมิสซา แรกเริ่มที่ไม่มีใครล่วงรู้ความลับนี้ คนในหมู่บ้านต่างมองว่าเหตุการณ์ที่เด็กสาวพิการกลับมาเดินได้จากการดื่มไวน์องุ่นนั้นเป็น ‘ปาฏิหาริย์’ จากพระผู้เป็นเจ้า

ปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่ายิ่งเป็นการเพิ่มพลังแห่งความศรัทธาให้กับผู้คนบนเกาะ หลังจากนั้นเหล่าผู้ศรัทธาเริ่มต้นตามหาชีวิตที่เป็นอมตะ ก่อนจะพบว่าการสละชีวิตเพื่อเกิดใหม่คือหนทางสู่ชีวิตอันเป็นนิรันดร์ โดยการฆ่าตัวตายแล้วดื่มเลือดของทูตสวรรค์เพื่อฟื้นคืนชีพ 

ในทางกลับกัน ผู้ที่นิยามตนว่าไร้ศาสนา ศาสนิกชนต่างศาสนา (มุสลิม) หรือคนที่เชื่อในเหตุผลเชิงประจักษ์อย่างวิทยาศาสตร์ ก็ต่อต้านความศรัทธาในคริสต์ศาสนา และมองว่าการฆ่าตัวตายเพื่อเกิดใหม่ไม่ใช่หนทางสู่ชีวิตนิรันดร์ ทว่าคนกลุ่มนี้ก็ยังคงเป็นส่วนน้อยในสังคม กอปรกับผู้นำความคิดที่มีอิทธิพลต่อชาวบ้านในเกาะแห่งนี้ที่เป็นคนของศาสนา จึงเกิดเป็นความเกลียดชังต่อคนที่เห็นต่าง

“The man who acts presumptuously by not obeying the priest who stands to minister there before the lord, your God, that man shall die” 

“ผู้ใดที่ดูหมิ่นโดยไม่เชื่อฟังบาทหลวงซึ่งอยู่เบื้องหน้าคอยดูแลพระยาห์เวห์ พระเจ้าของเจ้า ผู้นั้นควรตาย” เบฟ คีนกล่าว

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าคริสตชนทุกคนจะเป็นเหมือนเบฟ คีนไปเสียหมด ดังเช่นแอนนี่ ฟลินน์ (Annie Flynn) มารดาของไรลีย์ ฟลินน์ ผู้กล่าวกับเบฟว่า

“God loves him. Just as much as he loves you, Bev. Why does that upset you so much?” 

“พระเจ้าก็รักเขาพอๆ กับที่พระเจ้ารักคุณนั่นแหละเบฟ ทำไมคุณถึงไม่พอใจนัก”

แต่ท้ายที่สุด ก็ไม่มีใครช่วยยับยั้งศรัทธาอันแรงกล้าของคนในศาสนาและความพยายามในการครอบงำผู้ไร้ศรัทธาได้ โศกนาฏกรรมบนเกาะคร็อกเก็ตแห่งนี้จึง นำไปสู่จุดจบที่นับได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของสรรพสิ่ง เมื่อทุกคนได้ฟื้นคืนชีพหลังจากการดื่มเลือดของทูตสวรรค์ ไม่ว่าผู้นั้นจะดื่มด้วยความเต็มใจ หรือโดนครอบงำและจำใจต้องดื่มก็ตาม สุดท้ายแล้วทุกคนต้องยอมศิโรราบแก่แสงแดดและมอดไหม้ไปในยามรุ่งสาง

“Remember you are dust, and to dust you shall return.”

“พึงระลึกว่าลูกคือธุลีและธุลีย่อมหวนคืน”

.

สุดท้ายแล้วบทสนทนาอันทรงพลังระหว่างตัวละครหลักอย่างไรลีย์ ฟลินน์และเอริน กรีน (Erin Green) ในยามที่ความตายใกล้เข้ามาอย่าง “What happens when we die?” ชวนให้คนดูคิดไม่ตกหลังดูจบว่า หากเรามีความเชื่อต่างกัน เราจะไปยังที่เดียวกันหรือไม่ หากเราไม่มีศาสนาเมื่อตายแล้วเราจะไปที่ไหน หรือว่าทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นพระเจ้า อัลเลาะห์ จักรวาล ธรรมชาติ และดวงดาว ล้วนเป็นหนึ่งเดียวกัน

“You, me and my little girl, and my mother and my father, everyone who’s ever been, every plant, every animal, every atom, every star, every galaxy, all of it. More galaxies in the universe than grains of sand on the beach. And that’s what we’re talking about when we say ‘God.’ The one. The cosmos and its infinite dreams”

“ตัวคุณ ตัวฉัน ลูกสาวของฉัน พ่อแม่ของฉัน ทุกคนที่ดำรงอยู่ พืชทุกต้น สัตว์ทุกตัว อะตอมทุกอะตอม ดาวทุกดวง กาแล็กซีทุกแห่ง ซึ่งในจักรวาลนี้มีกาแล็กซีเยอะกว่าเม็ดทรายเสียอีก ทุกอย่างนั่นแหละคือสิ่งที่เรียกว่า ‘พระเจ้า’ พระองค์เพียงหนึ่งเดียว ดั่งห้วงจักรวาลแห่งความฝันอันไร้ที่สิ้นสุด”

นอกเหนือจากความสยองขวัญแล้ว ซีรีส์ทุกเรื่องของฟลานาแกนล้วนมีประเด็นอื่นให้เราคิดตามอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นความรัก ครอบครัว หรือความเชื่อ โดยซีรีส์ทั้ง 3 เรื่องนี้ทำให้คนดูอย่างเราเห็นว่า ‘ผี’ นั้นไม่ได้ต่างอะไรจากมนุษย์ หากมองข้ามหมวดหมู่หนังผีไป ก็เรียกได้ว่าเป็นหนังดราม่าที่แฝงด้วยปรัชญาชั้นดีนี่เอง 

