เรื่อง : กัญญพัชร กาญจนเจตนี
ภาพ : กัญญาภัค วุฒิรักขจร
แด่นักเรียนผู้ต้องไม่ยอมจำนน
อำนาจนิยม หรือระบอบที่มีชนชั้นระหว่างผู้บังคับบัญชา – ผู้ใต้บังคับบัญชา เป็นระบอบที่จำกัดเสรีภาพทางความคิดและการกระทำของบุคคลใต้บังคับบัญชา เช่น อำนาจนิยมในโรงเรียน ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดเมื่อวาน แต่เป็นเรื่องที่ผลิตซ้ำมาช้านานจนกลายเป็นวัฒนธรรมของสังคม วาทกรรมของความเป็น ‘นักเรียนที่ดี’ คือนักเรียนคนนั้นต้องไม่ตั้งคำถาม ทำตามกฎระเบียบ อยู่ในกรอบอย่างว่านอนสอนง่าย
เมื่อโรงเรียนเป็นกลไกของรัฐในการแทรกซึมอุดมการณ์ ความเชื่อบางอย่าง การต้องปฏิบัติตามวาทกรรมนักเรียนที่ดี จึงเป็นส่วนหนึ่งในการควบคุมความคิดและการกระทำของประชาชนเด็กน้อยก่อนที่เขาจะเติบโตไปเป็นผู้ใหญ่ จึงไม่แปลกที่เรายังคงเห็นระบอบอำนาจนิยมเติบโตและไม่เสื่อมสลายหายไป และเมื่อใครปฏิบัติแตกต่างจากวาทกรรมนักเรียนที่ดี นักเรียนเหล่านั้นจะกลายเป็นแกะดำ เป็นนักเรียนที่ดื้อด้าน ไม่ยอมจำนน
ในช่วง 10 ปีมานี้ ผู้เขียนเห็นกลุ่มนักเรียนผู้ไม่ยอมจำนน ผู้ที่ตั้งคำถามกับวัฒนธรรมในโรงเรียน เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากตั้งแต่เรื่องทรงผม เครื่องแต่งกาย ไปจนถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงเรียน หลาย ๆ ปัญหาเราไม่เคยรับรู้ว่ามีอยู่ หรือบางปัญหาเราก็ไม่เคยตระหนักถึงความรุนแรงของมันเลย
เพราะนักเรียนผู้ไม่ยอมจำนนเหล่านั้น ประชาชน ผู้ปกครองและนักเรียนหลาย ๆ คนถึงได้เข้าสู่สถานะ ‘ตาสว่าง’ ทำให้เรารับรู้ถึงสิทธิ์ที่พึงมี ทำให้เรานั่งย้อนตั้งคำถามกับเพื่อน ว่าสมัยเรียนมัธยมฯ เรายอมคลานเข่าหลายเมตรเพื่อเข้าห้องเรียน ยอมให้โดนปาแปรงลบกระดานมาเฉี่ยวหัว ยอมให้โดนทุบหลังดังอั๊กตอนคุยกับเพื่อนในห้องได้อย่างไร เราเคยเห็นการลิดรอนสิทธิความเป็นมนุษย์เป็นเรื่องปกติไปได้อย่างไรกันนะ หรือที่เรามองว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะเราไม่อยากเป็นคนประหลาดกัน
แม้อำนาจนิยมจากรัฐที่มอบให้ครูมีศักดิ์เป็นผู้บังคับบัญชาอำนาจในโรงเรียน เปรียบเสมือนว่าครูเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์และนักเรียนเป็นผู้เคารพนับถือนั้น แต่นัยหนึ่งครูก็ถูกควบคุมภายใต้ระบอบอำนาจนิยมนี้อีกที
พอรัฐสร้างกลไกให้ครูและนักเรียนเป็นผู้ปะทะกันโดยตรงอาจทำให้ความสัมพันธ์ของครูและศิษย์ห่างเหินกัน การนั่งพูดคุยถึงปัญหาในโรงเรียนส่วนมากจึงไม่เกิดขึ้น และเมื่อไม่มีช่องทางในการรับฟัง จนเกิดเป็นการรวมกลุ่มเรียกร้องกันของนักเรียน ทั้งรัฐและโรงเรียนจึงมองว่ากลุ่มนักเรียนผู้เรียกร้องจะเป็นภัยความมั่นคงที่สั่นสะเทือนระบบที่เคยปฏิบัติกันมา เป็นผู้ไม่ยอมจำนนที่หลุดจากกรอบความเป็นนักเรียนดีไป โรงเรียนเลยอาจมองว่าพวกเขาไม่จำเป็นที่จะต้องรับฟังเด็กเหล่านี้
