เรื่อง : สิทธิเดช สายพัทลุง
TW : ในบทความชิ้นนี้มีภาพตัวละครศัตรูที่ทำให้รู้สึกขยะแขยงได้ หากผู้อ่านท่านใดรู้สึกไม่สบายใจ สามารถข้ามหัวข้อ “เหล่าศัตรูที่เห็นแล้วต้องร้องอ๋อ (ไม่ก็ อี๋)” เพื่ออ่านหัวข้อถัดไปได้เลย
ตัวละครของผมตื่นขึ้นมาในสถานที่ที่คล้ายคุก ไม่มีอะไรติดตัวนอกจากดาบหักๆ หนึ่งเล่ม เมื่อเดินออกจากห้องขังสักพักจะเจอกับลานกว้างที่มีกองไฟพร้อมดาบปักเอาไว้ ผมเดินเข้าไปกดปุ่มที่กองไฟ “BONFIRE LIT” คือประโยคที่ขึ้นมากลางจอหลังจากที่กองไฟถูกจุด ในตอนนั้นผมยังไม่เข้าใจว่าสิ่งนี้มีไว้ทำไม จนกระทั่งเปิดประตูบานใหญ่ที่อยู่ข้างหน้า และบอสที่มีขนาดตัวที่โตกว่าตัวละครของผมประมาณ 10 เท่ากระโดดลงมาทับจนตาย
นั่นคือประสบการณ์การเล่น ‘Dark souls’ ผลงานของบริษัทเกมอย่าง ‘From software’ บนเครื่องเกม Xbox360 ครั้งแรกในชีวิตของผม ก่อนที่จะถอดใจในความยากของเกมและเลิกเล่นไป แต่เวลาผ่านไปกว่า 5 ปี ชื่อของ Dark souls ก็ยังวนเวียนอยู่ในความคิดเสมอ จนชีวิตได้มาพานพบกับเกมนี้อีกครั้ง ทว่าไม่ใช่ในฐานะ Dark souls แต่เป็น ‘Dark souls III’ เกมลำดับที่สามของซีรีส์ ผมไม่รอช้าที่จะซื้อมันมาในราคาเต็ม และนั่นทำให้ค้นพบว่า “เกมนี้แม่งโคตรเจ๋งเลย”
องค์ประกอบหลากหลายด้านของ Dark souls III ทำให้มันกลายเป็นเกมที่นับได้ว่าดีที่สุดในซีรีส์ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บของดีจากภาคเก่าๆ มาสานต่อ หรือการสร้างสิ่งที่ดีกว่าขึ้นมาแทนที่
วันนี้เลยจะพาทุกคนมาดูกันว่าเพราะอะไร Dark souls III ถึงอยู่ในใจของผู้เล่นทุกคนที่เคยลองเล่น และหวังว่ามันอาจจะไปอยู่ในสักที่ในใจของคุณในอนาคต
การเล่าเรื่องที่เข้าถึงง่ายขึ้น แต่ยังคงเสน่ห์ความน่าค้นหาเอาไว้อย่างครบถ้วน
เมื่อครั้งอดีตกาล โลกถูกปกคลุมด้วยหมอกและความมืด มีเพียงสิ่งมีชีวิตเดียวที่คงอยู่และไม่มีวันตาย ‘มังกร’ ปกครองผืนดินเป็นเวลายาวนาน จนกระทั่งเกิดประกายไฟขึ้นมาบนโลกครั้งแรก ผู้คนเรียกไฟนั้นว่า ปฐมอัคคี (The First Flame) เมื่อมีไฟ สิ่งมีชีวิตที่ไม่เคยมีมาก่อนบนโลกจึงได้กำเนิดขึ้น ทำให้เกิดสงครามระหว่างมังกรกับเกว็น ราชาแห่งเถ้าถ่าน (Gwyn, Lord of Cinder) ซึ่งเกว็นเป็นผู้ชนะและได้สถาปนายุคสมัยใหม่ของโลกขึ้นมา นั่นก็คือ ยุคแห่งเพลิง (Age of Fire)
