FeaturesLifestyleSocietyWritings

วิธีทำลายคำสาปร้านหนังสือ

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์

ภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์

ร้านหนังสือ ในที่นี้หมายถึง ร้านหนังสืออิสระที่มีอยู่ประปรายในประเทศไทย ไม่ว่าจะในรูปแบบของออฟไลน์หรือออนไลน์ โดยไม่รวมร้านหนังสือในเครือขนาดใหญ่ที่มักเปิดอยู่ในห้างสรรพสินค้า (Chain store)

ร้านหนังสือคือสถานที่อันเต็มเปี่ยมด้วยมนตร์ขลังและจินตนาการ 

ยามใดที่ก้าวเท้าเข้าไปในเขตแดนของร้านหนังสือแล้ว ใครหลายคนอาจรู้สึกได้ถึงมวลพลังบางอย่างที่แผ่ออกมาจากหนังสือแต่ละเล่มบนชั้นวาง และเมื่อรวมเข้ากับบรรยากาศแห่งการอ่าน ทั้งเสียงพลิกหน้าหนังสือไปมา กลิ่นกระดาษอันเป็นเอกลักษณ์ หรือสัมผัสอันอบอุ่นใจยามได้ถือหนังสือสักเล่มไว้ในมือ…คงเป็นความรู้สึกที่หาสิ่งอื่นใดมาทดแทนไม่ได้

หรือแม้กระทั่งร้านหนังสืออิสระในรูปแบบออนไลน์เอง ก็ยังสามารถถ่ายทอดมนตร์วิเศษจากหนังสือมาถึงผู้อ่านผ่านทางรูปภาพ การออกแบบร้าน หรือกลวิธีการขายได้ไม่ต่างจากร้านหนังสือที่มีหน้าร้านเลย

แต่น่าแปลกเหลือเกินที่ร้านหนังสือในประเทศไทยนั้นร่อยหรอลงทุกที คล้ายกับว่าสถานที่ต้องมนตร์เหล่านี้กำลังหลบซ่อนตัว เป็นดั่งโลกอีกใบที่อยู่ห่างไกลจากผู้คน

เป็นไปได้ไหมว่า ร้านหนังสือกำลังตกอยู่ภายใต้คำสาป…

หากเป็นเช่นนั้นจริง เราอาจต้องเดินทางเข้าไปในโลกของธุรกิจร้านหนังสือเพื่อค้นหาวิธีทำลายคำสาปนั้น ผ่านมุมมองของร้านหนังสือที่ยังคงดำเนินธุรกิจอยู่ในปัจจุบัน ว่าพวกเขาเอาตัวรอดจากความโหดร้ายของธุรกิจนี้ได้อย่างไร

.

วิธีที่ 1 ทำลายคำสาปด้วย ‘ความโชคดี’
เป็นวิธีที่ดีที่สุด เพราะทุกอย่างจะง่ายขึ้นทันตาเห็น

‘โก้ ธีระพล วานิชชัง’ เจ้าของร้านหนังสือ ‘dot.b’ จังหวัดสงขลา เป็นตัวอย่างของ ‘คนโชคดี’ ที่ชัดเจนที่สุด เพราะนับตั้งแต่จุดเริ่มต้นในการเปิดร้าน การจัดการภาระค่าใช้จ่าย หรือแม้กระทั่งสถานที่ตั้งของร้าน ทุกอย่างล้วนเป็นใจให้เขาก่อร่างสร้าง dot.b ขึ้นมาได้อย่างไม่ติดขัดมากนัก

1.1 โชคดีจากผู้อื่น : ใช้ทำลายคำสาปแห่งการเริ่มต้น

คุณโก้เริ่มต้นเข้ามาในวงการหนังสือผ่านการรู้จัก ‘เอ๋ อริยา ไพฑูรย์’ ผู้เป็นเจ้าของ ‘ร้านหนังสือเล็กๆ’ ร้านหนังสือแห่งหนึ่งในจังหวัดสงขลา โดยในขณะนั้นคุณโก้เปิดร้านกาแฟชื่อ ‘dot’ และมีโอกาสได้เข้าไปช่วยคุณเอ๋ขายหนังสืออยู่บ้าง

“เราแค่เข้าไปเป็นกึ่งๆ พนักงานช่วยเขาเปิดร้าน เฝ้าร้านนิดหน่อย เหมือนได้ทำอาชีพในฝันที่อยากเปิดร้านหนังสือ ถึงจะไม่ใช่ร้านของตัวเอง แต่มันก็คือการได้นั่งเฝ้าร้านหนังสือเหมือนกัน” คุณโก้เล่าด้วยท่าทางสบายๆ 

ผ่านไปสักพัก คุณเอ๋ตัดสินใจย้ายร้านหนังสือเล็กๆ ไปที่จังหวัดเชียงใหม่ด้วยเหตุผลส่วนตัว 

“ตอนแรกพี่เอ๋เสนอว่าจะเอาร้านไปทำต่อเลยไหม แต่เราเห็นว่าถึงร้านกาแฟเรากับร้านหนังสือเขาจะอยู่ใกล้กันก็จริง แต่มันดูแลยาก เราแยกร่างไม่ได้” คุณโก้หัวเราะด้วยน้ำเสียงสดใส “ทีนี้มาเห็นว่าร้านกาแฟเรามีพื้นที่กว้างอยู่ คงพอทำร้านหนังสือเพิ่มได้”

