SocietyWritings

‘ทวิตภพ’ ภายใต้การนำของ Elon Musk: พื้นที่แห่งการแสดงออกอย่างเสรี หรือแหล่งบ่มเพาะ hate speech

เรื่องและภาพ: ณัฐกมล สิทธิวงศ์

หลายคนคงทราบข่าวที่สะเทือนวงการเทคโนโลยีไปพอสมควร เมื่อ Elon Musk ผู้บริหารระดับสูงสุดของบริษัท Tesla และ SpaceX ปิดดีลซื้อกิจการของสื่อโซเชียลมีเดียอย่าง twitter (ทวิตเตอร์) ได้สำเร็จ ในมูลค่า 44,000 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.6 ล้านล้านบาท) พร้อมกับเชิญพนักงานระดับสูงออกทั้งหมด 4 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ CEO อย่าง Parag Agrawal ทั้งนี้การตัดสินใจซื้อกิจการนั้นมีเค้าลางมาให้เห็นตั้งแต่ช่วงกลางเดือนเมษายนที่ Musk ยื่นข้อเสนอแก่ทวิตเตอร์เป็นครั้งแรก จนนำมาซึ่งเสียงวิพากษ์วิจารณ์และสนับสนุนจากผู้ใช้งานทวิตเตอร์ที่มีจุดยืนทางสังคม หรือทางการเมืองที่แตกต่างกัน

Free speech และ Hate speech บนเส้นแบ่งทางการเมืองของสหรัฐฯ

Musk ได้ประกาศและเคลื่อนไหวบนทวิตเตอร์อยู่บ่อยครั้งถึงสาเหตุที่ตัดสินใจซื้อกิจการของทวิตเตอร์ว่า เป็นเพราะเขาเชื่อในเสรีภาพการพูดอย่างสุดโต่ง (free speech absolutist) และไม่สนับสนุนการแบนผู้ใช้งานแบบถาวร เหมือนกับกรณีของ Donald Trump (อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ) ที่ถูกทวิตเตอร์แบนเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2021 เนื่องจากทวีตข้อความที่อาจเป็นการกระตุ้นให้ผู้สนับสนุน Trump หรือบุคคลทั่วไป ใช้ความรุนแรงหรือเลียนแบบพฤติกรรมการบุกรัฐสภาเพื่อประท้วงผลการเลือกตั้ง

“การแบน Trump นั้นคือความผิดพลาด เพราะถือเป็นการกำจัดกลุ่มคนจำนวนมาก (ที่สนับสนุนพรรครีพับลิกัน) ของประเทศออกไปด้วย และท้ายที่สุดแล้วผลลัพธ์ (จากการแบน) ก็ไม่ได้ทำให้ Trump ไม่มีปากมีเสียงอยู่ดี”

– Elon Musk

แม้ Musk จะวางตัวเป็นกลางทางการเมืองมาตลอด และมีประวัติสนับสนุน­ผู้สมัครประธานาธิบดีพรรค Democrat (เดโมแครต) ที่มีนโยบายหัวก้าวหน้าอยู่เนืองๆ แต่เมื่อไม่นานมานี้เขากลับประกาศอย่างแน่ชัดแล้วว่า จะไม่สนับสนุนคนจากพรรคดังกล่าวอีก และจะโหวตให้กับคนของพรรคตรงข้ามอย่าง Republican (รีพับลิกัน) แทน

“ในอดีตผมเคยลงคะแนนให้กับพรรคเดโมแครต เพราะพวกเขา (ส่วนใหญ่แล้ว) เป็นพรรคการเมืองที่เอื้อเฟื้อ แต่พวกเขาได้กลายเป็นพรรคแห่งความแบ่งแยกและเกลียดชัง ฉะนั้นผมจึงไม่อาจสนับสนุนพวกเขาได้อีกต่อไป และจะลงคะแนนให้พรรครีพับลิกันแทน ทีนี้ก็รอดูแคมเปญสกปรกๆ ที่พวกเขาจะปล่อยมาเล่นงานผมได้เลย…”