โรงเรียนและนักเรียนเลยกลายเป็นผู้ที่ปะทะกันทางความคิด ความเข้าอกเข้าใจเลยยิ่งทวีความห่างไกลกันมากขึ้น และความเข้าอกเข้าใจนี้จะลดน้อยลงไปอีกหรือไม่ เมื่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนใหม่เป็นตำรวจ เขาจะทราบและเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นเรื้อรังในระบบการศึกษาไทยได้หรือเปล่า
ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับผู้เขียนว่า การที่รัฐจะทำงานกับคนหมู่มากต้องเปิดใจให้กว้างและยอมรับความหลากหลาย หากเราใช้อำนาจไปบังคับนักเรียนให้เชื่อฟังอาจจะใช้ได้เพียงชั่วคราวก็เท่านั้น แต่จะไม่เกิดผลดีระยะยาวแน่นอน พร้อมเสนอให้เปิดพื้นที่ในการพูดคุยกันระหว่างนักเรียน ครู บุคลากรและรัฐมากขึ้น และฝากทิ้งท้ายว่าอาจไม่มีอะไรที่เสร็จสิ้นรวดเร็วดั่งใจหวัง ขอให้นักเคลื่อนไหวผู้ไม่ยอมจำนนทั้งหลายอย่าหมดไฟที่จะเปลี่ยนแปลง จงดื้อที่จะเปลี่ยนแปลงมันให้ได้นานที่สุด
และธนกฤต ขันธจิตต์ ประธานคณะกรรมการนักเรียน โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์กับผู้เขียนว่า ในฐานะที่โรงเรียนเปรียบเหมือนสนามจำลองของสังคม เราควรจะให้สิทธิเสรีภาพนักเรียนในการพูดคุยและให้เขาค้นหาตัวเอง อย่าให้การเข้าถึงสิทธิและเสรีภาพของนักเรียนดูน่าสิ้นหวัง ควรให้นักเรียนร่วมออกแบบสังคมในโรงเรียน กฎระเบียบ และนโยบายที่มันตอบสนองต่อพวกเขา เพราะไม่มีใครเข้าใจความเป็นนักเรียนทั้งในแง่ความต้องการและปัญหา
ได้มากกว่านักเรียนด้วยกันเอง
การจะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่สังคมยึดมั่นปฏิบัติกันมา จะดำเนินไปไม่ได้เลย หากคนในสังคมไม่ช่วยกันส่งเสียง ไม่ช่วยกันสร้างสภาพแวดล้อมในการเจริญเติบโตที่ดีให้กับเยาวชน ผู้ที่จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติในอนาคต แม้วันนี้เราอาจจะไม่เห็นด้วยกับการกระทำและข้อเรียกร้องบางประการของพวกเขา แต่อย่าลืมว่าในวันที่เรายังเป็นเด็ก เราเองก็ไม่ชอบที่ต้องให้ใครมาตัดสินใจ มาบังคับให้เราปฏิบัติตามกฎระเบียบที่ไม่มีเหตุผลเช่นกัน โปรดอย่าโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่เราเคยเกลียด แต่จงโตไปเป็นผู้ใหญ่ที่จะเข้าใจตัวเองในอดีต ช่วยกัน ‘เป็นผู้ไม่ยอมจำนน’และร่วมต่อสู้ไปกับพวกเขา เพื่อส่งต่ออนาคตที่ดีให้กับเยาวชนของพวกเราด้วย