เรื่อง: พิชญา ใจสุยะ
ภาพ: ปวรปรัชญ์ จันทร์สุภาเสน
คำเตือน: อาจมีภาพความรุนแรง
วันนี้เมื่อ 44 ปีที่แล้ว เกิดเหตุการณ์ ‘6 ตุลา’ ขึ้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ สถานที่ที่เป็นแหล่งความรู้ให้เยาวชนทั้งหลาย และยังเป็นความทรงจำของใครบางคนที่ไม่มีวันลืมเหตุการณ์นี้ไปตลอดชีวิต
ตำราเรียนประวัติศาสตร์ของไทยมักให้ความสำคัญกับเรื่องราวการก่อตั้งประเทศอย่างมาก แต่กลับเลี่ยงที่จะกล่าวถึงหลายๆ เหตุการณ์ที่แสดงถึงการใช้ความรุนแรงของรัฐ ทั้งหมดจึงไม่มีในหน้าหนังสือเรียน เหตุการณ์ 6 ตุลาก็เช่นกัน แต่ปัจจุบันประชาชนได้รับรู้เรื่องราวนี้อย่างแพร่หลายมากกว่าแต่ก่อนเพราะมีเทคโนโลยีเป็นส่วนสำคัญในการกระจายข้อมูล อีกทั้งผู้คนที่รับรู้เหตุการณ์นี้ยังจัดงานรำลึกอยู่ตลอด ด้วยหวังว่าเหตุการณ์ในวันนั้นจะเป็นบทเรียนสำคัญของประเทศไทย
Photo series ในครั้งนี้ขอพาทุกคนนั่งไทม์แมชชีนกลับไปดูว่า 6 ตุลาคม 2519 เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น อยู่ตรงจุดไหนบ้าง โดยเปรียบเทียบให้เห็นว่าในปัจจุบันสถานที่เหล่านั้นเปลี่ยนแปลงน้อยหรือมากไปจากเดิมเท่าใด เพื่อรำลึกถึงเหล่าวีรชนที่สู้เพื่อประชาธิปไตยด้วยเลือด หยาดเหงื่อ น้ำตา และย้ำเตือนให้รู้ว่าเคยเกิดเหตุการณ์ ‘6 ตุลา’ ขึ้น ณ ที่แห่งนี้
จุดเริ่มต้น
วันที่ 4 ตุลาคม 2519 นักศึกษาแสดงละคร ณ ลานโพธิ์ เพื่อเสียดสีกรณีช่างไฟฟ้า 2 คน ถูกฆ่าแขวนคอที่นครปฐมเพราะติดใบปลิวต่อต้านการกลับมาของพระถนอม ต่อมาวันที่ 5 ตุลาคม 2519 หนังสือพิมพ์บางฉบับเสนอข่าวกล่าวหาว่านักศึกษาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพองค์สยามมกุฎราชกุมาร (รัชกาลที่ 10 ในปัจจุบัน) ปัจจุบันลานโพธิ์ถูกใช้เป็นลานจอดรถ และลานสำหรับทำกิจกรรมต่างๆ ที่มีผู้คนเดินไปมาท่ามกลางบรรยากาศร่มรื่น
ช่วงเวลาเช้ามืดในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 วิทยุยานเกราะยังคงรายงานกล่าวหานักศึกษาว่าหมิ่นพระบรมราชานุภาพต่อไป ส่วนในธรรมศาสตร์ก็มีการชุมนุมและจัดอภิปรายกันอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่เย็นวันที่ 4 ถึงเช้าวันที่ 6 ตุลาคม แล้วก็มีระเบิดเอ็ม.79 ยิงมาจากฝ่ายตำรวจนอกมหาวิทยาลัย ตกลงกลางสนามฟุตบอล จากนั้นตำรวจก็ระดมยิงเข้าไปในมหาวิทยาลัยจากหน้าหอประชุมใหญ่ และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ปัจจุบันบริเวณนี้มีวินมอเตอร์ไซค์จอดรอรับผู้คน และมีร้านค้าแผงลอยต่างๆ ตั้งอยู่
ตำรวจนำรถบัสมาขนย้ายนักศึกษาและประชาชนที่ถูกจับกุม ไปฝากขังที่เรือนจำต่างๆ ปัจจุบันประตูนี้คือประตูฝั่งท่าพระจันทร์ ที่รอบนอกมีร้านอาหาร แหล่งซื้อของมากมายที่คนนิยมมากัน
นักศึกษาและประชาชนหลบหนีกระสุนและระเบิดเข้าไปในอาคารเรียนคณะต่างๆ ตำรวจตระเวนชายแดนบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัยได้สำเร็จ และพยายามจับกุมคนที่หลบตามอาคารรอบสนามฟุตบอล ปัจจุบันบริเวณนี้คือตึกคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ที่ยังคงเป็นตึกเดิมในวันนั้น