แต่เมื่อมีการเกิดก็ต้องมีการดับ เมื่อปฐมอัคคีถูกจุดขึ้นมาก็ต้องมีวันที่มอดไหม้และหายไป เกว็นตัดสินใจถวายตัวเองเป็นเชื้อไฟเพื่อให้ปฐมอัคคีคงอยู่ต่อไป จนทำให้เกิดพิธีกรรมต่อมาว่าราชาแห่งเถ้าถ่านทุกคนจะต้องถวายตัวเองเพื่อต่ออายุให้กับปฐมอัคคี
จนถึงยุคของราชาแห่งเถ้าถ่านทั้งห้า (The five Lords of Cinder) ที่ต้องรับหน้าที่เป็นเชื้อเพลิงให้กับปฐมอัคคี แต่ราชาทั้งห้ากลับเลือกที่จะละทิ้งหน้าที่และหนีจากบัลลังก์ไป นั่นจึงเป็นหน้าที่ของเรา ผู้ถูกขนานนามว่า เถ้าถ่านที่ถูกเลือก (The Ashen one) ต้องรับหน้าที่ในการตามราชาทั้งห้าให้กลับมาสถิตบนบัลลังก์ให้ได้ ไม่ว่าในสภาพที่เป็น หรือตาย
นี่คือเรื่องราวพื้นฐานของ Dark souls ทั้งสามภาคที่ถูกเล่าในส่วนต้นของเกม และมันคือส่วนเดียวที่เกมจะเล่าฟังแบบตรงๆ เพราะหลังจากนี้เราจะต้องไปหาคำตอบในเรื่องราวที่เหลือด้วยตัวเอง ทั้งจากคำพูดของตัวละครข้างทาง (NPC – Non Player Character) หรือจากไอเทมที่เก็บมาระหว่างเกม โดยทั้งหมดล้วนมีเรื่องเล่าในตัวของมันเอง
มันเปรียบเสมือนการต่อจิ๊กซอว์ชิ้นเล็กๆ ให้รวมกันเป็นภาพใหญ่ แต่เราไม่รู้เลยว่าจิ๊กซอว์กี่ชิ้น จิ๊กซอว์นี้ถูกต่อแบบถูกต้องหรือไม่ และภาพที่เสร็จแล้วนั้นมันเป็นยังไง
ดังนั้นมันจะขึ้นอยู่กับเราที่จะเป็นคนสรุปสิ่งนี้ด้วยตัวเอง นั่นจึงทำให้เรื่องราวที่ผู้เล่นแต่ละคนรับรู้นั้นต่างกันออกไป และไม่สามารถทราบได้เลยว่า เนื้อเรื่องของใครกันแน่คือเนื้อเรื่องที่แท้จริง
ถ้าเทียบกันตั้งแต่ Dark Souls ถึง Dark souls III แทบจะสามารถพูดได้เต็มปากว่า Dark souls III นั้น “เล่าเรื่องให้ฟังเยอะกว่าที่เคยเป็น” เพราะในภาคแรกเราจะรู้แค่ว่าจุดประสงค์คือการไปเป็นเชื้อไฟให้กับปฐมอัคคี แต่เรื่องราวรอบตัวนั้นไม่มีการบอกเล่าให้ฟังตรงๆ เลย ส่งผลให้เกิดช่องว่างที่ว่า “ถ้าผู้เล่นไม่อ่านเนื้อเรื่องจากไอเทม ผู้เล่นจะไม่เข้าใจอะไรเลย”
จนทำให้ผู้กำกับอย่าง ‘ฮิเดทากะ มิยาซากิ’ (Hidetaka Miyazaki) เลือกที่จะเล่าเรื่องให้มากขึ้นในภาคที่สองและภาคที่สาม เพื่ออย่างน้อยที่สุด ผู้เล่นจะเข้าใจโลกของเกมได้ครบถ้วนพอ ส่วนการอ่านคำอธิบายไอเทมจะเกี่ยวข้องกับตัวละครที่ปรากฏในเกมมากกว่า
แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ความขลังของการเล่าเรื่องลดลงเลย เพราะถึงแม้ทุกอย่างแทบจะเสิร์ฟเข้าปากผู้เล่น แต่การได้รับรู้เรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ ของตัวละครต่างๆ ภายในเกมจากการอ่านไอเทม (หรือแม้กระทั่งการฟังเพลงประจำตัว) ก็ยังทำให้ผมรู้สึกขนลุกอยู่ทุกครั้ง
.