ผลงานของฟลานาแกนจึงสะท้อนได้ว่า การสร้างผีที่มีลักษณะของความเป็นอื่นมักจะมีจุดประสงค์แค่กระตุ้นอารมณ์เพื่อให้คนตื่นเต้นหรือกลัวเพียงเท่านั้น แท้จริงแล้วสิ่งที่จะดึงคนดูและทำให้คน ‘อิน’ ได้ ก็คงจะเป็นการเล่าเรื่องของ ‘ผี’ ที่มีความเป็น ‘มนุษย์’ ธรรมดาทั่วไป ผู้ที่เต็มเปี่ยมทางด้านอารมณ์ ความรู้สึก และความนึกคิด แม้จะไม่มีกายหยาบแล้วก็ตาม

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
0
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0
Writings

เมื่อความตายพาให้กลับบ้าน: พิธีศพอีสานผ่านสายตาคนรุ่นใหม่

เรื่องและภาพประกอบ: ภัชราพรรณ ภูเงิน เสียงแจ้งเตือนข้อความดังขึ้นท่ามกลางความมืด ฉันหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาดู หน้าจอเรืองแสงบอกเวลา 05.22 น. ข้อความจากแม่ปรากฏขึ้นพร้อมประโยคสั้นๆ ที่ทำให้หัวใจหยุดเต้นไปชั่วขณะ ‘ยายเสียแล้วนะลูก’ เหมือนเวลาถูกหยุดไว้ ฉันรีบเก็บของใช้ที่จำเป็นก่อนออกเดินทางไปยัง อ.ห้วยเม็ก จ.กาฬสินธุ์ ...

Writings

จนกว่าเราจะพบกันอีก

เรื่อง : วีรนันท์ กมลแมน ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา มองวรรณกรรมเพื่อชีวิตไทยและการเปลี่ยนแปลงในสังคมไทยผ่านแนวคิดอัตถิภาวนิยม ศรีบูรพาแต่งเรื่องสั้น “จนกว่าเราจะพบกันอีก” ขึ้นราว ๆ ปี พ.ศ. ...

Writings

ศิลปินหญิงหายไปไหนจากหน้าประวัติศาสตร์

เรื่อง : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ ภาพประกอบ : ทยาภา เจียรวาปี ท่ามกลางหมู่คนชนผู้ดีฝรั่งเศสที่เดินกันขวักไขว่ในซาลอง (Salon) ‘Marianne’ จิตรกรหญิงในชุดเสื้อคลุมสีน้ำเงินเดินเข้าไปหากรอบรูปสีทองนับสิบตรงหน้า หนึ่งในนั้นคือภาพวาดของเธอ มาเรียนน์หยุดยืนแล้วหันหลังให้ภาพวาด ตอนนี้เธอเป็นเหมือนผู้รักษาความปลอดภัยที่คอยสังเกตการณ์สิ่งต่างๆ ...

Articles

 I’m cringe but I’m free สะเหล่อแล้วไง ไม่แคร์แล้วกัน

เรื่อง : ศิรประภา จารุจิตร ภาพประกอบ : ทยาภา เจียรวาปี “โอ้ยยย ทำไมตอนนั้นสะเหล่อจัง” ความคิดที่โผล่เข้ามาในหัวขณะที่ล้มตัวลงนอนหลับตาเตรียมฝันดี แต่สมองไม่รักดีกลับขุดภาพความทรงจำอันน่าอับอายขึ้นมาฉาย ไม่ว่าจะเป็นตอนที่เล่นมุกแล้วคนทั้งห้องกริบ ทักคนผิดเพราะนึกว่าเป็นเพื่อนตัวเอง ส่งข้อความหาคนที่ชอบเขาอ่านแต่ไม่ตอบ ...

Features

เคยได้ยินเรื่องราวจากสายส่งหนังสือไหม?

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย สายส่ง น. ผู้ดำเนินกิจการเป็นตัวแทนในการส่งหนังสือหรือสินค้าอื่นให้แก่ผู้รับ. เคยได้ยินชื่ออาชีพสายส่งไหม? ฉันรู้ว่านักเขียนเป็นผู้สร้างสรรค์เรื่องราวในหนังสือ ฉันรู้ว่าสำนักพิมพ์เป็นผู้นำเรื่องราวจากนักเขียนมาผลิตหนังสือ และรู้ว่าร้านหนังสือเป็นผู้ส่งหนังสือมาให้ถึงมือเหล่าคนอ่าน แต่ฉันกลับไม่รู้เลยว่าสายส่งคืออะไร… จนกระทั่งเมื่อฉันมีโอกาสทำความรู้จักกับคุณน้าคนหนึ่ง ผู้เป็นนักเขียนและบรรณาธิการอยู่ในวงการหนังสือมาอย่างยาวนาน ...

Articles

มองความตายผ่านเลนส์กล้อง ใน ‘ลาก่อน เอริ’

เรื่องและภาพประภาพ: สิทธิเดช สายพัทลุง Spoiler Alert: บทความชิ้นนี้มีการสปอยล์เนื้อหาของ ‘ลาก่อน เอริ’ หรือ ‘Goodbye Eri’ ‘ภาพยนตร์’ สื่อบันเทิงภาพเคลื่อนไหวที่สามารถเล่าเรื่องราวได้หลากหลายรูปแบบ ทั้งเรื่องราวความสุขจนต้องยิ้มตาม หรือเรื่องราวการจากลาที่ทำให้กลั้นน้ำตาแทบไม่ไหว ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งเรื่องจริงและเรื่องแต่ง ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save