เรื่อง : สายฝัน สวาดดี
ภาพประกอบ : เก็จมณี ทุมมา
ในสังคมไทย เราเคยชินกับวัฒนธรรมผัวเดียวเมียเดียว หมายความว่าการมีหลายผัวมากเมียถือเป็นการทำผิดศีลธรรม จนไปถึงผิดกฎหมายเลยทีเดียว
แต่ในโลกปัจจุบันที่ความหลากหลายได้รับการยอมรับมากขึ้น จึงอยากแนะนำให้ได้รู้จักกับ Polyamory หรือความสัมพันธ์แบบมี “คู่รักหลายคน”
หลายคนอาจจะแย้งว่าเรื่องนี้ไม่ได้แปลกใหม่ตรงไหน เนื่องจากเรามีตัวอย่างความสัมพันธ์แบบนี้ให้เห็นชัดอยู่แล้ว แต่สิ่งที่เราคุ้นเคยแบบนั้นคือ Polygamy
Polyamory กับ Polygamy มองดูแล้วอาจจะคล้ายกัน แต่ไม่เหมือนกันซะทีเดียว
Polygamy คือความสัมพันธ์แบบฝ่ายหนึ่งสามารถมีคู่ครองหรือแต่งงานกับหลายคนได้ แบ่งเป็น 2 แบบ ได้แก่ Polyandry เมียเดียวหลายผัว และ Polygyny ผัวเดียวหลายเมีย
ค่านิยมนี้สามารถพบเห็นได้กับชนชั้นเจ้านายของประเทศไทย ประเทศแถบตะวันออกกลาง และแอฟริกาที่มีกฎหมายรับรองการสมรสแบบหนึ่งชายหลายหญิง
การแต่งงานแบบหนึ่งชายหลายหญิง ครั้งหนึ่งก็เคยเป็นเรื่องแพร่หลายในประเทศไทย จนกระทั่งปี พ.ศ. 2478 มีการประกาศใช้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ว่าด้วยเรื่องครอบครัว คือผู้มีคู่สมรสแล้วไม่สามารถจดทะเบียนสมรสอีกได้ โดยจะถือว่าทะเบียนที่จดซ้อนนั้นเป็นโมฆะ
นอกจากนี้ Polygamy ยังตั้งอยู่บนพื้นฐานของความสัมพันธ์แบบ heterosexual หรือ รักต่างเพศเท่านั้น
ส่วน Polyamory มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก คำว่า “Poly” หมายความว่า “มาก” และ “Amor” มาจากภาษาละติน หมายความว่า “รัก” เมื่อรวมกันจึงหมายถึงความสัมพันธ์แบบพหุรัก หรือการที่ทั้งสองฝ่ายต่างสามารถมีคู่รักหลายคนได้บนพื้นฐานของความยินยอมพร้อมใจของทุกฝ่าย และไม่จำกัดว่าต้องเป็นรักต่างเพศเท่านั้น
ความรักแบบ Polyamory มีความนิยมเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้คนเริ่มปฏิเสธค่านิยมเรื่องความรักแบบเดิมว่าเป็นเรื่องของคนสองคน และสังคมก็เริ่มเปิดกว้างต่อความแตกต่างหลากหลายมากขึ้น ทำให้ผู้คนที่นิยามตัวเองว่ามีความสัมพันธ์แบบ Polyamory กล้าออกมาเปิดเผยตัวตนกันมากขึ้น
ผลสำรวจจาก euroClinix บริษัทด้านการดูแลรักษาสุขภาพ เมื่อปี พ.ศ. 2561 พบว่า ร้อยละ 19 ของผู้ใหญ่ชาวอังกฤษ 2,000 คน ให้นิยามตนเองว่าเป็น Polyamorous หรือบุคคลที่มีความสัมพันธ์แบบพหุรัก
นอกจากนี้ กระแสนิยมความสัมพันธ์แบบ Polyamory เริ่มแพร่หลายขึ้นอีก สังเกตได้จากภาพยนตร์และซีรีส์ซึ่งมีการนำเสนอ Polyamory เช่น Riverdale (พ.ศ. 2560 – 2566) ซีรีส์ดังจาก Netflix ที่กำกับโดย Roberto Aguirre-Sacasa ได้นำเสนอความสัมพันธ์แบบ Polyamory ผ่านตัวละครหลักทั้ง 4 ในตอนจบ ของซีซั่น 7
กอปรกับช่วงเวลาล็อกดาวน์เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ต้องใช้เวลาทั้งวันอยู่กับคนเดิมๆ ส่งผลให้การหาคนใหม่ๆ หรือความสัมพันธ์แบบใหม่ที่มาช่วยเติมเต็มความต้องการ เพิ่มความหลากหลายในความรัก ไม่ใช่ตัวเลือกที่แปลกประหลาดอีกต่อไป
