News

แม่บ้าน-รปภ. มธ.โอด ชั่วโมงทำงานมากไป สวัสดิการไม่เป็นธรรม อ.นิติฯ ชี้ นายจ้างมักให้ทำล่วงเวลาจนเป็นปกติเพื่อเลี่ยงกฎหมาย

เรื่อง พิชญา ใจสุยะ, ตติยา ตราชู

แม่บ้าน-รปภ. บริษัท ถลาง ฯ ที่มธ. จ้างดูแลงานแบบเหมาช่วง โอดชั่วโมงทำงานสูง 10-12 ชั่วโมง-เครื่องแบบอุปกรณ์ต้องซื้อเอง อ.นิติ ฯ ชี้ นายจ้างมักให้ทำล่วงเวลาเกินจากที่กฎหมายกำหนดไว้ 8 ชม.จนเป็นปกติ เและการจ้างผ่านตัวกลาง ทำให้ลูกจ้างร้องเรียนโดยตรงถึงมหาวิทยาลัยยาก สำนักงานทรัพย์สินฯ มธ. ย้ำ พยายามรับมาดูแลเองให้มากขึ้น โดยเริ่มแล้วในปีนี้

การจ้างบริษัทภายนอก ในรูปแบบของการจ้างเหมาช่วง (Outsourcing) มักจะเป็นงานที่ผู้ว่าจ้างไม่ชำนาญเท่ากับบริษัทภายนอก โดยผู้ว่าจ้างได้เปิดให้บริษัทภายนอกเข้ามาเสนอราคา ผู้ชนะการเสนอราคาจะทำสัญญากับผู้ว่าจ้าง ให้ทำงานตามขอบเขตงานที่ระบุไว้ในสัญญาให้บรรลุภายในระยะเวลาที่กำหนด

ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  (มธ.) ศูนย์รังสิต มีการจ้างบริษัทภายนอกในส่วนงานรักษาความสะอาด และงานรักษาความปลอดภัยในบางส่วนด้วยเช่นกัน โดยบริษัทที่รับจ้างเหมาช่วง ดูแลงาน และจัดหาลูกจ้างในงานส่วนนี้อยู่ คือ บริษัท ถลาง พร็อพเพอร์ตี้ แมเนจเมนต์ จำกัด 

พนักงานรักษาความปลอดภัยซึ่งเป็นลูกจ้างรายวันของบริษัท ถลางฯ ต้องเข้างานวันละ 12 ชั่วโมง แบ่งเป็น 2 กะ คือ 7.00-19.00 น. และ 19.00-07.00 น.ของเช้าอีกวัน

***แหล่งข่าวทุกคนจะถูกปกปิดชื่อ-นามสกุลจริง เพื่อความปลอดภัยของแหล่งข่าว***

พนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ประจำอาคารสุขศาสตร์ มธ. กล่าวว่า ได้ค่าจ้างวันละ 410 บาท ทำงานตั้งแต่ 07.00 – 19.00 น. เป็นเวลาทั้งหมด 12 ชม. โดยไม่มีวันหยุดประจำสัปดาห์ ส่วนวันหยุดนักขัตฤกษ์ได้ค่าจ้างวันละ 300 บาท หากต้องทำงานในวันหยุดนักขัตฤกษ์มากกว่า 1 วัน ต่อการหยุด 1 ครั้ง จะได้รับค่าจ้างเพียงครึ่งหนึ่งของจำนวนวันที่ทำงานทั้งหมด เช่น มาทำงาน 4 วัน จะคิดค่าจ้างให้แค่ 2 วัน เป็นเงิน 600 บาท ในกรณีที่ต้องการลาหยุดต้องแจ้งล่วงหน้า 3 วัน หรือหากลาหยุดฉุกเฉินต้องโทรศัพท์ขออนุญาตกับผู้จัดการบริษัทถลางฯ ก่อน 06.00 น. ถ้าแจ้งช้ากว่านั้นมีโอกาสที่จะถูกหักเงินเดือน และถ้าลาอย่างไม่มีเหตุผลเกิน 3 วันก็อาจถูกไล่ออกได้