ยิ่งไปกว่านั้น เขายังระบุด้วยว่า ทวิตเตอร์เป็นพื้นที่ที่มีความ ‘ซ้ายจัด’ (สนับสนุนพรรคฝั่งประชาธิปไตยแบบสุดโต่ง) จึงอยากทำให้แพลตฟอร์มมีความสมดุลกันมากขึ้นในแง่ของโอกาสของผู้ใช้งานที่จะแสดงความคิดเห็น ทางสังคมหรือทางการเมืองที่ต่างขั้วกันได้อย่างตรงไปตรงมา โดยไม่ต้องถูกแบนแอคเคานต์ หรือถูกคัดกรองผ่านขั้นตอนการตรวจสอบเนื้อหา (content moderation) รวมไปถึงการถูกเซ็นเซอร์ และการคำนึงถึงความถูกต้องทางการเมือง(political correctness; PC) มากจนเกินไป

ทว่า Karen Kornbluh อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐประจำองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Cooperation and Development; OECD) ในสมัยที่ Barack Obama ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีนั้น กลับระบุว่า สหรัฐฯ กำลังประสบปัญหาเรื่องการที่ผู้คนมีแนวคิดแบบสุดโต่งเกินไป ดังจะเห็นได้จากกลุ่มคนที่ต่อต้านการฉีดวัคซีน (anti-vaxxer) ที่อาจมีพฤติกรรมการใช้ความรุนแรง ซึ่งในที่นี้ อาจรวมไปถึงการใช้ hate speech ได้ด้วย นอกจากนี้เธอยังเห็นด้วยกับการแบนแอคเคานต์ทวิตเตอร์ของ Trump เพราะการที่เขาทวีตยุยง และสนับสนุนเหตุประท้วงที่รัฐสภา ถือเป็นพฤติกรรมที่ลดทอนคุณค่าและขัดต่อระบอบประชาธิปไตย

ขณะที่ Robin Mansell ศาสตราจารย์ประจำวิชาสื่อใหม่และอินเทอร์เน็ต ที่วิทยาลัยรัฐศาสตร์และเศรษฐศาสตร์แห่งลอนดอน (London School of Economics and Political science) บอกว่า เสรีภาพในการแสดงออกจะมีความหมายแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับบริบทและสถานที่ แต่เสรีภาพที่ Musk เสนอขึ้นนั้นปราศจากซึ่งความรับผิดชอบต่อผลกระทบที่จะตามมามากกว่า และหากไม่มีการตรวจสอบเนื้อหาเลย ทวิตเตอร์ก็จะกลายเป็นแพลตฟอร์มที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งทางการเมือง สุดท้ายผู้ใช้งานที่ทนไม่ไหวก็จะจากไปเอง แล้ว Musk ก็จะต้องหันกลับมากังวลในท้ายที่สุดว่าจะทำอย่างไรให้แพลตฟอร์มสามารถสร้างเม็ดเงินหรือกำไรให้กับเขาได้

จะเห็นได้ว่าแม้ Musk ต้องการที่จะผลักดันให้ทวิตเตอร์เป็นพื้นที่แห่งเสรีภาพในการแสดงออกของผู้ใช้งานที่สนับสนุนพรรคการเมืองตรงข้ามกัน ด้วยการแสดงจุดยืนต่อต้านการแบนบัญชีผู้ใช้งาน แต่ความตั้งใจดังกล่าวก็ยังมาจากอคติบนฐานคิดที่ว่า มีพรรคหนึ่งที่กลายเป็นตัวร้ายและจ้องจะเล่นงานเขา เลยเลือกที่จะสนับสนุนอีกพรรคหนึ่งซึ่งเป็นผู้ที่ถูกกลั่นแกล้งอย่างไม่เป็นธรรม (ในสายตาเขา) แทน จึงเป็นที่น่าคิดว่านโยบายนับจากนี้ไปจะเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ใช้งานกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากเป็นพิเศษหรือไม่ และสะท้อนให้เห็นว่าการทำให้แพลตฟอร์มมีความสมดุลกันอย่างที่เขาว่านั้น อาจเป็นไปไม่ได้ตั้งแต่แรกแล้ว

