เรื่อง ตติยา ตราชู, พิชญา ใจสุยะ
มธ. จ้าง 7 บริษัท ดูแลงานแม่บ้าน-รปภ. ผ่านผู้รับเหมา ประธานกมธ.แรงงาน แนะหน่วยงานรัฐควรจ้างโดยตรงเพื่อเป็นตัวอย่างให้ภาคเอกชนและสร้างความมั่นคงในบั้นปลายชีวิตกับแรงงาน ชี้การจ้างงานแบบ subcontract เอื้อผลประโยชน์นายจ้าง แต่ทำลูกจ้างขาดความมั่นคงในชีวิต
จากกรณีชั่วโมงการทำงานที่มากเกินไปและสวัสดิการที่ไม่เป็นธรรมของแม่บ้านและพนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ลูกจ้างบริษัท ถลาง พร็อพเพอร์ตี้ แมเนจเมนต์ จำกัด ซึ่งหลายส่วนงานในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต ได้จ้างเหมาช่วงให้ดูแลส่วนงานรักษาความสะอาดและรักษาความปลอดภัย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ส่วนงานรักษาความสะอาดและรักษาความปลอดภัยทั้งส่วนกลางของมหาวิทยาลัย และคณะต่างๆ นั้นใช้วิธีการจ้างบริษัทภายนอก (outsource) ให้รับผิดชอบดูแลการจ้างแม่บ้านและรปภ.เข้ามาทำงาน โดยจ่ายค่าจ้างแบบเหมาช่วงเป็นก้อน แบ่งจ่ายเป็นงวดทั้งหมด 12 เดือน ตามที่บริษัทภายนอกซึ่งชนะการประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) ได้เสนอราคามา โดยใช้เกณฑ์ราคาต่ำสุด ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 บริษัทภายนอกเหล่านี้ จะทำการจ้างแม่บ้านและรปภ.ในรูปแบบของ subcontract ซึ่งเป็นการจ้างแรงงานสัญญาระยะสั้นที่มีกำหนดระยะเวลา
ผู้สื่อข่าวได้รวบรวมข้อมูลจัดทำตารางเพื่อเปรียบเทียบค่าจ้าง ชั่วโมงการทำงาน ชั่วโมงพัก ค่าจ้างกรณีทำงานในวันหยุดนักขัตฤกษ์ และสวัสดิการต่างๆ ที่แม่บ้าน และรปภ. ได้รับจากบริษัทภายนอกซึ่งถูกจ้างโดยส่วนงานภายในมธ. ศูนย์รังสิต ทั้งหมด 7 บริษัท ภายใต้ระยะเวลาสัญญา 1 ปี โดยแยกเป็นข้อมูลส่วนแม่บ้าน และส่วนรปภ. ดังนี้
*https://varasarnpress.co/news/แม่บ้าน-รปภ-มธ/
แม่บ้าน ก (ปกปิดชื่อแหล่งข่าว) ลูกจ้างบริษัท เอ็น.ซี.ซี. ออล เซอร์วิส จำกัด กล่าวถึงสวัสดิการของบริษัทว่า ถ้าเบิกเงินเดือนล่วงหน้าจะโดนคิดดอกเบี้ยร้อยละ 10 ของเงินที่เบิกล่วงหน้า “เงินเดือนตัวเอง เบิกไปใช้เอง แล้วยังเสียดอก (เบี้ย) ก็มีเงินพิเศษนะ ขายขวด ปีหนึ่งก็แบ่งเงินตามอายุงาน ใครอยู่นานก็เยอะหน่อย สวัสดิการแม่บ้าน”
แม่บ้าน ข (ปกปิดชื่อแหล่งข่าว) ลูกจ้างบริษัทมารีน ยูนิคลีน จำกัด กล่าวถึงค่าจ้างในวันหยุดนักขัตฤกษ์ว่า วันหยุดนักขัตฤกษ์จะไม่มีการทำงาน หยุดตามคณะที่ทำงานอยู่ เพราะได้เงินค่าจ้างเป็นรายเดือน ซึ่งก็จะสบายกว่าแม่บ้านตึกอื่นที่ได้เป็นรายวัน เพราะค่าจ้างรายวันได้เป็นขั้นต่ำอยู่แล้ว ถ้าหยุดหลายวันอีกก็เคราะห์ร้ายไป
นายสุเทพ อู่อ้น ประธานกรรมาธิการแรงงาน และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคก้าวไกล กล่าวถึงความจำเป็นของการจ้างงานแบบ subcontract ว่า หากมองในมุมของนายจ้าง การจ้างงานแบบนี้จะมีความยืดหยุ่นตามเศรษฐกิจที่มีความผันผวน ช่วงขาขึ้นก็จ้างงาน ช่วงขาลงไม่ต้องการกำลังแรงงาน ก็สามารถเลิกจ้างได้