“เงินเท่านี้น่าจะให้ทำแค่ 8 ชม. ก็พอ มันเหนื่อย ถ้าเป็นไข้ 3 วัน เสียค่าจ้างที่จะได้ไป 1,200 บาท ไหนจะจ่ายค่ายาด้วย ทำงานนี้ต้องไม่เจ็บ ไม่ป่วย ไม่ตาย น่าจะปรับเป็นใช้ รปภ. 3 ผลัดต่อวันแทน” รปภ. ประจำอาคารสุขศาสตร์ มธ. กล่าว

รปภ. ประจำตึกคณะ (ปกปิดชื่อคณะ) กล่าวว่า ชุดเครื่องแบบทางบริษัทไม่ได้จัดเตรียมไว้ให้ ต้องซื้อในราคาชุดละ 700 บาท และหมวก 100 บาท ทำให้บางคนต้องซื้อเพียงหนึ่งชุดแล้วซักใส่ซ้ำทุกวัน เพราะราคาแพงซื้อไม่ไหว

แม่บ้านประจำอาคารเรียนรวมกลุ่มสังคมศาสตร์ (SC) กล่าวว่า ได้ค่าจ้างวันละ 330 บาท ทำงาน 10 ชม. แต่ไม่มีเวลาพักระหว่างวัน ต้องนั่งประจำอยู่ที่โต๊ะตามจุดรับผิดชอบของแต่ละคน รวมถึงระหว่างทานข้าวกลางวันด้วย โดยแม่บ้านแต่ละคนมีหน้าที่ทำความสะอาด และเตรียมความพร้อมของอุปกรณ์ในห้องเรียนคนละ 8-10 ห้อง และทำความสะอาดห้องน้ำประจำจุดของตัวเองให้สะอาดอยู่เสมอ

“ใน 1 วัน เบิกกระดาษชำระได้แค่ช่วงเช้าจำนวน 1 ม้วน ต่อห้องน้ำ 1 ห้อง ต่อวันเท่านั้น ส่วนอุปกรณ์ และน้ำยาทำความสะอาดต่างๆ ต้องจ่ายเงินซื้อเอง เพราะหัวหน้าบอกว่าไม่มีให้ ถ้าห้องน้ำสกปรก หรือมีกลิ่น ก็จะโดนหัวหน้าด่า และบอกว่า ‘ถ้าตั้งใจจะล้าง (ห้องน้ำ) ให้มันสะอาด ล้างแค่น้ำเปล่าก็สะอาดได้’ หรือไม้กวาดที่ขนยาวเท่าฝ่ามือ มันจะกวาดสะอาดไหม มันทนไม่ไหวมันก็ต้องซื้อ” แม่บ้านกล่าว

สำหรับรูปแบบการจ่ายค่าจ้าง แม่บ้านกล่าวว่า จะออกทุกวันที่ 1 ผู้จัดการบริษัทจะจ่ายเป็นเงินสด ทำให้พนักงานทั้งหมดต้องมาเข้าแถวรอคิวกันตั้งแต่เลิกงาน บางคนได้กลับบ้าน 20.00 – 21.00 น. บางทีก็จ่ายช้า เหมือนกับเดือน ต.ค. นี้ที่จ่ายวันที่ 2 แล้วถ้าจะเบิกค่าจ้างล่วงหน้า ต้องเสียดอกเบี้ย ร้อยละ 10 ต่อเดือน หรือถ้าเบิก 3,000 บาทขึ้นไป ต้องเสียร้อยละ 15 ต่อเดือน “เขาทำเหมือนเราเป็นขอทานไปขอเงินเขา ทั้งๆ ที่นั่นก็ค่าจ้างเรา เราทำงานนะ”

บริษัท ถลาง พร็อพเพอร์ตี้ แมเนจเมนต์ จำกัด ยันสัญญาเป็นไปตามที่ตกลงกับลูกจ้างทุกอย่าง

 สำนักงานบริษัทถลาง พร็อพเพอร์ตี้ แมเนจเมนต์ จำกัด ตั้งอยู่ที่ชั้น 1 อาคารราชสุดา ข้างบันไดหนีไฟ  

นางพัชรี ไกรสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ถลางฯ กล่าวว่า ทุกวันนี้รปภ.มี 3 ผลัด ผลัดละ 8 ชั่วโมง มีวันหยุด 1 วันต่อสัปดาห์ได้เงินตามค่าแรงขั้นต่ำต่อวัน วันละ 410 450 หรือ 500 บาท ก็มีบางคนที่รับทำงานต่ออีกหนึ่งผลัด ก็จะได้ค่าแรงเป็น 820 บาท 

