Art & CultureWritings

ฉันที่ว่าเก่ง ก็ยังเจ๋งไม่เท่าเธอเลย: ว่าด้วยตัวละครรองที่คอยเสริมพลังให้เหล่าตัวละครหลักคนเก่งจากภาพยนตร์แนว Chick Flick

เรื่องและภาพประกอบ : ทยาภา เจียรวาปี 

หมายเหตุ : มีการสปอยล์เนื้อหาบางส่วนภาพยนตร์ที่นำมาเล่า

เมื่อพูดถึงภาพยนตร์แนว Chick Flick หรือภาพยนตร์ที่ว่าด้วยเรื่อง ‘ผู้หญิ๊งผู้หญิง’ คือมีผู้หญิงรับบทตัวหลักของเรื่อง มูดแอนด์โทนของงานศิลป์และเสื้อผ้าของตัวละครที่ส่วนใหญ่จะเน้นสีชมพู สีฟ้าเป็นหลัก อีกทั้งยังแฝงเนื้อหาบางอย่างที่ผู้หญิงอาจจะเข้าใจได้ง่ายกว่า แต่สิ่งหนึ่งที่ภาพยนตร์แนวนี้มักสะท้อนออกมาให้เห็นอยู่หลายต่อหลายครั้ง ก็คือ ‘ระบบชนชั้น’ ที่ถ่ายทอดผ่านสังคมของตัวละครนั้นๆ เนื่องจากภาพยนตร์แนว Chick Flick จะเล่าเรื่องผ่าน Queen Bee หรือผู้หญิงที่มีบุคลิกความเป็นตัวแม่ตัวมัม เช่น สวย รวย มีชื่อเสียง หรือไม่ก็ฉลาดแกมโกง และมักจะมีอำนาจเหนือตัวละครอื่นๆ ภายในเรื่อง ในทางกลับกัน Chick Flick บางเรื่องก็ไม่ได้ถ่ายทอดเรื่องราวผ่านตัวละคร Queen Bee ตัวแรงเสมอไป แต่กลับนำเสนอตัวหลักออกมาในรูปแบบของผู้หญิงเก่ง นิสัยดี หรือบางทีก็เป็นสาวเฉิ่มไปเลย

แต่ที่ผู้หญิงทั้งสองกลุ่มนี้มีไม่ต่างกันก็คือ พวกเธอต่างต้องมีมือขวาคู่บุญ ทั้งที่เป็นตัวคอยเสริมความน่าเกรงขามให้ตัวละครที่มีอำนาจ มีบารมี หรือเป็นเหมือนแหล่งพลังงานสำคัญที่คอยช่วยให้ตัวหลักของเราแข็งแกร่งขึ้น

วันนี้จึงอยากชวนทุกคนมารู้จักเหล่าตัวละครที่ไม่ใช่แค่ตัวรอง และไม่ได้มีบทบาทเป็นเพียงแค่หัว ที่สาวๆ ตัวหลักของเรื่องใช้เหยียบเพื่อก้าวขึ้นไปอยู่เหนือคนอื่นในภาพยนตร์แนว Chick Flick กันดูบ้าง

Confessions of a Shopaholic (2009) : ต่อให้เธอจะพังมากเพียงใด แค่มีเพื่อนที่คอยช่วยพยุงกันไป ก็พอจะทำให้เรื่องร้ายกลายเป็นดี

ในวันที่ผู้หญิงคนหนึ่งพังที่สุดและต้องการหาที่พึ่งทางใจเพื่อพาตัวเองออกจากจุดที่ย่ำแย่ ผู้หญิงคนนั้นจะทำอะไรได้นอกจากหันหน้าไปหาสิ่งที่มอบความสุขให้เธอได้มากที่สุด ซึ่งสิ่งนั้นก็คือ ‘การช็อปปิ้ง’ แต่เพราะการกระทำนี้เอง ที่เป็นสารตั้งต้นของปัญหาที่มอบความทุกข์ให้เธอไม่หยุดหย่อน และนั่นคือเรื่องราวของตัวละคร ‘Rebecca Bloomwood’ จากภาพยนตร์เรื่อง ‘Confessions of a Shopaholic’ 

