Art & CultureWritings

วิปลาส เมื่อความเชื่อนำไปสู่โศกนาฏกรรม

เรื่อง : ฐิดาพร พิมพ์สีโคตร และ สุชานันท์ สหวงศ์เจริญ

ภาพประกอบ : สุชานันท์ สหวงศ์เจริญ


“แม่ทำหนูทำไม อย่าทำหนูเลย”

เสียงร่ำไห้ของเด็กหญิงดังสะท้านในความมืดมิด…นี่คือเสียงจากละครเวที ‘วิปลาส A Moonless Night’ ที่สาขาการละคอน คณะศิลปกรรมศาตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำมาสร้างเป็นละครเวทีอีกครั้ง โดยได้เปิดออดิชั่นพร้อมประกาศผลการคัดเลือกนักแสดงไปเรียบร้อยแล้วเมื่อวันที่ 13 มีนาคม ที่ผ่านมา

บทละครเรื่องนี้แสดงครั้งแรกเมื่อปี 2558 โดยเป็นละครเวทีประจำปีของคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ประพันธ์โดยทีม ‘ดารากายา’ ซึ่งนำโดยวิสกี้ เลอ ฟองเบียร์ (ณไทย ภัทรกวีกานท์)

หนึ่งผู้เขียนบทของทีมดารากายาระบุว่า เรื่องราวของครอบครัวที่มีสมาชิกประกอบไปด้วย ยายจวง สายจิต ดวงใจ นวลจันทร์ และลูกจันทร์นี้ วิสกี้ เลอ ฟองเบียร์ ได้เค้าโครงเรื่องมาจากเหตุการณ์ ‘ฆ่าลูกบูชาพระอินทร์’ ซึ่งเป็นเหตุการณ์จริงเมื่อครอบครัวหนึ่งในจังหวัดราชบุรี ก่อเหตุฆ่าปาดคอเด็กสาววัย 12 ปี โดยอ้างว่าทำไปเพื่อขจัดสิ่งชั่วร้ายภายในตัวลูกสาว และส่งดวงวิญญาณไปให้พระอินทร์ดูแล

เมื่อเรื่องจริงถูกปรับเป็นละครเวที แม้จะสนุกสนานน่าติดตามสมกับความเป็นละครเวทีมากขึ้น แต่ยังคงแกนหลักที่เกี่ยวข้องกับความงมงาย โดยมีการนำความงมงายหลากหลายรูปแบบเข้ามานำเสนอร่วม เพื่อสะท้อนถึงปัญหาสังคมที่เกิดจากความเชื่อแบบผิดๆ

ก่อนจะไปสัมผัสเรื่องราวบนเวทีในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้ บทความนี้จะพาคุณย้อนรอยคืนโหดร้าย อันเป็นที่มาของ ‘วิปลาส A Moonless Nigh’

เหตุการณ์ ‘ฆ่าลูกบูชาพระอินทร์’ 

บ่ายวันที่ 4 ตุลาคม 2547 ตำรวจพบร่างไร้วิญญาณของเด็กสาวที่เสียชีวิตมาไม่ต่ำกว่า 10 ชั่วโมงนอนอยู่กลางบ้าน ลำคอถูกปาดลึกจนหลอดลมขาด และยังพบอุปกรณ์คล้ายการประกอบพิธีกรรมทางไสยศาสตร์อยู่บริเวณโดยรอบ เส้นผมจำนวนหนึ่งแช่น้ำอยู่ในกะละมัง เสื้อผ้าถูกนำไปเผาทิ้ง และมีดอีโต้เปื้อนเลือดตกอยู่ใกล้ศพ

เสียงสวดมนต์ภาษาบาลีเล็ดลอดออกมาจากห้องหนึ่งภายในบ้าน ก่อนจะพบว่าเป็นหญิงสาวสี่คนกำลังประกอบพิธีกรรมบางอย่างอยู่

ป้า น้า และแม่ ของเด็กสาวผู้โชคร้ายเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมนั้น ทันทีที่เห็นตำรวจ พวกเธอต่างด่าทอขับไล่ และคว้ามีดไล่ฟันจนเกิดเหตุโกลาหลขึ้น ตำรวจต้องใช้กำลังเข้าควบคุมสถานการณ์

“เด็กคนนี้นำความชั่วร้ายติดตัวมาด้วย จึงต้องฆ่าเสีย” เพื่อนบ้านคนหนึ่งกล่าวถึงความเชื่อของคนบ้านนี้ เขาเล่าว่า สี่พี่น้องมีความเชื่อเรื่องการบูชาพระอินทร์มานานแล้ว คนเป็นแม่อ้างว่าตัวเองเป็นร่างทรง และก่อนเกิดเหตุการณ์ได้ให้คนไปตัดต้นมะพร้าวเพื่อนำมาทำพิธีปลดปล่อยดวงวิญญาณของเด็กสาว