ภาพประกอบจาก : Facebook dot.b

ร้าน dot.b จึงถือกำเนิดขึ้นมาโดยได้รับความช่วยเหลือจากคุณเอ๋ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องช่วยติดต่อสายส่ง (ผู้ที่สต็อกหนังสือจากสำนักพิมพ์หลายๆ เจ้า) ให้คุณโก้สามารถสั่งซื้อหนังสือจากมาเข้าร้านได้โดยมีเครดิตทางธุรกิจตั้งแต่เริ่ม รวมถึงยกหนังสือส่วนหนึ่งของร้านให้ไว้เป็นสต็อกของทางร้าน dot.b เลย

“เราโชคดีส่วนหนึ่งที่ได้สต็อกหนังสือจากพี่เอ๋มาด้วย เลยไม่จำเป็นต้องใช้เงินส่วนใหญ่ไปกับการซื้อสต็อกหนังสือตั้งแต่แรก ถ้าไม่ได้หนังสือจากพี่เอ๋มาช่วย ด้วยเงินทุนตอนเปิดร้านของเรา จะทำให้หนังสือดูน้อยมาก ลูกค้าเข้าร้านมาก็จะเห็นว่าหนังสือมีไม่เยอะ” คุณโก้อธิบายก่อนจะปิดท้ายด้วยคำพูดติดตลกว่า “พื้นที่ร้านไม่ได้กว้าง แต่เราดันทำชั้นหนังสือไว้ค่อนข้างใหญ่ ถ้าหนังสือมีน้อยมันจะดู…โล่งๆ”

– คำสาปแห่งการเริ่มต้น : ถูกทำลาย –

ถ้าไม่มีร้านหนังสือเล็กๆ ของคุณเอ๋จะกล้าลงมือทำร้าน dot.b ไหม

“น่าจะยาก” คุณโก้ตอบทันที “เพราะเราไม่มีวิธีการ ไม่มีความรู้ ไม่รู้ว่าต้องติดต่อใครบ้าง ใช้คำว่าน่าจะยาก การมีคอนเนคชันมันทำให้ง่ายขึ้น ไม่ยุ่งยาก”

1.2 โชคดีเรื่องค่าใช้จ่าย : ใช้สำหรับทำลายคำสาปด้านต้นทุน

“เรารู้ตลาด รู้สภาพธุรกิจ รู้ว่าค่าใช้จ่ายหนักๆ ของธุรกิจนี้คือพวกค่าเช่าสถานที่ หรือ fixed cost ต่างๆ” คุณโก้อธิบายให้ฟังว่า fixed cost หรือต้นทุนคงที่ คือต้นทุนที่ไม่เปลี่ยนแปลงตามจำนวนสินค้า หากอิงจากธุรกิจร้านหนังสือโดยส่วนใหญ่ fixed cost เป็นค่าใช้จ่ายที่สูง ไม่ว่าจะเป็นค่าเช่าสถานที่เปิดร้าน หรือค่าจ้างพนักงานในกรณีที่ร้านมีขนาดใหญ่

ภาพประกอบจาก : Facebook dot.b

“โชคดีที่ร้านเรา fixed cost ต่ำ เราเลยไม่ต้องพยายามทำยอดขายสูงเพื่อจ่าย fixed cost มาก ตอนนี้ค่าสถานที่เราเหมือนหารสอง” คุณโก้เล่าถึงความโชคดีของตนเองว่าร้านกาแฟ dot และร้านหนังสือ dot.b ใช้อาคารร่วมกันเพียงแต่แบ่งแยกพื้นที่ชัดเจน ดังนั้นจึงกลายเป็นข้อดีที่ว่ารับรายได้มาจากสอง แต่จ่ายค่าสถานที่เพียงก้อนเดียว

ถ้าเปิดร้านหนังสือเพียงอย่างเดียว ไม่มีร้านกาแฟ?

“ยาก!” คุณโก้ตะโกนคำตอบออกมาก่อนที่คำถามจะจบลงเสียด้วยซ้ำ “ถ้าสมมติไปเปิดร้าน stand alone หรือทำร้านหนังสือเล็กๆ ของพี่เอ๋ต่อ อาจจะต้องคิดหนักกว่านี้ เราต้องมาคำนวณใหม่ เพราะต้องจ่ายค่าเช่าที่เพิ่ม จ่ายค่าคนดูแลเพิ่ม แต่อย่างร้านตอนนี้ เราออกแบบให้ตัวเองสามารถจัดการคนเดียวได้ ดูได้ทั้งร้านกาแฟและร้านหนังสือ ไม่ต้องมีพนักงานเพิ่ม ค่าเช่าก็ไม่เพิ่ม fixed cost ก็ไม่เพิ่ม”

– คำสาปด้านต้นทุน : ถูกทำลาย –

คุณโก้กล่าวว่าเขาไม่เคยคาดหวังกำไรจากการทำร้าน dot.b เลยสักนิด ขอเพียงแค่ร้านหนังสือแห่งนี้สามารถอยู่รอดได้ด้วยตัวของมันเอง เพราะเขารู้ดีว่าธุรกิจนี้ทำกำไรได้น้อยมากจริงๆ

