Ready-to-readWritings

สังคมที่บีบให้ดอกหญ้าต้องโตในป่าปูน

เรื่อง พัณณิตา ดอนเลย

ภาพ เก็จมณี ทุมมา

เพลงคือผลผลิตจากคนที่เติบโตขึ้นในสังคม เพลงจึงถ่ายทอดความสุข ความทุกข์ และชีวิตของคน กระทั่งสะท้อนถึงสภาพสังคมที่คนต้องเจอ โดยเฉพาะเพลงลูกทุ่งซึ่งมีความโดดเด่นในการเล่าถึงชีวิตของคนต่างจังหวัดที่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด เช่นเดียวกับเพลง “ดอกหญ้าในป่าปูน”

เพลงดอกหญ้าในป่าปูนเป็นเรื่องราวของผู้หญิงต่างจังหวัดที่ต้องไปทำงานในกรุงเทพฯ ใช้แรงงานแลกเงินเพื่อเรียนต่อในระดับปริญญาตรี ซึ่งเนื้อเพลงจะชี้ให้เห็นถึงความลำบากในมุมของผู้ที่มีฐานะยากจนแต่ต้องใช้ชีวิตในเมืองหลวงตลอดทั้งเพลง ก่อนที่หวังว่าสักวันเธอจะเรียนจบปริญญาตรีและหวนคืนสู่บ้านเกิด

เพลงดังกล่าวเป็นผลงานในอัลบั้มดอกหญ้าในป่าปูน ซึ่งเป็นอัลบั้มชุดแรกของ อรทัย ดาบคำ หรือ ต่าย อรทัย เพลงนี้เกิดจากปลายปากกาของสลา คุณวุฒิ หรือครูสลา วางจำหน่ายในปี 2545 และสร้างชื่อเสียงให้กับต่าย จนทำลายสถิติอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เธอกลายเป็นนักร้องหญิงลูกทุ่งคนแรกที่มียอดขายทะลุ 1 ล้านตลับ ติดต่อกัน 3 อัลบั้ม เริ่มจากอัลบั้มดอกหญ้าในป่าปูน ต่อด้วยอัลบั้มขอใจกันหนาว ในปี 2547 และอัลบั้มชุดพิเศษอยู่ในใจเสมอ ซึ่งวางจำหน่ายในปีเดียวกัน พร้อมกับที่ต่ายได้รับฉายาว่า ‘ราชินีดอกหญ้า’ มาจนถึงปัจจุบัน

ดอกหญ้าซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของต่าย อรทัย สะท้อนถึงลักษณะของเพลงที่เธอมักจะสื่อสารสู่สังคม เนื่องจากต่ายก็เป็นคนที่ต้องดิ้นรนหาโอกาสทางการศึกษาและทำงานในกรุงเทพฯ เนื้อเพลงที่เธอขับร้องจึงมักมีกลิ่นอายของผู้หญิงต่างจังหวัดที่ต้องอดทนทำงานเพื่อชีวิตที่ดีขึ้น เปรียบเสมือนดอกหญ้าที่แม้จะอยู่ติดดิน แต่ก็แข็งแกร่ง เติบโต และผลิดอกได้ทุกที่ ความลำบากเหล่านี้ถูกชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนในเพลงดอกหญ้าในป่าปูน ดังเนื้อเพลงท่อนหนึ่งที่ว่า

“เอาแรงเป็นทุน สู้งานเงินเดือนต่ำๆ เก็บเงินเข้าเรียนภาคค่ำ ก่อความหวังบนทางเปื้อนฝุ่น”

ความลำบากของคนฐานะยากจนไม่ได้เป็นเพียงวัตถุดิบในการแต่งเพลงเท่านั้น หากแต่เป็นเรื่องราวที่คนต้องพบเจอในชีวิตจริงท่ามกลางสังคมไทยซึ่งเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำ

สภาพสังคมในช่วงก่อนจะมีผลงานเพลงดังกล่าว สามารถสำรวจได้จากรายงานเรื่อง ความเหลื่อมล้ำไทย ทำไมไม่เท่าเทียม เผยแพร่ในปี 2562 โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่าช่วงก่อนวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 เป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยเติบโตสูง ผนวกกับนโยบายการพัฒนาพื้นที่จากส่วนกลาง และมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมซึ่งกระจุกตัวอยู่เพียงเมืองขนาดใหญ่ ทำให้ความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ถ่างกว้างมากขึ้น