แล้วบรรยากาศของ ‘ทวิตภพ’ ที่ไร้การตรวจสอบเนื้อหาจะเป็นอย่างไร

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว แต่โพลสำรวจบนแอคเคานต์ทวิตเตอร์ของ Musk ที่ตั้งคำถามว่า เหล่านักโฆษณาควรให้การสนับสนุนสิ่งใดมากกว่ากัน ระหว่าง Freedom of speech (เสรีภาพในการพูด) กับ Political “correctness” (ความถูกต้องทางการเมือง) นั้น มีผู้ใช้งานถึง 78.3% ที่โหวตเลือกเสรีภาพในการพูด จากผู้ร่วมโหวตทั้งหมดเกือบ 3 ล้านเสียง ซึ่งก็นับเป็นจำนวนที่มากพอจะบอกได้แล้วว่า ผู้ใช้งานส่วนใหญ่ให้คุณค่ากับการมีอิสระที่จะได้พูดแสดงความคิดเห็นต่อประเด็นทางสังคมต่างๆ โดยไม่ต้องคำนึงอยู่ตลอดเวลาว่า สิ่งที่พูดออกไปจะกระทบจิตใจใครหรือไม่ นอกจากนี้ยังเป็นเหมือนหลักฐานยืนยันให้กับ Musk ได้อีกว่า เขามาถูกทางแล้วในฐานะผู้บริหารแพลตฟอร์มคนใหม่

ทว่าหากนโยบายดังกล่าวถูกพัฒนาเป็นกฎบังคับใช้ขึ้นมาจริงๆ ก็เท่ากับเป็นการตอบสนองความต้องการให้กับผู้ใช้งานกลุ่มหนึ่ง ที่มองว่าตนเองมีสิทธิที่จะได้รับรู้ข้อมูล หรือความคิดเห็นต่างๆ บนโลกอินเทอร์เน็ตได้อย่างหลากหลายมากที่สุด แม้ข้อมูลเหล่านั้นอาจสร้างความไม่พอใจ ไม่สบายใจ อึดอัด เป็นมลพิษ ล่อแหลม หยาบคายต่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งมากแค่ไหนก็ตาม เพราะเชื่อว่าผู้ใช้งานแต่ละคนควรที่จะมีภูมิคุ้มกันต่อชุดข้อมูลเหล่านั้นอยู่แล้ว และถ้ารู้สึกว่ารับมือกับไม่ไหว ก็แค่ใช้งานฟังก์ชันปิดการแสดงทวีต (Mute) หรือตั้งค่าเพื่อหลีกเลี่ยงบาง keyword ที่ตัวเองไม่ต้องการเห็น (เช่น มีด เลือด งู แมงมุม เป็นต้น) ก็ถือเป็นการกำจัดมลพิษทางสายตา หรือแม้แต่ hate speech ได้อย่างง่ายดาย และสร้างความลำบากต่อผู้ใช้งานส่วนใหญ่

กระนั้นคำถามชวนคิดที่ตามมาก็คือ หากมีทวีตที่เกี่ยวข้องกับ hate speech ปรากฏขึ้น ใครควรมีหน้าที่รับผิดชอบต่อผลกระทบที่อาจจะตามมาจากการอ่านตัวอักษรเหล่านั้นกันแน่ ระหว่างเจ้าของทวีตกับผู้ที่รู้สึกถูกโจมตีจากทวีตนั้น ซึ่งถ้าจะว่ากันตามหลักความสมเหตุสมผลแล้ว ใครเป็นคนทวีตก็คงต้องรับผิดชอบคำพูดของตัวเองไป แต่จะมีสักกี่คนที่กล้ายอมรับผิด และก็เป็นเรื่องที่ยุ่งยากเสมอกับการลากคู่กรณีบนโลกออนไลน์ที่ใช้นามแฝง และไม่เห็นใบหน้า มารับผิดชอบมลพิษที่ตัวเองก่อขึ้นและผลักภาระการกำจัดนั้นไปให้อีกฝ่ายแทน