ภาพยนตร์เรื่องนี้ทำให้เราเห็นปัญหาของตัวละคร Rebecca ตั้งแต่ที่จู่ๆ ก็โดนเลย์ออฟ ทั้งๆ ที่มีหนี้บัตรเครดิตท่วมหัว อีกทั้งยังมีเจ้าหน้าที่ธนาคารตามทวงเงินถึงหน้าอพาร์ตเมนต์ ซึ่งถ้าหากสถานการณ์ที่นางเอกเผชิญอยู่นั้นเป็นเรื่องในชีวิตจริง ผู้เขียนก็คิดไม่ออกว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร แต่ในสภาวการณ์ที่นางเอกกำลังตกที่นั่งลำบากอยู่นั้น กลับมีสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นขึ้นมาจากความเลวร้ายทั้งปวงเลยก็คือ ‘Suze’ รูมเมทของนางเอกที่คอยช่วยเธอตลอดทั้งเรื่อง ตั้งแต่ช่วยเธอเปิดจดหมายทวงหนี้ที่ตัว Rebecca ไม่เคยคิดจะหยิบขึ้นมาอ่าน ซึ่งการทำเช่นนี้ก็เพราะต้องการให้นางเอกได้เผชิญหน้ากับต้นตอปัญหาเพื่อที่จะหาทางแก้ไขได้ เคี่ยวเข็ญให้เธอไปเข้ารับการบำบัดอาการ Compulsive buying disorder (CBD) หรืออาการเสพติดการซื้อของมากเกินจำเป็น และที่สำคัญที่สุดคือคิดวิธีหางานใหม่ให้ Rebecca ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนของเรื่อง เพราะงานใหม่ที่ Rebecca กำลังจะได้ไปทำนั้น จะเปลี่ยนทุกอย่างในชีวิตของเธอไปตลอด

สิ่งที่ตัวละคร Suze แสดงให้เราเห็นคือ การยอมรับในการกระทำที่ผิดพลาดของเพื่อน การเข้าใจในสถานการณ์ที่เพื่อนกำลังประสบอยู่ และรู้ว่าจะต้องช่วงนางเอกจัดการกับปัญหาอย่างไร รวมถึงการเป็นคนที่คอยอยู่เคียงข้างและพร้อมยื่นมือเข้าไปช่วยในขณะที่โลกกำลังใจร้ายกับเธอ ด้วยความหวังที่ว่าจะได้เห็นเพื่อนรักหลุดพ้นจากปัญหาหนี้สินที่มีอยู่ ซึ่งจุดนี้เองถือเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ผู้เขียนได้รับรู้ว่า ตัวละคร Suze ไม่ใช่แค่เพื่อนนางเอกที่ปกติมักจะไม่มีบทบาทอะไรมากมาย แต่เป็นตัวละครสำคัญที่คอยเสริมกำลังให้นางเอกต่อสู้กับปัญหาที่ถาโถมเข้ามา ซึ่งถ้าลองคิดภาพว่าเรื่องนี้ไม่มีตัวละคร Suze นางเอกคงไม่มีวันหยิบจดหมายทวงหนี้ขึ้นมาดู ไม่มีวันได้รู้วิธีการหางานใหม่ในขณะที่บัญชีกำลังติดลบขั้นสุด และเธออาจเป็นเพียงตัวละครขี้แพ้ตัวหนึ่งไปเลยก็เป็นได้

Wild Child (2008) : ถ้าอยู่ในสังคมที่ดีและจริงใจ ก็ไม่น่าแปลกเท่าไหร่ที่คน (เคย) ร้ายจะกลายเป็นดี