งานศึกษาชิ้นนี้ยังระบุอีกว่า คนที่อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าคนที่อาศัยในกรุงเทพฯ ถึง 9 เท่า

จนถึงปัจจุบัน ความเหลื่อมล้ำในไทยก็ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รายงานจาก Credit Suisse ธนาคารเพื่อการลงทุนและให้บริการทางการเงิน ซึ่งเผยแพร่ในปี 2561 ชี้ว่า ช่วงปี 2551-2561 คนรวยที่สุดร้อยละ 1 ในไทย มีการถือครองสินทรัพย์เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด คือครอบครองเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 17.5 ในขณะที่ประเทศอื่น เช่น อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และออสเตรเลีย เพิ่มขึ้นไม่ถึงร้อยละ 6

นอกจากการเพิ่มสูงอย่างรวดเร็วแล้ว คนกลุ่มนี้ยังถือครองสินทรัพย์ในจำนวนที่มาก กล่าวคือ คนร้อยละ 1 บนสุดของไทยครอบครองสินทรัพย์เฉลี่ยคนละ 33 ล้านบาท ต่างกับค่าเฉลี่ยของกลุ่มคนร้อยละ 20 ที่จนที่สุดของประเทศถึง 2,500 เท่า และรายงานได้ระบุว่าในปี 2561 กลุ่มคนซึ่งรวยที่สุดนี้ถือสินทรัพย์ทั้งหมดร้อยละ 66.9 หรือเกือบ 3 ใน 4 ของทั้งประเทศ

ส่งผลให้ไทยกลายเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งมากที่สุดในโลก

ในขณะที่ประเทศอันดับรองลงมา เช่น รัสเซีย ตุรกี และอินเดีย คนรวยที่สุดครอบครองสินทรัพย์ร้อยละ 57.1 ร้อยละ 54.1 และร้อยละ 51.5 ของทั้งประเทศตามลำดับ และเมื่อเทียบกับประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำที่สุดอย่างเบลเยียม พบว่าคนร้อยละ 1 มีสินทรัพย์รวมร้อยละ 20.1 ของทั้งประเทศ ตัวเลขนี้แสดงความต่างระหว่างไทยกับประเทศอื่น ๆ อย่างชัดเจน สามารถสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำของประเทศไทยในระดับที่ยากจะจินตนาการได้

สังคมเช่นนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งในการหล่อหลอมให้เกิดเพลงดอกหญ้าในป่าปูน ที่สำคัญเนื้อหาในเพลงก็ไม่ได้จมหายไปพร้อมกับยุคสมัย ทว่าสามารถใช้อธิบายถึงความลำบากของคนจนที่ปัจจุบันก็ยังต้องเผชิญกับความเหลื่อมล้ำได้เป็นอย่างดี

ในขณะที่เสียงเพลงขับขานเพื่อส่งเสียงให้สังคมได้ยินว่าคนจนกำลังพบเจอกับชีวิตแบบไหน การมีอยู่ของอุตสาหกรรมเพลงลูกทุ่งก็เปรียบเสมือนการต่อสู้เพื่อให้เหล่าสามัญชนมีที่ทางในสังคมไปพร้อมๆ กัน

หากสำรวจจุดเริ่มต้นของเพลงลูกทุ่ง จะพบว่าปี 2507 เป็นปีที่เริ่มมีการแบ่งประเภทของเพลงลูกกรุงกับเพลงลูกทุ่ง โดยเพลงลูกกรุงมักจะเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับความรัก ไม่ได้กล่าวถึงปัญหาจากคุณภาพชีวิต เช่น เพลงที่รัก ของชรินทร์ นันทนาคร และเพลงดอกแก้ว ของสุเทพ วงศ์กำแหง ในขณะที่เพลงลูกทุ่งสะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นผ่านวิถีชีวิตของคนจนมากกว่า เช่น เพลงจำเสี่ยงเลี้ยงพ่อ ของสุนารี ราชสีมา และเพลงเพื่อแม่แพ้บ่ได้ ของศิริพร อำไพพงษ์

