เรื่อง อาสา งามกาละ, ตติยา ตราชู
ผู้ช่วยอธิการบดี ยัน มธ. ไม่สนคำวิจารณ์ กรณีสวนดาดฟ้าอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี แห้งแล้ง ไม่สวย แจง แนวคิดคือสวนกินได้ อาจมีการผลัดเปลี่ยนฤดูของพืช หวังคนเข้าใจ สวนไม่ใช่การแต่งหน้าทาปากที่จะสวยตลอดเวลา
จากกระแสบนสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีผู้แสดงความคิดเห็นถึงต้นไม้ในสวนบนหลังคาอาคารอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี ที่มีลักษณะแห้ง และขาดการตัดแต่งดูแล รวมไปถึงการใช้งานพื้นที่ดังกล่าวจะเป็นการขึ้นไปถ่ายรูปเสียส่วนใหญ่
ทีมข่าวจึงลงพื้นที่สำรวจ เมื่อวันที่ 23 กันยายนที่ผ่านมา พบว่าบนหลังคาของอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี เริ่มมีการปลูกผักรอบใหม่แล้วบางส่วน แต่ตลอดทางเดินบริเวณแปลงปลูกผักมีเศษดินจากการปลูกผักกระจายอยู่ รวมทั้งมีต้นไม้บางส่วนที่ไม่ได้รับการตัดแต่ง และค่อนข้างแห้ง นอกจากบริเวณแปลงปลูกผักแล้ว ยังมีผักสวนครัวบางชนิดที่ปลูกเพื่อใช้เป็นไม้ประดับด้วย เช่น พริก และตะไคร้ เป็นต้น โดยช่วงกลางวันที่เป็นเวลาพักของนักศึกษาและบุคลากร มีจำนวนผู้ใช้งานสวนบนหลังคาของอาคารแห่งนี้ค่อนข้างน้อย เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อน และพื้นที่ให้ร่มเงาบนหลังคาของอาคารมีน้อยไม่เหมาะสมกับการขึ้นไปพักผ่อน ส่วนในช่วงเย็นของวันมีผู้มาใช้บริการหลังคาของอาคารเป็นพื้นที่ออกกำลัง พักผ่อน และถ่ายรูปอยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่งพื้นที่รอบตัวอาคารมีทางลาดสำหรับผู้พิการ และมีลิฟต์สำหรับขึ้นไปยังหลังคาที่เป็นสวนของอาคาร
นายวิสุทธิ์ วิสุทธสุนทร อายุ 56 ปี หนึ่งในผู้ใช้บริการอาคารอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี กล่าวว่า ปกติจะมาใช้บริการบริเวณหลังคาของอาคารนี้เพื่อเดินเล่นออกกำลังกายประมาณเดือนละ 1-2 ครั้ง เพราะเป็นพื้นที่โล่ง และสูง ทำให้รู้สึกไม่แออัด แต่ยังไม่เคยใช้บริการห้องสมุดประชาชน เพราะไม่ทราบว่าบุคคลภายนอกสามารถเข้าใช้ได้ พร้อมแนะนำให้ดูแลสวนให้สวยขึ้น
“ก็อาจจะต้องเลือกพันธุ์ไม้อื่นที่ดูแลน้อยหน่อย ไม่อย่างนั้นมันก็จะรกไปหมด เพราะอย่างปีที่แล้วมาเดินยังสวยอยู่เลย ตอนนี้รกไปหมดแล้ว” นายวิสุทธิ์กล่าว
นายปวรปรัชญ์ จันทร์สุภาเสน นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าว่า เขาไปใช้บริการอาคารดังกล่าวเพื่อนั่งฟังเพลง และอ่านหนังสือทุกวัน เนื่องจากบรรยากาศดี มีลมพัดเย็นสบาย โดยเขาเดินทางไปด้วยรถจักรยานยนต์ส่วนตัว หากห้องสมุดเปิดก็จะขึ้นไปใช้บริการ เพราะเป็นจุดที่มีความเงียบสงบ