นางพัชรี กล่าวว่า บริษัทมีเครื่องแบบให้รปภ.และแม่บ้าน อุปกรณ์สำหรับรปภ.อย่างนกหวีด ไม้กระบอง วิทยุ และไฟฉายจะให้ในตอนแรก แต่ถ้าชำรุดหรือทำหาย ต้องจ่ายเงินซื้อเอง ส่วนอุปกรณ์ทำความสะอาดบริษัทก็มีให้ สามารถเบิกได้ตลอดหากชำรุด “ต้องรับผิดชอบ เราไม่สามารถจะซื้อให้ได้แล้ว เค้าอาจจะพูดไม่หมด นายจ้างจะซื้อให้ใหม่เพื่ออะไร ในเมื่อซื้อให้แล้วหนึ่งเซ็ต คือคนเหล่านี้ความรับผิดชอบบางทีมันไม่มี แล้วก็บอกว่าบริษัทไม่ซื้อให้”

นางพัชรีกล่าวถึงค่าแรงในวันหยุดนักขัตฤกษ์ว่า จะได้เงินเท่ากับวันธรรมดา คือ 340 บาทต่อวัน หากลาจะไม่ได้ค่าแรงเหมือนกับพนักงานประจำ เช่น หัวหน้าแม่บ้าน หรือหัวหน้ารปภ. เป็นต้น “สวัสดิการที่บริษัทมีให้คือประกันสังคม และค่ารักษาพยาบาล ตามกฎหมายที่รัฐบาลกำหนด ถ้ามีใบรับรองแพทย์มาก็สามารถเบิกได้”

นางสีนวล สายปัญญา ผู้จัดการบริษัทถลางฯ กล่าวถึงรูปแบบการจ่ายเงินเดือนว่า มีทั้งจ่ายแบบเงินสด และโอนให้ แล้วแต่คนไป ตามที่ตกลงกัน เพราะบางคนก็ใช้ตู้กดเงิน (ATM) ไม่เป็น หรือพนักงานที่มีปัญหา เช่น เข้าสาย ไม่ทำงาน ก็จะจ่ายเงินสด จะได้อบรม ตักเตือนพร้อมกันทีเดียว “ช่วงเดือน ต.ค. นี้เป็นช่วงที่ทางสำนักทรัพย์สินฯ กำลังตัดสินใจว่าจะต่อหรือไม่ต่อสัญญากับบริษัทถลางฯ ทำให้การจัดการบางอย่างจึงยังไม่ลงตัว บางครั้งก็อาจพูดจาไม่ดีกับพนักงานทำให้รู้สึกขอโทษอยู่ในใจ” 

 การคุ้มครองแรงงานตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ประกาศใช้เมื่อวันที่ 12 ก.พ. 2541 โดยเป็นกฎหมายที่มีลักษณะเป็นมาตรฐานขั้นต่ำสุด ซึ่งการทำสัญญาของนายจ้างกับลูกจ้างที่เกิดขึ้นจะต่ำกว่าข้อกฎหมายที่กำหนดไว้ในกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้

นายศุภวิช สิริกาญจน อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. ได้ตอบเกี่ยวกับประเด็นชั่วโมงการทำงานของรปภ. และแม่บ้าน ในมธ. ศูนย์รังสิต ซึ่งเป็นลูกจ้างรายวัน ที่มีบริษัทถลางฯ เป็นนายจ้าง โดยเทียบเคียงตาม พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ไว้ว่า แรงงานต้องทำงานไม่เกิน 8 ชม.ต่อวัน ยกเว้นกรณีทำงานล่วงเวลา  

“ไม่ควรทำให้การทำงานล่วงเวลาตรงนี้กลายเป็นเรื่องปกติ ส่วนใหญ่ช่องทางที่นายจ้างจะใช้ คือพยายามบอกว่ามันคือ การทำงานล่วงเวลา ซึ่งเป็นการตีความกฎหมายที่ทำให้ต้องตั้งคำถามว่ามันควรใช่ไหม ตรงนี้ก็ต้องดูเป็นรายกรณีไป” นายศุภวิชกล่าว

สำหรับเรื่องเวลาพักระหว่างงาน นายศุภวิชกล่าวว่า ต้องให้ลูกจ้างพัก 1 ชม. ทุกๆ 5 ชม. ที่ทำงานติดต่อกันเป็นอย่างน้อย ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นการจัดให้เป็นการพักทานข้าวกลางวัน และต้องให้ลูกจ้างพักไม่น้อยกว่า 20 นาที ก่อนเริ่มทำงานล่วงเวลาที่มากกว่า 2 ชม.