ดังนั้น เพลงลูกทุ่งจึงไม่ใช่แค่เพียงเครื่องบรรจุความเจ็บปวดในระดับปัจเจก แต่การมีอุตสาหกรรมซึ่งเป็นพื้นที่ที่สามารถสื่อสารให้คนรับรู้ว่าคุณภาพชีวิตของคนจนย่ำแย่แค่ไหนตลอดเกือบ 60 ปีที่ผ่านมา คือการไม่ยอมเงียบต่อความเหลื่อมล้ำทางชนชั้น

เว็บไซต์ Chartmasters ซึ่งรวบรวมสถิติในวงการเพลง ได้เผยรายชื่อของศิลปินที่คนไทยฟังผ่านช่องทางยูทูบมากที่สุด 10 อันดับในปี 2563 พบว่าเป็นนักร้องลูกทุ่งถึง 4 คน ได้แก่ มนต์แคน แก่นคูน พงศธร ศรีจันทร์ หรือไผ่ พงศธร จินตหรา พูนลาภ และลำเพลิน วงศกร ก็ยิ่งตอกย้ำว่าการต่อสู้ทางวัฒนธรรมเพื่อให้มีที่ยืนในสังคมของคนลูกทุ่งกำลังถูกมองเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ

คุณค่าของเพลงลูกทุ่งจึงเป็นการทำงานกับความคิดคน ถ่ายทอดความเหลื่อมล้ำในมิติที่งานวิจัยหรือสถิติไม่สามารถทำได้ เพราะมันสะท้อนถึงความรู้สึกของคนที่ไม่อาจมองเห็นหรือวัดค่า แต่กลับสามารถย้ำเตือนให้เราตระหนักอยู่เสมอว่า

สังคมไทยยังมีดอกหญ้าที่ต้องเจ็บปวดกับการดิ้นรนเพื่อเติบโตในป่าปูนอยู่ทุกวัน


บรรณานุกรม

THAIPUBLICA. 2562. “ความเหลื่อมล้ำไทย ทำไมไม่เท่าเทียม (2): ยิ่งห่างไกล “เมืองใหญ่” ยิ่ง “ยากจน”.”เข้าถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565. https://thaipublica.org/2019/12/bot-report-inequality02/

THE STANDARD. 2564. “สำรวจเส้นทางดนตรีของ ‘ราชินีดอกหญ้า’ ต่าย อรทัย จากดอกหญ้าในป่าปูน สู่ศิลปินลูกทุ่งหญิงคนแรกที่ได้ขึ้น Billboard Times Square.” เข้าถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565.https://thestandard.co/tai-orathai/

TNN ONLINE. 2564. “เหลียวหลัง…แลหน้า ความเหลื่อมล้ำไทย.” เข้าถึงวันที่ 6 เมษายน 2565.https://www.tnnthailand.com/news/wealth/79704/

workpointTODAY. 2561. “รวยกระจุก จนกระจาย ! ไทย มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสูงอันดับ 1 ของโลก.” เข้าถึงวันที่ 6 เมษายน 2565. https://workpointtoday.com/รวยกระจุก-จนกระจาย-ไทย-ม/

workpointTODAY. 2562. “แบงก์ชาติเผยรายงาน ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ คนรวย-คนจน ห่างกัน 10เท่า.” เข้าถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565. https://workpointtoday.com/inequality/

workpointTODAY. 2565. “แชมป์ 2 ปีซ้อน คนไทยสตรีมเพลง มนต์แคน แก่นคูน บน YouTube มากที่สุดในปี 2021 สะท้อนความรักเพลงลูกทุ่งของคนไทย.” เข้าถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565.https://workpointtoday.com/มนต์แคน-แก่นคูน-most-stream-youtube-thailand-2021/

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
5
Love รักเลย
1
Haha ตลก
1
Sad เศร้า
1
Angry โกรธ
1
Ready-to-read

ศาสนา ป้ายหาเสียง การเลือกตั้ง

เขียนโดย จิรัชญา นุชมี ภาพโดย จิรัชญา นุชมี ใกล้เข้ามามากแล้วสำหรับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปี 2566 ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ จึงเป็นเรื่องปกติที่เราจะได้เห็นป้ายหาเสียงติดตามเสาไฟ กำแพง ตามท้องถนน โดยแต่ละพรรคการเมืองก็เลือกใช้สีที่โดดเด่นและเขียนชูนโยบายของพรรคอย่างชัดเจน ...