เรื่องดำเนินผ่านตัวละคร ‘Poppy Moore’ คุณหนูไฮโซนิสัยร้าย ปากจัด และพร้อมจะปะทะกับทุกคนที่เธอเหม็นขี้หน้า ซึ่งพฤติกรรมนี้เองทำให้ Poppy ต้องโดนจับย้ายไปโรงเรียนประจำหญิงล้วน Abbey Mount School ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องศักยภาพในการผลิตนักเรียนหญิงที่มีทั้งความรู้ ภาวะผู้นำ รวมถึงมารยาทงามตามสไตล์ผู้ดีเมืองอังกฤษ และที่นี่เองที่ทำให้เธอได้เจอกับกลุ่มเพื่อนไม่คุ้นตาที่มาพร้อมสำเนียงบริติชจ๋าขั้นสุด นำโดย ‘Kate’, ‘Drippy’, ‘Kiki’ และ ‘Josie’ ซึ่งเพื่อนกลุ่มดังกล่าวต้องมารับบทเป็นพี่เลี้ยงเด็กใหม่จากเมืองลอสแองเจลิสอย่างเธอ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่แตกต่างแต่ลงตัว 

นับตั้งแต่วินาทีแรกที่ Poppy ก้าวเข้ามาที่โรงเรียนนี้ ในหัวของเธอก็เอาแต่คิดว่าหัวเด็ดตีนขาดยังไงก็ยืนยันที่จะหาทางทำให้ตัวเองโดนไล่ออกจากโรงเรียนให้ได้ แต่ในฐานะเด็กใหม่ที่ไม่รู้ว่าต้องจี้จุดไหนของผอ. โรงเรียน ถึงมากพอที่จะทำให้เธอโดนไล่ออก และเพราะความไม่รู้บวกกับความน่าสงสารที่มาจากความกลัวการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้เอง ทำให้เหล่าพี่เลี้ยงเด็กของเธอ ซึ่งเป็นผู้ที่รู้จุดอ่อนของโรงเรียนแห่งนี้มากที่สุด ต้องยอมทำภารกิจคิดแผนส่ง Poppy กลับบ้านตามที่เธอต้องการ

สิ่งที่ภาพยนตร์เรื่องนี้ค่อยๆ แสดงให้เราเห็นนอกเหนือจากแผนการร้ายๆ คือความคิดและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของ Poppy จากเดิมที่เป็นตัวละครชวนให้คนดูหมั่นไส้ได้ไม่ยาก ด้วยบุคลิกที่แข็งกร้าว อยากได้อะไรก็ต้องได้ และมองว่าคนอื่นอยู่ต่ำกว่าเธอเสมอ จนกลายมาเป็นคนที่พร้อมจะให้การยอมรับคนอื่นๆ โดยไม่คิดว่าตัวเองมีอิทธิพลเหนือกว่าใครหรือคิดว่าใครด้อยกว่าเธอ คนที่กล้าจะอ่อนแอต่อหน้าคนอื่น และคนที่มีนิสัยน่ารักและเป็นกันเองตามที่ตัวละครวัย 16 ปี ควรจะเป็น จนทำให้เราเข้าใจได้ว่าสิ่งที่ Poppy แสดงออกมาในช่วงต้นเรื่องนั้นเป็นเพียงเครื่องมือป้องกันตัวเธอจากความเจ็บปวดที่โลกภายนอกโยนใส่เท่านั้น