“เวลาพักนี้จะไม่นำไปคิดรวมกับเวลาทำงาน และการทำงานล่วงเวลาต้องเข้าเกณฑ์ตามหลักกฎหมาย เช่น งานติดพัน งานเร่งด่วน” นายศุภวิชกล่าวและว่า ในเวลาพัก นายจ้างไม่มีสิทธิ์บังคับลูกจ้างว่าห้ามทำอะไรหรือให้ทำอะไรเช่นกัน

“ส่วนของมหาวิทยาลัยที่มีการจ้างบริษัทภายนอก (outsource) ให้รับผิดชอบจัดหาลูกจ้าง ในแง่กฎหมายตามพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานนั้นได้ขยายขอบเขตความรับผิด และการคุ้มครองออกไป ให้มหาวิทยาลัยมีฐานะเป็นนายจ้างด้วย เมื่อลูกจ้างได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมก็สามารถร้องเรียนกับทางมหาวิทยาลัยโดยตรงได้ ซึ่งแม่บ้าน รปภ.มักจะไม่รู้ถึงจุดนี้” นายศุภวิชกล่าว 

แม่บ้านประจำอาคารเรียนรวมสังคมศาสตร์ต้องเข้ามาเตรียมพร้อมอุปกรณ์ จัดโต๊ะเรียน และทำความสะอาดก่อนเริ่มวิชาเรียนทุกคาบ ทำให้ในบางวิชาเรียนที่มีสอนเวลา 8.00 น. แม่บ้านต้องมาก่อนเวลาเข้างาน เพื่อจัดเตรียมทุกอย่างให้ทันก่อนที่นักศึกษาจะขึ้นไปรอบนห้อง (บุคคลในภาพไม่เกี่ยวข้องกับข่าว)

ลูกจ้างรายวันอาจถูกนายจ้างละเมิดสิทธิและขาดอำนาจการต่อรองเพราะช่องว่างทางกฎหมาย

 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์นั้นดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ. 2558 ซึ่งตามมาตรา 13 ของพ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ระบุไว้ว่า กิจการของมหาวิทยาลัยไม่อยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ ทำให้ถึงแม้ลูกจ้างรายวันที่ถูกจ้างโดยบริษัทภายนอกซึ่งถูกจ้างเหมาจากมหาวิทยาลัยอีกทอดหนึ่ง จะสามารถมาเรียกร้องเมื่อเกิดการละเมิดสิทธิกับทางมหาวิทยาลัยได้ ตามที่พ.ร.บ. คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ขยายขอบเขตความคุ้มครองออกไปให้ แต่ก็อาจติดปัญหาในทางปฏิบัติ เนื่องจากมหาวิทยาลัยได้รับการยกเว้นไม่ให้จำเป็นต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติพ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานดังกล่าวแล้ว

นายศุภวิช ได้กล่าวถึงแนวทางการช่วยเหลือลูกจ้างรายวันที่อาจถูกละเลยเพราะช่องว่างทางกฎหมายว่า มหาวิทยาลัยสามารถกำหนดมาตรการเพื่อคุ้มครองลูกจ้างของ มธ. ด้วยการออกข้อบังคับหรือกำหนดมาตรการคุ้มครองที่เป็นกิจลักษณะ โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.มธ. เองได้ ซึ่งบางเรื่องอาจดีกว่าหรืออาจด้อยกว่ากฎหมายก็เป็นได้ 

“บางเรื่องเกี่ยวกับการจ้างงาน ในกฎหมายแรงงานก็ไม่ได้มีระบุไว้ เช่น เรื่องการเบิกเงินล่วงหน้า จึงอยู่ที่ตัวสัญญาจ้าง ว่าได้มีการระบุข้อตกลงนี้ไว้หรือไม่ อย่างไร ซึ่งสัญญาจ้างอาจเป็นสัญญาปากเปล่าก็ได้เช่นกัน” นายศุภวิชกล่าวและว่า สัญญาการจ้างแรงงานของเอกชนนี้เป็นข้อมูลส่วนบุคคล ตามพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 ใครจะไปขอดูไม่ได้ ซึ่งหากมหาวิทยาลัยเป็นผู้จ้างโดยตรง มันจะมีคำสั่งบังคับให้สัญญาตัวนี้จะต้องเปิดเป็นสาธารณะอยู่ 