“เหตุผลของภาครัฐที่ใช้ในการจ้างบริษัท subcontract หรือข้อมูลที่ใช้อ้างก็ไม่ต่างจากภาคเอกชน เขาก็จะบอกว่างบประมาณของหน่วยงานมีจำกัด จึงจำเป็นต้องมีการจ้าง และไม่มีการผูกพันในเรื่องงบประมาณเกี่ยวกับสวัสดิการ มันเป็นเหตุผลเดียวกันเลย ซึ่งจริง ๆ มันไม่ควรจะมีการจ้างแบบนี้” นายสุเทพกล่าวและว่า การจ้าง บริษัท subcontract ในหน่วยงานราชการกลายเป็นตัวอย่างให้ภาคเอกชนนำเอารูปแบบการจ้าง subcontract นี้มาใช้อย่างแพร่หลาย หน่วยงานภาครัฐควรจะจ้างโดยตรง เพราะมีความต่างในเรื่องของค่าจ้าง เรื่องตำแหน่ง เรื่องค่าตอบแทน ที่ค่อย ๆ ปรับขึ้นไปตามอายุงาน ซึ่งจะสร้างความมั่นคงในบั้นปลายชีวิตให้กับแรงงาน
ส่วนเรื่องความไม่มั่นคงในชีวิตที่เกิดจากการจ้างงานแบบ subcontract นายสุเทพกล่าวว่า การจ้าง subcontract เป็นการจ้างงานที่กดทับแรงงาน ซึ่งเริ่มแรกการจ้างรูปแบบนี้เกิดขึ้นเพื่อจ้างแรงงานระยะสั้นเข้ามาช่วยเสริมในกระบวนการผลิตช่วงขาขึ้น แต่หลังจากปีพ.ศ. 2540 กลับกลายเป็นว่าการจ้างงาน subcontract มีลักษณะเป็นการจ้างที่ต่อเนื่อง ทำให้แรงงานขาดความมั่นคงในการทำงาน เพราะการจ้างรูปแบบนี้จะไม่มีในเรื่องของสวัสดิการ มีโอกาสที่จะถูกเลิกจ้างได้ตลอดเวลา
“แล้วทีนี้มันก็จะเป็นมหากาพย์ คนที่ได้ผลประโยชน์ก็จะเป็นคนส่วนน้อย ทั้งหน่วยงานราชการและภาคเอกชน ผลประโยชน์ที่ว่าก็คือความมั่นคง แต่คนจำนวนมากซึ่งเป็นแรงงานกลับไม่ได้ ทั้งเรื่องอาชีพ ที่อยู่อาศัย อำนาจในการจับจ่ายใช้สอย การดูแลครอบครัวต่าง ๆ จะน้อยลง มันส่งผลไปถึงนะครับ สิ่งสำคัญกว่านั้นก็คือเรื่อง การให้ลูกตนเองได้เรียนในระดับที่สูงขึ้น หรือเท่าเทียมกับคนกลุ่มน้อยที่ว่าด้วย” นายสุเทพกล่าว
สำหรับประเด็นปัญหาการถูกละเมิดสิทธิของลูกจ้าง subcontract ในบริษัทภายนอกที่ถูกจ้างโดยหน่วยงานรัฐอีกทีนั้น นายสุเทพกล่าวว่า กระบวนการฟ้องร้องจะมีการตัดตอนในเรื่องของกฎหมาย เพราะถือเป็นลูกจ้างของบริษัทที่หน่วยงานรัฐจ้างมา เวลาฟ้องเลยต้องไปฟ้องกับทางบริษัทต้นสังกัด ซึ่งกฎหมายก็ยังไม่ครอบคลุมถึงปัญหาตรงนี้
“มันมีความซับซ้อนมากในกฎหมายแรงงานไทย ซึ่งทางพรรคก้าวไกลโดยเฉพาะปีกแรงงาน ต้องการยกประมวลกฎหมายการจ้างงาน ให้อยู่ในรูปแบบการจ้างที่ไม่หลากหลายเหมือนอย่างในปัจจุบันที่ทำให้แม้กระทั่งมีกฎหมายแล้ว ก็ยังไม่สามารถบังคับใช้กับการจ้างที่ขาดความมั่นคงได้เลย ตรงนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนและซับซ้อนมาก” นายสุเทพกล่าว
นายสมชาย สุภัทรกุล รองอธิการบดีฝ่ายการคลัง มธ. กล่าวถึงรายละเอียดสัญญาจ้างที่หน่วยงานในมหาวิทยาลัยทำกับบริษัทภายนอกว่า โดยทั่วไปในข้อกำหนดเกี่ยวกับการจ้างงาน (TOR) จะไม่ได้ระบุจำนวนเงินที่บริษัทต้องจ่ายให้ลูกจ้าง หรือสวัสดิการที่ลูกจ้างต้องได้รับ แต่เงื่อนไขทุกอย่างต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด เช่น ค่าแรงต้องมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำ 330 บาท เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันงานรักษาความสะอาดและรักษาความปลอดภัยส่วนกลางของมหาวิทยาลัย ได้โอนไปให้ทางสำนักงานทรัพย์สินและกีฬารับผิดชอบ ส่วนคณะต่างๆ ทางมหาวิทยาลัยได้จัดสรรงบเป็นก้อนให้แต่ละคณะนำไปบริหารเองว่าจะใช้งบในส่วนนี้เท่าไรและอย่างไร
“หากมีการละเมิดสิทธิลูกจ้างโดยบริษัทภายนอก จะต้องมีการร้องเรียนจากลูกจ้าง เมื่อทราบก็จะสามารถคุยกับบริษัทได้ เพราะทางมหาวิทยาลัยถือเงินอยู่ อีกทั้งหากมีข้อมูลการละเมิดจำนวนมาก ก็อาจจะตั้งศูนย์เอาไว้ให้ลูกจ้างจากบริษัทภายนอกมาแจ้งได้” นาย สมชายกล่าว