เรื่อง: อาสา งามกาละ
ภาพ: กัญญาภัค ขวัญแก้ว
ช่วงที่ผ่านมา เราอาจได้ยินคำพูดที่ว่า กลุ่มความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBTQ+ ในไทยได้รับการยอมรับจากสังคม แต่ในความเป็นจริงยังมีประเด็นของกลุ่ม LGBTQ+ ที่ยังต้องเรียกร้องเพื่อความเท่าเทียมอยู่อีกมากมาย
Photo Series ในครั้งนี้จะพาทุกคนไปดูกันว่า นอกจากเรื่องชีวิตคู่ ที่มีการเรียกร้องให้แก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในเรื่องการสมรส แทนการใช้ พรบ. คู่ชีวิต แล้ว ยังมีอะไรอีกบ้างที่จะเป็นก้าวสำคัญของความเท่าเทียมสำหรับ LGBTQ+ ในสังคมไทย
บางครั้ง LGTBQ+ ก็ถูกคาดหวังให้เป็นในสิ่งที่พวกเขาไม่ได้เป็น เช่น คาดหวังว่าจะต้องเป็นตัวแทนของความตลก สนุกสนาน ซึ่งเป็นการตีกรอบความเป็นตัวตนของเพศ หากทุกคนในสังคมเข้าใจว่าแต่ละคนมีบุคลิกและตัวตนที่ต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเพศใด กรอบของความคาดหวังนี้ ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะนำมาปิดกั้นตัวตนของใครได้
การเลือกปฏิบัติต่อ LGBTQ+ ในสังคมไทยที่บางคนอาจมองข้ามไป คือ การกำหนดคำนำหน้าชื่อ ที่เป็นเหมือนการตีตราและวางกรอบปฏิบัติตามคำที่ระบุอยู่ด้านหน้าชื่อ…คงจะดีหากเราสามารถเลือกคำนำหน้าชื่อตามเพศสภาพของตัวเองได้
แม้ LGBTQ+ จะได้รับการยอมรับจากสังคมมากขึ้นแล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีคนบางส่วนที่ยังมองการแสดงออกตามเพศวิถี เช่น การแต่งกายตรงข้ามกับเพศสภาพว่าผิดแผก แหวกขนบของสังคม ทั้งที่บางครั้งไม่จำเป็นเลยที่เราจะต้องคอยระวัง หรือแสดงออกให้ใครๆ เห็นว่าเราเป็นเพศอะไร แค่มั่นใจที่จะเป็นตัวเองก็พอแล้ว
ปัจจุบันยังมีบางองค์กร บางอาชีพที่ไม่รับ LGBTQ+ เข้าทำงาน หรือกดทับพวกเขาโดยการบังคับให้แต่งกายตามเพศกำเนิด ทั้งที่สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งวัดความสามารถ หรือความสำเร็จของพวกเขาเลยด้วยซ้ำ จริงๆ แล้วเพศไม่ควรจะเป็นข้อจำกัดของการทำงานใดๆ อีกต่อไปแล้ว
หลายครั้งปัญหาที่เกิดกับ LGBTQ+ มาจากการไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม การที่สังคมเปิดใจและยอมรับพวกเขามากขึ้นอย่างที่พวกเขายอมรับตัวเองได้ อาจจะเป็น Movement ที่สำคัญ และเป็นก้าวใหม่ของ LGBTQ+ ในสังคมไทย ที่จะทำให้ความเท่าเทียมเกิดขึ้นได้แบบที่ทุกคนก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆ กัน
Writer: อาสา งามกาละ
Creative: อาสา งามกาละ, เก็จมณี ทุมมา
Photographer: กัญญาภัค ขวัญแก้ว
Illustrator: วีริสา ลีวัฒนกิจ
Models: สุรดิษ ปัทมผดุงศักดิ์, ณัฐมน ทีฆาวงศ์, รักษิต อวชัย