ระดับความยากที่จริงใจ
เกมทั่วไปจะสามารถเปลี่ยนแปลงระดับความยากได้ที่หน้าเริ่มต้นก่อนเริ่มเกม เพื่อที่จะให้ผู้เล่นได้เลือกตัดสินใจว่าตัวเองต้องการจะพบเจอประสบการณ์การเล่นแบบไหน ซึ่งโดยปกติก็จะมี 3 ระดับ คือ ง่าย ปานกลาง ยาก แต่ในเกมซีรีส์ Dark souls นั้น ไม่มีการเลือกระดับความยากของเกม เมื่อสร้างตัวละครของเราเสร็จ ก็จะถูกโยนเข้าไปในเกมทันที และพบเจอกับการผจญภัยที่เกมพร้อมจะมอบให้แบบ ‘ยากฉิบหาย’
ด้วยความที่เกมซีรีส์ Dark souls เป็นเกมแนวแอคชันสวมบทบาท (Action role-playing game) เน้นไปที่การต่อสู้กับศัตรูหลากหลายประเภทในแผนที่ต่างๆ อย่างอิสระ ซึ่งในเกมแนวนี้ สิ่งที่จะเปลี่ยนไปตามระดับความยากก็จะเป็นเรื่องปริมาณพลังชีวิตและพลังโจมตีของศัตรูที่มากขึ้น
สิ่งที่สำคัญอีกอย่างคือเกมซีรีส์ Dark souls นั้นเป็นเกมที่มีระบบ ‘เลเวล’ คือเราสามารถกำจัดศัตรูเพื่อเก็บค่าดวงวิญญาณ หรือ Souls และนำมันมาใช้สำหรับการเพิ่มระดับเลเวลของตัวละคร ซึ่งถ้าอัปเลเวลมากเท่าไร ตัวละครก็จะเก่งขึ้นมากเท่านั้น
ส่งผลให้เกมที่มีระบบนี้ส่วนมากจะพบเจอปัญหาที่ว่า ‘ช่วงท้ายของเกมง่ายเกินไปจนน่าเบื่อ’ เพราะเมื่อตัวละครเก่งขึ้น สวนทางกับศัตรูที่เหมือนเดิมตลอดทั้งเกม ทำให้สุดท้ายเราก็จะเบื่อเกมนั้นไปในที่สุด
แต่ไม่ใช่สำหรับเกมซีรีส์ Dark souls เพราะเมื่อไม่มีการเลือกระดับความยากก่อนการเล่น หมายความว่าเกมจะต้องออกแบบมาให้ดีและมีความสมดุลเป็นอย่างมาก ช่วงต้นของการเล่นจะต้องไม่ยากเกินไปจนผู้เล่นไม่สามารถเอาชนะได้ และช่วงท้ายของเกมจะต้องไม่ง่ายเกินไปจนผู้เล่นเบื่อ และใช่ มิยาซากิสามารถทำได้
Dark souls III เริ่มเกมด้วยตัวละครของเราที่ตื่นขึ้นมาจากหลุมศพในสุสาน เมื่อเดินไปเรื่อยๆ จะพบกับศัตรูตัวแรกของเกม ที่สามารถทำให้ตายได้ภายในการโจมตีเพียง 2-3 ครั้ง ซึ่งอาจทำให้เกิดความคิดว่า ‘เกมมันก็ไม่ได้ยากอะไรนะ’ แต่เมื่อเดินสำรวจไปได้ประมาณ 5 นาที เราจะพบกับอัศวินขนาดมหึมานั่งคุกเข่าพร้อมกับง้าวขนาดใหญ่ที่วางอยู่ข้างตัว หากเดินเข้าไปใกล้อัศวิน ก็จะขึ้นคำสั่งว่า ‘กด E เพื่อดึงดาบ’ และเมื่อกด ความ ‘ฉิบหาย’ ของจริงก็ได้เริ่มต้นขึ้น