“สัญญาจ้างระหว่างเอกชนกับแม่บ้าน หรือรปภ.จะตรวจสอบได้ยากเพราะไม่ใช่ข้อมูลที่เผยแพร่โดยทั่วไป เพราะฉะนั้นถ้าลูกจ้างไม่ได้สิทธิ์ตามที่ได้ระบุไว้ในสัญญา ลูกจ้างก็เป็นผู้มีอำนาจในการเรียกร้องสิทธิ์ของตนเอง” นายศุภวิชกล่าว

สำนักงานทรัพย์สินและกีฬา แจงมีแผนรับดูแลการจ้างแรงงานเองโดยตรงมากขึ้น ส่วนของคณะต่างๆ แต่ละคณะเป็นผู้รับผิดชอบการจ้างงานส่วนนี้เอง 

นายยรรยง อัครจินดานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินและกีฬา กำลังให้สัมภาษณ์กับกองบรรณาธิการเกี่ยวกับประเด็นการจ้างบริษัทภายนอกดูแล และจัดหาลูกจ้างรายวัน ในงานรักษาความสะอาด และงานรักษาความปลอดภัย ในพื้นที่ มธ. ศูนย์รังสิต

นายยรรยง อัครจินดานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินและกีฬา มธ. กล่าวว่า นอกเหนือจากหอพักและศูนย์กีฬาที่ดูแลอยู่ ในปีนี้ทางมหาวิทยาลัยได้โอนอาคาร SC และกลุ่มอาคารสุขศาสตร์มาให้สำนักงานทรัพย์สินฯ ดูแล  ตอนนี้ยังไม่ได้วางแผนอะไรชัดเจน และยังคงให้บริษัทภายนอกดูแลไปก่อน ส่วนเรื่องการจ้างเองแบบ 100 % ไม่พึ่งบริษัทภายนอก คงต้องรอให้สำนักทรัพย์สินฯ มีความชำนาญมากกว่านี้ก่อน 

“มีความคิดว่าในอนาคต หากต้องจ้างบริษัทภายนอกจะทำสัญญาที่ยาวขึ้นเป็น 5 ปี และให้รับผิดชอบเฉพาะจัดหาแรงงานเท่านั้น ส่วนหน้าที่ดูแลระบบและการจัดการ จะเป็นคนของทางสำนักทรัพย์สินฯ เอง ส่วนแม่บ้านและรปภ.ตามคณะต่างๆ แต่ละคณะเป็นผู้รับผิดชอบ ไม่ได้ก้าวก่ายกัน” นายยรรยงกล่าว

นายยรรยง กล่าวอีกว่า โดยปกติการเข้าไปกำกับดูแลวิธีการทำงานของบริษัทภายนอกที่จ้างมารับผิดชอบงานบางส่วนแทนนั้น จะมีการตรวจการทำงานเบื้องต้นทุกเดือนว่าเป็นไปตาม TOR (Term of reference) หรือข้อกำหนดที่ผู้ว่าจ้างต้องการให้ผู้รับจ้างทำ หรือไม่ และร่วมกันปรับปรุงไปเรื่อยๆ 

“เรามีความพยายามที่จะดูแลการจ้างแรงงานเหล่านี้เองมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะการจ้างบริษัทภายนอก แม้บริษัทไหนจะประมูลได้ ก็จ้างคนกลุ่มนี้กลุ่มเดิม แต่คุณภาพชีวิตพวกเขากลับไม่ได้ดีขึ้นเลย เพราะสัญญาจ้างมันเป็นปีต่อปี บริษัทเลยไม่กล้าลงทุน แต่เรากล้าลงทุน ทั้งเรื่องอุปกรณ์และเทคโนโลยีที่จะช่วยผ่อนแรงคน และสามารถวางแผนพัฒนาแรงงานได้ เพราะเราได้รับโอนจากมหาวิทยาลัยให้ดูแลระยะยาว” นายยรรยงกล่าว

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
6
Love รักเลย
1
Haha ตลก
1
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:News