ยิ่งไปกว่านั้น สภาวะที่ไร้การตรวจสอบเนื้อหาดังกล่าวยังอาจนำไปสู่การกดทับ หรือมองข้ามเสียงของกลุ่มคนชายขอบต่างๆ ในสังคมทวิตเตอร์ได้ เพราะเมื่อพื้นที่สาธารณะไม่เป็นมิตร หรือขาดความคำนึงถึงเงื่อนไขที่ละเอียดอ่อนบางอย่างเกี่ยวกับกลุ่มสังคมใดสังคมหนึ่งแล้ว ก็คงไม่มีใครกล้าพอที่จะแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผย หรือเป็นตัวของตัวเองได้อย่างสบายใจและเต็มที่ เพราะกลัวแรงปะทะทางสังคมที่มาจากคำพูดบั่นทอนจิตใจต่างๆ ซึ่งปัญหาดังกล่าวอาจปลายถึงขั้นที่ว่า นอกจากทวิตเตอร์จะไม่ใช่พื้นที่ที่ปลอดภัยมากพอสำหรับพวกเขาแล้ว ยังเป็นแหล่งสร้างบาดแผล บ่มเพาะอคติ มุมมองที่ติดลบ จนส่งผลต่อสุขภาวะทางจิตและพฤติกรรมของพวกเขาในระยะยาวได้

ฉะนั้นการปฏิเสธที่จะเซ็นเซอร์เนื้อหา อาจนำไปสู่สถานการณ์ที่เหล่านักเลงคีย์บอร์ดสามารถหาข้ออ้างมาสร้างความชอบธรรมและลดทอนความรุนแรงของคำพูดตัวเองได้อยู่เรื่อยๆ โดยไม่ถูกลงโทษหรือแบนจากทวิตเตอร์ จนลอยตัวอยู่เหนือปัญหาในที่สุด ตรงจุดนี้เองที่สะท้อนให้เห็นว่า บทบาทของการคัดกรองหรือตรวจสอบเนื้อหาอย่างพอดิบพอดี มีหลักเกณฑ์แน่ชัดที่ระบุได้นั้น สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ใช้งานได้ว่า พื้นที่ตรงกลางของทุกคนนี้จะไม่สร้างความรู้สึกทางลบให้กับใคร และปลอดภัยมากพอที่จะทำให้การถกเถียงหรือแสดงความคิดเห็นต่างๆ เป็นไปอย่างสร้างสรรค์โดยไม่ต้องล้ำเส้นหรือทำร้ายจิตใจกัน

ทั้งนี้ก็เป็นเรื่องที่ต้องจับตาดูกันต่อไปว่า ทวิตเตอร์หรือ ‘ทวิตภพ’ ภายใต้การกำกับของ Elon Musk นั้น จะดำเนินไปในทิศทางแบบไหน และจะกลายเป็นพื้นที่ที่สามารถแสดงความคิดเห็น ถกเถียงกันได้อย่างอิสระมากขึ้น หรือจะกลายสภาพเป็นแพลตฟอร์มที่เต็มไปด้วยมลพิษทางความคิด คำพูด ที่ไร้การตรวจสอบ จนเหล่าผู้ใช้งานของแอปนกสีฟ้าต้องพากันบินหนีย้ายไปพึ่งพิงจัตุรัสกลางเมืองแห่งใหม่แทน


เชิงอรรถ

ความถูกต้องทางการเมือง หรือที่รู้จักกันอย่างสั้นๆ ว่า ‘PC’ คือการเลือกใช้คำพูดที่หลีกเลี่ยงการดูหมิ่น หรือกระทบจิตใจกลุ่มสังคมใดสังคมหนึ่ง (community) รวมไปถึงเชื้อชาติ วัฒนธรรม เพศสภาพ ฯลฯ ที่อาจเป็นเรื่องละเอียดอ่อนในสังคม เช่น การเลี่ยงที่จะใช้คำว่า ‘nigger’ เมื่อกล่าวถึงคนดำ การใช้คำว่า ‘มีน้ำหนักมาก’ แทนการพูดถึงใครสักคนว่า ‘อ้วน’ 

อ้างอิง:

  • https://www.euronews.com/next/2022/10/28/will-elon-musk-s-twitter-become-a-beacon-of-free-speech-or-a-soap-box-for-hate-speech
  • https://www.theguardian.com/technology/2022/may/18/elon-musk-republican-political-attacks
  • https://www.independent.co.uk/news/world/americas/us-politics/elon-musk-twitter-deal-politics-b2213628.html
  • https://economictimes.indiatimes.com/tech/technology/elon-musk-explains-what-he-meant-by-free-speech-for-twitter/articleshow/91120910
  • https://www.cnbc.com/2022/10/27/elon-musk-now-in-charge-of-twitter-ceo-and-cfo-have-left-sources-say.html

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
0
Love รักเลย
0
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

More in:Society

Features

AD เทคโนโลยีเพื่อคนตาบอดในสื่อไทย มาไกลพอแล้วหรือยัง ?

เขียน : ณัฐธิดา นิติเกษตรสุนทร ภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ หากลองหลับตาดูหนังหรือซีรีส์สักเรื่อง สิ่งที่เห็นตรงหน้าตรงหน้าคงเป็นสีดำ มืดสนิท ได้ยินเพียงเสียงตัวละครพูดคุยกัน แต่ไม่มีทางรู้ได้เลยว่านักแสดงบนจอกำลังแสดงสีหน้า ขยับตัวยังไง หรือกำลังจะเกิดอะไรในช่วงไคลแม็กซ์ ...

Articles

GAY CHARACTERS, NOT GAY ACTORS : เมื่อ ‘ตัวละครเกย์’ ไม่จำเป็นต้องรับบทโดย ‘นักแสดงเกย์’

เขียน : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ ภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ สายตา จังหวะการพูด และการเคลื่อนไหวของเธอ บอกเป็นนัยว่าบทบาท ‘Bette Porter’ ใน ...

Articles

พรรคเล็กในสังเวียนใหญ่: ชวนรู้จักพรรค Third party ในศึกเลือกตั้งสหรัฐฯ และโลกคู่ขนานหากไม่มี Democrats และ Republican

เรื่อง : ทยาภา เจียรวาปี ภาพประกอบ : วรพร รุ่งวัฒนโสภณ แน่นอนว่าการจัดการดูแลประเทศที่มีประชากรมากถึง 355 ล้านคน อย่าง ‘สหรัฐอเมริกา’ ภาครัฐจะต้องเข้าใจความต้องการและจัดสรรสวัสดิการที่เหมาะสมแก่ประชาชนทุกคน แต่ด้วยความที่มีประชากรจำนวนมาก ...

News

อ.รัฐศาสตร์ มธ. ชี้ ปัญหาการแจ้งเตือนภัยเกิดจากระบบราชการไทย รัฐต้องกำหนดบทบาทให้แต่ละหน่วยงานอย่างชัดเจน

เรื่อง : จุฑาภัทร ทิวทอง ภาพประกอบ : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ อาจารย์รัฐศาสตร์ มธ. ชี้ปัญหาการแจ้งเตือนภัยเกิดจากความไม่เป็นเอกภาพกันของหน่วยงานรัฐ แนะรัฐบาล การเตรียมพร้อม แจ้งเตือนและรับมือภัยพิบัติต้องแก้ไขด้วยการกำหนดบทบาทและภารกิจที่ชัดเจนให้แต่ละหน่วยงาน เพื่อสร้างความชัดเจนในระบบเตือนภัยแห่งชาติ ...

Articles

คนบุรีรัมย์มีรถเมล์แอร์นั่งแค่ปีละ 3 วัน : ตัวอย่างสัจธรรมของขนส่งสาธารณะต่างจังหวัด

เรื่องและภาพประกอบ : ชวิน ชองกูเลีย ทุกเดือนตุลาคมเป็นช่วงเวลาของการจัดงาน ‘MotoGP’ งานแข่งจักรยานยนต์ทางเรียบที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งในสนามแข่งตั้งแต่ปี 2561 (ยกเว้นปี 2563 และ 2564 ที่งดเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19) โดยจัดที่สนามช้าง ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save