Iudex Gundyr คือชื่อของอัศวินขนาดมหึมานี้ เขาเปรียบเสมือนบอสตัวแรกของเกมที่ทำหน้าที่ในการ ‘คัดกรองผู้เล่น’ ซึ่งเขาสามารถฟาดตัวละครของเราด้วยง้าวขนาดใหญ่ให้ตายได้ภายใน ‘ครั้งเดียว’
ไม่มีไอเทมช่วยเหลือ ไม่มีทางลัด สิ่งที่ต้องทำคือ ‘สู้จนชนะ’ และช่วงต้นเกมจะยังอัปเลเวลตัวละครไม่ได้ สิ่งที่สามารถทำได้จึงเหลือเพียง ‘อัปเลเวลคนเล่น’ ต้องจำให้ได้ว่าบอสจะโจมตีแบบไหน หลบตรงไหนถึงจะไม่โดน หรือควรจะวิ่งเข้าไปโจมตีเมื่อไร ทั้งหมดเราจะต้องเป็นคนเรียนรู้ผ่านการตายอย่างไม่มีที่สิ้นสุดของตัวเอง
เราจะได้รับประสบการณ์เช่นนี้ตลอดทั้งเกม เพราะทุกครั้งที่เจอบอสตัวใหม่ ต้องตายซ้ำไปมาเรื่อยๆ จนกว่าจะอ่านการโจมตีของบอสออก จึงอาจกล่าวได้ว่า ระดับความยากของเกมนี้ขึ้นอยู่กับว่าผู้เล่นเรียนรู้อะไรมาบ้างจากความตายครั้งก่อนหน้า เพื่อที่ครั้งต่อไปจะไม่พลาดแบบเดิมอีก
คนส่วนใหญ่จึงนิยามความยากของเกมซีรีส์นี้ว่า ‘เป็นเกมที่ยาก แต่ไม่ยากเกินความสามารถของผู้เล่น’
.
เหล่าศัตรูที่เห็นแล้วต้องร้อง อ๋อ (ไม่ก็ อี๋)
ซีรีส์ Dark souls นั้นถือว่าเป็นหนึ่งในซีรีส์ที่สร้างตัวละครศัตรูได้อย่างมีเอกลักษณ์และน่าจดจำพอสมควร ไม่ว่าจะเป็นหนูปีศาจที่มีมาตั้งแต่ภาคแรก หรือเจ้ากิ้งก่าคริสตัลที่หากผู้เล่นคนไหนเคยพบหน้ามาก่อน ก็พร้อมที่จะวิ่งเข้าใส่ทันที เพราะรู้ว่าเจ้าตัวนี้จะต้องให้ไอเทมสำหรับพัฒนาอาวุธแน่นอน
หรือจะเป็นศัตรูใหม่ของภาคนี้ที่มีการออกแบบมาหลากหลายและดูน่าขยะแขยงมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นชาวบ้านผู้หิวโหย อัศวินเกราะสีดำสุดเท่ หมาหกขา? ปูยักษ์? มนุษย์ที่เหมือนหนอน? หรือแม้กระทั่ง เด็กทารกที่พร้อมจะปีนกำแพงมาหาเรา
แต่การออกแบบที่ดีงามที่สุดของภาคนี้ก็คงหนีไม่พ้น ‘บอส’ ทั้งหลายที่เป็นศัตรูแบบพิเศษภายในเกม โดยเฉพาะบอสหลักอย่างราชาแห่งเถ้าถ่านทั้งห้า (The five Lords of Cinder) ที่แต่ละการออกแบบมีเอกลักษณ์และน่าจดจำทุกตัว