ความเชื่อที่ดูเหมือนมากเกินไปจนกลายเป็นความงมงายนี้ มีความจริงอันน่าเหตุสลดใจซ่อนอยู่ นั่นคือ ขณะอายุได้ 17 ปี แม่ของเด็กสาวถูกคนร้ายข่มขืน ก่อนให้กำเนิดลูกในเวลาต่อมา ชาวบ้านให้การว่า ปกติครอบครัวนี้ดูแลเอาใจใส่ลูกสาวเป็นอย่างดี พวกเขาจึงไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นกับครอบครัวนี้กันแน่

บทสรุปของเรื่องราวโศกนาฏกรรมในครั้งนั้น ผู้ก่อเหตุทั้งสี่ต้องเข้ารับการรักษาอาการทางจิตที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินร์ และในปัจจุบันได้ออกมาใช้ชีวิตตามปกติที่บ้านหลังเดิมอันเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวสะเทือนใจทั้งหมด

โรคจิตเวช

โรคทางจิต หรือ โรคจิตเวชนั้น เป็นกลุ่มอาการทางจิตหรือพฤติกรรมที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดความทุกข์ทรมาน หรือมีความบกพร่องในกิจวัตรประจำวัน โดยหนึ่งในกลุ่มอาการที่พบได้บ่อยคือ โรคจิตเภท

อาการเบื้องต้นของคนที่เข้าข่ายมีอาการของโรคจิตเภท ได้แก่ อาการหลงผิด เชื่อในบางสิ่งอย่างหนักแน่นโดยไม่สนความเป็นจริง อาการประสาทหลอน ที่เกิดขึ้นได้ทั้งด้านรูป รส กลิ่น เสียง และพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิมเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการมีท่าทางแปลกๆ ร้องตะโกนโวยวาย หรือนิ่งเฉยไม่ทำอะไร

สาเหตุของโรคจิตเภทอาจเป็นได้ทั้งด้านร่างกายและจิตใจ กล่าวคือ หากเป็นเพราะการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ยิ่งมีความใกล้ชิดทางสายเลือดกับผู้ป่วยมากก็จะยิ่งมีโอกาสสูง หรือหากเกิดขึ้นเพราะจิตใจที่ได้รับความเครียด กลายเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดความเจ็บป่วยที่รุนแรง

แม้จะไม่มีการเปิดเผยชัดเจนว่าทั้งสี่เข้ารับการรักษาด้วยโรคจิตเวชประเภทใด แต่เหตุการณ์กับอาการของโรคทำให้มีผู้สันนิษฐานว่าทั้งหมดน่าจะเป็นผู้ป่วยที่มีอาการของโรคจิตเภท เนื่องจากพวกเขาประสาทหลอน เห็นภาพหลอน และหูแว่ว อันอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เชื่อในเรื่องพระอินทร์อย่างฝังรากลึก

ความใกล้ชิดทางพันธุกรรมของผู้ก่อเหตุทั้งสี่ รวมถึงความเครียดที่ผู้เป็นแม่ได้รับจากเหตุการณ์ถูกข่มขืน ยังกลายเป็นอีกหนึ่งข้อสันนิษฐานที่ทำให้คาดเดาว่าการกระทำที่สังคมมองว่าเป็นความงมงายในครั้งนี้ อาจมีอาการจิตเภทร่วมด้วย

ย้อนสถานการณ์โรคทางจิตในประเทศไทย

กลับไปเมื่อปี พ.ศ. 2547 ซึ่งเป็นช่วงปีที่เกิดเหตุ สถานการณ์โรคทางจิตในประเทศไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการพัฒนาและทำความเข้าใจ แม้ว่ากรมสุขภาพจิตจะเริ่มให้ความสำคัญกับปัญหาสุขภาพจิตโดยรวม แต่ข้อมูลเฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับโรคจิตเภทและความตระหนักในสังคมยังไม่ชัดเจนนัก

เพื่อทำความเข้าใจภาพรวมของโรคจิตเวช กรมสุขภาพจิตได้ดำเนินการสำรวจระดับชาติในปี พ.ศ. 2546 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความชุกของโรคจิตเวชที่สำคัญในประชากรไทยช่วงอายุ 15-59 ปี ซึ่งผลจากการสำรวจนี้เผยให้เห็นว่า  มีการพบโรคจิต ซึ่งรวมถึงโรคจิตเภท ในกลุ่มประชากรดังกล่าว