พัฒนาการที่กล่าวไปข้างต้นของตัวละครนั้นไม่ได้เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ หากแต่เป็นเพราะเพื่อนใหม่ทั้งสี่คนที่จริงใจจะช่วยพาเธอออกจากจากสถานที่ที่ตัวละคร Poppy ชอบนิยามมันว่าบ้านนอก และเป็นเหมือนคุกที่คอยกักขังเธอ นั่นอาจเป็นเพราะระหว่างทางของการดำเนินภารกิจนั้นให้ผลลัพธ์มากกว่าแค่การสร้างความพินาศให้กับโรงเรียน แต่มันทำให้ Poppy ได้สัมผัสกับน้ำใจและความเสียสละของเพื่อนๆ ทั้งสี่ที่ยอมเสนอตัวเข้ามารับความเสี่ยงกับเธอ อีกทั้งมันยังทำให้เธอรู้สึกอุ่นใจว่าเธอสามารถเป็นตัวของตัวเองได้โดยไม่ต้องใช้ความแข็งแรงมาเป็นเกราะป้องกันความรู้สึก ซึ่งในช่วงต้นเรื่องจะแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่ Poppy ได้สัมผัสจากเพื่อนกลุ่มใหม่เป็นสิ่งที่เธอไม่เคยได้รับมาก่อน ซึ่งในมุมมองของผู้เขียนมองว่าเพราะมิตรภาพที่ดีที่ Kate, Drippy, Kiki และ Josie มอบให้นี้เองคือจุดที่เปลี่ยนคน (เคย) ร้ายให้กลายเป็นคนดีอย่างที่ตัวละคร Poppy สะท้อนออกมา

The Princess Diaries (2001) : ในวันที่ไม่รู้ว่าต้องจัดการกับความรู้สึกอย่างไร เพียงแค่มีคนที่ใส่ใจ อะไรๆ ก็พอจะดีขึ้น

หากให้ผู้เขียนนึกถึงหนัง Chick Flick สักเรื่องที่ทำให้ผู้เขียนอยากมีชีวิตเหมือนตัวหลักในเรื่อง ภาพยนตร์ The Princess Diaries ก็คงเป็นเรื่องแรกที่คิดถึง เพราะจะดีแค่ไหนหากวันหนึ่งเด็กสาวธรรมดาวัย 15 ปี อยู่ดีๆ ก็ได้ค้นพบความจริงที่ว่าเธอเป็นเจ้าหญิงของประเทศเจโนเวีย ประเทศเล็กๆ ที่มีประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ตามที่ในเรื่องพยายามทำให้เราเข้าใจเช่นนั้น แต่นั่นอาจเป็นความคิดของผู้เขียนเพียงคนเดียวก็ได้ เพราะ ‘Mia Thermopolis’ หรือตัวละครหลักของเรื่อง ที่ได้รับมอบโอกาสดังที่กล่าวไป กลับไม่ได้คิดเช่นนั้น เห็นได้จากฉากในหนังทำให้คนดูได้เห็นตั้งแต่ช่วงเริ่มเรื่องเลยก็คือ ความตกใจและการปฏิเสธเสียงแข็งในการรับบทบาทหน้าที่ที่เธอไม่เคยรู้ว่ามันติดตัวเธอมาตลอด 15 ปี

หนังเรื่องนี้ทำให้เราเห็นว่าตัวละคร Mia คือองค์ประกอบของทุกสิ่งที่ตรงกันข้ามกับภาพลักษณ์เจ้าหญิงที่เราคุ้นตา ด้วยนิสัยขี้อาย ไม่ค่อยกล้าแสดงออก และไม่มีภาวะผู้นำ แต่ด้วยสถานการณ์บีบบังคับทำให้เด็กวัย 15 ปี ต้องแบกรับภาระที่ไม่เต็มใจ แต่อย่างน้อยก็ยังมี ‘Joseph’ ที่ช่วยให้เธอไม่ต้องก้าวผ่านสถานการณ์นี้ไปคนเดียว