ผลการสำรวจความคิดเห็นของชาวอเมริกันในปี พ.ศ. 2563 จาก Gallup poll บริษัทวิเคราะห์และให้คำปรึกษาระดับโลกระบุว่า มีการยอมรับว่า Polyamory เป็นความสัมพันธ์ที่ไม่ขัดต่อหลักศีลธรรมมากถึงร้อยละ 20 ต่างจากในปี พ.ศ. 2549 ซึ่งมีการยอมรับเพียงร้อยละ 5 เท่านั้น
หลักสำคัญที่สุดในการเข้าใจความสัมพันธ์แบบ Polyamory คือไม่ใช่การนอกใจ ไม่ให้เกียรติคนรัก หรือเป็นเพียงการมักมากในกาม แต่คือการเข้าใจว่าทุกความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นล้วนมาจากการสื่อสารและความยินยอมของทุกฝ่าย
ถ้าเรามองความสัมพันธ์แบบหลายคู่รักให้เหมือนความสัมพันธ์แบบเพื่อน จะทำให้เราเข้าใจได้ง่ายมากขึ้น กล่าวคือหากเราสามารถมีเพื่อนหลายคนได้ คนรักก็เช่นกัน เพราะมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความต้องการไม่สิ้นสุด จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนรักเพียงคนเดียวอาจจะไม่สามารถเติมเต็มเราได้ทุกอย่าง
การมองหาคนรักเพิ่มจึงเป็นทางออก
Polyamory มีหลากหลายรูปแบบ ดั่งคำพูดของ Rachel Wright นักบำบัดทางเพศที่ว่า “ไม่มีวิธีที่ถูกหรือผิดในการมีคู่รักหลายคน มันขึ้นอยู่กับว่าอะไรเหมาะกับคุณจริงๆ”
รูปแบบหนึ่งของ Polyamory ที่พบเห็นได้ทั่วไปคือ Triad หรือการมีคน 3 คนในความสัมพันธ์ โดยทั้ง 3 คนต่างเป็นคนรักให้แก่กันและกัน ตัวอย่างเช่น William Marston นักจิตวิทยาชาวอเมริกันผู้สร้างตัวละคร Wonder Woman และ Elizabeth Marston ทั้งสองเป็นสามีภรรยาซึ่งมีความสัมพันธ์เชิงคนรักกับ Olive Bryne ด้วยกันทั้งคู่ โดยเรื่องราวความรักของทั้งสามคนได้รับการเผยแพร่ในภาพยนตร์เรื่อง Professor Marston and the Wonder Women (พ.ศ. 2560) กำกับโดย Angela Robinson
อีกรูปแบบหนึ่งของ Polyamory คือ V หมายถึงความสัมพันธ์แบบฝ่ายหนึ่งมีคนรัก 2 คน โดยคนรักทั้งสองต่างรับรู้ถึงการมีอยู่ของอีกฝ่าย แต่ไม่ได้เป็นอะไรกัน เหมือนกับตัว V ที่ชี้ออกไปสองทาง เมื่อมองเผินๆ ความสัมพันธ์เช่นนี้อาจจะคล้าย Polygamy แต่ Polyamory ไม่ได้จำกัดว่าต้องเป็นรักต่างเพศเหมือนกับ Polygamy
กล่าวได้ว่า Polyamory เป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ของความรักที่เกิดขึ้นด้วยใจที่ต้องการรัก ไม่ต่างจากรักในกรอบที่เราเคยได้สัมผัส
สิ่งสำคัญคือการหาว่าเราเหมาะกับความรักแบบใด และไม่ตัดสินความรักที่แตกต่างจากเรานั่นเอง
บรรณานุกรม
Chanan Yodhng, การมีอยู่ของ ‘ผัวเดียวหลายเมีย’ ในไทย : เสรีภาพที่มาพร้อมอำนาจในยุคประชาธิปไตยถอยจม, สืบค้นเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://thematter.co/thinkers/polyamory-in-thai-democracy/82126#_ftnref5
Ellen Ruddell, Let’s get over the stigma of polyamory, สืบค้นเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://glasgowguardian.co.uk/2022/03/18/lets-get-over-the-stigma-of-polyamory/#:~:text=A%202018%20study%20by%20euroClinix,wouldn’t%20identify%20as%20such.
ณัฐพันธ์ ส่งวิรุฬห์, [รีวิว] Professor Marston & the Wonder Women: ต้นกำเนิดซุปเปอร์ฮีโร่สาวบนนิยายรักวิปริต, สืบค้นเมื่อ 18 กุมภาพันธ์ 2567, จาก https://www.beartai.com/lifestyle/movies/205487