จารุพงษ์ ทองสินธุ์ กรรมการองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) วิ่งออกมาจากตึกอมธ. ขณะตำรวจกำลังสาดกระสุน ทำให้เขาถูกกระสุดกราดตัดเอวเข้าพอดี และยังถูกฝ่ายตรงข้ามใช้ผ้าขาวม้ารัดคอ แล้วลากผ่านกลางสนามฟุตบอล ซึ่งปัจจุบันตึกในภาพถ่ายเก่าคือตึกคณะนิติศาสตร์ มีการปรับปรุงสนามฟุตบอลให้มีลู่วิ่ง สร้างศาลา และปลูกต้นไม้เพิ่มเติม
นักศึกษาถูกบังคับให้ถอดเสื้อ ถูกสั่งให้เอามือกุมหัว นอนคว่ำคลานไปตามพื้นสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ ระหว่างที่คลานไปตามพื้นก็ถูกเตะถีบจากตำรวจ ปัจจุบันพื้นที่ตรงนี้ยังคงเป็นสนามที่ใช้ผู้คนใช้ออกกำลังกาย และใช้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมต่างๆ เช่น งานรับเพื่อนใหม่ เป็นต้น
วิชิตชัย อมรกุล นิสิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถูกแขวนคอกับต้นมะขามบริเวณสนามหลวง ถูกทำร้ายโดยการเตะ ถีบ เก้าอี้ฟาดร่างไร้วิญญาณ ท่ามกลางคนมุงดู ปัจจุบันมีการนำรั้วมากั้นรอบสนามหลวง ไม่อนุญาตให้ประชาชนเข้าใช้
มีการนำศพมากองรวมกันบนยางรถยนต์แล้วจุดไฟเผาบริเวณถนนใกล้กับอนุสาวรีย์พระแม่ธรณีบีบมวยผม ซึ่งปัจจุบันยังคงตั้งอยู่ที่เดิม
ริมกำแพงวัดมหาธาตุ นักศึกษาและประชาชนส่วนหนึ่งถูกจับกุม รวมถึง ศ.ดร.ธงชัย วินิจจะกูล ผู้เป็นรองนายก อมธ. และผู้นำนักศึกษาในขณะนั้นด้วย ซึ่งปัจจุบันเป็นนักวิชาการในสาขาไทยศึกษา หรือการศึกษาประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่และความเป็นไทยร่วมสมัยโดยใช้กรอบความคิดทางวิชาการ
ปัจจุบันวัดมหาธาตุยังคงอยู่ ถนนตรงนี้มีรถขับสวนกันไปมาขวักไขว่ และฝั่งตรงข้ามถนนมีร้านขายของและพระเครื่องอยู่ใกล้ๆ
แม่น้ำเจ้าพระยาที่ในตอนนี้ยังคงมีเรือโดนสาร และขนส่งสิ่งของแล่นเป็นปกติ ครั้งหนึ่งเคยมีนักศึกษาและประชาชนส่วนหนึ่งพยายามหนีเอาตัวรอดด้วยการกระโดดลงแม่น้ำเจ้าพระยาเนื่องจากลูกเสือชาวบ้าน กลุ่มกระทิงแดง ตำรวจ และทหาร อยู่กันรอบนอกมหาวิทยาลัย ยากที่จะหนีออกไปทางอื่นได้
สำหรับใครที่อยากศึกษาเหตุการณ์ 6 ตุลา ให้มากกว่านี้ ในสถานที่เกิดเหตุการณ์จริง สามารถไปรับชมนิทรรศการแขวน ณ หอประชุมใหญ่ มธ. ท่าพระจันทร์ได้ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 25 ตุลาคม 2563 นอกจากนี้ภายในงานยังมีบูธขายหนังสือของสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันสำหรับผู้ที่สนใจอ่านหนังสือที่เกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลา หรือการเมืองอีกด้วย
Source
https://www.theisaander.com/post/191006chairman
นิทรรศการ “แขวน” งานรำลึก 44 ปี 6 ตุลา
วัฒนชัย วินิจจะกูล
หนังสือ 6 ตุลา เราคือผู้บริสุทธิ์