ไม่ใช่เพียงสวน Cosmetics Landscape ที่มีไว้สวยๆ
หลังจากการลงพื้นที่ทีมข่าวได้ติดต่อไปยังผู้รับผิดชอบสวนบนหลังคาอาคารแห่งนี้ โดย นางสาวปราณิศา บุญค้ำ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้แจงว่า แนวคิดของสวนบนหลังคาอาคารอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี คือ สวนมีชีวิตที่กินได้ เพราะอยากจะให้ประชาชนที่ขึ้นไปได้เรียนรู้ว่าต้นไม้มีชีวิตเหมือนกับเรา ซึ่งมันไม่สามารถสวยอยู่ตลอดเวลาได้ ความสวยงามของธรรมชาติ คือ การเปลี่ยนแปลง หรือบางทีต้องถางผักออก พลิกแปลงปลูก ปรับดิน และมีพืชพื้นถิ่นที่ปลูกอยู่ด้านบน เช่น ต้นกก ที่สามารถปรับตัวกับฤดูกาลได้ดี ในช่วงหน้าแล้งอาจจะดูแห้งไปบ้าง แต่ก็จะคืนกลับมาได้เองในฤดูฝน แต่ทางมหาวิทยาลัยก็พยายามดูแลไม่ให้มีงู
“ธรรมศาสตร์ไม่ได้แคร์มากในสิ่งที่จะถูกวิจารณ์ (และ)ในสิ่งที่เรารู้ความจริงว่ามันคือสิ่งที่ถูกต้อง ไม่อยากให้คนเข้าใจว่าภูมิทัศน์ของเรามันเหมือนการแต่งหน้าทาปาก หรือ Cosmetics Landscape ต้องสวยๆ ตลอดเวลา ถ้ามีคนติติงเรื่องนี้มา ก็พร้อมจะอธิบาย ก็จะไปดูก่อนว่าเราละเลยจริงหรือเปล่า แต่ถ้ามันเป็นเรื่องการหมุนเวียน Crop (ผลผลิต) ของผัก ถ้าเป็นตามธรรมชาติเราก็ยินดีจะชี้แจง เราต้องการเปลี่ยนความคิดคนให้เข้าใจว่าบางอย่างมันควรต้องเป็นแบบนี้ไม่ใช่แบบที่คุ้นเคยกัน” นางสาวปราณิศากล่าว
สำหรับแปลงผักที่ปลูกบนหลังคาของอาคาร นางสาวปราณิศากล่าวว่า ในปัจจุบันนี้ยังใช้คนของสำนักงานบริหารทรัพย์สินและกีฬาในการดูแลแปลงผัก ที่จะมีการเปิดให้นักศึกษา หรือบุคลากรที่ต้องการรายได้เสริม ลงทะเบียนจองพื้นที่สำหรับปลูกผัก โดยทางสำนักงานทรัพย์สินฯ จะจัดสรรเมล็ดพันธุ์พืช และแปลงเพาะ เพื่อให้นักศึกษา รวมทั้งบุคลากรเพาะปลูก และดูแลผักเหล่านั้น ก่อนนำไปขายให้กับร้านอาหารต่างๆ ในมหาวิทยาลัย ซึ่งในตอนนี้เริ่มมีการขายผักปลอดสารพิษที่ได้จากแปลงผักบนหลังคาของอาคารให้กับบางร้านอาหารในมหาวิทยาลัยบ้างแล้ว
นอกจากนี้สำนักงานทรัพย์สินฯ ยังเข้ามาดูงานภูมิทัศน์ให้กับมหาวิทยาลัยทั้งหมด ยกเว้นบริเวณโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ซึ่งการดูแลอาคารใหม่นับเป็นความท้าทาย ทางมหาวิทยาลัยได้อาคารใหม่มาหลายหลัง จึงต้องจัดสรรทั้งงบประมาณ คน และวิธีการที่ชาญฉลาดในการดูแล ทำให้ในช่วงแรกอาจจะเห็นความไม่ลงตัว มีความไม่เรียบร้อยอยู่บ้าง
นอกจากนี้นางสาวปราณิศาได้อธิบายเรื่องของการใช้งานพื้นที่สวนแห่งนี้ว่า ทางมหาวิทยาลัยต้องการให้หลังคาของอาคารนี้สามารถเป็นทั้งพื้นที่สำหรับพักผ่อน และพื้นที่ปลูกผัก บริเวณสนามตรงกลางสามารถจัดงานได้ มีการจัดที่นั่งให้ทุกคนสามารถไปนั่งเล่น หรือจัดการศึกษานอกสถานที่กันในตอนเย็น ส่วนเรื่องการเป็นสถานที่ถ่ายภาพนั้นเป็นสิ่งที่ตอบสนองวิถีชีวิตของคนในปัจจุบัน