ใครที่เคยดูเรื่อง The Princess Diaries ก็จะรู้กันดีว่าตำแหน่งของ Joseph คืออารักขาของราชินี ‘Clarisse’ หรือย่าของนางเอก แต่เมื่อ Mia กำลังจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำคนใหม่ของประเทศเจโนเวีย Joseph จึงได้รับคำสั่งให้ต้องมาดูแลอารักขาเจ้าหญิงฝึกหัดคนนี้ และหากถามว่าตัวละคร Joseph นำเสนอความเป็นผู้ปิดทองหลังพระอย่างไร ในมุมมองของผู้เขียนก็คือ ‘การทำมากกว่าหน้าที่ของตัวละคร’ เพราะจริงๆ Joseph จะเป็นเพียงแค่องครักษ์ธรรมดาๆ ที่มีหน้าที่รักษาความปลอดภัยและขับลิมูซีนเพื่อพาว่าที่เจ้าหญิงคนนี้ไปไหนมาไหนเฉยๆ ก็ได้ แต่เขากลับทำมากกว่านั้นคือ การใส่ใจในความรู้สึกของ Mia ซึ่งมันสิ่งนี้นอกเหนือจากขอบเขตหน้าที่ของอารักขาคนหนึ่งไปอีกขั้น

ตลอดทั้งเรื่องจะเห็นได้ว่า Mia ต้องแบกรับกับความคาดหวัง ความกดดันเกินกว่าที่เด็กอายุ 15 ปี ต้องเจอ และในขณะเดียวกันเราก็จะเห็นว่า Joseph คือคนที่คอยแบ่งเบาความกดดันเหล่านั้นของ Mia ตั้งแต่การจัดการกับความรู้สึกเชิงลบที่เธอมีต่อตัวเองเสมอ อาจด้วยคำพูดก็ดีหรือการกระทำก็ดี เช่น ประโยคที่ Joseph พูดกับ Mia ว่า “No one can make you feel inferior without your consent.” ตอนที่เธอกำลังรู้สึกเสียใจกับคำพูดถากถางของเพื่อนสนิท ที่ถึงแม้จะเป็นคำกล่าวที่มาจาก ‘Eleanor Roosevelt’ อดีตสตรีหมายเลขหนึ่งของสหรัฐอเมริกา แต่ก็เป็นประโยคที่ช่วยดึง Mia ออกจากความรู้สึกแย่ๆ ที่เธอกำลังเผชิญได้ หรือในตอนที่เขาบอกกับราชินีว่าเธออาจจะเข้มงวดเกินไปกับเด็กวัย 15 ปี ซึ่งในฐานะราชินีที่กำลังฝึกฝนนักเรียนมัธยมต้นให้เป็นเจ้าหญิง มันก็คงไม่ใช่เรื่องผิดอะไร แต่ในฐานะย่าของหลานคนหนึ่ง ความเข้มงวดตรงนี้มันอาจจะมากเกินไป การกระทำของ Joseph นี้เอง ที่เป็นเหมือนการทำให้ราชินี Clarisse ได้เข้าใจว่าหลานของเธอก็เป็นเพียงแค่เด็กสาวตัวน้อยที่ยังต้องเรียนรู้อะไรอีกมาก ดังนั้นความผิดพลาดเล็กๆ ก็ไม่อาจตัดสินได้ว่าเธอคู่ควรหรือไม่กับมงกุฎเจ้าหญิง

หากภาพยนตร์เรื่องนี้ขาดตัวละคร Joseph ไป คนดูก็อาจจะได้เห็นภาพเด็กสาววัย 15 ปี ที่มีโอกาสในการเป็นเจ้าหญิง แต่ไม่มีโอกาสได้เจอกับคนที่เข้าใจถึงความทุกข์หรือความยากลำบากที่เธอต้องเจอ และช่วยให้เธอแข็งแรงพอจะฝ่าฟันปัญหาไปได้

Legally Blonde (2001) : ขอแค่พื้นที่ระบายความในใจ ก็พอจะช่วยให้คนหมดไฟกลับมามีแรง