ภาพประกอบจาก : Facebook dot.b

“พอกำไรมันน้อย ก็อยู่กันลำบาก” คุณโก้เล่าถึงความยากลำบากของการทำร้านหนังสือ “คือถ้าแบ่งสัดส่วนจริงๆ เราได้กำไรจากการขายหนังสือแค่ 20-25% จากราคาขาย คือขายหนังสือ 100 บาท จะได้แค่ 20-25 บาทต่อเล่ม” 

ที่เป็นเช่นนี้เพราะระบบการขายหนังสือผ่านสายส่งโดยส่วนใหญ่กำหนดไว้ว่า ร้านหนังสือจะได้รับเงิน 25% จากการขายหนังสือ โดยคุณโก้ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า หากใน 1 เดือน ร้าน dot.b ขายหนังสือได้เงิน 10,000 บาท เมื่อสิ้นเดือนทางสายส่งจะมาเรียกคืนส่วนแบ่งจากการขายหนังสือ โดยร้านจะได้ 2,500 บาท ส่วนอีก 7,500 บาทจะถูกคืนให้กับทางสายส่ง เปรียบเสมือนเป็นต้นทุนการสั่งซื้อหนังสือเข้าร้านนั่นเอง

1.3 โชคดีที่มีร้านเดียว : ใช้ทำลายคำสาปจากคู่แข่ง

“ถ้ามีร้านคู่แข่งมาเปิดแถวๆ เดียวกันอาจจะทำให้ลูกค้าเห็นว่าร้านเราก็ไม่ได้ดี” คุณโก้พูดพร้อมเสียงหัวเราะ “ที่ลูกค้าเข้าร้านมาตอนนี้ เขาก็คงมองว่ามีอยู่ร้านเดียวมั้ง” 

เมื่อถามถึงข้อดีของการเป็นร้านหนังสือในต่างจังหวัด คุณโก้มองว่า ที่ต่างจังหวัดมีคู่แข่งทางธุรกิจน้อย เพราะร้านหนังสือ chain store ตามห้างสรรพสินค้าก็ไม่ค่อยมี ลูกค้านักอ่านจึงไม่ได้มีทางเลือกมากนัก อย่างกรณีของ dot.b ที่มีลูกค้าจากจังหวัดสามชายแดนภาคใต้ขับรถขึ้นมาทเพื่อซื้อหนังสือกลับไปเช่นกัน แตกต่างจากกรุงเทพฯ หรือจังหวัดหัวเมืองอื่น เช่น ขอนแก่น หรือเชียงใหม่ที่มีร้านหนังสือค่อนข้างเยอะ ทำให้กลุ่มลูกค้ากระจายตัวกัน

ภาพประกอบจาก : Facebook dot.b

“เรามีฐานลูกค้ามาจากร้านกาแฟอยู่แล้วด้วย ก็เลยไม่ได้ยากมาก” คุณโก้เล่าให้ฟังถึงกลวิธีที่ร้าน dot.b มีชื่อเสียงขึ้นมาในพื้นที่สงขลา “แล้วตอนช่วงเปิดร้านเราได้รับการสนับสนุนจากหลายคน ทั้งพี่เอ๋ที่ช่วยโปรโมท เขาก็มีฐานลูกค้าของเขาอยู่แล้ว พี่ๆ น้องๆ ที่รู้จักกันก็ช่วยแนะนำด้วย”

– คำสาปจากคู่แข่ง : ถูกทำลาย –

แต่ถึงจะมีข้อดีอย่างไร คุณโก้ก็มองว่าการเป็นร้านหนังสือไร้ซึ่งคู่แข่งไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดี เขาอยากให้จังหวัดสงขลามีร้านหนังสือเยอะๆ เพื่อช่วยส่งเสริมการอ่านให้กับผู้คนมากกว่า พร้อมบอกว่าการจะทำร้านหนังสือต่างจังหวัดให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างนั้นยากมาก “คนต่างจังหวัดบางที่อาจจะรู้จักร้านหนังสือในกรุงเทพฯ มากกว่าในจังหวัดของตัวเองอีก เพราะว่าร้านหนังสือกรุงเทพฯ ได้พื้นที่การโปรโมทหรือถูกพูดถึงในสื่อเยอะ อย่างคอนเทนต์แนะนำร้านหนังสืออิสระ 5 ที่ อยู่ในกรุงเทพฯ ไปแล้ว 4 ที่ หรือถ้าไม่ใช่กรุงเทพฯ ก็เป็นหัวเมืองมากกว่าจังหวัดอื่นๆ”

ภาพประกอบจาก : Facebook dot.b

แม้ว่าจะใช้ ‘ความโชคดี’ ในการต่อสู้กับคำสาปที่จองจำธุรกิจร้านหนังสือได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ยังคงเป็นอุปสรรคสำหรับการประกอบกิจการร้านหนังสือ dot.b ก็คือการเข้ามาของการขายหนังสือออนไลน์ผ่านช่องทาง e-commerce โดยเฉพาะเมื่อสำนักพิมพ์หลายแห่งลงมาเป็น ‘ผู้ขาย’ หนังสือด้วยตัวเอง