ไม่ว่าจะเป็น ‘Abyss Watchers’ อัศวินตัวผอมบางที่มาพร้อมกับดาบใหญ่และมีดสั้น ผู้ทำหน้าที่ปกป้องหุบเหวลึก ‘Yhorm the Giant’ ราชาของเหล่ายักษ์ผู้ใช้ดาบโคตรใหญ่สมกับตัวของเขา ‘Aldrich, Devourer of Gods’ ปีศาจผู้กลืนกินพระเจ้า ซึ่งถูกบังคับให้เป็นราชาแห่งเถ้าถ่าน ‘Lothric, Younger Prince’ องค์ชายคนเล็กผู้ล้มเหลวในการถูกทดลองให้กลายเป็นมังกร และ ‘Lorian, Elder Prince’ องค์ชายคนโตผู้ดำดิ่งสู่ความมืดเพราะอาการป่วย ซึ่งองค์ชายทั้งสองจะปรากฏตัวออกมาให้สู้พร้อมกัน และบอกได้เลยว่าเป็นการต่อสู้ที่ยากอันดับต้นๆ ของ Dark souls III เลย
รวมถึงยังมีบอสอีกหลายตัวที่น่าจดจำ เช่น ‘Pontiff Sulyvahn’ นักเวทที่เข้าสู่เส้นทางของการทดลองสิ่งมีชีวิต ผู้มีอาวุธเป็นดาบใหญ่คู่สองสีอันเป็นเอกลักษณ์ ‘Nameless King’ ราชาไร้นามที่มาพร้อมกับมังกรโบราณ ผู้ถูกกล่าวขานว่าเป็นลูกของเกว็น ราชาแห่งเถ้าถ่านองค์แรก ‘Dancer of the Boreal Valley’ อัศวินผู้มีท่วงท่าการโจมตีดั่งการเต้นระบำกลางสนามรบ หรือบอสสุดท้ายที่เราต้องเจอ วิญญาณผู้ปกป้องปฐมอัคคี ผู้เกิดจากเจตจำนงของคนที่ต้องการจะต่อเชื้อไฟ ‘Soul of Cinder’
.
การออกแบบฉากที่เป็นต้องหลง (รัก)
ด้วยความที่เกม Dark souls นั้นเป็นเกมที่ใช้การออกแบบในธีม Dark Fanstasy Medieval เห็นได้จากการออกแบบอาวุธ ชุดเกราะ รวมถึงแผนที่ต่างๆ ที่จะให้กลิ่นอายของความเป็นยุคกลาง ไม่ว่าจะเป็นโบสถ์หรือปราสาท ซึ่งถือว่าเป็นการออกแบบที่ประณีตและชวนให้หลงใหลเป็นอย่างมาก
อีกจุดเด่นหนึ่งคือการออกแบบแผนที่ที่มีลักษณะคล้ายเขาวงกต ไม่ว่าจะเป็นเส้นทางที่มีหลากหลายจนไม่รู้ว่าควรเริ่มที่ทางไหนก่อน หรือการเดินทางที่สุดท้ายอาจวนมาจบที่จุดเริ่มต้น
ทว่าเกมไม่มีแผนที่ให้ จึงเป็นหน้าที่ของผู้เล่นที่จะต้องจดจำแผนที่และเส้นทางทั้งหมด ว่าเส้นไหนที่เดินแล้ว เส้นไหนวนไปทางไหน หรือเส้นไหนที่พากลับไปที่จุดปลอดภัย
พูดได้เลยว่าผู้เล่นส่วนใหญ่จะเดินไม่ครบแน่นอนในการเล่นครั้งแรก ด้วยความยากของเกมที่ท้าทายผู้เล่นอยู่ตลอดเวลา ทำให้ผู้เล่นไม่สามารถโฟกัสการจำเส้นทางได้มากเท่าที่ควร
เราจะทำได้เพียงแค่จำทางหลักที่ต้องไป จำทางกลับจุดปลอดภัย หรือทางไหนไม่ควรไป เพียงเท่านั้น ทำให้แผนที่ของเกมยิ่งน่าหลงใหลมากขึ้นเรื่อยๆ ในทุกครั้งที่กลับมาเล่นอีกรอบ
.