หากให้นึกถึงหนังแนว Chick Flick สักเรื่องแล้ว เชื่อเหลือเกินว่า ภาพยนตร์เรื่อง Legally Blonde น่าจะเป็นเรื่องแรกๆ ที่โผล่ขึ้นมาในความคิดของใครหลายๆ คน อาจเพราะความสนุกและความเป็นหนัง ‘ผู้หญิ๊งผู้หญิง’ อย่างแท้จริง รวมถึงประโยคสุดเชิ่ดจากในเรื่องอย่าง “What, like it’s Hard.” แต่สำหรับผู้เขียนแล้ว หนังเรื่องนี้มันอาจให้อะไรมากกว่านั้น

เปิดเรื่องมาด้วยชีวิตของ ‘Elle Woods’ นักศึกษาเอกธุรกิจแฟชั่น ประธานชมรมหญิงล้วน ‘Delta Nu’ และแฟนสาวของหนุ่มฮอตทายาทตระกูลนักการเมืองอย่าง ‘Warner Huntington’ แต่ด้วยภาพลักษณ์ความเป็นสาวสวยโลกสดใสหัวใจสีชมพูของนางเอก ทำให้ Warner ต้องขอเลิกกับเธอ และนี่เองที่เป็นจุดที่ขับเคลื่อนให้ Elle ทำทุกทางเพื่อให้ได้เข้าเรียนในโรงเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัย Harvard ด้วยความหวังที่ว่าเธอจะได้คู่ควรกับการเป็นผู้หญิงที่เขาอยากแต่งงานด้วย และถึงแม้ว่าเธอจะสอบเข้าได้ตามที่ตั้งใจ แต่ด้วยโชคชะตาที่ไม่เข้าข้าง ความตั้งใจแรงกล้าจึงกลับกลายเป็นความเสียใจที่ทำให้ Elle อยากยอมแพ้แทน

ตลอดหนึ่งชั่วโมงครึ่งของหนังจะฉายภาพให้เราเห็นความผิดหวัง ความทะเยอทะยาน และการเติบโตของตัวละคร Elle จากเด็กสาวหน้าใหม่ในวงการกฎหมาย สู่นักเรียนระดับหัวกะทิของคลาสเรียน แต่ก็อย่างที่กล่าวไปข้างต้น เบื้องหน้าของตัวละครผู้หญิงเก่ง ย่อมมีคนที่คอยผลักดันตัวละครเหล่านั้นอยู่เสมอ ซึ่งสำหรับ Elle แล้ว ตัวละคร ‘Paulette Bonafonté’ คือคนนั้น  เพราะในวินาทีที่เธอเดินเข้าร้านเสริมสวยด้วยคราบน้ำตาเปื้อนหน้าและหัวใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยการยอมแพ้ Paulette คือคนที่ดึง Elle กลับขึ้นมาอีกครั้ง

ตัวละคร Paulette คือตัวแทนของคนแปลกหน้าที่พร้อมจะเป็นเพื่อนที่รับฟังและพาข้ามผ่านสถานการณ์แสนมืดมนไปด้วยรอยยิ้มและสีสัน เพราะในเรื่องจะทำให้เราเห็นว่าแม้ Paulette จะเป็นแค่ช่างทำเล็บธรรมดาคนหนึ่ง แต่เธอก็พร้อมเป็นพื้นที่ให้ Elle ระบายเรื่องราวแย่ๆ ที่เธอต้องเจอ ถึงแม้ว่าเธอจะช่วยอะไรไม่ได้มาก แต่อย่างน้อยการรับฟังและการพูดให้กำลังใจ พร้อมบอกให้เธออย่ารอช้าที่จะสู้กับอุปสรรคในวันที่อยากจะยกธงขาวนั้น มันก็มากพอให้ Elle กลับมาฮึดสู้ได้อีกครั้ง และถ้าลองสมมติว่าในเรื่องนี้ขาด Paulette ไป ผู้เขียนก็คิดว่า Elle อาจจะตัดสินใจหันหลังให้กับปัญหาที่เธอกำลังเจออยู่ตั้งแต่แรก และคนดูอย่างเราคงไม่มีโอกาสได้เห็นศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวเธอเลยก็เป็นได้