“เราสู้ไม่ได้อยู่แล้ว เราแพ้ทุกทาง เพราะการขายทาง e-commerce เขาไม่ต้องมีหน้าร้าน ไม่มี fixed cost กำไรเขาได้เยอะกว่า บางที่ก็มีลดราคาหนังสือ 50% แล้วพอเราเห็นเขาลดราคา ก็คิดในใจว่า…มันถูกจังวะ! ถูกกว่าร้านผมอีก อยากจะซื้อมาขายต่อเลย (หัวเราะ)”
ทว่าสุดท้ายแล้วเขาก็มองโลกในแง่ดีว่า กลุ่มลูกค้าที่ซื้อทางออนไลน์เป็นคนละกลุ่มกันกับคนที่มาซื้อหนังสือจากร้านหนังสือ เพราะสำหรับนักอ่านบางคน ต่อให้มีร้านออนไลน์ ก็เลือกจะเดินเข้าร้านหนังสืออยู่ดี

“เราต้องพยายามดึงคนเข้าร้านหนังสือให้มากขึ้น มันเป็นสิ่งที่ร้านหนังสือพอจะทำได้ ไม่ว่าจะเป็นการจัดกิจกรรม book club หรือจัดร้านให้สวยๆ น่าเดินเข้ามา เพราะเราสู้เรื่องราคาไม่ได้จริงๆ การเรียกให้คนเข้าร้านหนังสือเพิ่มขึ้นน่าจะเป็นวิธีแก้ที่ยั่งยืนที่สุด”

– คำสาป e-commerce : ยังคงอยู่ –

คิดว่าสเน่ห์ของร้าน dot.b ที่ทำให้ลูกค้าเข้าร้านคืออะไร?

“ยากจัง” คุณโก้หัวเราะ เขานั่งคิดสักพักก่อนจะตอบว่า “แมวมั้ง… เพราะร้านเรามีแมวล่ะมั้งครับ”

โชคดีจริงๆ ที่มีแมว…

ภาพประกอบจาก : Facebook dot.b

วิธีที่ 2 ทำลายคำสาปด้วย ‘การดิ้นรน’
เป็นวิธีที่ไม่แนะนำ เพราะไม่รับประกันผล

อย่างที่กล่าวไปตั้งแต่แรกว่า ร้านหนังสือเป็นสถานที่ที่เต็มเปี่ยมด้วยเวทมนตร์ แต่ไม่ใช่ว่ามนตร์วิเศษเหล่านั้นจะปรากฏขึ้นมาด้วยตัวเองได้ อย่างน้อยก็กับร้านหนังสือกลางกรุงเทพฯ อย่าง ‘House of Commons’ หรือ ‘HOC’ ที่กว่าจะก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาได้นั้นไม่ง่ายเลย

2.1 ดิ้นรนหารายได้เสริม : ใช้ทำลายคำสาปขาดทุน

ทั้ง ‘เลิศ บุญเลิศ คณาธนสาร’ เจ้าของร้าน HOC และพี่ผู้หญิงเจ้าของร้านอีกคนซึ่งไม่ประสงค์จะแสดงตนต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ร้านคงอยู่ไม่ได้หากเป็นร้านของหนังสือเพียงอย่างเดียว

“อยู่ไม่ได้ตั้งแต่ 2 ปีแรกแล้ว” พี่ผู้หญิงเจ้าของร้านว่า “เรามีประเมินทุกเดือน ตอนนี้ติดลบตัวแดงกันมาหลายเดือนแล้ว ทำร้านกันมา 13 ปี ปีนี้เป็นปีแรกที่หุ้นส่วนไม่มีเงินปันผล ลองคิดดูสิว่าสถานการณ์ปัจจุบันมันย่ำแย่ขนาดไหน” 

House of Commons เป็นร้านหนังสือที่ทำธุรกิจมาเป็นยาวนาน แม้ในช่วงแรก เจ้าของร้านจะถอดใจจนอยากเลิกกิจการ แต่พอต่อสู้กัดฟันทำมาได้ 2-3 ปี ธุรกิจก็เริ่มมั่นคงขึ้น จนกระทั่งในช่วงปีที่ 7-8 ร้านเริ่มมีชื่อเสียงจากการจัดกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับหนังสือ พร้อมทั้งมีคนมาช่วยลงทุนเป็นหุ้นส่วนร้าน ทำให้พอจะมีเงินมาหมุนเวียนเพิ่มขึ้น

ทางคุณเลิศอธิบายเพิ่มว่า ในความจริงแล้ว เขาขอแค่ให้ร้านหนังสือ HOC สามารถเลี้ยงตัวเองได้และไม่ขาดทุน ส่วนจะได้กำไรหรือไม่ เขาไม่ได้สนใจมากนัก ทว่าในปัจจุบันร้านขาดทุน ต้องพึ่งพารายได้จากทางคาเฟ่ของร้าน และการปล่อยเช่าพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรม ร้านหนังสือจึงยังพอขับเคลื่อนต่อไปได้อยู่บ้าง

– คำสาปขาดทุน : ยังคงอยู่ –

“ที่ทำอยู่ทุกวันนี้ เราก็ไม่รู้ว่าจะอยู่ได้อีกนานแค่ไหนนะ” พี่ผู้หญิงเจ้าของร้านกล่าว “มันเหมือนว่าเราขึ้นหลังเสือมาแล้วลงลำบาก เราแค่คิดว่ากิจการของเราเป็นกิจการที่ดี ช่วยส่งเสริมสังคมในทางที่ดี มันเลยทำให้ยังพยายามอยู่ต่อไป”