เพลงประกอบที่จำไม่ลืม
เสียงดนตรีที่ทำให้เราถูกสะกดนั้น เริ่มต้นตั้งแต่หน้าเมนูของเกม เพลงที่กล่าวถึงการสรรเสริญพระเจ้าองค์ใหม่ กับเสียงดนตรีออร์เคสต้าที่ไล่ระดับความยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ การร้องประสานเสียงภาษาละตินที่ทำให้รู้สึกขนลุก เปรียบดั่งการได้ฟังเพลงสรรเสริญพระเจ้าที่โบสถ์ใหญ่ในวันอาทิตย์
ทั้งหมดเป็นสิ่งที่ถูกประพันธ์ด้วยฝีมือของ ‘ยูกะ คิตามูระ’ (ํYuka Kitamura) นักประพันธ์หญิงมือทองของบริษัท From software ผู้เคยประพันธ์เพลงให้กับเกมของบริษัทอย่างมากมาย ทั้ง Dark souls II , Sekiro และล่าสุดอย่าง Elden Ring ซึ่งถือว่าเธอเป็นนักประพันธ์คู่บุญของบริษัทเลยก็ว่าได้
ไม่ใช่แค่เพลงหน้าเมนูเท่านั้น แต่เพลงประจำตัวของบอสหลักของเกมอย่างราชาแห่งเถ้าถ่านทั้งห้า ก็เป็นฝีมือของเธอที่รังสรรค์มันขึ้นมา กับบทเพลงที่เราจะต้องรับฟังมันเป็นเวลาอย่างยาวนาน จนกว่าจะสามารถจัดการบอสตัวนั้นได้ลง
ตัวอย่างที่ทำให้ผมจดจำได้ดีก็คงเป็นเพลงประจำตัวของบอสอย่าง ‘Yhorm the Giant’ หนึ่งในห้าราชาแห่งเถ้าถ่าน เป็นดนตรีที่มีความหนักหน่วง มีจังหวะของเสียงที่สั้น รวมกับการกระแทกท้ายเสียงของเครื่องเป่า แสดงความโกรธและการด่าทอโชคชะตา
มาพร้อมกับเสียงร้องภาษาละตินที่กล่าวถึงเรื่องราวเบื้องหลังของเขา ที่ถูกบังคับให้ต้องมารับหน้าที่เป็นเชื้อไฟโดยไม่ได้เต็มใจ ในขณะที่ตนนั้นกำลังรุ่งโรจน์กับการปกครองบ้านเมือง ถ้าหากเขาไป แล้วใครกันที่จะมาปกป้องบ้านเมืองแทนเขา
ตัดกับเพลงประจำตัวของบอส ‘Abyss watchers’ ที่จะมีจังหวะของดนตรีที่แตกต่างกัน มีความช้าและไม่หนักเท่ากับของ ‘Yhorm the Giant’ เปรียบดั่งการแสดงถึงความอาลัยและอาวรณ์ กับเนื้อเพลงที่กล่าวถึงการถูกโกหกเกี่ยวกับความจริงของไฟ และเมื่อรู้ความจริง เขาจึงเลือกที่จะไม่ทำหน้าที่เป็นเชื้อไฟอีกต่อไป
กิมมิคที่น่าสนใจของเพลงคือ จะมีการสอดแทรกคำว่า ‘avehere’ ในภาษาละติน แปลว่า ‘ออกไปซะ’ อยู่ในระหว่างเพลง ซึ่งยิ่งตอกย้ำถึงความต้องการของ ‘Abyss watchers’ เข้าไปอีกว่าเขาไม่อยากให้ใครต้องมารับหน้าที่นี้อีก
ตัวของเขาจึงเลือกที่จะมาอยู่ที่หน้าทางเข้าหุบเหวลึก เพื่อหยุดยั้งเถ้าถ่านทั้งหลายที่กำลังถูกหลอกให้รับหน้าที่ในการต่อเชื้อไฟ ซึ่งเถ้าถ่านที่ว่านั่นก็คือผู้เล่นนั่นเอง
อาจกล่าวได้ว่า เพลงประจำตัวบอสของเกมนี้แทบทั้งหมดถูกออกแบบและประพันธ์ตามเนื้อเรื่องของตัวละครนั้นๆ เพลงประจำตัวจึงไม่ใช่แค่องค์ประกอบรองของสิ่งที่อยู่ตรงหน้า แต่มันคือหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่จะทำให้เข้าใจเนื้อเรื่องของเกมยิ่งขึ้นไปอีก
หลังจากเล่น Dark souls III จบครั้งแรก ความรู้สึกที่เข้ามาในหัวเลยคือ ‘เกมแม่งโคตรเหนื่อยเลย’ ผมจึงเลือกที่จะลบเกมออกจากเครื่องก่อนที่จะปิดไฟนอน ถามว่ามันเป็นเกมที่สนุกไหม ถ้าเป็นในตอนที่เล่นจบก็จะตอบว่า “สนุกมาก สนุกโคตรๆ” แต่ถ้าถามว่าจะเล่นอีกรอบไหม ก็คงตอบว่า “ไม่ ยังไม่ใช่ตอนนี้”
ผมออกไปใช้ชีวิตในฐานะนักศึกษามหาวิทยาลัยได้ประมาณ 4 เดือน ในช่วงนั้นผมไม่มีเวลาให้กับการเล่นเกมเลย จนได้กลับมานั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ของตัวเองอีกรอบ สิ่งแรกที่ทำ คือการโหลด Dark souls III กลับเข้ามาในเครื่อง
อาจพูดได้ว่าในช่วงระยะเวลา 4 เดือนที่ไปใช้ชีวิต ผมไม่เคยเอาเกม Dark souls III ออกจากหัวได้เลย มันยังคงวนเวียนอยู่ในนั้น มันทำให้คิดถึงเรื่องราวความเป็นไปได้มากมาย ‘พื้นที่ตรงนั้นไปครบรึยังนะ’ ‘อาวุธชิ้นนั้นน่าเอามาใช้จัง’ ‘ลองเล่นแบบจบให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ดีไหม’ จนสุดท้ายก็หนีไปไม่ได้และต้องกลับมาเปิดมันอีกครั้ง
Dark souls III ทำให้เรารู้สึกตื่นตัวตลอดเวลาที่ได้เล่น มันรู้สึกเร้าใจ รู้สึกกดดัน และเมื่อเอาชนะบอสได้ก็รู้สึกดีใจ มันทำหน้าที่เป็นครูที่ดีคนหนึ่งในชีวิตของผม มันสอนให้ได้เรียนรู้ถึงความพ่ายแพ้ เรียนรู้ที่จะพัฒนาตัวเองและเรียนรู้ที่จะยินดีกับชัยชนะที่ตัวเองได้รับ
ไม่ว่าจะนานเท่าไร ในคอมพิวเตอร์ของผมก็จะมีเกม Dark souls III อยู่ในเครื่องตลอดไป และหวังว่าสักวัน Aftertaste ของมันจะทำให้กลับไปหาอีกรอบแน่นอน ไม่ช้าก็เร็ว
“Farewell Ashen One, May The Flame Guide Thee”