ตัวละครรองทั้ง 4 ตัวที่กล่าวไปข้างต้น ไม่ได้เป็นแค่เพียงพร็อปประกอบฉากหรือตัวคั่นเวลา แต่ตัวละครเหล่านี้มีบทบาทและความสำคัญในตัวเองกันทั้งนั้น เพราะทั้งเขาและเธอเป็นเหมือนจิ๊กซอว์ที่ทำหน้าที่เติมเต็มความเข้าใจของคนดูอย่างเราว่าตัวละครหลักที่เบื้องหน้าที่ดูเหมือนจะเก่งและแกร่งมากเพียงใดก็ตาม แต่กว่าจะก้าวขึ้นไปถึงจุดนั้นได้ มันต้องอาศัยการช่วยเหลือจากตัวละครรองอย่างเขาและเธอทั้งสิ้น เพราะหากขาดจิ๊กซอว์พวกนี้ไป คนดูอย่างเราคงไม่ได้เข้าใจเลยว่าอะไรคือตัวแปรสำคัญที่ทำให้ตัวละครหลักเหล่านั้นมีความเก่งและแข็งแกร่งขึ้นตั้งแต่ต้นจนจบเรื่องนั่นเอง

และถ้าหากจะให้เปรียบภาพยนตร์เป็นดั่งกระจกสะท้อนความจริงบางอย่างของสังคม ผู้เขียนก็มองว่าชีวิตของตัวละครหลักในแต่ละเรื่องที่หยิบยกมานำเสนอเปรียบเสมือนภาพสะท้อนความเป็นจริงในชีวิตของผู้หญิงหลายๆ คน ที่แต่ละวันต้องเจอปัญหาหนักๆ เรื่องร้ายๆ หรือแม้กระทั่งคำพูดดูถูกเสียดสีแย่ๆ กันไม่รู้ตั้งเท่าไร แต่บางทีสิ่งที่พวกเธอต้องการมันอาจจะไม่ได้มีอะไรมากเกินไปกว่า คนที่เข้าใจและพร้อมเผชิญปัญหาไปกับพวกเธออย่าง Suze คนที่ทำให้พวกเธอรู้ว่าสามารถอ่อนแอได้เหมือนกลุ่มเพื่อนสาวทั้งสี่ ไม่ก็คนที่ใส่ใจความรู้สึกพวกเธอแม้จะไม่ได้ร้องขอแบบ Joseph หรืออย่างน้อยที่สุดพวกเธอก็แค่ต้องการคนที่คอยรับฟังปัญหาในวันที่รู้สึกหมดกำลังใจเช่น Paulette เพราะจริงๆ เพียงแค่มีคนที่ในสายตาของใครต่อใครอาจจะดูเหมือนไม่มีความสำคัญอยู่ในชีวิต แต่ในยามที่พวกเธอกำลังเหนื่อยล้าทั้งกายและใจ คนไม่สำคัญเหล่านี้ก็เป็นคนที่เจ๋งที่สุดในโลก (ของผู้หญิงเก่งๆ) แล้ว

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
1
Love รักเลย
2
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0

Comments are closed.

Writings

‘Dark souls III’ จุดสูงสุดของไตรภาคอันยิ่งใหญ่ ผู้จะสถิตอยู่ในดวงใจของผู้เล่นตลอดไป

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง TW : ในบทความชิ้นนี้มีภาพตัวละครศัตรูที่ทำให้รู้สึกขยะแขยงได้ หากผู้อ่านท่านใดรู้สึกไม่สบายใจ สามารถข้ามหัวข้อ “เหล่าศัตรูที่เห็นแล้วต้องร้องอ๋อ (ไม่ก็ อี๋)” เพื่ออ่านหัวข้อถัดไปได้เลย ตัวละครของผมตื่นขึ้นมาในสถานที่ที่คล้ายคุก ไม่มีอะไรติดตัวนอกจากดาบหักๆ หนึ่งเล่ม ...