News

รองอธิการฯ ศูนย์รังสิตเผย ผู้ร้ายแก๊งตบทรัพย์ถูกออกหมายเรียกแล้ว พร้อมเพิ่มรปภ.ในพื้นที่เพื่อป้องกันเหตุในอนาคต

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง ภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ รองอธิการฯ ศูนย์รังสิตเผย ตำรวจออกหมายเรียกผู้ร้ายแก๊งตบทรัพย์แล้ว หลังกล้องวงจรปิดจับภาพผู้ก่อเหตุไว้ได้ พร้อมเพิ่มรปภ.ชุดใหม่ภายใต้การดูแลของกองบริหารศูนย์รังสิตโดยตรงเพื่อปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่นอกเหนือการดูแลของสำนักงานทรัพย์สินฯ จากกรณีมิจฉาชีพขี่รถจักรยานยนต์ตามรถยนต์ของหนึ่งในอาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เพื่ออ้างว่าผู้เสียหายขับรถเบียดจนเกิดอุบัติเหตุและได้รับบาดเจ็บที่บริเวณขา ...

News

อาจารย์วารสารฯ มธ. คาดคนดังระวังการรับงานมากขึ้น-แนะ 4 วิธีตรวจสอบก่อนเป็นพรีเซนเตอร์

เรื่อง : พรวิภา หิรัญพฤกษ์ และ วรพร รุ่งวัฒนโสภณ ภาพประกอบ : ณัฐธิดา นิติเกษตรสุนทร อาจารย​์วารสารศาสตร์ฯ มธ. คาดคนดังจะระวังการรับงานพรีเซนเตอร์มากขึ้น หลังกรณี ...

News

ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ชี้คดีตากใบขาดอายุความส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ 

เรื่อง : ศิรประภา จารุจิตร ภาพประกอบ : ณัฐธิดา นิติเกษตรสุนทร ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ชี้คดีตากใบขาดอายุความส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ เพราะประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากรัฐ ด้านที่ปรึกษากม. มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม เสนอรัฐฯ ต้องนำกรณีตากใบมาถอดบทเรียน ...

News

ผอ.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์คาด นโยบายเพิ่มจำนวนเด็กอาจไม่ได้ตามเป้า หากประกันสังคมไม่เอื้อให้คนท้องทำโอที

เรื่อง : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ ภาพประกอบ : ณัฐธิดา นิติเกษตรสุนทร ผอ.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ซึ่งให้บริการสายด่วน 1663 ปรึกษาเอดส์และท้องไม่พร้อม คาดนโยบายและยุทธศาสตร์ฯ เพื่อเพิ่มจำนวนการเกิด อาจไม่ถึง ...

News

เครือข่ายธุรกิจอาหารทะเลยั่งยืนเผย ประมงอวนลาก ทำลายนิเวศทะเล แต่หยุดไม่ได้เพราะธุรกิจอาหารสัตว์

เรื่อง : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ ภาพประกอบ : ณัฐธิดา นิติเกษตรสุนทร กก.ผจก.บริษัทปลาออร์แกนิกฯ ซึ่งทำเครือข่ายธุรกิจอาหารทะเลยั่งยืน ชี้ประมงอวนลากกระทบระบบนิเวศทางทะเล เหตุธุรกิจอาหารสัตว์รับซื้อปลาเป็ดจากประมงอวนลาก แนะผู้บริโภคเลือกซื้อหมูไก่ที่เลี้ยงระบบปล่อยอิสระ สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ ...

editorial

Editor’s Note : ‘ตากใบ’ บทพิสูจน์ความจริงใจของรัฐบาล 

ในวันที่ 25 ตุลาคมที่จะถึงนี้ จะเป็นวันครบรอบ 20 ปีของ ‘คดีตากใบ’ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ความรุนแรงครั้งใหญ่ที่รัฐกระทำต่อชาวตากใบ จ.นราธิวาส อย่างไร้มนุษยธรรมจนทำให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 85 ราย ทั้งจากช่วงสลายการชุมนุมและช่วงขนย้ายผู้ร่วมชุมนุม หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าวได้มีการตั้งคณะกรรมการอิสระไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อหาผู้กระทำผิด แต่การดำเนินการทางกฎหมายยังเดินทางไปไม่ถึงขั้นที่สามารถลงโทษใครได้ ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save