จากข้อมูล ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคจิตเภทมีแนวโน้มที่จะต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลนานกว่าผู้ป่วยโรคทางจิตเวชอื่นๆ ซึ่งสะท้อนถึงความซับซ้อนและความรุนแรงของโรค รวมถึงความจำเป็นในการดูแลรักษาที่ยาวนาน นอกจากนี้ กลุ่มโรคจิตเภทและโรคจิตหลงผิด ยังถูกระบุว่าเป็นกลุ่มโรคที่พบมากที่สุดในผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจิตเวช 

แม้ว่าในตอนนั้นจะเริ่มมีบริการสายด่วนสุขภาพจิต 1667 เพื่อเป็นช่องทางให้ข้อมูลและความช่วยเหลือเบื้องต้นเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต แต่ข้อมูลเฉพาะเกี่ยวกับการใช้งานสายด่วนสำหรับเรื่องโรคจิตเภทโดยตรงนั้นยังไม่มีปรากฏในสังคมไทย การมูเตลู และกระกระทำเพื่อแสดงออกถึงความเชื่อ เป็นสิ่งที่ฝังรากลึกและอยู่คู่กับคนไทยมานาน หลายคนใช้ความเชื่อเป็นที่พึ่งพาทางจิตใจ แต่ในบางกรณี ความเชื่ออาจถูกบิดเบือนจนกลายเป็นอันตราย เช่น การทำพิธีกรรมรุนแรง การทุ่มเงินจำนวนมากเพื่อความโชคดี การถูกชักจูงให้ทำสิ่งผิดศีลธรรม หรือแม้แต่การฆ่าเพื่อบูชา เช่นในเนื้อหาข้างต้น

แต่เพราะในทุกเรื่องราวยังอาจมีเหตุผลหรือคำอธิบายมากมายซ่อนอยู่ ดังนั้น การที่ครอบครัวหนึ่งต้องถูกกล่าวหาว่างมงาย หลงผิด เชื่อในสิ่งที่มองไม่เห็น และกล่าวโทษทุกอย่างลงไปที่ความเชื่อ อาจเป็นการตัดสินที่ด่วนสรุปเกินไป 

หากเพียงสมัยนั้นมีใครสักคนตั้งข้อสงสัยว่าสิ่งที่ดูเหมือนเป็นความงมงายนั้น อาจเป็นสัญญาณของโรคจิตเวช หากจะมีการตรวจสอบข้อมูลอย่างรอบด้าน หรือตั้งคำถามให้กว้างขึ้น ก็ไม่แน่ว่า มันอาจเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่สามารถป้องกันปัญหาได้

 

และตอนนี้เด็กหญิงในข่าวอาจได้โตมาเป็นหญิงสาว และกำลังใช้ชีวิตอยู่ที่ไหนสักแห่ง


รายการอ้างอิง

Caanteen.(2561). พูดคุยกับผู้เขียนบท “วิปลาส” ละครเวทีที่กำลังถูกพูดถึงในโซเชี่ยล !!. วันที่สืบค้น 28 มีนาคม 2568.https://caanteen.com/2018/01/19/kasalong-drama/

Dek-D.com.(2561). ย้อนรอย #วิปลาส จากข่าวสะเทือนขวัญ 14 ปีก่อน สู่อาถรรพ์ที่โด่งดังในทวิตเตอร์ขณะนี้. วันที่สืบค้น 29 มีนาคม 2568.https://www.dek-d.com/teentrends/48302/ 

Rama Channel, คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล.(2561). โรคจิตเวช 5 โรคสำคัญที่คนไทยควรรู้จัก. วันที่สืบค้น 7 เมษายน 2568. https://www.rama.mahidol.ac.th/ramachannel/article/%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B9%80%E0%B8%A7%E0%B8%8A-5-%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%AA%E0%B8%B3%E0%B8%84%E0%B8%B1%E0%B8%8D%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88%E0%B8%84/ 

โรงพยาบาลมนารมย์. (ม.ป.ป.). โรคจิตเภท (Schizophrenia). วันที่สืบค้น 7 เมษายน 2568. https://www.manarom.com/blog/schizophrenia.html

กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข. (2547). ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช. วันที่สืบค้น 9 เมษายน 2568.https://dmh.go.th/abstract/advanced_results.asp?currentPage=217&advquery=&typesearch= 

ความรู้สึกของคุณหลังอ่านบทความนี้เป็นอย่างไร ?