2.2 ดิ้นรนเพื่อสร้างนักอ่านรุ่นใหม่ : ใช้ทำลายคำสาปปิดกั้นนักอ่านหน้าใหม่

เจ้าของร้านหนังสือทั้งสองต่างเชื่อมั่นว่า ธุรกิจร้านหนังสือเป็นธุรกิจที่ช่วยสร้างนักอ่านรุ่นใหม่ๆ อย่าง HOC ก็พยายามสร้างภาพลักษณ์หน้าร้านของตัวเองให้เป็นทั้งคาเฟ่และร้านหนังสือ โดยหวังว่าเมื่อลูกค้าเข้ามานั่งดื่มน้ำทานขนมแล้วมองเห็นว่ามีหนังสืออยู่เต็มร้าน ก็อาจจะเกิดความรู้สึกอยากหยิบขึ้นมาลองเปิดดูบ้าง

“พี่ว่านักอ่านรุ่นใหม่ก็มีเยอะอยู่เหมือนกัน” เธอเล่าจากประสบการณ์ที่พบเจอนักอ่านวัยมัธยม “เพียงแต่ข้อจำกัดมันเป็นเรื่องของวงเงินที่เขามี เดี๋ยวนี้เล่มหนึ่งก็ต้องมีสัก 300 แล้วถึงจะจ่ายได้ เด็กบางคนเขาไม่ได้มีเงินมากขนาดนั้น”

“เราออกแบบให้มีการจ่ายเงินสมัครสมาชิกร้านหนังสือรายปี ถ้าใครสมัครแล้วก็สามารถมายืมหนังสือของทางร้านไปอ่านที่บ้านได้เล่มละ 1 สัปดาห์ โดยวางเงินมัดจำไว้ล่วงหน้าตามราคาหนังสือก่อน ถ้าหากอ่านแล้วชอบอยากซื้อ ทางร้านก็จะลดราคาหนังสือเล่มนั้นให้ แต่ถ้าไม่ชอบก็เอาหนังสือมาคืน แล้วทางร้านจะคืนเงินมัดจำให้” เธอเล่าอย่างตั้งใจ

นอกจากนี้ HOC ยังมีกิจกรรม ‘Book Blind Date’ ที่ใครหลายคนอาจเคยได้ยิน ซึ่งคือการนำหนังสือมาห่อด้วยกระดาษอย่างใส่ใจ โดยบนซองกระดาษจะเขียนเรื่องย่อ หรือเขียนบอกเล่าความรู้สึกหลังจากได้อ่านหนังสือเล่มนั้นเอาไว้ หากลูกค้าคนใดไม่รู้ว่าตัวเองอยากอ่านหนังสือเล่มไหน ก็อาจทดลองซื้อหนังสือผ่าน ‘ระบบสุ่ม’ นี้แทน ซึ่งก็ช่วยสร้างความตื่นเต้นในการซื้อหนังสือได้มากกว่าเดิม

“พี่เลิศยังคิด ‘ปิ่นโตหนังสือ’ ขึ้นมาด้วยนะ ไว้สำหรับให้นักอ่านยืมหนังสือรายเดือน” พี่ผู้หญิงเจ้าของร้านเล่าว่าระบบปิ่นโตหนังสือนี้ นักอ่านจะสามารถจ่ายเงินรายเดือนสำหรับยืมหนังสือตามจำนวนเล่มที่กำหนดไว้

– คำสาปปิดกั้นนักอ่านหน้าใหม่ : ถูกทำลาย –

– คำสาปปิดกั้นนักอ่านหน้าใหม่ : ปรากฏขึ้นอีกครั้ง –

เวทมนตร์จากร้านหนังสือเพียงอย่างเดียวคงมีพลังไม่มากพอจะสร้างนักอ่านรุ่นใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตราบใดที่ธุรกิจอื่นๆ ในวงการหนังสือยังไม่ยื่นมือมาช่วยเหลือ ก็คงเป็นไปได้ยากถ้าจะหวังให้มีนักอ่านหน้าใหม่เกิดขึ้นในสังคมไทย

“เราอยากให้ธุรกิจที่มีบทบาทในวงการหนังสือตระหนักว่า พวกเขาต้องทำหน้าที่ส่งเสริมการอ่านด้วย” เจ้าของร้านฝ่ายหญิงพูดพลางถอนหายใจ “คือเราเข้าใจว่าเขามีความจำเป็นที่จะต้องอยู่รอด ต้องหารายได้เข้าธุรกิจตัวเอง แต่เขาก็ต้องรู้ว่า ถ้าหนังสือราคาแพงเกินไป มันก็เหมือนปิดโอกาสของคนส่วนหนึ่งในประเทศนี้ ซึ่งมีรายได้ต่ำมาก บางคนเขาเข้าไม่ถึง”

เธอเสริมอีกว่า ปัญหาด้านการอ่านที่น้อยลงเรื่อยๆ ควรยกขึ้นเป็นปัญหาระดับประเทศเสียด้วยซ้ำ การจะเจาะลึกถึงปัญหาดังกล่าวต้องมองภาพรวมขนาดใหญ่ เพราะในตอนนี้อุปสรรคของการอ่านหนังสือ ไม่ใช่เพียงเรื่องราคาหรือเรื่องที่รัฐไม่สนับสนุนการอ่านเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องวิถีชีวิตของคนที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย

“เดี๋ยวนี้ใครก็มีมือถือ ดู Netflix ออกไปเที่ยวนอกบ้าน ไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ พวกนี้มันเบียดบังเวลาอ่านหนังสือ นักอ่านมันเลยน้อยลง คนเข้าร้านหนังสือก็น้อยตาม”

– คำสาปปิดกั้นนักอ่านหน้าใหม่ : ยังคงอยู่ –

อย่างไรก็ตาม พี่ผู้หญิงมองทางรอดของร้านหนังสือไว้ว่า ถ้าหากมีเครือข่ายที่เชื่อมโยงระหว่างร้านหนังสือกับสำนักพิมพ์ขนาดกลางหรือเล็ก อาจช่วยให้มีกลวิธีการขายหนังสือที่น่าสนใจมากยิ่งข้น

“เช่น…” เธอพยายามยกตัวอย่างให้เห็นภาพ “เมื่อมีคนสั่งหนังสือกับทางสำนักพิมพ์ สำนักพิมพ์จะรู้ที่อยู่จัดส่ง ซึ่งหากที่อยู่ของลูกค้าอยู่ใกล้กับร้านหนังสือสักที่ ก็อาจจะเสนอไปว่า ลองมารับหนังสือที่ร้านใกล้ๆ ที่อยู่คุณไหม มีเครื่องดื่มให้ฟรี 1 แก้ว แล้วสำนักพิมพ์ก็อาจจะช่วยออกค่าเครื่องดื่มครึ่งราคากับทางร้าน”

โดยวิธีการดังกล่าวนี้ อาจช่วยให้มีลูกค้าเข้ามาที่ร้านหนังสือมากขึ้น และสำนักพิมพ์ก็จะมีภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาของลูกค้าด้วย 

ทว่ากลับไม่มีใครสนใจเริ่มต้นทำ…

วิธีที่ 3 มองหา ‘โอกาส’ ก่อนจะโดนคำสาปครอบงำ
อยู่ในระหว่างการทดลอง

การตัดสินใจเปิดร้านหนังสือออนไลน์ ‘Little Bliss’ หรือในอีกชื่อคือ ‘ร้านพรจิ๋ว’ ของ ‘ชมพู่ ณัฐกานต์ จันทร์ดี’ นั้นไม่ใช่เรื่องที่ยากเย็นเลย เพราะเธอตั้งหน้าตั้งตาไล่ตามความฝันของตัวเองสุดชีวิต

“ตอนเริ่มต้นเรากลัวอย่างเดียวคือกลัวไม่ได้ทำมากกว่า” เธอพูดด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่น “เรากลัวไม่ได้ลงมือทำในสิ่งที่ฝันมาตลอด”

3.1 โอกาสจากความชัดเจน : คาดว่าจะช่วยเพิ่มศักยภาพในช่วงเริ่มแรก

ที่มาของชื่อร้าน Little Bliss หรือ พรจิ๋ว นั้นเกิดขึ้นจากการนำเอาประสบการณ์ที่คุณชมพู่เคยเขียนถ้อยคำให้กำลังใจผู้คนบน Twitter ซึ่งเหมือนกับการให้พร มารวมเข้ากับกิจการขายหนังสือ เพื่อบอกลูกค้าทุกคนว่า การมอบหนังสือก็เปรียบเสมือนการมอบพรวิเศษ ดังนั้นนักอ่านคนใดที่ซื้อหนังสือจากทาง @littlebliss_bookstore ไปก็จะเหมือนได้รับพรวิเศษติดตัวกลับไป และคอนเซปต์อันแสนอบอุ่นนี้ก็กลายมาเป็นแนวทางในการคัดสรรหนังสือที่จะนำมาขายด้วยเช่นกัน

“ช่วงโควิด-19 ที่จะเปิดร้าน เราเห็นว่า ร้านขายหนังสือออนไลน์ที่ขายหนังสือภาษาอังกฤษค่อนข้างมีน้อย คิดว่าไม่มีคู่แข่งมากเท่าไหร่ พอเอามารวมกับแนวคิดของร้านแล้วเราเห็นภาพชัดเจนด้วย เลยตัดสินใจลองขายหนังสือภาษาอังกฤษดู” เธอพูดพร้อมรอยยิ้ม

คนอาจจะมองว่าร้านหนังสือออนไลน์ไม่มีมนตร์สะกดดั่งที่ร้านหนังสือทั่วไปมี แต่ด้วยคอนเซปต์ที่ชัดเจนรวมเข้ากับความใส่ใจของคุณชมพู่ ก็ทำให้ร้าน Little Bliss สามารถดึงดูดและตราตรึงอยู่ในใจนักอ่านได้ ไม่ต่างจากร้านหนังสืออื่นๆ ราวกับเป็นข้อพิสูจน์ว่า…

ร้านหนังสือออนไลน์ก็เต็มเปี่ยมไปด้วยเวทมนตร์ได้เช่นกัน

ภาพประกอบจาก : Instagram @littlebliss_bookstore

3.2 โอกาสจากรูปแบบการขาย : คาดว่าจะช่วยเพิ่มศักยภาพในด้านการหารายได้

อย่างไรก็ตาม ความตั้งใจอันแรงกล้าเพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถทำให้ Little Bliss ขยายกิจการของตนเองได้ คุณชมพู่จึงแบ่งการขายหนังสือออกเป็น 2 รูปแบบ คือการขายหนังสือมือสองและมือหนึ่งควบคู่ไปด้วยกัน 

ในธุรกิจการขายหนังสือมือสอง คุณชมพู่เลือกสั่งซื้อหนังสือเข้าร้านในรูปแบบ ‘palette’  

palette ที่ว่านี้หมายถึงการนำเข้าหนังสือมือสองจากต่างประเทศจำนวนครั้งละมากๆ โดยในประเทศไทยจะมีผู้นำเข้าหนังสือมือสองจากทั้งประเทศอังกฤษและสหรัฐฯ อยู่หลายเจ้า คุณชมพู่จึงเลือกสั่งซื้อ palette หนังสือมือสองจากผู้นำเข้าเหล่านั้นโดยตรง เนื่องจากราคาต้นทุนต่อเล่มจะอยู่ที่ประมาณ 30 บาท ซึ่งถือว่าเป็นราคาที่ค่อนข้างถูก ทำให้สามารถตั้งราคาขายต่ำได้ ลูกค้าของทางร้านก็จะมีช่องทางการเข้าถึงหนังสือในราคาย่อมเยาได้ง่ายขึ้น 

แต่แม้จะมีข้อดี การสั่งหนังสือรูปแบบ palette ก็ยังคงมีความเสี่ยงที่ต้องแบกรับเช่นกัน

“ในระบบ palette เราไม่สามารถเลือกหนังสือเองได้ค่ะ มันจะมีแบบที่ทางต้นทางเขาคัดแนวหนังสือมาให้แล้ว แต่ส่วนใหญ่ที่เราเจอจะเป็นแบบที่ไม่ได้คัดมาให้ ทางร้านก็ต้องมาลุ้นเอาเอง และต่อให้เขาจะมีตัวอย่างหนังสือบางเล่มให้ดูว่า หนังสือในกล่องจะเป็นแนวไหน เราก็ต้องยอมรับความเสี่ยงว่าจะได้หนังสือบางเล่มที่ไม่ตรงใจอยู่ดี”

ภาพประกอบจาก : Instagram @littlebliss_bookstore

ส่วนในธุรกิจการขายหนังสือมือหนึ่ง คุณชมพู่ขอนิยามการขายของเธอว่าเป็นการ ‘รับหิ้ว’ หนังสือ

“เราจะซื้อหนังสือมาจากผู้นำเข้าเจ้าใหญ่ๆ อย่าง Asiabooks หรือ Kinokuniya มานำเสนอให้ลูกค้าเห็นก่อน คล้ายกับเป็นการดูกระแสความสนใจของลูกค้าเรา…” 

ถ้าหากมีลูกค้าสนใจสั่งซื้อจำนวนมาก คุณชมพู่จะไปสั่งซื้อหนังสือเล่มดังกล่าวจากทาง Asiabooks หรือ Kinokuniya มาโดยตรงเหมือนกับที่นักอ่านทั่วไปเข้าไปสั่งซื้อ แต่ในกรณีที่มีการสั่งซื้อหนังสือจำนวนเยอะๆ ในครั้งเดียว จะทำให้มีส่วนลดมอบให้กับผู้ซื้อด้วย

“สมมติราคาหนังสือ 500 บาท คนทั่วไปที่ซื้อแบบไม่ได้ส่วนลดก็จะต้องจ่าย 500 บาท แต่อย่างเรามีสิทธิ์ของการเป็นสมาชิก หรือสั่งซื้อหนังสือที่มียอดเกิน 10,000 บาท เราก็จะได้ราคาหนังสือต่อเล่มที่ลดลงมาเหลือประมาณ 450 บาท เราก็อาจจะเอามาขายลูกค้าของเราในราคาต่ำลงได้นิดหนึ่ง”

ทั้งนี้ การตั้งราคาหนังสือขึ้นอยู่กับปัจจัยอีกหลายด้าน ซึ่งคุณชมพู่ระบุว่า ในการจะตั้งราคาหนังสือต่ำหรือสูงกว่าทาง Asiabooks และ Kinokuniya ต้องดูเป็นกรณีไป เพราะจำนวนเล่มที่สั่งซื้อมาจากทางเจ้าใหญ่ในแต่ละครั้งนั้นไม่เท่ากัน หากลดราคาจากราคาที่ Asiabooks และ Kinokuniya ขายทุกครั้ง อาจทำให้ยอดรวมของร้านขาดทุนก็เป็นได้ 

จะเห็นได้ว่า การขายหนังสือภาษาอังกฤษในรูปแบบหนังสือมือสองและมือหนึ่ง ทำให้คุณชมพู่รับรายได้เข้าร้าน Little Bliss อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ต้องโดนหักค่าสายส่งเหมือนร้านหนังสือส่วนใหญ่ 

อีกทั้งการขายหนังสือผ่านช่องทางออนไลน์ก็ยังมีข้อดีตรงที่ไม่ต้องลงทุนสูง เพราะไม่ต้องแบ่งต้นทุนส่วนหนึ่งไว้ใช้จัดการหน้าร้าน เพียงแค่มีช่องทางโซเชียลมีเดียของตัวเอง ก็สามารถเปิดร้านหนังสือได้แล้ว

ภาพประกอบจาก : Instagram @littlebliss_bookstore

อยากมีหน้าร้านเป็นของตัวเองไหม

“คิดตั้งแต่เริ่มต้นเลยค่ะ เพราะว่าจุดประสงค์เริ่มแรกคือทำออนไลน์ไปเรื่อยๆ ให้มีคนรู้จัก แล้วค่อยทำหน้าร้าน แต่พอไปศึกษาหน้างาน ดูพื้นที่สำหรับการเปิดร้านจริงๆ แล้ว เรารู้สึกว่ามีหลายอย่างที่ยังไม่พร้อม”

คุณชมพู่มองว่า สุดท้ายแล้ว ธรรมชาติของการซื้อขายหนังสือก็คือการได้พูดคุยแลกเปลี่ยนกับลูกค้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ช่องทางออนไลน์ให้เธอไม่ได้…

เพราะฉะนั้น ร้านหนังสือออนไลน์ Little Bliss จึงจะเป็นเพียงจุดเริ่มต้นจุดเล็กๆ ของเธออย่างแน่นอน

– ความหวังของการมีหน้าร้าน : ปรากฏ –

– โปรดระวังคำสาปร้านหนังสือ –

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
0
Love รักเลย
1
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:Features

Media

ป้าดา นางฟ้าของแมวจร

เรื่องและภาพ : ณัฐธิดา นิติเกษตรสุนทร ภาพประกอบ : ทยาภา เจียรวาปี ในวันที่อ่อนล้าจากการไปถ่ายงานที่ทรงวาดในช่วงฤดูฝน เป็นเวลาดึกมากแล้ว ฉันหิ้วท้องกิ่วนั่งรถไฟฟ้ากลับไปหาของกินที่สยามเซนเตอร์ หลังจากที่ฉันและเพื่อนอิ่มหมีพีมันก็ได้เวลากลับ แต่ระหว่างทางฉันได้พบกับแมวเหมียวนับสิบตัว มีทั้งขนาดเล็กจิ๋วและโตเต็มวัย กำลังโซ้ยอาหารเม็ดและเนื้อสัตว์ที่มีคนวางไว้บนถาด ...

Writings

ศิลปินหญิงหายไปไหนจากหน้าประวัติศาสตร์

เรื่อง : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ ภาพประกอบ : ทยาภา เจียรวาปี ท่ามกลางหมู่คนชนผู้ดีฝรั่งเศสที่เดินกันขวักไขว่ในซาลอง (Salon) ‘Marianne’ จิตรกรหญิงในชุดเสื้อคลุมสีน้ำเงินเดินเข้าไปหากรอบรูปสีทองนับสิบตรงหน้า หนึ่งในนั้นคือภาพวาดของเธอ มาเรียนน์หยุดยืนแล้วหันหลังให้ภาพวาด ตอนนี้เธอเป็นเหมือนผู้รักษาความปลอดภัยที่คอยสังเกตการณ์สิ่งต่างๆ ...

Features

เคยได้ยินเรื่องราวจากสายส่งหนังสือไหม?

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย สายส่ง น. ผู้ดำเนินกิจการเป็นตัวแทนในการส่งหนังสือหรือสินค้าอื่นให้แก่ผู้รับ. เคยได้ยินชื่ออาชีพสายส่งไหม? ฉันรู้ว่านักเขียนเป็นผู้สร้างสรรค์เรื่องราวในหนังสือ ฉันรู้ว่าสำนักพิมพ์เป็นผู้นำเรื่องราวจากนักเขียนมาผลิตหนังสือ และรู้ว่าร้านหนังสือเป็นผู้ส่งหนังสือมาให้ถึงมือเหล่าคนอ่าน แต่ฉันกลับไม่รู้เลยว่าสายส่งคืออะไร… จนกระทั่งเมื่อฉันมีโอกาสทำความรู้จักกับคุณน้าคนหนึ่ง ผู้เป็นนักเขียนและบรรณาธิการอยู่ในวงการหนังสือมาอย่างยาวนาน ...

Features

คุยกับ ‘พนารัตน์ อานามวัฒน์’ ว่าด้วยอัตลักษณ์ นโยบาย และความเป็นไปได้อื่นๆ ผ่านผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ 2024

เขียน: วรพร รุ่งวัฒนโสภณ ภาพประกอบ: ศิรประภา จารุจิตร 8 โมงเช้าวันอังคาร ร่างไร้สติของฉันพาตัวเองมายังห้องเรียนจนได้ อาจารย์เริ่มพูดที่หน้าชั้นเรียนไปได้สักพักแล้ว คลาสเรียนวิชาประวัติศาสตร์เฟมินิสต์ในหัวข้อทฤษฎี intersectionality หรือทฤษฎีอัตลักษณ์ทับซ้อน ของ Kimberlé ...

Features

สารบัญปัญหาสำนักพิมพ์

เรื่อง : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ ภาพประกอบ : จุฑาภัทร ทิวทอง และ สิทธิเดช สายพัทลุง สำนักพิมพ์ น. สถานที่ดำเนินธุรกิจจัดพิมพ์และจำหน่ายตำราหรือหนังสือ สารคดี ...

Features

AD เทคโนโลยีเพื่อคนตาบอดในสื่อไทย มาไกลพอแล้วหรือยัง ?

เขียน : ณัฐธิดา นิติเกษตรสุนทร ภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ หากลองหลับตาดูหนังหรือซีรีส์สักเรื่อง สิ่งที่เห็นตรงหน้าตรงหน้าคงเป็นสีดำ มืดสนิท ได้ยินเพียงเสียงตัวละครพูดคุยกัน แต่ไม่มีทางรู้ได้เลยว่านักแสดงบนจอกำลังแสดงสีหน้า ขยับตัวยังไง หรือกำลังจะเกิดอะไรในช่วงไคลแม็กซ์ ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save