Writings

ครบรอบ 45 ปี กับการปรากฏตัวของ Dorami ตัวประกอบหลักผู้คงอยู่เพื่อคนอื่น?

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง “โดราเอมอนถูกหนูกัดใบหูจนต้องนำหูออก เขาเศร้าใจมากและร้องไห้จนสีตัวของตัวเองเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีฟ้า” ส่วนหนึ่งจากที่มาที่ไปของ ‘โดราเอมอน’ เจ้าหุ่นยนต์อ้วนกลมตัวสีฟ้า ผู้ที่ย้อนเวลามาช่วยเหลือ ‘โนบิ โนบิตะ’ เด็กผู้ชายที่ใช้ชีวิตอยู่บนความขี้เกียจและไม่สนใจการเรียน ให้สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเองและมีชีวิตที่สดใสในอนาคต แต่คนที่ทำให้โดราเอมอนสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ...

Writings

Nobuo Uematsu นักประพันธ์ปีศาจผู้เป็นเงาเบื้องหลังซีรีส์เกม ‘Final Fantasy’

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง “ในที่สุด!! บอสก็ตายสักที” ผมวางจอยเครื่องเกม PlayStation ลงบนพื้นก่อนที่จะชูมือขึ้นด้วยความดีใจ ด้วยระบบของเกม ‘Final Fantasy VII’ ที่ทำให้ต้องจดจ่ออยู่กับการคิดและตัดสินใจอยู่ตลอดเวลา ผมเลยรู้สึกว่าการต่อสู้กับบอสตัวนี้ใช้เวลานานและสูญเสียพลังงานไปมากเหลือเกิน ...

Art & Culture

‘หยำฉา’ คนคั่นเวลาแห่งโลก Dragon Ball

เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง “ให้ฉันจัดการเถอะ ฉันจะจัดการทีเดียวให้หมดทั้ง 5 ตัวเลยคอยดู” บทพูดของ ‘หยำฉา’ หนึ่งในตัวละครของ Dragon Ball เอ่ยขึ้นมาก่อนที่จะโดดเข้าสู่สนามรบ และถูกระเบิดจนต้องไปพบยมบาลหลังจากผ่านไปเพียง ...

Writings

“ไหนวะเสียงเบส?” ชวนรู้จัก 5 ตำนานมือเบส ผู้คอยสรรค์สร้างความสมบูรณ์แบบให้โลกแห่งดนตรี

เรื่อง : ปิยะพร สาวิสิทธิ์ ภาพจำของวงดนตรีโดยเฉพาะวงดนตรีร็อค (Rock) และอัลเทอร์เนทีฟ (Alternative) มักจะต้องประกอบด้วย นักร้อง กลอง กีตาร์ คีย์บอร์ด และเบส  เมื่อเราฟังดนตรี ...

Writings

เมื่อเหล่าตัวละครรองในอนิเมะอยากลองสมัครงาน

เรื่องและภาพ : อารีย์วรรณ อมรเดชเทวินทร์ และ ปิยะพร สาวิสิทธิ์ “ถ้าหากไม่มีพวกเรา ไอ้พวกตัวละครหลักที่คนชอบเยอะๆ คงไม่อยู่รอดจนถึงตอนจบหรอก!” คงจะมีอยู่บ้างเป็นบางครั้งบางคราวที่เหล่าตัวละครประกอบในอนิเมะนึกคิดประโยคดังกล่าวขึ้นด้วยความน้อยใจ เพราะอันที่จริงแล้ว ตัวประกอบอย่างพวกเขาก็มีบทบาทที่เก่งกาจและสลักสำคัญไปไม่น้อยกว่าตัวละครหลักเลยเสียด้วยซ้ำ เพียงแต่รัศมีความโดดเด่นของพวกเขาไม่สามารถสว่างเจิดจ้าได้เท่ากับเหล่าตัวเอกเท่านั้นเอง พอเล่นบทคนเก่ง ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save