Like ถูกใจ
0
Love รักเลย
1
Haha ตลก
0
Sad เศร้า
0
Angry โกรธ
0
Writings

Le Pupille : คำถามต่อสิ่งที่ ‘เห็น’ และสิ่งที่ ‘เป็น’

เรื่อง : สุชานันท์ สหวงศ์เจริญ  ความคิดแบบเด็กไร้เดียงสากลายเป็นความขบถอันแสบสัน ที่ทำให้โรงเรียนคาทอลิกวุ่นวายตลอดวันคริสมาสต์ เมื่อเทศกาลแห่งการแบ่งปันและภาวนาถึงพระเยซูคริสต์ กลับเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดอย่างการเห็นแก่ตัวในโรงเรียนเคร่งศาสนา ‘Le Pupille’ ภาพยนตร์ขนาดสั้นสัญชาติอิตาลี ถูกฉายครั้งแรกในดิสนีย์พลัส (Disney+) เมื่อปีพ.ศ.2565 และได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ ...

Writings

ภาษารุนแรงในเพลงร็อก: ศิลปะ การต่อต้าน หรือแค่คำหยาบ

เรื่อง: ณฐนนท์ สายรัศมี ภาพประกอบ: สุชานันท์ สหวงศ์เจริญ หากดนตรีคือกระจกสะท้อนสังคม เพลงร็อกก็คงเป็นกระจกที่แตกเป็นเสี่ยงๆ บาดคม ท้าทาย และไม่เคยเลือกแสดงเพียงด้านที่งดงาม  ภายใต้เสียงกีตาร์อันกระหึ่ม เสียงกลองที่ดุดัน และน้ำเสียงของนักร้องที่มักเต็มไปด้วยอารมณ์โกรธ เกลียด หรือผิดหวัง ...

Writings

มากกว่าแค่ลวดลาย รอยสักที่บอกเล่าเรื่องราว อัตลักษณ์ และวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป

เรื่อง : ฐิดาพร พิมพ์สีโคตร ภาพประกอบ : สุชานันท์ สหวงศ์เจริญ จากภาพลักษณ์ที่เคยถูกมองว่าเป็นเพียงสัญลักษณ์ของกลุ่มคนบางกลุ่ม ปัจจุบัน ‘รอยสัก’ ได้กลายปรากฏการณ์ทางวัฒนธรรมที่พบเห็นได้ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นบนร่างกายของนักแสดงชื่อดัง นักกีฬา ศิลปิน ...

Writings

Graffiti ศิลปะแห่งการต่อสู้ไม่รู้จบ

เรื่องและภาพ : สุชานันท์ สหวงศ์เจริญ เพราะไม่ว่าจะต้องสู้กับใคร ศิลปะจะคงอยู่ข้างผู้คนเสมอ… ภาพวาดที่มีมากกว่าความสวยงาม และแฝงไว้ด้วยความคิดอย่างเต็มเปี่ยมจึงสามารถพาผู้ชมย้อนกลับไปมองไปปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมต่างๆ ได้ทุกขณะ  ดังนั้น เมื่อกำแพงกลายเป็นแคนวาส สีสันฉูดฉาดที่พ่นลงไปเป็นตัวแทนการแสดงออกทางความคิด กราฟิตี้ (Graffiti) ศิลปะที่คนส่วนใหญ่มองว่าขบถ ...

Writings

จดหมายถึงบ้านใหม่

เรื่องและภาพประกอบ: สุชานันท์ สหวงศ์เจริญ ที่อยู่จัดส่ง บ้านใหม่ ถึง บรรพบุรุษ 30 มีนาคม 2568        นาฬิกาบอกเวลาตี 3 ได้เวลาตื่นเช้ามาช่วยหม่าม้าเตรียมของเพื่อไปเยี่ยมเหล่ากง (ทวดชาย) ...

Lifestyle

ปาจื่อ: เปิดรหัสลับแห่งโชคชะตาด้วยศาสตร์จีนโบราณ

เรื่อง: ณฐนนท์ สายรัศมี ภาพประกอบ: สุชานันท์ สหวงศ์เจริญ เคยรู้สึกไหมว่าชีวิตของคุณถูกกำหนดไว้แล้ว? ทำไมบางคนเกิดมาพร้อมความโชคดี ทำอะไรก็ประสบความสำเร็จได้อย่างง่ายดาย ในขณะที่บางคนต้องดิ้นรนอย่างหนัก แผ่นดินก็ไหวพร้อมกัน แต่ห้องเราพังห้องเดียว เคยสงสัยไหมว่า ทำไมบุคลิก นิสัย ...

0 %

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • Google Analytics

    คุ้กกี้ที่เราเก็บไป จะนำไปใช้เพื่อประกอบการวิเคราะห์การอ่านบทความ/ข่าวภายในเว็บไซต์เท่านั้น จะไม่มีการนำข้อมูลผู้ใช้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์แต่อย่างใด

Save