ส่วนประเด็นเรื่องที่คนยังเข้าไปใช้บริการน้อยอยู่นางสาวปราณิศา ชี้แจงว่า ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์ COVID-19 คาดการณ์ว่าภายหลังการจัดงาน Sustainability Festival มหกรรมความยั่งยืน ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งจะเป็นงานที่นำเสนอเรื่องความยั่งยืน โดยให้นักศึกษาและประชาชนที่ทำโครงการต่างๆ แล้วสามารถทำได้จริงตามเป้าหมายของ SDGs มาออกร้าน และบูธนิทรรศการ รวมไปถึงการนำเสนอโครงงานของนักศึกษา ที่จะทำให้มีคนรูจัก และเข้ามาใช้งานอาคารอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มากขึ้น
อาคารที่ไม่ได้ค้ากำไร แต่มีไว้บริการประชาชน
นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนและบริหารศูนย์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายว่า การใช้งานหลังคาของอาคารเป็นพื้นที่ปลูกผัก สืบเนื่องมาจากในปัจจุบันคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปีละกว่าแสนคน และต้องการให้เกิดการเปลี่ยนวิถีชีวิต ให้กลายเป็นเกษตรกรรมปลอดภัย อาหารปลอดภัย (Food Safety)
“(หลายคนอาจสงสัยว่า)ทำไมถึงไปลงทุนสร้างอาคารเพื่อปลูกผัก จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะ คอนเซปต์ของอาคารป๋วยเนี่ย คือ การทำศูนย์กลางใหม่ของธรรมศาสตร์ เราบอกรักประชาชน ฉันรักธรรมศาสตร์เพราะธรรมศาสตร์สอนให้เรารักประชาชน แต่ตึกโดมอยู่ข้างใน ประชาชนมาหายากเหลือเกิน เราจึงต้องย้าย ต้องมีศูนย์กลางในการบริการประชาชน แล้วเราก็วางแผนว่าพื้นที่ตรงนี้ 100 ไร่เป็นพื้นที่บริการประชาชน” รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนกล่าวและว่า นอกจากจะมีโรงพยาบาล ศูนย์ประชุม และหอประชุมใหญ่แล้ว ยังต้องมีอาคารบริการประชาชนหลังนี้ และต้องเป็นเรื่องของความยั่งยืนด้วย
ส่วนการใช้งานที่เป็นส่วนสำคัญอีกหนึ่งอย่างของอาคารแห่งนี้คือ ‘SDG Lab’ ที่เป็นห้องปฏิบัติการเพื่อผลิตอุปกรณ์ต้นแบบในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ตาม Sustainable Development Goals (SDGs) หรือเป้าหมายเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยองค์การสหประชาชาติ หรือ UN ซึ่งจะเปิดให้นักศึกษา และประชาชนทั่วไป สามารถมานำเสนอโครงการ เพื่อนำไปพัฒนาและผลิตอุปกรณ์ต้นแบบขึ้นมาทดลองใช้ภายในมหาวิทยาลัยต่อไป