Writings

สิ่งที่ “เห็น” ในข่าว อาจไม่ใช่สิ่งที่ “เป็น”

เรื่อง รุจน์ โกมลบุตร ภาพ เก็จมณี ทุมมา เมื่อผู้บริโภคเปิดรับข่าว ย่อมเป็นธรรมดาที่เราจะคาดหวังจะได้รับข้อเท็จจริงที่ตรวจสอบแล้ว มีการนำเสนอเนื้อหาอย่างรอบด้าน ชัดเจน และสามารถนำพาสังคมไปสู่ทางเลือกที่ดีกว่าได้ ทว่าในสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น อาจสังเกตเห็นได้ว่าเรากำลังได้รับข่าวที่เจือปนไปด้วยข้อมูลเท็จ ปราศจากการตรวจสอบ เป็นข้อมูลด้านเดียว ...

Writings

มนต์รักทรานซิสเตอร์: การเกณฑ์ทหารที่ทำให้ชีวิตต้อง “ผิดแผน”

เรื่อง พัณณิตา ดอนเลย ภาพ เก็จมณี ทุมมา ภาพยนตร์คือเครื่องบันทึกร่องรอยของสภาพสังคมที่เรื่องราวนั้นถูกสร้างขึ้น ภาพยนตร์หลายเรื่องจึงทำให้คนหวนคิดถึงวันวาน หลายเรื่องสะท้อนสถานการณ์ปัจจุบัน และหลายเรื่องก็ชวนฝันถึงอนาคต แต่จะมีภาพยนตร์สักกี่มากน้อยที่สามารถตีแผ่สังคมได้ตั้งแต่วันที่เข้าฉาย แล้วยังลอยละล่องเหนือกาลเวลา ทำหน้าที่สะท้อนสังคมซึ่งให้หลังไปอีกกว่า 20 ปี ...

Writings

วันสงกรานต์ที่ไม่ได้กลับบ้าน

เรื่อง ปาณัสม์ จันทร์กลาง ภาพ เก็จมณี ทุมมา ในคืนของวันที่ 10 เมษายน ผมกลับห้องมาด้วยความเหนื่อยล้าสะสม ตลอดทั้ง 3 วันที่ต้องเป็นสตาฟฟ์จัดงานกีฬาของมหาวิทยาลัย แม้งานจะจบไปได้ด้วยดีทำเอาชื่นใจ แต่ก็ไม่สามารถชดเชยความอยากนอนของผมได้ ...

Writings

‘เวลา’ เรื่องราวของความรัก ใต้เวรกรรมทางการเมือง

เรื่อง สมิตา พงษ์ไพบูลย์ ภาพ เก็จมณี ทุมมา ภาพยนตร์เป็นสื่อที่บันดาลใจใครหลายคน หากเปรียบสื่อนี้เป็นอาหาร การได้เดินผ่านโรงภาพยนตร์ ก็นับเป็นหนึ่งรสชาติที่ทำให้ก้อนเนื้อในอกเริ่มเคลื่อนไหวด้วยจังหวะที่รวดเร็วขึ้น แต่ความรู้สึกสงบหลังภาพสีฉูดฉาดของหนังจบลง แล้วทาบทับด้วยผืนภาพสีดำเข้มใต้ตัวอักษรที่บอกเล่าชื่อของผู้มีส่วนร่วมในการสร้าง นี่สิที่ยิ่งกว่า…นี่เป็นช่วงเวลาได้ตกผลึก และไตร่ตรองถึงเนื้อเรื่องที่ถูกขมวดเล่าผ่านกรรมวิธีที่งดงาม ได้นั่งคิดว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง ...

Writings

สิ่งที่ นักเรียนสื่อ – คนสอนสื่อ – คนทำสื่อ ควรหาทำ

เรื่อง : รุจน์ โกมลบุตร ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา ก่อนจะเปิดเทอมใหม่ ก็มีวาระที่ผมและเพื่อนๆ ที่ทำงานสอนในโรงเรียนสอนคนทำสื่อจะมานั่งสุมหัวกันเพื่อทบทวนการทำงานที่ผ่านมา และหาแนวทางปรับปรุงการทำงานของพวกเราให้ดีขึ้น รัดกุมขึ้น มีทิศทางที่แม่นยำขึ้น เช่นเมื่อกลางเดือนกรกฎาคม ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save