สำหรับการขอเข้าใช้ห้องต่างๆ ภายในอาคาร รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนกล่าวว่า นักศึกษาคณะต่างๆ สามารถขอเข้าใช้ได้ฟรี ยกเว้น ห้องคอนเสิร์ตฮอล ที่จะมีค่าบริการชั่วโมงละ 2,000 บาท ซึ่งเป็นเพียงต้นทุน หรือค่าไฟ โดยสาเหตุที่ต้องเก็บค่าใช้จ่ายส่วนนี้เพื่อให้นักศึกษาประหยัดไฟ เพราะหากให้ฟรีทั้งหมดก็จะสุรุ่ยสุร่าย แต่หากบริษัทหรือองค์กรใดที่ต้องการใช้สถานที่ในเชิงธุรกิจ สามารถไปใช้บริการได้ที่ศูนย์ประชุมที่มีการรองรับกิจกรรมในเชิงธุรกิจอยู่แล้ว เนื่องจากอาคารแห่งนี้ไม่ได้มุ่งเน้นในเชิงธุรกิจแต่หลักของอาคารนี้ไม่ได้ต้องการค้ากำไร แต่ต้องเป็นการบริการประชาชน
การโปรโมตที่มีคนบางส่วนคิดว่ายังน้อยไป นายปริญญา กล่าวว่า จะใช้การจัดให้มีกิจกรรมเกิดขึ้นเรื่อยๆ เพราะการลงมือทำ คือ การโปรโมตที่ดีที่สุด ทั้งนี้ยังยืนยันว่าการที่คนไปใช้บริการอาคารแห่งนี้น้อยไม่ได้ผิดแผนแต่ประการใด
“มันไม่มีงานแล้วเขาจะไปทำไมล่ะครับ อาคารป๋วยมันไม่ใช่อาคารเรียน ถ้าคนไปมากผมจะแปลกใจว่า เฮ้ย มาทำไมกัน ผมหมายถึงว่าถ้า SDG Lab เสร็จ โรงอาหารเสร็จ นั่นแหละครับคนก็จะมาตามของที่มี แต่ตอนนี้มันมีแค่ห้องสมุดประชาชน ใช่ไหมครับ แล้วคนก็มาถ่ายรูป แล้วใครจะไปเยอะล่ะครับ” รองอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืนกล่าว
นายปริญญา รับปากว่าภายในภาคเรียนที่ 2 คือ เดือนมกราคม พ.ศ.2564 อาหารทั้งหมดภายในมหาวิทยาลัยจะต้องเป็นอาหารปลอดภัย ตามมาตรฐาน GAP (Good Agricultural Products) ตามที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งเป้าไว้ และคาดการณ์ว่าโรงอาหารออร์แกนิคที่อาคารอาคารอุทยานการเรียนรู้ ป๋วย 100 ปี จะสร้างเสร็จภายในต้นปี พ.ศ.2564 ซึ่งจะเป็นโรงอาหารออร์แกนิคแห่งแรกในมหาวิทยาลัยของประเทศไทย
ส่วนเรื่องความไม่สะดวกของการเดินทางไปยังอาคารอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี นายปริญญา ชี้แจงว่า ทางมหาวิทยาลัยจะมีโครงการ Autonomous shuttle bus หรือรถรับส่งแบบไร้คนขับ มารองรับในจุดนี้ ซึ่งคาดหวังว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนมกราคม เช่นเดียวกัน
อาคารอุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี เป็นพื้นที่สาธารณะภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศูนย์รังสิตสร้างขึ้นเนื่องในวาระครบรอบชาตกาล 100 ปี ศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ที่ได้รับยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลกจากองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) บนพื้นที่กว่า 100 ไร่ เริ่มต้นสร้างในปี พ.ศ.2559 และได้มีการเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการในช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา